“กมธ.การศึกษาวุฒิสภา ร่วมประชุมทวิภาคีและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกรมการศึกษา รัฐเกอดะห์ ประเทศมาเลเซียเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาของสองประเทศ

เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568 ดร.กมล รอดคล้าย สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา เปิดเผยว่า  ตนได้นำคณะกรรมาธิการการศึกษาฯเข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนที่ผสมผสานระหว่างหลักสูตรสามัญและหลักสูตรศาสนาอิสลาม โดยโรงเรียนดารุลอูลูมเป็นโรงเรียนเอกชนที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสตูลเน้นการเรียนการสอนในลักษณะบูรณาการที่ครอบคลุมทั้งวิชาสามัญ อาทิ คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ รวมถึงรายวิชาอิสลามศึกษา ซึ่งส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาความสามารถทั้งในด้านวิชาการและการประยุกต์ใช้ความรู้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ โรงเรียนยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูผู้สอนด้วยการสนับสนุนให้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสอนและการวิจัยในโรงเรียน

ดร.กมล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้พาคณะกรรมาธิการการศึกษาฯ ไปร่วมประชุมทวิภาคี ณ กรมการศึกษารัฐเกอดะห์ ประเทศมาเลเซีย โดยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกระชับสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษา ซึ่งรัฐเกอดะห์เป็นพื้นที่ที่มีบทบาทสำคัญในระบบการศึกษาของมาเลเซีย กรมการศึกษามีหน้าที่ควบคุมดูแลครอบคลุมตั้งแต่ระดับประถมศึกษาไปจนถึงอุดมศึกษา ระบบการศึกษาในรัฐนี้ได้รับการยอมรับว่าเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ในโอกาสนี้ คณะกรรมาธิการได้หารือถึงแนวทางการพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนระหว่างสองประเทศ และการแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษา โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าความร่วมมือนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาในระดับภูมิภาค

“การศึกษาดูงานครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาทั้งในด้านการเรียนการสอน บุคลากร และระบบการศึกษาของทั้งสองประเทศในอนาคต”ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาฯกล่าว

“กมธ.การศึกษาฯวุฒิสภา”ลงพื้นที่จังหวัดสงขลาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อนำไปจัดเตรียมความพร้อมผู้เรียนก่อนเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2568 ดร.กมล รอดคล้าย สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อศึกษาดูงานการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ในฐานะศูนย์การศึกษาภาคใต้และศูนย์การให้บริการประชาชนด้านสุขภาพอนามัย การวิจัยและพัฒนา รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาการว่างงานของบัณฑิต โดยคณะกรรมาธิการฯได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะกับอธิการบดีและคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อเป็นแนวความคิดในการพัฒนาการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา การนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง และการเชื่อมโยงระหว่างการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการศึกษาระดับอุดมศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมผู้เรียนก่อนเข้าศึกษาต่อ

ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า จากนั้นคณะกรรมาธิการฯได้เดินทางไปยังวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อศึกษาดูงานการจัดการศึกษาระบบรางและสถาบันปิโตรเคมี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด โดยวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่เป็นสถานศึกษาต้นแบบในการจัดการศึกษาที่สามารถนำไปขยายผลและเป็นโมเดลให้กับสถานศึกษาอื่น ๆ ในอนาคต การศึกษาดูงานในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่ภาคใต้ ได้เป็นอย่างดี

นักการศึกษา”ชี้”พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติต้องมีการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด กระจายอำนาจให้จังหวัดรับผิดชอบจัดการศึกษาเอง-กระทรวงศึกษาธิการต้องเล็กลง

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2568  ที่ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ นายพิศณุ ศรีพล รักษาการนายกสมาคมนิสิตเก่าภาควิชาบริหารการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ รศ.ดร.ธีรภัทร กุโลภาส ประธานสาขาวิชาบริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงาน “มุทิตา เสวนา เลือกตั้ง” ภายใต้มอตโต้ “OLD KEYS DON’T UNLOCK NEW DOORS”เสวนาวิชาการ หัวข้อ “พ.ร.บ.การศึกษาใหม่ รูปแบบไหนไขปัญหาชาติ” โดยดร.นิวัตร นาคะเวช อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายกสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย ดร.กมล รอดคล้าย สมาชิกวุฒิสภา รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. นายทนง โชติสรยุทธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเพลินพัฒนา และกรรมการ บริษัทเพลินพัฒน์ จำกัด ดำเนินรายการโดย นางสาวศศิธร วัฒนกุล ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย

ดร.นิวัตร กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ติดใจคำว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ รูปแบบไหนแก้ไขปัญหาชาติ ซึ่งเป็นคำที่มีความหมาย คงต้องมาคิดว่าใครก็ตามที่จะสร้างรูปแบบได้จะต้องมีหลักการ หลักคิด มีทฤษฎีที่ชัดเจน  ถ้าตนเป็นคนเขียน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ หลักการของตนจะยึดหลักการของในหลวง รัฐกาลที่9 ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และพระบรมราโชบายของ รัฐกาลที่10 ที่มี 4 ด้าน คือ 1.มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2.มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม 3.มีงานทำ มีอาชีพ และ4.เป็นพลเมือนที่ดี มาเขียน ขณะเดียวกันก็จะไปดูแผนปฏิรูปประเทศว่าพูดถึงการศึกษาอย่างไร และจะดูว่ามีปรัชญาการศึกษาอะไรบ้างที่จะสร้างคน ซึ่งปรัชญาแรกคือการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม แต่คนไม่ค่อยคิดถึง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ตนคิด คือ การศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม การศึกษาเพื่อคนทุกคน การศึกษาคือการดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม ซึ่งมีความหมายกับความเป็นไทยและมีความสำคัญมาก และสิ่งสำคัญคือการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ โดยตนคิดเสมอว่า การศึกษาที่แท้จริง คือ สิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคนที่ต้องได้รับอย่างมีคุณภาพ ถ้าเขียนแบบไม่คิดเรื่องนี้ ก็จะไม่ตอบสนองประเทศ นอกจากนี้ยังต้องยึดหลักของการมีส่วนร่วมการกระจายอำนาจ การสร้างโอกาสและความเสมอภาคด้วย เพราะฉะนั้นคนเขียนจะต้องมีหลักการก่อนถึงจะเขียนได้ดี

ดร.กมล กล่าวว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นธรรมนูญกฎหมายหลักด้านการศึกษาของชาติ ปัจจุบันยังมีอยู่ คือ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 และวันนี้ก็มีความพยายามที่จะจัดทำขึ้นมาใหม่ให้ดีกว่าเดิม โดยสถานการณ์ ของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่นั้น ในปัจจุบันมีการเสนอในหลายส่วน ซึ่งกลุ่มที่หนึ่ง คือ รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการโดยหยิบร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่ยุติไปเมื่อรัฐบาลที่แล้วมานำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีใหม่ เชื่อว่าจะมีการนำเสนอเข้าสู่สภาฯ ในเร็ว ๆ นี้ แต่อย่างไรก็ตามตอนนี้พรรคภูมิใจไทยได้เสนอตัดหน้าไปแล้ว และก็มี ร่างของ พรรคเพื่อไทย  และส่วนตัว ตนเชื่อว่าจะมีพรรคอื่น ๆ อีกที่จะเสนอเข้ามา โดยเฉพาะพรรคประชาชนที่จะต้องเสนอเข้ามาแน่นอน โดยทั้งหมดนี้เชื่อว่า ภายใน 2 เดือนนี้ จะมีร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติเสนอเข้าสู่สภาฯได้

ดร.กมล กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อเสนอของตนมี 3 ประเด็น คือ 1.ต้องเน้นหลักการให้ชัด ระบบการศึกษาต้องวางหลัก และรายละเอียดบางเรื่องไปไว้ที่กฎหมายลูก แล้วเสนอกฎหมายลูกประกบมาเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน 2. ต้องบรรจุสิ่งที่คิดว่าควรมีลงไปในรายละเอียดด้วย และ 3.เวลาจะขับเคลื่อนจะต้องพูดเป็นประเด็น ในการนำเสนอต้องเสนอประเด็นให้ชัดเจน เช่น เรื่องครู โครงสร้าง หลักสูตร จะต้องมีการถกและแย้งกันตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตามโดยสรุปตนเชื่อว่า พ.ร.บ.แบบไหนแก้ปัญหาการศึกษาชาติได้ นั่นก็คือ พ.ร.บ.ที่ทำให้ทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษา ทำให้คนได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพ มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับทั่วโลกได้ เป็น พ.ร.บ.เพื่อคนรุ่นใหม่ในอนาคต

รศ.ดร.เอกชัย กล่าวว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ต้องมี Keyword จะจัดรูปแบบใดก็ตามต้องทำให้เด็กไทยได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง เป็นธรรมกับผู้เรียนทุกกลุ่ม  ตนคิดว่าถึงเวลาต้องเขียนโครงสร้างของจังหวัดให้จังหวัดรับผิดชอบการศึกษาของจังหวัดตัวเองได้แล้ว ถ้าจังหวัดไหนมีความพร้อมก็ให้ดูแลไปเลยทั้งระดับประถมฯและมัธยมฯ และถึงเวลาที่เขตพื้นที่การศึกษาจะต้องสังกัดจังหวัด ถ้าเขียนชัด ๆจะช่วยเรื่องการกระจายอำนาจ งบประมาณไปลงที่โรงเรียน ลงที่การศึกษาอย่างชัดเจน เรื่องนี้ถ้าเปลี่ยนมุมมองเรื่องการจัดการเพื่อสร้างเด็กให้มีคุณภาพจะต้องให้อิสระเขาในการจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับบริบทของเขาเอง เปลี่ยนมุมมองจากเคยรวบอำนาจอยู่ที่ส่วนกลางก็ให้มาทำหน้าที่เพียงมอนิเตอร์อย่างเดียว กระทรวงศึกษาธิการต้องเล็กลง ทุกวันนี้ศึกษานิเทศมีทั้งจังหวัด และเขตพื้นที่ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณและซ้ำซ้อน เรามีโรงเรียนเป็นหน่วยปฏิบัติไม่จำเป็นต้องมีศึกษานิเทศก์ทุกเขตพื้นที่ให้มีที่จังหวัดก็เพียงพอแล้ว ซึ่งถ้าทำได้จะสามารถประหยัดงบประมาณได้มาก

ด้านนายทนง กล่าวว่า รัฐพึงมีหน้าที่ในการสนับสนุนให้มีการจัดการศึกษาในทุกระดับการศึกษา อย่างมีคุณภาพ ต้องคิดในเชิงยุทธศาสตร์เพื่อให้ก้าวกระโดดทันต่อสถานการณ์ ให้เรื่องแก้ปัญหาการศึกษา เป็นเรื่องเดียวกันกับการแก้ปัญหาของประเทศ เชื่อมโยงบูรณาการกับยุทธศาสตร์อื่น เป็นกลไกสำคัญในการเปิดกว้าง กระตุ้น กำหนดให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยไม่ถูกจำกัด หรือไม่เป็นอุปสรรคเสียเอง ลดความเหลื่อมล้ำ ผลักดันกรอบแนวคิดโรงเรียนดีใกล้บ้าน ลดภาระทางเศรษฐกิจ และให้มีการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้ท้องถิ่น ผลักดันให้เกิด Digital Transformation เพื่อให้มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อใช้ในการวางแผนการจัดการศึกษา และการติดตามผลการดำเนินงาน และสนับสนุนให้เกิด Platform ต่าง ๆ เพื่อให้องค์ความรู้กระจายไปอย่างทั่วถึง และมีคุณภาพ ทั้งนี้พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่จะต้องมีกรอบแนวคิดที่ชัดเจนให้เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนเป็นวาระแห่งชาติ

“คุรุสภา” มอบ “รางวัลถิรคุณ” ยกย่องเชิดชูเกียรติ 2 ครูตชด.พ่อลูกผู้เสียสละมีอุดมการณ์และจิตวิญญาณในวิชาชีพครู

ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์คนร้ายลอบวางระเบิดรถยนต์ของตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส เป็นเหตุให้พ.ต.ท.สุวิทย์ ช่วยเทวฤทธิ์ ครูใหญ่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านตืองอช่างกลปทุมวันอนุสรณ์ 13 และ ด.ต.โดม ช่วยเทวฤทธิ์ ครู โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านตืองอช่างกลปทุมวันอนุสรณ์ 13 บุตรชาย เสียชีวิต เมื่อวันที่ 14 มกราคม ที่ผ่านมานั้น คุรุสภาได้พิจารณาและเห็นว่า บุคคลทั้ง 2 ท่าน เป็นบุคคลที่ปฏิบัติตนและปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความทุ่มเท เสียสละ มีอุดมการณ์และจิตวิญญาณความเป็นครูดูแล ช่วยเหลือนักเรียนให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพ ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ชัดในสังคม จึงเห็นชอบให้ประกาศเกียรติคุณยกย่อง พ.ต.ท. สุวิทย์ ช่วยเทวฤทธิ์ และ ด.ต. โดม ช่วยเทวฤทธิ์ เป็นผู้ได้รับ “รางวัลครูถิรคุณ”

ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2568 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมคณะได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาและติดตามการขับเคลื่อนนโยบาการศึกษา ที่วิทยาลัยเทคนิคพัทลุง จ.พัทลุง พร้อมทั้งได้มอบ “รางวัลครูถิรคุณ” ให้แก่พ.ต.ท.สุวิทย์ และ ด.ต.โดม โดยมีภรรยาของบุคคลทั้ง 2 ท่าน เป็นผู้รับมอบรางวัล ซึ่ง รมว.ศธ. กล่าวยกย่องพ.ต.ท.สุวิทย์ และ ด.ต.โดม ว่า เป็นผู้ที่อุทิศตนในการปฏิบัติงาน มีความเสียสละ เป็นต้นแบบให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพครู ตลอดจนมอบเงินช่วยเหลือส่วนตัวเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ครอบครัวช่วยเทวฤทธิ์
ด้วย


ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวอีกว่า สำหรับ “รางวัลครูถิรคุณ” เป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลปฏิบัติตนและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ มีอุดมการณ์ และมีจิตวิญญาณความเป็นครู ดูแลช่วยเหลือผู้เรียนทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความสามารถ มีคุณธรรม จริยธรรม ให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพแบบองค์รวมและมีวิถีชีวิตที่เป็นสุขจนเป็นที่ประจักษ์ชัดและเป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งมีหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกจาก1.เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความทุ่มเท เสียสละ มีอุดมการณ์ มีจิตวิญญาณ รักและศรัทธาในวิชาชีพ จนเป็นที่
ประจักษ์ 2.เป็นผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน 3.เป็นผู้ที่ประพฤติและปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีงาม ทั้งกาย วาจา ใจแก่เพื่อนครู และผู้เรียน 4.เป็นผู้ได้รับความเชื่อถือศรัทธา ยกย่องยอมรับของผู้เรียน เพื่อนครูและสังคมว่าเป็นต้นแบบของผู้มีจิตวิญญาณความเป็นครู เป็นแบบอย่างที่ดีและสร้างค่านิยมให้สังคมยอมรับ 5.เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ หรือประกอบวิชาชีพในพื้นที่ที่มีชุมชนและสังคมที่มีความแตกต่างทั้งทางภาษาและวัฒนธรรม หรือในพื้นที่เสี่ยงภัย หรือทุรกันดาร รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหา
ภัยสังคมหรือความมั่นคงของชาติ หรือมีความเสี่ยงต่อการปฏิบัติงานอย่างสูงด้วยความเสียสละ และอุตสาหะเป็นเวลานาน และปรากฏผลงานเป็นแบบอย่างที่ดีด้วยความสม่ำเสมอต่อเนื่อง หรือ 6.เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือประกอบวิชาชีพจนได้รับบาดเจ็บหรือเป็นอันตรายหรือสูญเสียอวัยวะ หรือถึงแก่ชีวิต โดยเหตุเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่หรือในการประกอบวิชาชีพ หรือเพราะเหตุกระทำการ ตามหน้าที่เป็นกรณีพิเศษจนเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติงานในหน้าที่ประจำ หรือเพราะเหตุปฏิบัติตามหน้าที่ หรือได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นกรณีพิเศษ เว้นแต่การประสบเหตุนั้นเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือจากความผิดของตนหรือจากเหตุที่ตนมีส่วนร่วมในการกระทำนั้นด้วย ทั้งนี้ ผู้ได้รับ “รางวัลครูถิรคุณ” จะได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติและรับโล่ประกาศเกียรติคุณจาก รมว.ศึกษาธิการ ประธานกรรมการคุรุสภา.

“ยศพล”ปลื้ม 140 ผลงานนักศึกษาอาชีวะ รองรับการพัฒนาประเทศ สังคมและเศรษฐกิจในอนาคต

วันที่ 25 มกราคม 2568  นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.)เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ได้จัด “สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา  OVEC Innovation Award 2025” โดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ตน เป็นประธานเปิดงาน มีนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต้อนรับ และมีผู้บริหารบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ผู้แทนสถานประกอบการ หน่วยงานด้านการวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) คณะกรรมการดำเนินงาน คณะครู นักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ กว่า 2,500 คน เข้าร่วมงาน  ซึ่งได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 มกราคม 2568 ณ Korat Hall ศูนย์การค้าเซ็นทรัล โคราช จังหวัดนครราชสีมา

นายยศพล กล่าวว่า  ขอแสดงความยินดีกับ 140 ผลงาน ของนักเรียน นักศึกษา ในงานสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา OVEC Innovation Award 2025 ครั้งนี้เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาอาชีวศึกษา ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่ออนาคตของประเทศ ภายใต้นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนให้มีความสุข มีความเป็นเลิศ มีความมั่นคง นำแนวคิดการพัฒนาโดยใช้ผู้ประกอบการเป็นฐาน จัดการเรียนการสอนมิติต่างๆ ในทุกมิติ โดยเฉพาะการเรียนแบบทวิภาคีที่เน้นความร่วมมือกับสถานประกอบการ ซึ่ง สอศ. มีความร่วมมือกับสถานประกอบการแล้วกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ โดยงานประกวดในปีนี้ได้คัดเลือกผลงานจากกว่า 4,000 ชิ้น ทั่วประเทศ ที่ผ่านการประกวดในระดับสถานศึกษา ระดับจังหวัดและภูมิภาค จนถึงระดับชาติ สู่ผลงาน 140 ผลงาน ซึ่งการประกวดในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนอาชีวศึกษา ไม่เพียงแค่ในด้านวิชาการ แต่ยังครอบคลุมถึงการพัฒนาทักษะชีวิต ความคิดสร้างสรรค์ และการทำงานร่วมกัน ผลงานที่ได้รับการพัฒนานี้ยังสามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์และการใช้งานจริง สร้างคุณค่าตอบโจทย์ให้กับทั้งตนเองและประเทศชาติ สังคมและเศรษฐกิจในอนาคต

“ครูเอ”ลงพื้นที่ชายแดนใต้ให้กำลังใจครู ชื่นชม รร.เอกชนผนึกกำลัง พัฒนาทักษะอาชีพ ส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียน และช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา

เมื่อวันที่ 24 มกราคม​ 2568 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมมอบนโยบายและสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้บริหาร​  ครู​ และบุคลากรทางการศึกษา​ ในจังหวัดนราธิวาส​ ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์​ 39  พร้อมติดตามโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากร​ สังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดนราธิวาส มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ​ โดยมี​ ผู้บริหาร​ ครู​และบุคลากรทางการศึกษา​ ร่วมให้การต้อนรับ ทั้งนี้ นาย​สุรศักดิ์​ กล่าวว่า​ รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานเปิดงานโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชน จังหวัดนราธิวาสในวันนี้​ จากได้รับฟังคำกล่าวรายงานทำให้ทราบว่า จังหวัดนราธิวาส​ มีประชากรที่หลากหลายทั้งชาวไทยพุทธและไทยมุสลิม ซึ่งนำไปสู่ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิต การที่ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี จะต้องได้รับการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพ สำหรับโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในครั้งนี้เป็นการอบรมให้ความรู้ เพื่อพัฒนาสมรรถนะของผู้บริหาร ผู้สอน บุคลากรทางการศึกษา และผู้เรียนประจำศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ในการจัดการศึกษาเอกชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ตนรู้สึกยินดีและขอชื่นชม ที่ได้เห็นถึงพลังความร่วมมือ ในการให้ความสำคัญกับการพัฒนา และยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาเอกชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในโรงเรียนเอกชน ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่มีการจัดการศึกษาในหลายรูปแบบ ตามความต้องการของชุมชน และบริบทในพื้นที่ ทั้งการศึกษาในระบบ และนอกระบบ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องส่งเสริม สนับสนุน กำกับติดตามดูแล ให้สถานศึกษาเหล่านี้มีคุณภาพ​ สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ ที่อยากจะขอฝากทุก ๆ ท่านก็คือ เรื่องของการพัฒนาทักษะอาชีพ การส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียน การช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา (Zero Drop out) การสอนภาษาไทย การสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษา รวมถึงเรื่องของการสร้างสุขภาวะอนามัยที่ดีด้วย

“ผมหวังว่าการอบรมครั้งนี้ จะได้รับการพัฒนาสมรรถนะที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียน เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีคุณภาพสอดคล้องกับมาตรฐานการจัดการศึกษาที่ยั่งยืน เป็นคนดี คนเก่ง สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข และสามารถนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่และประเทศชาติ ต่อไปในอนาคต ขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ มุ่งมั่นพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพ ขอให้รักษาคุณงามความดีที่ท่านได้ปฏิบัติ และขอให้การดำเนินงานโครงการ บรรลุตามวัตถุประสงค์ทุกประการ โอกาสนี้ขออวยพรให้คณะผู้บริหาร ผู้สอน บุคลากรทางการศึกษา ประสบแต่ความสุข ความเจริญ มีจิตใจที่เข้มแข็ง มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาการศึกษา ยกระดับมาตรฐานการศึกษาให้สูงขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับชาติและนานาชาติต่อไป”นายสุรศักดิ์ กล่าว

“เสมา1” เปิดการแข่งขันสะกดนิ้วมือไทย ชิงถ้วยพระราชทาน ครั้งที่ 4 ส่งเสริมศักยภาพผู้บกพร่องทางการได้ยิน

เมื่อวันที่ 23 มกราคม พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานพิธีเปิดการแข่งขันสะกดนิ้วมือไทย ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ครั้งที่ 4 ประจำปี 2568 โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และนักเรียนที่ร่วมแข่งขัน เข้าร่วม ณ โรงเรียนเศรษฐเสถียรในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า การสะกดนิ้วมือไทยเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารสำหรับผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินที่มีภาษามือเป็นภาษาแม่ในการสื่อสารภาษาไทย โดยการสื่อสารด้วยภาษามือนอกจากจะช่วยให้สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นในชีวิตประจำวันได้ ยังช่วยเปิดโลกการเรียนรู้ให้กว้างขึ้น นำไปสู่การพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ ดังที่โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว และได้จัดโครงการสะกดนิ้วมือไทยชิงถ้วยพระราชทานขึ้น ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4

“ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการศธ. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาในทุกระดับ ทุกเพศ ทุกวัย โดยให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาที่เหมาะสมและเท่าเทียมสำหรับผู้เรียนทุกคน รวมถึงการศึกษาพิเศษ ที่จัดการศึกษาให้กับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข ซึ่งการจัดการแข่งขันสะกดนิ้วมือไทยชิงถ้วยพระราชทานฯ ครั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายของศธ.ในการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาของผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน และการสร้างโอกาสให้ผู้เรียนทุกกลุ่มสามารถพัฒนาทักษะและศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ขอเป็นกำลังใจให้นักเรียนทุกคนได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ กระทรวงศึกษาธิการพร้อมเดินหน้ายกระดับการศึกษา เรียนดี มีความสุข เพื่อนักเรียนทั่วประเทศต่อไป” พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว

สำหรับการแข่งขันสะกดนิ้วมือไทย ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ครั้งที่ 4 ประจำปี 2568 จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาทักษะการสะกดนิ้วมือ ตามแบบการสะกดนิ้วมือไทย พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ ฉบับคุณหญิงกมลา ไกรฤกษ์ ได้ถูกต้องและชัดเจน โดยสามารถนำการสะกดนิ้วมือ ตามแบบสะกดนิ้วมือไทยที่ถูกต้อง มาประยุกต์ใช้ในการเรียนและสื่อสารในชีวิตประจำวันได้ โดยการแข่งขันครั้งนี้มีนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันจาก 21 โรงเรียน ได้แก่ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนระดับชั้นละ 3 คน รวม 252 คน พร้อมด้วยครูผู้ควบคุม โรงเรียนละ 2 คน รวม 168 คน

ศธ. สั่งยกเลิกกิจกรรมเดินสวนสนามกลางแจ้ง งาน 103 ปี ยุวกาชาดไทย ที่สนามศุภฯห่วง PM 2.5 กระทบเด็กและครูกว่า 5,000 คน

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2568 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่รุนแรงระดับสีแดง โดยกังวลเรื่องการจัดกิจกรรมกลางแจ้งที่กระทบต่อสุขภาพของเด็กนักเรียนและครู ซึ่ง ศธ.ได้กำหนดจัดกิจกรรมงานวันคล้ายวันสถาปนายุวกาชาดไทยเป็นประจำทุกปี แต่ด้วยเหตุสุดวิสัยจากฝุ่นพิษจึงต้องยกเลิกกิจกรรมดังกล่าวที่สนามศุภชลาศัย ในปีนี้ เพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของผู้เข้าร่วมงาน แต่ยังคงกิจกรรมออนไลน์เชิงสร้างสรรค์ไว้

นายสิริพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้เล็งเห็นว่าการจัดงานครบรอบวันสถาปนายุวกาชาดไทย “103 ปี ร่วมใจสร้างสรรค์ยุวกาชาดไทย” ส่วนกลาง ในวันจันทร์ที่ 27 มกราคม 2568 ณ สนามศุภชลาศัย กรุงเทพฯ ที่กำหนดให้มีพิธีปฏิญาณตนและสวนสนาม  ซึ่งมียุวกาชาดจากสถานศึกษาสังกัดต่าง ๆ เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 5,000 คน เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งของ สพฐ.ที่ยกเลิกกิจกรรมกลางแจ้ง สำนักการลูกเสือ ยุวกาชาด และกิจการนักเรียน สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งอยู่ในความดูแลของ นายวรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จึงต้องยกเลิกการจัดกิจกรรมในส่วนที่เป็นกิจกรรมกลางแจ้งออกไปทั้งหมด จากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน

“แม้สำนักการลูกเสือ ยุวกาชาด และกิจการนักเรียน สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้จัดงานจะเตรียมงานไว้แล้วก็ตาม แต่ด้วยสถานการณ์ภัยจากธรรมชาติครั้งนี้เกิดขึ้นรุนแรงในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ และหลายจังหวัด อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งสุขภาพของผู้เรียนเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญในการปกป้องคุ้มครองให้มีความปลอดภัยสูงสุด จึงจำเป็นต้องประกาศยกเลิกการจัดกิจกรรมกลางแจ้งทั้งหมดที่สนามศุภชลาศัย คือ กิจกรรมปฏิญาณตนและสวนสนามของยุวกาชาด”โฆษก ศธ.กล่าวและว่าอย่างไรก็ตาม ในส่วนของพื้นที่จังหวัดอื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบ สามารถพิจารณาจัดกิจกรรมดังกล่าวได้ตามกำหนดการที่จัดเตรียมไว้ และในระยะนี้ขอให้สถานศึกษาในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ติดตามข่าวสารสภาพอากาศและข้อมูลสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 อย่างใกล้ชิด เพื่อวางมาตรการการจัดการกิจกรรมต่าง ๆ ได้ล่วงหน้า โดยไม่ต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศที่อาจเป็นอันตราย ปรับกิจกรรมเป็นภายในอาคารเพื่อไม่ให้กระทบต่อสุขภาพของนักเรียนและครูผู้สอน และการที่กระทรวงศึกษาธิการตัดสินใจยกเลิกกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของเด็กนักเรียนและครูและบุคลากรทางการศึกษา กว่า 5,000 คน ที่เดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรม โดยจะคงกิจกรรมรูปแบบออนไลน์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ สอดคล้องกับแนวทางการป้องกันมลพิษทางอากาศ และขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจถึงการจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และขอขอบคุณที่ให้ความร่วมมืออย่างดีที่สุด ส่วน การจัดงานพิธีสงฆ์ เวลา 9.00 น. จะคงจัดขึ้นจัดที่บริเวณใต้อัฒจันทร์สนามศุภชลาศัย และสามารถร่วมกิจกรรมกาชาดและยุวกาชาดรูปแบบออนไลน์ แบ่งเป็น ระยะที่ 1 วันที่ 20 – 31 มกราคม 2568 โดยรับชมคลิปวิดีโอผ่านช่องทาง Facebook “ศธ.360 องศา” พร้อมแบบประเมินเพื่อรับเกียรติบัตรการเข้าร่วมกิจกรรม ระยะที่ 2 วันที่ 21 มกราคม – 14 กุมภาพันธ์ 2568 โดยออกแบบกิจกรรมตามความเหมาะสมนำไปจัด กิจกรรมกับนักเรียน บันทึกเป็นคลิปวีดิโอหรือภาพถ่ายอธิบายใต้ภาพ ส่งในช่องทางที่กำหนด เพื่อรับเกียรติบัตรการส่งเสริมกิจกรรมกาชาดและ ยุวกาชาดออนไลน์ดีเด่น จากกระทรวงศึกษาธิการต่อไป

ศธ.ห่วงปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 สั่งงดกิจกรรมกลางแจ้งเด็ดขาด

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568  นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เนื่องจากขณะนี้สภาพอากาศในประเทศไทยเต็มไปด้วยปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก มีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งไม่ใช่แค่ใน กทม.เท่านั้นแต่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยก่อนหน้านี้ได้ขอความร่วมมือให้โรงเรียนปรับเปลี่ยนกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การจัดการเข้าแถวหน้าเสาธง การแข่งขันกีฬา วิชาลูกเสือ หรือกิจกรรมสันทนาการกลางแจ้ง ให้เป็นกิจกรรมภายในอาคารแทน พร้อมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้เรียนและครูเรื่องการสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM 2.5 และหลีกเลี่ยงการออกจากอาคารในช่วงที่ฝุ่นละอองมีค่าความเข้มข้นสูง ที่สำคัญพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีความห่วงใยผู้เรียนที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 และต้องการปกป้องสุขภาพของนักเรียนเป็นลำดับแรก จึงเน้นย้ำให้ทุกโรงเรียน “งดกิจกรรมกลางแจ้งทุกรูปแบบ” รวมถึงกำหนดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ และจัดกิจกรรมภายในโรงเรียนอย่างเหมาะสมในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูงเกินระดับมาตรฐาน สอดคล้องกับมาตรการความปลอดภัยในสถานศึกษา เพื่อป้องกันการสัมผัสกับมลพิษที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว

โฆษก ศธ. กล่าวว่า ศธ.ได้ติดตามสถานการณ์อากาศและได้กำชับทุกต้นสัปดาห์มาโดยตลอด และสั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่กำชับกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้อำนาจโรงเรียนใช้ดุลยพินิจหยุดทำการเรียนการสอนโดยปรับเป็นรูปแบบออนไลน์ได้ 100 % ส่วนโรงเรียนโซนกลางเมืองที่มี “ห้องเรียนปลอดฝุ่น” มีมาตรการรับมือที่พร้อมสามารถทำการเรียนการสอนได้ปกติ โดยให้พิจารณายืดหยุ่นตามความจำเป็นยึดถือเรื่องสุขภาพของเด็กเป็นหลักสำหรับโรงเรียนสังกัด ศธ.ในกรุงเทพฯ ซึ่งช่วงนี้เด็กกำลังเตรียมตัวสอบปลายภาคและสอบเข้ามหาวิทยาลัย บางโรงเรียนมีความจำเป็นไม่สามารถหยุดการเรียนการสอนได้เนื่องจากเวลาสอนไม่เพียงพอ ก็ขอให้งดกิจกรรมกลางแจ้งโดยให้จัดการเรียนการสอนในห้องเรียนเท่านั้น การสอนแต่ละที่มีข้อจำกัดตามบริบทพื้นที่ต่างกันหากดำเนินการตามมาตรการที่วางไว้จะช่วยให้การเรียนการสอนและกิจกรรมต่าง ๆ ภายในโรงเรียนดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องเสี่ยงกับฝุ่นพิษที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้เรียนในระยะยาว

นายสิริพงศ์ กล่าอีกว่า ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้มีคำสั่งให้โรงเรียนในสังกัด ในพื้นที่สีแดงทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษฝุ่น PM 2.5 หยุดเรียนทันทีตั้งแต่วันนี้ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นออนไลน์เป็นระยะเวลา 7 วัน หรือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยในเขตกรุงเทพฯ ปิดเรียนแล้ว 57 แห่ง แบ่งเป็น สพม. กทม. เขต 1 ปิดเรียน 7 แห่ง สพม. กทม. เขต 2 ปิดเรียนแล้ว 42 แห่ง และ สพป. ปิดแล้ว 8 แห่ง ขอย้ำว่า สุขภาพของนักเรียนเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญที่สุด ขอให้งดกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูง และกำชับนักเรียนให้สวมหน้ากากอนามัยป้องกันอีกทาง หากผู้ปกครองเกิดความไม่สบายใจ และที่สำคัญ ศธ.ได้ประกาศออกไปอย่างชัดเจนว่าให้งดกิจกรรมกลางแจ้ง ห้ามโรงเรียนใดฝ่าฝืนข้อสั่งการโดยเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นจะถือว่ามีความผิด และสามารถแจ้งข้อกังวลได้ที่เพจเฟซบุ๊ก “ศธ. 360 องศา” ได้ทันที เราจะรับความคิดเห็นเพื่อมาดำเนินการให้อย่างรวดเร็ว

สพฐ.เปิดแผนขับเคลื่อนเตรียมความพร้อมสอบ PISA ปี 2025 

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 3/2568 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568 ว่า ที่ประชุมได้มีการติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) มีการการอบรมสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในระดับเขตพื้นที่ทั้ง 245 เขตพื้นที่ 78 ห้องเรียน มีกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น 445,624 คน ลงทะเบียนแล้ว 112,654 คน อบรมแล้วเสร็จ 78,788 คน ส่วนปฏิทินการดำเนินการขับเคลื่อนการยกระดับฯ PISA ปีงบประมาณ 2568 คือ 1. การอบรมและพัฒนาการสร้างข้อสอบแนว PISA และปรับปรุงชุดพัฒนาความฉลาดรู้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568  2. การอบรมและพัฒนาการสร้างข้อสอบแนว PISA สิ้นสุด 31 มีนาคม 2568 และ 3. ครู ม.3 และ ม.4 วางแผนการใช้ชุดพัฒนาความฉลาดรู้ ภาคเรียนที่ 1/2568 จากนั้น จะดำเนินการการสร้างความตระหนักแก่ ผู้บริหารและครู และผู้ปกครอง ในการให้ความสำคัญของการสอบ PISA  พร้อมเสริมสร้างสมรรถนะ และช่วยเหลือโรงเรียนที่ถูกสุ่ม (เป็นการภายใน) และตรวจสอบความพร้อมอุปกรณ์และระบบ Internet ก่อนที่จะมีการสอบ PISA ในปี 2025

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สภาการศึกษา(สกศ.) ได้รายงานการขับเคลื่อนนโยบายการยกระดับคุณภาพผลลัพธ์การเรียนรู้ (learning outcome) ของผู้เรียนในด้านความเป็นอยู่ที่ดีของผู้เรียนจะช่วยส่งเสริมการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วย โดยได้เสนอแนวทางการจัดการศึกษาที่เน้นความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) เช่น ครูช่วยสร้างแรงบันดาลใจ สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นบวก และเป็นมิตรต่อผู้เรียน และการปรับปรุงหลักสูตรสร้างการเรียนรู้เชิงรุก ส่งเสริมทักษะเชิงพฤติกรรม (non-cognitive skills)  นอกจากนี้ในส่วนของแนวทางการพัฒนาผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน ของ  IMD ประจำปี พ.ศ.2568 ประเด็นอัตราการไม่รู้หนังสือของประชากร อายุ 15 ปีขึ้นไป สกศ.ได้รายงานแนวทางพัฒนา ได้แก่ การพัฒนาแบบสำรวจการอ่านของคนไทย โดยร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว) ก่อนจัดส่งข้อมูลให้ IMD ภายในเดือนมีนาคมนี้

สำหรับการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษาเชิงระบบ (THAILAND Zero Dropout)  สกศ. รายงานผลการดำเนินงานการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษาเชิงระบบ พบว่า ข้อมูลเด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ณ วันที่  20 มกราคม 2568 พบ จำนวนเด็กนอกระบบการศึกษา 1,025,514 คน ติดตามแล้ว 650,833 คน คิดเป็นร้อยละ 63.46 ยังไม่ได้ติดตาม 374,681 คน คิดเป็นร้อยละ 36.54 โดยในจำนวนนี้ มีเด็กการศึกษาภาคบังคับ ช่วงอายุ 6 – 15 ปี ตกหล่นจำนวน 442,962 คน ติดตามแล้ว 211,872 คน คิดเป็นร้อยละ 47.83 ยังไม่ได้ติดตาม 231,090 คน คิดเป็นร้อยละ 52.17 ขณะที่ บุรีรัมย์ Zero Drop out model ของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ พบ ข้อมูลเด็กหลุดออกนอกระบบ จำนวน 4,390 คน พบตัวในพื้นที่ 1,383 คน ไม่พบตัวในพื้นที่ 3,007 คน มีผลสำรวจครบ ร้อยละ 100 และจากการวิเคราะห์ข้อมูลเด็กที่ค้นพบ ประกอบด้วย ส่วนที่พบตัว (กลุ่มที่เคยศึกษา กลุ่มที่กำลังศึกษา และกลุ่มที่ไม่เคยศึกษา) จำนวน 1,383 คน (ในจำนวนนี้ มี 417 คน ที่ไม่ประสงค์รับการศึกษา), ส่วนกลุ่มไม่พบตัว มีสาเหตุจากการย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศ อยู่ต่างจังหวัด อยู่ต่างอำเภอ และอยู่ในเรือนจำ สถานพินิจ เป็นพระ/เณร หรือเสียชีวิต เป็นต้น อย่างไรก็ตามได้มอบให้จัดทำข้อมูลเชิงระบบ เพื่อรู้ตัวเลขว่าปีต่อไปมีเด็กออกจากระบบน้อยลงหรือไม่ พร้อมทำข้อมูลในลักษณะเปรียบเทียบ เพื่อให้เห็นความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนขึ้น

“ส่วนการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ระบบ TRS ทาง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ได้นำเสนอปฏิทินย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่ง ครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี พ.ศ.2568 ผ่านระบบ TRS ตามแนวคิดและนโยบาย “ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น” โดยเปิดให้ยื่นคำร้องขอย้ายผ่านระบบ TRS ตั้งแต่วันที่ 16 – 31 มกราคม 2568 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการของ ผอ.สถานศึกษา ผอ.สพท./หัวหน้าส่วนราชการ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ทั้งต้นทางและปลายทาง ดำเนินการเกี่ยวกับการพิจารณาคำร้องขอย้าย ออกคำสั่งย้ายและแต่งตั้ง และดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยข้าราชการครูที่ได้รับอนุมัติย้าย จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานศึกษาแห่งใหม่ที่รับย้าย ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2568”รมว.ศึกษาธิการกล่าว