ตามที่ กลุ่มผู้แทนสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทยและกลุ่มลูกจ้าง 5 ตำแหน่ง ได้แก่ ครูธุรการ ครูวิกฤต ครูวิทย์-คณิต ครูพี่เลี้ยงเด็กพิการ และครูนักการภารโรง ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้เข้าพบและประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการการศึกษาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายโสภณ ซารัมย์ เป็นประธาน เพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหาลูกจ้าง สพฐ. ที่ปรับเปลี่ยนวิธีการจ้างเป็นจ้างเหมาบริการและตัดเงินสมทบประกันสังคม ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ส่งผลให้ลูกจ้างกว่า 72,044 คน ทั่วประเทศ ได้รับผลกระทบถึงสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ อาทิ การรักษาพยาบาล การคลอดบุตร การรับเงินสงเคราะห์ เป็นต้น นั้น

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า หลังจากสพฐ.ได้เข้าชี้แจงต่อ กรรมาธิการการศึกษา(กมธ.)ถึงข้อเรียกร้องของลูกจ้างฯ ขอเปลี่ยนจากการจ้างเหมาบริการ เป็นวิธีการจ้างลูกจ้างชั่วคราว พร้อมเงินสมทบประกันสังคมทุกตำแหน่ง,ขอปรับเพิ่มอัตราเงินเดือนตามนโยบายรัฐบาล ที่ปรับฐานเงินเดือนตามคุณวุฒิปริญญาตรี ปีที่ 1 มีผลวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เงินเดือน 16,500 บาท ปีที่ 2 มีผลวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เงินเดือน 18,150 บาท คุณวุฒิต่ำกว่า ป.ตรี ปีที่ 1 วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เงินเดือน 10,340 บาท วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เงินเดือน 11,380 บาท และขอปรับตำแหน่งความมั่นคงในอาชีพลูกจ้าง สพฐ.ทุกตำแหน่ง ซึ่งขณะนี้ สพฐ. ได้ทำหนังสือหารือและทำความตกลงกับกระทรวงการคลังแล้วรอกระทรวงการคลังตอบกลับมาก่อน ว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนจากจ้างเหมา เป็นลูกจ้างชั่วคราวได้หรือไม่ ถ้ากระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบ ก็ให้ทำหนังสือกลับไปที่สำนักงาน ก.พ.เพื่ิอขอเปิดกรอบอัตรากำลัง พร้อมกันนี้ สพฐ.ก็จะทำหนังสือเสนอคณะรัฐมนตรี( ครม.)เพื่อขออนุมัติขอปรับเงินเดือนกลุ่มลูกจ้าง ให้เทียบเคียงข้าราชการทั่วไป คือ ครั้งแรกพฤษภาคม 2567 จาก 15,050 เป็น 16,560 บาท ตามมติครม. และครั้งที่2 วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เป็น 18,000 บาท ซึ่งลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว ไม่ได้อยู่ในหลักเกณฑ์นี้อยู่แล้ว แต่สพฐ. จะทำเทียบเคียงเพื่อชดเชยให้บุคลากรกลุ่มนี้

นายพัฒนะ กล่าวต่อไปว่า ส่วนสิทธิประกันสังคม ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคมนี้นั้น ทางสพฐ. ได้เสนอเปรียบเทียบเงินเดือนให้แล้ว ซึ่งผู้ที่ต้องการใช้สิทธิประกันสังคมต่อเนื่องก็สามารถจ่ายเงินสมทบได้ในมาตรา 39 และมาตรา40 เนื่องจากขณะนี้สำนักงบประมาณ ไม่ได้จัดสรรเงินในส่วนนี้ให้กับ สพฐ.แล้ว อย่างไรก็ตาม ที่พูดมาทั้งหมดนี้ต้องรอต้องรอหนังสือตอบกลับจากกระทรวงการคลังก่อน  จึงจะสามารถดำเนินการตามขั้นตอนได้ ส่วนจะใช้เวลาเท่าไรนั้น ไม่สามารถตอบได้ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ว่าสพฐ.จะเพิกเฉย แต่ทุกอย่างต้องทำตามขั้นตอน

ด้าน นายวรวิทย์ อัคราภิชาต ผู้แทนสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทยและกลุ่มลูกจ้าง สังกัดสพฐ. กล่าวว่า มติที่ประชุมลูกจ้างเหมาทั้ง 5 ตำแหน่ง จะเดินทางมาทวงถามความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว ในวันที่ 18 มีนาคม นี้ ซึ่งคาดว่าจะมีตัวแทนสมาพันธ์ฯ กว่า 1 พันคน เพราะที่ผ่านมาทางสพฐ. รับปากจะหารือกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน( ก.พ.) เพื่อหาแนวทางแก้ไข แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า

“สิทธิประกันสังคมของกลุ่มลูกจ้างจะสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม ทำให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เคยได้รับถูกเพิกถอน ทำให้กลุ่มลูกจ้างกว่า 7 หมื่นคนทั่วประเทศ มีความกังวล โดยที่ผ่านมา ทราบว่า ทางคณะกรรมาธิการการศึกษา (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร ได้เร่งรัดให้ สพฐ. ไปหารือกระทรวงการคลัง และก.พ. เพื่อขอกรอบอัตรากำลัง แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ จากสพฐ. “นายวรวิทย์  กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments