เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.)  เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามระเบียบ คณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ว่าด้วยการจัดการอาชีวศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพสำหรับคนพิการ พ.ศ.2566 และประกาศคณะกรรมการการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ อัตรา และรายการที่ให้การอุดหนุนทางการศึกษาสำหรับคนพิการในระดับอาชีวศึกษา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาประกาศใช้ต่อไป

เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับรายละเอียดรายการที่ให้การอุดหนุน ต่อคน/ต่อปี ในทุกหลักสูตรของปีการศึกษา ประกอบด้วย ค่าเล่าเรียน ค่าบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่น ตามรายการและอัตราที่กำหนดในระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศของสำนักงาน สถาบัน หรือสถานศึกษา ตามจ่ายจริงเท่ากับนักเรียนทั่วไป ไม่เกินอัตราดังต่อไปนี้  ในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเฉพาะ (ระยะสั้น) ไป-กลับ 21,000 บาท  หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช. ) ไป-กลับ 21,000 บาท อยู่ประจำ 57,000 บาท  โดยในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และหลักสูตรปริญญาตรีสายเทคโนโลยี หรือสายปฏิบัติการ มีอัตราการอุดหนุนเท่ากัน ในกลุ่มสาขาวิชา ดังนี้ 1. กลุ่มสังคมศาสตร์  ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ สาขาที่ขาดแคลนและหรือเป็นความต้องการของตลาดแรงงาน ได้แก่ บัญชี เศรษฐศาสตร์ สารสนเทศ นิติศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ  วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์  ครุศาสตร์อุตสาหกรรม  โลจิสติกส์  ธุรกิจอุตสาหกรรม  อุตสาหกรรมบริการ  และธุรกิจการบิน อัตราการอุดหนุนแบบไป-กลับ 60,000 บาท และแบบอยู่ประจำ 96,000 บาท อื่น ๆ อุดหนุน 50,000 บาท และ 86,000  2.กลุ่มศิลปกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์  3.กลุ่มวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ 4 กลุ่มเกษตรศาสตร์ อัตราการอุดหนุนแบบไป-กลับ 70,000 บาท และแบบอยู่ประจำ 106,000 บาท

ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) โดยศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษอาขีวศึกษา (ศพอ.) จะเร่งดำเนินการนำระเบียบ และประกาศดังกล่าว จัดทำแผนงานเพื่อเสนอขอรับงบประมาณเงินอุดหนุนทางการศึกษาสำหรับคนพิการในระดับอาชีวศึกษา ภายในปีงบประมาณ พ.ศ 2567  – พ.ศ. 2568 ซึ่งอัตราเงินอุดหนุนดังกล่าว จะทำให้คนพิการเกิดความสนใจการศึกษาต่อในระดับอาชีวศึกษา และเข้าถึงการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาทุกระดับอย่างทั่วถึงเพิ่มขึ้น ซึ่งการศึกษาในระดับอาชีวศึกษา จะช่วยตอบโจทย์ผู้เรียนผู้พิการ ให้สามารถนำความรู้และทักษะทางวิชาชีพไปประกอบอาชีพต่อไปได้

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments