เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 ที่โรงเรียนผาขวางวิทยา ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า วันนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้จัดกพฐ.สัญจร นำคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียนและดูบริบทการจัดการศึกษาในพื้นที่ตามสภาพความเป็นจริง เนื่องจากสพฐ.มีโรงเรียนขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันแม้ว่าบางโรงจะมีนักเรียนจำนวนน้อย แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องคงโรงเรียนเหล่านี้อยู่ ในลักษณะของโรงเรียนสแตนด์อโลน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ยากลำบาก อยู่ตามชายขอบ หรือตามเกาะแก่งเพื่อดูแลเด็กในพื้นที่จะได้ไม่ต้องเดินทางออกนอกพื้นที่ แม้โรงเรียนเหล่านี้อยู่ไกล แต่ต้องได้รับโอกาสไม่ต่างจากโรงเรียนที่อยู่ในเมือง ทั้งในเรื่องของความเป็นอยู่ ที่พักครูและนักเรียนรวมถึงอุปกรณ์การเรียนการสอน เป็นต้น

เพื่อให้การดูแลเด็กและครูมีความยั่งยืนในระยะยาว ทั้งในเรื่องของโอกาสทางการศึกษา สวัสดิการสวัสดิภาพ สพฐ.จึงได้เชิญ คณะกรรมการ กพฐ.ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้สพฐ.นำมาปฏิบัติ ลงพื้นที่เพื่อให้เห็นสภาพความเป็นจริงที่โรงเรียนผาขวางวิทยาดร.อัมพร กล่าวและว่าการจัดการศึกษามิติใหม่ สพฐ.มุ่งเน้นไปที่คุณภาพของผู้เรียน โดยให้พื้นที่เป็นฐาน เน้นนวัตกรรมของผู้เรียน ดังนั้นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนจะเน้นไปที่อาชีพที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชน โดยมุ่งให้สามารถประกอบอาชีพและเลี้ยงตัวเองได้ และมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม


.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานกพฐ.กล่าวว่า โจทย์สำคัญของ กพฐ. คือ ทำอย่างไรเราจึงจะยกระดับคุณภาพการศึกษา ซึ่งก็คือการยกระดับคุณภาพคน คุณภาพนักเรียนได้ การลงพื้นที่ก็จะได้ดูว่าสิ่งต่างๆที่มีอยู่จะยกระดับคุณภาพอย่างไร ไม่ว่าเรื่องของความพร้อมทางด้านสถานที่ ครูอาจารย์ ระบบการบริหาร เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ซึ่งเราจะได้นำไปออกเป็นนโยบาย แนวปฏิบัติ เพื่อหาทางช่วยเหลือติดตั้งเสริมอาวุธ ให้สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษา การเรียนรู้และคุณภาพคนให้ดีขึ้น

การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้แบ่งออกเป็น 5 สายแยกกันลงหลายจุดจากนั้นจะมาคุยกันว่ามีอะไรที่พอปรับปรุงได้ อะไรที่สามารถเป็นจุดพลิกที่สามารถทำได้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าคงไม่ได้ทำทุกเรื่องแต่เราจะเลือกทำสิ่งที่สามารถยกระดับคุณภาพได้เร็ว หรือเรื่องที่โรงเรียนส่วนใหญ่เผชิญปัญหา อุปสรรค และเป็นปัญหาคล้ายๆกัน เช่น ที่เชียงราย ถ้าโรงเรียนส่วนใหญ่ขาดอินเตอร์เน็ต  ซึ่งเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่สำคัญในยุคนี้ หรือระบบยังไม่ดีพอทำให้ครูอาจารย์เข้าถึงความรู้ได้น้อย แต่ถ้าระบบอินเตอร์เน็ตดีขึ้น ครูอาจารย์สามารถออกไปหาความรู้ภายนอกได้มากขึ้นทำให้คนข้างนอกรู้จักมากขึ้น ก็จะเป็นเป้าหมายที่นำไปสู่คุณภาพการศึกษา คุณภาพคนมากขึ้นได้ประธาน กพฐ.กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments