หน้าแรก บล็อก

สพฐ.คุมเข้มพัฒนาครูเฟส2 “หมอธี”เปิดทางให้วิพากษ์.

หลังจากปีที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)โดยนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ทุ่มงบฯก้อนโต ถึง 4,000 ล้านบาท เพื่อนำมาพัฒนาครูให้ครบวงจร…หวังจะให้ครูได้พัฒนาเพื่อนำไปต่อยอดให้กับนักเรียน เรียนอย่างมีคุณภาพ และเรียนอย่างมีความสุข ตามเป้าหมายของรัฐบาล…โดยมอบหมายให้ สำนักพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา(สพค.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)รับผิดชอบ เป็นเจ้าของโครงการ แต่เพราะเป็นนโยบายเร่งด่วน..เร่งรีบ..จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ ครูแตกตื่นกับคูปองครูหัวละ 10,000 ที่ให้ครูเลือกช้อปปิ้งหลักสูตรอบรม…ผลที่ตามมาจึงไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์ของเสมา1 ผู้กุมบังเหียนในวังจันทร์เกษม

เพราะได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ ประกอบกับได้รับคำแนะนำและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งนักวิชาการและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ถึงเรื่องของงบประมาณ คุณภาพวิทยากร หลักสูตร ราคา และการเดินทางของครู  รวมถึงผลที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาครูในปี 2560  ซึ่ง ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร ซึ่งเป็นการจัดงบประมาณอบรมหรือคูปองให้แก่ครู สำหรับปีนี้ ซึ่งเป็นการจัดโครงการพัฒนาครูแบบครบวงจร ระยะที่ 2 ปีนี้จะคุมเข้มมากขึ้น โดยจะมีหลักการที่สำคัญ  4 เรื่อง คือ  1. การคัดเลือกหลักสูตรให้เป็นหน้าที่ของสถาบันคุรุพัฒนา ที่จะพิจารณาว่า หลักสูตรที่หน่วยจัดอบรมเสนอมา เป็นอย่างไร เป็นไปตามหลักวิชาการหรือไม่  เมื่อสถาบันคุรุพัฒนาพิจารณาหลักสูตรเรียบร้อยแล้วก็จะส่งหลักสูตรนั้นมาที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ซึ่งสพฐ.ก็จะพิจารณาโดยคณะกรรมการ 2 คณะ คือคณะกรรมการประเมินและคัดเลือกหลักสูตร เพื่อประเมินความเหมาะสม ในการนำหลักสูตรไปใช้ ในการพัฒนาข้าราชการครูของสพฐ. โดยมีนางสุกัญญา งามบรรจง รองเลขาธิการกพฐ.เป็นประธาน และคณะกรรมการประเมินความเหมาะสมราคาค่าลงทะเบียนหลักสูตร ให้สอดคล้องตามระเบียบของกระทรวงการคลัง โดยมีนายณรงค์ แผ้วพลสง รองเลขาธิการ กพฐ.เป็นประธาน เพื่อให้มั่นใจว่า หลักสูตรนั้น ๆ มีความเหมาะสมกับการนำมาพัฒนาครูอย่างแท้จริง และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ.หรือไม่

เรื่องที่ 2. ค่าลงทะเบียนมีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะไม่ว่าหน่วยจัดอบรมจะเป็นภาคเอกชนหรือภาครัฐ สพฐ.ก็ต้องอนุมัติภายใต้กรอบระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และที่สำคัญมาตรการประหยัดของ สพฐ. ซึ่งมีการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด เพราะ สพฐ.มีภาระต้องดูแลครูกว่า 400,000 คน  เรื่องที่ 3. คุณภาพหลักสูตร ซึ่งจะมีการติดตามประเมินว่า หน่วยจัด หรือหน่วยพัฒนา ได้ทำตามเงื่อนไขการจัดอบรมหรือไม่  โดย สพฐ.จะมีคณะกรรมการประเมินหลักสูตร ประกอบด้วย  ผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) และผู้แทนครูที่เข้ารับการอบรม มาช่วยกันประเมินว่า สิ่งที่หน่วยจัดโฆษณาประชาสัมพันธ์กับสิ่งที่จัดอบรมเป็นอย่างไร หากไม่ผ่านการประเมินและไม่ทำตามเงื่อนไขที่เสนอกับสถาบันคุรุพัฒนา สพฐ.ก็จะแจ้งให้สถาบันคุรุพัฒนาเพิกถอนการอนุมัติหลักสูตร ซึ่งจะส่งผลให้ไม่สามารถเบิกเงินที่จัดอบรมได้ และ เรื่องที่ 4  จะมีการกำหนดระยะทางในการเดินทางไปอบรมของครู โดยเบื้องต้นได้มีการหารือกันแล้วว่า จะให้อยู่ในกลุ่มจังหวัด เพราะไม่อยากให้ครูเดินทางไกล ซึ่งนอกจากต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงแล้ว อาจต้องเบียดบังเวลาราชการที่จะต้องอยู่กับเด็กได้

นพ.ธีระเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ ได้พูดถึงเรื่องนี้เช่นกันว่า ขณะนี้ทราบว่ามีหน่วยพัฒนาครูเสนอหลักสูตรพัฒนาครูให้สถาบันคุรุพัฒนา พิจารณารับรองกว่า 5,000 หลักสูตร แต่ปรากฏว่ามีหลักสูตรที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานน้อยมาก เพราะปีนี้ มีนโยบายและกำชับสถาบันคุรุพัฒนา ต้องพิจารณาหลักสูตรด้วยความเข้มข้น เนื่องจากปีที่ผ่านมา ถูกติงว่าสถาบันคุรุพัฒนา ให้ผ่านง่ายเกินไป ไม่ตรงวัตถุประสงค์ที่จะนำไปพัฒนาเด็กจริง ๆ และหลักสูตรที่อบรมส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องเทคนิคการสอนไม่ค่อยมีองค์ความรู้ ฉะนั้นปีนี้คณะกรรมการพิจารณาหลักสูตร จึงต้องพิจารณาด้วยความเข้มข้นและต้องหลายขั้นตอน โดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เป็นหลักสูตรที่ได้มาตรฐานอย่างแท้จริง

“ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจก่อนว่าทำเพื่ออะไร ถ้าทำเพื่อครูก็ต้องยอมรับในมาตรฐาน ถ้าคิดว่าไม่ดีก็ต้องเสนอแนะเข้ามา ซึ่งสถาบันคุรุพัฒนา และคณะกรรมการพิจารณาหลักสูตร ล้วนแต่เป็นนักวิชาการก็ต้องนำไปคิด แต่ผมจะไม่ยุ่งเรื่องการพิจารณาหลักสูตร เพราะเป็นหน้าที่ของสถาบันคุรุพัฒนา แม้แต่หลักสูตรของมูลนิธิที่ผมเป็นประธานอยู่เสนอเข้ามาก็ยังตก หรือหลักสูตรของคนรู้จักก็ยังตก ซึ่งผมก็บอกไปว่าเรื่องนี้ไม่มีการใช้เส้นใด ๆ ทั้งสิ้น หลักสูตรที่ผ่านจะต้องได้มาตรฐานจริง ๆ”นพ.ธีระเกียรติ  กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สิ่งที่ต้องการคือหลักสูตรที่ไม่มีผู้เสนอให้สถาบันคุรุพัฒนารับรอง ซึ่งตนจะให้นโยบายไปว่าสถาบันคุรุพัฒนา ต้องออกไปตามหาและให้การรับรองหลักสูตรเหล่านั้น แต่ทั้งนี้ต้องเป็นหลักสูตรที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนดด้วย เพื่อให้ครูเข้าไปรับการอบรม เช่น บูทแคมป์ หรือการอบรมออนไลน์ เพื่อให้ครูได้รับการอบรมอย่างทั่วถึง เพราะบางคนอาจจะอยู่ไกลเดินทางไม่สะดวก

ก็ต้องจับตาดูว่า สำนักพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ จะติดตามดูหลักสูตรที่ผ่านการคัดเลือกจากสถาบันคุรุพัฒนา จะเป็นหลักสูตรที่มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์กับเด็กจริงหรือไม่

มทร.กรุงเทพ-สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ-เครือข่ายอุตสาหกรรมบันเทิง พัฒนาบุคลากรขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยด้านภาพยนตร์ ละครและซีรีส์

ดร.เศรษฐา วีระธรรมานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) กรุงเทพ กล่าวว่า มทร.กรุงเทพได้ร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และบริษัท เกียร์เฮด จำกัด (สาขาแฮนดี้เกียร์) รวมถึงภาคีเครือข่ายในอุตสาหกรรมบันเทิง จัดฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรหนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยด้านภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 19-21 พ.ค. 2568 ได้มีการจัดอบรมรุ่นที่ 2 โดยมีนายนิธิวัชร์ ศิริปริยพงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และนายชนินทร  อุลิศ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บ.เกียร์เฮด จำกัด มาเป็นประธานในพิธีเปิด และผศ.ดร.ครรชิต กำลังกล้า คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.กรงเทพ พร้อมด้วยบุคลากรของคณะให้การต้อนรับ

ดร.เศรษฐา กล่าวต่อไปว่า โครงการนี้เป็นการอบรมระยะสั้น จำนวน 2 รุ่น ใน 4 หลักสูตร แบ่งเป็นรุ่นที่ 1 อบรมไปเมื่อวันที่ 13-15 พ.ค. 2568 หลักสูตรอาชีพผู้ช่วยช่างภาพ (Video Assistant) ระดับ 3 และ พื้นฐานอาชีพผู้ช่วยช่างภาพ (2nd Assistant Camera) ระดับ 4 และ การอบรมรุ่นที่ 2 จัดเมื่อวันที่ 19-21 พ.ค. 2568 หลักสูตรอาชีพช่างเทคนิคภาพดิจิทัล (Data Wrangler) ระดับ 3 และพื้นฐานอาชีพช่างเทคนิคภาพดิจิทัล (Digital Imaging Technician) ระดับ 4 รวมผู้เข้าอบรม 2 รุ่น กว่า 80 คน ซึ่งผู้เข้าอบรมมาจากบริษัทเอกชน และผู้รับจ้างอิสระที่สนใจในอุตสาหกรรมบันเทิง อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือของบุคลากรในอุตสาหกรรมบันเทิง ที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างทักษะและความสามารถของบุคลากรให้ตรงตามมาตรฐานอาชีพ และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ขณะที่หลักสูตรที่จัดอบรมเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละคร ซีรีย์ และคอนเทนต์สร้างสรรค์ ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในระดับประเทศและนานาชาติ

”ในการอบรมครั้งนี้ผู้เข้าร่วมอบรมทุกคนสามารถสะสมหลักสูตรการพัฒนาตนเองไว้ในระบบแฟ้มสะสมผลงานอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Portfolio ใน EWE Platform แพลตฟอร์มอัจฉริยะที่มีการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคนของประเทศอย่างเป็นระบบ เพื่อส่งเสริมให้คนในอาชีพ มีการตั้งเป้าหมายในการประกอบอาชีพ เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย ส่วนผลการอบรมถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี มีผู้ผ่านการประเมินคุณวุฒิวิชาชีพมากกว่าร้อยละ 90 ทำให้มีแนวโน้มจะจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในหลักสูตรนี้และอาชีพอื่นๆในสาขาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต่อไปในอนาคตด้วย นอกจากนี้จะมีการขยายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆมากขึ้น คาดว่าเร็วๆนี้จะมีความร่วมมือในการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาสมรรถนะตามคุณวุฒิวิชาชีพกับสถานประกอบการในอุตสาหกรรมบันเทิง และสถานศึกษาในระดับอาชีวศึกษาด้วย” ดร.เศรษฐา กล่าว

สพฐ.ยืนยันจัดหาอุปกรณ์โครงการ Anywhere Anytime ให้ครู-นักเรียน ได้ใช้ในภาคเรียนที่ 2

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ว่า เมื่อวันที่ 14 – 16 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทยเดินทางเข้าร่วมการประชุมระดับโลกด้านการศึกษาดิจิทัล ประจำปี 2568 (2025 World Digital Education Conference) ณ เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งตนก็ได้ร่วมเดินทางไปด้วย โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมเทคโนโลยีทางการศึกษาระดับโลกที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ โดยได้เชิญ รมว.ศึกษาธิการจากทุกประเทศทั่วโลกมาร่วมประชุม ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า ประเทศจีนมีความก้าวล้ำในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ AI ในการจัดการศึกษา โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา และ มัธยมศึกษา จนปัจจุบันห้องเรียนในประเทศจีนเป็นสมาร์ทคลาสรูมเกือบทุกโรงเรียนแล้ว ทำให้เด็กจีนเข้าถึง เทคโนโลยี และ AI ได้ค่อนข้างดีมาก ซึ่งสามารถช่วยพัฒนาทางด้านการศึกษาได้เป็นอย่างดี ถือเป็นแนวทางให้ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาเรื่องของ AI กับการเรียนการสอนให้มากขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้า “โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime”ว่าจะดำเนินการให้ทันภาคเรียนที่ 2 หรือไม่  เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า  ตามแผน คือ ภาคเรียนที่ 2/2568 จะต้องดำเนินการให้สำเร็จ โดยตอนนี้อยู่ระหว่างการประชาวิจารณ์ บางเรื่องที่วิจารณ์เสร็จแล้วก็อยู่ในขั้นตอนกระบวนการจัดหา จัดซื้อจัดจ้างหรือ เช่าซื้อ ส่วนไหนที่ยังมีข้อท้วงติงอยู่เราก็นำมาปรับแล้วนำขึ้นประชาวิจารณ์ใหม่อีกครั้ง ดังนั้น หากเราทำตามแผนก็คาดการณ์ว่าทุกอย่างจะต้องเรียบร้อย ดังนั้น สพฐ.ยืนยันว่าจะสามารถจัดหาอุปกรณ์ให้ครู และนักเรียน ทันใช้ในภาคเรียนที่2

คุณหลอกดาว

หยอก หยอก  วันที่ 19 พ.ค.2568  *** อยู่สูงอย่าคิดว่าไม่ตกต่ำ เพราะไม่มีนกตัวไหนบินอยู่บนฟ้าได้ตลอดโดยไม่กลับลงมา หมดเวลา หมดอำนาจ หมดหน้าที่ ก็ต้องรู้จักลง คนฉลาด ไหวตัวก่อนการณ์ *** มีใครรู้สึกเหมือน หยอก มั้ยว่า พักนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ไม่มีประเด็นอะไรใหม่ ๆ ให้ติดตาม มีแต่เรื่องเดิม ๆ แต่ละเรื่องก็ทำให้มึนนนน…ได้ไม่น้อย *** ไม่ว่าจะข่าวดราม่า เรื่องชุดลูกเสือ เนตรนารี , สอบคัดเลือกผู้อำนวยการสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) , สกสค.MOU กับโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง , กรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.)รับโอนผู้อำนวยการโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)มาเป็นผู้อำนวยการ สกร.ระดับอำเภอ 100 กว่าคน แล้วยังมีนิทานเรื่องการย้ายสลับครูที่ทั้งสองฝ่ายสมัครใจแลกกันตามหลักเกณฑ์ ก.ค.ศ. แต่สถานศึกษากลับไม่ยอมรับโอน ก็ไม่รู้สินะ แว่วว่า พลอตเรื่องมาจาก งานการศึกษาพิเศษทางภาคเหนือ แล้วก็มีเรื่องงบฯ จัดสรรคาบเกี่ยวปี 2567-2568 สำหรับนักเรียนเรียนรวมที่เด็กได้หนังสือเรียนไม่ครบอีก แต่ที่น่าตกใจคนที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้น่ะสิ … อยากให้ไปสืบรายละเอียดกันดูหลาย ๆ เรื่อง เด้อ…รู้แล้วจะหนาวววว..นะจ๊ะนะจ๊ะ *** ตัดโหมด…มาที่องค์การค้าของ สกสค.ที่วันก่อนรายงานในที่ประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ว่าได้ส่งหนังสือแบบเรียนขององค์การค้าฯให้โรงเรียนทันก่อนเปิดเทอมวันที่ 16 พ.ค.2568 เรียบร้อยหมดทุกโรงเรียนแล้ว! ทันที ที่คู่พิพาทอย่างโรงพิมพ์รุ่งศิลป์(1977)จำกัด รู้ข่าว ก็งัดหลักฐานกรมบัญชีกลางสั่งยกเลิก TOR เพราะเป็นการกีดกันการเสนอราคาเพื่อมิให้ บริษัท รุ่งศิลป์ฯ เข้ายื่นเสนอราคา มีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ ขัดมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 แล้วองค์การค้าฯเอาหนังสือที่ไหนส่งให้โรงเรียน มิหนำซ้ำ หยอก หยอก สอบถามไปยังเขตพื้นที่ฯบางเขตแล้วได้คำตอบมาว่า ได้สอบถามโรงเรียนหลายแห่งแล้วพบว่า รายการหนังสือขององค์การค้าฯยังไม่มาส่งที่โรงเรียนเลย…ตายล่ะ คราวนี้…คุณหลอก..ดาววว ? *** สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ยังมั่นใจ “โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime” เดินหน้าต่อไปได้ แม้จะขึ้นประชาวิจารณ์รอบ 2 รอบ 3  ซึ่งต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ เพราะเป็นการจัดซื้อจัดจ้างล็อตใหญ่และต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่เชื่อว่าน่าจะได้ใช้ในภาคเรียนที่2/2568 แน่นอน..เอ้า ทราบแล้วเปลี่ยน รอ กันเลยจร้า…*** ควงคู่เดินสายต่างประเทศราวกับนินจา แวบไปแวบมา เสมา 1 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ กับ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ.  กลับมาประจำการ ณ ฐานที่ตั้งแล้ว คงจะมีอะไรดี ๆ จากการดูงาน ต่อวงการศึกษา หวังว่า Anywhere Anytime เรียนได้ทุกที่ทุกเวลาจะเกิดผลเป็นรูปธรรมซะที *** ตบท้ายว่าด้วย การย้ายรองผู้อำนวยการวิทยาลัยประมงสมุทรสาคร ที่เจ้าตัวได้ร้องเรียนหลายหน่วยงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ว่ายังไม่พบความผิดและยังไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ก็ถูกย้ายออกจากพื้นที่ซะละ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าอาจเป็นเพราะไปยื่นหนังสือร้องเรียนการสอบคัดเลือกผู้อำนวยการสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ที่ผ่านมา…ก็ว่ากันไป ***

 

 

 

 

ครูสาวราชบุรี ร้องถูกย้ายออกจากพื้นที่ไม่เป็นธรรม หลังแฉความผิดปกติในโรงเรียน ด้าน “ธีร์”เผยรับเรื่องไว้แล้วจะเร่งตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ย้ำให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ใครทำไม่ถูกต้องรับผิดชอบ

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 19 พฤษภาคม 2568 ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จ่าคิงส์ แตงทิม สะพานใหม่ ได้นำ นางทิพย์พเกษร บัวพึ่ง ข้าราชการครูชำนาญการ โรงเรียนมหาราช 7 จ.ราชบุรี พร้อมด้วยผู้ปกครองเด็กนักเรียนและผู้นำชาวบ้านจำนวน 12 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ รมว.ศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีถูกย้ายออกจากพื้นที่อย่างไม่เป็นธรรม

นางทิพย์เกษร กล่าวว่า ตนได้ร่วมกับผู้ปกครองและผู้นำท้องถิ่น ตรวจสอบพบความผิดปกติหลายประการภายในโรงเรียนดังกล่าว และได้เข้าร้องเรียนต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ราชบุรี ให้ดำเนินการตรวจสอบ อาทิ เรื่องอาหารกลางวันนักเรียนที่ไม่ได้คุณภาพ ทั้งในด้านปริมาณและคุณค่าทางโภชนาการ, พฤติกรรมของครูบางรายที่ไม่เข้าสอน, การนำหนังสือเรียนที่ให้ยืมไปจำหน่ายเพื่อประโยชน์ส่วนตัว, การหารายได้เสริมโดยนำกล่องสุ่มและน้ำดื่มมาจำหน่ายในโรงเรียน, รวมถึงกรณีครูทำร้ายนักเรียนชั้น ป.4 ด้วยการบิดหูจนได้รับบาดเจ็บ และการใช้ถ้อยคำไม่สุภาพกับนักเรียนหญิง จนผู้ปกครองต้องเข้าแจ้งความดำเนินคดี

นางทิพย์พเกษร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ตนยังได้เข้าร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ป.ป.ช.ราชบุรี และศูนย์ดำรงธรรม เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบเรื่องดังกล่าว แต่ กลับถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) ราชบุรี เขต 1 สั่งย้ายให้ไปช่วยราชการที่โรงเรียนบ้านโกรกสิงขร ในขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนมหาราช 7ถูกสั่งย้ายไปรักษาราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสันดอน อ.จอมบึง เป็นการชั่วคราวทั้งสองราย เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง  ต่อมา  สพป.ราชบุรี เขต 1 ได้มีคำสั่งให้ผู้อำนวยการโรงเรียนมหาราช 7 กลับไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิม เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ในขณะที่ ตน ยังไม่มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงใดๆ แม้คณะกรรมการสถานศึกษาและคณะครูโรงเรียนบ้านโกรกสิงขร ได้มีมติให้ตนกลับไปปฏิบัติราชการที่เดิมในวันที่ 18 มีนาคม 68

“ที่ ดิฉันเดินทางมายื่นหนังสือเพื่อขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเกิดความหวาดกลัว เนื่องจากมีการข่มขู่ โดยขอให้มีการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯรายดังกล่าว ว่าเหตุใดจึงช่วยปกป้อง ผู้อำนวยการโรงเรียน เหมือนเป็นการเลือกปฏิบัติ ทั้งที่มีการร้องเรียนเรื่องการทุจริต อย่างไรก็ตาม วันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา ทางผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ เคยเรียกไปสอบถาม และดิฉันได้ยืนยันจะขอกลับไปสอนโรงเรียนเดิมแต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่ทำเป็นประโยชน์ต่อเด็กในอนาคต ซึ่งยืนยันว่ามีหลักฐานทุกอย่าง จึงกล้าร้องเรียน  ส่วนครูคนอื่นในโรงเรียนเดิมนั้น อาจเพราะเราไปทำให้เสียผลประโยชน์ จึงทำให้อยู่ตรงนั้นได้ยาก ดังนั้น หากเป็นไปได้ ก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยย้ายไปโรงเรียนใกล้บ้านแทน “นางทิพย์เกษร กล่าว

นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวภายหลังรับหนังสือร้องเรียนว่า เรื่องนี้ เป็นความขัดแย้งระหว่างครู ผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา โดยครูได้มาขอความเป็นธรรมกับสพฐ. ดังนั้นเมื่อ สพฐ. ได้รับเรื่องร้องเรียนไว้แล้วก็จะดำเนินการเร่งรัดตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย  ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเนื่องจากขณะนี้ยังได้ข้อมูลไม่ครบ แต่โดยหลักการเราจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ถ้า เขตพื้นที่ทำให้ถูกต้องเขตพื้นที่ก็ต้องรับผิดชอบ ถ้าโรงเรียนทำไม่ถูกต้องโรงเรียนก็ต้องรับผิดชอบ และถ้าครูทำไม่ถูกต้องครูก็ต้องรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นขอให้ครูสบายใจได้ว่าจะได้รับความเป็นธรรมแน่นอน

มทร.กรุงเทพร่วมกับคนภาคอุตสาหกรรมบันเทิง จัดเวิร์กชอปเชิงลึกหนุนผลิตละครแนวตั้ง ดัน Soft Power ไทยสู่สากล  

ดร.เศรษฐา วีระธรรมานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) กรุงเทพ ในฐานะผู้จัดการโครงการ “EMDT เจาะลึกเทรนด์ละครแนวตั้ง: การสร้างสรรค์ สร้างรายได้ สร้าง Soft Power” กล่าวว่า เมื่อวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2568 ที่ มทร.กรุงเทพ ทางโครงการ “EMDT เจาะลึกเทรนด์ละครแนวตั้ง: การสร้างสรรค์ สร้างรายได้ สร้าง Soft Power”คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร. กรุงเทพได้ร่วมกับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมบันเทิง จัดเวิร์กชอปเชิงลึก โดยการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (THACCA – Thailand Creative Culture Agency) โครงการ OFOS (One Family One Soft Power)และความร่วมมือจากภาควิชาการ ซึ่งในงานมีบุคคลสำคัญจากวงการบันเทิงเข้าร่วมอย่างคับคั่ง

ดร.เศรษฐา กล่าวต่อไปว่า โครงการ EMDT มุ่งเน้น 4 เป้าหมายหลัก คือ 1. ถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร 2. เพิ่มทักษะในการสร้างผลงานจริง 3. จุดประกายแรงบันดาลใจให้ผู้ผลิตรุ่นใหม่ และ4. ส่งเสริมการใช้เนื้อหาละครแนวตั้งเป็นเครื่องมือสร้าง Soft Power ไทยที่เข้าถึงผู้ชมทั่วโลก โดยภายในงานได้มีการจัดเวิร์กชอปที่น่าสนใจทั้งการบรรยายและกิจกรรมฝึกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็น การปรับตัวของนักเล่าเรื่องไทยกับบทละครแนวตั้งเพื่อการผลิตจริง การถ่ายทอดประสบการณ์จากประเทศจีน โดย ผาง เต้าหมิง ผู้อำนวยการผลิตจาก Shanghai Zuji Culture & Entertainment Co., Ltd. กิจกรรมถ่ายทำภาคสนาม และ การสร้าง Micro Drama จริงจากผู้เข้าอบรม เป็นต้น

“Micro Drama หรือ ละครแนวตั้ง กำลังเป็นหนึ่งในรูปแบบเนื้อหาที่มาแรงที่สุดในอุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลก ด้วยความสามารถในการเข้าถึงผู้ชมผ่านมือถืออย่างรวดเร็ว กระชับ และตรงพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัล ที่สำคัญละครแนวตั้งยังตอบโจทย์ผู้ชมยุคใหม่ และสามารถสร้างรายได้ได้จริง ดังนั้นจึงควรเร่งพัฒนาบุคลากรไทยให้ผลิตงานคุณภาพทัดเทียมระดับสากล ขณะเดียวกันในการเวิร์กชอปครั้งนี้มีเสียงสะท้อนที่ตรงกันว่า ละครแนวตั้ง คือโอกาสใหม่ในการขับเคลื่อน Soft Power ไทยสู่เวทีโลกและมีความมั่นใจว่า ละครแนวตั้งจะกลายเป็นฟันเฟืองใหม่ของอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ที่ไม่เพียงฟื้นฟูจากภายใน แต่ยังผลักดันวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติอย่างสร้างสรรค์ด้วย“ดร.เศรษฐา กล่าว

ขณะที่ “ไก่” วรายุฑ มิลินทจินดา ผู้จัดละครชื่อดัง กล่าวว่า Micro Drama ไม่ใช่เป็นเพียงเทรนด์ แต่คือโอกาสฟื้นฟูวงการละครไทยหลังภาวะซบเซา และทางภาครัฐสนับสนุนอย่างจริงจังเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการผลักดันคอนเทนต์ไทยให้ไปไกลกว่านี้

ด้าน “กระทิง” ขุนณรงค์ ประเทศรัตน์ นักแสดงและกรรมการ MinChap แอปพลิเคชันซีรีส์แนวตั้ง กล่าวว่า ผู้ชมกำลังเปลี่ยนพฤติกรรม ละครแนวตั้งตอบสนองได้ตรงจุด สั้น กระชับ เข้าใจง่าย และสร้างอารมณ์ร่วมได้ในระยะเวลาอันสั้น อยากให้ลองเปิดใจ สนับสนุนซีรีส์ ละครแนวตั้งมากขึ้น

 

มทร.ธัญบุรีเปิดรับสมัครพนักงานมหาวิทยาลัย 61 อัตรา สร้างโอกาสคนรุ่นใหม่มาร่วมพัฒนานวัตกรรมเพื่อชาติ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ประกาศเปิดรับสมัครบุคคลเพื่อบรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ครั้งที่ 1/2568 รวมทั้งหมด 61 อัตรา โดยแบ่งเป็นตำแหน่งอาจารย์ในสายวิชาการ 35 อัตรา และตำแหน่งสายสนับสนุน 26 อัตรา เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยในการผลิตบัณฑิตนวัตกรและพัฒนางานวิจัยที่ตอบโจทย์สังคม

สำหรับตำแหน่งอาจารย์ในสายวิชาการ เปิดรับทั้งผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ด้วยอัตราเงินเดือนเริ่มต้น 26,250 บาท และระดับปริญญาเอก ที่ได้รับเงินเดือนเริ่มต้น 31,500 บาท พร้อมเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้มีวุฒิปริญญาเอกเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 ปี ส่วนตำแหน่งสายสนับสนุน เปิดรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เงินเดือนเริ่มต้น 19,500 บาท และปริญญาโท เงินเดือนเริ่มต้น 22,750 บาท

มทร.ธัญบุรีให้ความสำคัญกับสวัสดิการพนักงานมหาวิทยาลัย โดยมีกองทุนพนักงานมหาวิทยาลัยที่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลสำหรับครอบครัว ค่าการศึกษาบุตร และค่าประกันอุบัติเหตุ นอกจากนี้ ยังมีระบบบำนาญหลังเกษียณแบบข้าราชการ และสนับสนุนเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครึ่งหนึ่งเมื่อพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นสมาชิก พร้อมทั้งมีกองทุนส่งเสริมการวิจัยเพื่อสนับสนุนอาจารย์ในการทำงานวิชาการและตีพิมพ์ผลงานระดับนานาชาติ ตลอดจนกองทุนพัฒนาบุคลากรเพื่อยกระดับทักษะและตำแหน่งทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง

ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดตำแหน่งงานและสมัครออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ https://rmutt.thaijobjob.com/ ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม ถึง 5 มิถุนายน 2568 (ปิดรับสมัครเวลา 16.30 น.) การเปิดรับสมัครครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาการศึกษาและนวัตกรรม เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมอย่างยั่งยืน

สพฐ.กำชับรับเปิดเทอม 2568 ห้ามมอบหมายครูอยู่เวร–กำกับการลงโทษนักเรียนยึดระเบียบ ศธ.สร้างการศึกษา “เรียนดี มีความสุข”

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศ ได้เปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 ครบถ้วนอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งตนเน้นย้ำความสำคัญของการบริหารจัดการศึกษา โดยขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาทุกแห่ง ร่วมกันสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนานักเรียนให้ “เรียนดี มีความสุข” ลดภาระที่ไม่จำเป็นของครู บุคลากร นักเรียน และผู้ปกครอง เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถมุ่งมั่นกับภารกิจของตนได้เต็มที่ และร่วมกันผลักดันเป้าหมายพัฒนานักเรียน “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด และฉลาดทำ”

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ดังนั้นเพื่อให้สถานศึกษาเปิดภาคเรียนด้วยความพร้อม สพฐ. ได้กำหนด 5 แนวทาง ให้สถานศึกษาปฏิบัติ ดังนี้ 1. ด้านความปลอดภัยของสถานศึกษา เน้นดูแลสวัสดิภาพนักเรียนทั้งในและนอกเวลาเรียน 2. ด้านการเสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้และสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น เยี่ยมบ้านนักเรียน 100% การจัดการเรียนเสริม และระบบแนะแนวที่ตอบโจทย์ตามบริบทผู้เรียน 3. ด้านการสร้างเครือข่ายและการสร้างความร่วมมือ ให้สถานศึกษาประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และชุมชน เพื่อร่วมกันดูแลความเรียบร้อยของโรงเรียน 4. ด้านงบประมาณ ให้ดำเนินการใช้จ่ายตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด และ 5. ด้านแผนเผชิญเหตุ ให้สถานศึกษาเตรียมพร้อมรับมือเหตุและภัยพิบัติต่างๆ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกิดเหตุ พร้อมเฝ้าระวังสิ่งเสพติด เช่น บุหรี่ไฟฟ้า และปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเข้าถึงนักเรียน  นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำ ว่า หากเกิดเหตุจำเป็นต้องลงโทษนักเรียน ขอให้ครูยึดหลักจรรยาบรรณ และเคร่งครัดปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 กฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2562 ซึ่งกำหนดโทษที่จะลงโทษแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทําความผิดได้ 4 มาตรการ ได้แก่ 1.การว่ากล่าวตักเตือน 2. ทำทัณฑ์บน 3.ตัดคะแนนความประพฤติ และ 4.จัดกิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยน และห้ามมิให้ใช้ความรุนแรง กลั่นแกล้ง หรือ ลงโทษในลักษณะทำให้นักเรียนอับอาย เช่น การตัดผมนักเรียนหน้าชั้นเรียน ซึ่งขัดต่อแนวทางการคุ้มครองสิทธิเด็ก

“ ในประเด็นการลดภาระงานของครู สพฐ.ขอย้ำให้สถานศึกษาปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 ที่ยกเว้นให้ครูไม่ต้องอยู่เวรโดยเด็ดขาด ผู้บริหารต้องไม่ใช้ถ้อยคำ หรือ คำสั่ง ในลักษณะใกล้เคียง เช่น “เวรความปลอดภัย” หรือ “เวรสมัครใจ” ซึ่งเข้าข่ายสุ่มเสี่ยงขัดมติคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ เราต้องร่วมกันทำให้โรงเรียนซึ่งเป็นสถานที่ราชการ เป็นพื้นที่ปลอดภัยอย่างแท้จริงสำหรับนักเรียน ครู บุคลากร และผู้ปกครอง ดังนั้น ขอให้เขตพื้นที่ฯ และสถานศึกษา สื่อสารทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่องถึงมาตรการด้านความปลอดภัย ทั้งในและนอกเวลาเรียน พร้อมกำหนดแนวปฏิบัติที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น จัดทำกลไกเฝ้าระวังบุคคลภายนอกเข้ามาก่อเหตุ ห้ามพกอาวุธ ห้ามนำสิ่งผิดกฎหมายเข้ามาในโรงเรียน แต่งกายสุภาพ และไม่ก่อความวุ่นวายในพื้นที่ราชการ หากมีการฝ่าฝืน ต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง เพราะโรงเรียนคือพื้นที่เรียนรู้ที่ต้องปลอดภัย ที่จะสร้างการศึกษา เรียนดี มีความสุข ให้กับทุกคน” ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าว.

อดีตปลัดกระทรวงศึกษา “อรรถพล” ชี้ ถึงเวลา“ก้าวข้ามเส้นแบ่งเวลา : พัฒนาคนไทยในยุคที่ AI ไม่รอใคร”

ดร.อรรถพล สังขวาสี อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการและอดีตเลขาธิการสภาการศึกษาเปิดเผยว่า ไมโครซอฟต์ได้เผยแพร่รายงาน Work Trend Index 2025 ที่เผยถึงอนาคตของโลกงานที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน ภายใต้แรงขับเคลื่อนของ AI และการทำงานร่วมระหว่างมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์ ในขณะที่องค์กรทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุค ‘Frontier Firm’  หรือ ยุคที่ “คน” ไม่ได้ทำงานคนเดียวอีกต่อไป รวมถึงประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศเอเชียที่ผู้นำองค์กรกว่า 90% มั่นใจว่า AI จะเข้ามาขยายศักยภาพแรงงานภายใน 12–18 เดือนข้างหน้า จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะต้องคิดว่า ประเทศไทยจะเตรียมคนและระบบการศึกษาอย่างไรเพื่อไม่ให้หลุดขบวนโลก

รายงานชี้ให้เห็นว่า องค์กรแห่งอนาคตหรือ Frontier Firms จะทำงานบนโมเดล “มนุษย์-ตัวแทนปัญญาประดิษฐ์ (AI agents)” ซึ่งจะแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ระยะ ตั้งแต่มนุษย์ใช้ AI เป็นผู้ช่วย ไปจนถึงการเป็นหัวหน้าของทีม AI ที่บริหารจัดการงานเองได้แทบทั้งหมดภายใต้คำแนะนำจากมนุษย์ จุดเปลี่ยนสำคัญไม่ใช่แค่เรื่อง “เทคโนโลยี” แต่คือ “คนจะทำงานอย่างไรในโลกที่มี AI อยู่ด้วยทุกที่” และจากข้อมูลในรายงานจึงเห็นว่า ประเทศไทยควรพัฒนาคนและการศึกษาใน 4 แนวทางหลัก ได้แก่ 1) ปฏิรูปการศึกษาเพื่อสร้าง “Agent Boss” ไม่ใช่แค่ผู้ใช้งาน คือทุกคนจะต้องสามารถบริหารจัดการ AI ได้ เหมือนผู้จัดการทีม ไม่ใช่แค่ใช้เป็นเครื่องมือ จึงต้องเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมจนถึงอุดมศึกษา ให้เน้นความรู้ด้าน AI เบื้องต้นและเชิงลึก การพัฒนาทักษะ “prompting” และการโต้ตอบกับ AI อย่างมีวิจารณญาณ และการจัดการและประเมินผลการทำงานของทีมที่มี AI รวมอยู่ด้วย 2) Upskill & Reskill อย่างต่อเนื่อง โดย 47% ของผู้นำองค์กรทั่วโลกให้ความสำคัญกับการ upskill พนักงานในอีก 12 เดือนข้างหน้า ทักษะที่ต้องเร่งสอน ได้แก่ การทำงานร่วมกับ AI (AI collaboration) การคิดเชิงนวัตกรรม การปรับตัว และความคิดสร้างสรรค์ และทักษะมนุษย์ที่ AI แทนไม่ได้ เช่น การตัดสินใจเชิงคุณธรรม ความเข้าใจทางสังคม และการสื่อสาร 3) สร้างระบบ “ทรัพยากรปัญญา” (Intelligence Resources Department) เช่นเดียวกับการมีฝ่าย HR และ IT ในองค์กรยุคก่อน ยุคนี้ควรมีหน่วยงานเฉพาะเพื่อจัดการแรงงานดิจิทัล (AI) อย่างมีประสิทธิภาพ ดูแลการเรียนรู้ของ AI รวมถึงความปลอดภัยและจริยธรรม และ 4) เตรียมโครงสร้างแรงงานใหม่สำหรับโลกที่ “งาน” เปลี่ยนรูป โดยโครงสร้างองค์กรแบบเดิมที่แยกตามฝ่าย (Finance, HR, Marketing) อาจกลายเป็นอดีต Frontier Firms ใช้ “Work Chart” ที่จัดทีมตามเป้าหมาย ไม่ใช่แค่หน้าที่ ดังนั้น ภาครัฐต้องร่วมมือกับภาคเอกชนในการออกแบบแรงงานยุคใหม่ มีการสนับสนุน Startup ด้าน AI ควรเป็นวาระแห่งชาติ และควรสร้าง Sandbox ให้คนรุ่นใหม่ทดลองใช้ AI ในภารกิจจริง เช่น การเกษตรอัจฉริยะ การบริการสาธารณะ หรือการจัดการสิ่งแวดล้อม

ดร.อรรถพล กล่าวย้ำว่า หากเราพร้อม AI จะไม่ใช่ศัตรู แต่เป็นพาร์ทเนอร์ ผลการศึกษาชี้ว่า คนที่ทำงานร่วมกับ AI อย่างมีประสิทธิภาพสามารถประหยัดเวลาได้กว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน และมีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงานเร็วกว่าคนที่ไม่ใช้ อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำทางทักษะกำลังก่อตัวอย่างรวดเร็ว หากประเทศไทยไม่เริ่ม “วันนี้” โอกาสจะกลายเป็นภาระในอนาคต ทางรอดของไทยอยู่ที่ “คน” ไม่ใช่ “ของ”การพัฒนาเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ แต่การพัฒนาคนให้รู้เท่าทัน ปรับตัว และใช้เทคโนโลยีอย่างมีเป้าหมายคือหัวใจ หากไทยอยากเป็น Frontier Nation ที่สามารถใช้ AI เพื่อความยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่ความเร็ว เราต้องเริ่มลงทุนใน “สมองของคน” ตั้งแต่วันนี้

อาชีวะพร้อมเปิดเทอม เลขา กอศ.การันตี เด็กอาชีวะมีความสุขในการเรียน มีรายได้ระหว่างเรียน และมีงานทำ 100%  

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจนักเรียน นักศึกษา และคณะครู ในโอกาสเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2568 โดยมี ดร.สาริศา พิชัยฤกษ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยและคณะให้การต้อนรับ ณ วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี โดย นายยศพล เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้ทุกสถานศึกษาเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2668 ทั้งด้านบุคลากร สื่อการเรียนรู้ และพื้นที่ปฏิบัติการรองรับการเรียนการสอนเชิงทักษะจริงตามบริบทของแต่ละสาขาวิชา วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี ถือเป็นอีกหนึ่งสถานศึกษาของการจัดการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับโลกของธุรกิจ ทั้งในระดับ ปวช. ปวส. และระดับปริญญาตรี โดดเด่นในการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านพาณิชยการและธุรกิจ และเป็นศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (CVM) สาขาวิชาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล และสาขาการตลาด

“วันนี้ได้ตรวจเยี่ยม และพูดคุยกับนักเรียน นักศึกษา พร้อมชมห้องปฏิบัติการในสาขาต่าง ๆ ที่เน้นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง อาทิ ศูนย์ TCC Printing ธุรกิจงานพิมพ์ของนักศึกษาสาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล ซึ่งดำเนินการมาแล้วกว่า 5 ปี ปัจจุบันฝึกนักศึกษารุ่นที่ 10 ให้มีทักษะในการบริการ พิมพ์งานด่วน ออกแบบโปสเตอร์ ใบปลิว บัตร และถ่ายเอกสาร จากนั้น เยี่ยมชมศูนย์ SHIPPOP แหล่งเรียนรู้ด้านโลจิสติกส์ของนักศึกษาสาขาการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน โดยร่วมกับบริษัทขนส่งเพื่อฝึกทักษะด้านธุรกิจขนส่งพัสดุจริงห้องปฏิบัติการโซเชียลมีเดียที่นักศึกษาสาขาการตลาด ได้ใช้เป็นพื้นที่ฝึกฝนการขายออนไลน์ รวมถึงมีการไลฟ์สดเพื่อส่งเสริมทักษะการขายผ่านแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดีย และพูดคุยกับนักศึกษาสาขาดิจิทัลกราฟิก ที่กำลังจัดการเรียนการสอน การใช้เครื่องมือ เพื่อการสร้างงานด้านดิจิทัล”เลขาธิการ กอศ.กล่าว

นายยศพล  กล่าวด้วยว่า เปิดภาคเรียนใหม่นี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเรียนรู้และพัฒนานักเรียน นักศึกษา แม้อาจมีความท้าทาย แต่ก็ถือเป็นโอกาสในการเติบโต ทุกก้าวของการเรียนรู้ คือก้าวที่พาไปสู่ความสำเร็จ พร้อมให้กำลังใจนักเรียน นักศึกษาให้ตั้งใจเรียนในสิ่งที่เลือก และพัฒนาไปสู่เป้าหมายอย่างเต็มที่ โดย สอศ. มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีศักยภาพและมีสมรรถนะ ตามนโยบายของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนอาชีวศึกษามีความสุขในการเรียน มีรายได้ระหว่างเรียน และมีงานทำ 100% หลังจบการศึกษา เราจะจับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน ฝากให้นักศึกษาใช้เวลาช่วงเปิดภาคเรียนในการเรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย และดูแลสุขภาพของตนเองควบคู่ไปด้วย

 

“คุรุสภา” ผลักดันร่างมาตรฐานวิชาชีพครูปฐมวัย ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับการจัดการศึกษายุคปัจจุบัน

ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า จากนโยบาย “เรียนดี  มีความสุุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งเน้นการสร้าง ‘ครูคุณภาพ’ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและมีความสุข ต่อยอดการพัฒนาคุุณภาพการศึกษาทุกระดับให้ทันสมัยได้มาตรฐานสากลอย่างเร่งด่วนและรวดเร็ว สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาได้ดำเนินการจัดทำร่างข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพครูปฐมวัยขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพครูในระดับปฐมวัย มีสมรรถนะทางวิชาชีพที่ทันสมัย สอดคล้องกับบริบทความเปลี่ยนแปลงของการจัดการศึกษาในยุคปัจจุบัน มีสาระสำคัญประกอบด้วย 1.มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ 2.มาตรฐานการปฏิบัติงาน และ 3.มาตรฐานการปฏิบัติตน

ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวต่อว่า มาตรฐานความรู้ครูปฐมวัย กำหนดให้ครูปฐมวัยต้องมีความรอบรู้และเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ เช่น ธรรมชาติการเรียนรู้ของสมองเด็ก การเจริญเติบโต พัฒนาการด้านตัวตนและแบบองค์รวมของเด็กตามช่วงวัย การสร้างสัมพันธภาพต่อเด็กและการเลี้ยงดู และการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม ความรู้ด้านศาสตร์การสอนสำหรับเด็กปฐมวัย การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม การพัฒนาหลักสูตรสอดคล้องกับบริบทของครอบครัว ชุมชน และสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ตอบสนองต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การประเมินเพื่อวางแผน ส่งเสริม พัฒนาการและการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัย และความแตกต่างของเด็กรายบุคคล สุขภาพกายและใจ โภชนาการที่ดี การดูแลความปลอดภัยจากสภาพแวดล้อม สังคม รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และความสัมพันธ์ของระบบนิเวศรอบตัวที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ครอบคลุม ทั้งครอบครัว โรงเรียน หน่วยงานสาธารณสุข ชุมชน สื่อ เทคโนโลยี ศิลปวัฒนธรรม และกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และการพัฒนาเด็กปฐมวัย และสอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย

ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวว่า สำหรับมาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพกำหนดว่า ผู้ประกอบวิชาชีพครูปฐมวัย ต้องผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด ได้แก่ การฝึกประสบการณ์วิชาชีพระหว่างเรียน และการปฏิบัติการสอนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพ ขณะที่มาตรฐานการปฏิบัติงานนั้นกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพครูปฐมวัยต้องปฏิบัติหน้าที่ครูด้วยการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ด้านความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย มีจิตวิญญาณและคุณลักษณะที่ดีของความเป็นครูปฐมวัย สร้างสัมพันธภาพที่ดี รัก เมตตา และเอื้ออาทรต่อเด็กปฐมวัย ปฏิบัติต่อเด็กปฐมวัยอย่างให้เกียรติ ใช้ความรู้ในการวางแผน พัฒนาและประเมินอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับพัฒนาการตามวัย และการจัดประสบการณ์เรียนรู้ต้องออกแบบ วางแผนอย่างสร้างสรรค์ บูรณาการที่สอดคล้องกับพัฒนาการตามวัยของเด็กปฐมวัย จัดสื่อ สภาพแวดล้อมทางกายภาพและทางสังคม ทั้งในและนอกห้องเรียนที่เหมาะสม รวมทั้งมีความสัมพันธ์กับผู้ปกครองและชุมชนเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ร่วมแก้ปัญหาด้านพัฒนาการโดยใช้วิธีการสื่อสารเชิงบวกอย่างสม่ำเสมอ

ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญส่วนหนึ่งของมาตรฐานวิชาชีพครูปฐมวัยคือการให้เด็กมีส่วนร่วมในการแสดงออก ใส่ใจต่อเด็กปฐมวัยที่ตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่าง ๆ ตลอดจนส่งเสริมสุขนิสัยที่ดี และดูแลความปลอดภัยทางสภาพแวดล้อม สังคม และเทคโนโลยีที่มีผลต่อพัฒนาการของเด็ก โดยทำงานร่วมกับผู้ปกครอง และหรือสหวิชาชีพ และรู้เท่าทันและสามารถใช้สื่อดิจิทัล เทคโนโลยีทางการศึกษา ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดผลดีต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก มีการจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์โดยบูรณาการการเรียนรู้ผ่านการเล่นและทำกิจกรรมที่หลากหลายสอดคล้องกับพัฒนาการตามวัยของเด็กและความต้องการพิเศษ เพื่อให้เด็กมีสมรรถนะพื้นฐานในการเรียนรู้และการดำรงชีวิตต่อไปในอนาคต และในส่วนสุดท้ายคือมาตรฐานการปฏิบัติตนที่ผู้ประกอบวิชาชีพครูปฐมวัยจะต้องมีมาตรฐานการปฏิบัติตนตามข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพ

“คุรุสภาเห็นความสำคัญของครูปฐมวัย ผู้ซึ่งประกอบวิชาชีพหลักด้านการดูแล พัฒนา และจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัย จึงได้จัดทำร่าง ข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วย มาตรฐานวิชาชีพครูปฐมวัย พ.ศ. … และเปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตครู หน่วยงานผู้ใช้ครู ผู้ประกอบวิชาชีพครู รวมถึงผู้ปกครองนักเรียน นิสิตนักศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งขณะนี้การดำเนินการใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยคณะกรรมการคุรุสภา ในการประชุม ครั้งที่ 4/2568 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 มีมติเห็นชอบ ร่าง ข้อบังคับดังกล่าว และอยู่ระหว่างเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการคุรุสภาพิจารณาลงนาม และจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งการจัดทำร่างข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วย มาตรฐานวิชาชีพครูปฐมวัยฉบับนี้ เพื่อมุ่งหวังให้ครูในระดับปฐมวัย มีสมรรถนะทางวิชาชีพสอดคล้องกับบริบทความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพครูในระดับปฐมวัย ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของการเตรียมความพร้อมของผู้เรียนเพื่อรับการศึกษาในขั้นถัดไป” ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าว.