วิศวะ มทร.กรุงเทพ จับมือกรมที่ดิน พัฒนาหลักสูตรปั๊มช่างสำรวจรังวัด เตรียมเปิดอนุปริญญา วิศวกรรมสำรวจปีแรก รับเด็ก ม.6 และ ปวช. เรียน 2 ปี สมัครสอบนายช่างรังวัด นายช่างสำรวจได้เลย

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2568 รศ.ดร.พิชัย จันทร์มณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)กรุงเทพ เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดแรงมีความขาดแคลนแรงงานระดับปฎิบัติการในวิชาชีพช่างรังวัดและช่างสำรวจจำนวนมาก  ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.กรุงเทพ จึงได้ร่วมมือกับกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทยพัฒนาหลักสูตรการศึกษาระดับอนุปริญญา สาขาวิชาวิศวกรรมสำรวจ  เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นกรมที่ดิน  สำนักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม หรือกรมชลประทานเป็นต้น  โดยในปีการศึกษา 2568 จะเป็นปีแรกที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.กรุงเทพเปิดรับนักศึกษาหลักสูตรอนุปริญญา สาขาวิชาวิศวกรรมสำรวจ ซึ่งเรามั่นใจหลักสูตรดังกล่าวมีจุดแข็งทั้งด้านหลักสูตร เพราะเรามีการจัดการเรียนการสอนทางด้านช่างสำรวจและวิศวกรรมสำรวจมามากกว่า 69 ปีทำให้มีความเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงมีการบริหารหลักสูตรอย่างเป็นระบบผู้สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาสามารถศึกษาต่อในหลักสูตรปริญญาตรี สาขาวิชาวิศวกรรมสำรวจ (ต่อเนื่อง) ระยะเวลา 2 ปี ได้ทันที

รศ.ดร.พิชัย  กล่าวต่อไปว่า  สำหรับอาจารย์ผู้สอนในหลักสูตรนี้ มทร.กรุงเทพ มีความมั่นใจว่า ทุกคนมีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพวิศวกรรมสำรวจเป็นอย่างดี ที่สำคัญมหาวิทยาลัยมีพื้นที่กว้าง เหมาะสมในการฝึกปฏิบัติ เครื่องมือที่ใช้ในการเรียนการสอนมีคุณภาพ ทันสมัยและเพียงพอต่อจำนวนนักศึกษา ดังนั้นผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้จะมีคุณสมบัติที่สามารถสอบบรรจุเข้ารับราชการ สายงานปฏิบัติงานช่างรังวัด ปฏิบัติงานช่างสำรวจ กลุ่มอาชีพวิศวกรรม สถาปัตยกรรม และช่างเทคนิคต่างๆ ได้แน่นอน ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยขอเชิญชวนเด็กๆที่สนใจเรียนทางด้านช่างสำรวจหรือวิศวกรรมสำรวจมาเรียนที่ มทร. กรุงเทพ เพราะเรียนที่นี่ที่เดียวได้ถึง 2 วุฒิ  เรียนจบ 2 ปีแรกสามารถสมัครสอบเป็นช่างรังวัดกรมที่ดินได้เลย หากต้องการเพิ่มวุฒิอีก 2 ปีกลับมาเรียนเสาร์อาทิตย์ ก็ได้ จบได้ปริญญาตรีวิศวกรรมสำรวจ

ด้าน รศ.ดร.จิระพล กลิ่นบุญ  คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.กรุงเทพ กล่าวว่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีแผนรับเด็กเข้าเรียนระดับอนุปริญญา สาขาวิชาวิศวกรรมสำรวจ จำนวน 40 คน โดยเปิดรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) ในสาขาวิชาช่างสำรวจ ช่างก่อสร้าง ช่างเทคนิคสถาปัตยกรรม หรือเทียบเท่าหรือสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (.6) มีจำนวนหน่วยกิตของกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ และ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมกันไม่น้อยกว่า 20 หน่วยกิต สนใจสมัครเรียนติดตามรายละเอียดการรับสมัครได้ที่www.rmutk.ac.th หรือสอบถามข้อมูลที่ โทร.0-2287- 9600

80 ปี “คุรุสภา”มุ่งยกระดับวิชาชีพสร้างครูคุณภาพ

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2568 สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จัดงานวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ครบรอบ 80 ปี โดยมี พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)​ เป็นประธานในพิธี บวงสรวงองค์พระพฤหัสบดี พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6​ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ฯพณฯ ทวี บุณยเกตุ ผู้ก่อตั้งคุรุสภา​ และมอบรางวัลผู้มีคุณูปการต่อสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จำนวน 30 คน รางวัล“คนดี ศรีคุรุสภา” จำนวน 8 รางวัล และรางวัลผู้บริหารภารกิจ ส่วนภูมิภาคดีเด่น จำนวน 12 รางวัล เพื่อเป็นการยกย่องแก่ผู้สนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงาน รวมทั้งเป็นกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานโดยมี ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา พร้อมด้วยคณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.ร่วมงาน ณ ห้องประชุมบุณยเกตุ อาคารหอประชุมคุรุสภา

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า จากการที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ได้การดำเนินการตามบทบาท ภารกิจที่สำคัญต่อวิชาชีพครู ซึ่งเป็นวิชาชีพชั้นสูง และการร่วมใจกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือดำเนินงาน โดยเฉพาะในเรื่องการกำกับดูแลการประพฤติและการปฏิบัติตนตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพ การพัฒนาและยกย่องผดุงเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ถือว่าดำเนินการได้ดี สามารถสะท้อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ผู้เรียนมีคุณภาพ มีคุณธรรม จริยธรรม เก่งในด้านทักษะการใช้ชีวิต “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” คิดแบบมีเหตุผล และทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อการศึกษาของเราก็จะดีขึ้นและมาตรฐานการศึกษาของเราจะก้าวไปด้วยกัน รมว.ศธ.ในฐานะประธานกรรมการคุรุสภา ขอให้มีการทำงานเชิงรุกในการรณรงค์ ปลูกฝัง ย้ำเตือนครูและบุคลากรทางการศึกษา ว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องมีความประพฤติดี กิริยา วาจาสุภาพ สร้างชื่อเสียง สร้างความศรัทธาแก่นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง มีภาพพจน์ที่ดีปรากฎสู่สังคม

ด้าน ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งคุรุสภา เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2488 ถึงปัจจุบัน การดำเนินงานของคุรุสภาเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาวิชาชีพครูอย่างต่อเนื่องไม่เพียงแต่เป็นองค์กรสภาวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาที่กำหนดมาตรฐานและควบคุมวิชาชีพครูเท่านั้น แต่ยังเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยสร้างครูที่มีคุณภาพ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการศึกษาของชาติไปสู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้น โดยได้มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนนโยบายให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาและสังคมไทยมีการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพครู การพัฒนาแนวทางการประเมินคุณภาพครู ไปจนถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับครู ปรับตัวเป็นองค์กร องค์ความรู้ที่ทันสมัย มีความรวดเร็วในการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคดิจิทัล ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนาครูมากขึ้นในทุกด้าน

เลขาธิการคุรุสภา กล่าวด้วยว่า สำหรับก้าวต่อไปในปีที่ 81 ของคุรุสภาและวิชาชีพครู จะมุ่งเน้นการสร้างครูที่เป็นผู้นำทางการศึกษามีความสามารถทางวิชาการและจริยธรรมสูง พร้อมทั้งสามารถปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มของโลกการศึกษายุคใหม่ เพื่อช่วยกันสร้างคนไทยที่มีศักยภาพสอดคล้องกับนโยบาย เรียนดี  มีความสุข และทำให้เด็กไทย คนไทย ฉลาดรู้ ฉลาดคิด และฉลาดทำ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการดำเนินงาน และยกระดับประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของทุกภาคส่วน ในการพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษา ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพทุกท่าน อันจะส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียน สังคม และประเทศชาติ พร้อมกันนี้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จะยืนหยัดสืบทอดประวัติศาสตร์และเจตนารมณ์ของการจัดตั้งคุรุสภาให้เป็นสภาวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ดำเนินการด้านการพัฒนามาตรฐาน และจรรยาบรรณของวิชาชีพทางการศึกษา เพื่อยกระดับวิชาชีพให้สืบเนื่องต่อไป.

 “2 มีนาคม”วันแห่งความภาคภูมิใจ ของวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น และพี่น้องชาวอำเภอชนบท ร่วมทำพิธีบวงสรวงเครื่องบิน แมคดอนเนลล์ดักลาส เอ็มดี-80 และบวงสรวงองค์พระวิษณุกรรม

วันที่ 2  มีนาคม 2568 เวลา 07.30 น. นายลำปางเพ็ชร์ พันธ์เพชร ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ครู อาจารย์ ตัวแทนนักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น ร่วมพิธีบวงสรวงเครื่องบิน แมคดอนเนลล์ดักลาส เอ็มดี-80 และพิธีบวงสรวงองค์พระวิษณุกรรม   โดยได้รับความเมตตาธรรมจากท่านหลวงพ่อสายทอง เตชะธัมโม  วัดป่าห้วยกุ่ม จ.ชัยภูมิ  เพื่อปรับปรุงอาคารเฉลิมพระเกียรติฯศาลาไหมไทย และภูมิทัศน์วิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น พัฒนาไปสู่“โฮงมั่งมูลมรดกเมืองชลบถ  หรือ แลนด์มาร์ค อำเภอชนบท” จังหวัดขอนแก่น โดยได้รับเกียรติจาก นายปิยะพงษ์  คลังทอง  นายอำเภอชนบท นายองอาจ   ฉัตรชัยพลรัตน์  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขอนแก่น เขต 10  นายคติพจน์  เกิดมั่นคง   ผู้อำนวยการฝ่ายซ่อมใหญ่อากาศยานดอนเมือง นายเรืองเดช  สุพรรณฝ่าย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประธานมูลนิธิส่งเสริมอาชีพสตรีในชนบท  ดร.รัฐธรรมนูญ  เทศแก้ว  เลขามูลนิธิส่งเสริมอาชีพสตรีในชนบท พร้อมด้วย ผู้มีเกียรติที่เคารพนับถือเข้าร่วมพิธีอย่างมากมาย  ณ วิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น

สุดปลื้ม!คณะศิลปศาสตร์ มทร.กรุงเทพ คว้าถ้วยรางวัลพระราชทาน กรมสมเด็จพระเทพฯ 2 ปีซ้อน จากการแข่งขันทักษะวิชาการ 9 มทร.

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กวาด 19 ทอง 2 เงิน 7 ทองแดงชนะเลิศครองถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาครองต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2568 รศ.ดร.พิชัย จันทร์มณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)กรุงเทพ เปิดเผยว่า ตามที่อาจารย์ศิริมา ศีลพัฒน์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์นำทีมคณาจารย์และนักศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันทักษะทางวิชาการคณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 9 ประจำปี 2568 “ศิลปศาสตร์ 9 ราชมงคล บนวิถีแห่งความยั่งยืน” ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เมื่อวันที่ 19 – 21 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ร่วมการแข่งขันจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง รวม 11 หน่วยงาน ประกอบด้วย คณะศิลปศาสตร์ มทร.กรุงเทพ คณะศิลปศาสตร์ มทร.ตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มทร.ธัญบุรี คณะศิลปศาสตร์ มทร.พระนคร คณะศิลปศาสตร์ มทร.รัตนโกสินทร์ คณะอุตสาหกรรมการโรงแรมและการท่องเที่ยว มทร.รัตนโกสินทร์ คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มทร.ล้านนา มทร.ศรีวิชัย วิทยาลัยการโรงแรมและการท่องเที่ยว มทร.ศรีวิชัย มทร.สุวรรณภูมิ และ คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มทร.อีสาน
สำหรับรายการการแข่งขัน มีทั้งหมด 24 รายการ 7 ประเภททักษะ ได้แก่ 1.การแข่งขันทักษะภาษาอังกฤษ ประกอบด้วย การอ่านข่าวภาษาอังกฤษ การเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ การกล่าวสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษ การแข่งขันครอสเวิร์ด การโต้วาทีภาษาอังกฤษ การร้องเพลงภาษาอังกฤษ และ การตอบปัญหาภาษาอังกฤษ 2. การแข่งขันทักษะภาษาไทย ประกอบด้วย การแต่งคำประพันธ์ภาษาไทย การกล่าวสุนทรพจน์และการพูดฉับพลัน การร้องเพลงไทยลูกทุ่ง การอ่านออกเสียง และ การเขียนเรียงความ 3. การแข่งขันทักษะภาษาจีน คือ การแข่งขันเกี่ยวกับการอ่านข่าวภาษาจีน 4. การแข่งขันทักษะด้านการท่องเที่ยว ประกอบด้วย การแข่งขันทักษะมัคคุเทศก์ภาษาไทย การแข่งขันทักษะมัคคุเทศก์ภาษาอังกฤษ การนำเสนอรายการนำเที่ยว และ การตอบปัญหาการท่องเที่ยว 5. การแข่งขันทักษะด้านการโรงแรม ได้แก่ การผสมเครื่องดื่ม Cocktail การบริการอาหารและเครื่องดื่ม และ การปูเตียง 6. การประกวดมารยาทไทย และ 7. การจัดบอร์ดนิทรรศการ

อธิการบดี มทร.กรุงเทพ กล่าวว่า จากการแข่งขันทักษะวิชาการในครั้งนี้ คณะศิลปศาสตร์ มทร.กรุงเทพ ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งถือเป็นการรับรางวัลสูงสุดในการแข่งขันต่อเนื่องติดต่อเป็นปีที่ 2 จากผลการแข่งขันที่ได้รับทั้งหมด 19 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 7 เหรียญทองแดง จาก 24 รายการแข่งขัน และได้รับรางวัลประเภท TOP OF GOLD มากที่สุดถึง 8 รางวัล จากประเภทคะแนนสูงสุดอันดับ 1 ของแต่ละรางวัลการแข่งขัน ซึ่ง มทร.กรุงเทพเป็นหน่วยงานที่ได้รับรางวัลครองประเภท TOP OF GOLD มากที่สุด จึงได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

อาจารย์ศิริมา ศีลพัฒน์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มทร.กรุงเทพ กล่าวว่า เป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของชาวศิลปศาสตร์ มทร.กรุงเทพ ที่สามารถแสดงศักยภาพทางวิชาการบนเวทีการแข่งขันระดับประเทศ และที่สำคัญได้รับรางวัลประเภท TOP OF GOLD มากที่สุดถึง 8 รางวัล ได้แก่ การเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ การร้องเพลงภาษาอังกฤษ การแต่งคำประพันธ์ (ภาษาไทย) การกล่าวสุนทรพจน์ (ภาษาไทย) การอ่านข่าวภาษาจีน การนำเสนอรายการนำเที่ยว . การบริการอาหารและเครื่องดื่ม และ การออกแบบแผนธุรกิจในอุตสาหกรรมไมซ์ จนทำให้ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดของการแข่งขัน โดยปีนี้เป็นการได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานของ มทร.กรุงเทพ เป็นครั้งที่ 3 นับจากที่มีการแข่งขันทักษะทางวิชาการคณะศิลปศาสตร์ 9 มทร. ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 9

สพฐ. ประชุม ผอ.เขต แนวใหม่ ชื่นชมเขตพื้นที่โชว์ผลงาน”เรียนดี มีความสุข”

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ครั้งที่ 2/2568 เพื่อแจ้งข้อราชการสำคัญและนโยบายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมีผู้บริหารของ สพฐ. ได้แก่ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั้ง 245 เขตทั่วประเทศ ผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 77 จังหวัด ผู้อำนวยการสำนักและบุคลากรของ สพฐ. เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า ในปี 2568 นี้ เป็นปีแห่งความท้าทายการศึกษาไทย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ โดยส่งเสริมให้คนไทย “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” ให้เด็กและเยาวชนได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ โดย สพฐ. จะยังคงขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ ของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจพกระทรวงศึกษาธิการ ลงสู่ห้องเรียนให้ถึงผู้เรียนอย่างถ้วนหน้า ตามแนวทาง “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” โดยเน้นย้ำในเรื่องของสถานศึกษาปลอดภัย ต้องดูแลป้องกันนักเรียนและครูจากภัยรอบตัว ทั้งภัยอุบัติเหตุ (ภัยธรรมชาติ ภัยจากอาคาร สิ่งก่อสร้าง ยานพาหนะ) ภัยทางสุขภาพกาย-ใจ (ยาเสพติด โรคระบาด) ภัยที่เกิดจากการใช้ความรุนแรง (ทะเลาะวิวาท ล่อลวง ล่วงละเมิด) และภัยละเมิดสิทธิ ความไม่ยุติธรรมต่างๆ รวมถึง OBEC Zero Dropout “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” ที่มีเป้าหมายนำเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบทุกคน พร้อมทั้งการส่งเสริมความฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ ด้วยโครงการโรงเรียนคุณภาพ สนับสนุนให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime ให้เด็กได้พัฒนาสมรรถนะตามช่วงวัย และการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA โดยพัฒนาความฉลาดรู้ของผู้เรียนใน 3 ด้าน ทั้งด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์

“นอกจากนี้ ในการประชุมวันนี้ยังได้มีการปรับรูปแบบการประชุมแนวใหม่ ที่ให้ ผอ.เขตพื้นที่ รายงานผลการขับเคลื่อนตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” จากสถานที่จริงในโรงเรียนในพื้นที่ของตนเอง เพื่อให้เห็นผลการดำเนินงานจริงๆ ว่าในรอบปีที่ผ่านมาได้มีการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวประสบผลสำเร็จอย่างไรบ้าง ซึ่งจากการสุ่มเลือก ผอ.เขต ขึ้นมารายงานแบบเรียลไทม์ จำนวนกว่า 20 เขตจากทุกภาคทั่วประเทศ พบว่า ทุกเขตสามารถทำได้ดี ผลการดำเนินงานสะท้อนนโยบายได้หลายเรื่อง อาทิ โครงการ “สุขาดี มีความสุข” การขับเคลื่อน PISA การส่งเสริมทักษะอาชีพให้กับนักเรียน การเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime การลดภาระนักเรียน ให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน (Learn to Earn) การสร้างความปลอดภัยในโรงเรียน เป็นต้น นับเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจในการนำนโยบายลงสู่การปฏิบัติ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเขตพื้นที่อื่นๆ จึงขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ผู้บริหารเขตพื้นที่ในการสร้างคุณภาพให้เกิดกับผู้เรียนอย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
โอกาสนี้ ผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ได้นำเสนอผลการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายและจุดเน้น สพฐ. ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. เรื่องการเตรียมการขับเคลื่อนการใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2568 และหลักสูตรการศึกษาประถมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2568, การยกระดับผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน O-NET, การขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาตามแนวทางการประเมิน PISA, โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย, โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ, กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา, การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู, การพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล (DLTV), นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. เรื่องสถานศึกษาปลอดภัย การดูแลความปลอดภัยของนักเรียนและครูจากภัยต่างๆ อาทิ บุหรี่ไฟฟ้า โดยศูนย์ความปลอดภัยฯ ในแต่ละเขตพื้นที่ต้องประสานความร่วมมือกับหน่วยต่างๆ ดูแลความปลอดภัยทุกมิติ เมื่อเกิดเหตุให้รายงานฝ่ายบริหารอย่างรวดเร็วทันที และนายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. เรื่องการดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณภาพ โรงเรียนร่วมพัฒนา โครงการสุขาดี มีความสุข โครงการโรงเรียนอุปถัมภ์ โรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนใต้ และพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นต้น

“ลูกจ้างสพฐ.”มีความหวัง กมธ.การศึกษา-ศธ.รับปากคุย ก.คลัง เยียวยา

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 นายวรวิทย์ อัคราภิชาต ผู้แทนสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทยและกลุ่มลูกจ้าง ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการการศึกษาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายโสภณ ซารัมย์ เป็นประธาน และนายสุรวาท ทองบุ เป็นรองประธานฯ เพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหาลูกจ้าง สพฐ. ที่ปรับเปลี่ยนวิธีการจ้างเป็นจ้างเหมาบริการและตัดเงินสมทบประกันสังคม ส่งผลให้ลูกจ้างกว่า 70,000 คนทั่วประเทศ ได้รับผลกระทบถึงสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ อาทิ การรักษาพยาบาล การคลอดบุตร การรับเงินสงเคราะห์ เป็นต้นนั้น โดยวันนี้กรรมาธิการการศึกษาฯได้เชิญตัวแทน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)คณะกรรมการกำหนด เป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.)มาให้ข้อมูล

นายวรวิทย์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ จากการประชุมหารือของทุกฝ่าย กรรมาธิการการศึกษาฯ มอบหมายให้ สพฐ.ไปคุยกับกระทรวงการคลัง ว่าลูกจ้างที่มีภาระงานเข้าข่ายในการจ้างงบบุคลากรลูกจ้างชั่วคราวที่มีความจำเป็นสามารถจ้าง เป็นลูกจ้างชั่วคราวได้ ได้ความอย่างไรก็ให้นำเรื่องกลับมาที่ ก.พ.เพื่อให้เปิดกรอบอัตราจะให้กี่อัตรา อย่างไรก็ตามลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มีกว่า 70,000 คน  ซึ่งกรรมาธิการการศึกษาฯก็บอกว่าคนที่ได้รับสิทธิ์อยู่แล้วก็ควรคืนสิทธิ์ให้โดยชอบธรรม ส่วนคนที่เข้ามาในเกณฑ์ใหม่ที่กำหนดคุณสมบัติใหม่ก็จะพิจารณาอีกกรณีหนึ่ง

ทั้งนี้ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แจงว่าจะรีบดำเนินการให้และจะทำควบคู่กันไปโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะของบประมาณกลาง เพื่อดูแลเรื่องขวัญและกำลังใจให้คนที่จบปริญญาตรีได้รับเงินเดือนขั้นต่ำ 18,000 บาท ต่ำกว่าปริญญาตรี 12,000 บาท ควบคู่ไปด้วยให้รอหน่อย และจะรีบเตรียมข้อมูลที่จะเข้าคุยกับกระทรวงการคลังโดยเร็ว

“วันนี้ ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่เราได้มารับฟังกรรมาธิการการศึกษาฯรับปากว่าจะช่วย แต่อย่างไรก็ตามสมาพันธ์ฯก็ต้องดูท่าทีว่า สพฐ.จะเร่งดำเนินการให้อย่างที่พูดไว้หรือไม่ ส่วนที่บอกว่า จะเคลื่อนม็อบใหญ่มาในวันที่ 18 มีนาคม นี้ ก็ยังไม่ได้ข้อยุติว่าพี่น้องที่ได้รับความเดือดจะเปลี่ยนใจไม่มาหรือไม่ ต้องดูท่าทีก่อนว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือความเดือดร้อนให้พี่น้องพวกเราอย่างไร” นายวรวิทย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ สพฐ.ได้ทำหนังสือหารือไปยัง กรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ ซึ่งเป็นผู้ออกระเบียบในการจ้างผู้ปฏิบัติงานและจัดสรรเงินงบประมาณ โดยขอหารือใน 4 ประเด็น คือ 1. การจ้างผู้ปฏิบัติงานให้ราชการดังกล่าวถือเป็นการจ้างลูกจ้างชั่วคราวหรือการจ้างเหมาบริการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และการจ้างเอกชนดำเนินงาน ซึ่งส่วนราชการต้องดำเนินการเป็นไปตามนัยของหนังสือที่อ้างถึง 2. การจ้างผู้ปฏิบัติงานให้ราชการดังกล่าว สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา ในฐานะผู้ว่าจ้างสามารถจ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้างเข้ากองทุนประกันสังคมได้หรือไม่ 3. หาก สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาในฐานะผู้ว่าจ้าง ไม่สามารถจ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้างเข้ากองทุนประกันสังคม ตามข้อ 2 สพฐ. สามารถขอเงินเพิ่มเพื่อจ่ายเงินในส่วนของผู้ว่าจ้างได้หรือไม่ และ 4.สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาในฐานะผู้ว่าจ้าง ต้องจ่ายอัตราค่าแรงขั้นต่ำและอัตราเงินเดือนให้กับผู้ปฏิบัติงานให้ราชการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ที่ได้เห็นชอบรายงานผลการศึกษาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 (เรื่อง การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ) และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. 2567 ได้หรือไม่ โดยขอให้กรมบัญชีกลางตอบข้อหารือดังกล่าวภายในวันที่ 4 ตุลาคม 2567  ซึ่งทางกรมบัญชีกลางได้ ตอบกลับมาว่า ต้องดำเนินการตามระเบียบ และให้ สพฐ.ไปบริหารจัดการงบประมาณเอง ทาง สพฐ.จึงได้ทำรายงานเสนอ รมว.ศึกษาธิการแล้ว แต่ รมว.ศึกษาธิการเห็นว่า มีลูกจ้างอยู่ทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก จะเสนอแค่ของกระทรวงศึกษาธิการ คงไม่ได้ จึงรอดูของหน่วยงานอื่นก่อนว่าได้รับผลกระทบด้วยหรือไม่

สมาพันธ์ลูกจ้าง สพฐ.ไม่เอาจ้างเหมาบริการ เตรียมเคลื่อนม็อบใหญ่ 18 มี.ค. หากรัฐบาล และ ศธ.ยังนิ่งเฉย

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 นายวรวิทย์ อัคราภิชาต ผู้แทนสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทยและกลุ่มลูกจ้าง ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เปิดเผยว่า จากการที่สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ได้แจ้งเรื่องการจัดสรรอัตราการปฏิบัติงาน ให้ราชการ ปีงบประมาณ 2568 โดยปรับเปลี่ยนวิธีการจ้างเป็นจ้างเหมาบริการและตัดเงินสมทบประกันสังคม ส่งผลให้ลูกจ้างกว่า 70,000 คนทั่วประเทศ ได้รับผลกระทบถึงสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ อาทิ การรักษาพยาบาล การคลอดบุตร การรับเงินสงเคราะห์ เป็นต้น ซึ่งเป็นสวัสดิการเดียวที่ลูกจ้างนี้มีเพื่อใช้จ่ายในครอบครัว ในวันเกษียณอายุราชการและยามเจ็บป่วย ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคม 2567 ทางสมาพันธ์ฯ ได้มารวมตัวเพื่อขอพบ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง 1.ขอเปลี่ยนจากการจ้างเหมาบริการ เป็นวิธีการจ้างลูกจ้างชั่วคราว พร้อมเงินสมทบประกันสังคมทุกตำแหน่ง 2.ขอปรับเพิ่มอัตราเงินเดือนตามนโยบายรัฐบาล ที่ปรับฐานเงินเดือน ตามคุณวุฒิปริญญาตรี ปีที่1 มีผลวันที่1พฤษภาคม 2567 เงินเดือน 16,500 บาท ปีที่2 มีผลวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เงินเดือน 18,150 บาท คุณวุฒิต่ำกว่า ปริญญาตรี ปีที่ 1 วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เงินเดือน 10,340 บาท วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เงินเดือน 11,380 บาท และ3. ขอปรับตำแหน่งความมั่นคงในอาชีพลูกต้าง สพฐ. ทุกตำแหน่ง นั้น

นายวรวิทย์ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าว ยังไม่ได้รับการดูแลจากกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาล ตนจึงได้ยื่นหนังสือถึงวุฒิสภา เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และ ได้รับการประสานจาก ดร.กมล รอดคล้าย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ว่า วันนี้เวลา 13.00 น. ให้ไปชี้แจงว่าได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง และกรรมาธิการจะสามารถให้ความเป็นธรรมและช่วยเหลืออะไรได้มากน้อยแค่ไหน

“ที่ต้องออกมาเคลื่อนไหว ไม่มีพรรคการเมืองหรือใครหนุนหลังทั้งนั้น เรามาเพราะเราเดือดร้อนจริง ๆ โดยเฉพาะเรื่องประกันสังคม และสิทธิอื่น ๆ ที่ได้รับ พวกเราทุกคนทำงานมามีอายุงาน 15  ปีแล้ว ได้รับการสมทบประกันสังคมตั้งแต่ ปี 2552 เพราะพวกเราเข้าโครงการตั้งแต่โครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ไทยเข้มแข็ง(SP 2) คืนครูให้นักเรียน พวกเราเป็นฝ่ายสนับสนุนการศึกษา ทำให้ครูได้ทำงานสอนอย่างเต็มที่ แต่ความเดือดร้อนครั้งนี้ไม่ได้กระทบเฉพาะพวกเรา เพราะสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจะสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2568 นี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงครอบครัวอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม จริง ๆ แล้ว สพฐ.ได้เชิญผู้แทนและประธานสมาพันธ์ทุกภาคเข้าหารือแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันแล้ว แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า ดังนั้นวันนี้หากชี้แจงกับวุฒิสภาแล้วยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ ในการแก้ปัญหาอีก เราก็จะเคลื่อนไหวม็อบใหญ่ 100% ในวันที่ 18 มีนาคม และถึงแม้วุฒิสภาจะรับปากช่วยเหลือแต่ไม่ได้ในระยะเวลาที่คุยกันไว้ เราก็จะเคลื่อนม็อบตามกำหนดเวลาที่นัดหมาย เพราะขณะนี้ลูกจ้างกว่า 7 หมื่นคน ได้รับผลกระทบอย่างหนัก”นายวรวิทย์กล่าวและว่า ทั้งนี้ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ นี้ นายสุรวาท ทองบุ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ได้ให้ทางสมาพันธ์ฯเข้าไปชี้แจงความเดือดร้อนต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย

สกร.เปิดสอบผู้อำนวยการสถานศึกษาแล้วมีสิทธิ์ลุ้นทุกคนขอให้ผ่านเกณฑ์60คะแนนประกาศรายชื่อผอ.ใหม่ 3 มีนาคมนี้-ระวังพวกตกเบ็ด

เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2568 นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.)เปิดเผยว่า ตามที่ คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ. )กรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.)ได้ประกาศรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ปี 2567 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19(4) มาตรา 53 มาตรา 57 และมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกับหนังสือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา( ก.ค.ศ.)ที่ ศธ 0206.6/ว8 ลงวันที่ 26 เมยายน 2562 ที่ ศธ 0206.4/ว3 ลงวันที่ 26 มกราคม 2564 ที่ ศธ 0206.4/54 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ที่ ศธ 0206.6/425 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2565 และด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.6/1062 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ประกอบกับมติ อ.ก.ค.ศ. กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ในคราวประชุม ครั้งที่ 19/2567 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 อ.ก.ค.ศ. กรมส่งเสริมการเรียนรู้ จึงประกาศรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2567 ซึ่งมีตำแหน่งว่าง จำนวน 435 ตำเหน่ง โดย ผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ดังนี้ 1 จะต้องเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ และต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งเดียวกันกับกับตำแหน่งที่สมัครเข้ารับการคัดเลือก 2 มีคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากร ทางการศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 3 มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ตามมาตรฐานตำแหน่ง ที่ ก.ค.ศ. กำหนด สำหรับตำแหน่งครู จะต้องมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ และมีประสบการณ์การบริหารไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากลุ่ม มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือตำแหน่งครู ที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าครูชำนาญการพิเศษ และมีประสบการณ์ไม่ต่ำกว่าหัวหน้าฝ่าย หรือหัวหน้างาน หรือหัวหน้าโครงการ/กิจกรรมที่มีการดำเนินการต่อเนื่องและบรรจุในแผนฏิบัฏิบัติราชการประจำปี โดยผู้อำนวยการสถานศึกษกษาได้มีคำสั่งมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่และผู้ที่ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งครู ที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าครูชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ไม่น้อยกว่า 2 ปี ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษและมีประสบการณ์การบริหารไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากลุ่ม หัวหน้าหน่วย หรือผู้อำนวยการกลุ่มมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปื หรือตำแหน่งอื่นที่ ก.ค.ศ.เทียบเท่า

“สกร.ได้ประกาศรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2567 โดย สอบข้อเขียน ภาค ก เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2568 ประกาศรายชื่อผู้ผ่านข้อเขียนภาค ก ที่ได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 60 คะแนน วันที่ 25 ก.พ.2568 ประเมิน ภาค ข และภาค ค ร่วมกับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต วันที่ 26 ก.พ.2568 ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือก วันที่ 28 ก.พ.2568 และ รายงานตัวผู้ได้รับการคัดเลือก วันที่ 3 มีนาคม 2568 ทั้งนี้ การประกาศสอบคัดเลือกผอ.สถานศึกษาครั้งนี้ เป็นการเปิดสอบตามที่ ก.ค.ศ.ได้อนุโลมให้ใช้เกณฑ์เดิมไปก่อน 1 ปี ซึ่งหมดอายุการอนุโลมตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 เนื่องจากเรายังไม่ได้กรอบอัตรากำลังตามโครงสร้างใหม่ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของ กพร. อย่างไรก็ตาม รอบนี้จะมีผู้มีคุณสมบัติสอบผอ.สถานศึกษาเพียง 103 คนเท่านั้น ขณะที่ สกร.มีตำแหน่งว่าง 435 ตำแหน่ง ดังนั้นผู้ที่จะสอบในครั้งต่อไปจะต้องใช้เกณฑ์ใหม่ตาม ก.ค.ศ.กำหนด”อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กล่าว

ภายใน 2 สัปดาห์รู้เรื่อง ได้เห็นสเปคอุปกรณ์เสริม Anywhere Anytime “เสมา 2″ชี้ตั้งสเปคสูงเพื่อประโยชน์นักเรียนเป็นหลัก

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริฐญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  เปิดเผยความคืบหน้าการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา หรือ Anywhere Anytime ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการส่งเสริมการศึกษาเท่าเทียมด้วยระบบดิจิทัลพัฒนาทักษะและเครดิตพอร์ตโฟลิโอ (The Digital Skill/Credit Portfolio : Empowering Educations) โดยอนุมัติงบประมาณ 4,214,738,090 บาท และโครงการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา หรือ Anywhere Anytime ระยะที่ 2 งบผูกพันปี 2569-2573 จำนวน 29,765,253,600 บาท นั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่างของเขตงาน หรือ ทีโออาร์ ซึ่งเบื้องต้นได้มีการพูดคุยกับกรมบัญชีกลางแล้ว โดยกระทรวงศึกษาธิการมีการเสนอสเปคค่อนข้างสูง ทำให้มองว่า อาจเป็นการปิดกั้น แต่ยืนยันว่า แม้จะกำหนดสเปคไปสูง แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่กรมบัญชีกลางกำหนด โดยคาดว่า จะได้ข้อสรุปภายใน1-2 สัปดาห์นี้แน่นอน จากนั้นจะประกาศทีโออาร์ เพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-บิดดิ้ง เพราะเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การที่เรากำหนดสเปคค่อนข้างสูง เพื่อให้ได้ของที่มีคุณภาพ คุ้มค่ากับงบประมาณมากที่สุด โดยจะเร่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้เร็วที่สุด ด้วยความรอบคอบ อย่างไรก็ตามเท่าที่ดูเบื้องต้นไม่น่าจะจัดซื้อได้ทันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 ในเดือนพฤษาคมนี้ แต่เชื่อว่าเด็กจะได้ใช้ภายในภาคเรียนที่ 1 หรือก่อนเปิดเทอม 2 ปีการศึกษา 2568 แน่นอน ทั้งนี้ส่วนตัวไม่มีความกังวลในเรื่องการดำเนินการ เพราะทำงานใกล้ชิดกับกรมบัญชีกลาง เพื่อความรอบคอบและระมัดระวังมากที่สุด

“สำหรับเหตุผลที่ไม่ฟันธงว่า การจัดหาอุปกรณ์การเรียนให้เด็กครั้งนี้ จะเป็นแท็บเล็ต โน๊ตบุ๊ค หรือ โครมบุ๊ค เพราะ เราให้ความสำคัญกับสเปคเป็นหลัก เพื่อไม่ให้เกิดการปิดกั้น และได้เช่าซื้อในราคาที่ดีที่สุด ดังนั้นจึงเลือกกำหนดสเปคเป็นหลัก ส่วนตัวอุปกรณ์จะเป็นอะไรนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทที่จะเสนอมาสู้ราคา เพื่อให้ได้คุณภาพที่ดี โดยผมอยากให้มีบริษัทเข้ามายื่นประกวดราคากันมาก ๆ เพื่อเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้นักเรียนได้ใช้”นายสุรศักดิ์กล่าวและว่า มติ ครม.ครั้งนี้เป็นการอนุมัติงบประมาณต่อเนื่องและงบประมาณผูกพันสำหรับการแจกอุปกรณ์เสริมการสอนของนักเรียนและครู ไม่ว่าจะเป็นแท็บเล็ต แล็บท็อป โน้ตบุ๊ก หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ในรูปแบบเช่าใช้งาน พร้อมสัญญานอินเตอร์เน็ตคุณภาพสูง โดยในปี 2568 ได้ขอจัดสรรเครื่องอุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่นักเรียน จำนวนกว่า 6 แสนคน ในระดับชั้น ม.4-6 ในกลุ่มโรงเรียนคุณภาพชุมชนและโรงเรียนขยายโอกาส

 

สพฐ.สั่งเด้งครูใส่หน้ากากแบทแมนทำอนาจารในโรงเรียน พร้อม ตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ถ้าพาดพิงว่าผอ.โรงเรียนปกป้องมีความผิดด้วย

เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2568 ที่กระทรวงศึกษาธิการ นายกัน จอมพลัง ได้เดินทางเข้าร้องเรียน พร้อมนำหลักฐาน ภาพ คลิป ชายแต่งตัวคล้ายครูถ่ายคลิปวิตถารโชว์ของลับในสถานที่ต่างๆ ทั่วโรงเรียน โพสต์ลงโซเชียล โดยมีนายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานรับเรื่อง

 โดย นายกัน จอมพลัง เปิดเผยว่า  มีผู้ปกครองเด็กนักเรียน ครู จากจังหวัดอุทัยธานี ทักมาในเพจเพื่อขอให้ช่วยเหลือ หลังมีชายแต่งตัวคล้ายครูถ่ายคลิปวิตถารโชว์ของลับลงโซเชียล ลักษณะท่าทางประหลาดใส่หน้ากากแบทแมนทำเหมือนเป็นฮีโร่ แต่แก้ผ้า บริเวณราวบันไดในอาคารเรียน มีโซ่ล็อคคอ มีสิ่งของบางอย่างห้อยตรงอวัยวะเพศ คลานสี่ขา เดินเด้งไปเด้งมา ส่วนในห้องเรียนแต่งเครื่องแบบแล้วถอดเสื้อผ้าออก นุ่งกางเกงในสีแดง แล้วถือหนังสือทำท่าเหมือนสอนหนังสือ และยังมีคลิปอีกหลายคลิปที่ส่อพฤติกรรมไม่เหมาะสมอีกด้วย

นายกัน กล่าวต่อไป นอกจากนี้ตนเองยังมีคลิปเสียงที่ ผอ.โรงเรียน ได้ออกมาพูดหน้าเสาธงในทำนองว่า ไม่ให้ครูและนักเรียนเอาเรื่อง และฝากถึงนักเรียนที่ไปแจ้งความ หรือไปบอกกัน จอมพลัง หรือสื่อมวลชน จะสร้างความวุ่นวายผลกระทบกับโรงเรียนเสียชื่อเสียงให้ระวังผลที่จะตามมาให้ดี พร้อมถามกลับว่า สิ่งที่ผอ.พูด เคยคิดบ้างไหมว่า พฤติกรรมดังกล่าวเป็นอันตรายต่อเด็กนักเรียนบ้างไหม ขนาดเด็กๆ ยังไม่สบายใจ สิ่งที่ผอ.ปรามไม่ให้ครู เด็กพูด ช่วยกันเก็บเป็นความลับเพื่อไม่ให้โรงเรียนเดือดร้อนนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ อยากให้คำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียน มากกว่าห่วงแต่ชื่อเสียงของโรงเรียน ต้องช่วยกันแก้ปัญหา  จึงอยากให้ทางกระทรวงศึกษาเร่งตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เพราะขณะนี้เด็กนักเรียน ครู ผู้ปกครอง หวาดกลัวไปหมด ส่วนจะอ้างว่าเป็นโรคจิตหรือไม่ ก็ควรไปรักษาไม่ใช่มาทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมในโรงเรียน

ด้าน นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สพฐ. ได้รับรายงานจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอุทัยธานี(สพม.)อุทัยธานี-ชัยนาท  แล้ว และได้เรียนรัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการทราบแล้ว ซึ่ง สพฐ.ได้สั่ง สพม.อุทัยธานี-ชัยนาท มีคำสั่งให้ครูที่ปรากฏในคลิป ไปปฏิบัติงานที่สำนักงานเขตพื้นที่ฯก่อน และตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย  ให้ตรวจสอบจรรยาบรรณวิชาชีพ รวมถึงต้องตรวจสอบที่มีการร้องเรียนเรื่องบุคคลดังกล่าวมีการทักแชทขอมีเพศสัมพันธ์กับเด็กนักเรียนอีกด้วย ซึ่งมีหลักฐานเป็นข้อความแชท ก็ต้องตรวจสอบในเรื่องนี้ต่อไป หากเป็นเรื่องจริงก็ถือว่าเป็นการกระทำที่มีความผิดชัดเจน ในส่วนของผอ.โรงเรียนจะมีความผิดทางวินัยด้วยหรือไม่ ขอรอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในภาพรวมก่อน

ขณะที่ ผศ.ดร.พลรพี ทุมมาพันธ์ รองเลขาธิการคุรุสภา ระบุว่า เลขาธิการคุรุสภาทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และเร่งนำเข้าคณะกรรมการจรรยาบรรณวิชาชีพ ซึ่งต้องดูว่าเข้าข่ายผิดจรรยาบรรณข้อใดบ้าง