สภาการศึกษาได้จัดประชุมสัมมนาเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ภาคเอกชนแนะให้ยอมรับปัญหาแล้วมาพัฒนาประเทศร่วมกัน

วันนี้ (31 สิงหาคม 2561) ที่โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา เรื่อง “รวมพลังร่วมจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” โดย มี ศ.คลินิก. นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ ศ. กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)นายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ดร.ชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ ประธานบริษัทบอยเดน แอสโซซิเอทส์ (ประเทศไทย)จำกัด ดร. ปรเมษฐ์ โมลี พ่วงเน็ตกาโรงเรียนอุดมศึกษา และผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐภาคเอกชน เข้าร่วมประชุมสัมมนา

พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษา นับเป็นกลไกสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภาพรวม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศของรัฐบาลที่ได้ประกาศให้การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องตื่นตัว และให้ความร่วมมือดำเนินการเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ เมื่อเชื่อมโยงกับภาคการศึกษาแล้ว การขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560- 2579 คือยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และต่อเนื่องกับยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน และเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม ดังนั้น การประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จะทำให้สามารถเข้าใจจุดเด่นและจุดด้อยของประเทศในเชิงเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ และสามารถพัฒนาประเทศให้มีขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีโลกได้ ในปี 2017 – 2018 ไทยมีผลการจัดอันดับภาพรวมอยู่ในอันดับที่ 32 จาก 137 ประเทศ ดีขึ้น 2 อันดับจากปีที่ผ่านมา และจากตัวชี้วัดด้านการศึกษาของรายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก โดยสภาเศรษฐกิจโลก หรือดับบลิวอีเอฟ จำนวน 10 ตัวชี้วัด ซึ่งแบ่งเป็นตัวชี้วัดด้านข้อมูลสถิติจำนวน 3 ตัวชี้วัด และตัวชี้วัดที่ได้จากแบบสำรวจความคิดเห็นจำนวน 7 ตัวชี้วัด พบว่าผลการจัดอันดับตัวชี้วัดที่ได้จากแบบสำรวจความคิดเห็นเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสถาบันการจัดการนานาชาติ หรือ ไอเอ็มดี คือ ภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานด้านการศึกษาของภาครัฐในระดับต่ำ

นอกจากนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้เร่งดำเนินการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนของประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยได้เพิ่มประสิทธิภาพของกลไกและรูปแบบที่ใช้ในการพัฒนาคุณลักษณะและระดับทักษะการทำงานของกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตอบสนองการเกิดธุรกิจใหม่ ๆ ที่กำลังพัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบัน

“รัฐบาลเล็งเห็นความความสำคัญในการสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ภาคธุรกิจเอกชนและบุคคลทั่วไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้ และมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการศึกษาของรัฐบาล รวมทั้งรับทราบแนวนโยบายการดำเนินงานที่สำคัญ ตลอดจนการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และระเบียบต่าง ๆ เพื่อเอื้อให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา เพื่อออกแบบระบบการศึกษา ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน ร่วมเป็นพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศต่อไป”รองนายกฯพล.กล่าว

ศ. กิตติคุณ นพ. จรัส สุวรรณเวลา กล่าวว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นอีก 5 ปีข้างหน้า จะต้องเร่งปฏิรูปอุดมศึกษา เพื่อรองรับคนที่จะต้องเข้าไปอยู่ในยุคดิจิทัลให้ได้ สำหรับผู้บริหารจำเป็นต้องรีเซ็ตความคิดกันใหม่ อีกทั้งภาครัฐและเอกชนต้องลงทุนกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพิ่มขึ้น และสร้างความเชื่อมโยงความสอดคล้องกันระหว่างสถานศึกษากับผู้ประกอบการเพื่อรองรับการมีอาชีพมีงานทำ มหาวิทยาลัยต้องเพิ่มจำนวนศูนย์ฝึกทักษะด้านต่าง ๆ มากขึ้น และเป็นมหาวิทยาลัย 4.0 รองรับประเทศไทย 4.0 เพื่อปลดล็อกประเทศสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ยกตัวอย่าง จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ มีการปรับระบบการศึกษาครั้งใหญ่และลงทุนด้วยงบประมาณมหาศาล เพื่อยกระดับระบบการศึกษาและกำลังคนรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

“สำหรับประเทศไทย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคชุมชน ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและร่วมเป็นพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ดียิ่งขึ้นไป

ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า ศธ. และ กอปศ. ต้องเร่งผลักดันการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งครอบคลุมการศึกษาทุกระดับ และต้องสร้างความเชื่อมโยงกันทุกระดับตั้งแต่การศึกษาปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษา เพื่อสร้างเมล็ดพันธุ์กำลังคนที่ดีและมีคุณภาพตั้งแต่เริ่มต้น และที่สำคัญคือ ครู ต้องปรับแนวคิดใหม่ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อบ่มเพาะและสามารถพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน สร้างคนให้ตรงกับความถนัด และสนับสนุนให้สามารถใช้ศักยภาพในตัวได้มากที่สุด สร้างอาชีพ สร้างอนาคตในยุคดิจิทัล อย่างไรก็ดี ภายใต้กระบวนการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการรับรู้ไปแล้ว ดังนั้น ครู ต้องเริ่มปรับเปลี่ยนที่ตัวครูเสียก่อนในการยกระดับพัฒนาการเรียนการสอนรูปแบบใหม่

“ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยังจำเป็นต้องปรับแพลทฟอร์มใหม่ โดยครูทำหน้าที่แนะแนวและส่งเสริมการเรียนรู้ และกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดแรงบันดาลใจในการค้นพบตนเองและดึงศักยภาพความสามารถออกมาให้ได้มากที่สุด ปัจจุบันภาคเอกชนมีส่วนร่วมสนับสนุนภาคการศึกษาเพิ่มขึ้นจำนวนมากผ่านรูปแบบต่าง ๆ เช่น
โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ซึ่งต่อยอดมาจากโครงการโรงเรียนสานพลังประชารัฐ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่และชุมชน โดยมีความอิสระ 3 ส่วน คือ 1) อิสระในการออกแบบหลักสูตร เพื่อเป็นต้นแบบที่จะสร้างอนาคต สร้างอาชีพให้กับนักเรียน 2) อิสระในการออกแบบจัดการเรียนการสอน มุ่งเน้นการคิดวิเคราะห์ ใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เรียนรู้ของจริงในสถานที่จริง หรือสถานประกอบการ หรือชุมชน และ 3) อิสระในการบริหารจัดการ ดึงศักยภาพจากผู้แทน 4 ฝ่ายเข้ามาช่วยบริหารจัดการ คือ ภาคประชาสังคม ท้องถิ่น ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยง ทั้งนี้ มุ่งเน้นความคล่องตัวในการบริหารจัดการ เพื่อพัฒนาต่อยอดการยกระดับคุณภาพการศึกษา เพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเพื่อสร้างคนไทย 4.0 รองรับการเปลี่ยนแปลงของประเทศและสังคมโลกในอนาคต ด้วยการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เพื่อสร้างคนคุณภาพยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา คุณภาพการศึกษาที่ดียิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาประเทศสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว

นายธีรนันท์ กล่าวว่า ปัญหาของประเทศไทยในขณะนี้ คือทุกฝ่ายต้องตระหนักว่าปัญหามีอยู่จริงทำอย่างไรจะให้เกิดความร่วมมือ ไม่ใช่มานั่งประชุมกันแล้วไม่มีการลงมือแก้ไขปัญหาร่วมกัน ในฐานะภาคเอกชนยังมีความรู้สึกว่าภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมน้อยเกินไป จึงขอเสนอแนะ 3 เรื่อง คือ 1. ต้องพัฒนาความรู้และทักษะ ทั้งด้านภาษาอังกฤษและการส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2.การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ต้องมีเเนวทางในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และกระจายเทคโนโลยีให้เข้าถึงเด็กทั่วประเทศได้อย่างไร ประเทศไทยมีครูที่เก่ง เเต่จะทำอย่างไรให้ครูใช้เทคโนโลยีเป็น 3. วิกฤติความศรัทธาด้านการศึกษา ที่รัฐและเอกชนต้องร่วมมือจัดการศึกษาร่วมกัน ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาทั้ง 3 ด้านนี้ได้ เขื่อว่า การปฏิรูปการศึกษาจะเดินหน้าไปได้

นายชัยณรงค์ กล่าวว่า คนไทยต้องมองว่าตัวเองเป็นเสือ ไม่ใช่เเมวหรือไดโนเสาร์ ที่ขี้กลัวเเละล้าสมัย ต้องพร้อมที่จะพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการบ้านที่ประเทศต้องพัฒนาร่วมกัน นั่นคือ การปรับค่าเฉลี่ยของรายได้ค่าหัวประชากรในประเทศ และต่อไปนี้ ประเทศไม่ควรจะชูจุดขายว่ามีค่าเเรงขั้นต่ำ แต่ต้องชูค่าเเรงที่สูงขึ้นพร้อมกับพัฒนาความสามารถบุคลกร ที่ตอบสนองความต้องการของบริษัทหรือนักลงทุนต่างชาติ เพราะตนเชื่อในความสามารถในการปรับตัวของคนไทยที่ อ่อนน้อม มีมารยาท สามารถทำให้ผู้จ้างงานประทับใจได้
“ผ่านมากว่า 30ปี เราพบนโยบายจากรัฐบาลที่พยายามสร้าง โรงเรียน สถานศึกษา อาชีวศึกษา มหาวิทยาลัย จำนวนมาก แต่ปัญหาที่ตามมาคือ จำนวนสถานศึกษามีปริมาณมาก แต่ไม่มีคุณภาพ เพราะ ผลิตบุคลากรที่ไม่ได้คุณภาพ อยากเรียนจบปริญาก็เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยสักแห่งหนึ่งก็ได้เเล้ว ประเทศละเลยการพัฒนาการศึกษา ข้อเสนอของผมคือต่อไปต้องเลิกผลิตคนอย่างไม่มีคุณภาพ หันมาสนใจคุณภาพมากกว่านี้ และเห็นด้วยกับที่ทุกท่านแสดงความคิดเห็นมา แต่ไม่อยากให้อยู่ในภาวะหดหู่ใจ เรามีการบ้านคือ จะจัดการศึกษาอย่างไรที่ผสมกลมกลืน รับความหลากหลายของนักเรียนได้ และทำให้โรงเรียนมีความอิสระในการบริหารจัดการการศึกษา” นายชัยณรงค์ กล่าว

ด้านดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวว่า สกศ. จัดการประชุมนี้เพื่อเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจและขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ในยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน การประชุมนี้ สกศ. ร่วมมือกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (ทีเอ็มเอ) เพื่อสร้างการรับรู้แก่ผู้แทนภาคเอกชน สถานประกอบการ ทำให้เกิดการรับรู้และมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อการดำเนินงานด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้อันดับขีดความสามารถด้านการศึกษาของประเทศจากตัวชี้วัดที่ได้จากแบบสำรวจความคิดเห็นทั้งจากไอเอ็มดี และดับบลิวอีเอฟ เป็นการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศเศรษฐกิจมีค่าสูงขึ้น โดย สกศ. จะรวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เพื่อจัดทำแผนการและนโยบายการศึกษาของประเทศต่อไป

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments