เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 ที่ ห้องกรุงธนบอลรูม โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ  ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์  รมช.ศึกษาธิการ  เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมฐานสมรรถนะ ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน  โดยมี นายธฤติ ประสานสอน ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ นายประยูร หรั่งทรัพย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(กช.) นายพรชัย พิศาลศิษฐ์กุล นายกสมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ (ประเทศไทย) (ส.อ.น.) พร้อมด้วย ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม  ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ นายศรายุทธ ทองอุทัย รองผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 นางสาวพรภัทรา ฉิมพลอย รักษาการผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนภารกิจพิเศษ (สคช.) ผู้แทนจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และผู้แทนจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน คณะวิทยากร ผู้บริหาร ครูโรงเรียนเอกชนนอกระบบ และผู้ที่สนใจ เข้าร่วม

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ด้วยบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปของสถานการณ์โลกปัจจุบันและอนาคต จึงจำเป็นต้องมีบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินการของเครือข่าย ทั้งในส่วนของภาคการศึกษาและภาคเอกชน การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จัดเพื่อพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมฐานสมรรถนะตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน โดยมุ่งเน้นให้ผู้บริหาร และครูแกนนำของโรงเรียนเอกชนนอกระบบทั่วประเทศ ซึ่งเป็นบุคลากรสำคัญที่จะนำกระบวนการและหลักการในการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมที่ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้รับรองแล้ว นำไปใช้ในการฝึกอบรมให้แก่ประชาชนและผู้สนใจ

“ครูโอ๊ะเล็งเห็นว่า ผู้บริหารและครูแกนนำที่เข้าร่วมการประชุมฯ  เป็นบุคคลสำคัญ ที่จะเป็นแกนนำในการขยายผลกระบวนการไปสู่การพัฒนา “หลักสูตรฝึกอบรมฐานสมรรถนะที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ” เพื่อรองรับระบบการเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้ และประสบการณ์ ผ่านระบบธนาคารหน่วยกิตในอนาคต ซึ่งระบบคุณวุฒิแห่งชาติ ที่ทั้ง 3 หน่วยงานร่วมกันขับเคลื่อนอยู่นี้ จะเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงโลกของการศึกษากับโลกของการทำงานได้อย่างแท้จริง” รมช.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า จากการลงพื้นที่ทั่วประเทศไทย ทำให้ได้รับทราบปัญหาของพี่น้องเอกชน โดยเฉพาะได้รับการสะท้อนปัญหาของโรงเรียนเอกชนนอกระบบจากนายพรชัย พิศาลศิษฐ์กุล นายก ส.อ.น. และ ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานงานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) จนนำสู่การวางแผนแก้ไขที่มีความก้าวหน้าในหลายส่วน  เช่น  การเติมเต็มให้ผู้เรียนในโรงเรียนนอกระบบ สามารถกู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งอยู่ในการพิจารณากฎหมายในชั้นกรรมาธิการที่มีความก้าวหน้าไปมาก โดย รมว.ศึกษาธิการ  รมว.คลัง  นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลเรื่องนี้ และตนจะผลักดันให้เกิดผลสำเร็จต่อไป

ดร.กนกวรรณ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของโรงเรียนเอกชนนอกระบบ ที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าทำให้ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้หากห้างสรรพสินค้าไม่เปิด  ตลอดจนถึงระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ยังไม่ได้รับการยกเว้น การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของครูและผู้บริหารในระบบกองทุนสงเคราะห์  ที่อาจจะต้องวางแผนหรือกำหนดการเบิกจ่ายในลักษณะขั้นบันได และทำให้เบิกจ่ายตรงได้ ครูจะได้ไม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และในอีกหลายมิติที่เป็น “ทางรอด” ของโรงเรียนเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ตนได้นำเรียนสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านมีความห่วงใยและถามไถ่ถึงความอยู่รอดของพี่น้องโรงเรียนเอกชนเสมอ โดยได้มอบให้ดำเนินการรวบรวมประเด็นปัญหาชองโรงเรียนเอกชน เพื่อหาแนวทางแก้ไขและหาทางออกร่วมกันต่อไป

 

 

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments