วันที่ 20 มีนาคม 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ เกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และเกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ จำนวน 3 ฉบับ หลังจาก ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กรอบคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์2567 ที่ผ่านมา โดยเกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษา ทั้ง 3 ฉบับ ดังกล่าวจะใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรหรือปรับปรุงหลักสูตรฐานสมรรถนะตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ มาตรฐานอาชีพหรือตามความต้องการของสถานประกอบการหรือตลาดแรงงาน การพัฒนาการจัดการเรียนการสอน และการพัฒนาคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษา และเพื่อประโยชน์ต่อการรับรองหลักสูตรและคุณวุฒิการศึกษาของผู้สำเร็จการศึกษา โดยมีสาระสำคัญ เช่น ผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้สำเร็จการศึกษาเพิ่มคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และการปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตร คุณลักษณะตามบรรทัดฐานที่ดีของสังคมและลักษณะบุคคล ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และมาตรฐานการอุดมศึกษา และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่ยังไม่สำเร็จการศึกษาตามเกณฑ์เข้ารับการศึกษาก่อนได้ โดยมีเงื่อนไขต้องมีวุฒิการศึกษาตามเกณฑ์ก่อนสำเร็จการศึกษา ให้มีรูปแบบและวิธีการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย การเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้ การเทียบโอนประสบการณ์ของบุคคล และการเทียบโอนสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ โดยมีการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มและสื่อการเรียนรู้ ระบบคลังหน่วยกิตการอาชีวศึกษา (Credit Bank) และให้มีหลักเกณฑ์ในการนำผลการผ่านการทดสอบมาตรฐานที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพมาเทียบเคียง เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการเข้ารับการประเมิน

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า ประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษา ทั้ง 3 ฉบับ นี้ มีโครงสร้างหลักสูตรลดจำนวนหน่วยกิตรายวิชาพื้นฐาน เพิ่มจำนวนหน่วยกิตรายวิชาชีพเพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติมากขึ้นกิจกรรมเสริมหลักสูตรกำหนดเป็นชั่วโมงรวมต่อภาคเรียน ให้มีหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ต่อเนื่อง) เพื่อรองรับการพัฒนาสมรรถนะกำลังคนในสาขาที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และให้มีหลักสูตรปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ (4 ปี) เป็นหลักสูตรที่พัฒนานักเทคโนโลยี ปรับลดระยะเวลาเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และระดับปริญญาตรี จาก 18 สัปดาห์/ภาคเรียนเป็นไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์/ภาคเรียน สอดคล้องกับการศึกษาระดับอุดมศึกษา เปิดโอกาสให้สถานประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับสถาบัน/สถานศึกษาที่มีศักยภาพเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นสอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการตามบริบทเชิงพื้นที่ เป็นการส่งเสริมการจัดการอาชีวศึกษาทวิภาคีอย่างเข้มข้น

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments