เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2563 ที่กระทรวงศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ จัดแถลงข่าวผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปี ว่า อีก 2 วันตนจะดำรงตำแหน่ง รมช.ศึกษาธิการครบ 1 โดยตลอดระยะเวลา 1ปีที่ผ่านมาได้วางนโยบายโดยเน้นการปฏิรูปไปที่ตัวผู้เรียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางรากฐานการศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21 ภายใต้นโยบายหลัก 4 เรื่องคือ โค้ดดิ้ง (Coding) การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การอ่านเขียนเรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย อาชีวะเกษตรที่ล่าสุดได้เปิดตัวโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ที่จะใช้กลไกของอาชีวะเกษตรในการขับเคลื่อนโครงการ โดยทั้ง 4 เรื่องได้มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยการก้าวสู่ปีที่ 2 ตนยึดสโลแกน “ทันสมัย เท่าเทียม ยั่งยืน” เป็นสามกลไกหลัก เพื่อพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพและเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศต่อไป

รมช.ศึกษาธิการ  กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องของความ “ทันสมัย” โดยเฉพาะนโยบายเรื่อง โค้ดดิ้ง ได้ออกแบบเนื้อหาหลักสูตรร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สนับสนุนเด็กไทยต้องได้เรียนโค้ดดิ้ง ซึ่งเป็นทักษะสำคัญจำเป็น และควรเน้นเป็นอย่างยิ่ง คือ การคิดวิเคราะห์เป็น แก้ปัญหาเป็น การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสร้างความแปลง

“ โค้ดดิ้ง เป็นทักษะการเขียนภาษาคอมพิวเตอร์ที่จะช่วยสร้างความมีตรรกะและแก้ปัญหาได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาที่ได้มีการขับเคลื่อนมาโดยตลอด โดยตนได้นิยามการเรียนการสอนโค้ดดิ้งว่า”ง่ายกว่าที่คิด พิชิตยุคดิจิทัล Coding for All… All for Coding”คุณหญิงกัลยา กล่าวและว่า สำหรับแนวทาง“เท่าเทียม” การศึกษาไทย จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เด็กพิการและเด็กด้อยโอกาสสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จะจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส ผ่านการให้บริการในรูปแบบที่หลากหลาย และมีคุณภาพ มีทักษะชีวิตที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้ อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข มีศักดิ์ศรี   มีคุณภาพชีวิตที่ดี ในด้านจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการ มีโรงเรียนเฉพาะความพิการ 48 โรง นักเรียน 12,388คน มีศูนย์การศึกษาพิเศษ 77 แห่ง นักเรียน 26,339 คน และสำหรับเด็กด้อยโอกาส มีโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ 51 โรง นักเรียน 33,528 คน ในด้านการส่งเสริม สนับสนุนนั้น มีการจัดการศึกษา แบบเรียนรวม 24,216 โรงเรียน นักเรียน 432,590 คนทั่วประเทศ และมีกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ส่วนแนวทาง “ยั่งยืน” จะมีการยกระดับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี(วษท.)ทั่วประเทศ เพื่อสร้างผู้ประกอบการภาคการเกษตรให้สอดคล้องกับสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 ด้วยการพัฒนาสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมงเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอด ทางเทคโนโลยีนวัตกรรมการเกษตร (Digital Agri College) โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการการเรียนการสอน : STI (Science /Technology/Innovation)เพื่อยกระดับสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมงเป็น Digital Agri College รวมไปถึงการเดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ โดย วษท. จะเป็นแหล่งพัฒนาบุคลากรทางการเกษตร ที่พร้อมจะพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำในอนาคต ภายใต้หลักสูตร “ชลกร” เพื่อปั้นนักบริหารจัดการน้ำในชุมชน โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ การช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีน้ำกิน น้ำใช้ น้ำฟรีจากฟ้า แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน โดยทั้งหมดนี้จะใช้กลไกของสภาการศึกษาเป็นฟันเฟือง เพื่อเชื่อมต่อกับทุกภาคส่วนในการผลักดันนโยบายต่างๆเพื่อบรรลุตามเป้าหมาย

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments