เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 ที่ กระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาฯ (สอวน.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) แถลงความพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Asian Science Camp 2025 (ASC2025) ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 6 สิงหาคม 2568 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 และ เทคโนธานี มทส. โดยมี ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ศ.กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา รองประธานมูลนิธิ สอวน. ศ.เกียรติคุณ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานฯ รศ.ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดี มทส. และ ศ.ดร.สันติ แม้นศิริ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ และรองประธานคณะกรรมการดำเนินงาน ร่วมแถลงข่าว
ศ.ดร.นฤมล กล่าวถึงความสำคัญของกิจกรรม ASC2025 ว่า กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการยกระดับศักยภาพเยาวชนไทยสู่เวทีโลก โดยเฉพาะการเสริมสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 ผ่านเวทีที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนต่างชาติและนักวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้า เป็นโอกาสที่ดีของเยาวชนไทยจะได้ทำกิจกรรมร่วมกับเยาวชนจากนานาประทศกว่า 22 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนได้มีพื้นฐานและทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เข้มแข็ง ASC2025 จึงเป็นโอกาสอันล้ำค่าสำหรับเยาวชนไทยที่จะได้เรียนรู้ ลงมือทำ และสร้างแรงบันดาลใจจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์ระดับโลก ที่จะทำให้เกิดความอยากศึกษาวิทยาศาสตร์ในเชิงลึกมากขึ้น และยังเป็นเวทีที่ประเทศไทยสามารถแสดงศักยภาพทางวิชาการและความพร้อมในระดับนานาชาติได้อย่างเต็มที่
“โครงการนี้เป็นโครงการสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย และภูมิภาค เพราะการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานของประเทศไทยเกิดขึ้นได้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์หลายพระองค์รวมถึงพระราชวงศ์หลายท่าน และศธ.ก็ทำงานถวายงานอย่างต่อเนื่อง ก็หวังว่าการศึกษาวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานจะกลับมาได้รับความสำคัญอีกครั้ง ซึ่งจะมีการหารือกับเลขาธิการ กพฐ.อีกครั้งถึงการยกระดับการศึกษาวิทยาศาสตร์พื้นฐานอย่างไร มิฉะนั้นหากสิ่งนี้หายไป ห้วงระยะเวลายาว ๆ เราก็จะอ่อนแอลง เพราะคนใหม่ ๆ ไม่ได้รับการพัฒนา เพราะฉะนั้น ศธ.พร้อมสนับสนุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ทุกโครงการ” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ศ.กิตติคุณ นายแพทย์จรัส กล่าวว่า “Asian Science Camp เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2548 (ค.ศ.2007) ที่กรุงไทเป ไต้หวัน มีประเทศเจ้าภาพหมุนเวียนเปลี่ยนไปทุกปีรวม 14 ครั้ง เช่น อินโดนีเชีย ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ เป็นต้น โดยงานดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อต้องการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้กับเยาวชนในแถบเอเชียแปซิฟิก ที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ โดยประเทศไทยเคยรับเป็นเจ้าภาพจัด Asian Science Camp 2015 หรือเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา และในปีนี้ ประเทศไทยได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดงาน ASC2025 อีกครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมทั้งด้านประสบการณ์จัดงานวิชาการระดับนานาชาติ และยังแสดงให้เห็นศักยภาพภาพทางวิชาการของเหล่าเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ตลอดทั้งคณาจารย์ และนักวิจัยที่ได้สร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญการจัดงานครั้งนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด ในวันที่ 1 สิงหาคม 2568
ศ.เกียรติคุณ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร กล่าวว่า ภายในงาน ASC2025 มีเยาวชนจาก 22 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กว่า 235 คน โดยมีผู้แทนเยาวชนไทยที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมจำนวน 68 คน และในงานยังมีการบรรยาย ร่วมอภิปราย และพูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล 3 ท่าน ได้แก่ 1. Prof. Dr. Sir Gregory Paul Winter ผู้ได้รับรางวัล Nobel Prize in Chemistry ปี 2018 จากผลงานการพัฒนาเทคนิค Phage Display เพื่อสร้างแอนติบอดี ซึ่งเป็นรากฐานของยาชีวภาพที่ใช้รักษาโรคต่างๆ รวมถึง Adalimumab หรือ Humira 2. Prof. Dr. Drew Weissman เจ้าของรางวัล Nobel Prize in Physiology or Medicine ปี 2023 จากการค้นพบการดัดแปลงนิวคลีโอไซด์ใน mRNA ซึ่งช่วยลดการอักเสบและทำให้เทคโนโลยีวัคซีน mRNA เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 3. Prof. Dr. Takaaki Kajita ผู้ได้รับ Nobel Prize in Physics ปี 2015 จากการค้นพบการแกว่งของนิวทริโน (Neutrino Oscillations) โดยใช้เครื่องตรวจจับ Super-Kamiokande ซึ่งพิสูจน์ว่านิวทริโนมีมวล และเปลี่ยนความเข้าใจพื้นฐานของฟิสิกส์อนุภาค นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Plenary Speakers อีก 5 ท่าน ซึ่งล้วนเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถ่ายทอดประสบการณ์จากนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ รุ่นกลางชาวไทยที่มีชื่อเสียงในระดับแนวหน้าจากสถาบันชั้นนำ การจัดแสดงโปสเตอร์นิทรรศการแสดงผลงานของนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง เป็นการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้พูดคุย สอบถาม แลกเปลี่ยน ถ่ายทอดประสบการณ์ และได้รับแรงบันดาลใจจากนักวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างสรรค์เครือข่ายทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่เข้มแข็งในอนาคต
ด้าน รศ. ดร.อนันต์ กล่าวในฐานะเจ้าภาพหลักร่วมว่า มทส. เป็นมหาวิทยาลัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนั้นงานด้านวิขาการเราจัดเต็มแน่นอน ทั้งเรื่องของนิทรรศการ เครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย และมีอาจารย์เก่ง ๆ มาร่วมงาน เชื่อว่าว่าจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กสนใจการเรียนด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น และ การเป็นเจ้าภาพร่วมของ มทส.ไม่ได้มองแต่งานวิชาการ แต่เราจะโชว์เรื่องของศิลปวัฒนธรรมของจังหวัด ซึ่งเป็น soft power ของประเทศด้วย ดังนั้นงาน ASC2025 นี้ จะทำให้เด็กเยาวชนจากทั้ง 22 ประเทศ ได้ซึมซับทั้งงานวิชาการ และงานศิลปะวัฒนธรรม กลับไป คิดว่าภาพจำนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเด็ก ๆ จะมีภาพความประทับใจจะสามารถไปพูดต่อได้ว่า ประเทศไทยมีทั้งความเก่งของคน เรื่องของวิชาการ ยังมีเรื่องการท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม อาหาร กีฬา อย่างมวยไทย เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นเสน่ห์ของประเทศไทย