เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 นายอภิชาติ จิวัจฉรานุกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์(1977)ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.)กรณี ปัญหาหนังสือแบบเรียนขององค์การค้าฯราคาแพงกว่าหนังสือเรียนเอกชน ไม่เป็นความจริงนั้น บริษัทรุ่งศิลป์ฯขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ตามที่องค์การค้าของ สกสค.ให้ข่าวมานั้น ข้อเท็จจริงก็คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้ออกใบอนุญาตให้ใช้สื่อการเรียนรู้หนังสือแบบเรียนชนิดเดียวกัน เพื่อให้สถานศึกษาในสังกัดสพฐ.ได้เรียน ให้แก่ผู้จัดพิมพ์ไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์เอกชน หรือ องค์การค้าของ สกสค.ต่างก็ได้รับการพิจารณาตรวจตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เช่นเดียวกันทั้งสิ้น มีเนื้อหา สาระ ความสำคัญเท่าเทียมกัน จึงได้รับอนุญาตให้เป็นแบบเรียนในสถานศึกษาได้ ส่วนที่มีความแตกต่างคือจำนวนหน้าที่จัดพิมพ์ เพราะหนังสือทั้งสองเล่มมีจำนวนหน้าที่จัดพิมพ์ไม่เท่ากัน นั่นเกิดจากเนื้อในของทั้งสองเล่มแตกต่างกัน ซึ่งตรงนี้ต้องทำความเข้าใจว่า จำนวนหน้าเยอะไม่ใช่เนื้อหามาก เพราะทั้งสองเล่มก็ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ในสถานศึกษาเช่นเดียวกัน จำนวนแผ่นที่จัดพิมพ์แม้จะแตกต่างกัน แต่มีเนื้อหาสาระเท่ากัน มีสาระสำคัญเท่าเทียมกัน ไม่ใช่จำนวนหน้าน้อยเพราะไปตัดทอนเนื้อหา อีกทั้งสพฐ.ก็ยืนยันเหมือนกันทั้งสองเล่มว่าใช้เป็นแบบเรียนในสถานศึกษา หนังสือมีขนาดเล็กลงแต่มีเนื้อหาที่ครบถ้วน และใช้สื่ออื่นเข้ามาเสริมโดยพิมพ์คิวอาร์โค้ต ไว้ที่ด้านหลังหนังสือทุกเล่มเพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าไปเรียนรู้เพิ่มเติมได้ เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายให้แก่นักเรียนและผู้ปกครอง

อีกทั้งการพิมพ์หนังสือขององค์การค้าฯในการจัดพิมพ์ที่ผ่านมา มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐานตามที่ สพฐ และ สสวท.กำหนด คือปกหนังสือที่พิมพ์ออกมาเคลือบฟิล์ตามข้อกำหนด และหนังสือบางวิชา การพิมพ์ตัวหนังสือในกระดาษแต่ละชนิดก็พิมพ์เม็ดสีสกรีนไม่ถึงข้อกำหนด แต่ก็ยังมีการรับไว้และนำมาออกจำหน่าย ซึ่งการไม่ทำตามข้อกำหนด หนังสือไม่มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ตรงนี้เป็นปัญหาสำคัญมากกว่า แม้ทางโรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ได้โต้แย้งไปยังองค์การของ สกสค.ถึงเรื่องดังกล่าวก็ไม่มีการดำเนินการแก้ไข เพราะถ้าผู้รับจ้างที่ไม่ทำการพิมพ์ให้ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดต้องตกเป็นผู้ผิดสัญญา

ส่วนที่มีการให้ข่าวเรื่องที่บริษัทรุ่งศิลป์ฯขอขยายระยะเวลาการพิมพ์หนังสือแบบเรียนปี 2567 ซึ่งมีข่าว
ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2567 แต่ยังไม่มีการกล่าวถึงชื่อของ บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์(1977) จำกัด จนกระทั่ง
ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ได้มีการออกข่าวในสื่อบางสำนัก และยังมีการแจกเอกสารข่าวดังกล่าว ว่า องค์การค้าฯได้ส่งปกหนังสือให้กับ บริษัทรุ่งศิลป์ฯครบจำนวนตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2567 แต่บริษัท รุ่งศิลป์เพิ่งมาทำการโต้แย้ง เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2567 นั้น ทางบริษัท รุ่งศิลป์ฯ ขอเรียนชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า การออกมาให้ข่าวดังกล่าวเป็นความเท็จทั้งสิ้น เป็นการให้ร้าย ใส่ร้ายกลั่นแกล้งให้บริษัท รุ่งศิลป์ฯได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง เพราะความจริง คือ ในการจัดซื้อจัดจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปี 2567 มี ความผิดปกติตั้งแต่ต้น กล่าวคือ การจ้างพิมพ์ใช้วิธีคัดเลือกแล้วมาประกวดราคากันระหว่างผู้ที่ถูกคัดเลือก ซึ่ง บริษัท รุ่งศิลป์ฯก็เป็นบริษัทหนึ่งที่ถูกเชิญให้ไปเสนอราคา ซึ่งเรื่องนี้บริษัทรุ่งศิลป์ฯได้ฟ้องร้องดำเนินคดีแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อรุ่งศิลป์ฯได้ไฟล์งานก็เริ่มพิมพ์หนังสือเรียนให้ทันที แต่เมื่อเริ่มพิมพ์ก็พบว่าในข้อกำหนดทีโออาร์ เกี่ยวกับคุณสมบัติของกระดาษ ไม่ตรงกับตัวอย่างหนังสือ ซึ่งในการประชุมองค์การค้าฯให้พิมพ์ตามทีโออาร์เท่านั้น จึงได้หยุดพิมพ์และสอบถามไปยังองค์การค้าฯและแจ้งว่าในทีโออาร์นั้นน่าจะไม่ถูกต้อง แต่เมื่อในที่ประชุมยืนยันให้ทำตามทีโออาร์ทางโรงพิมพ์ก็ต้องทำหนังสือ เพื่อขอคำยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อใช้เป็นหลักฐานเพราะหากพิมพ์ต่อไป ทางโรงพิมพ์จะได้ไม่ถูกนำเหตุนี้มาอ้างได้ว่าทำผิดสัญญา ทางองค์การค้าฯก็ได้มีหนังสือตอบกลับมา และให้ทางโรงพิมพ์ไปเปลี่ยนสัญญาในวันที่ 28 มีนาคม 2567 ซึ่งช่วงเวลาที่ต้องรอคำตอบที่แน่ชัดนี้ก็เสียเวลาการพิมพ์ออกไป 7 วัน ทำให้เวลาการพิมพ์คงเหลือเพียง 48 วัน เมื่อได้รับคำยืนยันว่าทีโออาร์ผิด ทางโรงพิมพ์ก็เริ่มทำการพิมพ์ต่อไปได้ และได้เร่งการพิมพ์มากขึ้น

และเมื่อองค์การค้าฯเริ่มส่งปกหนังสือมาให้ทางโรงพิมพ์ทำการพิมพ์และเคลือบฟิล์มก่อนเข้าเล่ม ทางองค์การค้าฯส่งมาครบจำนวนตามที่ทางโรงพิมพ์รับจ้างพิมพ์ในวันที่ 8 เมษายน 2567 ไม่ใช่วันที่ 26 มีนาคม 2567 ตามที่ให้ข่าว ซึ่งปกหนังสือที่จัดส่งมานั้นเป็นพาเลท และในแต่ละพาเลท ก็จะมีกระดาษแสดงสถานะของปกหนังสือ ซึ่งระบุอย่างชัดแจ้งว่า ทางโรงพิมพ์ต้องตรวจนับจำนวนก่อนนำไปพิมพ์ แต่ปรากฎว่าเมื่อลองคำนวนน้ำหนักของปกหนังสือเพื่อหาจำนวนแผ่น ปรากฏว่าการคำนวณไม่ตรงกันกับใบสถานะที่ปิดไว้ ดังนั้น ในวันที่ 9 เมษายน 2567 จึงได้แจ้งให้องค์การค้าฯ ทราบ และต้องหยุดการผลิตก่อนเพื่อรอความชัดเจนเรื่องปก และรอข้อสรุปยอดปกเพื่อไม่ให้มีปัญหากับหน่วยงาน และวันที่10 เมษายน 2567 ฝ่ายผลิตขององค์การค้าฯยอมรับว่าจำนวนปกไม่ตรงกับใบสถานะในพาเลท ดังนั้นในวันที่ 11 เมษายน 2567 รุ่งศิลป์จึงได้ไปแจ้งลงบันทึกประจำวัน ไว้เพื่อเป็นหลักฐานเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าจำนวนปกไม่ตรงกับใบสถานะ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจนับเป็นใบๆ ก็พบปัญหาอีกว่ามีปกหนังสือที่ส่งมามีความเสียหายปนอยู่ด้วย ทางโรงพิมพ์จึงได้รีบแจ้งไปยังฝ่ายผลิตขององค์การค้าของ สกสค.ให้รีบมาตรวจ ทางฝ่ายผลิตก็ได้มา
ตรวจและยอมรับว่าปกหนังสือขาดไปจริงๆ การขาดจำนวนนั้น มิใช่เป็นจำนวนน้อยตามที่ องค์การค้าฯกล่าวอ้าง การที่ปกหนังสือไม่ครบจำนวนการพิมพ์เข้าเล่มก็ทำให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น เพราะการเริ่มต้นการพิมพ์ในแต่ละครั้ง กว่าเครื่องพิมพ์จะนิ่งสมบูรณ์สามารถพิมพ์ใช้งานได้นั้น ต้องเดินเครื่องพิมพ์ทดลองพิมพ์และปรับแต่ง ซึ่งต้องเสียปกหนังสือในการตั้งเครื่องไม่น้อยกว่า 500 ใบพิมพ์ในการตั้งเครื่องแต่ละครั้ง ซึ่งหากปกหนังสือไม่เพียงพอ และต้องเริ่มต้นพิมพ์ในครั้งที่สองเพิ่ม ก็ต้องตั้งเครื่องใหม่และต้องเสียปกหนังสืออีก แต่ก็ปรากฏว่า กว่าที่องค์การค้าของ สกสค.จะส่งปกมาครบจำนวนก็ในเดือนเมษายน 2567 ซึ่งตลอดเวลานับแต่เริ่มต้นการพิมพ์ ทางโรงพิมพ์รุ่งศิลป์ฯ ได้มีหนังสือชี้แจงถึงเหตุขัดข้องต่าง ๆ ทำให้การพิมพ์ต้องหยุดลงรอความชัดเจน และทางโรงพิมพ์รุ่งศิลป์ฯ ก็ได้เสนอแผนการพิมพ์ และแผนการส่งมอบให้ทราบตามที่ องค์การค้าฯร้องขอ เนื่องจากมีเหตุที่ทางโรงพิมพ์ไม่สามารถจัดการปัญหาดังกล่าวได้เอง ต้องรอให้องค์การค้าฯยืนยัน จึงทำให้ต้องสูญเสียเวลาในการพิมพ์ออกไปไม่น้อยกว่า 20 วัน ทางโรงพิมพ์รุ่งศิลป์จึงได้ร้องขอความเป็นธรรม เพื่อให้พิจารณาอนุญาตให้ขยายเวลาการพิมพ์แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา กลับถูกนำไปอ้างว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่การที่ องค์การค้าฯออกมาให้ข่าวด้วยข้อความเป็นเท็จ ใส่ร้ายให้ร้ายกลั่นแกล้ง โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ต่อบุคคลทั่วไป ทั้งได้ออกสื่อทางสังคมออนไลน์ อันเป็นการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทางโรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ก็ขอสงวนสิทธิ์ที่จะดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับผู้ที่กระทำความผิด และร่วมกระทำความผิด เพราะทำให้ทางโรงพิมพ์ได้รับความเสียหาย จึงขอแถลงการณ์ให้ทราบข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่าบริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์(1977) จำกัด ได้ปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ หากมีข้อสงสัย ข้อชักถาม หรือประการใด ทางโรงพิมพ์ยินดีให้คำตอบและแสดงพยานหลักฐานทุกอย่างให้ทราบ

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments