ศธ.เอาจริงแก้ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษา หมดอนาคตโดนโทษวินัยร้ายแรง ไล่ออก/ถอดใบประกอบวิชาชีพ

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีความห่วงใยต่อปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษา ซึ่งจากข่าวปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษาที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้นิ่งนอนใจและต้องการสะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินการจัดการเร่งด่วน ที่คำนึงถึงความปลอดภัยในรั้วโรงเรียนให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะปัญหานี้ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดบาดแผลทางร่างกายแต่ยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนในระยะยาว เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก เด็กหรือครูหลายคนไม่กล้าเปิดเผยเพราะเกิดความกลัวหรือความอับอาย ทำให้ปัญหานี้อาจไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที มาตรการป้องกันที่ทำได้เลยตอนนี้คือครูคอยสังเกตพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด หากพบว่าเด็กวิตกกังวลที่ผิดปกติ หลีกเลี่ยงจากเพื่อนและกิจกรรมหรือมีสัญญาณการถูกล่วงละเมิด ควรพูดคุยและให้คำปรึกษาอย่างอ่อนโยนเพื่อเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และหากปัญหานั้นเกินรับมือสามารถประสานนักจิตวิทยาในพื้นที่ เพื่อการช่วยเหลือที่รวดเร็วและเหมาะสม

โฆษก ศธ. กล่าวว่า โรงเรียนควรมีการจัดอบรมสร้างความเข้าใจเรื่องการล่วงละเมิดให้กับครูและนักเรียน และมีนักจิตวิทยาสนับสนุนด้านจิตใจพร้อมให้คำปรึกษาแก่เด็ก เพื่อช่วยเหลือให้เด็กได้รับการฟื้นฟูจิตใจเร็วขึ้น ที่สำคัญคือต้องสร้างระบบช่องทางการรายงานที่ปลอดภัยไม่เปิดเผยตัวตน เพื่อให้นักเรียนและผู้ปกครองสามารถแจ้งเหตุการณ์ล่วงละเมิดได้อย่างมั่นใจว่าจะได้รับการจัดการอย่างถูกต้องและเป็นความลับ หากเราร่วมกันดูแลช่วยเหลือนักเรียนและครูให้ได้รับการปกป้องจากการล่วงละเมิดทางเพศตั้งแต่ต้นทาง จะสร้างสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่ปลอดภัยและเต็มไปด้วยความอบอุ่น ให้โอกาสพวกเขามีชีวิตที่ดีและเติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง เป็นเรื่องสำคัญที่เราทุกคนต้องร่วมมือกันทำให้ผู้เรียนไม่รู้สึกว่าถูกทิ้งเพียงลำพัง ยังมีครูและเพื่อนเป็นเกราะป้องกันและคอยเสริมกำลังใจ

“ขอให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาพึงระลึกอยู่เสมอว่า กว่าจะฝ่าฟันมาอยู่ในหน้าที่การงานจุดนี้ต้องใช้ความพยายามมากมายแค่ไหน อย่าทำให้กระทำไม่เหมาะสมเพียงชั่ววูบมาตัดอนาคตและทำร้ายผู้อื่นผ่านทางร่างกายและจิตใจ และอย่าเพิกเฉยการกระทำอันไม่เหมาะสม หากกรณีใดพบว่ามีความผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ ต้นสังกัดพร้อมที่จะลงโทษทางวินัยร้ายแรงอย่างเด็ดขาด และคุรุสภาพร้อมที่จะพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทุกประเภทเช่นกัน กระทรวงศึกษาธิการจะไม่ปล่อยผ่านปัญหาล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษา สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ต้องปลอดภัยส่งเสริมให้เด็กเติบโตไปอย่างมีความสุข และขอย้ำชัดเจนว่าหากพบการกระทำผิดจะลงโทษวินัยร้ายแรงอย่างถึงที่สุด” นายสิริพงษ์กล่าว

“เสมา 1”ดีใจ เด็กสนใจสอบ O-NET มากขึ้น แถมมีวอล์กอินขอสอบ

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ (สัญจร) ครั้งที่ 5/2568 ผ่านระบบออนไลน์ โดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ  เป็นประธานการประชุมฯ ณ ห้องประชุมบานบุรี โรงเรียนสตูลวิทยา จังหวัดสตูล โดยมีผู้บริหารองค์กรหลักและผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ร่วม ประชุม ว่า รมว.ศึกษาธิการขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยรณรงค์ให้เด็กเข้ามาสอบโอเน็ตมากขึ้น บางส่วนก็มีการวอร์คอินเพิ่มขึ้น แสดงถึงความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกกชน(สช.) และ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) เป็นอย่างดี  หากยังมีเด็กที่ต้องการสอบก็ต้องหาโอกาสให้เด็กได้สอบด้วยวิธีการต่าง ๆ ต่อไป

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมได้มีการรายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA โดยในส่วนของ สพฐ.ได้จัดอบรมสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในระดับเขตพื้นที่ 245 เขต 78 ห้องเรียน มีกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น 445,624 คน ลงทะเบียนแล้ว 209,484 คน อบรมแล้วเสร็จ 138,734 คน และได้ดำเนินการขยายผลการอบรมฯ สู่ สำนักงานบริหารการศึกษาพิเศษ จำนวน 52 โรงเรียน ส่วนการเตรียมความพร้อมการประเมินนักเรียน ระดับชั้น ม. 2 ในการนำผลมาพัฒนาเติมเต็มนักเรียน ภาคเรียนที่ 1/2568 จำนวนประมาณ 531,919 คน ระหว่างวันที่ 13 กุมภาพันธ์ – 17 มีนาคม 68 ผ่านทางออนไลน์ โดยใช้ชุดกิจกรรมมาพัฒนา ด้านการอ่าน ด้านคณิตศาสตร์ และด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้มีปฏิทินการขับเคลื่อนฯ 2568 เช่น การชี้แจงเตรียมความพร้อมครู ม.4 ทบทวนครู ม.3 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568, การสร้างความตระหนักแก่ผู้บริหารและครู และผู้ปกครอง ในเดือนพฤษภาคม 2568, ซ้อมสอบ นักเรียน ม.2 ระหว่างวันที่ 13 กุมภาพันธ์ – 17 มีนาคม 68 ในระบบ PISA Style และนักเรียน ม.3 ระหว่างวันที่ 10 – 21 กุมภาพันธ์ 68 รูปแบบ PAPER และยังมีกำหนดจัด Computer Summer Camp 2025 ส่งเสริมการใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้รูปแบบ Anywhere Anytime คาดว่าช่วงระหว่างเดือน มีนาคม – พฤษภาคม 2568

ส่วนสภาการศึกษา ได้นำเสนอประเด็นท้าทายการพัฒนาคุณภาพผลลัพธ์ ด้านความฉลาดรู้ทางดิจิทัล Digital Literacy ในการประเมิน PISA 2025 ซึ่งเด็กที่มีคะแนนวิชาคณิตศาสตร์สูง จะเรียนรู้ด้านดิจิทัลได้ดี ส่วนของไทยมีผลการวัดความฉลาดรู้ด้านดิจิทัล พบปัญหาด้านการใช้เครื่องมือดิจิทัล ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา ให้หนุนเสริมความฉลาดรู้ด้านดิจิทัลของผู้เรียน ได้แก่

  1. ส่งเสริมการคิดเชิงคำนวณในระดับประถมศึกษา เน้นการคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ การวางแผน การวิเคราะห์ข้อมูล การผลิตสื่อการเรียนที่น่าสนใจ เช่น โค้ดดิ้ง สะเต็ม
  2. การพัฒนาทักษะดิจิทัลรอบด้าน ไม่ใช่เน้นเฉพาะการแชร์ เช่น การใช้เครื่องมือ การจัดการข้อมูล การรักษาความปลอดภัยในโลกดิจิทัล
  3. จำเป็นต้องพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่คนทุกช่วงวัย
  4. การนำ AI มาประยุกต์ใช้ เช่น การสอนเฉพาะรายบุคคล การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อปรับแผนการสอนให้เหมาะกับความต้องการเฉพาะตัว รายวิชาเรียนรู้ AI

นายสุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับรายงานการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษาเชิงระบบ (THAILAND Zero Dropout) นั้น สกศ. รายงานผลการดำเนินงานการติดตามฯ พบว่า ข้อมูลเด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ณ 27 มกราคา -3 กุมภาพันธ์ 68 จำนวนเด็กนอกระบบการศึกษา 1,025,514 คน  ติดตามแล้ว 881,085 คน (ร้อยละ 85.92) และสามารถนำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา 327,484 คน (ร้อยละ 31.93) ยังไม่ได้ติดตาม 144,429 คน (ร้อยละ 14.08) อย่างไรก็ตามสำหรับการติดตามเด็กวัยเรียนภาพรวมเพิ่มขึ้น 160,234 คน (สพฐ. 126,625 คน ศธจ. 33,609 คน) เป็นเด็กไทย 70,997 คน และเด็กต่างชาติ 89,237 คน

ส่วนเรื่อง การส่งเสริมการอ่าน สกศ. ได้รายงานแผนการสำรวจการอ่านของคนไทย ซึ่งการอ่านเป็นทักษะที่สะท้อนคุณภาพการศึกษา ทั้งยังเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการวัดความสามารถการแข่งขันทางการศึกษาระดับนานาชาติ เช่น PISA โดยจะจัดทำโครงการร่วมกับ สกร. สสช. เพื่อเก็บข้อมูลในระบบออนไลน์พร้อมกันทั่วประเทศ ก่อนจะรวบรวม วิเคราะห์ และสรุปผลให้แล้วเสร็จในเดือนมีนาคมนี้ นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างเคร่งครัด เร่งรัดกระบวนการทุกขั้นตอนตามกรอบเวลา และให้มีการติดตามเรื่องงบประมาณให้ครบทุกมิติ ทั้งเงินงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ รวมถึงเงินกองทุนเพื่อให้ได้งบประมาณในส่วนอื่นๆมาเติมเต็มการจัดการศึกษา

 

สพฐ.ห่วงปัญหาฝุ่น pm 2.5 เขตพื้นที่/โรงเรียนสั่งปิดเรียนได้ทันทีถ้าขึ้นสีส้มหรือแดง พร้อมกำชับเฝ้าระวังใกล้ชิดวันวาเลนไทน์

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 5/2568 โดยนำข้อสั่งการของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า วันนี้ในที่ประชุมได้หารือประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ภาพรวมของการสอบ O-NET ระดับชั้น ป.6 และ ม.3 ปีการศึกษา 2567 เมื่อวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่ง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามสอบโรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมสนามสอบโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ พบว่าการสอบในครั้งนี้ มีนักเรียนชั้น ป.6 สังกัด สพฐ. สมัครเข้าสอบถึง 476,640 คน คิดเป็นร้อยละ 91.37 และนักเรียนชั้น ม.3 สังกัด สพฐ. สมัครเข้าสอบ 424,506 คน คิดเป็นร้อยละ 81.51 ซึ่งการสอบดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย หลังจากนี้ก็จะนำผลการสอบไปพัฒนาการศึกษาในภาพรวมต่อไป พร้อมกันนี้ ได้กำชับโรงเรียนให้ดูแลเรื่องการตัดเกรดนักเรียนในกลุ่ม 0, ร, มส โดย สพฐ.ได้ออกหนังสือซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้และการสอนซ่อมเสริม เพื่อเน้นย้ำให้สถานศึกษากำกับ ติดตาม ช่วยเหลือ สอนซ่อมเสริม และดำเนินการวัด และประเมินผลการเรียน กรณีนักเรียนมีผลการเรียนไม่สมบูรณ์ (ติด 0 ร มส) ให้ทุกเขตพื้นที่ดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เป็นการสร้างภาระให้นักเรียนและผู้ปกครอง

เรื่องต่อมา ได้มีความคืบหน้าในการขับเคลื่อนโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” หรือ OBEC Zero Dropout ที่เขตพื้นที่การศึกษา 245 เขตได้ติดตามนักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษา ทั้งเด็กตกหล่นและเด็กที่ออกกลางคัน โดยกำหนดให้ทุกเขตพื้นที่ต้องติดตามเด็กให้ครบ 100% ภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งขณะนี้มี 138 เขตที่ติดตามเด็กตกหล่นได้ครบแล้ว และอีก 208 เขตติดตามเด็กออกกลางคันสำเร็จแล้ว 100% ส่วนในเรื่องของการขับเคลื่อนโครงการ “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” จากการลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ ได้เก็บข้อมูลที่มีประโยชน์และตัวอย่างความสำเร็จในพื้นที่ ซึ่งการดำเนินการต่อไป จะมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาคเอกชน และภาคประชาสังคม มาร่วมเป็นภาคีเครือข่าย (Partnership) กับโรงเรียน เพื่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพโรงเรียน โดยตั้งเป้าหมายให้ขยายผลไปครบทั้ง 77 จังหวัด

นอกจากนี้ในเรื่องการเฝ้าระวังฝุ่น PM 2.5 สพฐ.ยังคงกำชับเขตพื้นที่และโรงเรียนทุกแห่งให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพบว่าเป็นพื้นที่สีส้มหรือพื้นที่สีแดงที่อยู่ในขั้นอันตราย สามารถสั่งปิดโรงเรียนได้ทันทีโดยไม่ต้องขออนุญาตจาก สพฐ. โดยเน้นความปลอดภัยของนักเรียนเป็นหลัก ส่วนในเรื่องของการดูแลนักเรียนในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ 2568 สพฐ.เน้นย้ำให้โรงเรียนและครูผู้สอนเฝ้าระวังและดูแลให้นักเรียนประพฤติอยู่ในกรอบที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม พร้อมทั้งมอบเขตพื้นที่ทุกแห่งจัดทำแผนการเฝ้าระวัง สร้างองค์ความรู้ และแนวระวังภัยในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ 2568 โดยประสานขอความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา (พสน.) ร่วมกับตำรวจ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อออกตรวจพื้นที่สุ่มเสี่ยงและสร้างความปลอดภัยในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ปีนี้

“สำหรับความคืบหน้าการเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียน หลังจากการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สพฐ.ได้เสนอให้เลื่อนการปิดภาคเรียนที่ 1 จากเดิมวันที่ 11 ตุลาคม เป็นวันที่ 30 กันยายน ซึ่งจะมีประโยชน์หลายประการ เช่น สอดคล้องกับปีงบประมาณ การบริหารอัตรากำลังครู-ผู้บริหารโรงเรียน และการจัดสรรงบประมาณต่างๆ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ แต่ในส่วนของการเปิดภาคเรียนที่ 1 จะยังคงเป็นวันที่ 16 พฤษภาคม เพื่อสอดคล้องกับการนับอายุเด็ก ส่วนภาคเรียนที่ 2 ยังคงเหมือนเดิม คือเปิดวันที่ 1 พฤศจิกายน และปิดวันที่ 31 มีนาคมของปีถัดไป ทั้งนี้ เรากำลังศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนต่างๆ ทั้งระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้มีความรอบคอบมากที่สุด เพื่อจะได้นำเสนอ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาต่อไป” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

สอศ.-ยูนิเซฟ ประเทศไทย จับมือเดินหน้าใช้ Social Innovation Toolkit เสริมทักษะครู-นักเรียน แก้ปัญหาสังคม ปั้นกำลังคนคุณภาพยุคใหม่ สู่ศตวรรษที่ 21

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เดินหน้าพัฒนาการศึกษาอาชีวศึกษาไทย จัดการประชุมประเชิงปฏิบัติการการประเมินผลการใช้ Rubric Assessment ภายใต้โครงการ “การขยายผลและประเมินผลการใช้ชุดสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคม (Social Innovation Toolkit) ระดับครูผู้สอนในระบบอาชีวศึกษา” โดย ยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้ส่งมอบ “ชุดสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคม (Social Innovation Toolkit)” ให้ สอศ. แล้ว จำนวน 10,000 ชุด เพื่อแจกให้กับสถานศึกษาในสังกัด สอศ. ทั่วประเทศ ซึ่งมีสถานศึกษานำร่อง 10 แห่ง ได้เรียนรู้การใช้งานเครื่องมือ และขยายผลการใช้งานให้กับครูในสถานศึกษา 68 แห่ง

โดยในปีนี้ สอศ.และ ยูนิเซฟประเทศไทย ยังร่วมกันวางแผนขยายโครงการต่อเนื่อง แบ่งการดําเนินการเป็น 4 กิจกรรม คือ 1. กระจายชุดสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคม (Social Innovation Toolkit) ให้แก่ สถานศึกษาในสังกัด สอศ. ในสถานศึกษา 68 แห่ง ๆ ละ 30 ชุด เมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา จากการขยายผลการใช้งานของสถานศึกษานำร่อง 10 แห่ง 2. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการการประเมินผลการใช้ Rubric Assessment ให้แก่ครูที่ได้รับการขยายผลการใช้ชุดสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคม (Social Innovation Toolkit) ซึ่งเป็นจัดขึ้นในครั้งนี้ โดยแบ่งเป็นการอบรมเป็น 2 รุ่น รวมจำนวน 80 คน จากสถานศึกษาที่ได้รับการขยายผล จำนวน 68 แห่ง 3. การติดตามผลใน 10 สถานศึกษานำร่องที่ขยายผลสู่ครูในสถานศึกษา อื่นๆ และ 4. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการการใช้ชุดสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคม (Social Innovation Toolkit) ให้แก่ศึกษานิเทศก์และสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน 8 แห่ง ในระยะต่อไป ซึ่งครูที่เข้ารับการประเมินฯ ยังสามารถนำเครื่องมือ Rubric Assessment ไปใช้เพื่อวัดผลและพัฒนาทักษะของนักเรียนได้อย่างแม่นยำ ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะในการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน และทักษะความสามารถเชิงสมรรถนะ (Soft Skills) ทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานและการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21

“Social Innovation Toolkit เป็นชุดเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้นักเรียน ฝึกทักษะการแก้ปัญหา การทำงานเป็นทีม ความคิดสร้างสรรค์ และการสื่อสาร จึงเป็นทักษะที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน มี 6 ขั้นตอนพัฒนา ได้แก่ 1.ทำความเข้าใจ (Empathize) 2. หาความจริง (Define) 3.เสนอความคิด (Ideate) 4. ทำต้นแบบ (Prototype) 5.ทดสอบไอเดีย (Test) 6. ขยายผลการทำงาน (Scale up) และสนับสนุนหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-Based Curriculum) ที่เน้นการฝึกปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง” ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาอาชีวศึกษาไทย เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและอาชีพให้กับคนรุ่นใหม่ พร้อมปั้นแรงงานที่มีศักยภาพเข้าสู่ตลาดงานได้อย่างมั่นใจ

สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการการประเมินผลการใช้ Rubric Assessment แบ่งออกเป็น 2 รุ่น คือ รุ่นที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 4 กุมภาพันธ์ 2568 และรุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 5 – 6 กุมภาพันธ์ 2568 ณ สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา กรุงเทพฯ และมีวิทยากรจาก องค์การ ยูนิเซฟ ประเทศไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยศึกษานิเทศก์ สอศ. ที่ให้การสนับสนุนการให้ความรู้การใช้เครื่องมือ จัดโดยสำนักนโยบายและแผนการอาชีวศึกษา

 

สุดเจ๋ง! โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จันทบุรี คว้าแชมป์อีสปอร์ต สพฐ.รับรางวัล 1แสนบาท

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับมอบหมายจาก พลตำรวจเอก เพิ่มพูนชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นประธานในพิธีปิดการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน OBEC ESPORTS TOURNAMENT 2024 รอบชิงชนะเลิศ  ไอส์แลนด์ฮอล์ ชั้น 3 ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งการแข่งขันได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ปรากฏผลดังนี้

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จันทบุรี จังหวัดจันทบุรี

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 ได้แก่ ทีมโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2 ได้แก่ ทีมโรงเรียนสตรีวิทยา 2 กรุงเทพมหานคร

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 3 ได้แก่ ทีมโรงเรียนเทพศิรินทร์ กรุงเทพมหานคร

“เกศทิพย์”เผย ศธ.เตรียมเด็กพร้อม95%แล้ว ที่จะสอบ PISA ในเดือนสิงหาคมนี้

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยถึงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA 2025 ว่า ถึงวันนี้มีความมั่นใจ 95% ว่าเด็กเราจะสามารถทำได้ เพราะกระทรวงศึกษาธิการได้มีการเตรียมเด็กในด้านต่าง ๆ เพื่อให้มีความพร้อมที่จะเข้ารับการประเมิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ ซึ่งรวมไปถึงผลคะแนนPISA ด้วย โดย รมว.ศึกษาธิการ ให้ความสำคัญในการติดตามรายงานการขับเคลื่อนทุกสัปดาห์ ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการซึ่งมีวิธีดำเนินการและขั้นตอนตามปฏิทินที่วางไว้ โดยหน่วยงานที่ดำเนินการไม่ใช่เพียงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)หน่วยงานเดียว แต่เป็นการขับเคลื่อนทั้งองคาพยพ ที่สำคัญ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ.ก็ให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพลงสู่ผู้เรียนและมีการติดตามเองในทุก ๆ ครั้งที่ลงพื้นที่ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ทราบถึงปัญหาติดขัด รวมถึงเสียงสะท้อนผลจากผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทุกสองสัปดาห์ 21 ครั้ง แล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำจึงเป็นเติมเต็มให้กับเด็กชั้น ม.2 ม.3 ที่จะขึ้น ม.3 และ ม.4 ทุกคน เกือบ 1 ล้านคน ให้พร้อมเพื่อการสุ่มสอบ PISA จำนวนประมาณ 8,000 คน ในเดือนสิงหาคมปีนี้ เพราะข้อสอบ PISA เป็นข้อสอบเป็นเรื่องของการประยุกต์ใช้ คือ การนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีสถานการณ์มาเป็นตัวจับ ซึ่งเลยขั้นท่องจำไปแล้ว ดังนั้นทิศทางของการศึกษาจึงไม่ใช่แค่เพียงท่องจำแต่เป็นการเอาความรู้ที่มีอยู่บวกกับบทความที่อยู่ในข้อสอบ คือ การผนวกทั้งเรื่องของความรู้ที่เติมไปกับสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันบวกกับสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ต่าง ๆ นำไปสู่การประมวลผล แล้วเด็กจะตอบออกมาในลักษณะของการให้เหตุและผล ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญที่เด็กทุกคนต้องมี

รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ในการอบรมพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อม เรามีการดำเนินการ 3 ส่วน คือ 1. การอบรมชุดพัฒนาการฉลาดรู้เข้าสู่บทเรียนเป็น formative assessment ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 และ อบรมแกนนำ 1,400 คน บวกกับคลิปวิดีโอ  2. Computer based test เนื่องจากการสอบ PISA จะใช้คอมพิวเตอร์ในการสุ่มสอบ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือแม้นักเรียนจะพร้อมแต่ทักษะการใช้การเข้าถึงไอซีทีต่าง ๆ มีความจำเป็น ซึ่งจุดนี้คือ 5% ที่ทำให้เรายังไม่มั่นใจ แต่ก็ยังพอมีเวลาที่จะเตรียมพร้อมได้ และส่วนที่ 3 . การอบรมครูในการตั้งคำถามให้เด็กคิดวิเคราะห์ ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ ก็ให้มีการจัดคอร์ส ออนไลน์ โดยมีครูลงทะเบียนกว่า 200,000 คนแล้ว และผ่านการอบรมจบออกไปแล้วประมาณ 100,000 กว่าคน  ซึ่งขั้นตอนนี้จะทำให้เด็กสามารถตั้งคำถามและเกิดการคิดวิเคราะห์เป็น เป็นการยกระดับมาตรฐานทั้งประเทศ ทุกห้องเรียน

“ถือว่าตอนนี้เราเตรียมเด็กให้มีความพร้อมให้แล้ว ถึงแม้เด็กจะไม่ได้เข้าสอบ PISA ทุกคน แต่ก็เป็นหน้าที่ของ สพฐ.ที่จะต้องยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งประเทศซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นเรื่องดีที่จะทำให้เด็กเกิดการคิดวิเคราะห์ เด็กทุกคนได้รับโอกาสในการพัฒนาคุณภาพ ส่วนการสอบ PISA ถือว่าเป็นของแถม”ดร.เกศทิพย์ กล่าว

สพฐ.จัดแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต ต่อยอดนวัตกรรม ส่งเสริมทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน OBEC ESPORTS TOURNAMENT 2024 รอบชิงชนะเลิศ โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน และมี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้บริหารสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย คณะกรรมการ ครูที่ปรึกษา และนักกีฬา เข้าร่วม ณ ไอส์แลนด์ฮอลล์ ชั้น 3 ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ กรุงเทพมหานคร

ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวรายงานการจัดแข่งขันครั้งนี้ ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความสามารถด้านกีฬา อี-สปอร์ต ได้แสดงศักยภาพการเป็นนักกีฬาที่ต้องมีทักษะการคิดขั้นสูงมีทักษะการวางแผนกลยุทธ์ การตัดสินใจอย่างฉับพลับ มีประสบการณ์ในการแข่งขันตามกติกามาตรฐานสากล ส่งเสริมโอกาสในการศึกษาและการประกอบอาชีพในอนาคต ตามนโยบาย เรียนดี มีความสุข โดยได้กําหนดเกณฑ์คุณสมบัติของนักกีฬาว่า ต้องมีผลการเรียน เกรดเฉลี่ย 2.0 ขึ้นไป และไม่ติด 0 ร มส. ซึ่งปีนี้ มีโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)เข้าร่วมการแข่งขัน จํานวน 1,404 ทีม แต่ละทีมประกอบด้วย นักเรียน 7 คน และครูที่ปรึกษา ทีมละ 2 คน รวมจํานวนผู้ที่เข้าร่วมการแข่งขัน ทั้งสิ้น 13,104 คน

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า การแข่งขัน แบ่งออกเป็น 3 รอบ ได้แก่ รอบคัดเลือกครั้งที่ 1 (รอบออดิชั่น) รูปแบบออนไลน์ คัดเลือกผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 1,404 ทีม ให้เหลือ 80 ทีม รอบคัดเลือกครั้งที่ 2 ใช้สนามแข่งขันระดับภูมิภาค 5 ภูมิภาค คัดเลือก ทีมที่ผ่านรอบที่ 1 จํานวน 80 ทีม ให้เหลือ 20 ทีม และรอบชิงชนะเลิศิ Grand Final คือ การจัดการแข่งขัน ณ ศูนย์การค้า แฟชั่นไอส์แลนด์ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ เพื่อเฟ้นหาสุดยอดทีม อีสปอร์ต ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

สำหรับ ทีมที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศของทั้ง5ภูมิภาค20ทีมมีดังนี้ ภาคเหนือได้แก่ โรงเรียนกําแพงเพชรพิทยาคม โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ และ โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ โรงเรียนท่าบ่อ โรงเรียนมหาชนะชัยวิทยาคม โรงเรียนชุมแพศึกษา และ โรงเรียนนครขอนแก่น ภาคกลาง ได้แก่ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ โรงเรียนธรรมศาสตร์คลองหลวงวิทยาคม โรงเรียนชลราษฎรอํารุง และโรงเรียนปทุมวิไล สำหรับภาคใต้ ได้แก่ โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยโรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราชโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา และ โรงเรียนสุราษฎร์ธานี ส่วนกรุงเทพมหานคร ได้แก่ โรงเรียนสตรีวิทยา 2 ในพระราชูปภัมภ์ฯ โรงเรียนทวีธาภิเศก โรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย และ โรงเรียนเทพศิรินทร์ ทั้งนี้ ทีมที่ชนะการแข่งขันระดับภูมิภาคทั้งหมด โรงเรียนต้นสังกัด ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท นักเรียน ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมด้วยเกียรติบัตรจาก สพฐ. และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ส่วนรอบชิงชนะเลิศ ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้รับทุนการศึกษา จํานวน 100,000 บาท พร้อม ถ้วยรางวัล รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับทุนการศึกษา จํานวน 60,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับทุนการศึกษา จํานวน 30,000 บาท และรองชนะเลิศ อันดับ 3 ได้รับทุนการศึกษา จํานวน 10,000 บาท สําหรับทีมที่ได้รับรางวัลจะได้รับเหรียญรางวัล เกียรติบัตร ทุกทีม

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวว่า จากที่ฟังกล่าวรายงานและ ที่นายกสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยเล่าแล้ว ทำให้รู้สึกดีใจที่น้องๆ มาร่วมแข่งขันเป็นเกมส์เกี่ยวกับการคิดวางแผน เป็นกระบวนการซึ่งถือว่ามีประโยชน์ และจากที่ สพฐ.สำรวจแบบสอบถามประมาณ 500,000 คน ทราบว่า ปัจจุบันอีสปอร์ตเป็นสิ่งหนึ่งที่เด็กและเยาวชนชื่นชอบ รัฐมนตรีจึงได้นำมาขับเคลื่อนในการดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการของนักเรียน และถือเป็นมิติหนึ่งในนโยบาย เรียนดี มีความสุข ซึ่งหวังว่าน้อง ๆ จะใช้โอกาสนี้การฝึกฝน ทดลอง และทดสอบตัวเองเพื่อก้าวต่อไปเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งแข่งในเวทีโลกในอนาคต โดยการจัดการแข่งขันเป็นเพียงจุดหมายที่จะทดสอบตัวเอง การแพ้ชนะไม่สำคัญ แต่สำคัญที่สุดคือการได้เรียนรู้และฝึกทักษะและทดสอบตัวเองว่า สิ่งที่ดำเนินการที่ผ่านมาทั้งการเรียนรู้การทดสอบและฝึกทักษะต่างๆ มีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ ที่ครั้งนี้ไม่ชนะเพราะอะไร เพื่อจะได้ปรับปรุงพัฒนา เพื่อให้ชนะในครั้งต่อไป ส่วนที่ชนะแล้วก็ต้องกลับไป คิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อจะรักษาแชมป์และ พัฒนาให้เก่งขึ้นเรื่อย ๆ

“จากการแข่งขันครั้งนี้ สิ่งที่อยากฝากและอยากให้เกิดขึ้น คือ ความฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ โดยฉลาดรู้ คือ รู้ในสิ่งที่ควรรู้ รู้ในสิ่งที่ตัวเองยังไม่รู้ เช่น การแข่งขันก็จะได้รู้ในสิ่งที่เรารู้และรู้ในสิ่งที่ไม่รู้ว่าที่เราฝึกฝนมาเป็นอย่างไร ขณะที่ฉลาดคิด คือ คิดอย่างมีเหตุมีผล ส่วนฉลาดทำก็คือลงมือทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ อย่างไรก็ตามขอแสดงความยินดีกับนักกีฬาทั้ง 20 ทีมที่มาจาก 1,404 ทีม ซึ่งถือว่าสุดยอดมาก วันนี้จะชนะหรือแพ้ก็ไม่เป็นไร”รมว.ศึกษาธิการกล่าว

 

 

”ยศพล” นำทีมชาวอาชีวะประกาศเจตนารมณ์ ไม่ทน ไม่เฉย ต่อการทุจริต เดินหน้าสร้างองค์กรโปร่งใส OVEC Together Against Corruption”

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2568 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) พร้อมทีมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ประกาศเจตนารมณ์การต่อต้านการทุจริต ภายใต้แนวคิด “สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ไม่ทน ไม่เฉย ต่อการทุจริต (OVEC Together Against Corruption)” ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยมีผู้บริหาร บุคลากรในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หน่วยงานส่วนกลาง สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด สถาบันการอาชีวศึกษา ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีวศึกษาภาค และสถานศึกษาอาชีวศึกษาทุกแห่ง ภายในการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ครั้งที่ 1 / 2568 ณ ห้องประชุม 5 ชั้น 1 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผ่านระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านโปรแกรม Zoom Cloud Meeting / Facebook Live และ Youtube Live

นายยศพล กล่าวว่า สอศ.ขานรับนโยบาย ต้านทุจริต วางรากฐานภาครัฐที่โปร่งใส ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้ “การแก้ไขปัญหาการทุจริต” เป็น “วาระแห่งชาติ” เดินหน้า No Gift Policy ปรับปรุงกฎหมายและระบบการทำงานของภาครัฐ เพื่อขจัดค่านิยมอุปถัมภ์ ลดผลประโยชน์ทับซ้อน และดำเนินคดีทั้งในด้านวินัยและอาญาอย่างจริงจัง สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนผ่านระบบการทำงานภาครัฐที่มีคุณธรรมและความโปร่งใส ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล และเป็นไปตามนโยบายของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ความสำคัญในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต การบริหารโดยยึดถือนโยบายเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต และการไม่เรียก ไม่รับ หรือไม่ยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด และยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ด้านที่ 6 ด้านการปรับสมดุล และพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า กิจกรรมประกาศเจตนารมณ์การต่อต้านการทุจริต เป็นการแสดงพลังร่วมของ สอศ. ในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กรที่โปร่งใส ต้านการทุจริตอย่างจริงจัง และมีธรรมาภิบาล โดยยึดหลัก 3 ป ได้แก่ ปลูกฝัง ป้องกัน และปราบปราม ส่งเสริมบุคลากรให้ตระหนักปลุกจิตสำนึกถึงการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ โดย สอศ. ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ “จะยึดมั่นในสถาบันหลักอันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จะเป็นคนดี มีคุณธรรมประพฤติปฏิบัติตนในสัมมาอาชีพด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นหลักสำคัญมั่นคง ดำรงตนอยู่ด้วยความมีเกียรติและศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์กล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง ปฏิบัติงานราชการอย่างถูกต้อง ชอบธรรม ไม่ทนต่อการทุจริตทุกรูปแบบ และไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่หาประโยชน์บนความทุกข์ยากของประชาชนและปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถตามค่านิยมในการบริหารงานอันได้แก่ ซื่อสัตย์ สามัคคี มีความรับผิดชอบ ตรวจสอบได้ โปร่งใส มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน กล้าหาญในสิ่งที่ถูกต้องรวมถึงปฏิบัติตนตามมาตรฐานทางจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้าพเจ้าขอถวายสัจวาจาว่า จะประพฤติตนตามรอยพระยุคลบาท สืบสาน พระราชปณิธาน รักษา ต่อยอดศาสตร์ของพระราชาผู้ทรงธรรม ดำเนินชีวิต ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยความเพียรอันบริสุทธิ์ยืนเคียงข้างสุจริตชน เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน ของราชอาณาจักรไทยสืบไป”

“คำประกาศนี้ คือความสำคัญของ สอศ. บุคลากรทุกระดับในสังกัดทุกคน ต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบอย่างเคร่งครัด ปฏิเสธการรับของขวัญ ของกำนัล หรือผลประโยชน์อื่นใดที่อาจตีมูลค่าเป็นเงินได้ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการปฏิบัติหน้าที่ยกเว้นกรณีที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ซึ่ง สอศ. โดยกลุ่มงานจริยธรรม ดำเนินการส่งเสริมจริยธรรม คุณธรรม และวินัยข้าราชการ ยกระดับธรรมาภิบาล ป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ อีกทั้งยังบูรณาการกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่โปร่งใส และเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน” เลขาธิการ กอศ. กล่าว

 

บุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2)นั่งเก้าอี้ผู้บริหารสถานศึกษาได้แล้ว

ผศ.ดร.อมลวรรณ  วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า จากประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่องข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2567 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2568 ซึ่งประกาศดังกล่าวจะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ พ.ศ. 2556 เพื่อกำหนดมาตรฐานวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาขึ้นใหม่ สาระสำคัญของการปรับแก้ไขข้อบังคับฉบับนี้ คือมีการยกเลิกข้อความใน (ข) มาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพข้อ 7 ของข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ พ.ศ. 2556 ในส่วนของมาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ที่กำหนดมาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพไว้เดิมนั้น ปรับปรุงแก้ไขใหม่เป็น 1) มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือ 
2) มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนและต้องมีประสบการณ์ในตำแหน่งหัวหน้าหมวด หรือหัวหน้าสาย หรือหัวหน้างาน หรือตำแหน่งบริหารอื่นๆ ในสถานศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือ 3) มีประสบการณ์ในตำแหน่งหัวหน้างาน หรือตำแหน่งบริหารอื่นๆ ในหน่วยงานการศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี และผ่านการพัฒนาตามหลักสูตรที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภากำหนด ซึ่งการปรับข้อความดังกล่าวเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่บุคลากรทางการศึกษาที่มีประสบการณ์เป็นหัวหน้างานหรือตำแหน่งบริหารอื่นๆ ในหน่วยงานการศึกษามาแล้ว สามารถใช้ประสบการณ์ที่ดำรงตำแหน่งเป็นคุณสมบัติในการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษาได้

ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากการเพิ่มโอกาสให้บุคลากรทางการศึกษาสามารถเข้าสู่เส้นทางผู้บริหารสถานศึกษาได้แล้ว ในข้อบังคับเดียวกันยังได้ยกเลิกความใน (ข) ของข้อ 9 ในส่วนของมาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพศึกษานิเทศก์ด้วย โดยแก้ไข 1) มีประสบการณ์ตามข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้ 1.1) มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี 1.2) มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนและมีประสบการณ์ในตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา รวมกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี 1.3) มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาหรือสถาบันมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี และมีประสบการณ์การนิเทศ หรือการกำกับติดตาม หรือการวิจัยร่วมกับสถานศึกษา และ 2) มีผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพและมีการเผยแพร่ ซึ่งก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้บุคลากรทางการศึกษาผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการนิเทศ การกำกับติดตาม และการวิจัย สามารถนำประสบการณ์ดังกล่าวมาใช้เป็นคุณสมบัติในการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ได้เช่นกัน

“การปรับแก้ข้อบังคับมาตรฐานวิชาชีพ ฉบับที่ 6 นี้ จะส่งผลให้บุคลากรทางการศึกษาทุกกลุ่ม รวมถึงบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) ที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์และมีจิตสำนึกดี จะมีโอกาส มีความก้าวหน้าเข้ามาเป็นผู้บริหารสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์ได้ โดยเฉพาะบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูและสำเร็จการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาบริหารการศึกษา สามารถนำประสบการณ์การบริหารในหน่วยงานเขตพื้นที่ เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษาได้ และผู้ที่มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนในสถาบันและมีประสบการณ์การนิเทศ หรือการกำกับติดตาม หรือการวิจัยร่วมกับสถานศึกษา ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู สามารถขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ได้ด้วย ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการศึกษาสามารถเลือกเปลี่ยนสายงานได้ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในวิชาชีพ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาสู่วิชาชีพทางการศึกษามากขึ้นอีกด้วย รวมทั้งเป็นการส่งเสริมคนดี คนเก่ง ให้มาร่วมกันสร้างและพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้นไป” เลขาธิการคุรุสภา กล่าว.

“เสมา 1” ขอบคุณ สพฐ.ร่วมขับเคลื่อน “เรียนดี มีความสุข” ส่งกำลังใจให้ครูอย่าหวั่นไหวถูกพาดพิง ขอให้เดินหน้าตามแนวทาง ทำดี ทำได้ ทำทันที ต่อไป

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568  พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และ เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom meeting) จากโรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม ว่า ต้องการมาพบปะผู้บริหาร สพฐ. ส่วนกลางและเขตพื้นที่ เพื่อขอบคุณที่ทุกฝ่ายช่วยกันขับเคลื่อนนโยบาย เรียนดี มีความสุข เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากล (PISA) ในการร่วมมือร่วมใจเตรียมตัวนักเรียนสำหรับเข้าสอบ PISA ในปีนี้ เชื่อว่าหากผลสอบดีขึ้น ก็จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวมากขึ้นเช่นกัน

“ขอถือโอกาสนี้ ขอบคุณผู้บริหารอีกครั้ง รวมทั้งคุณครูทุกคน เพราะการขับเคลื่อนนโยบาย เรียนดี มีความสุข หากขาดทุกคนคงจะดำเนินการได้ยาก และขอความร่วมมือพวกเราช่วยกันพัฒนาการศึกษาของเราให้ดียิ่งขึ้นต่อไป และในกรณีมีการพาดพิงถึงครูไทย ขอฝากให้กำลังใจไปยังครูไทยทุกคน ผมเชื่อมั่นว่าครูของเราเก่งอยู่แล้ว ขออย่าหวั่นไหวและให้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ต่อไป ตามแนวทาง ทำดี ทำได้ ทำทันที”รมว.ศึกษาธิการกล่าว