ม.6 มาทางนี้ … สพฐ.จัดสอนเสริมเทคนิคพิชิต A – Level ฟรี 3-7 มี.ค.

จากนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในการลดภาระผู้ปกครองและส่งเสริมการจัดกิจกรรมเพื่ออนาคตของนักเรียน สร้างความสุขและความเท่าเทียมการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนในช่วงนี้ เป็นช่วงเตรียมตัวสอบสำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย จึงได้ให้มีการสอนเสริมเพิ่มเติม สร้างความมั่นใจในการสอบของนักเรียน และสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) โดยครูผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ เพื่อการสอบวัดความรู้เชิงวิชาการ (Applied Knowledge Level: A – Level) ระหว่างวันที่ 3-7 มีนาคม 2568 ตามประกาศ สพฐ. เรื่อง การส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

สามารถติดตามชมได้ผ่านทาง OBEC Channel YouTube และ Facebook ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 288 5757-8   

สพฐ. ประกาศผลการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี 2568

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พร้อมด้วย นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. แถลงผลการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2568 โดยมี นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. นายวินัย รอดจ่าย และนางสุกัญญา งามบรรจง รองประธานคณะกรรมการพิจารณาตัดสินการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2568 นายณัฐกร วุฒิชัยพรกุล อุปนายกฝ่ายในประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ร่วมแถลงข่าว ณ บริเวณสวนวันครู หน้าอาคาร สพฐ. 1 กระทรวงศึกษาธิการ

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของหนังสือและการอ่านว่าเป็นทักษะพื้นฐานและเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาความคิดให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และเสริมสร้างจินตนาการในการเรียนรู้องค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อพัฒนาตนเองทั้งในด้านการเรียนและการใช้ชีวิตประจำวันที่ดีขึ้นในสังคมอย่างมีความสุข จึงได้ดำเนินการจัดประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2568 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประพันธ์ ผู้วาดภาพประกอบ ผู้จัดพิมพ์ สำนักพิมพ์ และทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีส่วนร่วมในการผลิตหนังสือที่มีคุณภาพและสารประโยชน์เผยแพร่สู่สาธารณชนเพิ่มมากขึ้น

การประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2568 เป็นการประกวดหนังสือที่พิมพ์โฆษณาเป็นเล่มบริบูรณ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2567 ในปีนี้มีผู้ประพันธ์ ผู้จัดพิมพ์ และหน่วยงานต่างๆ ร่วมส่งหนังสือประกวดรวมจำนวนทั้งสิ้น 322 เรื่อง แยกเป็นกลุ่มหนังสือต่างๆ ได้แก่ หนังสือสารคดี หนังสือนวนิยาย หนังสือกวีนิพนธ์ หนังสือรวมเรื่องสั้น หนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3 – 5 ปี หนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6 – 11 ปี หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12 – 18 ปี  หนังสือการ์ตูน และ/หรือนิยายภาพ และหนังสือสวยงาม

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2568 จะได้เข้ารับพระราชทานรางวัลในพิธีเปิดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเชิญเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และพระราชทานพระราชวโรกาสให้นำผู้ชนะการประกวดหนังสือดีเด่นเข้าเฝ้ารับพระราชทานรางวัล ในวันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2568 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร

สำหรับผลการพิจารณาตัดสินหนังสือให้ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2568 มีหนังสือได้รับรางวัล 49 เรื่อง แยกเป็น รางวัลดีเด่น 12 เรื่อง และรางวัลชมเชย 37 เรื่อง ดังรายชื่อต่อไปนี้

รางวัลดีเด่น  12  เรื่อง ดังนี้

หนังสือสารคดี มี 3 ด้าน

                    1)  ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม
เรื่อง เทห์ฟ้า อัศจรรย์ ประพันธ์โดย ชล วิชัยดิษฐ ; จัดพิมพ์โดย บริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด (สำนักพิมพ์สารคดี)
2)   ด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และชีวประวัติ
      เรื่อง ศิลปะอิสลาม รูปแบบและหลักสุนทรียะ ประพันธ์โดย ดร.วสมน สาณะเสน ; จัดพิมพ์โดย หสม. สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส
3)   ด้านการท่องเที่ยว อาหาร ฯลฯ

เรื่อง Amidst the Geo-Economic Clashes ไทยในสงครามเย็น 2.0 ประพันธ์โดย ปิติ ศรีแสงนาม และจักรี ไชยพินิจ ; จัดพิมพ์โดย บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน)

หนังสือนวนิยาย  เรื่อง  สุดเส้นเมฆขาวยาวเงิน  ประพันธ์โดย กิตติศักดิ์ คงคา ; จัดพิมพ์โดย บริษัท 13357 จำกัด

หนังสือกวีนิพนธ์  เรื่อง  เรือนในรัก โลกในเรา ประพันธ์โดย พัฒนะ ปฐมพงศ์ ; จัดพิมพ์โดย ล้วนลักษณ์ อาศัยพานิชย์

หนังสือรวมเรื่องสั้น  เรื่อง  เรื่องผิดปกติบนหน้าจอที่สาม กับ ความรู้สึกที่ดาวน์โหลดไม่ได้ ประพันธ์โดย พลัง เพียงพิรุฬห์ ; จัดพิมพ์โดย นิดจะศิลป์ อาร์ต สเปซ

หนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3 – 5 ปี  เรื่อง  โรนินกับปริศนาแห่งการนอน ประพันธ์โดย เกื้อกมล นิยม  ; จัดพิมพ์โดย บริษัท สานอักษร จำกัด

หนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6 – 11 ปี มี 2 ประเภท

      1) ประเภทบันเทิงคดี  ไม่มีหนังสือเรื่องใดสมควรได้รับรางวัล

      2) ประเภทสารคดี ไม่มีหนังสือเรื่องใดสมควรได้รับรางวัล

หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12 – 18 ปี มี 3 ประเภท

     1) ประเภทบันเทิงคดี ไม่มีหนังสือเรื่องใดสมควรได้รับรางวัล  

     2) ประเภทสารคดี ไม่มีหนังสือเรื่องใดสมควรได้รับรางวัล

3) ประเภทบทร้อยกรอง เรื่อง โลกสีเทา เราสีเดียวกัน  ประพันธ์โดย แมน คล้ายสุวรรณ ; จัดพิมพ์โดย มหาวิทยาลัยรังสิต

หนังสือการ์ตูน และ หรือนิยายภาพ มี 3 ประเภท

          1) ประเภทการ์ตูน และ หรือนิยายภาพสำหรับเด็ก (อายุ 6 – 11 ปี)  เรื่อง  ซุนหงอคง ราชาวานร ประพันธ์โดย ณัฐชนัน โฆษิตาภรณ์;  จัดพิมพ์โดย บริษัท สำนักพิมพ์ห้องเรียน จำกัด

                2) ประเภทการ์ตูน และ หรือนิยายภาพทั่วไป (อายุ 12 ปีขึ้นไป) เรื่อง เจ้ามึนจะอายุ 65 ปี อย่างมีความสุข  ประพันธ์โดย PPONG 4KOMA  จัดพิมพ์โดย ห้างหุ้นส่วนจำกัด สำนักพิมพ์ไก่ 3

3) ประเภทการ์ตูนปกิณกะเชิงสร้างสรรค์ ไม่มีหนังสือเรื่องใดสมควรได้รับรางวัล

หนังสือสวยงาม มี 2 ประเภท

                1) ประเภทสวยงามทั่วไป  เรื่อง พระพุทธรูปเอกอุแห่งแผ่นดินสยาม อัครพระพุทธปฏิมา: วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เล่ม 1-2  ประพันธ์โดย  ภุชชงค์ จันทวิช สมภพ วัชฤทธิ์ และ สมภพ ถาวรวัฒนะ ; จัดพิมพ์โดย วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

2) ประเภทสวยงามสำหรับเด็ก  เรื่อง  โรนินกับปริศนาแห่งการนอน ประพันธ์โดย  เกื้อกมล นิยม ; จัดพิมพ์โดย บริษัท สานอักษร จำกัด

รางวัลชมเชย  37 เรื่อง ดังนี้

หนังสือสารคดี มี 3 ด้าน

ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม มีรางวัลชมเชย  3 เรื่อง (เรียงตามลำดับอักษรชื่อเรื่อง)  ได้แก่

                1) จิตตุงแปร่ง…ในโลก why (?) ป่วง ประพันธ์โดย  ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์  ; จัดพิมพ์โดย บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน)

2) แมวดาว ชีวิตที่ถูกลิขิตด้วยคน ประพันธ์โดย  ศาตพจี รินสุวรรณ ; จัดพิมพ์โดย คมวจี แฮสุวรรณ

3) Twists and Turns คิดเปลี่ยนในโลกหักมุม ประพันธ์โดย  สันติธาร เสถียรไทย ; จัดพิมพ์โดย บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน)

ด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และชีวประวัติ มีรางวัลชมเชย 3 เรื่อง (เรียงตามลำดับอักษรชื่อเรื่อง)  ได้แก่

                1) ขอบคุณมะเร็งที่เข้ามาป่วนชีวิต ประพันธ์โดย ‘หลิน สุพรรณี’ ; จัดพิมพ์โดย Artbook

2) ข้างสำรับอุษาคเนย์ ประพันธ์โดย องค์ บรรจุน ; จัดพิมพ์โดย บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน)

3) ประวัติศาสตร์และศิลปะอีสาน ประพันธ์โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สุรพล ดำริห์กุล ;  จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์เมืองโบราณ (ในนามบริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด)

ด้านการท่องเที่ยว อาหาร ฯลฯ มีรางวัลชมเชย 3 เรื่อง (เรียงตามลำดับอักษรชื่อเรื่อง)  ได้แก่

                1) คู่มือนำชมศิลปกรรมโบราณสมัยสุโขทัย ประพันธ์โดย ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ; จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์เมืองโบราณ (ในนามบริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด)

2) โปรตุเกส…เหตุที่รัก ประพันธ์โดย เกศณี ไทยสนธิ ; จัดพิมพ์โดย I-Fah Paradise Publishing & Wisdom Publishing by Thapanee

3) Georgia Folks ผู้คน วิถี และมิตรภาพ I DRAW & TRAVEL VOL. 2 ประพันธ์โดย รงรอง หัสรังค์ ; จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ I draw&travel

หนังสือนวนิยาย มีรางวัลชมเชย 3 เรื่อง (เรียงตามลำดับอักษรชื่อเรื่อง)  ได้แก่

                1) ฝนล้านฤดู ประพันธ์โดย  ปราปต์ ; จัดพิมพ์โดย บริษัทสถาพรบุ๊คส์ จำกัด

                2) พยับฟ้าโพยมดิน ประพันธ์โดย พงศกร ; จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ กรู๊ฟ พับลิชชิ่ง ในเครือ บริษัท กรู๊ฟ พับลิชชิ่ง จำกัด      

                3) เมื่อวานรสวานิลลาซันเด ประพันธ์โดย นทธี ศศิวิมล ; จัดพิมพ์โดย บริษัทสถาพรบุ๊คส์ จำกัด

หนังสือกวีนิพนธ์ มีรางวัลชมเชย 3 เรื่อง (เรียงตามลำดับอักษรชื่อเรื่อง)  ได้แก่

                1) จักรวาลสังเคราะห์ในกระเพาะปลวก ประพันธ์โดย โชคชัย บัณฑิต’ ; จัดพิมพ์โดย โชคชัย บัณฑิตศิละศักดิ์

2) ดวงดาวแห่งการละคร ประพันธ์โดย นิตา มาศิริ ;  จัดพิมพ์โดย วิภาทิพย์ อัลภาชน์

3) รวมบทกวี บังฟ้าเบิกอบาย ประพันธ์โดย นายทิวา ; จัดพิมพ์โดย  สำนักพิมพ์ ออน อาร์ต

หนังสือรวมเรื่องสั้น มีรางวัลชมเชย  2 เรื่อง (เรียงตามลำดับอักษรชื่อเรื่อง) ได้แก่

                1) ทับสมิงคลา และบรรดาเรื่องเล่าของเหล่าสัตว์ ประพันธ์โดย  อุเทน พรมแดง ;  จัดพิมพ์โดย  สำนักพิมพ์อินเทรนด์

2) ร้านขายเรื่องสั้นแด่ผู้ใฝ่ฝันจะมีชีวิตอยู่ ประพันธ์โดย  กิตติศักดิ์ คงคา ; จัดพิมพ์โดย บริษัท 13357 จำกัด

หนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3-5 ปี มีรางวัลชมเชย 3 เรื่อง (เรียงตามลำดับอักษรชื่อเรื่อง) ได้แก่ 

                1) คลินิกหมอฟันริมเขา : ชุดใครใครก็มีฟัน ประพันธ์โดย  นริศ สุขมาก และปรีดา ปัญญาจันทร์ ; จัดพิมพ์โดย  บริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด

2) ฉันชอบมะเขือเทศที่สุดในโลก ประพันธ์โดย  ธนัชพร จึงแย้มปิ่น ;จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์แบร์ฟุตบานาน่า ในเครือบริษัท ยูอาร์ยู จำกัด

3) หูไว ตาไว : ชุดนิทานเตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า “เด็กปลอดพอด” ประพันธ์โดย  ชีวัน วิสาสะ ; จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน

หนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6-11 ปี มี 2 ประเภท

                ประเภทบันเทิงคดี มีรางวัลชมเชย 3 เรื่อง (เรียงตามลำดับอักษรชื่อเรื่อง) ได้แก่ 

                    1) กระรอกน้อยผจญภัย ประพันธ์โดย  ด.ช. โมกข์ ลิ้มสวาท ; จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน

2) เด็กชายกับสหายผู้ปกป้อง ประพันธ์โดย  ระพีพรรณ พัฒนาเวช ; จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน

3) ตำนานใจนัยคลอง ประพันธ์โดย  สุขสันต์ บุญยะผลานันท์ ; จัดพิมพ์โดย คมบาง

ประเภทสารคดี มีรางวัลชมเชย 2 เรื่อง (เรียงตามลำดับอักษรชื่อเรื่อง) ได้แก่ 

1) ความกลัวของฉัน ประพันธ์โดย ปุณยนุช สุนทรินคะ ;  จัดพิมพ์โดย บริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด

2)  มวยไทยหัวใจนักสู้ ประพันธ์โดย บุณยวีร์ เซ่งไพเราะห์ ; จัดพิมพ์โดย บริษัท สำนักพิมพ์ห้องเรียน จำกัด

หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12 – 18 ปี มี 3 ประเภท

              ประเภทบันเทิงคดี มีรางวัลชมเชย 3 เรื่อง (เรียงตามลำดับอักษรชื่อเรื่อง) ได้แก่ 

1)  เฌอ Memoirs of the tree ประพันธ์โดย  พงศกร ;จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ เน็กซ์ พับลิชชิ่ง ในเครือบริษัท กรู๊ฟ พับลิชชิ่ง จำกัด

    2)   มีน ประพันธ์โดย วิเชียร ไชยบัง ; จัดพิมพ์โดย โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

                    3)   Hostel ของวิฬาร์ ประพันธ์และจัดพิมพ์โดย นรเศรษฐ์ ทับทิมทอง

      ประเภทสารคดี มีรางวัลชมเชย 2 เรื่อง (เรียงตามลำดับอักษรชื่อเรื่อง) ได้แก่ 

                    1) เมืองลิง  ประพันธ์และจัดพิมพ์โดย ฤทธิฤต อัคริยานนท์

              2) สุนทรภู่ ตัวตนจริงและสิ่งสร้าง ประพันธ์โดย วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง ;จัดพิมพ์โดย บริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด (สำนักพิมพ์สารคดี)

      ประเภทบทร้อยกรอง มีรางวัลชมเชย 2 เรื่อง (เรียงตามลำดับอักษรชื่อเรื่อง) ได้แก่ 

                    1) ที่นี่สถานีบางรัก ประพันธ์โดย  รพีพรรณ เพชรอนันต์กุล ;  จัดพิมพ์โดย มหาวิทยาลัยรังสิต

2) ร้อยลักษณ์สักวา ปริศนาคำทาย ประพันธ์โดย เผด็จ บุญหนุน ; จัดพิมพ์โดย เสียงพิณ เตมียสถิต

หนังสือการ์ตูน และ หรือนิยายภาพ มี 3 ประเภท

                ประเภทการ์ตูน และ หรือนิยายภาพสำหรับเด็ก (อายุ 6 – 11 ปี) ไม่มีหนังสือเรื่องใดสมควรได้รับรางวัล

                ประเภทการ์ตูน และ หรือนิยายภาพทั่วไป (อายุ 12 ปีขึ้นไป) ไม่มีหนังสือเรื่องใดสมควรได้รับรางวัล

ประเภทการ์ตูนปกิณกะเชิงสร้างสรรค์ มีรางวัลชมเชย 1 รางวัล ได้แก่ เรื่อง พุทธประวัติฉบับคอมมิค ภาคก่อนตรัสรู้ Before Becoming the Buddha Vol 2 ประพันธ์และจัดพิมพ์โดย ADISAK DAS PONGSAMPAN

หนังสือสวยงาม มี 2 ประเภท

                ประเภทสวยงามทั่วไป มีรางวัลชมเชย 1 เรื่อง  ได้แก่ เรื่อง วัดใหญ่สุวรรณาราม ประพันธ์โดย รองศาสตราจารย์พงศกร ยิ้มสวัสดิ์ และวีรยา บัวประดิษฐ์ ; จัดพิมพ์โดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

      ประเภทสวยงามสำหรับเด็ก มีรางวัลชมเชย 3 เรื่อง (เรียงตามลำดับอักษรชื่อเรื่อง) ได้แก่

                    1)   ซุนหงอคง ราชาวานร ประพันธ์โดย  ณัฐชนัน โฆษิตาภรณ์ ; จัดพิมพ์โดย  บริษัท สำนักพิมพ์ห้องเรียน จำกัด

                    2)   ตือรีมอกาเซะห์ ขอบคุณ : ชุด นิทานสร้างเสริมทักษะชีวิต ประพันธ์โดย  รุสนี ปาเซเลาะ และฝ้ายลิกา ยาแดง ; จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน

3) เสียงดนตรีในสายฝน ประพันธ์โดย สุรศักดิ์ พุ่มรัก ;จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์คิดดี้ ในเครือบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด

ย้ายครูผ่านระบบ TRS ยังเรียบร้อยดี ปัญหาน้อยมาก “ประวิต”พร้อมพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น ย้ำย้ายวิธีใหม่ไม่ได้กำหนดให้ครูทำผลงานประกอบการพิจารณา

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการย้ายข้าราชการครู ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2568 ผ่านระบบ TRS (Teacher Rotation System) ว่า ตามปฏิทินการย้ายฯ ได้กำหนดให้ ผอ.สถานศึกษา(ปลายทาง) ต้องนำความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาเข้าสู่ระบบ TRS ให้เสร็จภายใน วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งจากการเฝ้าสังเกตและตรวจสอบระบบข้อมูลตลอดทั้งวัน พบว่าสามารถดำเนินการได้เรียบร้อยแล้วถึง 97%  ส่วนที่เหลืออีก 3% ทางสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้ประสานส่วนราชการและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในคืนนี้ เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ให้กับข้าราชการครูให้มากที่สุด ทั้งนี้ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการติดตามความคืบหน้าจากสำนักงาน ก.ค.ศ.ตลอดเวลา  และเน้นย้ำให้ดำเนินการโดยยึดประโยชน์ของคุณครูเป็นหลัก ส่วนไหนที่ยืดหยุ่นหรือต้องปรับปรุงก็ให้ดำเนินการให้รวดเร็ว บนความถูกต้อง เพื่อให้ครูได้ย้ายอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

รศ.ดร.ประวิต กล่าวต่อไปว่า เรามีการรับฟังปัญหาและแก้ไขข้อบกพร่องของตัวระบบอย่างต่อเนื่อง โดยมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ และคอยแก้ปัญหาระบบหลังบ้านตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากระบบนี้เป็นระบบใหม่อาจยังไม่สมบูรณ์พร้อม 100% แต่ขอให้มั่นใจว่าการดำเนินการจะเป็นไปด้วยความโปร่งใส และจะนำข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ไปปรับปรุงหลักเกณฑ์ฯ และตัวระบบให้สามารถดำเนินการได้ดียิ่งขึ้นในการย้ายครั้งต่อไป ขอให้คุณครู ผู้อำนวยการ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องศึกษาการใช้งานระบบ เพื่อให้สามารถดำเนินการย้ายในครั้งต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“สิ่งที่ต้องการเน้นย้ำอีกครั้ง คือ ขณะนี้ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการจัดทำผลงานเพื่อประกอบการพิจารณาย้าย ซึ่งตามหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายใหม่ (ว 6/2567) ไม่ได้กำหนดให้ต้องจัดทำผลงานของครูเพื่อประกอบการพิจารณาแต่อย่างใด โดยการย้ายกรณีปกติระบบจะประมวลผลตาม 8 องค์ประกอบ คือ 1. ที่ตั้งของสถานศึกษา 2. กลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาที่สอนในปัจจุบัน 3.เหตุผลในการขอย้าย 4. ระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ 5. อายุราชการ 6. สภาพความยากลำบากของสถานศึกษา 7. ผลการปฏิบัติงานตาม PA และมาตรฐานตำแหน่ง 8. วินัยคุณธรรม โดยระบบจะแสดงผลการประมวลของผู้ที่ได้คะแนนและอันดับที่ดีที่สุดในสาขาวิชาในสถานศึกษานั้น ๆ เพื่อให้เสนอ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ.ที่ ก.ค.ศ.ตั้งขึ้นพิจารณาต่อไป” รศ.ดร.ประวิตกล่าวและว่า ส่วนกรณีการย้ายสับเปลี่ยน เป็นการย้ายผู้ที่ดำรงตำแหน่งครูด้วยกัน และเมื่อได้มีการยืนยันการจับคู่แล้วให้เสนอ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง พิจารณาต่อไป ขณะที่กรณีพิเศษและกรณีเพื่อประโยชน์ของทางราชการ เป็นการยื่นคำร้องขอย้ายตามความจำเป็น สามารถยื่นได้ตลอดทั้งปี โดยสำนักงานเขตพื้นที่ฯ/ส่วนราชการ นำคำร้องดังกล่าวจากระบบ TRS เสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการย้าย เพื่อพิจารณากลั่นกรองและตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเสนอ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง พิจารณา แล้วนำผลการพิจารณาไปบันทึกในระบบ TRS เพื่อแจ้งให้ผู้ขอย้ายทราบ

สพฐ.เฝ้าดูครูยื่นย้ายผ่านระบบTRS ห่วงระบบไม่อ่านผลงาน เร่งชง ก.ค.ศ.แก้ไข หวั่นกระทบสิทธิ์ครู

จากการประชุมผู้บริหารระดับสูงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ครั้งที่ 7/2568 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้มอบให้สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สพฐ. สรุปจำนวนครูที่เขียนคำร้องขอย้ายในระบบการย้ายข้าราชการครูผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์  ( Teacher Rotation System : TRS) ซึ่งพบว่า ปีนี้มีครูขอยื่นในระบบจำนวนสูงขึ้น โดยที่ประชุมได้กำชับให้ สพร.ติดตามปัญหาในการยื่นผ่านระบบนี้ ซึ่งที่เป็นปัญหามาก คือ การอ่านผลงานครูที่ระบบยังไม่อ่าน เรื่องนี้ สพฐ.ก็พยายามหาวิธีรายงานให้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)ทราบและแก้ไข เพื่อไม่ให้กระทบสิทธิ์ของครู นอกจากนี้สิ่งที่ สพฐ.มีความสนใจที่สุด คือ  มีจำนวนครูยื่นผ่านระบบ 3.6 หมื่น แต่จะได้ย้ายจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งตัวเลขนี้จะเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพของระบบได้

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้า การประเมินวิทยฐานะผ่านระบบการประเมินวิทยฐานะดิจิทัล (DPA) ซึ่งปีนี้มีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษายื่นขอรับการประเมินมากถึง 2,156 คน แบ่งเป็น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 1,667 คน สำนักงานเขตพื้น ที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.)489 คน โดยมีผู้ผ่านการประเมินกว่า 80%  หมายความว่า ส่วนใหญ่ผ่าน ขณะที่กลุ่มที่อาจจะมีปัญหายังไม่ผ่านส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มชำนาญการ และ เชี่ยวชาญ ซึ่ง สพฐ.จะได้วิเคราะห์ข้อมูล หาทางช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาของ สพฐ.มีความก้าวหน้าต่อไป

” ส่วน โครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง หรือ OBEC Zero Dropout นั้น ขณะนี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 245 เขต ได้ดำเนินการค้นหาเด็กตกหล่นและเด็กออกกลางคันได้ ครบ 100% แล้ว ซึ่งสิ่งที่ต้องดำเนินการคือ  พาน้องกลับเข้าระบบการศึกษา ตามนโยบายรัฐบาล และนโยบาย พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่หากน้องไม่กลับมาเรียน เราก็ต้องนำการเรียนไปให้น้อง โดย สพฐ.ได้เตรียมแนวทางดำเนินการในรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง การเตรียมสื่อออนแฮนด์  การทำโรงเรียน “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” เพื่อการศึกษาที่ยืดหยุ่น , โรงเรียนคอมพิวเตอร์ โรงเรียนมือถือ เป็นต้น ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าว สพฐ.ดำเนินการตามนโยบาย รมว.ศึกษาธิการที่ย้ำว่า จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน“ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวและว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รายงานความคืบหน้าการเลื่อนเปิด-ปิด ภาคเรียน โดยยังคงให้เปิดเรียนวันที่ 16 พฤษภาคม เช่นเดิม แต่เลื่อนการปิดเทอมจากเดิม วันที่ 11 ตุลาคม เป็นวันที่ 30 กันยายน เพื่อให้สอดคล้องกับปีงบประมาณ โดยคาดว่าจะดำเนินการได้ในปีการศึกษา 2569 ส่วนภาคเรียนที่ 2 ให้คงไว้เช่นเดิม

“คุรุสภา”เปิดสถิติปี’67 เพิกถอนใบอนุญาตฯ 43 ราย

ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า ในรอบปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 กันยายน 2567 คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) ได้พิจารณากรณีผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาถูกกล่าวหา/กล่าวโทษที่ประพฤติผิดทางจรรยาบรรณของวิชาชีพ รวม 166 ราย โดยวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว 159 ราย ในจำนวนนี้ลงโทษสูงสุดขั้นเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จำนวน 43 ราย พักใช้ใบอนุญาตฯ มีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกิน 5 ปี จำนวน 18 ราย ภาคทัณฑ์ จำนวน 43 ราย ตักเตือน จำนวน 49 ราย ยกข้อกล่าวหา/กล่าวโทษ จำนวน 6 ราย และได้พักใช้ใบอนุญาตฯ ทุกประเภทไว้ก่อนตลอดระยะเวลาการสอบสวนการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ โดยไม่ต้องรอผลการสอบสวนฯ จำนวน 7 ราย

เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อไปว่า เรื่องร้องเรียน กล่าวหา/กล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพที่กระทำความผิดทางจรรยาบรรณของวิชาชีพมีหลากหลายกรณี เช่น ความผิดเกี่ยวกับเพศ กระทำอนาจาร ทุจริตต่อหน้าที่ ชู้สาว ยาเสพติด ลงโทษนักเรียนไม่เหมาะสม ละทิ้งหน้าที่ ลักทรัพย์  ใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม หมิ่นประมาท รายงานเท็จ แอบอ้างผลงานผู้อื่น และเปลี่ยนแปลงข้อความสำเนาเอกสาร เป็นต้น ซึ่งกรณีความผิดที่ได้รับโทษสูงสุดขั้นเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จะเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดเกี่ยวกับเพศ กระทำอนาจาร ค้าประเวณี การทุจริตต่อหน้าที่ และความผิดเรื่องชู้สาว โดยเฉพาะกรณีการล่วงละเมิดทางเพศกับนักเรียน คุรุสภาได้ย้ำเตือนมาโดยตลอดว่าจะลงโทษอย่างจริงจัง หากความผิดปรากฏหลักฐานชัดเจนจะพิจารณาลงโทษขั้นสูงสุด คือ เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันที และบันทึกประวัติความผิดไว้ในระบบสารสนเทศฯ ด้านทะเบียนและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เพื่อประกอบการพิจารณาลักษณะต้องห้ามในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพต่อไป

“ ขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาทุกคน ทุกสังกัด ช่วยกันกำกับดูแลให้ทุกพื้นที่ในสถานศึกษาเป็นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนและครู อย่าเพิกเฉยต่อการกระทำอันไม่เหมาะสมของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งใดก็ตาม หากพบว่าบุคคลนั้นประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพควรแจ้งข้อกล่าวหา/กล่าวโทษ  ซึ่งคุรุสภาพร้อมร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการทางจรรยาบรรณกับผู้ประกอบวิชาชีพอย่างเด็ดขาด” เลขาธิการคุรุสภา กล่าว.

สพม.ศรีสะเกษ-ยโสธร เปิดมุมมองการประเมินคุณภาพภายนอกปี 2567 – 2571 รูปแบบ “การประเมินเพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา”

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการประกันคุณภาพการศึกษา ผ่านการประเมินคุณภาพภายนอกเพื่อให้มั่นใจว่าการศึกษาไทยมีมาตรฐานและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภายใต้กรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา พ.ศ. 2567-2571 สมศ. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินคุณภาพภายนอกที่เหมาะสม โดย สมศ. มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการให้ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่สถานศึกษาสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา

ที่ผ่านมา สมศ. ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต้นสังกัดและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานศึกษาเกิดการตื่นตัว และตระหนักถึงความสำคัญว่าการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. นั้นไม่ได้เป็นการสร้างภาระ แต่เป็นการ “ประเมินเพื่อพัฒนา” ให้สถานศึกษาทราบจุดเด่นเพื่อต่อยอด ทราบจุดบกพร่องเพื่อพัฒนา และที่สำคัญเป็นการสร้างความตระหนักว่าการประเมินคุณภาพภายนอก เป็นระบบที่ช่วยสะท้อนภาพที่แท้จริงของสถานศึกษาและคุณภาพการเรียนการสอนว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดหรือไม่ ทำให้สถานศึกษาได้เห็นจุดแข็งและจุดที่ควรพัฒนาของตนเองได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

โดย ดร.รัตติกร ทองเนตร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาศรีสะเกษ-ยโสธร กล่าวว่า ปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนการประกันคุณภาพการศึกษาให้มีประสิทธิภาพและเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม สถานศึกษาต้องมีการบูรณาการการประกันคุณภาพภายในและภายนอกให้เป็นเสมือนงานเดียวกัน ทั้งนี้ ได้จัดโครงการที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานการประกันคุณภาพของสถานศึกษา เช่น โครงการส่งเสริมพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อให้การประกันคุณภาพภายในเข้มแข็ง รวมถึงสื่อสารแนวทางการขับเคลื่อนให้ไปในทิศทางเดียวกันเพื่อที่จะประสบความสำเร็จและเดินหน้าไปพร้อมกัน  ซึ่งปัจจัยความสำเร็จของการประกันคุณภาพของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (ศรีสะเกษ – ยโสธร) คือการที่บุคลากรในพื้นที่ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการกลุ่ม ประธานสหวิทยาเขตทั้ง 12 แห่ง และผู้บริหารทุกสถานศึกษาทั้ง 83 แห่งในพื้นที่ ถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการประกันคุณภาพให้มีประสิทธิภาพ

ดร.รัตติกร กล่าวต่อไปว่า การประชุมในรูปแบบ Online  ให้กับสถานศึกษาในสังกัดทุกแห่ง เป็นการสื่อสารและสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในแต่ละมาตรฐานและตัวชี้วัด ว่าจะต้องเตรียมการอย่างไรบ้าง สถานศึกษาต้องเขียนรายงานอย่างไรที่จะให้เห็นข้อมูลที่ชัดเจน พร้อมให้คำปรึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันว่าทำอย่างไรให้งานที่สถานศึกษาดำเนินการอยู่แล้ว ให้เป็นวิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศ หรือเป็นแบบอย่างที่ดี ตลอดจนสิ่งที่จะนำมาประกอบในการประเมินในแต่ละมาตรฐาน และตัวชี้วัดว่าจะต้องมีอะไรบ้าง ควบคู่ไปกับการให้ศึกษานิเทศก์รับผิดชอบไปนิเทศสถานศึกษาแบบบูรณาการ เป็นพี่เลี้ยง ช่วยเหลือ และดูแลสถานศึกษาว่าในแต่ละตัวชี้วัด สถานศึกษาสามารถดำเนินการได้ถึงระดับไหน พร้อมกับให้ศึกษานิเทศก์ดูแลว่าสถานศึกษานั้นๆ จำเป็นต้องเพิ่มเติมสิ่งใดให้ครบถ้วน โดยไม่ต้องทำอะไรใหม่เนื่องจากเป็นสิ่งที่สถานศึกษาได้ดำเนินการเป็นปกติอยู่แล้ว จึงเป็นการง่ายต่อการพร้อมรับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ.

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต้องบูรณาการร่วมกันในเรื่องของการประกันคุณภาพภายในและการประกันคุณภาพภายนอก โดยทำให้เป็นกิจวัตร พร้อมทั้งนำนวัตกรรม ตลอดจนเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้เพื่อความสะดวกรวดเร็ว หากสถานศึกษามีคุณภาพก็จะทำให้บุคลากรในสถานศึกษามีคุณภาพ และสามารถสร้างให้ผู้เรียนเป็นคนดี คนเก่ง และเป็นคนมีคุณภาพ ซึ่งถ้ามีผู้เรียนที่มีคุณภาพจำนวนมากจะเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติต่อไป

ดร.จิตตนาถ สิงห์โต ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย ได้เข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา พบว่ามาตรฐานตัวชี้วัดของ สมศ. ตามกรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา พ.ศ. 2567-2571 มีความสอดคล้องกับมาตรฐานตัวชี้วัดของ สพฐ. อยู่แล้ว เพียงแต่ในการเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. นั้น สถานศึกษาจะต้องมีการเตรียมการวางแผน โดยเฉพาะในเรื่องของการทบทวนตัวชี้วัดของ สมศ. รวมทั้งแผนงานของโครงการที่เกี่ยวข้องในแต่ละมาตรฐานเกี่ยวกับกระบวนการและวิธีการที่ได้มาซึ่งความสำเร็จทั้งของผู้เรียน หรือของบุคลากร หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลที่สำคัญเป็นอย่างมากคือ ข้อเสนอแนะจากการประเมินคุณภาพภายนอกในรอบที่ผ่านมา สถานศึกษาได้นำมาใช้ในการปรับปรุงพัฒนาในโครงการใดบ้าง เพื่อเป็นการพัฒนาต่อยอดการดำเนินงานของสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง ปัญหาของสถานศึกษาขนาดใหญ่และสถานศึกษาขนาดเล็กนั้นมีความแตกต่างกันตามบริบทของสถานศึกษา สถานศึกษาขนาดเล็กส่วนมากจะมีบุคลากรน้อย ทำให้ข้อมูลมักอยู่ที่บุคคลเพียงคนเดียวซึ่งอาจจะต้องรับผิดชอบค่อนข้างมาก แต่มีข้อดีคือสามารถบูรณาการได้ง่ายและคล่องตัวในการดำเนินงาน ส่วนสถานศึกษาขนาดใหญ่ จะแยกเป็นแต่ละฝ่ายที่มีหน้าที่ดูแลเป็นรายตัวชี้วัด ทำให้เก็บข้อมูลยาก เพราะมีผู้ดูแลจำนวนหลายคน แต่ทุกปัญหาอยู่ที่การบริหารจัดการ โดยเฉพาะตัวผู้บริหารเองที่จะต้องเป็นผู้ประสานงานให้ได้มาซึ่งข้อมูลตามตัวชี้วัด เพื่อจัดทำรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR)

“ งานประกันคุณภาพเป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างประกันคุณภาพภายในและประกันคุณภาพภายนอก ที่ผู้บริหารสถานศึกษาต้องดำเนินการขับเคลื่อนเพราะเป็นหน้าที่หนึ่งของการบริหารจัดการศึกษา ถ้าการขับเคลื่อนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีการเก็บรวบรวมข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์อยู่แล้ว สถานศึกษาไม่ต้องกังวลในเรื่องการรับการประกันคุณภาพภายนอก เพราะผู้ประเมินภายนอกจะสามารถเห็นได้ถึงการทำงานและความตั้งใจในการดำเนินงานที่สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาสถานศึกษาด้วย”ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องวุ่น ๆ ในวังจันทร์เกษม

หยอก หยอก วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 *** วันนี้ขอเสนอคำว่า “ปากว่าตาขยิบ” แปลว่า พูดอย่างหนึ่ง แต่ทำอีกอย่างหนึ่ง เป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรทำกับใครอย่างยิ่ง เพราะความจริงใจจะทำให้คุณได้ใจและได้มิตร *** นานนับเดือนที่ “หยอก” ไม่มีเวลาเข้ามาทักทาย FC เพราะมัวแต่เดินสายทำงาน วันนี้พอมีเวลาก็เลยเข้ามาบอกข่าวแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันพอหอมปากหอมคอให้หายคิดถึง … เริ่มจากการบอกข่าวว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการประกาศคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ว่างอยู่ 9 ตำแหน่ง และจะมีการประกาศรายชื่อผู้ที่เหมะสมกับตำแหน่งในเร็ว ๆ นี้…แต่หยอกเชื่อว่าทุกตำแหน่งมีธงอยู่ในใจผู้มีอำนาจอยู่แล้ว … จะอะไรอย่างไงก็แล้วแต่ ขอแต่เพียงให้ได้คนที่เก่งครบเครื่องทั้งบู๊และบุ๋น มีทั้งพลกำลังและมันสมอง เป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่ถูกร้องเรียนฟ้องร้องให้เป็นคดีความ สมกับที่ได้พูดเน้นย้ำมาโดยตลอดถึงการทำงานที่โปร่งใส..ฮะฮะฮ่า *** มาพูดถึง ระบบ TRS หรือ Teacher Rotation System คือ ระบบการย้ายข้าราชการครูผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการส่งผ่าน จัดการและประมวลผลข้อมูลเพื่อใช้ในการพิจารณาย้ายครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีหลายพันคนสงสัยส่งข้อความมาถามหยอกว่า ระบบไม่อ่านผลงาน และ AI ตัดคุณสมบัติ เรื่องนี้ หยอก ได้สอบถาม รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา อดีตเลขาธิการ ก.ค.ศ.คนทำระบบ ที่ เสมา 1 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ ยังไม่ยอมให้ปล่อยมือจากเรื่องนี้ … ก็ได้คำชี้แจงว่า ที่ AI ไม่อ่านผลงาน เพราะไม่ได้นำเอาผลงานมาพิจารณาเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ แต่นี่เป็นเรื่องการย้าย AIจะอ่านเฉพาะเหตุผลที่ต้องการย้าย มีเหตุผลอะไรถึงอยากย้ายกลับบ้าน กลับไปดูแลพ่อแม่ เป็นต้น ส่วนกรณี AI ไม่อ่านคุณสมบัติ อาจเป็นยังไม่ถึงเกณฑ์การย้าย หรือ ติดเงื่อนไข เช่น เป็นนักเรียนทุนโครงการต่าง ๆ ซึ่งจะต้องอยู่ให้ครบตามเงื่อนไขสัญญา แต่อย่างไรก็ตามเรื่องที่ครูร้องมาก็ยินดีรับฟังและจะนำไปแก้ไข เพื่อให้ครูได้ย้ายอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม … แต่ระบบนี้จะกีดกันคนเก่งที่พ่อ แม่ เสียชีวิต แต่อยากกลับบ้านเกิดหรือไม่ … ก็น่าคิดอยู่นะ..อิอิอิ *** วันก่อน ผศ.ดร.อมลวรรณ  วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา ออกมาให้ข่าวว่า ข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2567มีผลบังคับใช้แล้ว เปิดช่องให้บุคลากรทางการศึกษาทุกกลุ่ม รวมถึงบุคลาทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2)เข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์ได้ ทำให้ข้าราชการ 38 ค.(2)ใจฟูขึ้นมาทันที เพราะเรียกร้องมากว่า 20 ปีแล้ว แต่ไม่มีอัตราตำแหน่งความเจริญก้าวหน้าในอาชีพเท่าที่ควรจะได้ตามเนื้องาน … แต่ก็ดีใจได้แค่ชั่วข้ามคืน เพราะมีคนรู้จริงทักท้วงว่า ถ้าจะได้ต้องผ่านขั้นตอนมากมายต้องทำผลงาน ต้องจบปริญญาโท จบบริหารการศึกษา ที่สำคัญต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู ซึ่งหลายคนไม่มีหมดอายุแล้ว บางคนไปต่ออายุไม่ได้ เป็นต้น …ตอนนี้ก็มีพรายกระซิบหยอกมาว่า คุรุสภาได้ให้แกนนำแต่ละกลุ่มงานมาทำกรอบกันใหม่ ก็รอดูหน้าตากรอบใหม่ว่า 38 ค.(2)จะมีโอกาสตามที่เคยร้องขอหรือไม่…ไม่ใช่มอง 38 ค.(2)เป็นเพียงธุรการในสำนักงานเท่านั้น…ช่วยลุ้นเด้อจร้า***เรื่องสุดท้ายจะไม่พูดถึงก็คงไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ แต่มีเด็กเป็นตัวประกัน นั่นก็คือ การพิมพ์หนังสือแบบเรียนองค์การค้าของ สกสค.ที่ถูกร้องแล้วร้องอีก ยกเลิกแล้วยกเลิกอีก และการยื่นประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2568 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ผ่านระบบ e-GP เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 ซึ่งมีผู้ยื่นเข้าประกวดราคาเพียงรายเดียว และต่อมาเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2568 ได้ประกาศให้เป็นผู้ชนะการประกวดราคาจ้างพิมพ์ฯ ทั้ง 145 รายการ วงเงินกว่า 1 พันล้านบาท และเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ก็ประกาศยกเลิกฯและให้ดำเนินการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมอีกครั้ง เพราะสังคมอาจมองว่า “เป็นการแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์” โดยล่าสุด(วันนี้)ก็ออกมาตีปี๊ปให้ข่าวว่าองค์การค้าสกสค.ได้ทำหนังสือเชิญชวนให้โรงพิมพ์ที่มีศักยภาพในการพิมพ์หนังสือแบบเรียนประจำปีการศึกษา 2568 จำนวน 145 รายการ งบประมาณ 1 พันล้านบาทต้น ๆ ด้วยวิธีการคัดเลือก โดยจะประกวดราคากันในวันจันทร์ที่ 24 ก.พ.นี้…เฮ้อออ หยอก งง นะเนี่ย ถ้าคิดว่าเป็นการแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์ แล้วประกาศประกวดราคาผู้ชนะตั้งแต่แรกทำไม ทั้ง ๆ ที่ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็ออกมาเตือนแล้ว..งง เด้  หรือออกมาเพื่อให้เอเย่นต์หรือร้านค้าจำหน่ายหนังสือองค์การค้าฯสบายใจ..555 อุบ *** แต่ข่าวที่ บริษัทรุ่งศิลป์ฯทำหนังสืออุทธรณ์ ถึงกรมบัญชีกลาง เรื่องปกหนังสือ ก็ยังรอการวินิจฉัยอยู่…นะ *** ที่ว่ามานี่ หยอก เขียนตามลำดับเหตุการณ์ เอาไทม์ไลน์มาวิเคราะห์ ไม่ได้ตั้งแง่กับองค์การค้าสกสค. แต่ที่เล่ามาก็ด้วยความเป็นห่วงนักเรียนว่าจะได้รับหนังสือทันเปิดเทอมหรือเปล่า เพราะเมื่อปี 2567 ได้ข่าวมาว่าโรงเรียนยังได้รับหนังสือล่าช้า ซึ่งจริง ๆ แล้วโรงเรียนต้องได้รับหนังสือก่อนเปิดเทอมเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่บทเรียน เด็กไม่มีหนังสือเรียนแม้แต่ชั่วโมงเดียวก็ไม่สมควรเป็นเช่นนั้น แต่มีบางโรงเรียนที่ผู้บริหารเข้มแข็งก็จะไปซื้อหนังสือเรียนของเอกชน เพราะเขาไม่มีปัญหาในการพิมพ์หนังสือ *** ขอเถอะผู้ใหญ่ทะเลาะกันก็อย่าให้กระทบเด็กเลย เพราะเด็กคืออนาคตของชาติ…เอวัง ***

“เสมา 1” ปลื้มใจแนวทางจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน ทำให้ติดตามเด็กหลุดระบบประสบความสำเร็จ ชื่นชมโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง”เป็นโมเดลที่ดี

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ  เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 6/2568 ว่า การประชุมวันนี้มีการติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้จัดอบรมสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในระดับเขตพื้นที่ จำนวน 245 เขตพื้นที่ 78 ห้องเรียน ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น 445,624 คน ลงทะเบียนแล้ว 239,098 คน อบรมแล้วเสร็จ 147,794 คน  , มีการนำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ 3 โดเมน ไปใช้ในห้องเรียน 6 – 8 กิจกรรม คิดเป็นร้อยละ 87.89  , มีการวางแผนจัดทำชุดพัฒนาความฉลาดรู้สำหรับนักเรียน ม.4 เพื่อสอนเสริมเพิ่มพูนในรูปแบบ Anywhere Anytime  และมีการเตรียมจัด Computer Summer Camp 2025 ส่งเสริมการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้รูปแบบ Anywhere Anytime ช่วงระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2568

ส่วนสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) ได้นำเสนอปัญหาของการเตรียมตัวสอบ PISA ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจาก “ทรัพยากรที่จำกัด” โดยนำเสนอแนวทางการเตรียมความพร้อมการทดสอบ PISA2025 (PISA 2025 Check List) 4 กระบวนการ ได้แก่ 1. สร้างแรงจูงใจแก่นักเรียน ครู ไปจนถึงผู้อำนวยการโรงเรียนให้เห็นถึงความสำคัญของการสอบ PISA Style 2. สร้างทักษะ ให้เด็กกลุ่มเป้าหมายได้มีโอกาสทดลองข้อสอบ ครูสามารถออกข้อสอบแนว PISA ได้ และจัดทำ Application โดยนำ AI เข้ามาช่วย ซึ่งมีแผนพัฒนา AI ในช่วงเดือนเมษายนนี้ ก่อนนำไปใช้ทดสอบกับกลุ่มผู้ใช้จริงในเดือนมิถุนายน 3. โครงสร้างพื้นฐาน โดยมีการตรวจเช็คความพร้อมของอุปกรณ์สอบ PISA 4. ระบบสนับสนุน โดยสร้างความรู้ความเข้าใจให้หน่วยงานในระดับบริหารเห็นความสำคัญ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า  สกศ.ยังได้รายงานการจัดอันดับ English Proficiency Index (EF EPI) ว่า ตามที่ EF ได้จัดอันดับ English Proficiency Index (EF EPI) ซึ่งเป็นการจัดอันดับประเทศและภูมิภาคด้วยทักษะภาษาอังกฤษ ซึ่งดัชนีทักษะภาษาอังกฤษของไทย อยู่ในอันดับ 106 จาก116 ประเทศ นั้น เมื่อดูในรายละเอียดสถิติคะแนนสอบของผู้เข้าสอบเป็นช่วงอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งผู้เข้าสอบช่วงอายุ 41-50 ปี ยังได้คะแนนน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ศธ.ได้นำเรื่องนี้มาวิเคราะห์เพื่อวางแผนระยะยาวและมีมาตรการเร่งส่งเสริมให้มีการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศ โดยมอบหมายให้เลขาธิการคุรุสภา ประสานงานกับทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)  มหาวิทยาลัย และหน่วยงานภายใต้กำกับของ ศธ. ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะ สกศ. และ กรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.)เพื่อกระตุ้นการฝึกทักษะด้านภาษาและเห็นความสำคัญของการเข้าทดสอบต่าง ๆ

“นอกจากนี้มีการรายงานการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษาเชิงระบบ (THAILAND Zero Dropout) โดย สกศ. รายงานผลการดำเนินงานการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษาเชิงระบบ (Thailand Zero Dropout) ข้อมูลเด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ภาคบังคับ (6-15 ปี) ณ วันที่ 3 – 17 ก.พ. 2568 จำนวนเด็กนอกระบบการศึกษา 1,025,514 คน  ติดตามแล้ว 976,123 คน (ร้อยละ 95.18) และสามารถนำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา 321,765 คน (ร้อยละ 31.38)  ยังไม่ได้ติดตาม 49,391 คน (ร้อยละ 4.82)ซึ่งติดตามเด็กวัยเรียนภาพรวมเพิ่มขึ้น 95,038 คน (สพฐ. 61,298 คน ศธจ. 33,740 คน) เป็นเด็กไทย 59,717 คน และเด็กต่างชาติ 35,321 คน  และ มีการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษา ที่อยู่ในวัยเรียน (เด็กตกหล่น) โดย สพฐ. สำเร็จแล้ว 616,625 คน ครบร้อยละ 100

“ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่เราได้ลงพื้นที่ ติดตามเด็กตกหล่น ทำให้ได้เห็นปัญหาทั้งหมด และโครงการตามน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง ของ สพฐ. ก็ได้ผลดี ซึ่งเป็นแนวทางที่ดี และคิดว่าในปีต่อไปเด็กหลุดระบบจะน้อยลง แต่ก็ต้องมีการวางกระบวนการใหม่เพื่อลดภาระให้กับโรงเรียน โดยต้องดูปัญหาในแต่ละกรณีเพื่อให้เจ้าภาพในพื้นที่ที่รับผิดชอบได้ช่วยติดตามช่วยโรงเรียน เพราะครูจะต้องดูในมิติของการเรียนการสอน ส่วนการตามเด็กให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครอง อย่างไรก็ตามปีนี้ที่เราประสบความสำเร็จในการติดตามเด็ก ผมเชื่อว่าเป็นเพราะความร่วมมือที่ดีกับหลาย ๆ หน่วยงานในการดำเนินการตามแนวทางจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน ”รมว.ศึกษาธิการกล่าว

 

“โฆษกศธ.”แจง เหตุยกเลิกประกาศพิมพ์หนังสือองค์การค้า สกสค. ถอยเพื่อให้เกิดการแข่งขันเป็นธรรม ขอให้เชื่อมั่นทันเปิดเทอมชัวร์

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 – นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เผยกรณีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (องค์การค้าของ สกสค.) ยกเลิกประกาศประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2568 จำนวน 145 รายการ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม แต่อาจเป็นข้อกังวลจากสังคมว่าการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนจะแล้วเสร็จทันเปิดเทอมหรือไม่

โฆษก ศธ. เปิดเผยว่า จากกรณีที่องค์การค้าของ สกสค. ได้ประกาศยื่นประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2568 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ผ่านระบบ e-GP ซึ่งมีผู้ยื่นเข้าประกวดราคาทั้งหมด 6 ราย ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 มีเพียงรายเดียวที่ยื่นในระบบ e-GP สำเร็จ คือ บริษัท วรรณชาติเพรส (2020) จำกัด และต่อมาเมื่อวันที่ 7 ก.พ.68 ได้ประกาศให้เป็นผู้ชนะการประกวดราคาจ้างพิมพ์ฯ ทั้ง 145 รายการ วงเงิน 1,016,914,750 บาท ซึ่งสังคมอาจมองว่า “เป็นการแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์”

นายสิริพงศ์ กล่าวอีกว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำมาโดยตลอดถึงการทำงานที่โปร่งใสของภาครัฐ จึงเล็งเห็นว่ากระบวนการดังกล่าวที่กำหนดให้ผู้ยื่นประกวดราคากรอกข้อมูลรายการทั้งหมด จำกัดเวลาเพียงแค่ 3 ชั่วโมง เพื่อลดการรั่วไหลของข้อมูลเสนอราคา e-bidding ตามที่กรมบัญชีกลางบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2566 ด้วยกรอบเวลาที่จำกัดอาจเกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และเกิดคำถามจากสังคมตามมาถึงกระบวนการ องค์การค้า สกสค. จึงประกาศ “ยกเลิก” ประกาศรายชื่อผู้ชนะการเสนอราคาจ้างพิมพ์แบบเรียนปีการศึกษา 2568 ด้วยวิธีประกาศราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ และให้ดำเนินการประกวดราคาใหม่จัดซื้อจัดจ้างใหม่ เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมอีกครั้ง ซึ่งทราบว่า องค์การค้าของสกสค.ได้ทำหนังสือเชิญชวนให้โรงพิมพ์ที่มีศักยภาพในการพิมพ์หนังสือแบบเรียนจำนวน 15 ราย เสนอราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนประจำปีการศึกษา 2568 จำนวน 145 รายการ โดยให้ดำเนินการใช้วิธีจัดจ้างพิมพ์จากผู้ประกอบการตาม พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และหนังสือตอบข้อหารือของกรมบัญชีกลาง เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตามระเบียบอย่างเคร่งครัด สังคมจะได้เห็นถึงการแข่งขันที่เป็นธรรมชัดเจน

โดยขั้นตอนการดำเนินการในการจ้างพิมพ์จะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยกระบวนการจะต้องเสร็จสิ้นสามารถจัดส่งหนังสือล็อตแรกตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2568 และกำหนดส่งครบจนแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 เมษายน 2568 ทันก่อนวันเปิดภาคเรียนถัดไปในวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากผู้เรียน ครู ผู้ปกครอง ประชาชน และสังคม ว่าหนังสือเรียนที่ได้รับจะเต็มไปด้วยคุณภาพในราคาที่เป็นธรรม

“กระทรวงศึกษาธิการขอเรียนว่า แม้การผลิตหนังสือแบบเรียนในครั้งนี้จะสะดุดไปบ้าง แต่การดำเนินงานต่อจากนี้จะเกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย โปร่งใส ตรวจสอบได้ ขอให้เชื่อมั่นในกระบวนการและเข้าใจเหตุผลที่ยกเลิกประกาศพิมพ์หนังสือดังกล่าว เพื่อรีเซ็ตให้ทุกขั้นตอนเต็มไปด้วยความถูกต้องไม่ค้านสายตาสังคม และทุกกระบวนการใช้จ่ายงบประมาณจะเป็นไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน” โฆษก ศธ. กล่าว

 สกสค. จับมือ ซีพี ออลล์ มอบทุนการศึกษา ปี 2568 หนุนบุตรหลานครูเรียนฟรี มีงานทำ

สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ร่วมกับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรหลานครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เพื่อส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาและสร้างความมั่นคงในอาชีพให้แก่เยาวชน ทุนการศึกษานี้จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และ ระดับปริญญาตรี ในสาขาการจัดการธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ได้รับทุนตลอดการศึกษา ระหว่างเรียนมีรายได้ จบแล้วมีงานทำ สำหรับปีการศึกษา 2568 สกสค. ดำเนินการคัดเลือกนักเรียนและนักศึกษาที่มีคุณสมบัติเหมาะสมรับทุน ทั้งหมด 16 คน ได้แก่
1.นางสาวกันทลัส แพงดี วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี
2.นายปรเมษฐ์ ชำนาญดี ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอเมืองปทุมธานี
3.นายมูฮำมัดฟีกรี ยาการียา โรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคม
4.นายธนกฤต แสวงแก้ว โรงเรียนวังน้อย(พนมยงค์วิทยา)
5.นายอับดุลเราะห์มาน โรงเรียนดารุลอูลูมวิทยา
6.นายกิตติทัด เกิดแก้ว วิทยาลัยเทคนิคพัทลุง
7.นายชนะชัย ยาวิเริง วิทยาลัยการอาชีพเบตง
8.นายฮาฟัน กาเซ็ง มูลนิธิอาซิซสถาน
9.นางสาวกัญญารักษ์ อ่อนยิ้ม โรงเรียนพิบูลธรรมเวทวิทยา
10.นางสาวกูลาดีพะห์ นิหลง โรงเรียนอาสาสุลดินวิทยา
11.นางสาวปาตอนะห์ ดาแม โรงเรียนอาสาสุลดินวิทยา
12.นางสาวสุไฮลา และบรานิง โรงเรียนสตรีอิสลามวิทยามูลนิธิ
13.นางสาวฮารีซ่า แดเบาะ โรงเรียนอาสาสุลดินวิทยา
14.นางสาวนุร์ซารีกีน มูเล็ง โรงเรียนมุสลิมศึกษา
15.นางสาวกูอานีชา อีแยบาซอ โรงเรียนอรุณศาสน์วิทยา
16.นายณัฐวัฒน์ กล่อมพงษ์ กศน.อำเภอเมืองตรัง
โครงการนี้เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือสำคัญ ในการสนับสนุนการศึกษาให้แก่บุตรหลานครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้พวกเขาได้รับโอกาสที่ดีในการพัฒนาตนเองและสร้างอนาคตที่มั่นคง โดยการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนนี้จะช่วยให้นักเรียนและนักศึกษาสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ สกสค. และ ซีพี ออลล์ ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนามอบทุนการศึกษาและมอบโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนไทยต่อไป เพื่อให้พวกเขาสามารถก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมั่นใจ และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต