ตามแนวทางพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ให้มีการนำร่องการปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษา โดยให้จังหวัดที่มีความพร้อมเข้ามาเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นั้น

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ในฐานะที่เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในแต่ละจังหวัด ได้ประชุมเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อออกแบบและขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาโดยใช้กระบวนการประเมินเชิงพัฒนา (Developmental Evaluation)เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้เน้นย้ำถึงบทบาทและความสำคัญของ ศธจ. ที่ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมฯในระดับจังหวัด ซึ่งศธจ.ต้องให้ความสําคัญและดึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ มาร่วมกันขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมฯให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของพ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ตนได้มอบนโยบายไว้ 4 เรื่อง คือ 1. สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดมีภารกิจที่สำคัญในการเป็นกลไกหลักสำคัญของคณะกรรมการพื้นที่นวัตกรรมจังหวัด ไม่เพียงแต่จัดประชุมแต่เป็นส่วนสำคัญในการเป็นโซ่ข้อกลางที่เชื่อมการพัฒนาการศึกษาภาพรวมระดับพื้นที่ เพื่อกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และทิศทางการทำงานของพื้นที่ ซึ่งความสำเร็จสามารถวัดได้จากการตอบรับของโรงเรียนและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า 2. การจัดทำแผนการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นภารกิจสำคัญต่อการพิจารณา กรอบวงเงินงบประมาณเพื่อการสนับสนุนกิจกรรมและการจัดสรรงบประมาณในแต่ละ ปีงบประมาณให้แก่จังหวัดพื้นที่นวัตกรรมฯ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนงานได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติที่มีเจตนารมณ์สำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ โดยมุ่งเน้นให้โรงเรียนเป็นอิสระจากกรอบระเบียบที่กำหนดให้โรงเรียนต้องปฏิบัติโดยไม่สอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นที่แท้จริง ของการจัดการศึกษา ดังนั้นเพื่อบ่มเพาะผู้เรียนให้มีคุณภาพ มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการศึกษาจึงต้องเปิดมิติใหม่แห่งการพัฒนาการศึกษาไทยให้เท่าทันการศึกษาโลกในยุคดิจิทัล

  1. ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ในการทำงาน กระทรวงศึกษาธิการมีรัฐมนตรีกว่า 20 คน มีนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลามีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงและจุดเน้นเป็นไปตามวาระการดำรงตำแหน่ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจะทำให้เกิดสิ่งใหม่ เป็นสิ่งที่ท้าทายในการทำงานของพื้นที่นวัตกรรมฯ ดังนั้นขอให้ทุกคนก้าวข้ามกับดักเดิมของกรอบความคิด เปิดการทำงานแบบใหม่ เท่าทันสถานการณ์ของสังคมและโลกไร้พรมแดน ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี ใช้โอกาสจากการมีพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาที่เราไม่สามารถควบคุมได้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสุดท้าย สิ่งที่มุ่งหวังในระยะสั้นที่ศึกษาธิการจังหวัดรับผิดชอบ คือ การสร้างการรับรู้ให้กับสังคม เกี่ยวกับพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ รวมทั้ง ส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ในพื้นที่ คือ โรงเรียนพัฒนาตนเอง โรงเรียนยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง มุ่งให้พื้นที่หรือจังหวัดจัดการศึกษาด้วยตนเองได้ด้วยพลังการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา ที่เกิดความต่อเนื่อง เชื่อมโยงนำไปสู่การผลิตกำลังคนหรือผู้เรียนที่มีคุณภาพ มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มั่นคง และยั่งยืนต่อไป
0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments