นพ.อุดม คชินทร  รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังประชุมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบรายละเอียดในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาระหว่างภาคเอกชนและโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการซึ่งมีกรอบเวลาความร่วมมือ 5 ปี โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการประกาศรายชื่อภาคเอกชน 10 แห่งและรายชื่อ 40 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ แต่ล่าสุดมีภาคเอกชนเสนอเข้าร่วมโครงการเพิ่มอีก 1 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมบริหารโรงเรียน 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวัดนิเวศวุฒาราม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) นครสวรรค์ เขต 1 และโรงเรียนบางหมาก สพป.ตรัง เขต 2  ซึ่งเท่ากับว่าภายใต้โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา มีภาคเอกชนร่วมสนับสนุน 11 แห่งและโรงเรียน 42 แห่ง โดยพิธีลงนามความร่วมมืออย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทุกโรงเรียนเปิดเทอมแล้ว  ซึ่งกลุ่มโรงเรียนร่วมพัฒนาจะต้องเร่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถานศึกษา  โดยการบริหารงานจะเปลี่ยนไปเน้นความคล่องตัวขึ้น สามารถบริหารจัดการบุคลากร  งบประมาณ  การจัดการศึกษา ได้เอง โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็จะดูแล ปลดล็อก ระเบียบข้อกฎหมายที่เป็นข้อ จำกัดให้

     “ในวันที่ 4 มิ.ย.นี้จะเชิญผู้อำนวยการโรงเรียนทั้ง 42 แห่ง มาให้ข้อมูลว่าทำอะไรไปบ้าง และมีข้อติดขัดอะไรหรือไม่ ขณะเดียวกัน จะมีการคณะกรรมการติดตามประเมินและวิจัย ทำหน้าที่ในการเก็บข้อมูลติดตามประเมินผลตั้งแต่ผู้บริหาร  ครู นักเรียน ชุมชน โดยเชื่อมโยงในทุกมิติเพื่อดูผลสัมฤทธิ์  ที่เกิดขึ้นว่าเป็นไปอย่างที่ตั้งใจหรือไม่” นพ.อุดม กล่าวและว่า  โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ถือเป็นเป้าหมายสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ ที่ ศธ.จะต้องทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการปฏิรูปการศึกษาได้แท้จริง  ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้ โครงการนี้ครอบคลุมโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันเฟสแรกที่ทำกับโรงเรียน 42 แห่งนั้นครอบคลุม 31 จังหวัด ขณะที่เป้าหมายของโครงการแต่ต้นคือ 77 จังหวัด ทั้งนี้ยัง มีข้อเสนอว่าอนาคตอาจจะขยายไปให้มีโรงเรียนร่วมพัฒนาใน 225 เขตพื้นที่การศึกษาเขตละ 1 แห่งเพื่อเป็นแนวทางกับโรงเรียนอื่นๆในสังกัดกว่า 3 หมื่นโรง ขณะเดียวกัน จะเจรจากับหน่วยงานอื่นๆ ที่มีสถานศึกษาในกำกับ เช่น กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้มาร่วมมือตามแนวทางนี้เพื่อเป็นพลังในการพัฒนาประเทศด้วย

     ด้าน นายมีชัย วีระไวทยะ คณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบโรงเรียนร่วมพัฒนา กล่าวว่า สิ่งที่จะได้เห็นในโรงเรียนร่วมพัฒนาคือ โรงเรียนจะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคน เช่น อยากรู้เรื่องกฎหมาย อาชีพ สุขภาพ มาบอกโรงเรียนก็จะหาผู้รู้มาช่วยสอน และเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งชุมชนตนเองและชุมชนใกล้เคียง ให้รอดพ้นจากความยากจน ขณะที่นักเรียน จะต้องมีส่วนร่วมในการเรียน การสอน และการจัดการในโรงเรียนตลอดจนร่วมดูแลชุมชน ซึ่งจะมีการจัดตั้งองค์การบริหารหมูบ้านเยาวชนขึ้น ให้เยาวชนร่วมกำหนดวางแผนดูแลชุมชน

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments