เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งจะสอบวันที่ 29-30 สิงหาคมนี้ โดยในส่วนของภาค ก และข ให้ส่วนราชการต้นสังกัด ออกข้อสอบ และให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จัดสอบสัมภาษณ์ ภาค ค.ซึ่งจะไม่ทราบคะแนนภาค ก และภาค ข ของผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือก ซึ่งจะมีขั้นตอนรายละเอียด ดังนี้

1.ให้ผู้สมัครสอบแข่งขันแจ้งระดับการศึกษา และระดับชั้น ไว้ในใบสมัครสอบ เพื่อให้โอกาสในการเตรียมความพร้อมในการสอบสาธิตปฏิบัติการสอน

  1. กำหนดให้ผู้ผ่านการสอบภาค ก และภาค ข ทุกคนเข้ารับการประเมินภาค ค ในคราวเดียวกัน
  2. ให้มีการขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้เป็นบัญชีของ กศจ. โดยให้บรรจุและแต่งตั้งตามลำดับที่ในบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ เพื่อให้มีครูปฏิบัติการสอนทันทีเมื่อมีตำแหน่งว่าง

4.กำหนดให้ส่วนราชการเป็นผู้พิจารณากำหนดคุณวุฒิในประเภทวิชา หรือกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก ที่มีความจำเป็นหรือขาดแคลนเป็นพิเศษได้ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทและความจำเป็นของส่วนราชการ

ซึ่งการปรับดังกล่าว เชื่อว่า จะทำให้คัดคนที่มีความรู้ความสามารถมาเป็นครูได้เร็วขึ้น ส่วนผู้ที่สอบขึ้นบัญชีไว้ จะทยอยเรียกบรรจุจนครบ โดยให้สามารถเรียกบรรจุแต่งตั้งข้ามจังหวัดได้ โดย ศธ.จะเร่งดำเนินการเพื่อจะดูแลทั้งผู้ที่ขึ้นบัญชีไว้ และผู้ที่กำลังจะสอบ เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน

ด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการก.ค.ศ. กล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์การสอบแข่งขันครูผู้ช่วย ที่จะปรับครั้งนี้ เพื่อให้สามารถบรรจุแต่งตั้งได้เร็ว โปร่งใส เป็นธรรม ซึ่งจากเดิมผู้ที่มีสิทธิสอบภาค ค จะต้องสอบผ่านภาค ก และ ข ร้อยละ60 โดยเรียงคะแนนจากสูงไปหาต่ำ เรียกสอบภาค ค ตามอัตราว่าง ทำให้เกิดข้อห่วงใยว่าจะทำให้การบรรจุล่าช้า งบบานปลายและห่วงความไม่โปร่งใส จึงเสนอให้ปรับโดยให้ผู้สอบภาค ก และ ข ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 เรียงลำดับตามเลขที่นั่งสอบ ไม่เรียงตามคะแนน ได้สิทธิสอบภาค ค ทุกคน โดยจะมีกรรมการกลางในการจัดสอบ ประกอบด้วยสอบสัมภาษณ์ ประเมินแฟ้มสะสมงาน และสอบปฏิบัติการสอน เมื่อสอบครบทั้ง 3 ภาค จะนำคะแนนมารวมกัน โดยส่วนราชการต้นสังกัด(ส่วนกลาง)จะเป็นผู้รวมคะแนนแล้วเรียงลำดับจากสูงไปหาต่ำ ส่งให้ กศจ.เรียกบรรจุตามลำดับต่อไป ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดความสบายใจแก่ผู้เข้าสอบ อีกทั้งทำให้ไม่ให้เกิดความสับสน

เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังอนุมัติการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการเกลี่ยอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเดิมคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) จะคืนอัตราเกษียณในตำแหน่งผู้บริหารให้ 100% แต่ในปีนี้ คปร. กำหนดเงื่อนไขการจัดสรรคืนอัตราเกษียณ ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ให้เฉพาะสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียน 120 คน ขึ้นไป ทำให้สถานศึกษาดังกล่าวประสบปัญหาในการจัดการศึกษาและส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียนของสถานศึกษา ประกอบกับตั้งแต่ปี 2559 ศธ.มีนโยบายเร่งด่วนในการบริหารจัดการสถานศึกษาขนาดเล็กที่มีนักเรียน 40 คน ลงมา ให้สามารถบริหารจัดการยุบ เลิก หรือควบรวมสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น     ดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นชอบ ให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการเกลี่ยอัตรากำลัง ว 19/2555 ในส่วนของการตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือน ไปกำหนดเป็นตำแหน่งเดิมในสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียน 41 – 119 คน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับการบริหารจัดการ โดยกำหนดเงื่อนไข ดังนี้

1.ให้ตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา จากสถานศึกษาต่าง ๆ ดังนี้ สถานศึกษาที่ยุบ รวม หรือเลิกสถานศึกษา หรือ สถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 120 คน

2.ให้ตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ได้ทั้งตำแหน่งว่างและตำแหน่งที่มีผู้ดำรงตำแหน่ง

3.การตัดโอนให้ดำเนินการได้ภายในจังหวัดเดียวกันเท่านั้น

  1. สถานศึกษาปลายทางที่รับการตัดโอน ต้องมีจำนวนนักเรียนในสถานศึกษามากกว่าสถานศึกษาต้นทาง
  2. กรณีสถานศึกษาต้นทาง เป็นสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 40 คนลงมา ภายหลังตัดโอน ตำแหน่งและอัตราเงินเดือนแล้ว มิให้กำหนดตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาดังกล่าวขึ้นใหม่

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบปรับปรุงคุณสมบัติเฉพาะสำหรับผู้ดำรงตำแหน่ง ตามมาตรฐานตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานบริหารสถานศึกษา สายงานบริหารการศึกษาและสายงานนิเทศการศึกษา ซึ่งเดิม ก.ค.ศ. กำหนดรองผู้อำนวยการโรงเรียนที่ดำรงตำแหน่งไม่ถึง 1 ปี ไม่สามารถสอบขึ้นผู้อำนวยการโรงเรียนได้ ขณะที่ครูวิทยฐานะชำนาญการ สอบเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนได้ ขณะที่ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ (สพท.) ก็มีปัญหาผู้มีคุณสมบัติสอบต้องเป็นรองผู้อำนวยการสพท. มาแล้ว 1 ปีถึงมีสิทธิสมัคร ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาตรงนี้จึงปรับใช้คำว่าจาก “ดำรงตำแหน่ง” เป็น “ดำรงตำแหน่ง หรือ เคยดำรงตำแหน่ง”

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments