สอศ.เสริมแทคติกงานประชาสัมพันธ์สถานศึกษา สร้างภาพลักษณ์การศึกษาสายอาชีพ

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “How To: Content Senior Idol รุ่นที่ 1” โดยมีบุคลากรด้านประชาสัมพันธ์จากสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศคึกษา จำนวน 40 คน เข้าร่วม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 25 เมษายน 2568 ณ โรงแรมอเวย์ บางกอกริเวอร์ไซด์ คีน กรุงเทพมหานคร โดยนายยศพล กล่าวว่า การสื่อสารเกิดขึ้นทุกวินาที งานประชาสัมพันธ์ไม่ใช่เพียงแค่ การบอกเล่า แต่คือ กลยุทธ์ ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ สร้างภาพลักษณ์ และสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นอย่างมีเป้าหมาย หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญคือ การเล่าเรื่องของศิษย์เก่า ซึ่งเป็นภาพสะท้อนความสำเร็จ และเป็นตัวแทนของการเรียนอาชีวศึกษาได้อย่างชัดเจน ผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างตรงใจ และสามารถเปลี่ยนมุมมองของสังคมที่มีต่ออาชีวศึกษาได้

เลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จึงยกระดับงานประชาสัมพันธ์ให้เป็นมากกว่างานสนับสนุน แต่เป็นเครื่องมือเชิงนโยบาย ที่สามารถขับเคลื่อนทัศนคติ สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างความภาคภูมิใจในเส้นทางสายอาชีพ โดยเฉพาะในบริบทของการเรียนอาชีวศึกษา ซึ่งต้องอาศัยการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเปลี่ยนทัศนคติและผลักดันโอกาสให้กับผู้ที่สนใจอย่างแท้จริงให้เยาวชนเห็นคุณค่าและศักยภาพของสายอาชีพ โดยเนื้อหาครอบคลุมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ อาทิ การเล่าเรื่องที่ทรงพลัง (Powerful Storytelling) โดย คุณทัตชญา ศุภธัญสถิต “ฝน MonterFon” ครีเอทีฟ มือทอง คร่ำหวอดในวงการกว่า 10 ปี เทคนิคการสร้างคอนเทนต์ โดยทีมแผนกดิจิทัลกราฟฟิก จากวิทยาลัยเทคนิคโพธาราม และศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จ นายปิติพงษ์ เสลาลักษณ์ “ปอม” หนึ่งในผู้สร้างเพจหัวกรวย ที่มีผู้ติดตามกว่า 4.1 ล้าน รวมถึงการเลือกช่องทางสื่อสารให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย การใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือออนไลน์ การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย และวัดผลความสำเร็จ

”ทุกท่านคือฟันเฟืองในการช่วยผลิตกำลังคนอาชีวศึกษา ช่วยกันประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ซึ่งทุกท่านที่เข้าร่วมจะรับกระบวนการการสร้างคอนเทนต์ว้าว ๆ และแนวคิดใหม่ที่จะเปลี่ยนบทบาทให้เป็นผู้ขับเคลื่อนภาพลักษณ์ของสถานศึกษาอย่างแท้จริง การอบรมครั้งนี้จัดขึ้นโดยสำนักอำนวยการ กลุ่มประชาสัมพันธ์ ร่วมกับวิทยาลัยพณิชยการธนบุรี เป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะการผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ถ่ายทอดเรื่องราวของศิษย์เก่าในมุมมองที่น่าสนใจ และเชื่อมโยงให้เกิดเครือข่ายประชาสัมพันธ์อาชีวศึกษาที่แข็งแกร่งและยั่งยืน”นายยศพลกล่าว

 สอศ.จับมือจีนยกระดับนักศึกษาไทยฝึกประสบการณ์วิชาชีพนักเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า 

นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ผลักดันโครงการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ “EV สู่ภาคปฏิบัติอาชีวะอาสา” สอดคล้องกับนโยบายของพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ด้านการพัฒนาทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริง (Learn to Earn) และการพัฒนาทักษะอาชีพที่จำเป็นแก่โลกอนาคต (Future Skill) ภายใต้เป้าหมาย “การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศและการศึกษาเพื่อความมั่นคงยั่งยืน” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 29 เมษายน 2568 โดย สอศ. ร่วมกับ Chongqing Technology and Business Institute มุ่งสร้างบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะทางด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบายการรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) และยังได้รับความร่วมมือจากวิทยาลัยวิศวกรรมฉงชิ่ง วิทยาลัยเยาวชนฉงชิ่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมฉงชิ่ง และมหาวิทยาลัยอาชีวศึกษาเซินเจิ้น เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า ผู้เข้าร่วมโครงการคัดเลือกนักศึกษา 50 คนจากผู้เข้าอบรมออนไลน์ 1,200 คนทั่วประเทศ ด้วยเกณฑ์เวลาเข้าเรียน 60% และคะแนนสอบ 40% คัดเลือกผู้มีคะแนนสูงสุดภาคละ 10 คน โดยนักศึกษาจะได้รับการอบรม 5 วิชาหลัก ได้แก่ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับระบบหลักของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เทคโนโลยีแบตเตอรี่และระบบชาร์จ ระบบควบคุมไฟฟ้าและมอเตอร์ ระบบจัดเก็บพลังงาน และการวิเคราะห์ปัญหาและความปลอดภัยในการทำงาน พร้อมศึกษาดูงานที่บริษัท Changan จำกัด บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำที่มีกิจการในประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อรองรับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้าและยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษาไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการในครั้งถัดไป สามารถติดตามได้ในช่องทางการสื่อสารของสอศ. ต่อไป

ทั้งนี้ เลขาธิการ กอศ.ได้มอบหมายให้ ดร.ธนภัทร แสงจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ เป็นผู้แทนร่วมพิธีเปิดโครงการที่เมืองฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และแสดงความขอบคุณต่อ Mr. Tian Ying ผู้อำนวยการ Chongqing Technology and Business Institute ที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษาไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ

สกร.เผยยอดสมัครสอบเทียบความรู้ขั้นพื้นฐาน ด้วยระบบดิจิทัล ครั้งที่ 1 ประถม-ม.ต้น ม.ปลาย รวมเกือบ 2 พันคน

นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้  เปิดเผยว่า จากการที่กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ได้เปิดรับสมัครและรับขึ้นทะเบียนสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้วยระบบดิจิทัล (Digital Testing) ครั้งที่ 1 ระหว่าง วันที่ 4 – 10 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้สมัครระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 3 ระดับ ทั้งสิ้น 1,896 คน จำแนกเป็น ระดับประถมศึกษา จำนวน 120 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 560 คน และ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 1,216 คน ยอดสมัครรวมดังกล่าวถือว่า มากกว่าแผนที่คาดการณ์ไว้ว่าการเปิดสอบเทียบฯใน 3 ครั้งแรก จะมีผู้สมัครรวมไม่ต่ำกว่า 3,000 คน  ซึ่ง สกร.ได้กำชับให้ผู้ปฏิบัติงานตรวจสอบเอกสารคุณสมบัติของผู้สมัครอย่างเข้มงวด ถูกต้องก่อนประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้ารับการทดสอบ ผ่านระบบออนไลน์ที่ http://ekas.dole.go.th ในวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา โดยผู้สมัครต้องลงทะเบียนเพื่อจองสิทธิ์ผ่านระบบออนไลน์ก่อน และมายืนยันสิทธิ ณ สนามสอบที่ลงทะเบียนไว้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบ และลงทะเบียนในระบบลงทะเบียนให้ ซึ่งผู้สมัครต้องเป็นผู้มีเอกสารพร้อม คุณสมบัติครบถ้วนเท่านั้น ถึงให้ยืนยันการลงทะเบียนผ่านระบบได้ และ ในวันเสาร์ที่ 26 เมษายน และวันอาทิตย์ที่ 27 เมษายนนี้ สกร.จะร่วมกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ดำเนินการสอบเทียบฯ จึงขอให้ผู้เข้าทดสอบเตรียมตัวให้พร้อม

อธิบดี สกร. กล่าวต่อไปว่า การเปิดรับสมัครสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 1 นี้ ปัญหาและอุปสรรคที่พบในการสมัคร คือ ในช่วงแรกผู้สมัครไม่เข้าใจกระบวนการและขั้นตอนในการสมัคร ซึ่ง สกร.ได้มีการจัดทำคู่มือการลงทะเบียน ทำแบนเนอร์หรือป้ายวิธีการลงทะเบียนไว้บนเว็บไซต์ และมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ส่วนกลาง ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอเมืองทุกจังหวัดทั่วประเทศ และศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับเขตลองเตย กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์รับสมัคร ตั้งคณะทำงานเพื่อประสานงานการลงทะเบียน จึงทำให้ปัญหาการลงทะเบียนลดลง

นายธนากร กล่าวอีกว่า สำหรับนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ที่สนใจสอบเทีบยฯ แต่มาสมัครและรับขึ้นทะเบียนสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ทันใน ครั้งที่ 1 สามารถเตรียมเอกสารหลักฐานและหลักฐานมาสมัครในการเปิดสอบเทียบฯ ครั้งต่อไปได้ โดย สกร.มีแผนจัดสอบเทียบฯ ครั้งที่ 2 และ ครั้งที่ 3 ดังนี้  แผนการรับสมัคร ครั้งที่ 2 ผู้สนใจลงทะเบียนจองสิทธิ์ สถานศึกษาตรวจสอบเอกสารรับขึ้นทะเบียนและลงทะเบียนสอบเป็นรายวิชา ระหว่างวันที่ 13 -19 พฤษภาคม 2568 ประกาศและตรวจสอบข้อมูลรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบวันที่ 23 พฤษภาคม 2568 จัดสอบในวันที่ 31 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2568 ประกาศผลสอบวันที่ 13 มิถุนายน 2568 และ แผนการสมัคร ครั้งที่ 3 ผู้สนใจลงทะเบียนจองสิทธิ์ สถานศึกษาตรวจสอบเอกสารรับขึ้นทะเบียนและลงทะเบียนสอบเป็นรายวิชา ระหว่างวันที่ 16 – 23 มิถุนายน 2568 ประกาศและตรวจสอบข้อมูลรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบวันที่ 26 มิถุนายน 2568 จัดสอบในวันที่ 5 – 6 กรกฎาคม 2568 ประกาศผลสอบวันที่ 18 กรกฎาคม 2568

“ข้าวแช่ ตำรับอาชีวะเสาวภา”เมนูชื่นใจ ต่อยอด Soft Power ไทยสู่เวทีโลก สร้างผู้เรียนให้เป็นผู้ประกอบการยุคใหม่

การจัดการเรียนการสอนสายอาชีวศึกษาในปัจจุบัน ได้พัฒนาไปไกลกว่าการฝึกทักษะเฉพาะทางแบบเดิม แต่เป็นการสร้าง “นักปฏิบัติ” ที่มีความรู้รอบด้าน คิดเป็น ทำเป็น และพร้อมต่อยอดองค์ความรู้ให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลง อาชีวศึกษาจึงเป็นกลไกหลักในการผลิตกำลังคนรุ่นใหม่ ที่สามารถเชื่อมโยงทักษะอาชีพเข้ากับอัตลักษณ์ความเป็นไทย และตอบโจทย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อย่างเป็นรูปธรรม หนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง คือ กลุ่มอาหารและโภชนาการ ซึ่งไม่เพียงสร้างอาชีพ แต่ยังต่อยอดเป็น “Soft Power” ที่ผลักดันประเทศสู่เวทีโลก

นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์เศรษฐกิจยุคใหม่ และวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ โดยมุ่งผลิตกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง มีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถคิดเป็น ทำเป็น และเป็นผู้ประกอบการได้จริง ซึ่งการเรียนอาชีวศึกษาคือการเรียนรู้จริง ลงมือปฏิบัติจริง เป็นอาชีวศึกษายุคใหม่ ผู้เรียนต้องสามารถนำความรู้มาใช้ต่อยอด พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เชื่อมโยงกับบริบทของสังคมและเศรษฐกิจ เป็นผู้ประกอบการที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ มีสมรรถนะเทียบเท่าสากล

นายรังสรรค์ บางรักน้อย ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา กล่าวถึงข้าวแช่ ตำรับอาชีวะเสาวภา ว่า วิทยาลัยฯ เมนูคลายร้อนที่สืบสานตำนานอาหารไทย โดยนางสาวรมิดา พรหมสุเนตร
ครูแผนกวิชาอาหารและโภชนาการ และนายพุฒิพงศ์ กัลยาณศีล นางสาว ภัทรียา เจริญสุข นักศึกษา ปวส.2 และนางสาวธนัญญา เกตุรัตน์ นักศึกษา ปวช. 3 แผนกอาหารและโภชนาการ ร่วมจัดทำเมนูข้าวแช่ ตำรับอาชีวะเสาวภา

นางสาวรมิดา พรหมสุเนตร ครูแผนกวิชาอาหารและโภชนาการ กล่าวว่า ข้าวแช่ว่า เป็นอาหารว่างชั้นสูงเพราะเป็นอาหารที่มีความปราณีต มีรายละเอียดและใช้ระยะเวลาในการทำ ส่วนตำรับอาชีวะเสาวภา คือ การรังสรรค์อาหารด้วยวัตถุดิบที่มาจากแหล่งผลิต และปรุงด้วยความปราณีต มีรสชาติดั้งเดิม โดยเครื่องเคียง ประกอบไปด้วย
ข้าวหุง – ที่นำข้าวหอมมะลิเก่ามาหุง เพราะเมล็ดข้าวไม่แข็งกระด้าง และไม่นุ่มเกินไป น้ำลอยดอกมะลิ – ต้มน้ำเดือดทิ้งไว้จนเย็น นำไปอบควันเทียน ใส่ดอกมะลิ เพิ่มกลิ่นหอม
เคล็ดลับน้ำข้าวแช่ คือ ใช้ดอกกระดังงารนไฟที่กระเปาะ แล้วนำแช่ในน้ำ และอบขวัญเทียนกับน้ำเพิ่มความหอม
ลูกกะปิ – ทำจากเนื้อปลาย่าง (ปลาช่อน หรือปลาดุก), ตะไคร้, กระชาย, หัวหอม, กะปิ และหัวกะทิ ปั้นเป็นลูกกลม ๆ ขนาดพอดีคำ นำไปชุบไข่ผสมแป้งสาลี และทอดให้สุกกรอบ
หอมแดงยัดไส้ – ทำจากเนื้อปลาย่าง (ปลาช่อน) โขลกกับเครื่องสมุนไพร นำไปปั้นก้อนเล็ก ๆ ยัดใส่ในหัวหอมแดงที่คว้านเนื้อตรงกลางออก นำไปชุบไข่ผสมแป้งสาลี และทอดให้สุกกรอบ
ลูกไข่เค็ม – ไข่แดงเค็ม ที่นำมาปั้นก้อนกลมเล็ก ๆ นำไปชุบไข่ผสมแป้งสาลี และทอดให้สุกกรอบ
หมูฝอย หรือเนื้อฝอย – ที่ผ่านการปรุงรส ฉีกเป็นฝอย เอาไปทอดกับน้ำตาล จนได้รสชาติหวาน
ไชโป้วผัดหวาน – ไชโป้วเส้นเล็กผัดกับน้ำตาลโตนด ให้รสชาติหวาน-เค็ม
พริกหยวกสอดไส้ – เนื้อกุ้ง หรือเนื้อหมูติดมันสับละเอียด ปรุงรส และนึ่งจนสุก นำไปห่อด้วยพริกหยวก และไข่ฝอยโรยกรอบ
ปลาช่อนฉาบน้ำตาล – เนื้อปลาช่อนหั่นชิ้น นำไปทอด พัก แล้วกับผัดสามเกลอ น้ำตาลมะพร้าวจนละลาย แล้วนำมาฉาบกับเครื่องปรุงน้ำตาลที่เตรียมไว้ ให้รสชาติหวานนำ เค็มตาม
ปลายี่สนผัดหวาน – เนื้อปลานึ่ง นำไปโขลกให้ละเอียด ไปผัดกับสามเกลอให้แห้ง ปรุงรสด้วยนำ้ตาลมะพร้าว เกลือ ให้รสชาติ หวานเค็ม
เครื่องแนม – ผัก และผลไม้ต่าง ๆ เช่น กระชาย, แตงกวา, มะม่วงเปรี้ยว, ต้นหอมแกะสลัก

นางสาวธนัญญา เกตุรัตน์ (น้องเฟรม) นักศึกษา ปวช.3 สาขาอาหารและโภชนาการ แนะนำวิธีการรับประทาน โดยให้เริ่มรับประทานด้วยเครื่องเคียงคาว เช่น ลูกกะปิ หอมแดงสอดไส้ ลูกไข่เค็ม หมูฝอย หรือเนื้อฝอย ไชโป้วผัดหวาน พริกหยวกสอดไส้ จากนั้นให้สลับมารับประทานข้าวแช่ ซึ่งจะทำให้รสชาติของเครื่องเคียงคาวนั้นผสมผสานเข้ากันกับความสดชื่นของข้าวแช่ได้อย่างลงตัว

น้องเฟรม ยังบอกอีกว่า ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา ไม่ได้มีแค่การเรียนการสอนด้านอาหารเท่านั้น แต่ยังมีการฝึกทำ เช่น ขนมช่อม่วง ขนมเรไร หรือส้มฉุน ที่เป็นขนมว่างแบบไทย ๆ อีกด้วย
สำหรับน้อง ๆ ที่ชื่นชอบการทำอาหาร ที่นี่เปิดสอนทั้งระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี เรียนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ติดต่อสามารถสอบถามได้ที่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา หรือ www.swbvc.ac.th

 

“เสมา2” มอบ สลช.ออกแนวปฏิบัติยกเว้นใส่ชุดลูกเสือ-เนตรนารี ระหว่างรอแก้กฏหมายฯเพื่อลดภาระผู้ปกครอง ขณะที่ สกร.จัดสอบเทียบระดับครั้งแรกในรอบ 10 ปี วันที่ 26-27 เม.ย.นี้

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 68 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อคราวประชุมเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 ได้มีมติเห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยเครื่องแบบและการแต่งกายลูกเสือ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ประกอบด้วย 1. เครื่องแบบปกติ 2. เครื่องแบบปฏิบัติการ และ 3. เครื่องแบบลำลอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการตรวจพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมาย ดังนั้น เพื่อให้สถานศึกษาและผู้ปกครองก่อนเปิดภาคเรียน เพื่อมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนก่อนเปิดภาคเรียน  ในระหว่างการรอการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับใหม่ ที่ประชุมจึงมอบหมายให้สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ดำเนินการแจ้งแนวปฏิบัติการแต่งกายเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ในสถานศึกษา เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของนักเรียนและผู้ปกครองเกี่ยวกับเครื่องแบบของลูกเสือ เนตรนารี ให้เหมาะสมกับบริบททางสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมทั้งสภาพภูมิอากาศของประเทศ ตลอดจนการจัดกิจกรรมฝึกอบรมลูกเสือที่ยืดหยุ่น เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน โดยระหว่างรอแก้กฎหมายกระทรวงศึกษาธิการ จะมอบหมายให้ ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ(สลช.)ใช้อำนาจเลขาธิการ สลช.ประกาศยกเว้นการใส่ชุดเครื่องแบบลูกเสือชั่วคราวไว้ก่อน เพื่อลดภาระผู้ปกครองในภาวะเศรษฐกิจและสภาพอากาศปัจจุบัน ผู้ปกครองยังไม่ต้องเตรียมซื้อชุดลูกเสือ เนตรนารี ให้ลูกหลานในตอนนี้ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามบริบทของโรงเรียน โดยนักเรียนสามารถใช้ชุดลำลองมีแค่ผ้าพันคอลูกเสือก็เป็นลูกเสือ เนตรนารี สามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียนได้

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับรายงาน จากกรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.)ว่า สกร.และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ.ได้ดำเนินงานสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งแรก ในรอบหลาย 10 ปี  ซึ่งจะมีการสอบในวันที่ 26-27 เมษายน นี้ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนมีทางเลือกตามเส้นทางของตนเอง  ซึ่งทราบว่ามีนักเรียนเข้าลงทะเบียนสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐานด้วยระบบดิจิทัล (Digital Testing) ทั้งระดับประถม ม.ต้น ม.ปลาย  ตั้งแต่วันที่ 4 – 10 เมษายน 2568 จำนวน 1,894 คน จำแนกเป็นระดับประถมศึกษา 120 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 560 คน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 1,214 คน

สพฐ.สั่งโรงเรียนเตรียมแผนเผชิญเหตุรับมือความปลอดภัยทุกมิติตลอดเปิดภาคเรียน

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ครั้งที่ 15/2568  ว่า  ที่ประชุมได้ย้ำมาตรการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 1/2568 โดย ในด้านความปลอดภัยของสถานศึกษา ให้คำนึงถึงสวัสดิภาพของนักเรียน ตั้งแต่เดินทางออกจากบ้านเข้าสู่ประตูรั้วโรงเรียนจนออกจากโรงเรียนเดินทางถึงบ้านพักนักเรียน และ เสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กนักเรียน เช่น กิจกรรมเยี่ยมบ้านนักเรียน 100%  การสอนซ่อมเสริม/ชดเชย เสริมทักษะเพิ่มเติมให้กับนักเรียน กิจกรรมแนะแนว (Coaching) เป็นต้น

รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกันให้มีการประสานเครือข่ายและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน หมู่บ้าน ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของสถานศึกษา ตามความจำเป็นและเหมาะสม นอกจากนี้ให้มีการจัดสนับสนุนค่าใช้จ่าย โดยใช้งบเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 5 รายการ ได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ให้แก่นักเรียนทุกคนทันก่อนเปิดภาคเรียน ที่สำคัญให้มีการเตรียมการเรื่องแผนเผชิญเหตุ โดยต้องมีขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุในสถานศึกษา มี 3 ขั้นตอน คือ ก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย ซึ่งได้มีการเน้นย้ำกับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตให้ประชาสัมพันธ์ไปยังโรงเรียนในความดูแลของตนเองให้เตรียมการให้พร้อมเรื่องแผนเผชิญเหตุ  รวมถึงเตรียมการดูแลความพร้อมของอาคารสถานที่รองรับภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งพายุ ฝน น้ำท่วม และ ตัดแต่งกิ่งไม้ ต้นไม้แห้งที่อาจจะหักลงมาก่อให้เกิดอันตรายแก่เด็กและบุคลากรได้ด้วย

ด้านนายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ปีการศึกษา 2568 สพฐ.ยังคงดำเนินการควบคุมเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มข้นต่อไป โดยเฉพาะช่วงเปิดเทอมจะอยู่ในช่วงสัปดาห์รณรงค์งดสูบบุหรี่โลก สพฐ.ก็จะมีกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้เด็กและเยาวชนรับทราบถึงโทษของบุหรี่ไฟฟ้าและร่วมต่อต้านด้วย

สอศ.ร่วมมือ 7สถานประกอบการ ผลิตกำลังคนคุณภาพในอุตสาหกรรมพลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ลงนามความร่วมมือกับสถานประกอบการ 7 แห่ง กลุ่มอาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดย นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ตามนโยบาย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” ที่ให้ความสำคัญกับการเรียนสายอาชีพ สร้างโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา มีทักษะตรงความต้องการของภาคธุรกิจ มีรายได้ระหว่างเรียน (Learn to Earn) จบแล้วมีงานทำ และขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอาชีวศึกษายุคใหม่ที่มุ่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ตามแนวทาง “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” วันนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ลงนามความร่วมมือกับสถานประกอบการ 7 แห่ง กลุ่มอาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน ได้แก่ บริษัท 89 พลัส เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด บริษัท ทีวายเค ฟิลเตอร์ส จำกัด (สำนักงานใหญ่) บริษัท โกลบอลกรีนโฮลดิ้ง จำกัด บริษัท เอชเคเค อินสตรูเมนเทชั่น เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเชีย จำกัด มหาชน บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรีโซน เอ็นเนอร์ยี่ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด

เลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการยกระดับคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษา โดยมีเป้าหมายสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชน รวมถึงร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการทั้งในห้องเรียนและสถานประกอบการจริงด้วยการจัดการศึกษาในระบบทวิภาคี ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะวิชาชีพที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมด้านพลังงานและพลังงานทดแทนทั้งในปัจจุบันและอนาคต พัฒนาทักษะครูและครูฝึกให้เกิดความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพลังงาน และสร้างโอกาสในการมีงานทำที่มั่นคงหลังจบการศึกษา ซึ่งระยะแรกจะมีการพัฒนาครูและบุคลากรให้มีความเข้าใจในระบบเทคโนโลยีด้านพลังงานมากยิ่งขึ้น และวางแผนนักศึกษาสาขาเทคนิคพลังงานและพลังงานทดแทนในการเข้าฝึกประสบการณ์สมรรถนะวิชาชีพร่วมกับสถานประกอบการในลำดับต่อไป

“สอศ. พร้อมเดินหน้าผลิตกำลังคนคุณภาพสูง สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดของประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน สำหรับความร่วมมือภายใต้ คณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) กลุ่มอาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน ที่ผ่านมา สอศ. ได้ดำเนินการร่วมกับ บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด ในการจัดการเรียนการสอนนวัตกรรมระบบ AI และ IoT ในสถานศึกษาแล้วกว่า 20 แห่ง”นายยศพลกล่าว

โรงเรียน สพฐ.ยังว่าง รับ ม.1 ม.4 ได้อีกกว่า 3 แสนคน ย้ำเด็กทุกคนมีที่เรียนแน่นอน

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้ดำเนินการรับนักเรียนในระดับชั้น ม.1 และ ม.4 ปีการศึกษา 2568 และมีการมอบตัวนักเรียนแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา โดยมีจำนวนนักเรียนที่มีที่เรียน และจะเข้าเรียนในโรงเรียนสังกัด สพฐ.จำนวน 1,097,902 คน เป็น ระดับอนุบาล จำนวน 218,426 คน 23,862 ห้องเรียน ระดับชั้น ป.1 จำนวน 266,846 คน 21,699 ห้องเรียน ชั้น ม.1 จำนวน 372,206 คน 14,826 ห้องเรียน  และ ชั้น ม.4 จำนวน 240,324 คน 8,116 ห้องเรียน

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังมีนักเรียนบางส่วนที่ยังไม่มีที่เรียน ซึ่ง สพฐ.ขอแจ้งว่าว่า ยังมีที่ว่างในโรงเรียนที่ยังรับนักเรียนไม่เต็มแผนการรับจำนวนกว่า 3 แสนที่นั่ง ในระดับ ชั้น ม.1 จำนวน 217,286 คน และ ระดับชั้น ม.4 จำนวน 97,511 คน  โดยจากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 21 เมษายน 2568 พบว่า มีนักเรียนมายื่นความจำนง ขอรับการจัดสรรที่เรียน ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 18,737 คน แบ่งเป็น ระดับชั้น ม.1 จำนวน 14,844 คน และ ม.4 จำนวน 3,893 คน โดยกลุ่มนี้จะประกาศผลฯ และมอบตัว ภายในวันที่ 27 เมษายนนี้ ส่วนโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะประกาศผลการจัดสรรที่เรียนในวันที่ 23-24 เมษายนนี้ และภายหลังจากการประกาศผลฯ คาดว่าโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะมีที่นั่งว่างคงเหลืออีกจำนวนกว่า 6,500 คน โดยนักเรียนที่ยังไม่มีที่เรียนก็สามารถยื่นความจำนงได้ถึงวันที่ 22 เมษายน ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต เพื่อดำเนินการจัดสรรที่เรียนให้นักเรียนได้มีที่เรียนทุกคน

ทั้งนี้ แม้ว่าเปิดภาคเรียนที่ 1/2568 แล้ว หากโรงเรียนใดยังมีที่นั่งว่าง สามารถรองรับนักเรียนได้ นักเรียนที่ยังไม่มีที่เรียนหรือนักเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา (อายุระหว่าง 3-18 ปี) สามารถกลับเข้ามาเรียนได้ ณ โรงเรียนของ สพฐ. ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่ง พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และนโยบาย “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” (OBEC Zero Dropout) ของ สพฐ. เพื่อให้เด็กไทยทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
.
“สำหรับการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนนั้น สพฐ. ได้อนุมัติจัดสรรงบประมาณฯ ในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน แล้ว ทั้ง 5 รายการ (ค่าจัดการเรียนการสอน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน) ให้นักเรียนได้รับหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่าเครื่องแบบนักเรียน ครบทุกคนก่อนเปิดภาคเรียน เพื่อช่วยลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง พร้อมทั้งกำชับไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาทุกแห่ง ในเรื่องแนวทางการยกเว้นหรือผ่อนผันการแต่งกายของนักเรียนในช่วงเปิดภาคเรียน ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 ที่ผ่านมา โดยเปิดโอกาสให้สถานศึกษาสามารถพิจารณา ยกเว้นหรือผ่อนผันการแต่งกาย ให้แก่นักเรียนได้ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองเป็นสำคัญ เพื่อให้การเปิดภาคเรียนที่ 1/2568 เป็นไปอย่างเรียบร้อย ให้นักเรียนทั่วประเทศ “เรียนดี มีความสุข” อย่างแท้จริง” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ปรับ ครม.หรือ ยุบสภาฯ

หยอก หยอก วันที่ 19 เมษายน 2568***คนที่แข็งแกร่งที่สุดคือคนที่สามารถเอาชนะตัวเอง***กลับมาแล้ว หลังจากหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่หลายคนอาจจะยังหยุดต่อไปเที่ยวต่างประเทศ จะเริ่มงานเต็มสูบก็คงสัปดาห์หน้า …*** ข่าวว่า หลังสงกรานต์ ณ เวลานี้ประเด็นที่น่าติดตามที่สุดในทางการเมือง คงหนีไม่พ้นเรื่องความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทย กับ พรรคภูมิใจไทย ทางออกจะเป็นอย่างไร คลี่คลายลงหรือไม่ จะ“ปรับครม.” หรือ “ยุบสภา” ต้องคอยฟัง…เพราะก่อนสงกรานต์ คนแรกที่ปลุกกระแสร้อน “ยุบสภา” ก็คือ ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.พรรคภูมิใจไทย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ลูกชาย สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้กล่าวทิ้งท้ายในวันสุดท้ายของสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า “อาจจะไม่มีสมัยประชุมฯหน้า”และคนที่เข้ามาตอกย้ำความขัดแย้งล่าสุด ก็คือ “ไชยชนก ชิดชอบ”เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ลูกชายคนโตของ เนวิน – กรุณา ชิดชอบ ที่ออกมาคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ คำพูดของ ไชยชนก ชิดชอบ ทำเอาหลายคนสะดุ้งไปตาม ๆ กัน … แม้ว่าหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อนุทิน ชาญวีรกูล จะออกมาขอโทษ แต่ก็ยังเป็นแผลที่ฝังลึกอยู่ในใจ เป็นรอยร้าวระหว่างพรรคภูมิใจไทย กับ พรรคเพื่อไทย ยากที่จะประสาน ถึงสนิทก็ยังเห็นว่า เป็นแผล หลังจากนี้ต้องคอยจับตาดูสัญญาณการเมืองภายในรัฐบาล “จุดจบ” ของเรื่องจะลงเอยอย่างไร? จะมีการเอาคืนจาก นายทักษิณ ชินวัตร พ่อของนายกรัฐมนตรี แบบไหน อย่างไร เชื่อว่านายทักษิณ คงไม่ปล่อยให้ใครมาด่าแล้วเงียบไปแน่นอน อาจรอจังหวะที่ ปปช.จะสอย สส.พรรคประชาชน จากปมแก้ ม.112 ที่อาจจะถูกตัดสิทธิ์การเป็น ส.ส. 25 เสียง ก็ได้ ซึ่งถ้าตัดพรรคภูมิใจไทยออกไป 65 เสียง ถึงเวลานั้นก็จะใช้เสียงกึ่งหนึ่งเพียง 230 กว่าเสียงเท่านั้นเอง *** แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือความไม่แน่นอนทางการเมือง เป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้เช่นกัน *** ช่วงนี้ นิทานในรั้ววังจันทร์เกษม มีข่าวดังไกลไปถึงสัปปายะสภาสถาน…ผู้ใหญ่เขามองอยู่ ไม่ได้วุ่นวายอยู่แต่ในแดนสนธยา … นิทานเรื่องนี้คงยังไม่จบลงง่าย ๆ…จะเป็นยังไงต่อไปต้องคอยจับตามอง แล้วหยอกจะนำเอามาเล่าให้ฟังในภาคต่อไป *** ยังดราม่า ไม่เลิกกรณี ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้แสดงความคิดเห็นในนาม กระทรวงศึกษาธิการ ว่า ไม่ขัดข้องกับร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. … ถ้าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ด้วยกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานที่ให้การศึกษาแก่เด็กและเยาวชน จึงต้องมีเงื่อนไข ในการดำเนินการตามกฏหมายเดิม เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน อย่างเคร่งครัด… แต่ตอนเป็นข่าวถูกตัดทอนออกมาท่อนเดียว เลยกลายเป็นว่า เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ. เจ้าปัญหา … เรื่องนี้ทำให้รู้ว่าก่อนพูด ต้องคิดก่อนว่า คำพูดจะถูกนำไปตัดทอนได้หรือเปล่า เพราะเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ … นี่แหละเขาถึงพูดว่า “พาดหัวผิด ชีวิตเปลี่ยน”…เด้อ *** ขอแสดงความยินดีกับ ธนู ขวัญเดช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ก็หวังว่าจะได้เข้าไปดูระบบบางเรื่อง ที่ครูเขาบอกกันว่ายังผิดเพี้ยนอยู่ ใครเข้ามาบริหารหน่วยงานนี้ทุกคนก็ฝากความหวังเรื่องหลักเกณฑ์ความก้าวหน้าต่าง ๆ ของครู ให้เท่าเทียมไม่ให้มีใครได้เปรียบ เสียเปรียบ เพราะนั่นคือขวัญและกำลังใจสำหรับคนทำงาน … น่าจะสมมงกับตำแหน่งมือหนึ่งด้านกฎหมายกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะนำความรู้มาใช้ให้ถูกทาง..นะจ๊ะนะจ๊ะ … รวมถึงคมในฝักอีกคนอย่าง ปรีดี ภูสีน้ำ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ที่สไลด์มาเป็น รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ คนนี้มีคนการันตี ว่า ทั้งเก่งและซื่อตรง ถือว่าการเสนอชื่อเข้า ครม.ของ “เสมา1” พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งนี้ “ตาถึง”…***พักนี้ใครเห็น พวงทอง ศรีวิลัย ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ออกจะเบลอ ๆ ก็อย่าว่านางเลยนะเพราะตอนนี้กำลังหัวหมุนอยู่กับ งบฯหมื่นล้าน โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน ซึ่งแว่วมาว่า มีหลายบริษัทเข้ามาวิจารณ์ TOR ขนาดมี ทั้งกรมบัญชีกลาง และ สตง. ช่วยดู อันไหนผิดก็แก้กันหลายตลบ ก็ยังถูกวิจารณ์ … อ้าว… ใครว่าอันไหนผิดกฎหมายก็บอกมาเลยจ้า…นางยอม…แว่วมาว่า จะขึ้น TOR เปิดให้วิจารณ์อีกครั้งในวันที่ 21-22 เมษายนนี้ ได้ปรับแก้ตามคำวิจารณ์ จริง ไม่จริง หยอก หยอก ไม่รู้….แต่ที่รู้ ๆ จะปรับ จะแก้ไข กี่รอบ ก็ถูกวิจารณ์อยู่ดี…เป็นเรื่องธรรมชาติ ถ้าทำถูกกฎหมายก็ไม่ต้องกลัว…น่อ…***

inFASH มทร.กรุงเทพ ระดมสมองวิเคราะห์แนวโน้มสีและวัสดุไลฟ์สไตล์ ปี 2027 เตรียมนำข้อสรุปไปถกต่อเวทีนานาชาติ “Intercolor” เมือง Lewes สหราชอาณาจักร

รศ.ดร.พิชัย จันทร์มณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เปิดเผยว่า วันที่ 2 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยแฟชั่นแห่งประเทศไทย (inFASH) ภายใต้คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)กรุงเทพได้จัดการประชุมระดมสมองเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “แนวโน้มสีและวัสดุไลฟ์สไตล์ 2027/1” เพื่อวิเคราะห์และกำหนดทิศทางของแนวโน้มสีและวัสดุไลฟ์สไตล์ เพื่อสามารถแข่งขันในเวทีระดับโลก โดยสถาบันวิจัยแฟชั่นฯ เป็นตัวแทนประเทศไทย ที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนระดมสมองร่วมกับนานาชาติ ในเวที Intercolor ซึ่งเป็นองค์กรวิเคราะห์แนวโน้มสีไลฟ์สไตล์สร้างสรรค์ ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 17 ประเทศ ได้แก่ จีน เดนมาร์ก อียิปต์ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฮังการี อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น โปรตุเกส สเปน สวิสเซอร์แลนด์ ตุรเกีย สหรัฐอเมริกา และ ประเทศไทย

อธิการบดี มทร.กรุงเทพ กล่าวต่อไปว่า การประชุมนี้นำโดย ดร.สุธินี ตันอังสนากุล รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแฟชั่นแห่งประเทศไทย อาจารย์สาขาออกแบบสิ่งทอและแฟชั่น คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอ มทร.กรุงเทพ และดำรงตำแหน่ง Vice President of Intercolor ที่ทำหน้าที่ผลักดันอิทธิพลความคิดสร้างสรรค์แบบไทย และแรงบันดาลจากซีกโลกใต้ที่มีบทบาทสำคัญกับกระแสโลก นอกจากนี้ในการประชุมยังมีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านเข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและวิเคราะห์แนวโน้มสีและวัสดุในอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ของประเทศไทยในอนาคต ได้แก่ อาจารย์อ้อยใจ เลิศล้ำ หัวหน้านักวิจัยของ inFASH อาจารย์รวินพัทธ์ กีรติพัฒนธำรง นักวิจัยของ inFASH พร้อมด้วย พันธมิตรจากภาครัฐและเอกชนชั้นนำของประเทศ อาทิ Ideacolor by TOA , กรมหม่อนไหม, บริษัท ไลอ้อนประเทศไทย จำกัด, บริษัท เจมแมกซ์ อินเตอร์เทรด จำกัด, คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, CEA สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์, แบรนด์ kanzbythaitor, แบรนด์ Ordinary Jun, บริษัท 10 fingers factory and design, บริษัท Highest Textile จำกัด และบริษัท Moreloop จำกัด เป็นต้น

“การประชุมดังกล่าวไม่เพียงแต่กำหนดแนวทางสำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอของไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในผู้นำเทรนด์สีระดับสากล โดย inFASH จะนำข้อสรุปจากการระดมสมองนี้ไปใช้ในการประชุม Intercolor Trend 2027 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2568 ณ เมือง Lewes สหราชอาณาจักร ด้วย”รศ.ดร.พิชัยกล่าว