“กระทรวงศึกษาฯ”เช็คบิลโรงเรียนที่รับครูต่างชาติเถื่อนเข้ามาสอนภาษา

ตามที่ กระทรวงแรงงาน ได้ออกประกาศกวาดล้างแรงงานข้ามชาติลักลอบทำงานผิดกฎหมาย ภายใต้ปฏิบัติการ “เจอ จับ ปรับ ผลักดัน” โดย ล่าสุดพบครูสอนภาษาใช้วีซ่านักท่องเที่ยว ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ซึ่งกระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินคดีในข้อหาเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือ ทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ นั้น

นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นหน่วยรับบริการรับครูต่างชาติมาสอนภาษาต่างประเทศ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยจะมีการกำชับให้สถานศึกษาสำรวจความต้องการครูที่จะจ้างเพิ่ม และให้มองที่คนไทยก่อนเป็นอันดับแรก เพราะคนไทยก็มีความรู้ความสามารถเช่นกัน ทั้งนี้ตนได้กำชับหน่วยงานที่กำกับดูแลสถานศึกษาให้ดูกรอบคุณวุฒิของบุคลากรที่ทำการสอน ทั้งวิชาเลือกและวิชาบังคับ ซึ่งสถานศึกษาต้องกวดขันและปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในการรับครูเข้ามาทำงาน โดยต้องดูว่า
เข้ามาถูกต้องตามกฏหมายหรือไม่ และรับในสาขาที่โรงเรียนเปิดสอน โดยเฉพาะโรงเรียนนอกระบบที่เปิดตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ จะต้องเข้าไปตรวจสอบอย่างจริงจัง

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงศึกษาธิการจะให้ความร่วมมือกับกระทรวงแรงงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้การจ้างครูต่างชาติเข้ามาสอนในโรงเรียนถูกต้องตามกฎหมาย หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดฝ่าฝืนกฎหมายก็จะต้องดำเนินคดีในข้อหารับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือ ให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ ซึ่งจะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน  หากกระทำผิดซ้ำ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

ด้าน ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เรื่องการรับครูต่างชาติมาสอนภาษาในโรงเรียนทั้งรัฐและเอกชน เรามีระเบียบปฏิบัติอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นเรื่องของใบอนุญาตทำงาน (Work permit)ที่ออกโดยกระทรวงแรงงาน ที่แสดงอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถประกอบธุรกิจ/กิจการ หรือ เป็นลูกจ้าง ในประเทศไทยได้ และใบอนุญาตการสอนที่คุรุสภาออกให้ ดังนั้นโรงเรียนที่จะรับครูต่างชาติมาสอนภาษาจะต้องคัดเลือกคนที่มาอย่างถูกต้องตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ คือ เข้ามาในประเทศต้องมีใบ Work permit ดังนั้นหากใครมาไม่ถูกต้องก็ถือว่าทำผิดกฎหมาย และถ้าโรงเรียนใดรับก็ถือว่าโรงเรียนทำผิดกฎหมาย ซึ่งจะมีมาตรการในการลงโทษ ถ้าเป็นโรงเรียนเอกชน อาจจะว่ากล่าวตักเตือน หรือ ถอนใบอนุญาตเปิดการสอน แต่ถ้าเป็นโรงเรียนของรัฐก็ต้องมีโทษทางวินัย

 

“เสมา 2″ติดตามการแก้ปัญหาเด็กหลุดระบบที่สงขลา ชื่นชมตามน้องเจอ 100% ถึงไม่กลับมาเรียนก็นำการเรียนไปให้ได้ พร้อมเผย เสมา 1 เตรียมชง มท.แก้ระเบียบให้ อปท.หนุนงบฯการศึกษาโรงเรียนได้โดยโรงเรียนไม่ต้องมีเงินสมทบ25%

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2568 ที่ จังหวัดสงขลา นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษา พร้อมมอบนโยบายการจัดการศึกษาในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัญจรนอกสถานที่ จ.สงขลา วันที่ 17-18 ก.พ โดยได้ลงตรวจเยี่ยมที่โรงเรียนสงขลาพัฒนาปัญญา จ.สงขลา

นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาติดตามรับฟังการแก้ปัญหาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดสงขลา จะเห็นได้ว่าทุกหน่วยงานตั้งใจปฏิบัติงานได้เยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย Thailand Zero Dropout โดยจังหวัดสงขลาได้ ค้นหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาครบ 100% แล้ว ส่วนหนึ่งก็สมัครใจกลับเข้ามาเรียน บางคนก็ย้ายถิ่นฐานบางคนก็อยู่ต่างประเทศ ส่วนคนที่ไม่สามารถกลับเข้ามาเรียนก็ใช้โครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง (OBEC Zero Dropout : OZD) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)มาใช้ ทั้งนี้ตนคิดว่าจะต้องทำต้นแบบโรงเรียนมือถือ เพราะส่วนหนึ่งเด็กต้องออกทะเลไปประกอบอาชีพกับครอบครัวทำให้เด็กไม่สามารถกลับมาเรียนได้ เพราะเวลาเรียนกับเวลาทำงานช่วยครอบครัวไม่สอดรับกัน ให้เด็กเรียนผ่านมือถือและสามารถทำข้อสอบได้ เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสเข้าเรียน ซึ่งเราจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้เด็กกลับเข้ามาเรียนให้ได้มากที่สุด

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า รมว.ศึกษาธิการได้รับเรื่องจากโรงเรียนในพื้นที่ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ต่าง ๆ ว่าอยากจะสนับสนุนงบประมาณให้กับโรงเรียน แต่มีระเบียบของกระทรวงมหาดไทยเรื่องเงินอุดหนุนของท้องถิ่นถ้าสนับสนุนไปที่โรงเรียน โรงเรียนจะต้องมีเงินสมทบ 25% ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กจะไม่มีโอกาสได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากโรงเรียนไม่สามารถหาเงิน 25%มาสมทบได้ ดังนั้น รมว.ศึกษาธิการ จะทำเรื่องถึงกระทรวงมหาดไทย ให้ปลดล็อคระเบียบนี้เฉพาะเรื่องการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากเฉพาะงบประมาณที่จะลงไปให้โรงเรียนก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว อย่างไรก็ตามจากการตรวจเยี่ยมโรงเรียนสงขลาพัฒนาปัญญา ซึ่งเป็นนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ออทิสติก ถือว่าจัดการเรียนการสอนได้ดี เป็นศูนย์บ่มเพาะการเรียนรู้เพื่อสร้างรายได้สู่ความยั่งยืน ส่งเสริมทักษะการมีงานทำสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ส่งผลให้ผู้เรียน ครูมีความรู้มีทักษะในด้านของอาชีพ นักเรียนสามารถนำไปประกอบอาชีพ ทั้งระหว่างเรียนและจบการศึกษาได้

“การพัฒนาการศึกษาเราจะต้องประสานงานและต้องจับมือกัน จับมือในหน่วยงานตัวเองจับมือนอกหน่วยงาน เพื่อให้การศึกษาบรรลุเป้าหมาย“ นายสุรศักดิ์ กล่าว

ศธจ.พระนครศรีอยุธยา”การันตี”กระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS  5  Stepsตอบโจทย์ “เรียนดี มีความสุข”

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 ที่โรงเรียนเซนต์แอนโทนีบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้จัดกิจกรรมโครงการนิทรรศการวิชาการ (Open House) พลิกโฉมโรงเรียนเซนต์แอนโทนีบางปะอิน  ด้วยรูปแบบ Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS  5  Steps สร้างต้นแบบนวัตกรรมครู Best Practices สู่นวัตกรรมนักเรียน โดยมีนายชัยวัฒน์ คลังทรัพย์ ศึกษาธิการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตรแก่นักเรียนที่สร้างชื่อเสียงให้แก่โรงเรียน ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ(พว) อดีตกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เป็นประธานผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมด้วย ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม เป็นจำนวนมาก

โดย นายชัยวัฒน์ คลังทรัพย์ ศึกษาธิการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า การใช้กระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS  5  Steps ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนเซนต์แอนโทนีบางปะอินสอดคล้องกับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งผลจะลงสู่ผู้เรียนโดยตรง หมายความว่ากระบวนการ GPAS 5  Steps เป็นนวัตกรรมสามารถตอบโจทย์โลกยุคใหม่พลิกโฉมการศึกษาการจัดการเรียนการสอนได้ ดังนั้นในฐานะศึกษาธิการจังหวัด ที่ดูแลการจัดการศึกษาภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็จะพยายามนำนวัตกรรมนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อสนองนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของรมว.ศึกษาธิการ โดยพร้อมจะสนับสนุนให้ทุกโรงเรียนในทุกสังกัดได้นำ GPAS  5  Steps ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนสอน ให้เด็กเกิดการเรียนรู้

“จริง ๆ มีการใช้กระบวนการ Active Learning มานานแล้ว แต่นวัตกรรมใหม่ GPAS  5  Steps จะช่วยสร้างแนวทางการสร้างนวัตกรรมจากครูสู่นักเรียนได้เป็นอย่างดี ซึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเริ่มต้นใช้กระบวนการนี้เข้าปีที่สองแล้ว และได้รับการตอบรับที่ดี มีโรงเรียนสนใจเข้าร่วมนำร่องค่อนข้างมาก และทราบว่าจะมีการขยายไปถึงสถานศึกษาในสังกัดอาชีวศึกษาด้วย”ศธจ.พระนครศรีอยุธยา กล่าว

ดร.นารี คูหาเรืองรอง ที่ปรึกษาโรงเรียนเซนต์แอนโทนีบางปะอิน กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนด้วยรูปแบบ Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS  5  Steps ทำให้นักเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จากเดิมเด็กอาจจะไม่ค่อยกล้าแสดงออก ไม่ค่อยพูดในเรื่องของเนื้อหา หลักการ ยังมีความสับสน แต่เมื่อนำ GPAS  5  Steps มาใช้  ซึ่งเป็นการสอนให้เกิดกระบวนการคิดอย่างเป็นลำดับ ขั้นตอน ทำให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติอย่างเป็นกระบวนการ เกิดความสนุกสนาน มีการนำเสนอที่สามารถช่วยสร้างความมั่นใจให้เด็กได้แสดงออกในเวทีต่าง ๆ ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของนักเรียนอย่างชัดเจน และยังมีการนำความรู้หรือหลักการของรายวิชาต่าง ๆ มาบูรณาการ และนำมาศึกษาเชิงลึกทำให้เกิดเป็นนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ ที่ทำให้เด็กรู้ว่านวัตกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นมานั้นมีจุดแตกต่างจากของเดิมอย่างไรบ้าง แล้วมีการใส่แนวคิดใหม่ ๆ เข้าไป ทำให้เกิดคุณค่าของนวัตกรรมชิ้นนี้ ซึ่งจะสามารถนำไปเชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศ คือ สามารถพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนารายได้ของครอบครัว ชุมชนได้ ทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน

นายวุฒินันท์ โชคอำนวย ผู้อำนวยการโรงเรียนเซนต์แอนโทนีบางปะอิน กล่าวว่า ผู้ปกครองให้การตอบรับการจัดการเรียนการสอนด้วยรูปแบบ Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS  5  Steps เป็นอย่างดี  ว่า โรงเรียนมีรูปแบบการจัดการสอนที่เน้น ผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้ผู้เรียน ได้ฝึกปฏิบัติจริงจนเกิดทักษะที่จำเป็นในอนาคต ทั้งทักษะชีวิต ทักษะการคิดวิเคราะห์และทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ ทำให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะที่มีคุณภาพ และมีความสุขในการเรียนตามนโยบาย เรียนดี มีความสุข ของ กระทรวงศึกษาธิการ

ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ(พว)อดีตกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า หลักสูตรของประเทศไทยรวมถึงหลักสูตรทั่วโลกจะเน้นกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล และประเทศไทยก็มีการบรรจุไว้ในแผนพัฒนาประเทศด้านการศึกษา ขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการ ก็ให้เน้นย้ำเรื่องของกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS  5  Steps เช่นกัน แต่ในทางปฏิบัติคนไทยยังเข้าไม่ถึงกระบวนการนี้ การเรียนการสอนจึงเป็นการสอนไปตามรายวิชา ทำให้เด็กยังไม่บรรลุตามเป้าหมาย ขณะที่ในชีวิตจริงของมนุษย์หรือคนทุกคนจะต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS  5  Steps จะเป็นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการและหลักการ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำกระบวนการและหลักการไปใช้ได้ในทุกสถานการณ์ทุกวิถีชีวิต และพัฒนาต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้งไม่มีวันลืม

“กระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS  5  Steps เป็นการเรียนผ่านการคิด การประเมิน การปฎิบัติ เมื่อใดที่ร่างกายของมนุษย์เรียนรู้ผ่าน 3 สิ่งนี้ สมองจะจำเอง ไม่ต้องท่อง เหมือนกับว่ายน้ำหรือถีบจักรยาน เมื่อเป็นแล้วจะไม่เคยลืมทั้งที่ไม่เคยท่อง  ผมเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนต้องการให้ลูกเรียนผ่านกระบวนการแบบนี้เพื่อให้เด็กสามารถพึ่งพาตนเองได้ คิดเป็น ทำเป็น ซึ่งรัฐบาลก็กำลังพยายามพัฒนาเป็นฐานสำหรับเด็กทุกคน เพราะฉะนั้นการที่เราช่วยกันผลักดันการเรียนรู้ผ่านกระบวนการให้ขยายวงออกไปให้มาก ทำให้มั่นใจว่าภายในสามปีจะสามารถพลิกโฉมการศึกษาของประเทศไทยได้อย่างแน่นอน”ดร.ศักดิ์สินกล่าวและว่า สำหรับผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนเซนต์แอนโทนีบางปะอินขอให้มั่นใจว่า การที่โรงเรียนจัดการเรียนการสอนด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS  5  Steps นี้เป็นการมาถูกทางแล้ว

ด้าน นายชุติพนธ์ ทองรุจิโรจน์ ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนเซนต์แอนโทนีบางปะอิน กล่าวว่า โรงเรียนเซนต์แอนโทนีบางปะอิน ได้จัดตั้งมา 15 ปีแล้ว และมีนักเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตนดีใจที่ผู้บริหารและครูในโรงเรียนได้นำกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS  5  Steps มาสอนเด็ก ซึ่งทำให้เด็กเรียนอย่างมีความสุขเพราะเขาได้คิดเองทำเอง ตัวผมเองก็มีความสุข เด็กที่เข้ามาเรียนทุกคนก็ปลอดภัย และมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง สุขภาพจิตดี เพราะเรามีสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่างให้เด็กได้เล่นและทำกิจกรรมในรั้วโรงเรียนของเรา

“14 ก.พ.68”สพฐ.ประกาศค้นหาเด็กหลุดระบบการศึกษาได้ครบ100%แล้ว “ธนุ”พูดชัดจะไม่ยอมให้เด็กตกหล่นและจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมนำระบบ”1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” ให้เด็กได้เรียนแบบยืดหยุ่น

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตรโครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง (OBEC Zero Dropout) ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ค้นหาเด็กตกหล่นและเด็กออกจากระบบการศึกษากลางคันได้ครบ 100% และเขตตรวจราชการดีเด่นด้านการบริหารจัดการ โดยมี นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.นิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน  สพฐ. เข้าร่วม ณ ห้องถ่ายสด OBEC Channel อาคาร สพฐ. 1 ชั้น 1 กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 245 เขต เข้าร่วมผ่านระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ Zoom Meeting

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาล น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายขับเคลื่อนโครงการ Thailand Zero Dropout แก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาและเด็กตกหล่น ซึ่ง กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การนำของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะค้นหาเด็กตกหล่นและเด็กออกจากระบบการศึกษากลางคัน โดยในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)มีเด็กตกหล่นและหลุดจากระบบการศึกษามากที่สุด และได้ดำเนินโครงการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหา “เด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา” และ “เด็กตกหล่น” ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 นำร่องดำเนินการ 7 จังหวัด และในปี พ.ศ. 2566 ขยายพื้นที่ดำเนินการเป็น 13 จังหวัด ครอบคลุม 4 ภูมิภาค จนเกิดเป็นนโยบาย Thailand Zero Dropout โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ร่วมกับ 10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และในปี พ.ศ. 2568  กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. ได้ต่อยอดต้นทุนการทำงานเดิม พัฒนาเป็นโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” OBEC Zero Dropout ขยายผลดำเนินการครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ และในวันนี้(14 กุมภาพันธ์ 2568)ซึ่งเป็นวันดี วัน”แห่งความรัก” สพฐ.ตนได้รับรายงานจาก ดร.นิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน  สพฐ.ว่า สามารถค้นหาเด็กตกหล่นและเด็กออกจากระบบกลางคันทั้ง 245 เขตพื้นที่ฯทั่วประเทศได้ครบ 100% แล้ว แบ่งเป็นเด็กหลุดจากระบบการศึกษา จำนวน 616,625 คน เด็กออกกลางคัน จำนวน 106,966 คน รวม 723,591คน  และวันนี้ สพฐ.ได้ประกาศตัวเลขและจัดพิธีมอบใบประกาศนียบัตร ให้กับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตพื้นที่ทั้ง 245 เขต และผู้อำนวยการเขตตรวจราชการดีเด่นด้านการบริหารจัดการ จำนวน 18 เขตตรวจราชการ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

“เป็นที่น่าชื่นชมว่า สพฐ.เป็นหน่วยงานแรก และมีเด็กจำนวนมาก ที่เราสามารถติดตาม ค้นหา เด็กออกจากระบบการศึกษาได้ครบทุกคน ทุกเขตพื้นที่ฯทุกโรงเรียนรวมถึงเด็กที่อยู่ในการศึกษาพิเศษด้วย เป็นวันที่พวกเรามีความสุขที่สุด เป็นวันแห่งความรัก ทั้งนี้ ผมขอขอบคุณที่ทุกหน่วยงานที่ร่วมมือร่วมใจกันค้นหาเด็กที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งปี 2568 ถือเป็นปีแห่งการท้าทายในเรื่องของการศึกษา จะเห็นได้ว่าตัวเลขที่เราได้มา 1.2 ล้าน ที่หลุดจากระบบการศึกษา เห็นแล้วไม่สบายใจ ตกใจ ซึ่งเราจะนิ่งนอนใจไม่ได้ รัฐมนตรีว่าการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็สั่งการให้ถือเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ต้องตามเด็กเหล่านี้เข้ามาสู่ระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด ซึ่งตนก็ได้มอบหมายให้ ดร.นิยม ไผ่โสภา ซึ่งเป็นผอ.กองแผนและนโยบาย สพฐ.ช่วยตามขับเคลื่อนกันทั้งประเทศ ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีว่าภายในไม่ถึง 2 เดือน เราก็สามารถค้นหาเด็กครบ 100% ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของ สพฐ.ซึ่งผมจะรายงานให้ รัฐมนตรีรับทราบต่อไป”เลขาธิการกพฐ.กล่าวก็็

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินงานระยะต่อไป เมื่อเราค้นหาเด็กเจอแล้วว่าเป้าหมายอยู่ที่ไหน ก็จะนำพวกเขาสู่ระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด แต่ถ้าเด็กคนไหนไม่สามารถกลับมาเรียนได้ ก็จะพาการศึกษาไปให้พวกเขา เราจะไม่ยอมให้เด็กตกหล่นและจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งสพฐ. ได้พัฒนาแนวปฏิบัติการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นด้วยแนวทาง “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” สำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในสังกัด สพฐ. เพื่อเอื้อให้สถานศึกษาได้พัฒนานวัตกรรมการศึกษาที่ยืดหยุ่นเพื่อจัดการศึกษาให้เด็กและเยาวชนที่มีเงื่อนไขข้อจำกัดในชีวิตได้ยังคงอยู่ในระบบการศึกษาที่เหมาะสมและตอบโจทย์ชีวิต ได้แก่ นวัตกรรมโรงเรียนมือถือ (Mobile School) นวัตกรรม 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ที่ทำให้นักเรียนเรียนรู้ได้ทุกสถานที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) อีกทั้งเชื่อมโยงการเรียนรู้กับชุมชน ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เรียนผ่านการเก็บ Credit Bank ทำให้เรียนไปพร้อมมีรายได้ (Learn to Earn) ตอบโจทย์ชีวิตผู้เรียน ครอบครัว  และชุมชน  เพื่อการยกระดับคุณภาพการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ในภาพรวมของประเทศอย่างยั่งยืน

“อดีตปลัด ศธ.” เชียร์ เสมา 1 พัฒนาอาชีวะแนวใหม่ สร้างบุคลากรรองรับโลกอนาคต

จากการประชุมเรื่องแนวทางการพัฒนาคนอนาคต ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ดร.อรรถพล สังขวาสี อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการและเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวถึงนโยบายของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีแนวคิดปฏิวัติการศึกษาของประเทศ ว่า เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในส่วนของการจัดการอาชีวศึกษาของประเทศไทย ต้องมีการเตรียมความพร้อมในการผลิตพัฒนากำลังคนของประเทศ รองรับความต้องการของสถานประกอบการ และรองรับเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในอนาคต หน่วยงานจัดการอาชีวศึกษา ควรนำรายงานการประชุม OECD ที่กรุงปารีส และ รายงานการประชุม World economic forum (WEF)ล่าสุด ที่เสนอ แนวทางการจัดอาชีวศึกษาแนวใหม่ (Modern Vocational Education) โดยเป็นรูปแบบการศึกษาที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะเฉพาะทางและความสามารถในการปฏิบัติงานจริง เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดงานและอุตสาหกรรมในยุคดิจิทัลและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีลักษณะสำคัญดังนี้

1 การเรียนรู้แบบทันสมัยและยืดหยุ่น คือ หลักสูตรที่ปรับตัวเร็ว หลักสูตรอาชีวศึกษาแนวใหม่ต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้รวดเร็วตามความต้องการของตลาดงานและเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น AI, IoT, หุ่นยนต์, และพลังงานสะอาด การเรียนรู้แบบออนไลน์และผสมผสาน (Blended Learning) การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์และเครื่องมือดิจิทัลเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้ทุกที่ทุกเวลา

2 การฝึกปฏิบัติจริง (Work-Based Learning) การฝึกงานในสถานประกอบการ สร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกงานจริงและเรียนรู้จากประสบการณ์ทำงาน การเรียนรู้จากโครงการจริง (Project-Based Learning) ให้ผู้เรียนทำงานจริงในโครงการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาและการทำงานเป็นทีม

3 การพัฒนาทักษะแห่งอนาคต (Future Skills) ทักษะทางเทคนิค (Hard Skills) เน้นทักษะที่จำเป็นในอุตสาหกรรม 4.0 เช่น การเขียนโปรแกรม, การใช้เครื่องจักรอัตโนมัติและการวิเคราะห์ข้อมูลทักษะ Soft skill และทักษะ Intrend ของโลก ได้แก่ ทักษะการสื่อสาร, การคิดวิเคราะห์, การทำงานร่วมกับผู้อื่น การเป็นผู้นำ ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และปรับตัวได้ตลอดชีวิต

4 ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม (Industry Collaboration)การสร้างเครือข่ายกับบริษัทและองค์กรเพื่อให้หลักสูตรสอดคล้องกับความต้องการของตลาดงานและผู้เรียนได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม การรับรองทักษะจากภาคอุตสาหกรรม การออกใบรับรองหรือประกาศนียบัตรที่ได้รับการยอมรับจากภาคอุตสาหกรรม

5 การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เช่น Virtual Reality (VR), Augmented Reality (AR), และ Simulation เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้เสมือนจริง การเข้าถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ทันสมัย เช่น หุ่นยนต์, เครื่อง CNC, และเครื่องมือดิจิทัลอื่นๆ

6 การส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) การสอนทักษะการเริ่มต้นธุรกิจ เช่น การวางแผนธุรกิจ, การตลาด, และการจัดการการเงิน การสนับสนุนการสร้างนวัตกรรม ส่งเสริมให้ผู้เรียนคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ และนำไปสู่การสร้างธุรกิจของตนเอง

7 การประเมินผลแบบใหม่ โดยประเมินทักษะจริง (Competency-Based Assessment)เน้นการประเมินจากผลงานและการปฏิบัติจริง แทนการสอบแบบเดิม
ที่สำคัญ ต้องติดตามผลผู้เรียน เพื่อปรับปรุงหลักสูตรและวิธีการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

8 การเข้าถึงและความเท่าเทียม การศึกษาที่เปิดกว้าง ให้โอกาสผู้เรียนทุกกลุ่มเข้าถึงการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนทั่วไป, ผู้ใหญ่ที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพ, หรือผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะเพิ่มเติม การสนับสนุนทางการเงิน เช่น ทุนการศึกษาและโครงการฝึกอบรมฟรี เพื่อลดอุปสรรคทางการเงิน

9 การตอบสนองต่อแนวโน้มโลกอาชีพใหม่ในอนาคต เตรียมความพร้อมสำหรับอาชีพใหม่ที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น นักวิเคราะห์ข้อมูล, ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานสะอาด, และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ความยั่งยืน (Sustainability) ส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และการพัฒนาที่ยั่งยืน
หลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปอาชีวศึกษา เช่น ประเทศเยอรมัน มีระบบ “Dual Vocational Training” ที่เน้นการฝึกงานในสถานประกอบการควบคู่กับการเรียนในห้องเรียนประเทศสิงคโปร์ มีหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ฟินแลนด์ เน้นการพัฒนาทักษะ soft skill และทักษะดิจิทัลในหลักสูตรอาชีวศึกษา

”ผมเชื่อมั่นในศักยภาพคนอาชีวศึกษา ที่จะสามารถพัฒนาการจัดอาชีวศึกษาแนวใหม่ของประเทศ โดยนำคำแนะนำตามรายงานการประชุมดังกล่าว มาวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน ซึ่งไม่เพียงแต่ตอบโจทย์นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว แต่ยังเป็นการเตรียมผู้เรียนให้พร้อมสำหรับตลาดงาน และช่วยสร้างบุคลากรที่มีทักษะหลากหลาย สามารถปรับตัวตลอดจนสร้างนวัตกรรมได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” ดร.อรรถพล กล่าว

สพฐ. ปลื้มระบบย้ายครูออนไลน์ได้ผลครูสมัครกว่า 3.3 หมื่นคน ประหยัดงบฯแล้ว 32 ล้านบาท


เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ครั้งที่ 6/2568 โดยได้นำข้อสั่งการของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วยผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ.4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า วันนี้มีการหารือประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การใช้ระบบการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (TEACHER ROTATION SYSTEM : TRS) ซึ่งพัฒนาโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)เพื่ออำนวยความสะดวกให้ครูสามารถขอย้ายผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจากการเปิดระบบถึงวันที่ 31 มกราคม 2568 มีครูในสังกัด สพฐ.ยื่นความจำนงทั้งสิ้น 33,982 คน เพิ่มขึ้น 4,705 คน จากปี 2567  ซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครูได้มาก และหากคิดเป็นงบประมาณสามารถประหยัดได้ถึง 32 ล้านบาท ทั้งนี้ ตามข้อสั่งการของรมว.ศึกษาธิการ ต้องดำเนินการย้ายครูให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2568 เพื่อให้มีครูเข้าไปประจำการที่โรงเรียนทันก่อนเปิดเทอม

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า เรื่องต่อมาคือเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่ได้มีการติดตามทุกสัปดาห์ จากข้อมูลล่าสุด วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 มีครูสมัครเข้ามาในระบบแก้หนี้ครู จำนวน 7,762 คน ได้รับการแก้ไขสำเร็จแล้ว 1,589 คน คิดเป็นร้อยละ 20.47 รวมมูลหนี้ที่แก้ไขสำเร็จ  4,767 ล้านบาท และยังคงเหลือที่ต้องแก้ไขอีก 6,354 คน โดยสพฐ.จะติดตามและแก้ไขปัญหาให้สำเร็จเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการอบรมให้ความรู้ทางด้านการเงินแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจ ในหลักสูตร Money Coach ผ่านระบบออนไลน์ มีผู้เข้าอบรมจำนวน 109,601 คน ผ่านการอบรม 80,299 คน คิดเป็นร้อยละ 73.26 โดยคนที่ผ่านการอบรมจะไปขยายผลให้ความรู้กับเพื่อนๆ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้เรื่องการเงิน สามารถวางแผนการใช้จ่ายของตนเองได้ และไม่สร้างภาระหนี้ในอนาคตด้วย

“นอกจากนี้ ได้มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ปีงบประมาณ 2568 โดยมีการเบิกจ่ายแล้ว 3,137 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.16 และคงเหลือ 2,655 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45.84 โดยให้ทุกโรงเรียนและเขตพื้นที่ ดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้ ส่วนจำนวนเงินที่กันไว้จากปี 2567 ก็ให้เร่งรัด ดำเนินการเบิกจ่ายโดยเร็ว เพื่อรักษาวินัยทางการเงินการคลัง และเรื่องสุดท้าย วันนี้มีภาคเอกชนได้มอบคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลน ได้แก่ มูลนิธิ ไซมิส สิ่งสรรเสริญ ร่วมกับ บริษัท ไซมิส แอสเสท จำกัด (มหาชน) บริจาคคอมพิวเตอร์มือสองสภาพดี จำนวน 36 ชุด เพื่อนำไปมอบให้กับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ที่ขาดแคลนเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 3 โรงเรียน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในอนาคต เพื่อพัฒนาและขยายโอกาสแห่งการเรียนรู้ให้กับเยาวชนไทย โอกาสนี้ สพฐ. ขอเชิญชวนภาคเอกชนและภาคประชาสังคม มาร่วมเป็นภาคีเครือข่าย (Partnership) กับโรงเรียนของเรา เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั่วประเทศต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

สพฐ.จับมือ บช.น.ร่วมเฝ้าระวังเหตุพร้อมดูแลความปลอดภัยวันวาเลนไทน์ ส่งเสริมเยาวชนรักอย่างสร้างสรรค์ แบบกัลยาณมิตร


เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีปล่อยแถวการเฝ้าระวังเหตุและสร้างความปลอดภัยในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ ประจำปี 2568 โดยมี นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ซึ่งได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ.ให้เป็นผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)เข้าร่วมพิธี พร้อมบรรยายพิเศษเกี่ยวกับเรื่องการมีความรักอย่างสร้างสรรค์ให้กับนักเรียนได้มีมุมมองที่เหมาะสม โดย นายตฤณ ก้านดอกไม้ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรม และมีผู้แทนจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้แก่ ร.ต.อ.นเรศ สร้อยสนธ์ รองสารวัตรกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี กองบังคับการตำรวจนครบาล พ.ต.ท.กงจักร ทองเสียน สารวัตรป้องกันและปราบปราม สน.นางเลิ้ง พันตำรวจเอก ศิวัช ศรีวิชัย รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ผู้แทนจากภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ คณะผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คณะครูและผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธีเปิด ณ โรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ กรุงเทพมหานคร

นายสิริพงศ์ กล่าวว่า วันนี้เราได้ดำเนินการตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยเน้นที่การปลูกฝังและดูแลพฤติกรรมของนักเรียนให้เหมาะสมกับช่วงวัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความสุขให้กับผู้เรียน รวมทั้งแนวทาง “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” ที่ รมว.ศึกษาธิการได้กำหนดเป็นแนวทางหลักในปีนี้ นอกจากนี้เรายังเน้นย้ำความรักแบบกัลยาณมิตร และความปลอดภัยในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ 2568 โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ซึ่งจะช่วยกันดูแลพฤติกรรมของนักเรียนทั้งในและนอกสถานศึกษา โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่อาจมีพฤติกรรมเสี่ยงตามแฟชั่นที่ไม่เหมาะสมกับช่วงวัย การให้ความรู้กับนักเรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากสถานศึกษามีความพร้อม ก็สามารถดำเนินการได้ เพราะบางที่อาจมีบุคลากรที่พร้อมให้ความรู้และติดตามผล ในส่วนของการใช้ถุงยางอนามัย ก็ต้องมีการปลูกฝังให้เด็กไม่อายที่จะใช้และไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องผิด เพื่อให้พวกเขารู้ว่าเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องใช้ในบางสถานการณ์ ในส่วนของการตรวจตราจุดอับและจุดเสี่ยง ทางตำรวจจะเข้าไปดูแลตามสถานที่เสี่ยง เช่น โรงแรม สวนสาธารณะ และจุดอับต่าง ๆ โดยเราจะเริ่มตรวจตั้งแต่วันนี้เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน


ทางด้าน นายธีร์ กล่าวว่า ในปี 2568 สพฐ. ยังคงตระหนักและให้ความสำคัญเช่นทุกปีที่ผ่านมา มีการมอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสำนักงานบริหารงานการศึกษาพิเศษ จัดพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา (พสน.) สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อออกตรวจพื้นที่สุ่มเสี่ยง เฝ้าระวังเหตุและสร้างความปลอดภัยในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ รวมถึงกำหนดแผนการเฝ้าระวังและสร้างความปลอดภัยในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ เพื่อดูแล คุ้มครอง ช่วยเหลือ เฝ้าระวังเหตุอันไม่เหมาะสมที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว และในปีนี้ยังมุ่งเน้นให้ผู้เรียนต้องเก่งในด้านทักษะการใช้ชีวิตด้วยแนวทาง “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” ทำให้เด็กรู้ในสิ่งที่ควรจะรู้ คิดแบบมีเหตุผล และทำในสิ่งที่ถูกต้อง ตามนโยบายการขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติของรมว.ศึกษาธิการโดยให้สถานศึกษาจัดกิจกรรมส่งเสริมเชิงสร้างสรรค์ “รักแบบกัลยาณมิตร” ในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ ประจำปี 2568 ซึ่งเป็นการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ และสร้างการยอมรับในรูปแบบต่าง ๆ
.
“สพฐ. มีความห่วงใยความปลอดภัยของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงได้เน้นย้ำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และสถานศึกษาทุกแห่ง ให้ดำเนินการเสริมสร้างความปลอดภัยในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ โดยส่งเสริมการจัดกิจกรรมรณรงค์อย่างสร้างสรรค์และเฝ้าระวังเหตุอันไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดกับนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา (พสน.) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาที่ประสบปัญหาต่างๆ ให้ได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างทั่วถึงทันเวลา” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. ได้มีการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เฝ้าระวังเหตุและความปลอดภัยในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ของทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2568 นี้ สพฐ. ได้ดำเนินงานดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยมอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จัดกิจกรรมเฝ้าระวังเหตุและสร้างความปลอดภัยในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์พร้อมส่วนกลาง ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มูลนิธิ ตลอดจนภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ เป็นต้น เพื่อการดูแลคุ้มครอง ช่วยเหลือ และเฝ้าระวังเหตุอันไม่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง

EGCO Group ชวนน้อง ม.ปลาย ตามหา “ความหลากหลาย” ในดอยอินทนนท์กับ “ค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่า” รุ่นที่ 60

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group ร่วมกับมูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศล ซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานโดยEGCO Group และอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ชวนเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มาร่วมเดินทางไปสำรวจและสัมผัสความเชื่อมโยงของสิ่งมีชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพในผืนป่าต้นน้ำ กับ ค่ายเยาวชนเอ็กโก ไทยรักษ์ป่า รุ่นที่ 60ภายใต้แนวคิด ตามหา ความหลากหลายในดอยอินทนนท์ เพื่อส่งเสริมให้เห็นคุณค่าและสร้างแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์และอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ระหว่างวันที่ 22 28 มีนาคม 2568 ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ เยาวชนสายกรีนที่สนใจ สามารถส่งผลงานเป็น เรียงความหรือคลิปวิดีโอสั้นเพื่อสมัครร่วมค่าย ตั้งแต่วันนี้ 1 มีนาคม 2568

ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group เปิดเผยว่า “ด้วยความเชื่อที่ว่า “ต้นทางดีจะก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี”EGCO Group จึงให้ความสำคัญกับการปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในใจ “เยาวชน” ซึ่งเป็นวัยต้นทางแห่งการเรียนรู้และเป็นอนาคตของชาติ ผ่านการจัดโครงการค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่าต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2540 รวมระยะเวลากว่า 27 ปี สร้างเครือข่ายเยาวชนรักษ์ป่าไปแล้ว 59 รุ่น จำนวนกว่า 3,500 คน ในปี 2568 บริษัทได้จัดค่ายเยาวชนฯ เป็นรุ่นที่ 60 เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้รู้จักและเข้าใจคุณค่าของป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของชีวิตและพลังงาน ที่เชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพและการดำรงชีวิตดยการนำเยาวชนไปสัมผัสประสบการณ์ตรงในห้องเรียนธรรมชาติ ป่าต้นน้ำดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นระบบนิเวศป่าต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นบ้านของสัตว์ป่าและพืชพรรณที่มีความเชื่อมโยงกัน อันจะนำไปสู่การเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

กิจกรรมที่น่าสนใจของ “ค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่า รุ่นที่ 60 คือ การนำเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศ จำนวน 70 คน นั่งรถไฟจาก จ.กรุงเทพฯ ไปพักกางเต็นท์และใช้ชีวิตแบบชาวค่ายที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ เป็นเวลา 7 วัน 6 คืน เพื่อตามหาและเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพในป่าต้นน้ำดอยอินทนนท์ โดยเยาวชนจะได้เดินในเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานที่มีความหลากหลายด้านภูมิประเทศและพืชพรรณ พร้อมสำรวจระบบนิเวศป่าพุน้ำจืดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาและเส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอย เรียนรู้ระบบนิเวศในห้องเรียนธรรมชาติ ป่า 6 คนโอบตลอดจนได้รับมิตรภาพจากเพื่อนใหม่ทั่วประเทศโดย EGCO Group จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายตลอดกิจกรรม

เยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าที่สนใจ สามารถสมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2568 ภายในเวลา 12.00 น. ผ่าน 2วิธีการ ได้แก่ การส่ง เรียงความเขียนด้วยลายมือ 1 หน้ากระดาษ A4 หรือการบันทึกคลิปวีดิโอสั้นไม่เกิน 2 นาที ในหัวข้อ เราจะมีส่วนช่วยรักษาความหลากหลายของดอยอินทนนท์ได้อย่างไร โดยกรอกใบสมัครได้ที่https://forms.gle/Fa5A3x9aMAeTMtR96 หรือสแกน QR Code ด้านล่าง

  สามารถสอบถามรายละเอียดของค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่าเพิ่มเติมทางเฟซบุ๊ก มูลนิธิ ไทยรักษ์ป่าhttps://www.facebook.com/thairakpaofficial โดยEGCO Group จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกทั้ง 70 คน ในวันที่ 8 มีนาคม 2568 ทางเฟซบุ๊ก “มูลนิธิไทยรักษ์ป่า”

 

รร.วิทย์จุฬาภรณ์มุกดาหาร คว้ารางวัลOEC Hackathon สร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อการแบ่งปันให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีปิดการแข่งขันและมอบรางวัลกิจกรรม OEC Hackathon : เรียนดี มีความสุข ชุมชนยั่งยืน ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) โดยมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา นายปรีดี ภูสีน้ำ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย Mr. Paul Collard จากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ดร.รุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินผลการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะอนุกรรมการด้านวิจัย เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมด้านการศึกษา ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรมส่งเสริมการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา ทีม Hackathon Thailand และทีมที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 10 ทีม เข้าร่วมงาน ห้อง Midas Ballroom โรงแรมไมด้า ดอนเมือง แอร์พอร์ตกรุงเทพมหานคร 

นายสิริพงศ์ กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้กับน้อง ทุกทีม ตามนโยบาย เรียนดี มีความสุข เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา(Anywhere Anytime) ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ของพล...เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  และขอแสดงความยินดีกับทีมที่ชนะควรต่อยอดองค์ความรู้ที่มีต่อไป สำหรับทีมอื่น  ก็สามารถนำประสบการณ์มาเป็นพลังเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมต่อไป

รศ.ดร.ประวิต กล่าวว่า การแข่งขัน OEC Hackathon : เรียนดี มีความสุข ชุมชนยั่งยืนเพื่อเสริมสร้างชุดทักษะที่จำเป็น (Esssential Skill Set) สำหรับเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและประกาศนียบัตรวิชาชีพ เพื่อค้นหานวัตกรรมไอเดียชุมชนยั่งยืน ซึ่งมีผู้สมัครจากทั่วประเทศ 203 ทีม และคัดเลือกเหลือ 10 ทีมสุดท้าย ซึ่งมีการจัดกิจกรรมเข้าค่ายในวันที่ 7 – 9 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้เข้ารอบจะได้เรียนรู้กระบวนการคิด สร้างคุณค่าไอเดีย เทคนิคการนำเสนอ โดยความรู้ที่ได้รับ ผู้เข้าร่วมสามารถนำไปพัฒนา คิดค้น และนำไปสู่การปฏิบัติจริงในอนาคต

สำหรับทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศ OEC Hackathon ได้แก่ ทีม It’s WeSanity plus1 โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร กับโครงการพัฒนานวัตกรรมสำหรับสหกรณ์โคขุนโพนยางคำ จำกัด เพื่อการแบ่งปันให้ชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีสมาชิกร่วมทีมจำนวน 4 ท่านได้แก่ 1. นายปฏิพล เจริญผล 2. นายพอเพียง ศรีพันธ์ 3. นายกรวิชญ์ พรมวัง 4. นายพงศ์รพี ไพราชสูง

 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Smart Mangosteen Unit โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยทักษิณ ฝ่ายมัธยม จังหวัดพัทลุง กับโครงการเครื่องช่วยเก็บเกี่ยวมังคุดด้วยเซนเซอร์ โดยมีสมาชิกร่วมทีมจำนวน 3 ท่าน ได้แก่ 1. นางสาวนิธิพร จิตรเนียม 2. นางสาววรวลัญช์ พร้อมมูล 3. นางสาวภิรญา เหมริหนี

 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม PTK.innotech โรงเรียนปทุมเทพวิทยาคารจังหวัดหนองคาย กับโครงการเครื่องเตรียมวัตถุดิบสิ่งทอแบบมัลติฟังก์ชั่น โดยมีสมาชิกร่วมทีมจำนวน 4 ท่าน ได้แก่ 1. นายโชควัฒนา พิลาคง 2. นายธนดล พิมโยธา 3. นายอัครชัย ไชยอาจ 4. นายปราชญา ฝ่ายหมื่นไวย์

ลุ้น!ศาลปกครองกลางพิจารณาTORพิมพ์หนังสือเรียนองค์การค้าสกสค.ชอบหรือไม่ชอบด้วยกฏหมาย

เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2568 นายนัทธพลพงศ์ จิวัจฉรานุกูล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด เปิดเผยว่า ตามที่ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977)จำกัด ได้ยื่นศาลปกครองกลาง ขอให้ระงับวิธิการชั่วคราว การประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนองค์การค้าของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) ปีการศึกษา 2568 จำนวน 145 รายการ วงเงินงบประมาณ 1,060 ล้านบาท ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)จนกว่าจะมีคำพิพากษาตัดสินคดี และเมื่อวันที่ 24 ม.ค.2568 สำนักงานศาลปกครองกลาง มีคำสั่งศาลแจ้งมาที่ตนว่า ศาลปกครองกลางไม่รับคำขอทุเลาการบังคับตามกฎ หรือคำสั่งทางปกครอง เพราะเห็นว่าสกสค.ไม่ได้กีดกันบริษัท รุ่งศิลป์ฯไม่ให้เข้ายื่นประกวดราคาจ้างพิมพ์แบบเรียนองค์การค้าฯ แต่ทั้งนี้คำสั่งดังกล่าวไม่ได้กระทบกับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี ซึ่งศาลจะทำการพิจารณาพิพากษาตามกฏหมายและตามระเบียบต่อไป

นายนัทธพลพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ตนได้รับคำสั่งศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2568 ว่า ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งรับคำฟ้องของบริษัท รุ่งศิลป์ฯไว้พิจารณาแล้ว เนื่องจากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การประกาศประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนองค์การค้าของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) ปีการศึกษา 2568 จำนวน 145 รายการ วงเงินงบประมาณ 1,060 ล้านบาท ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงรับคำฟ้องไว้พิจารณา

“เรื่องนี้ผมคิดว่า ศาลท่านคงเห็นว่าไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองกลางท่านจึงรับไว้พิจารณา ซึ่งสกสค.จะต้องชี้แจงภายในวันที่ 15 ก.พ.นี้ “นายนัทธพลพงศ์ กล่าว