เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่าขณะนี้  กยศ.กำลังเริ่มหักเงินเดือนผู้กู้ กยศ.ที่เป็นข้าราชการและลูกจ้างประจำของกรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานแรกเพื่อนำร่องไปก่อน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี และในเดือนนี้ก็จะทยอยขอหักเงินเดือนลูกหนี้ในหน่วยงานราชการอื่นๆอีกประมาณ 2 แสนคน และในปี 2562 ก็จะเริ่มหักเงินเดือนในส่วนของพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกประมาณ 2แสนคน  ภาคเอกชน ประมาณ 8-9 แสนคน โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีพนักงานจำนวนมาก อาทิ พนักงานในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นต้น

ผู้จัดการกยศ. กล่าวต่อไปว่า คาดว่าอีกประมาณ 1 ปี ถ้าระบบทุกอย่างเรียบร้อย  ก็จะเริ่มหักเงินเดือนลูกหนี้ กยศ.ได้ทุกคน ส่วนลูกหนี้ที่ไม่อยู่ในระบบอีกประมาณ 1 ล้านคน  กยศ.ก็มีเบอร์โทรศัพท์ของทุกคนที่ใช้มือถือแล้ว ส่วนคนที่ไม่สามารถติดต่อได้จริง ๆ ก็คงต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งใครที่โดนฟ้องก็ไม่ต้องตกใจ ขอให้ไปติดต่อที่ศาล  ซึ่งศาลก็ยังให้โอกาสผ่อนชำระได้อีก 9 ปี

“ปัจจุบัน กยศ.มีผู้กู้เงินทั้งหมดประมาณ 5 แสนล้านบาท จากลูกหนี้ประมาณ 5 ล้านคน ปิดบัญชีไปแล้วประมาณ 8-9 แสนคน เสียชีวิตประมาณ 5 หมื่นคน อยู่ระหว่างปลอดหนี้ประมาณ 1 ล้านคน อยู่ระหว่างผ่อนชำระ 3 ล้านคน ในจำนวนนี้ผิดนัดชำระหนี้ 2 ล้านคน และกยศ.ดำเนินการฟ้องร้องไปแล้ว 1 ล้านคดี มีหนี้เสียประมาณ 7 หมื่นล้านบาท”นายชัยณรงค์ กล่าวและว่า ตอนนี้มีโทรศัพท์ติดต่อเข้ามาที่กยศ.เพื่อขอชำระหนี้เฉพาะเดือนกันยายนมีถึง 2 แสนสาย ยังไม่นับที่มาติดต่อที่สำนักงาน อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าที่กยศ.สามารถเรียกเงินกยศ.มาได้จำนวนค่อนข้างมาก อาจเป็นเพราะพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 มีส่วนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ให้อำนาจกยศ.เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของลูกหนี้ได้และแจ้งหน่วยงานต่างๆหักเงินเดือนได้เลย ทำให้ปีที่ผ่านมา กยศ.ได้รับชำระเงินกู้ถึง 2.6 พันล้านบาท ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา กยศ.ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินในการให้กู้เลย

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments