เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ที่ห้องประชุม สพฐ. 1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ มีพิธีลงนามความร่วมมือ(MOU) เดินหน้าผลิตหนังสือเรียนและสื่อนวัตกรรมทางการศึกษา ประจำปี 2567 ระหว่างองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) โดย ดร.พัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) รักษาการผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)โดย รศ.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการ สสวท. โดยมีนายภกร รงค์นพรัตน์ รอง ผอ.องค์การค้าของ สกสค. และนายพรชัย อินทร์ฉาย รองผอ.สสวท. ร่วมในพิธี

ดร.พัฒนะ กล่าวว่า ความร่วมมือปีนี้มีการพัฒนาหนังสือเรียนและสื่อการเรียนการสอนให้มีความทันสมัย สนองตอบความต้องการของนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรามีปัญหาในการประเมินผลนักเรียนระดับนานาชาติ หรือ PISA (2020) ในการทดสอบวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน ที่แนวโน้มลดลง  โดยเฉพาะ สพฐ.มีนโยบายในการพัฒนาการเรียนรู้ให้นักเรียน ม.1 เพราะในอีก 2 ปีข้างหน้าเด็กกลุ่มนี้จะเข้าทดสอบ PISA ดังนั้นเราจะต้องพัฒนาเด็กร่วมกัน  โดย สสวท.ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ใช้บุคลากรที่มีองค์ความรู้ชั้นนำของประเทศ ที่นอกจากจะคิดค้นนวัตกรรมสื่อการสอนแล้วยังได้จัดอบรมให้ครูมีความรู้ในการใช้สื่อนวัตกรรมด้วย ขณะที่การจัดพิมพ์หนังสือก็รับนโยบายจาก พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่า จะต้องผลิตหนังสือที่มีคุณภาพ ไม่ขึ้นราคา แต่เปลี่ยนเนื้อหาให้ทันสมัยตอบโจทย์การเรียนของเด็กรุ่นใหม่ ที่สำคัญต้องจัดพิมพ์ให้ทันเปิดภาคเรียน

รศ.ธีระเดช  กล่าวว่า การอบรมครูปีนี้ สสวท.จะเพิ่มความเข้มข้นเรื่องของการใช้สื่อและนวัตกรรมให้มากขึ้น โดยเฉพาะเกมกระดาน หรือ บอร์ดเกม ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก เพราะบอร์ดเกมจะสามารถช่วยแก้ปัญหาพฤติกรรมเด็กติดมือถือได้ และยังช่วยดึงให้เด็กมีทักษะการสื่อสารและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นได้ด้วย ขณะเดียวกันยังทำให้ผู้บริหารรับรู้ด้วยว่าวิธีการจัดการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์จะต้องมีการทดลอง มีอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์  เกม และสื่อเพื่อให้เด็กได้เห็นว่าเรื่องของวิทยาศาสตร์อยู่รอบตัว และยังได้เห็นการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กได้ นอกจากนี้ปีนี้ สสวท.จะให้ความสำคัญกับการอบรมครูขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)มากขึ้นด้วย โดยกำลังทำความร่วมมือกับ อปท.ต่าง ๆ เพื่อให้เด็กในสังกัด อปท.มีโอกาสใช้สื่อของสสวท.ได้เรียนรู้ไปด้วย เพื่อร่วมกันพัฒนาเด็ก อปท.ให้มากขึ้นด้วย

นายภกร  กล่าวว่า ตนคิดว่า สาเหตุที่คะแนน PISA(2020) ของไทยลดลงมีอยู่ 3.ปัจจัย คือ 1 อาจเป็นเพราะหลักสูตรที่ครูยังไม่สามารถใช้ได้เต็มประสิทธิภาพ และที่ผ่านมาก็อบรมค่อนข้างน้อย ทั้งที่องค์การค้าฯจัดสรรงบฯอบรมมากพอสมควร แต่ก็ยังไม่ทั่วถึง  2.โรงเรียนในสังกัด  สพฐ.ไม่ได้ใช้หนังสือของ สสวท. 100% โดยจะมีโรงเรียนใช้หนังสือวิทยาศาสตร์ของ สสวท.ประมาณ 50 กว่า% และหนังสือคณิตศาสตร์ประมาณ 60 กว่า % ซึ่งก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ผลคะแนน PISA ต่ำ และ 3.จะต้องมีการปลูกฝังเด็ก ๆ ให้คิดวิเคราะห์ ค้นคว้าได้ด้วยตัวเอง

ด้านนายสามารถ คงทวีเลิศ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการและบริหารทรัพย์สิน สสวท.กล่าวว่า การที่คะแนน PISA(2020) ของนักเรียนไทยลดลงโดยภาพรวม แต่หากวิเคราะห์แยกสังกัดแล้วพบว่าคะแนนของนักเรียนในสังกัด สพฐ ไม่ได้ลดลงจาก PISA 2018 มากนัก  ขณะที่คะแนนของนักเรียนในสังกัด อปท.ค่อนข้างต่ำ จึงทำให้คะแนนเฉลี่ยของประเทศต่ำลงค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม อปท.ใช้หนังสือแบบเรียนของ สสวท.คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 2% ซึ่งถือว่าน้อยมาก และส่วนใหญ่ก็ใช้หนังสือแบบเรียนที่ไม่ได้รับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ตนไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้หนังสือของ สสวท.แต่ขอให้เป็นหนังสือที่รับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments