วันที่ 29 มกราคม 2568 ส.ต.ต.นพดล นพเคราะห์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาบุรีรัมย์ (สพม.บุรีรัมย์) ร่วมกับบุคลากรในสังกัด จัดเก็บเอกสารการสอบในการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านขั้นพื้นฐาน (O-NET) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ของศูนย์สอบ สพม.บุรีรัมย์ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน O-NET (Ordinary National Educational Test) : เพื่อทดสอบ ความรู้และความคิดรวบยอดของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตามมาตรฐาน การเรียนรู้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3) สอบวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ กำหนดการสอบ O-NET ปีการศึกษา 2567 นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (ป.6) สอบวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3) สอบในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568
สพม.บุรีรัมย์ พร้อมแล้วจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน เตรียมจัดการสอบโอเนต
ศธ.เร่งดำเนินการแจกอุปกรณ์ตามโครงการ Anywhere Anytime รอ กรมบัญชีกลางอนุมัติสเปค
เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2568 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยหลังการประชุมประสานภารกิจศธ. ว่า ที่ประชุมรับทราบมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่เห็นชอบโครงการส่งเสริมการศึกษาเท่าเทียมด้วยระบบดิจิทัลพัฒนาทักษะและเครดิตพอร์ตโฟลิโอ (The Digital Skill/Credit Portfolio: Empowering Educations) โดยอนุมัติงบประมาณ 4,214,738,090 บาท และโครงการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา หรือ Anywhere Anytime งบประมาณ ระยะที่ 2 ปี เป็นงบผูกพันตั้งแต่ปี 2569-2573 จำนวน 29,765,253,600 บาทของศธ. สำหรับการแจกอุปกรณ์เสริมการสอนของนักเรียนและครูไม่ว่าจะเป็นแท็บเล็ต แล็บท็อป โน้ตบุค หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ในรูปแบบเช่าใช้งานพร้อมสัญญานอินเตอร์เน็ตคุณภาพสูง โดยในปี 2568 ได้ขอจัดสรรเครื่องอุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่นักเรียน จำนวนกว่า 6 แสนคนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ในกลุ่มโรงเรียนคุณภาพชุมชนและโรงเรียนขยายโอกาส ส่วนในปี 2569 ได้ขอจัดสรรงบประมาณไปจำนวน 2.9 หมื่นล้านบาทสำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่เหลือทั้งหมด ประมาณ 1.2 ล้านคน ซึ่งในงบประมาณของปี 2569 จะขยายผลไปยังนักเรียนชั้นมัธยมต้นในโรงเรียนคุณภาพ โดยคาดว่า จะมีเด็กและครูได้รับอุปกรณ์เสริมการสอนรวมกว่า 1.8 ล้านคน ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพการศึกษาไทยที่จะได้เห็นภาพอย่างชัดเจน
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบให้ ศธ. โดย สอศ. ดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้อาชีวศึกษาทุกที่ทุกเวลา งบประมาณ 3,302 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา 3,212 ล้านบาท สำหรับแจกให้ครูและนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)1-3 ประมาณ 159,332 รายและโครงการผลิตสื่อวิดีทัศน์หรือสื่อโทรทัศน์เพื่อการศึกษาอาชีวศึกษา 90,000 บาท โดยอนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ระยะเวลา 4 ปี (ปีงบประมาณ 2569-2572) เพื่อดำเนินโครงการฯ เช่นกัน
“ในปีงบประมาณ 2568 เราจะเริ่มดำเนินการเช่าอุปกรณ์เสริมเพื่อแจกนักเรียนและครู โดยขณะนี้ได้กำหนดสเปกและจัดทำร่างขอบเขตงานหรือทีโออาร์เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่า จะเป็นแท็บเล็ต หรือโน๊ตบุ๊ก เพียงแต่ขอให้เป็นไปตามสเปก คุณสมบัติ ซอฟต์แวร์ภายใน ที่กำหนด ซึ่งคาดว่า จะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ เหลือเพียงหารือรายละเอียดบางส่วนกับกรมบัญชีกลาง ซึ่งยังมีข้อกังวลอีกเล็กน้อย ในส่วนของคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าร่วมประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-บิดดิ้ง ซึ่งศธ.ให้ความสำคัญกับมาตรฐานและคุณภาพ โดยบริษัทที่จะเข้าร่วมอี-บิดดิ้ง จะต้องเป็นบริษัทที่ได้มาตรฐาน มีผลงานและไม่เคยมีปัญหากับภาครัฐ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทุกอย่างต้องเป็นไปตามข้อกฎหมาย ซึ่งหากกรมบัญชีกลางให้ความเห็นชอบ ก็สามารถดำเนินการได้ทันที เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา หากทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนคาดว่าจะสามารถเช่าอุปกรณ์เสริม เพื่อแจกนักเรียนได้ทันภาคเรียนที่1 ปีการศึกษา2568 ” นายสุรศักดิ์กล่าว
นายสุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) รายงานให้ที่ประชุมรับทราบการวิเคราะห์สภาวะการศึกษาไทย ของ Thai Education Situation Analysis (TESA) DASHBOARD ไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ 2568 ชี้ให้เห็นว่า ผลการวิเคราะห์ลึกลงไปในการสอบ PISA 2022 ประเทศไทย มีกลุ่มเด็กช้างเผือกอยู่ถึง 15% ซึ่งมากกว่ากลุ่มประเทศสมาชิกที่มีอยู่เพียง 10% ซึ่ง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ฝากแต่ละองค์กรหลัก ช่วยกันคิด ช่วยกันเสนอแนะเพื่อส่งเสริมเด็กกลุ่มดังกล่าว และพัฒนาการจัดการศึกษาเด็กทั่วไป ส่วนการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษาเชิงระบบ ตนได้ชี้แจงการดำเนินการดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับความชื่นชม โดยวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ ศธ. จะสามารถดูข้อมูลเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาตามทะเบียนราษฎรได้ทั้งหมด100% ซึ่งจะทำให้รู้ปัญหา และสามารถตามตัวเด็กกลับเข้าระบบการศึกษาได้มากขึ้น หรือสามารถจัดการศึกษาได้ตามบริบทของผู้เรียน
“บิ๊กอุ้ม”สั่งยกเลิกประกาศประกวดราคาพิมพ์หนังสือเรียนองค์การค้าฯแล้วให้ประกาศใหม่ “ย้ำ”ได้รายเดียวไม่เกิดการแข่งขัน
ตามที่องค์การค้าของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.)ได้ประกาศยื่นประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2568 จำนวน 145 รายการ วงเงิน 1,016,914,750 บาทด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2568 ที่ผ่านมา แต่เมื่อถึงเวลาปิดรับข้อเสนอราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2568 จำนวน 145 รายการ กรมบัญชีกลาง ได้สรุปข้อมูลการเสนอราคาเบื้องต้น เมื่อเวลา 12.00 น. ซึ่งเป็นเวลาปิดการเสนอราคา ปรากฎว่า มีผู้เสนอราคาเพียง 1 รายเท่านั้น ซึ่งตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ระบุว่า หากมีผู้ยื่นเสนอราคารายเดียว และคณะกรรมการพิจารณาผลฯ เห็นสมควรยกเลิกการประกวดราคาครั้งนั้น ให้เสนอหัวหน้าหน่วยงานโดยไม่ต้องพิจารณาในเสนอราคาและเอกสารของผู้เสนอราคารายเดียวนั้น หรือหากคณะกรรมการพิจารณาผลฯ เห็นสมควรดำเนินการต่อ ก็ต้องลงลายมือชื่อกำกับในเอกสารของผู้เสนอราคารายเดียวนั้น
เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2568 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เรื่องนี้ทราบว่า ทางองค์การค้าฯได้สอบถามไปยังกรมบัญชีกลางแล้วว่าทำไมมีผู้ลงทะเบียนสำเร็จแค่เพียงรายเดียว ซึ่งกรมบัญชีกลางก็บอกว่าระบบของเขาไม่มีปัญหา ซึ่งพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้รับรายงานจากองค์การค้าสกสค.แล้ว และสั่งให้ยกเลิกประกาศและให้ประกาศใหม่ ถึงแม้ว่าจะถูกกฎหมายแต่ก็ยังมีข้อสงสัยจึงให้ดำเนินการใหม่ มีรายเดียวก็ไม่เกิดการแข่งขันเราก็ไม่สบายใจ ต้องทำให้โปร่งใสไม่เป็นข้อสงสัยของสังคมได้ ซึ่งกรมบัญชีกลางก็บอกว่าไม่มีปัญหา
“ผมได้รับรายงานว่า กรมบัญชีกลางได้เพิ่มระเบียบใหม่ คือ ไม่ว่าหน่วยงานไหนที่จะเข้าระบบการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ จะต้องอัพโหลดเอกสารทุกรายการ ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่ากรมบัญชีกลางได้มีการประชาสัมพันธ์หรือไม่ แต่ที่รู้มาทราบว่าระเบียบนี้ใช้กันทุกหน่วยงาน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ ไม่ใช่ปัญหาขององค์การค้าฯ แต่เป็นระบบของกรมบัญชีกลาง ซึ่งบางอย่างเราไม่สามารถควบคุมได้ ที่เป็นห่วงก็คือปีนี้เราจะพิมพ์หนังสือแบบเรียนทันเด็กเปิดเทอมหรือไม่ แต่ก็ต้องพยายามเร่งรัดให้ทัน”นายสุรศักดิ์ กล่าว
‘เสมา 1’ กำชับข้าราชการ ศธ.ต้องไม่เอนเอียง วางตัวเป็นกลางเลือกตั้ง อบจ.
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ตามที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 นั้น พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้กำชับในที่ประชุมอย่างชัดเจนว่า ขอให้ข้าราชการ และ บุคลากรของ ศธ. วางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัด แต่ก็ต้องยอมรับว่า ศธ. อาจจะมีเรื่องการเมืองเฉี่ยวเข้ามาร้อนแรงบ้าง ไม่ร้อนแรงบ้าง แต่ในฐานะหน่วยงานภาครัฐการทำงานต้องไม่มีความเอนเอียงเพื่อก่อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องมีความเป็นกลางที่ชัดเจน
“กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา” ชี้ หลักสูตรอิงมาตรฐานคือสูตรสำเร็จเรียนรู้ผ่านกระบวนการ สร้างเด็กไทยคิดเป็น ทำเป็น
ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า การจะพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน ประชาชนจะต้องมีศักยภาพในการสร้างผลผลิต สร้างงานในระดับนวัตกรรม เพราะปัจจุบันมีการแข่งขันสูงมาก เทคโนโลยีก็มีมากมาย เพราะฉะนั้นการจัดการเรียนการสอนจะต้องทำให้นักเรียนมีแบบแผนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ เพื่อใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการต่อยอดนวัตกรรม ซึ่งต่อจากนี้ไปประเทศที่จะเป็นผู้นำในโลกจะต้องเป็นประเทศที่เป็นผู้ผลิตระดับนวัตกรรม ไม่ใช่ผลิตสินค้าหรือผลงานนักเรียนเฉย ๆ ดังนั้นสิ่งที่อยากเห็นคือ ไม่ใช่แค่โรงเรียนนำนวัตกรรมมาโชว์ แต่อยากเห็นโรงเรียนทำให้นักเรียนทุกคน ไม่ว่าเด็กแต่ละคนจะเป็นลูกหลานใครก็ตามต้องเข้าถึงนวัตกรรมได้ และมีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมทั้งที่เป็นนวัตกรรมเดี่ยวและกลุ่ม
ดร.ศักดิ์สิน กล่าวต่อไปว่า แผนปฏิรูปประเทศ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดไว้ว่าเด็กระดับชั้น ป. 1 ถึง ป. 6 ต้องสามารถนำกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบและทักษะทั้งหลายไปช่วยพ่อแม่ยกระดับการประกอบอาชีพได้ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการคิด กระบวนการตัดสินใจ หรือ กระบวนการผลิต ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายต้องสามารถสร้างนวัตกรรมผ่านกระบวนการวิจัยเหมือนกับนักศึกษาปริญญาโท ซึ่งจะทำให้เด็กไทยเกิดปัญญาผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกวิธี และเมื่อใดที่เด็กเกิดปัญญาความจนก็จะหายไปจากตัวเขาทันที ความทุกข์ยากจะหายไป เพราะมีปัญญาในการแก้ปัญหาในการพัฒนา
ดร.ศักดิ์สิน กล่าวต่อไปว่า หลักสูตรที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน ซึ่งได้เขียนไว้ว่า โรงเรียนต้องจัดประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน โดยเป้าหมายของการใช้หลักสูตร คือ มาตรฐานการเรียนรู้ 55 มาตรฐาน ตั้งแต่ ป. 1 ถึง ม. 6 นั่นคือ ความสามารถในการพัฒนาให้เด็กแสดงออกด้านการคิด การตัดสินใจและการกระทำ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังเป็นการอธิบายเนื้อหา เด็กยังคงเป็นฝ่ายนั่งฟัง แล้วกลับไปท่องและอ่าน แล้วกลับมาสอบ สอบเสร็จแล้วก็ลืม เท่ากับว่าที่ผ่านมาส่วนใหญ่แทบจะไม่เคยใช้หลักสูตรอิงมาตรฐานกันเลย
“หลักสูตรอิงมาตรฐานมีความเหมาะสม เพราะเป็นหลักสูตรที่ให้เด็กได้ปฏิบัติจริง มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เด็กจริง ๆ เป็นการสอนเด็กผ่านกระบวนการจริง ๆ ให้เด็กได้คิด ได้ประเมิน ลงมือทำจริง ๆ มีการตรวจสอบผลที่คิด ที่ทำ และ มีการปรับปรุงพัฒนาให้ดีกว่าเดิม ให้เกิดผลกับเด็กทุกคน ซึ่งถ้าทำได้ตามมาตรฐานหลักสูตรเท่านี้ประเทศไทยก็สามารถนำประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียได้แล้ว”ดร.ศักดิ์สินกล่าวและว่า ใจจริงอยากให้ลองไปถามโรงเรียนว่า ได้มีการจัดกิจกรรมและสามารถบรรลุมาตรฐานอะไรไปแล้วบ้าง ตนมั่นใจว่าโรงเรียนส่วนใหญ่จะตอบไม่ได้ เพราะยังเป็นการจัดการเรียนการสอนแบบอธิบายและบรรยายให้เด็กฟัง เป็นการนำเนื้อหาในหนังสือมาขยายความอยู่ ยังไม่ได้จัดกระบวนการเรียนรู้และกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กได้คิด วิเคราะห์ และลงมือปฏิบัติ แต่หากโรงเรียนไหนทำแล้วเด็กจะมีกระบวนการ และจะสามารถนำองค์ความรู้ด้านกระบวนการไปเรียนรู้ได้ในทุกวิชา
“ธนุ”เผย ถ้าทุกฝ่ายเห็นด้วยให้เปิดเรียนวันที่1พ.ค.ประเด็นปัญหาแก้ไขควบคู่กันได้ “พัฒนะ”ยืนยันจะเปิด1พ.ค.หรือ16พ.ค.ตำราเรียนส่งถึงมือเด็กแน่นอน
เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2568 นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.)เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนองค์การค้าของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) ปีการศึกษา 2568 ว่า หลังจากที่ องค์การค้าของสกสค.ได้ประกาศจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2568 จำนวน 145 รายการ วงเงิน 1,016,914,750 บาทด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งก็มีผู้คัดค้านและมีบางบริษัทได้ไปฟ้องศาลปกครอง และล่าสุดศาลปกครองได้พิพากษามีคำสั่งไม่รับหรือยกคำขอทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองแล้ว ดังนั้นวันนี้องค์การค้าฯก็จะเดินหน้าประกาศให้สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติเข้ามาประกวดราคาจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนขององค์การค้าฯต่อไป ซึ่งคาดว่าเราจะดำเนินการได้สำนักพิมพ์เข้ามาพิมพ์หนังสือแบบเรียนขององค์การค้าฯได้ราวต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้
“สำหรับการจัดหาโรงพิมพ์ที่จะมาพิมพ์หนังสือให้กับองค์การค้าฯจะเป็นไปตามระเบียบและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ และตามทีโออาร์ เราจะทำให้โปร่งใสทุกกระบวนการ เพราะปีนี้เราไม่ได้ใช้วิธีพิเศษ เราใช้ e-bidding ใครได้ หรือไม่ได้อย่างไรก็ดำเนินการตามกระบวนการ และต้องดำเนินการพิมพ์หนังสือเรียนให้เสร็จก่อนเปิดเทอม ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเปิดเทอมวันที่ 1 พ.ค. หรือวันที่ 16 พ.ค. เราก็ต้องมีแผนรองรับในการจัดพิมพ์หนังสือเรียนให้ทันก่อนเปิดภาคเรียนแน่นอน”นายพัฒนะ กล่าว
รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษธิการ มีแนวทางที่จะขยับการเปิดและปิดภาคเรียนใหม่ ซึ่งมีประเด็นการขยับการเปิดภาคเรียนใหม่ ยังเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการประชุมหารือร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะประเด็นนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกว่า 10 ฉบับที่จะต้องปรับแก้ เนื่องจากการขยับเปิดและปิดภาคเรียนใหม่จะไปเกี่ยวข้องกับการนับอายุเด็กตาม พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 ที่เด็กจะเข้าเรียนการศึกษาภาคบังคับได้ต้องมีอายุครบ 3 ปีในวันที่ 16 พ.ค. และรวมไปถึงเกณฑ์การเบิกจ่ายรายหัว ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขตามกฎหมายที่กำหนดไว้ แต่ข้อดีก็คือจะสะดวกต่อการบริหารงบประมาณและอัตรากำลังงานด้านบุคคลได้ลงตัว ทั้งนี้จึงต้องรอการดำเนินการอีกหลายส่วน ซึ่งเรื่องนี้ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กำลังประชุมหาแนวทางกันอยู่
ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า เรื่องที่มีความกังวลน่าจะไม่มีปัญหา ถ้าทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าจะเปิดเทอมในวันที่ 1 พ.ค. เราก็จะสามารถแก้ไขควบคู่กันไปได้ เพราะเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
สพม.ตรัง กระบี่ จัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 72 ดัน Soft Power ปั้นเด็กไทยสู่เวทีสากล
เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568 นายชัยณรงค์ ช่างเรือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตรัง กระบี่ เป็นประธานเปิดการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 72 ปีการศึกษา 2567 ณ โรงเรียนวิเชียรมาตุ จังหวัดตรัง โดย นายชัยณรงค์ ช่างเรือ ผอ.สพม.ตรัง กระบี่ กล่าวว่า การจัดการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตรัง กระบี่ และเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการมัธยมศึกษาจังหวัดตรัง โดยมีเป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงออกซึ่งความสามารถในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านทักษะทางวิชาการ วิชาชีพ ศิลปะดนตรี และการแสดง และยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพทางด้านการศึกษา อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน ครู ตลอดจนสถานศึกษา ได้มีการพัฒนาตนเองด้วย
ผอ.สพม.ตรัง กระบี่ กล่าวต่อไปว่า การจัดการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมในครั้งนี้ดำเนินตามนโยบายของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนและส่งเสริม Soft Power ผ่านการศึกษา โดยเชื่อมโยงกับกิจกรรมการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน เพื่อยกระดับศิลปวัฒนธรรมไทยให้กลายเป็นพลังสำคัญในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศสู่ระดับสากลต่อไป
สำหรับบรรยากาศภายในงานได้รับความสนใจจากนักเรียน ครู และผู้ปกครองเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการผลักดันนโยบาย Soft Power สู่การปฏิบัติจริง ทั้งยังเป็นเวทีที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและศักยภาพให้เด็กและเยาวชนไทยก้าวสู่การแข่งขันในระดับโลก ตามเป้าหมายที่ต้องการให้นักเรียน “เรียนดี มีความสุข จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
“อบจ.ชัยภูมิ”จับมือ “พว.” พลิกโฉมการศึกษาด้วย Active Learning GPAS 5 Steps พัฒนาการศึกษาโรงเรียนในสังกัด
เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568 ที่ ห้องประชุม ชั้น 5 สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ชัยภูมิ กับ สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) ประจำปีการศึกษา 2568-2570 โดย นางสาวสุรีวรรณ นาคาศัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ และ ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ
น.ส.สุรีวรรณ กล่าวว่า อบจ.ชัยภูมิ ให้ความสำคัญกับจัดการศึกษาของท้องถิ่นโดยมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรม หรือ เทคโนโลยี โดยมองว่าการเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นการพัฒนาผู้เรียนให้มีศักยภาพ เพราะเป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้มีกระบวนการคิด มีการลงมือทำ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาได้เร็วขึ้น อบจ.ชัยภูมิมุ่งหวังให้นักเรียนเข้าถึงการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อให้นักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรม มีความรู้และรู้วิธีเรียนรู้ มีกระบวนการคิดขั้นสูง มีระดับผลสัมฤทธิ์ O-NET และ PISA สูงขึ้น นักเรียนจะต้องได้รับการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะการงานอาชีพและทักษะชีวิต ที่นักเรียนนำไปใช้พัฒนานวัตกรรม ต่อยอดเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยว แหล่งประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรม และภูมิปัญญาที่มีอยู่หลากหลายของจังหวัดชัยภูมิ ไปสู่การสร้างรายได้ระหว่างเรียนและเห็นช่องทางการสร้างอาชีพ สร้างงาน พัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ชุมชนและสังคมให้ดียิ่งขึ้น เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ
“การที่จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้ เราต้องสร้างปัจจัยความสำเร็จอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนการสอนและบริหารจัดการชั้นเรียนให้ได้ผลดี การเพิ่มภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหาร และการสร้างความพร้อมด้านสื่อการเรียนการสอน หนังสือเรียนที่มีคุณภาพ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยให้นักเรียนเข้าถึงง่าย เรียนรู้ง่าย เรียนรู้ได้เร็ว สนุก เรียนรู้อย่างมีความสุข และค้นพบศักยภาพของตนเอง ซึ่ง พว.เป็นองค์กรชั้นนำทางวิชาการ มีประสบการณ์ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาเป็นผู้คิดค้น วิจัยและพัฒนานวัตกรรมกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps มีสื่อการเรียนการสอนและหนังสือเรียนที่มีคุณภาพ รวมทั้งมีเทคโนโลยีทางการศึกษาที่ทันสมัย เข้าถึงง่ายตอบสนองความสนใจของนักเรียนและลดภาระงานของครูสำหรับสถานศึกษาทุกระดับ ดังนั้นเมื่อได้รับการประสานจาก พว. ทำให้เรามองเห็นประโยชน์ที่ครูและนักเรียนจะได้รับการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนการสอน ทำให้สามารถตัดสินใจได้ทันที โดยเราจะเริ่มพัฒนาและส่งเสริมให้กับโรงเรียนในสังกัดทั้ง 26 แห่งทันทีภายในปีนี้ และเชื่อว่าการทำMOU ครั้งนี้ จะสามารถพลิกโฉมการจัดการศึกษาและการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาศักยภาพคนตามนโยบายของ อบจ.ชัยภูมิ นโยบายของกระทรวงมหาดไทย และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามยุทธศาสตร์ชาติและทิศทางของการปฏิรูปประเทศได้อย่างแน่นอน”นายกฯอบจ.ชัยภูมิ กล่าว
ด้าน ดร.ศักดิ์สิน กล่าวว่า นโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลมีจุดเน้นที่จะดำเนินการปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้เด็กเป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด ส่งเสริมการอ่าน การคิดวิเคราะห์เพื่อสร้างอนาคต สร้างรายได้ กระจายอำนาจการศึกษาให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง มีสื่ออุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย และใช้ระบบเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่ในการพัฒนาหลักสูตร และให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับความรู้ความสนใจของผู้เรียน ต่อยอดให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้วยการเรียนรู้แบบ Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่สุดของการถักทอสร้างความรู้ของผู้เรียน นำไปสู่การสร้างชิ้นงาน โครงงาน และนวัตกรรมจากการเรียนรู้และการนำความรู้ไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ของนักเรียน เป็นการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและสมรรถนะของผู้เรียนให้สูงขึ้น บรรลุเป้าหมายของหลักสูตรอิงมาตรฐาน และสอดคล้องกับการพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะ สามารถออกแบบจัดกิจกรรมได้อย่างเป็นระบบมีขั้นมีตอน เป็นผู้สร้างนวัตกรรมจนเกิดความชำนาญและเป็นนวัตกรในที่สุด
“เป้าหมายปลายทางของการปฏิรูปการศึกษา คือ การลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน ตอบโจทย์การพัฒนาของโลกอนาคตในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาประเทศ ออกจากกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยบนเวทีโลก” ดร.ศักดิ์สินกล่าวและว่า ความร่วมมือครั้งนี้สอดคล้องกับแนวทางการพลิกโฉมการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้มีการสร้างโรงเรียนต้นแบบการเรียนรู้แบบ Active Learning อย่างน้อยจังหวัดละ 3 โรง และกำลังขยายไปในระดับอำเภออีกอำเภอละ 2 โรง ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ซึ่ง อบจ.ชัยภูมิก็กำหนดทิศทางการจัดการศึกษาในแนวทางนี้เช่นกัน ดังนั้นถ้าเราสามารถปฏิบัติได้รวดเร็วและเกิดผลจะถือว่าเป็นผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงได้ทันที และเป็นการสร้างสังคมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างแท้จริง”ดร.ศักดิ์สิน กล่าว
“โฆษก ศธ.” โต้กลับทันที “ชี้”โครงสร้าง ศธ.ไม่ใช่เรื่องใหม่ แจงยุค “เพิ่มพูน” แก้ไขปัญหาครูได้จริง วอนจัดงบให้ตามที่ขอ 3 ปีเห็นผลแน่
เมื่อ 27 มกราคม 2568 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงคำกล่าวของนายทักษิณ ชินวัตร ที่กล่าวปราศรัยเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทย ที่มองว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใหญ่เกินไป ส่งผลต่อการจัดการศึกษาที่สอนให้เด็กท่องจำ เด็กคิดได้น้อย ตลอดจนต้องจ้างครูจากต่างประเทศมาช่วยสอน เรื่องนี้ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทุกท่านที่มีความห่วงใยและใส่ใจต่อกระทรวงศึกษาธิการ อย่างไรก็ตามประเด็นที่นายทักษิณกล่าวถึงน่าจะเป็นประเด็นปัญหาที่มีมานานแล้ว ซึ่งในยุคของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้แก้ปัญหาในประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด สังเกตได้จากครูที่ได้ย้าย หรือได้รับการประเมินวิทยฐานะด้วยความสามารถของตนเอง เป็นต้น
โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ในประเด็นที่นายทักษิณ กล่าวถึงเรื่องโครงสร้าง ศธ.ที่ใหญ่เกินไป ขอชี้แจงว่า เราเคยมีประสบการณ์ที่มีการยุบ โอนโครงการและภารกิจการบริหารงานของส่วนราชการให้เล็กลง แต่ก็ยังไม่ได้ช่วยแก้ปัญหามากนัก จึงมองว่าสิ่งที่ต้องปรับคือ การสร้างให้เกิดการบูรณาการการทำงานภายในองค์กรร่วมกัน และให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งขณะนี้ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กำลังดำเนินการในเรื่องนี้ โดยส่วนตัวมองว่าปัจจุบัน ศธ. มีเอกภาพค่อนข้างสูง และขับเคลื่อนการดำเนินการเป็นหนึ่งเดียวกันมากกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ประเด็นการจ้างครูจากต่างประเทศ ตนมองว่า ครูของเราไม่ได้ด้อยความสามารถ เพียงแต่ ศธ. จำเป็นต้องเติมความรู้ชุดใหม่ ๆ ให้บุคลากรของเราอย่างสม่ำเสมอ หรือใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาทักษะความรู้ต่าง ๆ ซึ่ง ศธ. กำลังดำเนินการในเรื่องนี้ และในปี 2568 ก็เป็นช่วงเวลาที่จะติดตามผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ในประเด็นการจ้างครูต่างชาติ ซึ่งต้องเก็บเงินจากพนันออนไลน์ได้ถึงจะมีงบประมาณเพียงพอ ประเด็นนี้มองว่าอาจจะไม่ได้ส่งผลต่อกันเสียทีเดียว การจ้างครูที่มีคุณภาพเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะได้รับเงินจากพนันออนไลน์หรือไม่
นายสิริพงศ์ กล่าวอีกว่า การสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยปัจจุบัน การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเรียนและการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เป็นผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ของ ศธ. ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าต้องใช้ระยะเวลาและงบประมาณในการดำเนินการ ซึ่งเราไม่สามารถเปรียบเทียบคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสังกัด สพฐ. กับโรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนของรัฐบาลด้วยกันเองได้ เนื่องจากต้นทุนต่อเด็กนักเรียน 1 คนในแต่ละโรงเรียน แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี ศธ. ของบประมาณในการดำเนินการ อาทิ งบประมาณสำหรับการซื้ออุปกรณ์การเรียนมาทดแทนส่วนที่ขาด เป็นต้น แต่ก็ยังไม่ได้รับงบประมาณฯ ในส่วนนี้ จึงมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากภาระด้านงบประมาณ ซึ่งหากเราได้รับงบประมาณตามที่ขอไป เพียงแค่ 3 ปี เชื่อว่า เราจะสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาได้ง่ายขึ้น และเห็นผลได้ไวยิ่งขึ้นแน่นอน
“กมธ.การศึกษาวุฒิสภา ร่วมประชุมทวิภาคีและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกรมการศึกษา รัฐเกอดะห์ ประเทศมาเลเซียเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาของสองประเทศ
เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568 ดร.กมล รอดคล้าย สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา เปิดเผยว่า ตนได้นำคณะกรรมาธิการการศึกษาฯเข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนที่ผสมผสานระหว่างหลักสูตรสามัญและหลักสูตรศาสนาอิสลาม โดยโรงเรียนดารุลอูลูมเป็นโรงเรียนเอกชนที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสตูลเน้นการเรียนการสอนในลักษณะบูรณาการที่ครอบคลุมทั้งวิชาสามัญ อาทิ คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ รวมถึงรายวิชาอิสลามศึกษา ซึ่งส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาความสามารถทั้งในด้านวิชาการและการประยุกต์ใช้ความรู้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ โรงเรียนยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูผู้สอนด้วยการสนับสนุนให้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสอนและการวิจัยในโรงเรียน
ดร.กมล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้พาคณะกรรมาธิการการศึกษาฯ ไปร่วมประชุมทวิภาคี ณ กรมการศึกษารัฐเกอดะห์ ประเทศมาเลเซีย โดยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกระชับสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษา ซึ่งรัฐเกอดะห์เป็นพื้นที่ที่มีบทบาทสำคัญในระบบการศึกษาของมาเลเซีย กรมการศึกษามีหน้าที่ควบคุมดูแลครอบคลุมตั้งแต่ระดับประถมศึกษาไปจนถึงอุดมศึกษา ระบบการศึกษาในรัฐนี้ได้รับการยอมรับว่าเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ในโอกาสนี้ คณะกรรมาธิการได้หารือถึงแนวทางการพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนระหว่างสองประเทศ และการแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษา โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าความร่วมมือนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาในระดับภูมิภาค
“การศึกษาดูงานครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาทั้งในด้านการเรียนการสอน บุคลากร และระบบการศึกษาของทั้งสองประเทศในอนาคต”ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาฯกล่าว