เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 รศ.ดร.ประวิต  เอราวรรณ์  เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า  ตามที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของศธ. พ.ศ. …เมื่อเร็ว ๆ นี้ นั้น ขณะนี้ตนได้เรียกประชุมผู้บริหาร ก.ค.ศ. เพื่อปรับแก้ระเบียบและข้อบังคับและกฎหมายต่าง ๆ ที่ออกมาตั้งแต่ปี2560-2565 ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจการบริหารงานบุคคล ให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ โดยเรื่องใดที่เป็นอำนาจของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ก็ต้องโอนให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ.)เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ตามพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมฯ ซึ่งมีกว่า 100 ฉบับที่ต้องดำเนินการปรับแก้ ซึ่งตนได้ตั้งคณะทำงาน เพื่อยกร่างหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ จากนั้นจะนำร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว สอบถามความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย ก่อนเสนอให้ คณะกรรมการก.ค.ศ. ที่มีน.ส.ตรีนุช  เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการศธ. เป็นประธานพิจารณา ให้ความเห็นชอบต่อไป โดยจะดำเนินการให้ทันภายใน 90 วันก่อนกฎหมายประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

รศ.ดร.ประวิต  กล่าวต่อไปว่า ส่วนการปรับหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ใหม่) หรือเกณฑ์ PA  ให้สอดคล้องกับงานบริหารระบบการบริหารงานบุคคลที่จะเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมฯดังกล่าวนั้น  ยืนยันว่าระบบยังเปิดให้ยื่นขอมีและเลื่อนวิทยฐานะตามเกณฑ์ใหม่ ในวันที่ 1 ตุลาคม เช่นเดิม ครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถทำผลงานและยื่นผลงานได้ตามปกติ ส่วนที่ต้องปรับเป็นเรื่องของระบบขั้นตอน  อาทิ ระบบประเมินวิทยฐานะดิจิทัลหรือ DPA ส่วนใดที่เป็นภารกิจของกศจ. ก็ต้องโอนภารกิจมาให้เขตพื้นที่ฯเชื่อว่าจะไม่มีปัญหา

“ครูและบุคลกรทางการศึกษาที่จะเตรียมยื่นขอมีและเลื่อนวิทยฐานะตามระบบใหม่ ไม่ต้องกังวล ระบบยังเปิดให้ยื่นผลงานได้ตามปกติ ส่วนกระบวนการพิจารณาเป็นเรื่องที่ก.ค.ศ.ต้องปรับระบบดำเนินการให้ทัน เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน ส่วนผู้ที่ยื่นก่อนวันที่ 1 ตุลาคม จะได้รับการประเมินตามหลักเกณฑ์เดิมจนครบ เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา คาดว่าจะมีครูและบุคลากรทางการศึกษายื่นขอประเมินวิทยฐานะตามเกณฑ์ใหม่ PA กว่า 50,000 คน และที่ผ่านมา ก.ค.ศ. รับฟังทุกความคิดเห็นและปรับจูน ทำความเข้าใจกับครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การประเมินแนวทางใหม่ ส่วนใหญ่มีความเข้าใจ ยอมรับว่า มีเสียงคัดค้านเข้ามาบ้าง ทางก.ค.ศ. ก็รับฟัง แต่เท่าที่ดูผู้ที่ออกมาค้านส่วนใหญ่ ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง ขณะที่ครูและผู้เกี่ยวข้องโดยตรง จำนวนมากออกมาแสดงท่าทีสนับสนุน อาทิ ชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร ก็ออกมาให้การสนับสนุน โดยหลังการประเมินตามเกณฑ์PA ก.ค.ศ. จะมีทีมประเมินข้อดี ข้อเสีย ซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอก เข้ามาดำเนินการ เพื่อพัฒนาหลักเกณฑ์ให้มีคุณภาพและมีงานวิจัยรองรับตามหลักวิชาการอย่างแท้จริง”เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments