เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงการสรรหาผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.แทนตำแหน่งว่าง ว่า ก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการสรรหาผู้บริหารระดับสูง ได้เสนอรายชื่อผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) 1 ตำแหน่ง ศึกษาธิการภาค(ศธภ.)  2 ตำแหน่ง และผู้ตรวจราชการ ศธ.1 ตำแหน่ง ให้ น.ส.ตรีนุช  เทียนทอง รมว.ศธ. พิจารณา ซึ่ง รมว.ศธ. ได้นำรายชื่อผู้เหมาะสมทั้ง 4 ตำแหน่ง เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ ครม.อาจจะเห็นว่า ยังไม่เหมาะสม จึงยังไม่เห็นชอบและส่งกลับมาที่ ศธ. ซึ่งคงต้องดูความเหมาะสมหลังการเลือกตั้ง หาก รมว.ศธ.คนใหม่ให้ความเห็นชอบ ก็เสนอ ครม.ใหม่ พิจารณาได้ทันที แต่หากไม่เห็นชอบก็ต้องตั้งคณะอนุกรรมการสรรหาผู้บริหารระดับสูงใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ตามต้องถือว่า น.ส.ตรีนุช ในฐานะ รมว.ศธ.คนปัจจุบัน ก็ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ถึงแม้จะยังไม่สามารถแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่งที่ว่างได้ทันภายในรัฐบาลนี้ แต่ก็เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการทำงานในภาพรวม เพราะเชื่อว่า ผู้บริหารที่มีอยู่จะสามารถขับเคลื่อนการทำงานได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ

ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนการสรรหาเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กศน.) คนใหม่ นั้น ชัดเจนแล้ว ว่า ต้องรอให้ได้รัฐบาลใหม่ก่อน จึงจะสามารถเริ่มกระบวนการสรรหาได้ โดยจะต้องเปลี่ยน จาก เลขาธิการ กศน. เป็น อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.2566 ที่มีผลใช้บังคับแล้ว  และส่งผลให้ต้องยกฐานะสำนักงาน กศน. จากหน่วยงานภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (กสร.) ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ภายในวันที่ 18 พฤษภาคมนี้  โดยรองเลขาธิการ กศน.ที่รักษาราชการแทนเลขาธิการ กศน.ในปัจจุบัน ก็จะมาเป็น รักษาราชการแทนอธิบดี กสร.โดยตำแหน่ง

“ อย่างไรก็ตามส่วนตัวผมยังมีข้อกังวล ในเรื่องของการจัดทำกฎหมายลูก 17 ฉบับ  โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง ที่จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….แต่ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ไม่ผ่านสภาฯ ซึ่งต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาพิจารณา  ดังนั้น การขับเคลื่อนบางประเด็น โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างกรมที่อาจจะต้องไปปรับแก้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534  เพื่อให้ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ หลุดออกมาเป็นนิติบุคคล มีอำนาจในการบริหารงานบุคคลและงบประมาณ หรือ เสนอ ครม.ออกเป็นพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)เพิ่มเติม เพื่อให้การขับเคลื่อนการทำงานของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ สามารถดำเนินการได้อย่างไม่มีปัญหา ซึ่งก็ต้องไปดูรายละเอียดอีกครั้งว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่”ดร.อรรถพลกล่าวและว่า ไม่ว่าจะอย่างไรกรมส่งเสริมการเรียนรู้ก็ต้องเกิดขึ้นภายในวันที่ 18 พฤษภาคม นี้  ส่วนกฎหมายลูกก็ดำเนินการตามมาในภายหลังได้ โดยระหว่างทางก็ต้องปรับให้เหมาะสมในลักษณะทำไปแก้ไปให้เกิดความสมบูรณ์มากที่สุด

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments