เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ว่า วันนี้ได้ประชุมใน 5 เรื่อง คือ 1.ได้ทำความเข้าใจ เรื่องการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการประกาศเขตการศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)อีก 20 เขตพื้นที่ ที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ หากมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 2.การเปิดเรียนในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประกาศในภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการว่าทุกโรงเรียนถ้ามีความพร้อมก็ให้เปิดเรียนได้ในวันที่ 1 กุมภาพันธุ์ได้เลย  อย่างไรก็ตามจากการที่ตนได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในวันเปิดเรียนวันแรก ซึ่งตนแยกได้สองกลุ่ม คือ กลุ่มแรกมีความสุขที่ได้มาเรียนที่โรงเรียน และกลุ่มที่สอง ถ้าโรงเรียนใดเปิดแล้วผู้ปกครองยังมีความสงสัยหรือมีความไม่สบายใจที่จะให้บุตรหลานมาเรียนประสงค์จะเรียนอยู่ที่บ้าน ซึ่งมีอยู่4-5 แนวทางที่สพฐ.ออกแบบไว้ ก็ให้โรงเรียนพิจารณาอนุโลมให้เรียนที่บ้านได้เป็นการเฉพาะรายและให้นับเวลาการเรียนของนักเรียนที่เรียนอยู่ที่บ้านด้วย ส่วนกรณีฉุกเฉิน เช่น พอเปิดเรียนแล้วเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา อย่างเช่น โรงเรียนสรรพวิทยาคม จังหวัดตาก ซึ่งตามข้อเท็จจริงนักเรียนสองรายติดโควิด-19 อยู่ที่บ้านก่อนมาโรงเรียน แต่เมื่อมีข่าวออกมาทำให้ผู้ปกครองไม่สบายใจ เพื่อลดกระแสของผู้ปกครองโรงเรียนจึงสั่งปิดโรงเรียนไปถึงวันที่  5 ก.พ.เพื่อดูสถานการณ์อีกครั้งหนึ่งว่าจะเปิดเรียนอีกครั้งได้อีกเมื่อไร

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า เรื่องที่3.เรื่องการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพของชุมชน โรงเรียนดีสี่มุมเมือง ซึ่งสพฐ.ได้ทำข้อมูลต่าง ๆ เสนอรมว.ศึกษาธิการ แล้วนั้น เนื่องจากขณะนี้พบว่าบางจังหวัดยังไม่เข้าใจเป้าหมายของโรงเรียนคุณภาพชุมชน โรงเรียนดีสี่ชุมชนไม่ตรงกัน ตนจึงมอบหมายให้ผู้บริหารระดับสูงลงไปทำความเข้าใจอีกครั้ง เพื่อหารูปแบบหรือโมเดลที่มีประสิทธิภาพที่สุดตามนโยบายของรมว.ศึกษาธิการ เรื่องที่ 4. การจัดทำหลักสูตรอิงสมรรถนะ ซึ่งขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้มีคณะกรรมการกำกับหลักสูตรโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน และมอบหมายให้สพฐ.ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมมือกันในการทำหลักสูตรฉบับสมบูรณ์ ซึ่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒจะต้องหาเครือข่ายอุดมศึกษาที่มีความสามารถในแต่ละด้านมาร่วมกันทำหลักสูตร เพื่อให้ได้หลักสูตรที่มีประสิทธิภาพและให้ทันใช้ในปีการศึกษา2565

และเรื่องสุดท้าย คือการพัฒนาครู  เพื่อให้สอดรับกับการสร้างโรงเรียนคุณภาพของชุมชน และโรงเรียนดีสี่มุมเมือง โดยรมว.ศึกษาธิการ ต้องการให้สพฐ.พัฒนาครูทั้งระบบ ตนจึงได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาครู ของสพฐ.ได้หารูปแบบการพัฒนาครูทั้งระบบทั้งรีสกิล อัพสกิล และให้ตรงกับหลักสูตรอิงสมรรถนะด้วย โดยมีกรอบพัฒนาครูให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาเห็นชอบ

 

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments