เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 นายประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาหลักสูตรและบทเรียนออนไลน์หมวดสมรรถนะวิชาชีพ โครงการความร่วมมืออาชีวศึกษาไทย-จีน 210 สาขา (นำร่องระยะที่ 1 จำนวน 19 สาขาวิชา)  ณ สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา โดยนายประพัทธ์ กล่าวว่า จากการดำเนินงานความร่วมมือโครงการอาชีวศึกษาไทย-จีน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. ได้เห็นความสำคัญและมีความเชื่อมั่นในความร่วมมือที่เข้มแข็งกับ บริษัท การศึกษานานาชาติ ถังฟง กรุ๊ป (ประเทศจีน) และ บริษัท ถังฟง อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้โครงการความร่วมมืออาชีวศึกษาไทย-จีน 210 สาขา เพื่อการยกระดับกำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูงกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา ได้ร่วมกันดำเนินการจัดการเรียนการสอน การอบรมครูสำหรับหลักสูตร “ภาษาจีน + อาชีพ” การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนทักษะภาษาจีนและอาชีวศึกษา การมอบทุนการศึกษา การจัดสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาจีน รวมทั้งการสนับสนุน สื่อการเรียนการสอน เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ทันสมัยเพื่อนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนเป็นอย่างดีเสมอมา

รองเลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า ตามนโยบาย “เรียนดีมีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  สอศ. ได้กำหนดจุดเน้น 8 วาระงานพัฒนาอาชีวศึกษา และวาระงานสำคัญ คือ การยกระดับคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและสื่อดิจิทัลด้านภาษาและอาชีพ นำร่องระยะที่ 1 จำนวน 19 สาขาวิชา เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันแต่ละสาขาอาชีพ และเป็นหลักสูตรการฝึกอบรมให้กับครูและนักศึกษาอาชีวศึกษาเรียนร่วมระหว่างอาชีวศึกษาไทย-จีน (ทวิวุฒิ) ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้น (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และระดับปริญญาตรี เพื่อให้ได้วุฒิการศึกษาจากประเทศไทย 1 ใบ และ 1 ใบรับรอง (Skill Certificate) ร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่ง สอศ. ได้จัดทำหลักสูตรในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หมวดสมรรถนะแกนกลาง เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงนับเป็นความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ ในการยกระดับคุณภาพผู้เรียน เพื่อการผลิตและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงของทั้ง 2 ประเทศ ให้ผู้เรียน “เรียนได้ทุกที ทุกเวลา” (Anywhere Anytime) ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

ทั้งนี้ สำหรับการประชุมดังกล่าว มีผู้บริหาร คณาจารย์จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาจากสาธารณรัฐประเทศจีนและประเทศไทย ในระบบ Onsite จำนวน 126 คน และในระบบ Online ระหว่างประเทศ จำนวน 220 คน ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ และกำหนดมาตรฐานหลักสูตรดิจิทัล (บทเรียนออนไลน์) ในแต่ละสาขาวิชาชีพให้เป็นมาตรฐานในระดับสากล

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments