เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 30 เมษายน 2568 ที่ สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เคนโด้ เกรียงไกรมาศ พจนสุนทร จาก “เพจเคนโด้ช่วยด้วย” ได้ พา นางชนานุช เข็มทอง ผู้เสียหายติดตามเรื่องร้องเรียนความไม่ชอบมาพากลเรื่องการเงินของโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนครราชสีมา โดยวันนี้ ทาง สพฐ.ได้รับเรื่องไว้เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ นางชนานุช เล่าว่า เมื่อ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 ช่วงเช้าได้นำเงินสดจำนวนสี่แสนกว่าบาทไปที่โรงเรียน เนื่องจากเงินของโรงเรียน โดนเบิกถอนออกไป โดยโรงเรียนได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อเบิกเงินโรงเรียนไปมาใช้ส่วนตัว แล้วเกรงกลัวความผิดจึงวางแผนยืมเงินชาวบ้านเพื่อนำกลับไปเข้าบัญชีโรงเรียน ซึ่งหนึ่งในคณะกรรมการที่โรงเรียนตั้งขึ้นมาเป็นหลานสาวแท้ ๆ ของข้าพเจ้าได้มาขอความช่วยเหลือเพราะกลัวติดคุก โดยเหตุผลที่ข้าพเจ้าช่วยเหลือ เพราะต้องการเงินที่หลานยืมไปก่อนหน้าคืน เพราะเขาอ้างว่าถ้าได้เงินก้อนนี้จะคืนเงินเก่าที่เคยยืมไป แต่หลังจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ที่สัญญาว่าจะคืนเงินข้าพเจ้าก็ไม่คืน ทำให้ข้าพเจ้าเดือดร้อนอย่างหนักเพราะเงินจำนวนนี้ข้าพเจ้าไปกู้ยืมมาจากธนาคาร ธ ก ส
นางชนานุช กล่าวต่อไปว่า ได้ส่งเรื่องร้องเรียนไปที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2565 และส่งไปที่ สพฐ. ช่วงเดือนสิงหาคม 2567 แต่เรื่องยังเงียบทั้งที่ได้มีการติดตามเรื่องไปหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า จึงร้องเรียนไปที่ เพจเคนโด้ช่วยด้วย และ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์สมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่น ให้ช่วยดำเนินการและติดตามเรื่องนี้
เคนโด้ช่วยด้วย พาสาวหอบหลักฐานร้อง สพฐ.แฉขบวนการไม่ชอบมาพากลทางการเงินของโรงเรียนหนึ่งในโคราช
ใกล้ถึงเป้าหมาย สพฐ.อบรมสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านวิทย์-คณิต ก่อนลงสนามสอบพิซา
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 13/2568 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากล โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) รายงานการอบรมสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ระดับเขตพื้นที่ จำนวน 245 เขตพื้นที่ มีกลุ่มเป้าหมาย จำนวนทั้งสิ้น 445,624 คน ลงทะเบียนแล้วจำนวน 437,567 คน อบรมเสร็จแล้ว จำนวน 339,121 คน ส่วนการสร้างคลังข้อสอบในระดับเขตพื้นที่ เพื่อต่อยอดการอบรมการสร้างและพัฒนาข้อสอบตามแนว PISA นั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) นำเข้าข้อมูลคลังข้อสอบ ในทันภายในวันที่ 16 พฤษภาคม เมื่อแล้วเสร็จทุกเขตพื้นที่สามารถดาวน์โหลดไปใช้ได้ ตามแนวทางเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime และได้มีการเสนอตัวอย่างการจัดทำคลังข้อสอบของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)กระบี่ โดยมีการจำแนกเป็น ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ข้อสอบเชื่อมโยงกับตัวชี้วัดในหลักสูตร นำไปใช้ในการเรียนได้
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับกิจกรรมปิดเทอมใหญ่ เด็กไทย ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ เชิญชวนเด็กร่วมเล่นเกม “สนุกคิด ปิดเทอมใหญ่” โดยให้นักเรียนร่วมเล่นเกมตอบคำถาม PISA มีนักเรียนเข้าร่วมในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ 258 คน โดยจะจับฉลากนักเรียนที่ตอบถูกทุกข้อ เพื่อรับรางวัลจาก รมว.ศึกษาธิการ สัปดาห์ละ 5 รางวัล ส่วน “กิจกรรมการเพิ่มศักยภาพโดยโรงเรียนพี่เลี้ยง” ดำเนินการในช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยใน 5 จังหวัด 5 ภูมิภาค (มุกดาหาร บุรีรัมย์ ปทุมธานี เชียงราย และตรัง) โดยโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯ เป็นโรงเรียนพี่เลี้ยง จัดการอบรมสร้างความรู้ เทคนิคการสอน เติมเต็ม และเตรียมความพร้อมระบบการสอน ให้แก่ครูผู้สอนชั้น ม.3 และ ม.4 ของโรงเรียนเครือข่าย นอกจากนี้ได้มีการวิเคราะห์แนวทางการส่งเสริม เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยสุ่มโรงเรียน 137 แห่ง วิเคราะห์จากการทดลองสอบ Pre PISA และวิเคราะห์จากผล O-NET ม.3 ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และโรงเรียนนำสู่การต่อยอด โดยจะต่อยอด นำผลการวิเคราะห์รายคน มาพัฒนาอย่างเข้ม ในภาคเรียนที่ 1/2568 ซึ่งผลการวิเคราะห์พบว่า เวลามีจำกัดในการทำ นักเรียนยังบริหารจัดการเวลาไม่ได้, นักเรียนไม่เข้าใจคำถามบางคำถาม จึงทำข้อสอบไม่ได้, การหาตัวอักษร สัญลักษณ์ต่างๆ บนแป้นคีย์บอร์ดช้า, การเข้าออกระบบค่อนข้างติดขัด นักเรียนเสียสมาธิ, บางข้อเนื้อหาไม่สัมพันธ์กับเนื้อหาในระดับชั้น ม.2
“สภาการศึกษา(สกศ.) ได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริมพหุปัญญาและการจัดการศึกษา สำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันของประเทศสู่ระดับสากล 4 ข้อ ได้แก่ 1. ปรับปรุงระบบการศึกษาให้ยืดหยุ่นต่อความต้องการ และศักยภาพของผู้เรียนที่หลากหลาย 2. พัฒนาระบบฐานข้อมูลเด็กที่มีความสามารถพิเศษ (Gifted and Talent) และระบบติดตามตัวเด็ก ติดตาม การพัฒนารายคน 3. พัฒนาครูสำหรับเด็ก Gifted และ 4. ส่งเสริมให้มีระบบจับคู่งาน (Job Matching) ระหว่างเด็ก Gifted และสถานประกอบการ ให้มีงานที่เหมาะสม แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ โดยตัวอย่างนโยบายที่น่าสนใจในต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ โดยเริ่มต้นตั้งแต่โรงเรียนประถมศึกษา ส่งเสริมทักษะที่เป็นจุดแข็งและนักเรียนมีความสนใจ”พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวและว่า นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ยังได้รายงานว่า จะมีการออกหน่วยดูแลสุขภาพในแต่ละจังหวัด ในเดือน พฤษภาคม 2568 โดยจะมีการตรวจคัดกรองต้อกระจก, ฉัดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น ด้วย
“คุรุสภา”ขับเคลื่อน Thailand Teacher Academy พัฒนาครูด้วยองค์ความรู้เฉพาะด้านอย่างมืออาชีพบนแพลตฟอร์มออนไลน์
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า จากนโยบาย “เรียนดี มีความสุุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งสร้าง “การศึกษาเท่าเทียม” เพื่อต่อยอดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับให้ทันสมัย ได้มาตรฐานสากลอย่างเร่งด่วนและรวดเร็ว ซึ่งสอดรับกับบทบาทหน้าที่ของคุรุสภาตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ที่กำหนดให้คุรุสภากำหนดนโยบายและแผนพัฒนาวิชาชีพ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษา ดังนั้นสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา โดยสถาบันคุรุพัฒนาในฐานะสถาบันวิชาการชั้นสูงของสภาวิชาชีพครูจึงได้ริเริ่มการพัฒนาครูและบุคคลากรทางการศึกษาภายใต้แนวคิดกลุ่มความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือ Thailand Teacher Academy บนพื้นฐานของการเรียนรู้ร่วมกันอย่างมืออาชีพ รวมถึงการพัฒนาครูที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสอนมาเป็นผู้สร้างครูรุ่นใหม่ อย่างเป็นระบบ และวัดผลงานจากการพัฒนาผู้เรียนโดยตรง
ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ทางคุรุสภากำลังเปิดรับสมัครกลุ่มความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของครูประถมศึกษา และกลุ่มความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของศึกษานิเทศก์ ดังนั้นผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา นักวิชาการและผู้สนใจทั่วไป สามารถแจ้งความจำนงสมัครเป็นสมาชิก หรือติดตามความเคลื่อนไหวการพัฒนาของกลุ่มความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของวิชาชีพทางการศึกษา Thailand Teacher Academy ผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก และสถาบันคุรุพัฒนา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา – TPDI (kurupatanaksp และเมื่อเข้ามาเป็นสมาชิกแล้วจะได้ร่วมทำกิจกรรมการพัฒนาต่าง ๆ เช่น การเผยแพร่ถ่ายทอดองค์ความรู้ ผ่านวิธีการช่องทางต่างๆ และการประชุมวิชาการ ตลอดจนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมเสนอผลงานแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการเรียนรู้ ที่สำคัญเมื่อผู้เข้าร่วมผ่านกิจกรรมตามหลักเกณฑ์ที่คุรุสภากำหนดแล้วจะได้รับเกียรติบัตร ซึ่งสามารถนำไปต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ด้วย
“ตั้งแต่ปี 2567 สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาได้จัดตั้งกลุ่มความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของครูประถมศึกษา The Academy of Elementary Teacher ซึ่งมีครูประถมศึกษาร่วมเป็นสมาชิกกว่า2,000 คน รวมทั้งได้จัดตั้งกลุ่มความเชี่ยวชาญอื่น ๆ เช่น กลุ่มความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของผู้บริหารสถานศึกษา มีสมาชิก 300 คน กลุ่มความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอาจารย์ในสถาบันผลิตครู ซึ่งมีการนำร่อง 30 สถาบันทั่วประเทศ กลุ่มความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านครูดนตรีไทย ได้มีการจัดประกวดดนตรี เพื่อแสดงความสามารถและแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการเรียนรู้ และกลุ่มความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของศึกษานิเทศก์ มีสมาชิกศึกษานิเทศก์ทั่วประเทศ 4,000 คน และระหว่างนี้คุรุสภากำลังรวบรวมองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีของผลการดำเนินงานของกลุ่มความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทุกกลุ่ม เพื่อนำไปไว้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ของคุรุสภา และขณะนี้คุรุสภาก็กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อในอนาคตจะเปิดให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้ไปด้วยกัน เพื่อสร้างกลุ่มการเรียนรู้ร่วมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จนเกิดเป็นวัฒนธรรมการนำของครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อวิชาชีพที่เป็นเลิศบนฐานของการพัฒนาผู้เรียนแบบองค์รวม ” ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าว.
“ศ.ดร.องอาจ นัยพัฒน์” ผอ.สมศ.คนใหม่ ประกาศเดินหน้าดัน สมศ. เป็น”ONESQA Academy” องค์กรนวัตกรรมด้านการประกันคุณภาพ ขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 ศ.ดร.องอาจ นัยพัฒน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เปิดเผยวิสัยทัศน์และบทบาทของ สมศ. ต่อระบบการศึกษาไทยภายหลังเข้ารับตำแหน่ง ผอ.สมศ. คนใหม่ ว่า พร้อมขับเคลื่อนนโยบายที่มีความเป็นเลิศด้านการประเมินและการประกันคุณภาพ เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาสู่สากล เสริมสร้างชีวิตและสังคม ที่มั่นคง ปลอดภัยและยั่งยืนในโลกของครูผู้สอน การบริหารทรัพยากร และการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ส่วนเป้าหมายระยะยาว มุ่งพัฒนาระบบ Dashboard Presentation ให้สามารถนำเสนอข้อมูลคุณภาพการศึกษาแบบ Real-time เข้าใจง่าย และใช้ในการสื่อสารเชิงนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการใช้นวัตกรรมด้านฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการวิเคราะห์เชิงลึก เพื่อประเมินผลและสนับสนุนการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบาย โดยบทบาทของ สมศ.ในระบบการศึกษาไทย ต้องไม่ใช่เพียง “ผู้ประเมิน” แต่ต้องเป็น “กัลยาณมิตร” ที่ทำงานร่วมกับสถานศึกษา และหน่วยงานต้นสังกัดอย่างต่อเนื่อง ด้วยแนวคิดที่ว่า “การประกันคุณภาพไม่ใช่งานเฉพาะเทศกาล แต่ต้องทำทุกวัน เหมือนการดูแลบ้านของเรา” โดยยึดวงจร PDCA (Plan-Do-Check-Act) ในการขับเคลื่อนการพัฒนา และวางรากฐานวัฒนธรรมคุณภาพในสถานศึกษาทุกระดับ
ศ.ดร.องอาจ กล่าวต่อไปว่า นอกจากการขับเคลื่อนระบบการประเมินคุณภาพภายนอกแล้ว สมศ.ให้ความสำคัญกับการสร้าง “ความร่วมมือในการพัฒนา” ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานต้นสังกัด และองค์กรระหว่างประเทศ โดยล่าสุดได้ร่วมประชุมประสานภารกิจกับ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งได้รายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษากว่า 5,000 แห่ง ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของ สมศ. ต่อหน่วยงานต้นสังกัด โดยพบว่า คุณภาพครู ผู้สอน ส่งผลต่อผลลัพธ์ของผู้เรียน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำเสนอในรูปแบบ Dashboard เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย
“สำหรับเป้าหมายในอนาคต สมศ.จะเดินหน้าเป็น ONESQA Academy โดย สมศ.จะเน้นการประเมินเพื่อพัฒนา ภายใต้ความเป็นกัลยาณมิตร พร้อมยืนหยัดบนหลักจริยธรรมในการเผยแพร่ข้อมูล เปิดเผยข้อมูลสารสนเทศเท่าที่จำเป็นให้ผู้ปกครองชุมชนและสังคมทราบอย่างโปร่งใส และภายใต้เป้าหมายดังกล่าว สมศ. ยังคงเดินหน้าพัฒนาระบบ Dashboard Presentation ให้ครอบคลุม เข้าใจง่าย และแสดงผลแบบเรียลไทม์ ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างปลอดภัยและโปร่งใส เพื่อเร่งขับเคลื่อน สมศ. สู่ความเป็น ONESQA Academy อย่างเต็มรูปแบบ กล่าวคือร่วมสร้างวัฒนธรรมคุณภาพภายในสถานศึกษาให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพการศึกษาไทยอย่างแท้จริง ภายใต้ความท้าทายที่การศึกษาของไทยต้องเผชิญ ทั้งจากความแตกต่างของบริบทประเภทสถานศึกษาในเมืองและพื้นที่ห่างไกล รวมถึงการแข่งขันในระดับสากล” ศ.ดร.องอาจ กล่าว
“กฤษฎีกาไฟเขียว”ให้ใช้ชุดลำลองเพิ่มเติมชุดลูกเสือได้ แต่พิธีการใหญ่ต้องใช้ชุดลูกเสือเนตรนารี ไม่ยกเลิก
เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2568 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกระแสดราม่ากระทรวงศึกษาธิการจะออกกฎกระทรวงว่าด้วยเครื่องแบบและการแต่งกายลูกเสือ พ.ศ. …. เพื่อยกเลิกชุดลูกเสือ เนตรนารีว่า กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้จะให้ยกเลิกชุดลูกเสือ เนตรนารี อย่างที่เข้าใจกัน แต่กระทรวงบอกว่า ตามกฎกระทรวงเดิมโรงเรียนมีอำนาจเลือกชุดได้อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่ว่าโรงเรียนจะเลือกชุดไหนสุดท้ายก็จะถูกบังคับด้วยกิจกรรมว่าต้องใช้ชุดลูกเสือ แต่ตอนนี้จะมีการปลดล็อคว่า ไม่ว่าโรงเรียนจะเลือกชุดไหนก็ตาม ทั้งชุดลำลองหรือชุดพิธีการก็สามารถใช้ชุดนั้นทำกิจกรรมลูกเสือได้ทุกกิจกรรม ซึ่งจะเป็นการลดภาระของผู้ปกครอง และคิดว่าไม่ได้เบียดเบียนร้านค้าจนขายของไม่ได้ ส่วนอีกประเด็น คือ กรณีงานกิจกรรมที่เป็นพิธีการในส่วนกลาง เช่น การเดินสวนสนาม ถวายสัตย์ปฏิญาณ ซึ่งพิธีเหล่านี้ยังจำเป็นต้องใช้ชุดลูกเสืออยู่
“ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าเวลาโรงเรียนตัดสินใจใช้ชุดอะไร เช่น กิจกรรมเดินทางไกลกิจกรรมรอบกองไฟ ก็ยังใช้ชุดลูกเสืออยู่แต่กฎกระทรวงฉบับใหม่นี้จะเปิดให้เป็นไปตามความเหมาะสมตามที่โรงเรียนเลือกขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละโรงเรียนได้”โฆษกศธ.กล่าว
ดร.ธนู ขวัญเดช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (28 เม.ย.)ตนได้เข้าไปชี้แจงเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงว่าด้วยเครื่องแบบและการแต่งกายลูกเสือ พ.ศ. …. ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ความเห็นชอบไปแล้ว และ ส่งไปให้กฤษฎีกาตรวจทานรายละเอียดของร่างกฎกระทรวงอีกครั้ง ซึ่ง เบื้องต้น ในกฎกระทรวงใหม่ได้เปิดโอกาสให้มีชุดลำลองขึ้นมา ซึ่งจริงๆแล้วชุดลำลองในกฎกระทรวงที่เราใช้อยู่ปัจจุบัน ก็ให้ลูกเสือสำรอง เนตรนารีสำรอง หรือเด็กระดับประถมศึกษา ปีที่ 1-4 สามารถใช้ชุดลำลองได้อยู่แล้ว แต่ไม่ครอบคลุมไปถึงลูกเสือประเภทอื่นๆ คือ ลูกเสือสามัญ เนตรนารีสามัญลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ เนตรนารีสามัญรุ่นใหญ่ ลูกเสือวิสามัญ และเนตรนารีวิสามัญ ดังนั้น กฎกระทรวงฉบับใหม่ก็จะเปิดโอกาสให้มีชุดลำลองสำหรับลูกเสือ เนตรนารีทุกประเภท ให้สามารถใช้ชุดลำลองได้ด้วย ทั้งนี้ขอย้ำว่ากระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้ยกเลิกชุดลูกเสือเนตรนารี และในพิธีการใหญ่ ๆ เช่น การสวนสนามก็ต้องใช้ชุดเครื่องแบบลูกเสืออยู่ แต่การทำกิจกรรมหรือการฝึกต่างๆ ในโรงเรียนสามารถใช้ชุดลำลองได้ ซึ่ง ทางกฤษฎีกา ก็บอกว่าสามารถใช้ได้
ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ยังไม่ได้มีหนังสือหรือแนวปฏิบัติใดๆไปถึงโรงเรียน ต้องรอแนวปฏิบัติที่ชัดเจนจากทางสำนักงานลูกเสือแห่งชาติก่อน แต่ที่แน่ๆ คือ กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ยกเลิกชุดลูกเสือเนตรนารี
“ศธ.” มั่นใจ ภาคเรียนที่2/2568 แท็บเล็ตถึงมือนักเรียน
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน หรือ Anywhere Anytime เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งเป็นงบประมาณต่อเนื่อง 5 ปี 20,000 ล้านบาท ว่า ตอนนี้อยู่ในกระบวนการประชาวิจารณ์ ร่างขอบเขตของงาน(TOR)รอบสองโดยตนได้เน้นย้ำให้ ดำเนินการด้วยความบริสุทธิ์รอบคอบและเป็นไปด้วยความยุติธรรม ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระยะเวลาของการรับฟังความคิดเห็นแต่โดยสรุปแล้วเชื่อว่าจะจัดหาให้ทันภายใน ภาคเรียนที่2/2568
ด้านนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตอนนี้กำลังขึ้นประชาวิจารณ์รอบสอง ซึ่งจะแขวนไว้ ให้เข้ามาประชาวิจารณ์ 5 วัน ซึ่งคาดว่า ราวเดือนพฤษภาคม มิถุนายน จะเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งจะมีระยะเวลาสำหรับผู้ประกอบการประมาณ 2-3 เดือน ในการจัดเตรียมของ เนื่องจากการดำเนินการครั้งนี้ เป็นของล็อตใหญ่และต้องใช้จำนวนมาก ทั้งนี้เชื่อว่าน่าจะทำทันเปิด ภาคเรียนที่2/2568 แน่นอน
“ในการประชาวิจารณ์รอบแรก เราได้ตอบข้อวิจารณ์ทุกคนเหตุผลบางข้อก็รับฟังได้บางข้อก็อาจจะรับฟังไม่ได้ซึ่งเราก็ได้ชี้แจงเหตุผลไปโดยยึดหลักของกฎหมายบางข้อคณะกรรมการก็ต้องกลับมาพิจารณาอีกครั้ง หนึ่งหรือคุณสมบัติบางเรื่องที่ขัดต่อกฎหมายก็อาจจะแก้ไขไม่ได้ทั้งหมดซึ่งต้องยอมรับว่าโครงการนี้เป็นโครงการใหญ่กระทรวงศึกษาธิการต้องทำด้วยความรอบคอบอย่างสูงเพราะเราเช่าเครื่องระยะเวลานานถึง 5 ปีต้องได้ผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบสูงด้วยดังนั้นเราต้องมาชั่งน้ำหนักระหว่างการให้โอกาสกับความพร้อมในการรับความ เสียหายในกรณีที่เกิดขึ้นก็ไม่รู้ว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน“ นายสิริพงศ์ กล่าวและว่า การแขวน TOR รอบสองนี้เราต้องดูด้วยว่ามีอะไรตกหล่นไปบ้างอะไรต้องแก้ไขหรือต้องมาแขวนประชาวิจารณ์อีกครั้ง แต่หากดูแล้วครบถ้วนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานก็สามารถลงนามประกาศจัดซื้อจัดจ้างได้เลยอย่างไรก็ตามตั้งใจว่ารอบนี้น่าจะจบแต่ไม่รู้ว่าถึงเวลาจริงๆจะเป็นอย่างไรแต่ยังไงก็จะทำให้เสร็จก่อนงบตกแน่นอนซึ่งคาดว่าเดือนมิถุนายนนี้ก็จะสามารถหาผู้รับจ้างได้
“เสมา 1” ชื่นชม สกลนคร-นครพนม-มุกดาหาร นำนโยบายสู่การปฏิบัติได้ผลดี ฝากการบ้านใหม่ไปลับคมเพิ่มประสิทธิภาพงานให้ดีขึ้นไปอีก
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการและผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจราชการและติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล/นโยบายการศึกษา และข้อสั่งการ ของ รมว.ศึกษาธิการและ รมช.ศึกษาธิการ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2568ณ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน 2 (จังหวัดสกลนคร นครพนม และมุกดาหาร)
โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมหัวหน้าส่วนราชการด้านการศึกษาของ จังหวัดสกลนคร นครพนมและมุกดาหาร ที่โรงเรียนนครพนมวิทยาคม และตรวจเยี่ยมโรงเรียนปิยะมหาราชาลัย ว่า จากการประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ได้รับฟังรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล นโยบายกระทรวง และนโยบายรัฐมนตรี พบว่า ทั้ง 3จังหวัด ภาพรวม ถือว่าทำงานได้ดีไม่ว่าจะเป็น การแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า ยาเสพติด เด็กหลุดจากระบบการศึกษา การเตรียมความพร้อมการยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งการสอบพิซ่าและโอเน็ต อย่างไรก็ตามฝากเรื่องของการเพิ่มสมรรถนะของครูและนักเรียน โดยได้ขอให้ทุกคนไปดูสมรรถนะของตัวเองว่ายังมีอะไรที่ไม่คมบ้าง เพราะเชื่อว่าทุกคนเป็นเหมือนมีดที่เหล็กดีอยู่แล้ว แต่ก็จะต้องลับถึงจะคมดังนั้นจึงให้ไปดูไปทบทวนการทำงานให้ดีขึ้นและมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพมากขึ้นส่วนเรื่องข้อสั่งการนั้น ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดาเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)ได้เน้นย้ำในที่ประชุมไปแล้ว คือเรื่อง การสำรวจความเสียหายของโรงเรียนอันเนื่องมาจากวาตภัยและอุบัติภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยย้ำให้โรงเรียนเร่งสำรวจความเสียหายแล้วส่งเรื่องขึ้นมาเพื่อดำเนินการจัดสรรงบประมาณซ่อมแซมต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้ทันการเปิดภาคเรียนในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ส่วนการตรวจเยี่ยมโรงเรียนปิยะมหาราชาลัยนั้นทราบว่า โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนเก่าแก่มีศิษย์เก่าเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คือ พลเอกมานะ รัตนโกเศศ และคนที่มีชื่อเสียงและทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติอีกหลายคน การมาเยี่ยมเยียนครั้งนี้ก็เป็นการให้กำลังใจและต้องการให้มีการแบ่งปัน ทรัพยากรและบุคลากร ไปช่วยดูแลโรงเรียนอื่นๆ ที่คุณภาพอาจจะเป็นรองอยู่ เพื่อช่วยยกคุณภาพโรงเรียนเหล่านั้นขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นระดับมัธยมศึกษาหรือประถมศึกษา ทั้งในลักษณะของพี่สอนน้อง เพื่อนช่วยเพื่อน หรือครูช่วยครู ซึ่งจะทำให้เกิดมิติในการแลกเปลี่ยนและจะทำให้การศึกษาในภาพรวมดีขึ้นได้ ทั้งนี้ที่ผ่านมาตนจะเน้นย้ำมาตลอดในเรื่องการสร้างเครือข่าย การใช้ทรัพยากรร่วมกัน ใครมีอะไรก็แบ่งปันกัน ซึ่งโรงเรียนปิยะมหาราชาลัยนี้ถือไปโรงเรียนหนึ่งที่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีศิษย์เก่าเข้ามาช่วยดูแลโรงเรียน ซึ่งถือเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่นๆได้ นอกจากโรงเรียนสวนกุหลาบที่เป็นตัวอย่างที่ดีแล้ว โรงเรียนปิยะมหาราชาลัยก็เป็นอีกตัวอย่างเช่นกัน
“โรงเรียนปิยะมหาราชาลัยเปรียบเหมือนโรงเรียนสวนกุหลาบที่อยู่นครพนม เพราะศิษย์เก่ามีความกตัญญูต่อโรงเรียน โดยมาดูแลโรงเรียน นอกจาก เรื่องวิชาการที่สอนให้เด็กเป็นคนเก่งและดีแล้ว ยังสอนให้เป็นคนที่มีความกตัญญูโดยเฉพาะกตัญญูต่อสถานศึกษาและต่อประเทศ ดังนั้นถ้าสามารถกระจายค่านิยม ความดีนี้ไปยังโรงเรียนอื่นๆได้ทั้งในจังหวัดนครพนมและทั่วประเทศจะยิ่งเป็นการดี ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นสอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีที่ส่งเสริมให้เด็กกลับมาพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองและยังสอดคล้องกับนโยบายของพรรคภูมิใจไทยที่ส่งเสริมให้คนกลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งถ้าทำได้ทั้งประเทศจะเป็นเรื่องที่น่ายิรดีอย่าง”พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า
ศธ.ห่วงภัยพายุฤดูร้อน แนะเฝ้าระวังใกล้ชิด ย้ำหากเกิดความเสียหายให้แจ้งทันที
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แสดงความห่วงใยนักเรียน ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ เรื่องพายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน จากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ที่อาจจะมีผลกระทบจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บ และฝนตกหนักบางแห่ง เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันในช่วงวันที่ 26-29 เมษายน นี้ โดยในช่วงที่หลายพื้นที่ของประเทศไทยกำลังเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวน โดยเฉพาะพายุฤดูร้อนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายจังหวัด จึงขอให้เฝ้าระวังและติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัยของทุกภาคส่วน
นายสิริพงศ์ กล่าวว่า โรงเรียนและสถานศึกษาในทุกสังกัดควรเตรียมมาตรการตามแผนเผชิญเหตุป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากลมกระโชกแรง ฝนตกหนัก หรือฟ้าผ่า โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีสิ่งปลูกสร้างเก่า หรือมีจุดเสี่ยงต่ออันตราย และซักซ้อมขั้นตอนการปฏิบัติในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินจากพายุฤดูร้อนในช่วงเปิดภาคเรียนอยู่เสมอเพื่อสามารถตอบสนองและให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที หากโรงเรียนใดประสบความเสียหายจากพายุ ไม่ว่าจะเป็นอาคารเรียน ระบบไฟฟ้า หรือพื้นที่โดยรอบ ขอให้ แจ้งมายังต้นสังกัดโดยเร็วที่สุด เพื่อดำเนินการประเมินตามแผนเผชิญเหตุและจัดสรรความช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมและเร่งด่วน ไม่เพียงแต่ดูแลด้านกายภาพของโรงเรียน แต่ยังรวมไปถึงการสื่อสารกับผู้ปกครอง การให้ความรู้แก่นักเรียนในการป้องกันตนเอง และการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุในระดับสถานศึกษา
“ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นครู ผู้บริหารสถานศึกษา หรือผู้ปกครอง เพื่อให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุด ยังคงย้ำเสมอถึงความจำเป็นในการมีแผนเผชิญเหตุที่ชัดเจน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ผลักดันให้ทุกโรงเรียนปฏิบัติอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งจัดการรายงานความเสียหายให้เป็นระบบ สามารถรับมือกับภัยธรรมชาติในระยะยาว สิ่งสำคัญที่สุดคือชีวิตและความปลอดภัยของนักเรียน ครู และบุคลากรทุกคน ขอให้ทุกโรงเรียนคำนึงถึงเป็นอันดับแรก ช่วงนี้ครูบางคนอาจจะเข้าไปในโรงเรียนเพื่อความพร้อมก่อนเปิดเทอม ขอให้วางแผนการใช้เวลาและการเดินทางในช่วงนี้ อย่างระมัดระวัง หากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย หรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายกับสถานศึกษา ขอให้ครูพิจารณางดเข้าพื้นที่ชั่วคราวเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง” โฆษก ศธ. กล่าว
9 มทร. พร้อมเดินหน้าสนองนโยบาย รมว.อว. มุ่งยกระดับอุดมศึกษาไทยAI for Education ต้องเกิด
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 ที่ โรงแรมฮิลตัน หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รศ.ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) เปิดเผยว่า จากการประชุม ทปอ.มทร.ที่ประชุมได้มีการเสนอยุทธศาสตร์ 9 มทร. ในการรับสานต่อวิสัยทัศน์ของนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ในโอกาสมอบนโยบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของกระทรวงฯ ในงานประชุมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 9 มทร. ซึ่งมีความพร้อมในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของ รมว.อว. โดยเฉพาะแนวคิด “2 ลด 2 เพิ่ม” ที่มุ่งลดภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา พร้อมเพิ่มทักษะและเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้และการมีอาชีพที่มั่นคงสำหรับอนาคตของชาติ
ประธาน ทปอ.มทร. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ มทร.ทั้ง 9 แห่ง เรายังพร้อมที่จะผลักดันนโยบายสำคัญอื่นๆ เช่น ระบบ National Credit Bank ที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตอย่างยืดหยุ่น และการจัดตั้งแพลตฟอร์ม Skills Future Thailand ที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมทักษะอาชีพที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน โดยได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการ SkillsFuture ของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ผ่านระบบคูปองฝึกอบรมที่ประชาชนสามารถใช้พัฒนาทักษะตนเองในสาขาที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน สำหรับประเทศไทย โครงการนี้จะมีการรวบรวมและจัดระเบียบข้อมูลทักษะ (Skill Mapping) ของนักศึกษาและประชาชนทั่วไป เพื่อให้สามารถเลือกพัฒนาในทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพจริง อาทิ ทักษะดิจิทัล ทักษะอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และทักษะผู้ประกอบการ พร้อมสนับสนุนด้วยระบบ Skill Transcript ที่ช่วยบันทึกและแสดงผลความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ
“ขอย้ำว่า มทร.ทั้ง 9 แห่ง จะร่วมกันสานต่อนโยบายของรมว.อว. ที่ว่า AI for Education มุ่งเน้นให้คนไทยสามารถ “ใช้ AI ได้” และ “สร้าง AI เป็น” อย่างมีประสิทธิภาพและจริยธรรม พร้อมผลักดันมหาวิทยาลัยไทยก้าวสู่ “AI University” และ “Education 6.0” อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการวางระบบหลักสูตรและความร่วมมือกับภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายให้บัณฑิตไทยร้อยละ 90 มีความรู้พื้นฐานด้าน AI และร้อยละ 50 มีทักษะการใช้ AI อย่างแท้จริง ภายในปีที่ 2 ของการศึกษา พร้อมตั้งเป้าผลิตบุคลากรด้าน AI ให้ได้อย่างน้อย 30,000 คน ภายใน 3 ปี ครอบคลุมตั้งแต่ระดับผู้เชี่ยวชาญ (AI Professional) วิศวกร (AI Engineer) จนถึงผู้เริ่มต้น (AI Beginners)ในการพัฒนา AI University โดยเราจะนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมของนักศึกษาไทยให้มี AI literacy สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างชาญฉลาด และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพในโลกยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” รศ.ดร.อุดมวิทย์ กล่าวและว่า เชื่อมั่นว่าวิสัยทัศน์และนโยบายที่มีเป้าหมายและแนวทางที่ชัดเจนของ รมว.อว. จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ระบบอุดมศึกษาไทยสามารถก้าวสู่ความเป็นเลิศในระดับสากล และมีส่วนสำคัญในการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพและศักยภาพสูงสุดให้กับประเทศชาติอย่างแท้จริง
“ครูเอ” ปลื้ม มีผู้สนใจแห่สมัครสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐานครั้งแรก ทะลุ1,000ราย เดินหน้าสอบรอบ 2-3 คาดว่าจะทะลุ3,000 รายแน่นอน
วันที่ 25 เมษายน 2568 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) จะมีการนำการสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน กลับมาให้ผู้สนใจได้เข้าร่วมสอบอีกครั้ง โดยทางสกร.จะมีการดำเนินการสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นครั้งที่1 ในวันเสาร์ที่ 26 เมษายน และวันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน นี้ โดยทาง สกร. จะร่วมกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ดำเนินการสอบเทียบฯ ดังนั้นจึงขอเป็นกำลังใจให้ผู้เข้าสอบทุกท่านประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจ และขอให้ผู้เข้าทดสอบเตรียมตัวให้พร้อมกับการสอบในครั้งนี้ อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่สนใจสอบเทียบฯ แต่เตรียมเอกสารหรือสมัครไม่ทันในรอบแรก ก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะทาง สกร.จะมีการเปิดให้สอบเทียบอีก โดยมีแผนการรับสมัคร ครั้งที่ 2 ผู้สนใจลงทะเบียนจองสิทธิ สถานศึกษาตรวจสอบเอกสารรับขึ้นทะเบียนและลงทะเบียนสอบเป็นรายวิชา ระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2568 ประกาศและตรวจสอบข้อมูลรายชื่อผู้มีสิทธิสอบวันที่ 23 พฤษภาคม 2568 จัดสอบในวันที่ 31 พฤษภาคม-1 มิถุนายน 2568 ประกาศผลสอบวันที่ 13 มิถุนายน 2568 และ แผนการรับสมัคร ครั้งที่ 3 ผู้สนใจลงทะเบียนจองสิทธิ สถานศึกษาตรวจสอบเอกสารรับขึ้นทะเบียนและลงทะเบียนสอบเป็นรายวิชา ระหว่างวันที่ 16-23 มิถุนายน 2568 ประกาศและตรวจสอบข้อมูลรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบวันที่ 26 มิถุนายน 2568 จัดสอบในวันที่ 5-6 กรกฎาคม 2568 ประกาศผลสอบวันที่ 18 กรกฎาคม 2568
“สำหรับการเปิดรับสมัครและรับขึ้นทะเบียนสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้วยระบบดิจิทัล (Digital Testing) ครั้งที่ 1 ระหว่าง วันที่ 4-10 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้สมัครระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 3 ระดับ ทั้งสิ้น 1,896 คน จำแนกเป็น ระดับประถมศึกษา จำนวน 120 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 560 คน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 1,216 คน ยอดสมัครรวมดังกล่าว ถือว่ามากกว่าแผนที่คาดการณ์ไว้ว่าการเปิดสอบเทียบฯ ในการสอบ 3 ครั้งแรก จะมีผู้สมัครรวมไม่ต่ำกว่า 3,000 คน เพราะครั้งแรกมีผู้สมัครเข้าสอบเทียบระดับถึง 1,896 คนแล้ว”รมช.สุรศักดิ์ กล่าว