วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) นายไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อส่งเสริมผู้เรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาต่อสายอาชีพชั้นสูงและการสร้างความเข้มแข็งของสถานศึกษาในการยกระดับผลลัพธ์การเรียนของผู้เรียน ณ ห้องอารีย์ 1-2 โรงแรมเดอะ ควอเตอร์ อารีย์ กรุงเทพฯ

เรืออากาศโท สมพร  กล่าวว่า นับจากปี 2563 ที่ สอศ. และ กสศ. ได้จับมือกันเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สร้างโอกาสให้แก่เยาวชนยากจน ด้อยโอกาส สู่ผู้เรียนอาชีวศึกษา มีผู้สำเร็จการศึกษาภายใต้โครงการนี้ไปแล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 5 ผู้เรียนความต้องการพิเศษในรุ่นที่ 4 และนับได้ว่าเป็นวาระที่ 2 ที่จะได้ร่วมกันขับเคลื่อนเป้าหมายของผู้เรียนอาชีวศึกษา ซึ่งการเรียนสายอาชีวศึกษาจะเป็นกำลังสำคัญทำให้ประเทศมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ภายใต้การกำกับดูแลของ สอศ.     ในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะและสมรรถนะสูง ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ

“สอศ. ได้กำหนดทิศทางเพื่อขับเคลื่อนร่วมกับ กสศ. อาทิ การแต่งตั้งคณะทำงานให้เป็นไปตามขอบเขตและแผนงาน ได้จัดตั้งศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ประจำภูมิภาค 10 แห่ง เปิดโอกาสให้ผู้พิการและประชาชนทุกช่วงวัยมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอาชีวศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพ “สร้างโอกาส – ความเสมอภาค” เพื่อการสร้างคน สร้างอาชีพ ร่วมกับ กสศ. และภาคเครือข่าย ภายใต้การทำงานแบบมีส่วนร่วมได้กำหนด Key Success ในการพัฒนาระบบดูแลความเป็นอยู่และสวัสดิภาพ เช่น การดูแลผู้เรียนให้อยู่ในระบบ พัฒนาหลักสูตรให้มีคุณภาพสูง พัฒนาครูแกนนำ ร่วมลงนามกับกรมสุขภาพจิต และการศึกษาวิจัย พัฒนานวัตกรรมยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา พร้อมขับเคลื่อนให้เป็นไปตามกลไกสู่มาตรฐาน”รองเลขาธิการ กอศ. กล่าว

เรืออากาศโทสมพร กล่าวต่อไปว่า จากการสนับสนุนของ กสศ. และการมีส่วนร่วมของเครือข่ายความร่วมมือ  ถือว่าเป็นการตอบโจทย์ การมีงานทำ การประกอบอาชีพ เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้เรียนมีโอกาสและสมรรถนะอาชีพที่ตรงตามสาขาที่เรียนและสามารถใช้ศักยภาพได้จริง สู่การเชื่อมฐานข้อมูล วางแผนส่งต่อเชื่อมโยงกับภาคเอกชนสู่การมีทำงาน รวมถึงวิเคราะห์ทิศทางการมีงานทำ ให้ได้รับค่าตอบแทนตามฐานสมรรถนะอาชีพของผู้เรียน และสำคัญยิ่งคือ ผู้เรียนที่ได้รับทุนการศึกษาจาก กสศ. ได้รับโอกาส มีฐานะดีขึ้นในระดับต้นๆ รวมถึงวิจัยและพัฒนายกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ เกิดภาพลักษณ์ที่ดี ประเทศชาติได้ประโยชน์ ลดความเลื่อมล้ำ สู่การพัฒนาประเทศ สู่ประเทศไทยมั่นคง ร่ำรวยด้วยมืออาชีวะ

ทั้งนี้ ดร.ไกรยส  กล่าวถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่น่าเป็นห่วงต่อสังคม และเศรษฐกิจไทยว่าปัจจุบันนักเรียนในครัวเรือนยากจนมีโอกาสศึกษาต่อในระดับ ม.ปลาย เพียง53% ขณะที่นักเรียนยากจนพิเศษสามารถเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้เพียง 8% มีเยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปี ประมาณ 1.4 ล้านคน ไม่ได้อยู่ในการทำงานการศึกษา หรือการฝึกอบรมใด ถูกเรียกสั้น ๆ ว่าเยาวชนกลุ่ม NEET (Youth Not in Employment, Education, or Training : NEET) คิดเป็น 15% ของเยาวชนทั้งหมด

“เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง สาเหตุมาจาก 1.ภาระค่าใช้จ่ายการศึกษาที่สูงเกินกว่าจะแบกรับ โดยเฉพาะในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ขณะที่สวัสดิการการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด  ขณะที่ครัวเรือนยากจน ยังกังวลเรื่องค่าเสียโอกาสในการทำงานหารายได้หากต้องศึกษาต่อ 2.ระบบการเรียนการสอนที่ยังไม่ตอบโจทย์ชีวิตจริงและการมีงานทำทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุให้เยาวชนเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยวุฒิการศึกษามัธยมต้นหรือน้อยกว่า กลายเป็นแรงงานด้อยทักษะ และสืบทอดมรดกความยากจนข้ามรุ่น”ดร.ไกรยส กล่าวและว่า กสศ. ร่วมมือกับ สอศ. และคณะหนุนเสริมจากหลายสถาบัน พัฒนานวัตกรรมระบบการศึกษาเพื่อยุติความยากจนข้ามรุ่น ภายใต้โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ที่ออกแบบโดยยึดเด็กและเยาวชนเป็นศูนย์กลางพร้อมกับตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในโลกยุคใหม่ไปด้วยกัน มีจุดเน้นสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1.การส่งเสริมโอกาสการเข้าถึงการศึกษา ด้วยกลไกการแนะแนวเพื่อให้เด็กและครอบครัวมองเห็นโอกาสทางการศึกษาและการมีอาชีพตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน และสวัสดิการเรียนฟรีเต็มรูปแบบ ที่ตอบโจทย์ข้อจำกัดในชีวิตของเยาวชนกลุ่มนี้  2.การยกระดับคุณภาพสถานศึกษา ให้มีหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนที่มีคุณภาพเพื่อสร้างกำลังคนสมรรถนะสูง มีทักษะการทำงานในโลกยุคใหม่ การส่งเสริมโอกาสการมีงานทำของผู้ที่จะจบการศึกษา เพื่อประกันการเรียนแล้วได้วุฒิ ได้งานที่ตรงสาขาทันทีหลังจบการศึกษา   ระบบการดูแลสวัสดิภาพ ความเป็นอยู่และสุขภาพจิตของผู้เรียนให้สามารถจบการศึกษาตามหลักสูตรโดยไม่มีการออกกลางคัน

ดร.ไกรยส กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน มีจำนวนทุนสะสมทั้งสิ้น 11,679 ทุน เป็นเด็กยากจนและด้อยโอกาส11,251 คน เด็กที่มีความต้องการพิเศษ 428 คน คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 3,059,415,867 บาท  ผลการดำเนินงานที่ผ่านมานักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงได้รับการพัฒนาให้มีสมรรถนะมีผลการเรียนในระดับดีมาก 3.00-4.00 โดยเมื่อสำเร็จการศึกษากว่า 90%  คือคนแรกของครอบครัวที่มีการศึกษาสูงกว่าพ่อแม่ และ 82%มีงานทำหรือศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นช่วยยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัวซึ่งคาดว่าจะมีรายได้เข้าสู่ฐานภาษีของประเทศภายในระยะเวลา 5 ปี และพวกเขาจะเป็นบุคคลสำคัญของครอบครัวที่ช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่นได้

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments