ดร.จรวยพร ธรณินทร์ ประธานอนุกรรมการสภาการศึกษา ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และภูมิปัญญา เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 2 ที่ประชุมได้พิจารณารายงานสถานการณ์ แนวโน้ม และข้อเสนอการบูรณาการการศึกษากับ ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และภูมิปัญญา โดยในส่วนของศาสนาและศิลปะได้มีการนำเสนอไปในการประชุมครั้งที่ 1 ดังนั้นการประชุมครั้งที่ 2 จึงเป็นการพิจารณาข้อเสนอด้านวัฒนธรรม กีฬา และภูมิปัญญา โดยด้านวัฒนธรรมนั้น คณะทำงานเสนอให้กำหนดนโยบายที่เป็นรูปธรรม ปฏิบัติได้จริงและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ให้มีการทำข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดทำฐานข้อมูลแหล่งเรียนรู้เผยแพร่ให้กว้างขวางขึ้น ให้เพิ่มหลักสูตรวัฒนะรรมในประเทศกลุ่มอาเซียนอย่างเข้มข้น เน้นการมีปฏิสัมพันธ์ในสังคมพหุวัฒนธรรม ให้มีการจัดอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาในการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ สร้างบรรยาการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี ดึงผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา แหล่งเรียนรู้ในจังหวัดหรือท้องถิ่น รวมถึงนำครูภูมิปัญญาสาขาต่าง ๆ มาร่วมเป็นเครือข่ายหรือครูต้นแบบในการถ่ายทอดเทคนิคการสอนแบบบูรณาการความรู้ด้านวัฒนธรรมกับวิชาอื่น ๆ

ดร.จรวยพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับการบูรณาการศึกษาด้านการกีฬานั้น เนื่องจากปัจจุบันการพัฒนาการกีฬายังไม่เป็นไปตามเป้าหมายหลักของระบบการศึกษาไทย ขาดการวางพื้นฐานการเล่นกีฬาที่ครอบคลุมสำหรับเด็กและเยาวชน ขาดความเหมาสมในการจัดเวลาสำหรับการออกกำลังกายของเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ขาดแคลนบุคลากรด้านพลศึกษาหรือครูพละที่มีความรู้และทักษะด้านพลศึกษา และการที่กรมพลศึกษาโอนย้ายจากกระทรวงศึกษาธิการไปอยู่ในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงเป็นการไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการออกกกำลังกายและการเล่นกีฬาอย่างถูกต้องตั้งแต่เด็ก ซึ่งส่งผลเสียระยะยาวทางด้านพลานามัยของคนในชาติ คณะทำงานจึงเสนอให้รัฐต้องให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาที่บูรณาการการพลศึกษาและการกีฬากับการศึกษา มีการปรับหลักสูตรและให้การสนับสนุนอุปกรณ์/สื่อการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาอย่างจริงจัง

ดร.จรวจพร กล่าวอีกว่า ส่วนการบูรณาการด้านภูมิปัญญา พบว่า ที่ผ่านมาการส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษานั้น เนื้อหาการเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญามีน้อยเมื่อเทียบกับสารวิชาอื่น ๆ สถานศึกษา ครูและบุคลากรบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจในการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ ขาดการยอมรับและการมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดภูมิปัญญาไทยในโรงเรียน ซึ่งจำเป็นต้องมีการทำความเข้าใจ ส่งเสริม และมีการวางระบบประสานงานเพื่อให้เกิดการนำภูมิปัญญามาบูรณาการจัดการศึกษาให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามที่ประชุมฯได้มอบหมายให้คณะทำงานแต่ละด้านกลับไปปรับปรุงข้อเสนอตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการฯ เพื่อให้ข้อเสนอมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ก่อนที่จะมาร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินการสู่การปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรมต่อไป

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments