สภาการศึกษา เปิด “สภาวะการศึกษาไทยไตรมาสที่ 2 ปี 68”แนวโน้มการศึกษายุค Digital เพื่ออนาคต

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดการประชุมสัมมนาเพื่อเผยแพร่รายงานสภาวะการศึกษาไทย ไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมี ดร.ปิยนุช วุฒิสอน รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหาร อาจารย์ ครู และบุคลากรทางการศึกษา ร่วมประชุม ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพมหานคร

รศ.ดร.ประวิต กล่าวเปิดงานและนำเสนอรายงานสภาวะการศึกษาไทยฯ ว่า การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนอย่างสม่ำเสมอ โดยไตรมาสที่ 2 พ.ศ. 2568 มีประเด็นที่สำคัญ ได้แก่

ประเด็นที่ 1 เหลียวมองการศึกษาและแนวโน้มที่เกิดขึ้น (Education at A Glance and Trends) พบว่า การเชื่อมโยงของเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลให้มีแนวโน้มที่น่าสนใจ คือ 1) 7 ประเด็นคานงัดพลิกโฉมการศึกษาที่ผู้กำหนดนโยบายควรให้ความสำคัญในช่วงปี ค.ศ. 2025 – 2027 ได้แก่ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การส่งเสริมการศึกษาระดับปฐมวัยและประถมศึกษา การวางแผนทางการศึกษาที่รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต การสร้างธรรมภิบาลในระบบการศึกษา การวิเคราะห์ผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษา เส้นทางการศึกษา ปัญหาการขาดแคลนครูและการดึงดูดคนเก่งมาเป็นครู 2) การศึกษา 2040: เป้าหมายใหม่ในโลกดิจิทัล (Education 2040: Teaching Compass) ประกอบด้วย การออกแบบหลักสูตรใหม่ที่ตอบโจทย์อนาคต ปรับเปลี่ยนการสอน การประเมินผลต้องเป็นเครื่องมือเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ครูและระบบต้องพร้อม 3) แนวโน้มชี้ทางการศึกษา (Trends Shaping Education) OECD ได้วิเคราะห์แนวโน้มที่อาจเกิดขึ้น 48 แนวโน้ม แบ่งเป็นด้านความขัดแย้งและความร่วมมือในโลก ด้านการทำงานและความก้าวหน้า ด้านเสียงสะท้อนและเรื่องราว ด้านร่างกายและความคิด

ประเด็นที่ 2 การเสริมพลังทางการศึกษาด้วยกลไกระดับสากล เมื่อเปรียบเทียบภาพรวม (Overall Benchmarking) ใน 5 มิติ คือ มิติที่ 1 คุณภาพการศึกษา: ผลการทดสอบ PISA มิติที่ 2 การเข้าถึงการศึกษา: อัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา มิติที่ 3 ความเท่าเทียมทางการศึกษา: ปีการศึกษาที่คาดหวัง มิติที่ 4 ประสิทธิภาพการศึกษา: สัดส่วนของผลการทดสอบ PISA กับงบประมาณด้านการศึกษา และมิติที่ 5 การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง: สัดส่วนของประชากรอายุ 25-34ปี ที่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยใช้ข้อมูลจาก OECD, IMD, HDI และ UNDP สิ่งที่ต้องปรับปรุงเร่งด่วนคือ ประสิทธิภาพการศึกษา คุณภาพการศึกษา และการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบรายประเด็น (Issues Benchmarking) คือ AI for Education, Literacy, Gifted & Talent, Education Expenditure และ Well being พบว่า ไทยมีจุดแข็งด้านทัศนคติต่อโลกาภิวัฒน์และการปรับตัวต่อความท้าทาย รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งโดยเฉพาะสัญญาณอินเตอร์เน็ต แต่ยังมีข้อจำกัดอุปกรณ์ดิจิทัล อัตราการรู้หนังสือ การดึงดูด พัฒนาและรักษาบุคคลที่มีศักยภาพสูง ทั้งนี้จำเป็นต้องทบทวนการลงทุนทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพตอบโจทย์บริบทการเปลี่ยนแปลง

ประเด็นที่ 3 การเสริมพลังทางการศึกษาด้วยกลไกระดับสากล (Education Engagement) ผ่านการประเมินผลระบบการศึกษาตามมาตรฐานสากล การพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาไทยสู่มาตรฐานสากล และการมีส่วนร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางการศึกษาในระดับสากล ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD และ WERA พร้อมเตรียมเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานวิจัยระดับนานาชาติ ครั้งที่ 12 ปี พ.ศ. 2570 เพื่อทำให้ไทยเป็นที่รู้จัก รวมถึงได้เรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีจากประเทศอื่น ๆ

ประเด็นที่ 4 ภาพนโยบายทางการศึกษา (Education Policy Outlook) ต้องเริ่มจากการมีนโยบายที่ดี การออกแบบนโยบายทางการศึกษาในยุคดิจิทัลต้องใช้รูปแบบ Strategic Foresight คาดการณ์อนาคตเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ โดยการศึกษาต้องคำนึงถึง Resilience และ Well being เป็นอันดับแรก ทั้งนี้จำเป็นต้อง 1) วิเคราะห์หา Trends shaping Thailand Education ปัจจัยที่ส่งผลต่อการศึกษาไทยทั้งในระดับพื้นที่ ระดับชาติ และระดับนานาชาติในทุกมิติ 2) วิเคราะห์ผล Thailand Monitoring & Evaluation Education Analysis เพื่อหาสภาวการณ์ปัจจุบัน และถอดบทเรียนการปฏิรูปการศึกษาในอดีตที่ผ่านมา 3) กำหนด Thailand Education 2040 เป้าหมายระยะยาวที่สอดคล้องกับกรอบทิศทางการศึกษาระดับนานาชาติ และ 4) กำหนด Strategic Foresight ประเมินความเสี่ยงในอนาคต เพื่อทำให้นโยบายทางการศึกษามีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อทุกการเปลี่ยนแปลง

ด้าน ดร.ปิยนุช วุฒิสอน รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บรรยายพิเศษ “Learning in the Digital World” โดยกล่าวถึง การเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัล ผ่านนโยบายสำคัญ คือ การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลเพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ การสร้างความมั่นคงและปลอดภัย และ Human Capital ที่จะเป็นรากฐานอนาคต มีทักษะความรู้ด้านดิจิทัล และเพิ่มกำลังคนดิจิทัลในสาขาขาดแคลน และร่วมเสวนา “นโยบายการศึกษาสำหรับการเรียนรู้ในยุค Digital” โดย สกศ. เน้นถึงการมองอนาคต (Foresight) เป็นแนวทางจัดทำข้อเสนอกรอบทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2568 – 2570 ครอบคลุม 4 ด้านหลักและ 8 ประเด็นสำคัญ (ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.onec.go.th/th.php/book/BookView/2127 ) ตลอดจนสภาวะการศึกษาเด็กปฐมวัยในประเทศไทย การขับเคลื่อน พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ สมัชชาการศึกษาจังหวัด การศึกษาเท่าเทียม การประเมินผลสัมฤทธิ์ พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 และประเมินการบังคับใช้กฎหมายการจัดการศึกษา เพื่อให้มีข้อมูลที่ต่อเนื่องและทันสมัย อันจะนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาการศึกษาที่สอดคล้องรองรับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน พร้อมทั้ง ยกระดับสมรรถนะทางการศึกษาของประเทศ และเป็นการวางรากฐานในการพัฒนาการศึกษาให้มีความยั่งยืนในอนาคต

 

สพฐ.เตรียมนำการเรียนไปให้น้อง เสริม AI ช่วยจัดการเรียนรู้ พร้อมชวนเด็กไทยสมัครทุน ODOS Summer Camp เปิดประสบการณ์โลกกว้างอำเภอละ 1 คน


เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( กพฐ.) มอบหมายให้ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานการประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 17/2568 โดยนำข้อสั่งการของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ได้แก่ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting

นายพัฒนะ กล่าวว่า วันนี้ในที่ประชุมได้หารือประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ เช่น การขับเคลื่อนโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” (OBEC Zero Dropout) ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อให้เด็กไทยทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง โดยมีการขับเคลื่อนใน 4 มิติ ได้แก่ การป้องกัน การส่งต่อ การติดตามดูแล และการแก้ไข ซึ่งในส่วนของมิติการแก้ไข ได้มีการนำการเรียนไปให้น้องแล้ว 1,355 คน (ชั้นประถมฯ 240 คน ม.ต้น 768 คน ม.ปลาย 347 คน) และมีการส่งต่อแล้ว 811 คน (ชั้นประถมฯ 182 คน ม.ต้น 396 คน ม.ปลาย 233 คน) ส่วนกิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไปในช่วงเดือนพฤษภาคม จะมีการอบรม 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ online จำนวน 2 รุ่น มีกลุ่มเป้าหมายเป็นโรงเรียนนำร่อง 939 โรงเรียน รวมถึงการประชุมเชิงปฏิบัติการนำร่องการใช้ระบบสารสนเทศ Thailand Zero Dropout ในระดับตำบล โดยบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่าง 58 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และโรงเรียนสังกัด สพฐ. ในจังหวัดบึงกาฬ จากนั้นเมื่อเปิดภาคเรียน (16 พฤษภาคม 2568) จะมีการ kick off นำการเรียนไปให้น้อง ตามแผนดำเนินการโครงการฯ ระยะที่ 2 โดยมีการนำระบบ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ให้เด็กได้รับการศึกษาแบบยืดหยุ่น ทั้งการเรียนในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย พร้อมเสริมสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครอง ครู และชุมชน เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ สำหรับนักเรียนที่ยังไม่มีที่เรียน แม้ว่าเปิดภาคเรียนที่ 1/2568 แล้ว หากโรงเรียนใดยังมีที่นั่งว่าง สามารถรองรับนักเรียนได้ นักเรียนที่ยังไม่มีที่เรียนหรือนักเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา (อายุระหว่าง 3-18 ปี) สามารถกลับเข้ามาเรียนได้ ณ โรงเรียนของ สพฐ.โดยติดต่อไปยังโรงเรียนที่ต้องการโดยตรง เพื่อสอบถามที่นั่งว่างและกลับเข้าศึกษาต่อไป

นอกจากนี้ ตามที่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการเดินหน้าส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี Generative AI เข้ามาสนับสนุนการยกระดับกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ ในเดือนพฤษภาคมนี้ ศธ. จะมีการหารือกับ Google เพื่อนำ Gemini Al หรือ Gen AI อื่นๆ มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ และเพื่อลดภาระครู บุคลากร และผู้เรียน ในส่วนของ สพฐ. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและ AI มาช่วยในการจัดการเรียนรู้แล้วในหลายกิจกรรม อาทิ 1) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในชั้นเรียน (AI-Adaptive) มีกลุ่มเป้าหมายเป็นครูกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากโรงเรียนในสังกัด สพม.ทั่วประเทศ 2) โครงการอบรมการใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อออกแบบการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ระดับประถมศึกษา มีกลุ่มเป้าหมายเป็นศึกษานิเทศก์ ครูสังกัด สพป. และบุคลากรของ สพฐ. จำนวน 580 คน 3) โครงการโรงเรียนอุ่นใจปลอดภัยไซเบอร์ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นครู บุคลากร และนักเรียน ชั้น ป.4 – ม.6 ทั่วประเทศกว่า 1.2 แสนคน 4) โครงการอบรมออนไลน์การพัฒนาสมรรถนะดิจิทัลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย (Webinar AI 12 หลักสูตร) ซึ่งมีครูและบุคลากรฯ ผ่านการอบรมแล้วกว่า 7.6 แสนคน 5) โครงการอบรมพัฒนาสมรรถนะดิจิทัลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย สำหรับข้าราชการและบุคลากรส่วนกลาง มีผู้ผ่านการอบรมแล้วกว่า 80 คน เป็นต้น

พร้อมกันนี้ ขอเชิญชวนน้องๆ นักเรียนนักศึกษาที่อายุไม่เกิน 19 ปี สัญชาติไทย สมัครรับทุน “ODOS Summer Camp” ทุนการศึกษาระยะสั้นในต่างประเทศช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2568 ระยะเวลา 6 สัปดาห์ โดยทุนนี้จะได้รับอำเภอละ 1 ทุน (คน) ใน 878 อำเภอทั่วประเทศ และ 50 เขต ทั่วกทม. รวมทั้งสิ้น 928 ทุน และสามารถสมัครผ่านแอป “ทางรัฐ” ด้วยตนเอง จนถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 นี้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
https://www.gcc.go.th/2025/04/11/odos-summer-camp-2025/

สอศ.ร่วมมือเอกชนปั้นครูฝึกมืออาชีพ ผลิตกำลังคนอาชีวะตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมค้าปลีกและบริการ

วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 นายยศพล เวณุโกศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เป็นประธานพิธีเปิดโครงการอบรมครูฝึกในสถานประกอบการ หลักสูตร 30 ชั่วโมง โดยมีนางสาววีรมลล์ จงชาณสิทโธ Head of L&D and CRC Academy นายสมพร ชูทอง ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร นางกุลิสรา สุวรรณ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพ ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคี และครูฝึกในสถานประกอบการ จากในเครือ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กว่า 200 คน เข้าร่วม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 พฤษภาคม 2568 ณ ห้องประชุมท็อปส์ สาขาเกษตร กรุงเทพมหานคร

นายยศพล กล่าวว่า จากความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นหน่วยงานในการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาตอบโจทย์ความต้องการของสถานประกอบการเท่าทันการเปลี่ยนแปลง ตามนโยบาย พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” โดยขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีเข้มข้น ส่งเสริมนักเรียน นักศึกษามีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ และได้เรียนรู้จริงในสถานประกอบการ ซึ่งการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีจะมีครูฝึกในสถานประกอบการ ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญของสถานประกอบการ และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สอน ถ่ายทอดความรู้ ฝึกทักษะอาชีพให้ผู้เรียนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีตามหลักเกณฑ์ของ สอศ.

“สอศ. ร่วมกับบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดโครงการอบรมครูฝึกในสถานประกอบการ หลักสูตร 30 ชั่วโมง ประกอบด้วย การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี, การกำกับ ดูแล ผู้เรียนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี, การเขียนแผนการฝึกอาชีพ, เทคนิคการสอนงาน และการวัดและประเมินผลการฝึกอาชีพ เพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาและสร้างครูฝึกในสถานประกอบการให้มีประสิทธิภาพ มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะการถ่ายทอดวิชาชีพให้กับนักเรียนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ซึ่งครูฝึกในสถานประกอบการจะเป็นกลไกสำคัญเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษากับโลกของการทำงานที่ช่วยสร้างความเข้าใจบทบาทในวิชาชีพ มีทักษะฝีมือ ทัศนคติที่ดี และผลักดันการเรียนรู้สู่การปฏิบัติจริง ซึ่งเป็นส่วนในการผลิตกำลังคนที่มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมค้าปลีกและบริการ”เลขาธิการ กอศ. กล่าวและว่า ขอขอบคุณความร่วมมือ เซ็นทรัล รีเทล ที่ช่วยผลักดันการศึกษาสายอาชีพให้นักศึกษาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีได้รับโอกาส ฝากดูแลน้อง ๆ เยาวชนของชาติ พัฒนาวิชาชีพต่าง ๆ พร้อมสู่การแข่งขันในระดับนานาประเทศ และเติบโตเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เป็นกำลังคนคุณภาพตอบโจทย์เศรษฐกิจและขับเคลื่อนอนาคตของประเทศอย่างมั่นคง

 

ศธ.-มท.-สตช.และเครือข่าย ร่วมมือสร้างความปลอดภัย ให้นักเรียนห่างไกลบุหรี่ไฟฟ้า ยาเสพติด และความรุนแรง ทั้งในและนอกสถานศึกษา

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 บริเวณหน้า ได้มีพิธีเปิดและปล่อยขบวนความร่วมมือและปฏิบัติการตรวจร่วม นักเรียนปลอดภัย ห่างไกลบุหรี่ไฟฟ้าและยาเสพติด โดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน โดยมีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ พลตำรวจเอก อัคราเดช พิมลศรี ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) รวมถึงผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมในพิธี

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า ความร่วมมือและปฏิบัติการตรวจร่วมในครั้งนี้เป็น “โมเดลการทำงานแบบบูรณาการ” ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่ บูรณาการการทำงานร่วมกัน ตั้งแต่การเฝ้าระวัง การดูแลช่วยเหลือ ไปจนถึงการป้องกันและฟื้นฟู โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ นักเรียนต้องปลอดภัยและมีความสุข ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งกิจกรรมนี้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ในกิจกรรมการเฝ้าระวังเหตุและสร้างความปลอดภัย ตามโครงการนักเรียนในกรุงเทพมหานครปลอดภัยซึ่งจัดขึ้นที่ โรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ฯ และกิจกรรมนักเรียนปลอดภัยห่างไกลยาเสพติดที่ได้ดำเนินการในปีที่ผ่านมา และการดำเนินการดังกล่าวยังคงมีความจำเป็นต้องร่วมกันดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ขอความกรุณาทางจังหวัด นำโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดและทีมงานของกระทรวงศึกษาธิการทุกหน่วยได้ช่วยกัน จัดทำแผนเผชิญเหตุ และร่วมกันดำเนินการในการเฝ้าระวัง ดูแลความปลอดภัยทุกมิติ และป้องกันการเข้าถึงยาเสพติดรวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเด็ก

“วันนี้ให้มีการประชุมเพื่อรับหลักการ และแต่ละจังหวัดอาจจะแต่งตั้งคณะกรรมการไปดำเนินการ เพื่อให้เกิดการกระชับความร่วมมือการปฏิบัติให้เข้มข้น ภายในจังหวัด  ขอชื่นชมทุกฝ่าย และขอขอบคุณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่ายทุกท่าน ที่ได้ร่วมกันแสดงเจตจำนงและขับเคลื่อนภารกิจ เพื่อสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา ด้านสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตของผู้เรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งสถานศึกษาต้องเป็นสถานที่ปลอดภัย ปลอดยาเสพติด ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เฝ้าระวังการใช้ความรุนแรงทั้งในและนอกสถานศึกษาที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย และจิตใจของผู้เรียน ดังนั้น การสร้าง “โรงเรียนปลอดภัย” จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนต้องช่วยกันดูแล ป้องกัน และปราบปราม และสิ่งสำคัญที่ผม เน้นย้ำเสมอคือ “ทำเต็มความสามารถ อย่าประมาท พลาดไม่ได้” ขอให้ทุกท่านร่วมกันปฏิบัติภารกิจนี้ด้วยหัวใจ “ทำดี ทำได้ ทำทันที” รมว.ศึกษาธิการกล่าว

นายอรรษิษฐ์  กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีบทบาทสำคัญในการดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชนทุกระดับ โดยเฉพาะในด้านการควบคุมและแก้ไขปัญหาสังคมเชิงพื้นที่ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างครอบคลุม ซึ่งรวมถึงการดูแลปกป้องเยาวชนในสถานศึกษาในทุกจังหวัดทั่วประเทศ พิธีเปิดความร่วมมือและปฏิบัติการตรวจร่วม “นักเรียนปลอดภัย ห่างไกลบุหรี่ไฟฟ้าและยาเสพติด” ในวันนี้ ถือเป็นการแสดงพลังความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทยและภาคีเครือข่าย ที่บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อสร้าง “ความปลอดภัยในเชิงพื้นที่” อย่างแท้จริง ในการดูแลนักเรียนให้ปลอดภัย จากสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งด้านยาเสพติดและความเสี่ยงต่าง ๆ จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองทุกระดับร่วมขับเคลื่อนภารกิจครั้งนี้ ทั้งในด้านการสนับสนุนโรงเรียน ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำแผนที่จุดเลื่อง รวมถึงการลงพื้นที่ตรวจร่วม กับตำรวจ กระทรวงศึกษาธิการ และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ การดำเนินงานดังกล่าว มิได้เป็นเพียงการตรวจตราเท่านั้น หากแต่ยังเป็นกลไกในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียน ชุมชน และรัฐให้กลับมาเป็นหนึ่งเดียวกัน ในการร่วมกันสร้างความปลอดภัย ให้กับนักเรียนและประชาชน ทุกพื้นที่ในประเทศไทย

พลตำรวจเอก อัคราเดช  กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน เด็กและเยาวชนกำลังเผชิญกับภัยคุกคามต่าง ๆ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า ยาเสพติด และพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที จะส่งผลร้ายต่ออนาคตของชาติได้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมภารกิจ ความร่วมมือและปฏิบัติการตรวจร่วม “นักเรียนปลอดภัย ห่างไกลบุหรี่ไฟฟ้า และยาเสพติด” โดยขอให้ทุกสถานีตำรวจทั้ง 1,484 สถานี  ได้ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย  และภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างกลไก  สร้างความเชื่อมั่นในการปกป้อง ดูแลนักเรียน  นำไปสู่การยกระดับความปลอดภัยในสถานศึกษาอย่างยั่งยืนต่อไป

คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.กรุงเทพ ร่วมมือ กรมราชทัณฑ์ จัดประกวดอาหารของหวาน เครื่องดื่ม ในเรือนจำ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)กรุงเทพ ร่วมกับ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม จัดกิจกรรมการแข่งขันประกวดอาหาร ของหวาน และเครื่องดื่ม ในเรือนจำ/ทัณฑสถาน ภายใต้และเครือข่ายโครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ณ เรือนจำกลางนครปฐม โดย พลอากาศเอก สมคิด สุขบาง กรมวังผู้ใหญ่ประจำพระองค์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และ รองประธานคณะกรรมการกองทุนกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมี นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์  อธิบดีกรมราชทัณฑ์   น.ส.อโรชา นันทมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ผศ.ดร.ธนวิทย์ ลายิ้ม คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.กรุงเทพ พร้อมด้วย ผศ.สุรีย์รัตน์ เอมพรหม รองคณบดีฝ่ายกิจการทั่วไป ผศ.จริยา บูรพกุศลศรี อดีตอาจารย์  คณาจารย์ประจำ คณะฯ และนักศึกษา  เข้าร่วมพิธีเปิดกิจกรรม

ผศ.ดร.ธนวิทย์ ลายิ้ม คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.กรุงเทพ กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการฝึกอาชีพการทำอาหารและขนม ของเรือนจำในโครงการกำลังใจฯ และเรือนจำเครือข่ายที่มีความพร้อม จำนวน 36 แห่ง เพื่อแข่งขันชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ  ที่สำคัญกิจกรรมนี้ยังเป็นการต่อยอดการพัฒนาทักษะทางอาชีพให้แก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ภายใต้ โครงการกำลังใจฯ ซึ่งจะเป็นทักษะและวิชาชีพติดตัวให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากผู้ต้องราชทัณฑ์จะได้รับความรู้ด้านการประกอบอาหาร เทคนิคการประกอบอาหาร บรรจุภัณฑ์ การจัดตกแต่ง และนำเสนอ การคิดต้นทุน และโภชนาการ ได้รับประกาศนียบัตรผู้สัมผัสอาหาร เพื่อเป็นใบเบิกทางในการทำงานภายหลังพ้นโทษ ที่จะนำไปสู่การทดสอบ และยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงโอกาสในการทำงานเป็นเชฟ หรือผู้ช่วยเชฟ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานต่อไป

เสมา 1 เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายอาชีวะ ย้ำ “เรียนดี มีความสุข” มุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนให้ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ”

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดการประชุมวิชาการในหัวข้อ “แนวทางการขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง” ตามนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดย พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายแนวทางขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ  ในการนี้ นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) พร้อมด้วยนายวิทวัต ปัญจมะวัต นายณรงค์ชัย เจริญรุจิทรัพย์ นายสง่า แต่เชื้อสาย รองเลขาธิการ กอศ. และนายสุรพงษ์ เอิมอุทัย ผู้ช่วยเลขาธิการกอศ. รวมถึงผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สอศ. ภาครัฐและเอกชน สถาบันการอาชีวศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง จากทั่วประเทศ กว่า 700 คน าร่วมประชุม  ณ ห้องประชุมปทุมมาศ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวถึงการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2566 โดยเน้นทุกฝ่ายต้องมีความเข้าใจร่วมกันเพื่อให้เกิดความสุขในการทำงาน และส่งต่อสู่ความสุขของนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง เมื่อเรามีความสุขในการทำงาน เชื่อว่าเด็กๆ ก็จะมีความสุขเช่นกัน สำหรับการขับเคลื่อนด้านอาชีวศึกษา ขอชื่นชมที่อาชีวศึกษาขับเคลื่อนได้เต็มที่ สถานศึกษาให้ความใส่ใจใช้หัวใจดูแลเด็กอย่างแท้จริง ส่งผลให้ปัญหาความรุนแรงลดลงชัดเจน สะท้อนว่าครูเข้าใจและเข้าถึงนักเรียน การส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ นอกจากนี้ความคืบหน้าในการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ เช่น ลดภาระครู ทั้งในเรื่องวิทยฐานะ และการจัดระบบครูคืนถิ่นอย่างเป็นธรรม โปร่งใส, สนับสนุนสื่อการสอนและอุปกรณ์การเรียน โดยให้จัดหาและบูรณาการเครื่องมือ เช่น ซิมูเลเตอร์ เป็นสื่อการสอนในสถานศึกษา, เสริมศักยภาพผู้เรียน ด้วยการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ร่วมมือกับภาคเอกชน ให้ผู้เรียนได้ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ฝึกประสบการณ์จริง มีรายได้ระหว่างเรียน และจบแล้วมีงานทำ

“ปีนี้ เป็นมิติการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ และมิติการสื่อสาร 3+1 ทักษะภาษา (ไทย อังกฤษ จีน) และทักษะดิจิทัล, ส่งเสริมการเรียนรู้รูปแบบ Anywhere Anytime การจัดหลักสูตรระยะสั้น เน้นคุณภาพผู้เรียนด้วยการรับรองมาตรฐานวิชาชีพต่างๆ การดำเนินงานสุขาดีมีความสุข ความเท่าเทียมทางการศึกษา (Zero Dropout) นำเทคโนโลยี เช่น AI มาช่วยในการเรียนการสอน และส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงระหว่างสถานศึกษาในสาขาเดียวกัน เพื่อร่วมพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์ยุคใหม่ โดยการขับเคลื่อนตามนโยบายมุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนให้ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” การศึกษาที่ดีต้องเกิดจากการร่วมมือกันทั้งระบบ ขอให้ทุกภาคส่วน “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” เชื่อมโยงมิติการศึกษาอย่างเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เพื่ออนาคตการศึกษาที่ยั่งยืน”รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและย้ำว่า ให้ความสำคัญกับสมรรถนะขับเคลื่อนการทำงานในศตวรรษที่ 21 โดยใช้คำเปรียบเปรยสื่อแนวคิดในการพัฒนาตนเอง “มีดคม เพราะหมั่นลับ” คนจึงเฉียบแหลมได้ ด้วยการฝึกฝนและเรียนรู้อย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาและเจ้าหน้าที่ ต้องพัฒนาตนเอง หมั่นฝึกฝนและพร้อมเรียนรู้อยู่เสมอ

ด้าน นายยศพล กล่าวว่า สอศ. เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย 8 วาระงานอาชีวศึกษา (8 Agenda) ภายใต้แนวคิด “OVEC ONE Team ทำดี ทำได้ ทำทันที” ซึ่งเชื่อมโยงกับนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” มีความมั่นคงในชีวิต มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ ของกระทรวงศึกษาธิการ โดย พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยในปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมา การดำเนินงานของ สอศ. มีความก้าวหน้าในหลายมิติ ทั้งการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้เข้มแข็ง การจัดการศึกษาระบบทวิภาคีที่เข้มข้น ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในระดับประเทศ และต่างประเทศ ตลอดจนการพัฒนาห้องเรียนอาชีพในพื้นที่ต่าง ๆ ดูแลบูรณาการร่วมกับสถานศึกษาอื่นๆ สะท้อนให้เห็นถึงพลังความร่วมมือระหว่างสถานศึกษา สถานประกอบการ และชุมชน ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม

เลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า ปีการศึกษา 2568 นี้ สอศ. ให้สถานศึกษาทั่วประเทศเตรียมความพร้อม ทั้งด้านความปลอดภัยในสถานศึกษา การสำรวจสภาพแวดล้อม ป้องกันพฤติกรรมเสี่ยง การเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดและบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงแนวทางป้องกันการออกกลางคันของนักเรียน ส่งเสริมให้นักเรียนมีจิตอาสา ในกิจกรรมอาชีวะอาสาที่นำความรู้ความสามารถไปช่วยเหลือชุมชน พร้อมเดินหน้าสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่อาชีวศึกษา ผู้เรียนจะต้องได้รับการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งทักษะวิชาชีพ ทักษะวิชาการ และทักษะชีวิต เพื่อสร้างคนอาชีวะที่มีสมรรถนะสูง มีงานทำ มีทางเลือกในชีวิต และมีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง

“การประชุมครั้งนี้ไม่ใช่แค่เวทีมอบนโยบาย แต่ยังเป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และร่วมกันขับเคลื่อนอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับ และสร้างความสุขให้แก่ผู้เรียน ครู และสังคมในการเดินหน้าผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพ มีสมรรถนะสอดรับกับความต้องการกำลังคนในประเทศและสากล ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และแนวทางการศึกษาเพื่อความยั่งยืนของประเทศในอนาคต”นายยศพลกล่าว

 

“เลขาธิการสภาคาทอลิกฯ”จับมือ พว. จัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning “ชี้”เด็กเรียนแล้วมีความสุข สอดคล้องนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ

เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2568 ผู้บริหาร ครูและบุคลากรโรงเรียนในเครือรักกางเขน แห่งอุบลราชธานี ได้จัดประชุมสัมมนาผู้บริหาร ครูและบุคลากรโรงเรียนในเครือรักกางเขน แห่งอุบลราชธานี ปีการศึกษา 2568 หัวข้อ “การจัดการศึกษาคาทอลิก เพื่ออนาคตที่ดีกว่าเดิม” ณ ห้องประชุมโรงแรมแกรนด์สุนีย์ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี บาทหลวง ดร.เอกรัตน์ หอมประทุม เลขาธิการสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย เป็นประธานพิธีเปิด บรรยายพิเศษโดย ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ(พว.)อดีตกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา ของคณะกรรมาธิการการศึกษา การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ซิสเตอร์รัตนา พันธ์วิไล หัวหน้าฝ่ายการศึกษาโรงเรียนกางเขนแห่งอุบลราชธานี เข้าร่วมประชุม

โดย บาทหลวง ดร.เอกรัตน์ กล่าวว่า เราทราบกันดีว่าการเรียนการสอนในยุคปัจจุบัน ต้องจัดการศึกษามุ่งสู่อนาคต ต้องฟังเสียงเด็กว่าเขาต้องการอะไร และให้เด็กได้มีส่วนร่วมด้วย เพราะถือว่าโลกใบนี้เป็นของพวกเขาต้องรู้หน้าที่ความรับผิดชอบในอนาคตของพวกเขา ดังนั้น การเรียนการสอนแบบ Active Learning ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติและมีการเรียนการสอนร่วมกัน จึงตอบโจทย์การเรียนการสอนในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามโรงเรียนในเครือคาทอลิกได้นำ Active Learning มาจัดการเรียนการสอนหลายปีแล้ว แต่ที่มาจริงจังก็ในช่วงเกิดโรคโควิด 2019

“สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้ทำข้อตกลงร่วมกับ พว.ว่าเราจะเป็นพันธมิตรด้านการศึกษาร่วมกันโดยใช้พลังเครือข่ายที่มีคุณภาพของ พว.ที่มีวิทยากรที่มีคุณภาพอยู่ทั่วทั้งประเทศกับเครือข่ายของโรงเรียนคาทอลิกที่มีอยู่ 300 กว่าแห่งทั่วทั้งประเทศเหมือนกัน มาร่วมประสานเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้การเรียนการสอนแบบ Active Learning เป็นจริงเป็นจัง ซึ่ง หลังโควิด 2019 เป็นต้นมา เรานำ Active Learning มาใช้เต็มรูปแบบ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการให้เด็กเรียนแล้วมีความสุข”บาทหลวง ดร.เอกรัตน์ กล่าวและว่า Active Learning เป็นเสมือนไฟส่องทางที่ทำให้ภาพของการจัดการศึกษาสมบูรณ์แบบ และชัดเจนมากขึ้น เราไม่ได้ลืมสิ่งที่เราเคยเรียนเคยสอนมา หรือหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการเพียงแต่ว่าเราจะบูรณาการโดยนำเอาจิ๊กซอว์ที่ชื่อว่านำ Active Learning ให้ภาพของโรงเรียนนักเรียน มีความชัดเจนมากขึ้นอย่างสมบูรณ์

ซิสเตอร์รัตนา กล่าวว่า ในนามฝ่ายการศึกษาโรงเรียนกางเขนแห่งอุบลราชธานี เราได้อบรม Active Learning อย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการกับการเรียนการสอนแบบ Project Approach ที่โรงเรียนใช้จัดการเรียนการสอนอยู่ ซึ่งทำให้ครูเข้าใจง่าย นักเรียนจะทำโครงงานในแต่ละห้องเรียนแต่ละกลุ่มสาระที่นักเรียนสนใจ นักเรียนก็จะเสนอผลงาน ซึ่งทำให้นักเรียนเรียนแล้วมีความสุข เพราะนักเรียนได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และจากที่ ซิสเตอร์ ได้ไปดูงานที่อเมริกา เห็นได้ชัดเจนมากว่า ทั้งนักเรียน และนักศึกษา เขาจัดการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ซึ่งเราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเรานำรูปแบบนี้มาใช้ ถูกทาง ทั้งผลสัมฤทธิ์นักเรียนเพิ่มขึ้น และสิ่งที่จำเป็นที่สุดคือนักเรียนมีความสุขและจำนวนนักเรียนก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งวันนี้ โรงเรียนในเครือรักกางเขนแห่งอุบลราชธานี ทั้ง 5 แห่ง ได้ MOU กับ พว.ด้วย เพื่อพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพไปด้วยกัน

ดร.ศักดิ์สิน กล่าวว่า บาทหลวง ดร.เอกรัตน์ พูดมาจากพระผู้เป็นเจ้าจริงๆ เพราะท่านให้ Head Heart Hand คือ ปัญญา 3 ฐาน ซึ่งเราต้องนำ 3 ตัวนี้ มาสร้างความรู้ในทุกมิติให้กับผู้เรียนและสร้างกระบวนการ ที่สามารถนำไปใช้ได้ทั่วโลกทุกศาสตร์ ทุกภาษา วันนี้ผมจะฉายภาพให้เห็นความชัดเจนที่ทำแล้วเกิดผลจริงๆเหมือนกับนานาประเทศ ให้ครูได้เข้าใจคำว่า Active Learning ซึ่งวันนี้ครูก็จะได้เห็น

ก.ค.ศ.เตรียมสรรหา ผอ.เขตพื้นที่ฯก่อนบัญชีที่มีจะครบอายุ วันที่ 25 ก.ย.68

จากการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 4/2568 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม  2568 ที่มี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน  ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติที่สำคัญ คือ 1.  เนื่องจากบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จะครบอายุการขึ้นบัญชี ในวันที่ 25 กันยายน 2568 ตามประกาศคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประกาศ ณ วันที่ 26 กันยายน 2567 ก.ค.ศ.จึงมีมติเห็นควรให้สำนักงาน ก.ค.ศ. เป็นผู้บริหารจัดการเกี่ยวกับการดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ทั้งนี้ เพื่อจะได้ดำเนินการสรรหาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ทันก่อนบัญชีจะครบอายุการขึ้นบัญชี และเพื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปฏิบัติหน้าที่ได้ทันทีเมื่อมีตำแหน่งว่าง เนื่องจากตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติและบริหารจัดการในเขตพื้นที่การศึกษา

  1. อนุมัติ แต่งตั้งอนุกรรมการ ใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา แทนตำแหน่งที่ว่าง รวมทั้งสิ้นจำนวน 4 เขต
  2. อนุมัติ ย้ายและแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ให้ดำรงตำแหน่ง และวิทยฐานะเดิม ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งใหม่ จำนวน 6 ราย
  3. อนุมัติ บรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ได้รับการคัดเลือกซึ่งขึ้นบัญชีรอการบรรจุ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. จำนวน 2 ราย

ศธ.พร้อมเปิดภาคเรียน เสมา 1 ย้ำ เดินหน้า เรียนดี มีความสุข ลดจำนวนเด็กหลุดระบบการศึกษาให้เป็นศูนย์ ทุกหน่วยงานต่อร่วมมือร่วมใจกันต่อไป

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568  ที่ห้องประชุมบุณยเกตุ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ  นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ  ผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)  นายไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา รวมถึงผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสถานศึกษา รวมกว่า 500 คน ร่วมประชุมเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน “เรียนดี มีความสุข” กลับมาเรียนอย่างมั่นใจ เริ่มเทอมใหม่อย่างมีความสุข  และ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ได้เป็นประธานในพิธี Kickoff : โครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง (OBEC Zero Dropout) ระยะที่ 2 “นำการเรียนไปให้น้อง”  โดย กล่าวว่า ในการดำเนินการปีการศึกษาที่ผ่านมา ตนพอใจและมีความสุขมากที่ทุกคนร่วมมือร่วมใจดำเนินการ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย การกระทบกระทั่งกันของเด็กนักเรียน นักศึกษาที่ลดน้อยลงไป รวมถึงความไม่พึงพอใจของภาคส่วนต่าง ๆ ก็ลดน้อยลงไป ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายที่ร่วมมือกันซึ่งต้องขอขอบคุณในความร่วมมือร่วมใจดังกล่าว และขอยืนยันว่า เรื่องต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาจะพยายามแก้ไขต่อไป เพื่อให้ทุกท่านมีความสุข

 รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการตั้งเป้าหมายที่จะลดจำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้เป็นศูนย์ ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ โดยที่ผ่านมาได้เร่งติดตามการดำเนินงานในทุกจังหวัดให้ครบ 100% เพื่อนำผลการติดตามมาวิเคราะห์และช่วยเหลือเด็กได้อย่างเต็มที่ และให้เด็กทุกคนสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้ร่วมมือกันในการนำเด็กกลับสู่ระบบการศึกษา จนขณะนี้เราสามารถค้นหาติดตามเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาครอบคลุม 77 จังหวัด ในทุกเขตพื้นที่ได้เกือบ 100% แล้ว และในการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 นี้ เราจะดำเนินการระยะที่ 2 คือ นำการเรียนไปให้น้อง โดยมีการนำระบบ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาแบบยืดหยุ่น มีทั้งการเรียนในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย เพราะเด็กแต่ละคนมีความจำเป็นที่แตกต่างกัน พร้อมทั้งเน้นย้ำในเรื่องการป้องกัน ให้เด็กยังอยู่ในระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ส่วนเด็กที่ติดตามพบตัวแล้วแต่ยังไม่กลับมาเรียน เราก็จะพาการศึกษาไปหาเด็กๆ ตามนโยบายเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime โดยจะเสริมสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครอง ครู และชุมชน เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

“สำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 1/2568 นี้  ขอฝากให้สถานศึกษาทุกแห่ง ดูแลและดำเนินการเตรียมความพร้อมฯ ทั้งในด้านการจัดการเรียนการสอน สื่อและอุปกรณ์การเรียน อาคารสถานที่และสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน และความพร้อมในด้านความปลอดภัยของผู้เรียนในและนอกสถานศึกษา อาทิ การดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่เป็นสวัสดิการ สวัสดิภาพและปัจจัยพื้นฐานของผู้เรียน เช่น การจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายการศึกษา โครงการอาหารกลางวัน/อาหารเสริม (นม) บริการน้ำดื่มสะอาด การดูแลรักษาความปลอดภัยเรื่องจราจร รถรับ-ส่งนักเรียน การดูแลป้องกันความรุนแรงหรือยาเสพติดในสถานศึกษา เป็นต้น รวมถึงแผนหรือมาตรการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในการเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาในแต่ละมิติที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ คือ “การสร้างเครือข่ายการศึกษา” เพื่อให้เกิดความร่วมมือและการบูรณาการทำงานร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำรวจ สถานพยาบาลและเจ้าหน้าที่พยาบาล ท้องถิ่น ชุมชน และภาคส่วนอื่น ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แนวทาง “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้คนไทย “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” อย่างมีความสุขในทุกพื้นที่ต่อไป” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

ด้านว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า Thailand Zero Dropout เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ ตนมั่นใจว่า โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” OBEC Zero Dropout จะสามารถตอบสนองความต้องการของนักเรียนและผู้ปกครองที่มีความจำเป็นแตกต่างกันได้ โดย “นำการเรียนไปให้น้อง” จะจัดสำหรับนักเรียนที่มีความจำเป็นเฉพาะไม่สามารถกลับเข้ามาเรียนในระบบได้ โรงเรียนก็จะนำการเรียนไปให้นักเรียนได้เรียนที่บ้าน หรือเรียนออนไลน์ เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย โดยปัจจุบันมีการนำร่องนำการเรียนไปให้น้องในรูปแบบต่างๆ เช่น โรงเรียนมือถือ เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา, ห้องเรียน/บวรสร้างโอกาส, ห้องเรียนเคลื่อนที่ ห้องเรียนสาขา, เครดิตแบงก์/เทียบโอนหน่วยกิต และเปลี่ยนบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู โดยครูประจำชั้น ครูฝ่ายวิชาการ ร่วมจัดหาสื่อการเรียนรู้ นำแบบฝึกใบงานไปให้นักเรียนที่บ้าน ผู้ปกครองช่วยสอนและทำกิจกรรมร่วมกับนักเรียน มีการประเมินนักเรียนจากคลิปวิดีโอที่ผู้ปกครองส่งให้ เป็นต้น

“ปัจจุบันมีโรงเรียนสังกัด สพฐ. จำนวน 54 โรงเรียน ใน 16 เขตตรวจราชการที่เป็นโรงเรียนต้นแบบจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นด้วย 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ และมีโรงเรียน จำนวน 927 โรงเรียนที่สมัครพัฒนาโมเดลการศึกษาที่ยืดหยุ่น 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ซึ่งตนได้เน้นย้ำให้ ผอ.สพท. ทั่วประเทศ มีการบูรณาการดำเนินงานแก้ปัญหาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาและเด็กตกหล่นให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยเชิญชวนประสานกับภาคีเครือข่าย หรือชุมชนมาร่วมค้นหา จัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น และมีการชี้เป้า เฝ้าระวัง เด็กเยาวชนที่มีลักษณะที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เพื่อพาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง ให้ได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง สู่เป้าหมาย Thailand Zero Dropout หรือ เด็กหลุดจากระบบการศึกษาเป็นศูนย์ให้เร็วที่สุด” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 เนื่องด้วยเดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่สถานศึกษาทั่วประเทศเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนใหม่ การประชุมในวันนี้จึงเกิดขึ้น จากการผนึกกำลังร่วมกันของหน่วยงานสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทุกสังกัด ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) รวมถึงภาคีสำคัญ คือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อให้ผู้บริหารการศึกษาทุกสังกัด ทุกระดับ ได้รับทราบนโยบาย ทิศทาง เป้าหมายการขับเคลื่อนการศึกษาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้การดำเนินงานด้านการจัดการศึกษาในภาคเรียนใหม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งติดตามความพร้อมของสถานศึกษาในทุกมิติ อาทิ ด้านความปลอดภัย หลักสูตร บุคลากร และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศ โดยมีวาระสำคัญสำหรับปีการศึกษา 2568 คือ “เรียนดี มีความสุข : กลับมาเรียนอย่างมั่นใจ เริ่มเทอมใหม่อย่างมีความสุข” เพื่อมุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษา ให้ผู้เรียนทุกคน “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” อย่างยั่งยืนต่อไป

 

ใครยังไม่มีที่เรียนมาทางนี้ ห้องเรียนอาชีวะยังพอรองรับผู้เรียนสายอาชีพทั้งระดับ ปวช.และปวส.

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึก(สอศ.)หลายแห่งยังมีห้องเรียนรองรับนักเรียน นักศึกษาทั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ซึ่งทุกคนมีสิทธิได้รับโอกาสทางการศึกษา และเป็นความมุ่งมั่นของ สอศ. ในการสนับสนุนนโยบาย ‘เรียนดี มีความสุข’ ของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การนำของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งหวังให้ผู้เรียนทุกคนได้มีที่เรียน

เลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า อาชีวศึกษาเป็นสถานศึกษาสำหรับผู้เรียน และเยาวชนในการค้นพบตัวตนและพัฒนาทักษะที่ตรงกับความถนัด ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของความสุขในการเรียนและการทำงานในอนาคต โดยเฉพาะเยาวชนที่กำลังค้นหาเส้นทางชีวิตที่เหมาะสม การศึกษาสายอาชีพนอกจากความสำเร็จทางคุณวุฒิทางการศึกษาแล้ว ยังเป็นการเรียนที่บ่มเพาะ ฝึกทักษะและประสบการณ์ทางวิชาชีพที่สามารถนำไปประกอบอาชีพ ซึ่งตรงกับความต้องการในตลาดแรงงานปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังให้ผู้เรียนมีรายได้ระหว่างเรียนด้วย

ทั้งนี้ นักเรียน นักศึกษา ที่ยังไม่มีที่เรียน หรือรอเลือกสถานที่เรียนสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถานศึกษาในสังกัด สอศ. ใกล้บ้าน สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาขาวิชาที่เปิดรับและคุณสมบัติผู้สมัคร สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ https://admission.vec.go.th