เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2563 เวลา 10.00 น ที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ตัวแทนเครือข่ายยุติความรุนแรงทางเพศในโรงเรียน พร้อมด้วยองค์กรด้านสตรีและเด็ก 92 องค์กร ได้ยื่นหนังสือ ต่อนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กรณีครู และรุ่นพี่ ล่วงละเมิดทางเพศนักเรียนหญิงในจังหวัดมุกดาหาร รวมถึงกรณีครูแชทลวงนักเรียนมาทำอนาจารในจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเรียกร้องให้ศธ.ออกมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศในโรงเรียนอย่างเป็นระบบ โดยในครั้งนี้ได้นำรายชื่อประชาชนที่สนับสนุนข้อเรียกร้องผ่านเว็บไซต์change.org จำนวน กว่าหมื่นรายชื่อมอบให้ด้วย

โดยเครือข่าย อยากเห็นสถานศึกษาเป็นที่ปลอดภัยสำหับเด็กและเยาวชน จึงเรียกร้องให้ ศธ.ดำเนินการเร่งด่วนดังนี้ 1 .เมื่อเกิดเหตุล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กนักเรียนต้องไม่ปล่อยให้ผู้เสียหายและผู้ปกครองดำเนินการเรียกร้องความยุติธรรมอย่างโดดเดี่ยว แต่ ศธ.ต้องเป็นเจ้าทุกข์ร่วมในการแจ้งความและฟ้องร้องดำเนินคดีทางอาญา ตลอดจนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้เสียหาย และจัดให้เข้าถึงการคุ้มครองสวัสดิภาพและการเยียวยาทางจิตใจและสังคมโดยเร่งด่วน  2.กรณีที่มีการสอบสวนแล้วพบว่า ครูหรือบุคลากรทางทางการศึกษาอื่นกระทำผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศต่อนักเรียนให้ ศธ.ลงโทษทางวินัยขั้นสูงสุด ถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และหากบุคคลดังกล่าวยังคงรับราชการหรือปฏิบัติงานจะต้องไม่ให้ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนโดยเด็ดขาด และรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องควรรีบลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมโรงเรียนที่เกิดเหตุ เพื่อให้กำลังใจและแสดงจุดยืนปกป้องครอบครัวผู้เสียหาย เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ

นอกจากนี้จะต้องมีมาตรการเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศกับโรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศ รวมถึงจัดตั้งกลไกระดับกระทรวงเพื่อรับการร้องเรียนจากกรณีดังกล่าว ซึ่งกลไกดังกล่าวต้องมีความเป็นอิสระ มีองค์กรภายนอกที่เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็กเข้าร่วมแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศ และร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีการประชาสัมพันธ์ให้ครู ผู้บริหาร และผู้ปกครองรับทราบเพื่อให้เข้าถึงกลไกดังกล่าวอย่างกว้างขวาง รวมถึงให้การศึกษาแก่ครูและผู้บริหารทั่วประเทศเกี่ยวกับแนวทางและการปฏิบัติเพื่อการคุ้มครองสิทธิเด็ก การเคารพความเสมอภาคระหว่างเพศ เพื่อให้สถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากความรุนแรงทางเพศ

ทั้งนี้ นายณัฏฐพล กล่าวภายหลังการรับเรื่องร้องเรียนว่า การล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน เป็นเรื่องที่ศธ.ให้ความสำคัญ โดยเป็นหนึ่งนโยบายที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นในโรงเรียน และไม่ต้องการให้โรงเรียนอยู่ในวงเวียน คือ การล่วงละเมิดทางเพศ ยาเสพติด การทำร้าย หรือบูลลี่ แต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ากระบวนการต่อสู่การล่วงละเมิดทางเพศ ความเข้มข้นยังน้อยเกินไป ตนจึงได้ตั้งทีมงาน หรือคณะทำงานโดยตั้งศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ    เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต และขับเคลื่อน กล่าวโทษ เพื่อให้การดำเนินการให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วและถูกต้อง โดยเป็นไปด้วยความรอบคอบ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ศธ.ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และจะต่อสู้ เพื่อไม่ให้มีคนทำร้ายชื่อเสียงของครู โรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ และสังคม วนเวียน อยู่ในกระบวนการของศธ.โดยการตั้งศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ    เพื่อเป็นการปราบ และป้องกัน รวมถึงกำลังดูเรื่องการดูแลเด็กในเชิงรุก และได้ทำหนังสือถึง ผบ.ตร.ว่าหากมีปัญหาในพื้นที่ต่าง ๆ และทางศธ.มีข้อมูลหลักฐานเพียงพอที่จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงได้ ดังนั้นเมื่อมีการกล่าวโทษก็ไม่อยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยให้ผู้ถูกกล่าวโทษออกไปได้ คือ อยากให้เข้าหน้าที่ตำรวจคัดค้านการประกันตัว ซึ่งไม่ใช่ไม่ต้องการให้ความยุติธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา แต่บังเอิญถ้าผู้ที่ถูกกล่าวโทษเป็นบุคคลสำคัญในพื้นที่ อาจมีการไม่ดำเนินคดี หรือไปเคลียร์กับผู้ปกครอง ซึ่งจะปล่อยให้เป็นแบบนั้นอีกไม่ได้ โดยตนได้กำชับทุกหน่วยงานในศธ.ว่า ถ้าผู้ปกครองไม่กล่าวโทษ  ผอ.โรงเรียน ผอ.เขตพื้นที่ ศึกษาธิการจังหวัดไม่ดำเนินการ ทางศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ    จะเป็นผู้กล่าวโทษเอง เพื่อมั่นใจว่าศธ.จะติดตามเรื่องแบบนี้ให้ถึงที่สุด อย่างไรก็ตามยอมรับว่าปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ถ้าสังคมไทยให้ความสำคัญปัญหาก็จะลดลง หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นได้

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments