เมื่อวันที่ 25 ก.ย.2562 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ  เป็นประธานเปิดการประชุม รับฟังความคิดเห็น (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. โดยมี ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวรายงาน และบรรยายพิเศษ เรื่อง การขับเคลื่อนกฎหมายการศึกษาเพื่อการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา บรรยาย เรื่อง (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. เพื่อการศึกษาคุณภาพและคนคุณภาพ ณ โรงแรมปรินซ์พาเลส มหานาค กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า วันนี้ถือว่ามีความสำคัญต่อทิศทางการศึกษาของประเทศ เพราะการรับฟังความคิดเห็น ร่าง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ….) ในประเด็นต่างๆ รวมทั้งประเด็นที่มีข้อเรียกร้องจากองค์กรครูนั้น ถือเป็นเงื่อนไขในการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปพิจารณาดำเนินการทบทวน เพื่อให้การพิจารณาร่างกฎหมายดำเนินไปตามกระบวนการนิติบัญญัติ สู่เป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษา จึงได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. อีกครั้ง เพื่อรวบรวมข้อเสนอให้คณะกรรมการสภาการศึกษา (กกส.) พิจารณาทบทวนก่อนรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้ระบุถึงสภาพปัญหาของประเทศไทย แม้ได้มีการยกเลิก แก้ไข เพิ่มเติม เพื่อจัดระเบียบการปกครองให้เหมาะสม แต่ยังคงประสบปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขด้วยการปฏิรูปการศึกษาและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งชี้ให้เห็นปัญหาจากคนในสังคมเป็นสำคัญ จึงต้องมีการวางรากฐานทางการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

“ทุกคนทราบว่า การศึกษามีความสำคัญมาก โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของศตวรรษที่ ๒๑ เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบต่อสังคมเป็นอย่างมาก การปฏิรูปการศึกษาจึงถือเป็นทางออกที่จะนำพาทิศทางการศึกษาของไทยในอนาคต เราต้องมีความอดทนมุ่งมั่นพัฒนาการศึกษาของประเทศให้ได้ในช่วงเปลี่ยนผ่านศตวรรษนี้ การศึกษาเป็นแนวโน้มของโลกที่จะต้องปรับเปลี่ยนทั้งองค์กร ผู้บริหาร ครู นักเรียน และพ่อแม่ ตลอดจนสังคม เพราะการศึกษาต่อไปนี้คงไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการหรือรัฐบาล แม้งบประมาณส่วนใหญ่จะต้องอาศัยรัฐบาล โดยมีกระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักในการให้นโยบาย ซึ่งต้องการให้ สกศ. เป็นขงเบ้งด้านการศึกษา การรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ต้องการให้ทุกคนมองเป้าหมายหลักเพื่อให้การศึกษาก้าวสู่ศตวรรษที่ ๒๑ ได้อย่างมั่นคง มีความหมาย มีหลายมิติที่ต้องมอง ที่ต้องช่วยกันคิด เพื่อลูกหลานของเราในปัจจุบันและอนาคตที่ต้องเผชิญกับโลกที่ผันผวน จึงอยากฝากให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นเต็มที่ เพื่อประเทศชาติ และลูกหลานของเรา”รมช.ศึกษาธิการ กล่าว

คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อไปว่า เมื่อพูดถึงการเตรียมเด็ก นักการศึกษาต้องรับหน้าที่หนักในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัยตั้งแต่เกิดจนตลอดชีวิต เพื่อเตรียมบุคคลเหล่านี้ก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างภาคภูมิใจ มั่นคง การสร้างเด็กสู่ศตวรรษที่ 21 เป็นภาระอันหนักอึ้งของนักการศึกษา และขอฝาก 2 ประเด็น คือ 1. ในยุคโลกาภิวัฒน์หรือโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องก้าวให้ทันอย่างมีสติ ภาคภูมิใจ เด็กต้องมีทักษะที่ทันสมัย  STEM อาจไม่เพียงพอ ต้องเปลี่ยนเป็น STEAM คือ เพิ่ม A คือ Art เข้าไป เพราะเทคโนโลยีไม่รู้จักอารมณ์ ไม่สามารถสร้างศิลปะจากอารมณ์ได้ ดังนั้นภาษาคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่เด็กต้องมีทักษะ โดยการเตรียมความพร้อมเด็ก ที่เรียกว่า Unplug coding  ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลนี้ 2. เด็กจำเป็นต้องเรียนเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ไปพร้อมกับการเรียนวิชาอื่นๆ โดยใช้ภาษาร่วมสมัย ปลูกฝังความเป็นไทย รักประเทศไทย ภาคภูมิใจ มีศาสนายึดเหนี่ยวจิตใจ กลายเป็นคนที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21 เมื่อเด็กเรียนจบการศึกษาแล้วต้องมีงานทำ และทำงานเป็น อยากเห็นคนไทยเป็นคนดี คนเก่ง มีความสุข และรู้จักตอบแทนแผ่นดินไทย

ดร.สุภัทร  กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ไปยัง ครม. และ ครม. ได้ส่งต่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกา หลังจากนั้น ครม. มีมติให้ทบทวน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. สกศ.ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) และหน่วยงานรับผิดชอบเจ้าของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ได้ดำเนินการประชุมปรึกษาหารือรับฟังความคิดเห็น และหาทางออกร่วมกับผู้นำองค์กรครูและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประชุมงานมหกรรมการศึกษาแห่งชาติ ก้าวสู่คุณภาพการศึกษาที่ดีกว่า แสดงความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้อง และเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ www.onec.go.th ประกอบกับนายณัฐฏพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ สกศ. เปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ให้รอบด้าน เพื่อรวบรวมผลการรับฟังความคิดเห็นเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ประกอบการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ….  

เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวต่อไปว่า สกศ. จึงได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นขึ้นวันนี้ โดยแบ่งประเด็นการวิพากษ์แบบสรุปได้ 3 เรื่องใหญ่ คือ 1. ส่วนของเนื้อหาสาระ ในเรื่องการเปลี่ยนชื่อเรียกตำแหน่งผู้อำนวยการเป็นครูใหญ่ และการเปลี่ยนใบประกอบวิชาชีพครูเป็นใบรับรองความเป็นครู 2. ส่วนของกระบวนการ กระบวนการรับฟังความคิดเห็นอาจยังไม่ครอบคลุม ครบถ้วนตามวิธีการ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องยังไม่เห็นร่างกฎหมายฉบับเต็ม และ 3. ข้อเสนอเพิ่มเติม เช่น การบริหารการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ลดโครงการต่างๆ จากส่วนกลาง สวัสดิการครูเอกชน ฯลฯ วันนี้จึงต้องการให้ทุกท่านช่วยให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งสุดท้ายแล้วทุกท่านในที่นี้ คือ ผู้ที่จะต้องนำกฎหมายนี้ไปขับเคลื่อนการศึกษาในอนาคต

ด้าน ดร.สมศักดิ์ กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นในวันนี้มีประเด็นรับฟังความคิดเห็น 7 ประเด็น คือ 1. ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. กำหนดวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคคลให้สอดคล้องกับแนวทางในศตรวรรษที่ 21 โดยเน้นการพัฒนาคนให้เกิดสมรรถนะใน 7 ช่วงวัย (มาตรา 6, 7) ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร 2. ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. กำหนดให้ความสำคัญกับตัวบุคคลที่ถูกพัฒนาเป็นสำคัญ จึงวางระบบการศึกษาเพื่อตอบวัตถุประสงค์/เป้าหมายของผู้เรียน หรือคนที่ต้องการพัฒนาตนเองดังกล่าว โดยกำหนดให้การศึกษามี 3 ระบบ คือ 1) การศึกษาตามระดับคุณวุฒิวิชาชีพ 2) การศึกษาเพื่อการพัฒนาตนเอง และ 3) การศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (มาตรา 44) ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร 3. ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. กำหนดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง โดยบังคับว่าการที่เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาดังกล่าวต้องไม่ให้มุ่งแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน แต่กฎหมายเฉพาะอาจกำหนดเงื่อนไขให้มุ่งแสวงหากำไรในบางกรณีได้ (มาตรา 15 วรรคหนึ่ง) ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร 4. ท่านเห็นด้วยกับกรณีร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. เปลี่ยนชื่อตำแหน่ง “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” เป็น “ครูใหญ่” และ “รองผู้อำนวยการสถานศึกษา” เป็น “ผู้ช่วยครูใหญ่” (มาตรา 38) หรือไม่ 5. ท่านเห็นด้วยกับกรณีร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. กำหนดให้มีใบรับรองความเป็นครูแทนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู (มาตรา 40) หรือไม่ 6. ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. กำหนดให้มีกลไกที่ทำให้เกิดความเป็นเอกภาพในการบริหารและจัดการศึกษาโดยมีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ท่านเห็นด้วยกับองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติหรือไม่ (มาตรา82, 87) และ 7. ประเด็นอื่นๆ เพื่อการพัฒนาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ….

นอกจากนี้การประชุมได้แบ่งกลุ่มอภิปรายและรับฟังความคิดเห็น 4 กลุ่ม คือ 1.ข้าราชการ ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา 2.ภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรและสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา 3. กลุ่มผู้รับบริการ นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และสถานประกอบการ และ              4.นักกฎหมาย นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา คณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา วุฒิสภา กรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ได้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ครอบคลุม ครบถ้วนทุกประเด็นทุกกลุ่มเป้าหมาย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments