ดร.อรรถพล สังขวาสี อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการและอดีตเลขาธิการสภาการศึกษาเปิดเผยว่า ไมโครซอฟต์ได้เผยแพร่รายงาน Work Trend Index 2025 ที่เผยถึงอนาคตของโลกงานที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน ภายใต้แรงขับเคลื่อนของ AI และการทำงานร่วมระหว่างมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์ ในขณะที่องค์กรทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุค ‘Frontier Firm’  หรือ ยุคที่ “คน” ไม่ได้ทำงานคนเดียวอีกต่อไป รวมถึงประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศเอเชียที่ผู้นำองค์กรกว่า 90% มั่นใจว่า AI จะเข้ามาขยายศักยภาพแรงงานภายใน 12–18 เดือนข้างหน้า จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะต้องคิดว่า ประเทศไทยจะเตรียมคนและระบบการศึกษาอย่างไรเพื่อไม่ให้หลุดขบวนโลก

รายงานชี้ให้เห็นว่า องค์กรแห่งอนาคตหรือ Frontier Firms จะทำงานบนโมเดล “มนุษย์-ตัวแทนปัญญาประดิษฐ์ (AI agents)” ซึ่งจะแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ระยะ ตั้งแต่มนุษย์ใช้ AI เป็นผู้ช่วย ไปจนถึงการเป็นหัวหน้าของทีม AI ที่บริหารจัดการงานเองได้แทบทั้งหมดภายใต้คำแนะนำจากมนุษย์ จุดเปลี่ยนสำคัญไม่ใช่แค่เรื่อง “เทคโนโลยี” แต่คือ “คนจะทำงานอย่างไรในโลกที่มี AI อยู่ด้วยทุกที่” และจากข้อมูลในรายงานจึงเห็นว่า ประเทศไทยควรพัฒนาคนและการศึกษาใน 4 แนวทางหลัก ได้แก่ 1) ปฏิรูปการศึกษาเพื่อสร้าง “Agent Boss” ไม่ใช่แค่ผู้ใช้งาน คือทุกคนจะต้องสามารถบริหารจัดการ AI ได้ เหมือนผู้จัดการทีม ไม่ใช่แค่ใช้เป็นเครื่องมือ จึงต้องเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมจนถึงอุดมศึกษา ให้เน้นความรู้ด้าน AI เบื้องต้นและเชิงลึก การพัฒนาทักษะ “prompting” และการโต้ตอบกับ AI อย่างมีวิจารณญาณ และการจัดการและประเมินผลการทำงานของทีมที่มี AI รวมอยู่ด้วย 2) Upskill & Reskill อย่างต่อเนื่อง โดย 47% ของผู้นำองค์กรทั่วโลกให้ความสำคัญกับการ upskill พนักงานในอีก 12 เดือนข้างหน้า ทักษะที่ต้องเร่งสอน ได้แก่ การทำงานร่วมกับ AI (AI collaboration) การคิดเชิงนวัตกรรม การปรับตัว และความคิดสร้างสรรค์ และทักษะมนุษย์ที่ AI แทนไม่ได้ เช่น การตัดสินใจเชิงคุณธรรม ความเข้าใจทางสังคม และการสื่อสาร 3) สร้างระบบ “ทรัพยากรปัญญา” (Intelligence Resources Department) เช่นเดียวกับการมีฝ่าย HR และ IT ในองค์กรยุคก่อน ยุคนี้ควรมีหน่วยงานเฉพาะเพื่อจัดการแรงงานดิจิทัล (AI) อย่างมีประสิทธิภาพ ดูแลการเรียนรู้ของ AI รวมถึงความปลอดภัยและจริยธรรม และ 4) เตรียมโครงสร้างแรงงานใหม่สำหรับโลกที่ “งาน” เปลี่ยนรูป โดยโครงสร้างองค์กรแบบเดิมที่แยกตามฝ่าย (Finance, HR, Marketing) อาจกลายเป็นอดีต Frontier Firms ใช้ “Work Chart” ที่จัดทีมตามเป้าหมาย ไม่ใช่แค่หน้าที่ ดังนั้น ภาครัฐต้องร่วมมือกับภาคเอกชนในการออกแบบแรงงานยุคใหม่ มีการสนับสนุน Startup ด้าน AI ควรเป็นวาระแห่งชาติ และควรสร้าง Sandbox ให้คนรุ่นใหม่ทดลองใช้ AI ในภารกิจจริง เช่น การเกษตรอัจฉริยะ การบริการสาธารณะ หรือการจัดการสิ่งแวดล้อม

ดร.อรรถพล กล่าวย้ำว่า หากเราพร้อม AI จะไม่ใช่ศัตรู แต่เป็นพาร์ทเนอร์ ผลการศึกษาชี้ว่า คนที่ทำงานร่วมกับ AI อย่างมีประสิทธิภาพสามารถประหยัดเวลาได้กว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน และมีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงานเร็วกว่าคนที่ไม่ใช้ อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำทางทักษะกำลังก่อตัวอย่างรวดเร็ว หากประเทศไทยไม่เริ่ม “วันนี้” โอกาสจะกลายเป็นภาระในอนาคต ทางรอดของไทยอยู่ที่ “คน” ไม่ใช่ “ของ”การพัฒนาเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ แต่การพัฒนาคนให้รู้เท่าทัน ปรับตัว และใช้เทคโนโลยีอย่างมีเป้าหมายคือหัวใจ หากไทยอยากเป็น Frontier Nation ที่สามารถใช้ AI เพื่อความยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่ความเร็ว เราต้องเริ่มลงทุนใน “สมองของคน” ตั้งแต่วันนี้

4 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments