เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2563 ดร.ศันสนีย์ สายะสนธิ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี (วกศ.ปทุมธานี)กล่าวว่า วกศ.ปทุมธานี แรกเริ่มก่อตั้งโดยใช้ชื่อว่า ศูนย์วิศวกรรมเกษตร ไทย-เยอรมัน” (Thai-German Agricultural Engineering Training Center) และได้เปลี่ยนมาเป็น “ศูนย์ฝึกอบรมวิศวกรรมเกษตร”(ศวษ.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถาบันการศึกษา และเปิดฝึกอบรมทางด้านเครื่องจักรกลเกษตร สำหรับกลุ่มเป้าหมายทุกระดับ โดยจัดตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2508 ใช้สถานที่ของโรงเรียนเกษตรกรรมปทุมธานี เป็นสถานที่ดำเนินการ โดยให้มีกิจกรรมส่งเสริมผู้เรียนภายใต้งานกิจกรรมองค์การวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย (อวท.) และองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อกท.) จึงมีงานฟาร์มที่ผลิต และจำหน่ายพืชผักไฮโดรโปนิกส์ และออแกนิก ซึ่งเป็นการฝึกประสบการณ์ และการเรียนรู้จากนักเรียน นักศึกษา มีการหมุนเวียนหลากหลายชนิดตามฤดูการตามความเหมาะสม และมีการดำเนินกิจกรรมโครงการชีววิถี ที่ได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพืชชนิดหนึ่งที่ปลูกในแปลงผักชีววิถี คือ บวบ

ผอ.วกศ.ปทุมธานี กล่าวว่า บวบ อยู่ในวงศ์แตงกวา Cucurbitaceac เป็นไม้เถา ดอกสีเหลือง สามารถนำทุกส่วนของบวบมาใช้ประโยชน์ทั้งอุปโภคและบริโภคได้ เช่น ผลอ่อนของบวบสามารถนำมาประกอบอาหาร ผลอ่อนมีสรรพคุณแก้ร้อนใน ลดไข้ ขับน้ำนม ขับปัสสาวะ แก้เลือดออกตามทางเดินอาหาร แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ แก้กระหายน้ำ ขับพยาธิ แก้อาการท่อน้ำดีอุดตัน ส่วนใบบวบมีสารซาโปนิน (Saponins) มีฤทธิ์ทางเภสัทวิทา ช่วยห้ามเลือด แก้อักเสบ ฝีหนอง ริดสีดวงทวาร รักษาอาการเยื่อบุตาอักเสบและกลากเกลื้อน ใยบวบมีสารเซลโลส ไซลาน (Cellose Xylan) และสารจำพวกไครทรูลลิน (Critrulline) ช่วยขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ลดการบวมน้ำ แก้อาการปวดเส้นปวดกระดูก และกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วได้ เป็นต้น

ทั้งนี้วิทยาลัยฯ มีการปลูกบวบหลายชนิด เช่น บวบเหลี่ยม บวบหอม และบวบงู ด้วยวิธีการปลูกบวบแบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งขั้นตอนและวีธีการนั้นเกิดจากการศึกษาค้นคว้าเพื่อควบคุมการผลิตของบวบ เพื่อให้ได้บวบหอมที่มีคุณภาพและปลอดภัยจากสารเคมี โดยมีกระบวนการคัดเลือกเมล็ดบวบหอม การผสมดิน (ดินร่วน+ขุยมะพร้าว+ขี้วัวและขี้ค้างคาว+ปุ๋ยจุลินทรีย์แห้ง) การทำร้านตาข่ายเพื่อให้บวบเกาะ การใช้สารชีวภาพเร่งดอกสูตรจุลินทรีย์ผลไม้ และการใช้สารชีวภาพไล่แมลง สูตรกุยช่ายไล่แมลง ทุกกระบวนการนั้นมั่นใจได้ว่าปลอดภัยปลอดสารพิษ เพราะวิทยาลัยคำนึงถึงความสำคัญในทุกกระบวนการปลูก และทุกกระบวนทัศน์เริ่มต้นจากภูมิปัญญาและหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

วกศ.ปทุมธานี เล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์นานับประการของบวบ โดยเฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นส่วนหนึ่งของกระแสรักษ์สุขภาพ รักษ์โลก ที่กำลังเป็นที่สนใจของทุกคน ทางวิทยาลัยฯ จึงนำบวบมาสร้างสรรค์ เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าและใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ อันจะทำให้ได้ผลงานนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีความปลอดภัยและแตกต่างจากสินค้าอื่นๆ ที่พบเห็นในท้องตลาด ทางวิทยาลัยได้นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในแบรนด์ ลูฟ่า พลัส (Luffa Plus) ได้แก่ สบู่จากน้ำสกัดใบบวบหอมและใยบวบป่า ซึ่งสบู่ลูฟ่า พลัส เป็นสบู่กลีเซอลีนผสมน้ำสกัดใบบวบหอม โดยมีทั้งหมด 4 สูตร ได้แก่ สูตรสบู่กลีเซอลีนผสมน้ำสกัดใบบวบหอม 100% สูตรที่ 2 สบู่กลีเซอลีนผสมน้ำสกัดใบบวบหอม 100% ว่านหางจระเข้ ใบย่านาง สูตรที่ 3 สบู่กลีเซอลีนผสมน้ำสกัดใบบวบหอม 100% รังไหมทองคำ และสูตรที่ 4 สบู่กลีเซอลีนผสมน้ำสกัดใบบวบหอม 100% น้ำนมแพะ และโลชั่นจากน้ำสกัดใบบวบหอม ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้นำไปเข้าร่วมแข่งขันในการประชุมวิชาการองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระดับภาค ภาคกลาง ครั้งที่ 41 ระหว่างวันที่ 2-6 ธ.ค.2562 ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรี ได้รางวัลอันดับ 3 มาตรฐานเหรียญทอง และ การประชุมวิชาการองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระดับชาติ ครั้งที่ 41 ระหว่างวันที่ 15  20 ก.พ.2563 ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุราษฎร์ธานี ได้รางวัล อันดับ 4 มาตรฐานเหรียญทอง

นอกจากนี้ได้มีการขยายผลให้แก่สถานศึกษา ได้แก่ โรงเรียนสุนทโรเมตตาประชาสรรค์ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลบางพูน และนักเรียนแลกเปลี่ยนจากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ชุมชนวัดบางพูน รวมถึง การเผยแพร่ความรู้ทางยูทูปและเฟสบุ๊ค อีกทั้งดำเนินการเชิงพาณิชย์ในร้านค้าวิทยาลัย และออนไลน์ทางช๊อปปี้ เฟสบุ๊คอีกด้วย จากการริเริ่มเกษตรกรรมแบบอินทรีย์ด้วยความพยายามและความตั้งใจในการสืบสานองค์ความรู้และเกษตรชีววิถี ทำให้วิทยาลัยได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับชาติ ประเภทที่ 6 การขยายผลสู่โรงเรียน ของโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในปี 2561 และปี 2562

ผอ.วกศ.ปทุมธานี กล่าวอีกว่า เนื่องจากสถาณการณ์แพร่ระบาดของไวรัส โควิด 19 ในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ทำให้หน่วยงาน บริษัท ห้างร้าน และหลากหลายธุรกิจต้องหยุดชะงักไม่สามารถเปิดทำการได้ และปิดตัวลง  ประชาชน ต้องถูกพักงาน หรือเลิกจ้าง ได้รับรายได้ลดลง ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และเป็นการแบ่งเบาภาระในเรื่องค่าใช่จ่ายให้แก่ประชาชน ทางวิทยาลัยฯ จึงได้จัดทำ “โครงการ อาหารปลอดภัย ร่วมใจสู้ภัยโควิด-19” เพื่อจำหน่ายผลิตผลการเกษตรของวิทยาลัยฯในราคาพิเศษ เพื่อแบ่งเบาภาระประชาชนในเขตพื้นที่ชุมชนวัดบางพูน และพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดปทุมธานี ทุกวันพุธ เวลา 15.00 – 18.00 น. บริเวณ ทางเข้าออกประตู 6 หลังอาคารชุดห้องพัก โดยผักที่นำมาขายนั้น เป็นผักที่ผลิตโดยระบบไฮโดรโปนิกส์ ที่ได้รับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี Good Agricultural Practice (GAP) และเนื้อสัตว์จากแปลงชีววิถีของทางวิทยาลัยฯ ยกตัวอย่างเช่น ผักกาด ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง กบ และปลาดุก โดยผลผลิตจำพวกผักทางวิทยาลัยฯ จัดจำหน่ายในราคาถุงละ 10 บาท จำพวกเนื้อสัตว์ ปลาดุก กบ กิโลกรัมละ 40 บาท และไข่ไก่ 10 ฟอง (1 แพ็ค) ราคา 33 บาท ทั้งนี้โครงการทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายบริหารของวิทยาลัยฯ ตั้งแต่เริ่มทำฟาร์มและแปลงชีววิถี ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ความร่วมมือร่วมใจจากนักเรียน นักศึกษาของวิทยาลัยที่นำความรู้จากที่ได้รับในห้องเรียนมาใช้ปฏิบัติงานจริง ลงมือทำจริง และจากคณะครูทุกคน ทุกฝ่าย ที่ช่วยกันในการผลิตและจัดจำหน่าย และช่วยเหลือประชาชนและสังคมด้วยความเต็มใจ

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments