รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 เห็นชอบทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2568 – 2570 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการสร้างงานวิจัยเพื่อการพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในการพัฒนาการศึกษา รวมทั้งค้นหาคำตอบสำหรับการแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน ป้องกัน เตรียมความพร้อม และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อนำการศึกษาของประเทศไทยไปสู่เป้าหมายเดียวกัน จึงเปรียบเสมือนเป็นเข็มทิศที่ชี้ให้เห็นถึงเส้นทางและกรอบแนวทางการดำเนินงานไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาการศึกษาของชาติต่อไป

จากการศึกษา วิเคราะห์ด้วยกระบวนการมองอนาคต (Foresight) และหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจึงได้กำหนดเป็นทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ จำนวน 8 ประเด็น ซึ่งจะเป็นเฉพาะประเด็นหลัก ส่วนประเด็นโดยละเอียดขึ้นอยู่กับความสนใจในการวิจัย เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและความยืดหยุ่นในการวิจัย และในสภาวการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก โดยทั้ง 8 ประเด็นการวิจัย สามารถจัดกลุ่มเป็น 4 ด้าน ดังนี้ ด้านที่ 1 การวิจัยเพื่อพัฒนาแนวคิด ระบบ โครงสร้าง และการจัดการศึกษาที่รองรับและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ประกอบด้วย 1) การเรียนรู้ตลอดชีวิต และ 2) การศึกษาเพื่อสังคมสีเขียว

ด้านที่ 2 การวิจัยเพื่อกำหนดระบบการผลิตและพัฒนาทักษะกำลังคน ผู้เรียน และบุคลากรทางการศึกษาที่มุ่งสู่การยกระดับผลิตภาพโดยรวมของประเทศ ประกอบด้วย
1) การพัฒนาทักษะที่จำเป็น และการ Re-skills/Up-skills ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และ
2) ความเป็นพลเมืองและพลโลก

ด้านที่ 3 การวิจัยเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการการศึกษาที่มุ่งสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาในระดับนานาชาติ ประกอบด้วย 1) การศึกษาที่มีคุณภาพ 2) ความเสมอภาค – ลดความเหลื่อมล้ำ และ 3) ประสิทธิภาพทางการศึกษา

และด้านที่ 4 การวิจัยเพื่อสร้างระบบนิเวศทางการศึกษา (Ecosystem) ที่สนับสนุนให้เกิดการศึกษาที่มีคุณภาพ ปราศจากความเหลื่อมล้ำ และนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้แก่ เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา/การเรียนรู้

เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนบรรลุตามเป้าหมาย สกศ. จึงได้กำหนดกลไกเพื่อสร้างผลลัพธ์การดำเนินงาน ได้แก่ 1) กลไกการจัดสรรทุนวิจัยเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน โดยประเทศไทยมีหน่วยงานและกลไกที่ให้ทุนในการวิจัยจำนวนมาก แต่ไม่มีกลไกในการบูรณาการและประสานความร่วมมือเพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาประเทศและการพัฒนาการศึกษาร่วมกัน ดังนั้น จึงควรมีกลไกประสานให้เกิดเวทีความร่วมมือในการให้ทุนวิจัยทั้ง 8 ประเด็นที่หนุนเสริมกัน 2) พัฒนากลไกบริหารจัดการระดับพื้นที่หรือระดับ Ecosystem ให้มีความเข้มแข็งเพื่อการพัฒนาระบบการวิจัยของประเทศในระยะยาว 3) พัฒนาระบบการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันระหว่างหลายหน่วยงาน (Co-creation) มากขึ้น และ 4) การประเมินนโยบายจากผลลัพธ์ เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

“ทั้งนี้ขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ร่วมให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อ การจัดทำทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2568 – 2570 ในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่มาร่วมกันกำหนดกรอบทิศทางการผลักดันให้ไปสู่จุดหมายเดียวกัน หลังจากนี้จะเป็นการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องต่อไป ทั้งหน่วยนโยบาย หน่วยให้ทุน และนักวิจัย เพื่อยกระดับคุณภาพงานวิจัยให้สามารถนำไปใช้ได้จริงในการกำหนดนโยบายและพัฒนาโครงสร้างทางการศึกษาของประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการในมิติต่าง ๆ ในอนาคตต่อไป”รศ.ดร.ประวิต กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments