เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่  สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้จัดการประชุมวิชาการ “แนวทางการดำเนินงานตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ” โดย นายสำเนา เนื้อทอง ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สกศ.เป็นประธาน ทั้งนี้นายสำเนา กล่าวว่า ระหว่างเดือนก.พ.-ก.ค.สกศ.ได้ลงพื้นที่ 4 ภูมิภาค ทั้งในกรุงเทพมหานคร ขอนแก่น สงขลา และเชียงใหม่  เพื่อชี้แจงต่อผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้แทนหน่วยงานพัฒนาเด็กปฐมวัยจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางดำเนินงานตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ เพื่อสร้างการบูรณาการพัฒนาเด็กปฐมวัยของทั้ง 4 หน่วยงานหลัก คือ พม. มท. สธ. และ ศธ. ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน  โดยใช้มาตรฐานกลางตามที่ระบุไว้ในคู่มือมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ซึ่งเปรียบเสมือนเข็มทิศที่เป็นแนวทางดำเนินงานในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ และครอบคลุมทุกหน่วยงาน

 “การพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่เพิ่งมีการแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาระหว่างวันที่ 25 – 26 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีความเชื่อมโยงนโยบายรัฐบาล ด้านที่ 8 การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย และนโยบายเร่งด่วน ด้านที่ 7 การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทั่วประเทศให้ได้มาตรฐาน และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการศึกษาและผู้ดูแลเด็กปฐมวัยให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ”นายสำเนา กล่าว 

ผอ.สำนักมาตรฐานฯ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กปฐมวัยตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 6 ปี จำนวน 4.5 ล้านคน ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมอนามัยสำรวจระหว่างปี 2542 – 2560 พบว่ามีเด็กปฐมวัยประมาณ 30% หรือคิดเป็นจำนวน 1.35 ล้านคน ยังมีพัฒนาการไม่สมวัย นับเป็นวิกฤติร้ายแรงต่อการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศไทยในอีก 20 ปี ตามยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 และการขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เนื่องจากสภาพสังคมที่พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีความจำเป็นต้องพาเด็กปฐมวัยไปรับบริการดูแลและพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีคุณภาพแตกต่างเหลื่อมล้ำกันมาก   อย่างไรก็ตาม สกศ. ได้สังเคราะห์ปัญหาเด็กปฐมวัยดังกล่าวแล้วเห็นว่าจำเป็นต้องเร่งพัฒนาคุณภาพของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กอย่างสอดคล้องกับแนวทางพัฒนาคุณภาพมนุษย์และการปฏิรูปการศึกษา ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 สกศ. จะดำเนินการติดตามความก้าวหน้ากับหน่วยงานต้นสังกัดตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติเพื่อรายงานรัฐบาลต่อไป

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments