เมื่อวันนี้ 7 ธ.ค.ที่วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พล.อ. สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ได้ลงลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 9/2561 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลุ่มจังหวัดอุดรธานี เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และบึงกาฬ ทั้งนี้พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า การติดตามด้านอาชีวศึกษา ในช่วงเช้าจะเป็นการ ตรวจเยี่ยมติดตามผลการดำเนินงาน และการขับเคลื่อนศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา จังหวัดอุดรธานี ซึ่งจะเป็นการสรุป และทบทวนการทำงานของศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา และกำชับในเรื่องของข้อมูลความต้องการกำลังคน (Demand) และความสามารถในการผลิตกำลังคน (Supply) เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อมูลด้านความต้องการกำลังคน Big Data ในการขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และโมเดล ประเทศไทย 4.0 สำหรับศูนย์ผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NEEC) ทั้งหมด 5 ศูนย์ โดยกำหนดให้จังหวัดร้อยเอ็ด ที่วิทยาลัยเทคนิค(วท.)ร้อยเอ็ด เป็นศูนย์หลัก ในการรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลระดับภาค โดยมีศูนย์จังหวัดเครือข่าย ได้แก่ วท. อุดร วท. สกลนคร วท.นครราชสีมา และวท.อุบลราชธานี
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังได้ติดตามความพร้อมและความก้าวหน้าของการดำเนินงานด้านความร่วมมือในการยกระดับการจัดการอาชีวศึกษา และวิชาชีพของ ประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)กระทรวงศึกษาธิการ แห่งราชอาณาจักรไทย และ Pearson Education Limited สหราชอาณาจักร หรือ BTEC ซึ่ง สอศ. ได้เตรียมแผนระยะที่ 1 ระหว่างเดือนธันวาคม 2561-เมษายน 2562 ในเรื่องของการรับรองสถานศึกษา นำร่องเพื่อเป็น BTEC Centre approval โดยสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษา 3 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น สาขาการท่องเที่ยวและโรงแรม วิทยาลัยเทคโนโลยี ไออาร์พีซี สาขา Smart Electronic และวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา สาขาการประกอบอาหาร และเป็นสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) 3 แห่ง ระยะที่ 2 ระหว่างเดือนมกราคมพฤษภาคม 2562 เป็นเรื่องของการประเมินคัดเลือกสถานศึกษา 50 แห่ง เพื่อเป็น BTEC Centre approval รวมถึงการคัดเลือกครู และการฝึกอบรมครูตามหลักสูตรและมาตรฐานของ BTEC โดยสถานศึกษาจะเปิดการจัดการเรียนการสอนได้ในปีการศึกษา 2562 นี้
พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ส่วนความก้าวหน้าของโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) ของ สอศ. เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน เพื่อช่วยพัฒนาชุมชนและผู้ปกครองให้มีรายได้ โดยนักเรียน นักศึกษาจะเป็นผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และการบริหารจัดการในโรงเรียน ซึ่งได้มีการนำร่องระหว่างวิทยาลัยการอาชีพคำม่วง .กาฬสินธุ์ ร่วมกับ บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลอีสาน จำกัด และวิทยาลัยการอาชีพหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ร่วมกับ บริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด โดยได้ดำเนินการพัฒนาใน 5 ด้าน ได้แก่ การจัดการเรียนการสอน การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา การจัดกิจกรรมเสริมทักษะอาชีพ การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และการพัฒนาภูมิทัศน์ อาคารสถานที่ โดยมีผลความพึงพอใจในระดับดีมากต่อชุมชนในพื้นที่ จึงทำให้มีสถานศึกษาสนใจเป็นจำนวนมากที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยจะมีการขยายผลเพิ่มเติมสถานศึกษาที่จะเป็นโรงเรียนร่วมพัฒนาในระยะที่ 2 อีกจำนวน 6 แห่ง คือ 1.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรี ร่วมกับ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น 2. วิทยาลัยเทคนิคตรัง 3. วิทยาลัยอาชีวศึกษาสระบุรี และ4. วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี ร่วมกับ กลุ่มเซ็นทรัล 5.วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา และ 6. วิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ร่วมกับ บริษัท ซี.พี. ออลล์ จำกัด (มหาชน)

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments