ปีการศึกษา2/2568 ได้เห็นหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนคุณภาพเต็มรูปแบบ 100% แน่นอน

ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีการทดลองนำร่องโมเดลการขับเคลื่อนที่เป็นระบบเร่งด่วน ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อให้การดำเนินการในปีการศึกษา 2568 ภาคเรียนที่ 1 เป็นระบบมากขึ้น ซึ่งพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสรุศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้แนวทางวิธีการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ ทั้งด้าน โครงสร้างพื้นฐาน งานวิชาการ งานบุคคล โดยตอนนี้ สพฐ.กำลังสำรวจสุดยอดครูดูทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้เพื่อที่จะช่วยโรงเรียนคุณภาพในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วย เพื่อให้ภาคเรียนที่สอง ปีการศึกษา 2568 ก็จะเห็นโรงเรียนคุณภาพเต็มรูปแบบ 100% ตามนโยบาย รมว.ศึกษาธิการ คือ การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ พร้อมกันนี้เราก็จะปลูกฝังในเรื่องของ ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ การขับเคลื่อนในรูปแบบของจังหวัด โดย รมว.ศึกษาธิการ แนะนำให้ทำในรูปแบบเครือข่ายความร่วมมือ โรงเรียนร่วมพัฒนา ซึ่งเราได้ให้โรงเรียนคุณภาพเข้าสู่ระบบของ คอนเน็กซ์อีดี และ พาร์ทเนอร์ชิพ แล้ว เช่น จังหวัดพิจิตรก็จะมีมูลนิธิใจกระทิงดูแลในการขับเคลื่อนบางส่วน เป็นต้น

“โรงเรียนคุณภาพถ้าเป็นระดับมัธยมฯ เราจะให้เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ ที่จะต้องลงไปช่วยโรงเรียนประถมฯที่เป็นโรงเรียนคุณภาพ และต้องช่วยโรงเรียนเครือข่ายระดับมัธยมฯที่ไม่ใช่โรงเรียนคุณภาพ ขณะเดียวกันก็ขอความช่วยเหลือจากโรงเรียนมัธยมฯประจำจังหวัดใหญ่ ๆ มาดูแลโรงเรียนคุณภาพด้วย ส่วนโรงเรียนคุณภาพระดับประถมฯ ก็ให้ดูแลโรงเรียนประถม ฯ รอบ ๆ ที่ไม่ใช่โรงเรียนคุณภาพ โดยมีการแชร์ทรัพยากรร่วมกัน เช่น โรงเรียนคุณภาพมีครูสอนภาษา อังกฤษหรือภาษาจีนเก่ง ๆ ก็จะส่งออกไปช่วยโรงเรียนรอบนอกที่ไม่ใช่โรงเรียนคุณภาพ ขณะที่โรงเรียนคุณภาพระดับมัธยมฯ ถ้าดูแลโรงเรียนขยายโอกาสฯอยู่ ก็อาจจะให้โรงเรียนขยายโอกาสฯกลับเข้ามาเรียนโรงเรียนแม่ได้ ซึ่งจะทำให้เห็นภาพการเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ได้แน่นอน เพราะมีความพร้อมทั้งเรื่องวิชาการ และโครงสร้างพื้นฐาน” ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า โรงเรียนคุณภาพได้รับการสนับสนุนและเสริมความเข้มแข็งด้านต่าง ๆ ทำให้โรงเรียนมีคุณภาพ มาตรฐาน นอกจากนี้ สพฐ.ได้พยายามเชิญชวนเด็กนักเรียนทุกคนเข้ารับการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต การทดสอบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ หรือ เอ็นที เพื่อแสดงให้เห็นว่าระบบต่าง ๆ ที่เข้ามาสนับสนุนสามารถช่วยให้โรงเรียนเกิดคุณภาพได้อย่างแท้จริง

ดร.ภูธร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีโรงเรียนคุณภาพจำนวน 1,808 โรง เป็น ระดับประถมศึกษา 901 โรง และระดับมัธยมศึกษา 907 โรง ซึ่งโดยหลักการขณะนี้เรากำลังเร่งสร้างความเข้มแข็งให้โรงเรียนอยู่โดยมีเครือข่ายความร่วมมือ ถึงแม้จะยังไม่ทั้ง 100% แต่เราก็สามารถทำให้มีคุณภาพได้แล้วค่อยขยายต่อ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนของ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ในปีการศึกษา 2568 และเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ สนองตอบนโยบาย เรียนดี มีความสุช Anywhere Anytime ของ รมว.ศึกษาธิการได้อย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามคำว่าโรงเรียนคุณภาพไม่ได้หมายความว่าต้องเหมือนกันทั้งประเทศ จะมีความแตกต่างกันตามบริบทของตัวเอง เป็นโรงเรียนที่มีมาตรฐานเป็นจุดสกัดเด็กที่จะแห่เข้าไปเรียนในเมือง สามารถแบ่งเบาภาระโรงเรียนในจังหวัดได้ เพราะเป็นโรงเรียนที่อยู่ในอำเภอแต่มีความเข้มแข็งมีคุณภาพ มีความพร้อม ที่เด็กอยากเรียนไม่ต้องเดินทางไกล

บิ๊กอุ้ม”มีนโยบายให้ครูเลื่อนชั้นตามนักเรียนดูแลเด็กต่อเนื่อง ช่วยแก้ปัญหาอ่านออก เขียนได้

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ว่า ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าผลการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)ตามที่ สพฐ.ได้เสนอให้แก้ไขระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดภาคเรียน พ.ศ.2549 โดยให้มีการแก้ไขวันเปิดและปิดภาคเรียนที่ 1 จากวันที่ 16 พฤษภาคม -11 ตุลาคม เป็น วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 กันยายน และเปิดภาคเรียนที่ 2 วันที่ 1 พฤศจิกายน -1 เมษายน ซึ่งตนได้มอบหมายให้สำนักฯที่เกี่ยวข้องไปประชุมร่วมกับผู้ที่จะต้องได้รับผลกระทบต่อการเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียน เชิญชวนให้รับฟังความคิดเห็นไม่ว่าจะเป็น อบจ.สช.โรงเรียนเอกชน สกร.อาชีวศึกษา โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนพระปริยัติธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ว่าจะต้องปรับอะไรกันบ้างถ้าจะต้องเลื่อนปิด- เปิด ภาคเรียน

“ผลดีของการเลื่อนปิด- เปิด ภาคเรียนครั้งนี้ เนื่องจาก เป็นวันสิ้นปีงบประมาณซึ่งจะเป็นผลดีต่อการทำแผนบริหารงบประมาณ เรื่องย้ายครู ย้ายผู้อำนวยการโรงเรียน อีกทั้งเด็กจะมีเวลาปิดภาคเรียนที่ 1เพิ่มมากขึ้นเด็กได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น ครูก็จะได้มีเวลาเตรียมการเรียนการสอนให้มากขึ้น รวมถึงการบริหารงานด้านอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ถ้าเป็นไปได้ หน่วยงานอื่น ๆ เห็นด้วย ก็จะเลื่อนเปิดเทอมตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้เลย”เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงนโยบายให้ครูเลื่อนชั้นตามนักเรียน เพื่อครูจะได้ดูแลนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ สพฐ.คิดหารูปแบบเพื่อให้ครูได้ดูแลติดตามนักเรียนในเรื่องของพัฒนาการของนักเรียน การอ่านออก เขียนได้ รวมถึงพฤติกรรมต่างๆด้วย โดยให้เริ่มตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ก่อน ถ้าปีหน้าเด็กเลื่อนขึ้น ป. 2 ก็ให้ครูเลื่อนชั้นตามเด็กขึ้นไปอยู่ ป.3 ก็ให้ครูเลื่อนชั้นขึ้น ป.3 ตามไปด้วย เป็นต้น ซึ่งเป็นที่หน้ายินดีว่ามีโรงเรียนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการนี้กว่า 2,000 โรง ที่จะรับเรื่องการบริหารจัดการครูแบบช่วงชั้นไปดำเนินการซึ่งตนได้มอบหมายให้สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. และให้ ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.ไปดำเนินการ ซึ่งอาจจะต้องมีการวิจัยเปรียบเทียบดูว่าการการเรียนการสอนแบบครูช่วงชั้นกับการเรียนปกติ แบบไหนจะเกิดพัฒนาการกับผู้เรียนและเกิดคุณภาพการศึกษาดีกว่า

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน(โอเน็ต)และการสอบโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ซึ่ง สพฐ.ได้มอบหมายให้สำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ.ไปทำมาตรการจูงใจ เพื่อให้เด็กเข้ามาสอบโอเน็ตมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาพบว่าเด็กสอบโอเน็ตลดลง มีการสมัครสอบแล้วแต่พอถึงเวลาก็ไม่มาสอบทำให้สูญเสียงบประมาณในการจัดพิมพ์ข้อสอบ ดังนั้นปีนี้จึงให้สำนักทดสอบฯไปหามาตรการในการจูงใจ รณรงค์ให้เด็กมาสอบมากขึ้น และเน้นย้ำให้การสอบทุกอย่างของ สพฐ. ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบด้านการอ่าน หรือ RT การทดสอบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ หรือ NT ซึ่งเป็นการสอบคนละกลุ่มเป้าหมายและคนละวัตถุประสงค์ แต่ก็ทำให้เกิดความเข้าใจว่าทำไมถึงต้องจัดทดสอบ เพราะการสอบเหล่านี้จะเชื่อมโยงกับการสอบ PISA ซึ่งเป้าหมายคือต้องการให้การสอบ PISAในรอบต่อไปสูงขึ้น

“ปลัด ฯ สุเทพ” รับโอน รอง ศธภ.15 นั่ง รองอธิบดี สกร. และ ย้าย รองเลขาธิการ ก.ค.ศ.เป็น ผู้ช่วยปลัด ศธ.

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามในคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ 105/2568 เรื่อง โอนข้าราชการพลเรือนสามัญ  นางยุพิน บัวคอม  รองศึกษาธิการภาค 15 ให้ดำรงตำแหน่ง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) และคำสั่ง ฯ ที่ 104/2568 เรื่อง ย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญ  นายวชิรพันธ์ นาคก้อน รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ นางยุพิน บัวคอม ถือเป็นลูกหม้อ สกร. เพราะเคยดำรงตำแหน่ง ผอ.กศน.อำเภอหลายอำเภอ และ รอง ผอ.และ ผอ.กศน.จังหวัดหลายจังหวัด จากนั้นไปเป็นศึกษาธิการจังหวัดภูเก็ต น่าน เชียงใหม่ แล้วเป็นรองศึกษาธิการภาค 15 ก่อนที่สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการจะรับโอนให้มาดำรงตำแหน่ง รองอธิบดี สกร. ส่วนนายวชิรพันธ์ นาคก้อน ก่อนที่จะดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. เคยเป็น ผู้อำนวยการสำนักนิติการ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มาก่อน

 

“เสมา1”ยืนยันการสอบโอเน็ตมีความจำเป็นแต่ไม่บังคับ“ธนุ “ขานรับไปดำเนินการ

ที่จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2568 ในการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ที่มี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ เป็นประธาน โดยมี พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมการประชุม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้ หารือถึงกรอบแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับนโยบายการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน(โอเน็ต) ซึ่ง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ไปพิจารณาหาแนวทางจูงใจให้นักเรียนเข้าร่วมการทดสอบโอเน็ตให้มากขึ้น แต่ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจซึ่งที่ประชุมได้มีการอภิปรายและให้ข้อเสนอแนะแนวทาง กันอย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนหรือมีมติใดๆ

ทั้งนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ได้มอบหมายให้ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ไปหาวิธีการจูงใจให้เห็นประโยชน์ของการสอบโอเน็ต ซึ่งเปรียบเสมือนการส่องกระจกเงาให้เห็นว่าเป็นอย่างไร ไม่เรียบร้อยตรงไหนซึ่งถ้าเรียบร้อยแล้วก็จบ แต่ถ้าไม่เรียบร้อยก็จะได้ปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะการทดสอบโอเน็ตถือเป็นมาตรฐานของประเทศ ที่จะมาวัดว่า เด็กอ่อนวิชาไหนจะได้มาจัดการเรียนการสอนเพิ่มเติมให้ แต่หากผลออกมาไม่ดีทั้งโรงเรียนก็จะเป็นตัวชี้วัดผู้สอนได้ ซึ่งก็อาจต้องไปเพิ่มศักยภาพที่ตัวผู้สอน อย่างไรก็ตามอยากให้เด็กเข้ามาสอบโอเน็ตให้มาก ๆ เพื่อจะได้รู้ว่า เด็กคนนั้นหรือโรงเรียนได้มาตรฐานหรือไม่ ไม่จำเป็นว่าจะต้องนำผลคะแนนโอเน็ตไปใช้ในการสอบเข้าเรียนต่อ แต่ก็ไม่ได้บังคับว่าจะให้นำไปใช้หรือไม่ต้องปล่อยให้เป็นประชาธิปไตย มีเสรีภาพที่โรงเรียนจะนำไปใช้หรือไม่ก็ได้เพียงแต่อยากพยายามชักจูงให้น้อง ๆ เข้ามาสู่กระบวนการวัดที่ได้มาตรฐานเพื่อจะได้รู้ว่าที่เรียนมา อ่อนหรือเก่งวิชาไหน ได้มาตรฐานของชาติหรือยัง

“ถ้าพยายามชักชวนถึงที่สุดแล้ว เด็กยังไม่อยากสอบก็ไม่เป็นไร เพราะผมได้ให้หน่วยงานต้นสังกัดไปดูแล้วว่าจะเข้าไปจัดการทดสอบเอง หรืออาจจะให้โรงเรียนที่มีความพร้อมมากกว่าเข้าไปประเมินก็ได้ โดยเหตุผลหลักประการหนึ่งที่อยากให้สมัครเข้ามาทดสอบโอเน็ตกันเยอะๆ เพราะเราต้องการเตรียมตัวเด็กให้พร้อมสำหรับรับการประเมินนานาชาติ หรือ PISA เนื่องจากคะแนน PISA จะเป็นตัวที่ทำให้ต่างชาติมีความเชื่อมั่นเราได้ ดังนั้นเราต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนว่า ตรงไหนอ่อนจะได้ไปปรับปรุงเพิ่มศักยภาพ หรือถ้าผ่านแล้ว เก่งแล้วก็ต้องพัฒนาให้เก่งมากขึ้นเช่นกัน

ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า จริงๆ แล้ว เด็กนักเรียน สพฐ. ไม่ได้สอบเฉพาะโอเน็ต แต่ยังมีการทดสอบด้านการอ่าน หรือ RT การทดสอบความสามาถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ หรือ NT ซึ่งเป็นการสอบคนละกลุ่มเป้าหมายและคนละวัตถุประสงค์ แต่ก็ทำให้เกิดความเข้าใจว่าทำไมถึงต้องจัดทดสอบมากมาย และผลของการประเมินที่ออกมาก็นำไปใช้บ้างไม่ใช้บ้าง จนสมัยหนึ่งได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการสอบโอเน็ต แต่มายุคนี้ รมว.ศึกษาธิการมองว่าถ้าไม่จัดทดสอบโอเน็ตแล้วจะนำอะไรมาเป็นตัววัดคุณภาพการศึกษา เพียงแต่ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ เนื่องจากการทดสอบโอเน็ตต้องเชื่อมโยงกับการสอบPISA เพราะการสอบ PISA คือการวัดความฉลาดรู้จนเป็นที่มาของนโยบายจัดการศึกษาที่มีเป้าหมายให้นักเรียนฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ กระทั่งต้องมีการพัฒนาห้องเรียนแล้ววัดว่า เด็กมีความฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ ด้วยข้อสอบโอเน็ต

“จริงๆ เรื่องการทดสอบไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะการสอนกับการสอบต้องเป็นของคู่กัน เรียกว่าสอนเพื่อสอบ สอบเพื่อสอน การจะพัฒนาการสอนได้ก็ต้องดูที่ผลการสอบก่อน แต่วันนี้โอเน็ตเป็นการวัดคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับชาติและไม่ได้สอบเฉพาะสพฐ.เพราะอาชีวะก็มีสอบวีเน็ต การศึกษานอกระบบก็สอบเอ็นเน็ต อิสลามก็มีสอบไอเน็ต ซึ่งล้วนแต่เป็นการวัดคุณภาพการศึกษาของชาติทั้งนั้น”เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า สพฐ.จะต้องพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อสร้างความเข้าใจว่าวัตถุประสงค์ของการสอบโอเน็ตคืออะไร ต้องให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะตัวเด็ก รวมทั้งผู้ปกครอง และครู เข้าใจว่าเป็นการทดสอบที่มีวัตถุประสงค์อะไร เพื่อเอาผลสอบไปปรับปรุงการเรียนการสอน ซึ่งจะไปประเมินว่าเด็กอ่อนอะไร เก่งอะไร จะส่งเสริมอย่างไร จะพัฒนาเด็กเรื่องอะไรต้องให้ผู้ปกครองและทุกฝ่ายเข้าใจว่า การสอบเป็นการทำให้ลูกหลานได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ซึ่งถ้าชาวบ้านรู้ว่าการสอบโอเน็ตจะเป็นมิติหนึ่งในการช่วยพัฒนาเด็กหรือแก้ไขจุดอ่อนเพื่อการเรียนการสอนไม่ใช่เพื่อการแข่งขันก็จะไม่ต่อต้านแน่นอน อย่างไรก็ตามหากจะมีการนำไปใช้เพื่อการสอบเข้าเรียนต่อ รมว.ศึกษาธิการ บอกว่าสามารถทำได้ แต่จะต้องมีการกำหนดสัดส่วนโดยอาจจะเริ่มต้นจาก 10% ก่อนแล้วค่อยขยายเพิ่มในปีถัดไป จะเปลี่ยนแบบหน้ามือหลังมือไม่ได้ ต้องค่อยค่อยขยับปรับเปลี่ยนไป แต่ก่อนอื่นก็ต้องต้องสร้างการรับรู้ให้ครูนักเรียนและผู้ปกครองให้ได้ก่อน

“บิ๊กอุ้ม”เห็นด้วยกับ สพฐ.เสนอ กพฐ.แก้ไขระเบียบปิด-เปิดภาคเรียน พ.ศ.2549 เลื่อนวันปิดภาคเรียน

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2568 ที่ น่านกรีนเลควิว รีสอร์ท จังหวัดน่าน ได้มีการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานนอกสถานที่(กพฐ.สัญจร)ซึ่ง พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมประชุมด้วย โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ เป็นประธาน ทั้งนี้ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)ได้เสนอผลสรุปการสำรวจความคิดเห็นการพิจารณาแก้ไขระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดภาคเรียน พ.ศ.2549 โดยมีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ คือ การแก้ไขวันเปิดและปิดภาคเรียนที่ 1 จากวันที่ 16 พฤษภาคม -11 ตุลาคม เป็น วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 กันยายน และเปิดภาคเรียนที่ 2 วันที่ 1 พฤศจิกายน -1 เมษายน ซึ่งจาก การสำรวจความเห็น ในประเด็นนี้พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 47,467 คน ซึ่งมีทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษา ฯลฯ พบว่า เห็นด้วย 80.30% ไม่เห็นด้วย 16.91% และอื่นๆ 0.79%
โดยมีข้อเสนอแนะกรณีเห็นด้วย คือ
1. เพื่อให้สะดวกต่อการบริหารจัดการภายในสถานศึกษาเนื่องจากสอดคล้องกับปีงบประมาณ สะดวกต่อการบริหารจัดการด้านการเบิกจ่ายอาหารกลางวันอาหารเสริม (นม) และการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ
2. เป็นประโยชนให้กับเด็กที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 – 15 พฤษภาคม สามารถเข้าเรียนได้เลย ไม่ต้องรอเข้าเรียนในปีการศึกษาถัดไป
3. เพื่อให้สะดวกต่อการบริหารอัตรากำลัง เนื่องจากการเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนซึ่งแต่เดิมกำหนดปิดภาคเรียนในวันที่ 11 ตุลาคมส่งผลต่อการบริหารจัดการด้านอัตรากำลัง
4. เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีของสถานศึกษา
5. เพื่อให้นักเรียนชั้น ม.3 และ ม.6 มีโอกาสแก้ผลการเรียนได้จบทันปีการศึกษา การเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 พ.ค. ทำให้นักเรียนที่มาแก้ผลการเรียนดำเนินการได้สะดวกกว่าการที่โรงเรียนเปิดวันที่ 16 พ.ค. อีกทั้งยังลดความเลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้จบการศึกษาเพิ่มขึ้น และได้ใช้วุฒิการศึกษาไปทำงานหรือเรียนต่อได้ทันปีการศึกษาถัดไป เพราะหากนักเรียนแก้ผลการเรียนไม่ทันก่อนวันที่ 16 พ.ค. นักเรียนจะจบในปีการศึกษาถัดไป และต้องรออีก 1 ปี ถึงจะสามารถเรียนต่อได้

ส่วนข้อเสนอแนะ กรณีไม่เห็นด้วย
1. ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมมีสภาพอากาศร้อนไม่เหมาะสมต่อการจัดกิจกรรมหรือการจัดการเรียนการสอน
2. ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมมีวันหยุดนักขัตฤกษ์หลายวัน (วันแรงงาน วันฉัตรมงคล วันพืชมงคล วันวิสาขบูชา) ส่งผลให้ต้องหยุดเรียนหลายวัน
3. การปรับเปลี่ยนวันเปิดภาคเรียนเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สะดวกต่อการบริหารจัดการเท่านั้น ไม่ส่งผลประโยชน์ต่อผู้เรียน
4. การเปิดและปิดภาคเรียนแบบเดิมมีความเหมาะสมแล้ว

นอกจากนี้ยังมีความเห็นอื่น ๆ เช่น 1. ควรนับวันครบอายุเข้าเรียนตามปี พ.ศ. เพื่อให้เข้าเรียนในระดับชั้นอนุบาล และระดับชั้นประถมศึกษาได้อย่างเหมาะสม 2.ควรกำหนดกรอบระยะเวลาเปิดภาคเรียนแบบยืดหยุ่นเพื่อให้สถานศึกษาบริหารจัดการตามบริบทและความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่สามารถแก้ไขระเบียบอื่นได้ โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนวันเปิดภาคเรียน ซึ่งที่ประชุมได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยประธานที่ประชุมมอบหมายให้ สพฐ. ไปดำเนินการ ให้มีการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานและส่วนราชการอื่น ๆ รวมถึงโรงเรียนเอกชนด้วย เพราะจะส่งผลกระทบจากการปรับวันเปิด-ปิด ภาคเรียนด้วย

ด้าน พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าว เกิดจากการรับฟังปัญหา ที่เกิดขึ้นกับบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งตนได้มอบให้ สพฐ.สำรวจความคิดเห็น เสนอต่อที่ประชุม กพฐ.ทั้งนี้ ข้อดีของการเลื่อนวันเปิดเทอม จะส่งผลดีเรื่องการบริหารจัดการที่ง่ายขึ้น การปิดภาคเรียนที่1 ก็เพิ่มขึ้นจากเดิมนักเรียนมีเวลาหยุดเพิ่มขึ้น ส่วนข้อกังวลเรื่องการนับอายุเด็กก่อนเข้าเรียน นั้น เหรียญย่อมมี2ด้าน ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย แต่ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยที่จะให้เลื่อน เปิด- ปิดภาคเรียน ซึ่งตนมองประโยชน์ที่จะเกิดในภาพรวมมากกว่า ว่าคุ้มค่าหรือไม่ ถ้าการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ก่อให้เกิดปัญหาที่มากกว่าประโยชน์ก็จะไม่เปลี่ยน ในทางกลับกันหากได้รับผลประโยชน์มากกว่า ก็ให้รีบดำเนินการเพื่อให้ทันปรับใช้ในปีการศึกษา 2569 นี้

 

 

กพฐ.สัญจรลงพื้นที่ จ.น่าน “ธนุ ”เจอโจทย์ใหญ่ เร่งแก้ปัญหาเด็กเรียนรวม พัฒนาครูพี่เลี้ยงให้มีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้จัดโครงการ ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานนอกสถานที่ หรือ โครงการ กพฐ.สัญจร โดยนำคณะกรรมการ กพฐ. ที่มี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้บริหาร สพฐ. ได้ลงพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อตรวจเยี่ยมสถานศึกษา และติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของ กพฐ. และทิศทางการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานโดย ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวภายหลังการลงตรวจเยี่ยมที่โรงเรียนบ้านหนองรังมิตรภาพที่ 107 และโรงเรียนบ้านทุ่งน้อย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.)น่าน เขต 1 ว่า จากการลงตรวจเยี่ยมโรงเรียนทั้ง 2แห่ง ร่วมกับ ดร. ภูธร จันทะหงษ์ ปุญยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. พบว่า ทั้ง 2โรงเรียน เป็นโรงเรียนเรียนรวมที่มีสัดส่วนของเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษค่อนข้างสูง เรียกว่าเป็น เดอะแบกก็ได้ เพราะมีเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษมาอยู่ที่ 2โรงเรียนนี้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ เนื่องจากทั้งสองโรงเรียนสามารถจัดการได้ดีมากทำให้ผู้ปกครองมีความเชื่อมั่นและนำลูกมาเรียนทั้งสองโรงเรียนนี้ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่อยากจะตอบแทนผู้ปกครองทั้งสองโรงเรียน คือ ขอบคุณ เพราะได้เห็นถึงความทุ่มเท และความเสียสละของผู้บริหารและครูรวมถึงบุคลากรของทั้งสองโรงเรียน โดยเห็นได้จากคุณภาพการจัดการเรียนการสอนและผลงานที่ออกมาปรากฎชัดเจน

“ถือเป็นความท้าทายของผู้บริหารโรงเรียนทั้งสองแห่ง ที่ โรงเรียนมีสัดส่วนเด็กพิเศษมากถึง 30% ซึ่งเป็นการบริหารที่ยากกว่าโรงเรียนปกติ นอกจากนี้สิ่งที่พบคือปัญหาเรื่องอัตรากำลัง กรณีครูที่ดูแลเด็กพิเศษเมื่อลาออกหรือย้ายออกจากโรงเรียนอัตราก็จะถูกยุบลงทันทีทั้งที่โรงเรียนนั้นยังมีเด็กพิเศษเรียนอยู่ เรื่องนี้เป็นอีกปัญหาที่กระทรวงศึกษาธิการ จะต้องให้ความสำคัญลงมาดูแล อย่ามองแค่เพียงต้องการลดอัตรากำลังแต่สถานศึกษายังมีความต้องการอัตรานี้อยู่จริง ไม่ใช่ความต้องการแฝง ดังนั้นก็ควรต้องได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และอีกปัญหาคือเรื่องรถรับส่งนักเรียน ที่เก่าชำรุด ทำให้ การรับส่งนักเรียนยากลำบาก ส่วน อาคารเรียนที่ ทรุดโทรมก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลสนับสนุนจากส่วนกลางเช่นกัน” ประธาน กพฐ.กล่าว

ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า กพฐ.มีหน้าที่กำหนดบทบาทแนวนโยบาย และทิศทาง ในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งการลงพื้นที่ กพฐ.สัญจร โดยการแบ่งสายลงไปตรวจ เยี่ยมโรงเรียน ติดตามการดำเนินการจัดการศึกษาของสถานศึกษาต่าง ๆ จะทำให้เห็นสภาพการจัดการศึกษา ปัญหาและอุปสรรคที่แท้จริงของพื้นที่ เพื่อนำเข้าที่ประชุม กพฐ. เพื่อประมวลสภาพปัญหาและ ออกแบบหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า จากการที่ตนได้ลงพื้นที่โรงเรียนบ้านเวียงเหนือ สพป.น่าน เขต 1 ซึ่งมีนักเรียน 31 คนมีครู 3-4 คน สิ่งที่พบคือเด็กส่วนหนึ่ง เป็นเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษมาเรียนรวมกับเด็กปกติ จากการสังเกตพบว่าเด็กกลุ่มนี้มีจำนวนค่อนข้างมากสำหรับโรงเรียนปกติ เพราะบางห้องมี นักเรียน4 คนมี เด็กปกติ 2 คน เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ 2คน บางห้องมีนักเรียน3คนมีเด็กปกติ2คนมีเด็กพิเศษ1คน ซึ่งเกือบทุกชั้นของโรงเรียนแห่งนี้มีเด็กพิเศษเรียนรวมเกือบทุกห้อง ซึ่งตนมองว่าเป็นปัญหาที่จะต้องเร่งแก้ไข เพราะ การที่มีนโยบายเรียนรวมเป็นแนวทางที่ สพฐ.ออกแบบไว้เพื่อแก้ปัญหาให้เด็กได้อยู่ในสังคมร่วมกัน แต่คิดว่าอาจจะต้องให้ทีมการศึกษาพิเศษวิเคราะห์ดูว่าการให้เด็กพิเศษมาเรียนร่วมกับเด็กปกติจะส่งผลดีหรือไม่ดี หรือจะเป็นการดึงปกติ ให้เรียนช้าลงไปอีก หรือไม่ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะจัดการศึกษาหรือให้ความช่วยเหลือให้เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษแยกออกมาเรียนต่างหาก จากเด็กปกติ หรือ พัฒนาครูพี่เลี้ยงเด็กเข้าไปเสริมให้มากขึ้น

“จากข้อมูลภาพรวม พบว่า พื้นที่ สพป.น่าน เขต 1 มี โรงเรียนที่มีลักษณะเช่นนี้ค่อนข้างมาก และเมื่อดูทั้งประเทศพบว่าโรงเรียนที่มีจำนวนเด็กลดลงและไม่มีผู้อำนวยการโรงเรียนมากถึง 2,000 กว่าโรง ซึ่งตนมองว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญของ สพฐ. ที่จะต้องนำเข้าหารือในที่ประชุม กพฐ. เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและเด็กกลุ่มนี้ถ้าจบ ป. 6 แล้วยังอ่านหนังสือไม่ออกจับใจความไม่ได้ด้วยความบกพร่องในด้านต่าง ๆ เราจะต้องหาทางช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งที่ผ่านมา สพฐ. ก็พยายามคิดรูปแบบเรียนรวม ควบรวม ทำโรงเรียนคุณภาพซึ่งผู้ปกครองส่วนหนึ่งที่มีความพร้อมก็สามารถนำเด็กไปเรียนโรงเรียนเฉพาะทางได้แต่สำหรับกลุ่มที่ไม่มีความพร้อมก็ต้องอยู่ที่เดิม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องลงมาจัดการศึกษาให้เท่าเทียม ทั่วถึง และ มีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่จะต้องนำเข้าหารือในที่ประชุมกพฐ. โดยผมมองว่า การจัดการศึกษาให้กับเด็ก เป็นเรื่องที่สำคัญ ที่สพฐ.จะต้องคิด ซึ่งถ้าอยู่ในอำนาจที่สพฐ.จะทำได้ก็จะดำเนินการทันที แต่ถ้ามันอยู่เหนืออำนาจก็จะต้องเสนอไปยังกระทรวงศึกษาธิการหรือรัฐบาลหรืออาจจะต้องประสานให้หน่วยงานอื่นๆเข้ามาช่วย“ว่าที่ร้อยตรีธนุกล่าว

สู่ปีที่ 20 “ราชมงคลพระนคร” ร่วมใจ ก้าวต่อไปให้สุดแรง มุ่งสู่มาตรฐานสากล ย้ำ “เรียนที่ไหนก็เรียนได้ แต่เรียนที่ราชมงคลพระนครต้องมีงานทำ100%”



​ จากความมุ่งมั่นในการสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติ ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ราชมงคลพระนคร) ที่มีมายาวนาน จนถึงวันนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 20 แห่งการก่อตั้งวันสถาปนา 18 มกราคม 2568 และตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันราชมงคลพระนคร ยังคงเป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงและมีความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพ ขณะเดียวกันทำหน้าที่ขับเคลื่อนและขยายโอกาสทางการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ พร้อมเป็นกำลังสำคัญของประเทศในการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ ที่สำคัญราชมงคลพระนครยังได้ผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้สังคมจำนวนมาก ส่งเสริมทักษะความรู้ให้แก่คนทุกกลุ่มให้มีอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวอีกจำนวนนับไม่ถ้วน

ก่อนที่จะไปดูว่าปีที่ 20 ราชมงคลพระนครจะก้าวเดินหน้าไปในทิศทางไหน หรือมีเป้าหมายอย่างไร เรามาคุยกับ ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดีราชมงคลพระนคร กันก่อนว่าในช่วงปี 2567 ได้นำพาราชมงคลพระนครทำอะไรกันบ้าง โดย ดร.ณัฐวรพล เล่าให้ฟังว่า ราชมงคลพระนครได้ริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ เป็นครั้งแรกในหลายงาน ซึ่งมี 4 ด้านหลัก ๆ เริ่มจากงานด้านวิชาการ ได้มีการเปิดระบบเครดิตแบงค์หรือคลังหน่วยกิต ที่ใช้สำหรับนำความรู้หรือความสามารถของผู้ที่ต้องการสะสมที่วัดจากทักษะ ประสบการณ์การทำงาน การฝึกอบรมหรือการเรียนรู้ทั้งจากสถาบันการศึกษา การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) การเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อนำมาเทียบโอนเป็นหน่วยกิตมาสะสมไว้ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษา การ Upskill และ Reskill ได้เป็นอย่างดี และมั่นใจในปีนี้ได้ใช้ระบบเครดิตแบงค์กันแน่นอน

​ดร.ณัฐวรพล เล่าต่อว่า นอกจากนี้ยังเริ่มทำ Pre-degree และ Non-degree ในทุกคณะมากขึ้น เพื่อรองรับการศึกษาแก่คนทุกกลุ่ม รวมทั้งกระจายโอกาสการศึกษาด้วยการมอบทุนมากขึ้น ได้แก่ ทุนราชมงคลพระนคร ,ทุนเรียนดี, ทุนเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ,ทุนการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ราชมงคลพระนคร เรียนต่อระดับปริญญาตรี ,ทุนนักกีฬา และทุนศิลปะการแสดง รวมกว่า 5 ล้านบาท อีกทั้งมีทุนสนับสนุนด้านการศึกษาจากองค์กรต่าง ๆ และภาคเอกชนด้วย รวมทั้งเปิดโอกาสสู่ความรู้ด้านกฎหมายผ่านการอบรมผู้ไกล่เกลี่ยรับใบอนุญาตของกรมคุ้มครองสิทธิ์และเสรี พร้อมจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ราชมงคลพระนคร ก่อตั้งวิทยาลัยนานาชาติและการสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อรองรับโลกการศึกษาที่ไร้พรมแดน ขณะเดียวกันเตรียมแผนเพิ่มจำนวนนักศึกษาต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะนักศึกษาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศภูฏาน เนื่องจากนักเรียนเหล่านี้มีความต้องการศึกษาต่อในประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทย เพราะมีระบบการศึกษาที่เปิดกว้าง ค่าเล่าเรียนก็ไม่สูงมากนัก ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงได้พัฒนาหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อจะรองรับความต้องการศึกษาต่อในอนาคต และได้มีการจัดงาน International Week เพื่อสร้างความเข้มแข็งกับเหล่าพันธมิตรด้วย


ส่วนด้านมาตรฐานสากลนั้น ดร.ณัฐวรพล ย้ำว่า เป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะการเข้าร่วม Ranking หรือจัดอันดับ จะทำให้เรารู้ว่าอยู่ตรงไหนและจะก้าวต่อไปอย่างไร บางคนมองเรื่อง Ranking เป็นเรื่องที่ไม่สะท้อนอะไร แต่มุมมองของผมในเชิงการบริหาร เพื่อดูว่าเรากับคนอื่นทำได้ดีมากหรือน้อย แตกต่างกันแค่ไหน มหาวิทยาลัยขยับอะไรไปบ้าง และต้องทำอะไรต่อไป ขณะเดียวกันผลการเข้าร่วม Ranking จะบอกให้โลกรู้ด้วยว่าราชมงคลพระนครอยู่ตรงไหน ต้องสร้างอัตลักษณ์ หรือตัวตนของเราให้รู้ว่าเราเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีที่อยู่ในตัวเมือง และวันนี้ราชมงคลพระนครได้ลงสนามเพื่อเข้าร่วมประเมินกับหน่วยงานระดับโลกหลายหน่วยงาน เช่น การประเมิน QS Stars Rating 2023-2026 / QS University Ranking: Asia 2025 และQS University Ranking: South-Eastern Asia 2025 การประเมิน THE Impact Ranking 2024 และการประเมิน The UI GreenMetric World University Ranking 2023 ซึ่งผลการประเมินต่าง ๆ เป็นที่น่าพอใจ อีกทั้งยังร่วมเป็นสมาชิกในเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย และเป็นองค์กรผู้ริเริ่มด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก กับทางเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกด้วย


ถือเป็นความภาคภูมิใจของราชมงคลพระนคร คือ การเข้าร่วมจัดอันดับของ Times Higher Education (THE) Impact Ranking องค์กรจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกจากประเทศอังกฤษ ประจำปี 2024 ซึ่ง ดร.ณัฐวรพล บอกว่า เป็นครั้งแรกที่ราชมงคลพระนครเข้าร่วมด้วย โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมจำนวน 2,152 แห่ง จาก 125 ประเทศทั่วโลก และสถาบันอุดมศึกษาไทยเข้าร่วม จำนวน 77 แห่ง ผลปรากฏว่าการจัดอันดับด้านการทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างยั่งยืน (Sustainable cities and Communities) หรือ SDG 11 ราชมงคลพระนคร เป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) สำหรับผลจากจัดอันดับภาพรวม เป็นอันดับร่วมที่ 29 ของประเทศไทย และอันดับร่วมที่ 1 ของกลุ่ม มทร. ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าราชมงคลพระนครมีคุณภาพในการจัดการศึกษาเชิงประจักษ์ที่โดดเด่นได้รับการยอมรับในระดับสากล ในการขับเคลื่อนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยโลกที่รับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืนที่แท้จริง

อธิการบดีราชมงคลพระนคร กล่าวว่า ส่วนงานด้านการบริหารจัดการ มีการยกระดับหน่วยงานภายใน เพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย รวมทั้งหารายได้ ตลอดจนเริ่มใช้ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นด้วย และอีกเรื่องที่สำคัญการดูแลด้านขวัญและกำลังใจบุคลากรที่ผมพยายามสนองนโยบายรัฐได้สำเร็จตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2542 ซึ่งอนุมัติหลักการให้มหาวิทยาลัยของรัฐจ้างลูกจ้างในลักษณะการจ้างพิเศษที่มีวาระการจ้างที่กำหนดเวลาชัดเจนแทนการบรรจุข้าราชการใหม่ โดยจ้างสายผู้สอน อัตรา 1.7 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ และสายสนับสนุนวิชาการอัตรา 1.5 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ จากนี้บุคลากรจะได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างมีความสุข ใครถนัดงานด้านไหนก็มุ่งไปทางนั้น และสามารถนำผลงานมา ปรับตำแหน่งและเพิ่มเงินเดือนได้ด้วย เนื่องจากมหาวิทยาลัยได้ปรุงระเบียบต่าง ๆ ให้ครอบคลุมมากขึ้น นอกจากนี้มีนโยบายการสร้างมหาวิทยาลัยแห่งความสุข Happy University รวมทั้งการเพิ่มสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อให้บุคลากรมีความเป็นอยู่ที่ดี และมีความสุขกับการทำงานมากขึ้น

ถึงตรงนี้อธิการบดีราชมงคลพระนคร ประกาศชัดปี 2568 ซึ่งผมจะครบวาระการดำรงตำแหน่งอธิการบดี ในอีก 6 เดือน ผมมุ่งมั่นนำราชมงคลพระนคร “ ก้าวต่อไปให้สุดแรง ” (20th RMUTP: Keep Going, Be All In) โดยเฉพาะการสานต่องานที่วางไว้ทั้งหมดให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด รวมถึงกำหนดยุทธศาสตร์ SDG โดยการกำหนดเป้าหมายการเป็นคาร์บอนนิวทรัล ในปี 2045 และ Net Zero ในปี 2060 ที่สำคัญตั้งเป้าหมายเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เป็น Animal Welfare ตอบโจทย์ SDG ในหัวข้อ Life on land ต่อไปเราจะกินของดี อยู่ดี เพราะทุกพื้นที่ของราชมงคลพระนครจะใช้ไข่ไก่ชนิดเคสฟรี ปลอดภัยไร้สารอันตราย และเรื่องคุณภาพการศึกษาต้องยกระดับให้สูงขึ้น ต้องทำให้บัณฑิตมีคุณภาพ สถานประกอบการหรือผู้จ้างบัณฑิตมั่นใจและกล้าที่จะจ้างเด็กของเราเข้าทำงานโดยไม่ลังเล ดังนั้นต้องเริ่มจากหาผู้เข้าเรียนที่มีจริตตรงกับสถาบันเน้นวิชาชีพตามที่เราถนัด อาจจะไม่แข็งวิชาการ 100 % แต่มีเอกลักษณ์โดดเด่น มีทักษะในการทำงานได้ ทำงานดี ทำงานทน (อึด) ปรับตัวได้เร็วตามสภาพที่เปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี คงต้องขอเป็นกำลังใจให้ราชมงคลพระนคร ก้าวผ่านไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ และขึ้นสู่เวทีโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ พร้อมยึดมั่นสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติ ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายใต้การนำของ”ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล” ที่ยังคงสโลแกนยึดมั่น “เรียนที่ไหนก็เรียนได้ แต่เรียนที่ราชมงคลพระนครต้องมีงานทำ100%

สมุทรสงครามจัดงาน วันครู “ONE Team จังหวัดเป็นหนึ่ง”

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568 นางนิศากร วิศิษฎ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ประธานในพิธีงานวันครู ครั้งที่ 69 พ.ศ. 2568 จังหวัดสมุทรสงคราม สนองนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ จังหวัดเป็นหนึ่ง จับมือทุกหน่วยงานทางการศึกษาในจังหวัดจัดงานยิ่งใหญ่ สมเกียรติครูไทย พร้อมสานต่อนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดย นางนิศากร กล่าวว่า“ครูเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการศึกษา ซึ่งจะส่งผลให้ศิษย์ฉลาดรู้ คือ รู้ในสิ่งที่ควรรู้ รู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้ ฉลาดคิด คือ คิดอย่างมีเหตุมีผล ฉลาดทำ คือ ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ การจัดการศึกษามีเป้าหมายสูงสุดที่มุ่งหวังให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งในด้านโอกาส ความเท่าเทียม ความเสมอภาค ความปลอดภัยและมีการศึกษที่เป็นเลิศ สามารถสร้างความมั่นคงของชีวิตเพื่อการพัฒนาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

นายปัญญา บูรณะนันทสิริ ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสงคราม ประธานการจัดงานวันครูจังหวัดมุทรสงคราม กล่าวว่า ในปีนี้ได้ร่วมกับหัวหน้าหน่วยงานทางการศึกษาจัดงานขึ้นภายใต้แนวคิดวันครู “ONE Team จังหวัดเป็นหนึ่ง ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งของแนวทางการดำเนินงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยเชิญคุณครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาเข้าร่วมงานกว่า 1,500 คน โดยจัดกิจกรรมพิธีสงฆ์ พิธีบูรพาจารย์เพื่อรำลึกพระคุณครู พิธีมอบเกียรติบัตรเชิญชูเกียรติผู้บริหารและครูในสาขาต่างๆ ที่ได้ทุ่มเท เสียสละ ในการปฏิบัติหน้าที่ และ กราบนมัสการพระเมธีวัชรประชาทร,ผศ.ดร.เจ้าอาวาสวัดอินทราราม แสดงปาฐถาธรรมในหัวข้อ“วิถีธรรมกับการจัดการศึกษาในยุคดิจิทัล” ทั้งนี้ พระเมธีวัชรประชาทร, ผศ.ดร. ได้มอบทุนการศึกษาเรียนฟรี 4 ปี ระดับปริญญาตรีให้กับพระภิกษุสามเณรและนักเรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า จำนวน 100 ทุน เพื่อศึกษาในระดับปริญญาตรี หลักสูตรรัฐศาสตร์บัณฑิตและหลักสูตรพุทธศาสตร์บัณฑิต สาขาการจัดการเชิงพุทธ หน่วยวิทยบริการคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ณ วัดอินทาราม ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

เสมา 1 เปิดงานวันครู  ย้ำนโยบาย “เรียนดี มีความสุข สร้างเด็ก ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” พร้อมเดินหน้าลดภาระครูใช้เทคโนโลยีจัดการระบบให้มากขึ้น ปลื้มครูแห่ลงทะเบียน TRS

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568  ที่ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ได้จัดพิธีงานวันครู ครั้งที 69 ประจำปี 2568 ภายใต้แนวคิด “เรียนดี มีความสุข : ครูไทยร่วมใจปฏิวัติการศึกษา สร้างเด็ก ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” โดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ตามที่ได้รับมอบหมายจาก นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี   โดยมีกิจกรรมที่สำคัญประกอบด้วยพิธีบูชาบูรพาจารย์และระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ มีการอ่านโองการอัญเชิญบูรพาจารย์ โดย ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ สวดฉันท์ระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ โดย ดร.อรรถพล สังขวาสี ครูอาวุโสนอกประจำการ เป็นผู้นำสวด  และมีการอัญเชิญพระคติธรรมจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก  พร้อมทั้งมีพิธีมอบโล่รางวัลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ   พิธีมอบเข็มคุรุสภาสดุดี และเกียรติบัติ รางวัลคุรุสภา”ระดับดี” พิธีมอบรางวัลของคุรุสภา ประจำปี 2567 ได้แก่ รางวัลครูผู้สอนดีเด่น รางวัลผลงาน “หนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม” รางวัลผลงานวิจัยของคุรุสภา พิธีมอบรางวัลพระพฤหัสบดี ประดับประเทศ ประจำปี 2567 และพิธีมอบรางวัล ครูดีในดวงใจ

ทั้งนี้ นายกฯได้ส่งสาร เนื่องในโอกาสวันครู ครั้งที่ 69 พ.ศ. 2568  โดยมีใจความว่า เนื่องในโอกาสวันครู ครั้งที่ 69 พ.ศ. 2568  วันที่ 16 มกราคม 2568  ดิฉันขอส่งความระลึกถึง และความปรารถนาดีมายังคุณครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน ที่สร้างคุณูปการแก่การศึกษาของชาติตลอดมา

“ครู” เป็นปูชนียบุคคลที่มีคุณค่าของชาติที่พัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้มีศักยภาพ ครูจึงเป็นผู้มีพระคุณเกศิษย์ทุกคน ดิฉันได้มอบคำขวัญวันครู ครั้งที่ 69 พ.ศ. 2568 ว่า “ครูจุดประกายความฝัน ผลักดันให้กล้าคิด สร้างโอกาสในชีวิตให้เด็กไทย” ด้วยระลึกถึงพระคุณครู อาจารย์ ที่เปรียบเสมือนผู้ใหญ่ที่เคารพรักในครอบครัวที่ให้ความรัก ความเมตตา ความปรารถนาดี เป็นผู้จุดประกายความคิดให้แก่ศิษย์ รวมทั้งถ่ายทอดวิชาความรู้และสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ให้คำชี้แนะ เป็นผู้นำความคิดให้ศิษย์ได้กล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสม ทำให้ศิษย์ได้เรียนรู้และสามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต ทั้งการประกอบสัมมาชีพ การเลี้ยงดูครอบครัว และการอยู่ร่วมกับคนในสังคม ครูเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ศิษย์ได้ต่อยอดความคิดและทำในสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งจะทำให้ศิษย์ได้มีโอกาสในการเลือกแบบแผนชีวิตที่มีความมั่นคงและมีความสุข ครูจึงต้องเพียบพร้อมไปด้วยทักษะ ความรู้ ความสามารถและพัฒนาฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ ซึ่งจะบ่มเพาะให้ศิษย์เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณธรรม จริยธรรม พร้อมที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าที่น่าภาคภูมิใจของชาติ รวมทั้งเป็นกำลังสำคัญในการสร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคม และความเจริญก้าวหน้าให้แก่ชาติบ้านเมืองสืบไป

ในโอกาสวันครู ครั้งที่ 69  พ.ศ. 2568 ดิฉันในฐานะศิษย์ขอแสดงความกตเวทิตาคุณแก่คุณครูที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้แก่ศิษย์ด้วยหัวใจที่มุ่งมัน ทุ่มเท เสียสละเสมอมา พร้อมกันนี้ดิฉันขออวยพรให้ครูอาวุโส ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติภารกิจในการพัฒนาการศึกษาของชาติทุกท่านประสบแต่ความสุข มีพลังกาย พลังใจ พลังสติปัญญาที่เข้มแข็งและเปี่ยมไปด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์ มีสุขภาพกาย สุขภาพใจแข็งแรงสมบูรณ์ มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนาทุกประการโดยทั่วกัน

ด้าน พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ขอแสดงความชื่นชม ยินดีต่อผู้ที่ได้รับรางวัลเนื่องในโอกาสงานวันครู การที่ท่านได้รับการพิจารณาคัดเลือกนั้น เป็นการยกย่อง เชิดชูเกียรติ ว่า ท่านทั้งหลายเป็นผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติเป็นผู้จัดการเรียนรู้ เป็นผู้ที่สนับสนุนการศึกษา และเห็นความสำคัญของการพัฒนาผู้เรียนและการศึกษา จึงอุทิศตน ทั้งกำลังแรงกาย แรงใจ และกำลังทุนทรัพย์ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศชาติ และผู้ที่ได้รับรางวัล ถือเป็น “แบบอย่างที่ดี” ที่ผู้เรียน ผู้วิชาชีพ และสังคม มองเห็นผลแห่งการกระทำที่ดีงามในความเป็น “ครูดี” ของท่าน

ครูและบุคลากรทางการศึกษามีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพคนของประเทศ “การพัฒนาคุณภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษา” จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียน คุณภาพของการศึกษา และคุณภาพของประเทศชาติ และหัวใจสำคัญของการศึกษา จึงเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย ครูต้องกระตือรือร้น พัฒนาตนเองให้รอบรู้ รู้จริง ในเรื่องที่สอน ส่วนผู้เรียนต้องกระตือรือร้นในการเรียนรู้จากครู เมื่อสองอย่างนี้มาเจอกัน การพัฒนาอย่างมีคุณภาพจึงจะเกิดขึ้นได้

นโยบายรัฐบาลด้านการศึกษา ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ ที่เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยเร่งส่งเสริมผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัยอย่างเต็มกำลังและความสามารถ รัฐบาลจะส่งเสริมการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม เด็กไทยทุกคน จะต้องเข้าถึงศูนย์ดูแลเด็กปฐมวัยที่มีมาตรฐาน เมื่อเติบโตก็ได้เรียนหนังสือที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ส่งเสริมศักยภาพทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม และความสามารถทางกีฬา และพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นทั้งในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุน ตอบโจทย์ศักยภาพของผู้เรียน ลดภาระและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ส่งเสริมให้เกิดการเรียนสองภาษา โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นตัวช่วย เน้นการสอนทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริง เพื่อการสร้างรายได้ (Learn to Earn) ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ รวมทั้งการเฟ้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา พร้อมทั้งส่งเสริมการปฏิรูประบบอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการแรงงานในอนาคตและรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning)

กระทรวงศึกษาธิการมุ่งมั่นสานต่อนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อผู้เรียนเป็นที่ประจักษ์ ภายใต้หลักการ “การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และ การศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต” ใช้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” “การศึกษาเท่าเทียม” ผ่านเครือข่ายการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และต่อยอดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับให้ทันสมัย ได้มาตรฐานสากล ภายใต้แนวคิด “ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ” เพื่อพัฒนาคนไทยทุกคนในทุกช่วงวัยให้ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” มีศักยภาพและความพร้อมสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

ความพยายาม และความตั้งใจของกระทรวงศึกษาธิการจะสำเร็จได้ เพราะได้รับการตอบรับ หรือความร่วมมืออย่างแข็งขันจากครู ผู้บริหารทุกระดับ และผู้ที่เกี่ยวข้องในการประสานเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนการศึกษาของชาติให้ก้าวหน้า ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร เฉกเช่น “ดอกกล้วยไม้” อันเป็นสัญลักษณ์วันครู ต้องใช้เวลาดูแลและเอาใจใส่ แต่เมื่อดอกออกแล้วยังความสวยงามน่าชื่นชมมาสู่ผู้ที่ได้พบเห็น อย่างไรก็ดี ผมยังมั่นใจว่า กระทรวงศึกษาธิการทำได้สำเร็จ เพราะผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่างร่วมมือรวมพลังประสานมือกันช่วยเหลือ ทุ่มเท เอาใจใส่

อย่างจริงจัง เพื่อพัฒนาการศึกษาของประเทศ การยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ได้รับรางวัลในวันนี้ เป็นเครื่องยืนยันว่าเรามีครูและผู้บริหารดี ที่มีคุณภาพ เพียบพร้อมทั้งด้านความรู้ ความสามารถ และจิตวิญญาณความเป็นครู สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ ศิษย์ สมดังคำขวัญของท่านนายกฯ ที่ว่า “ครูจุดประกายความฝัน ผลักดันให้กล้าคิด สร้างโอกาสในชีวิตให้เด็กไทย”

ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า การจัดงานวันครูปีนี้ เป็นการจัดงานวันครูครั้งที่ 69 โดยมีปีนี้ ได้รับความร่วมมือจากศึกษาธิการจังหวัด เป็นผู้นำหลักในการจัดงานวันครูของสถานศึกษาในส่วนภูมิภาค ซึ่งกำหนดจัดงานวันครูพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ  นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง จากเครือข่ายการพัฒนาทางวิชาชีพทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาวิชาชีพ ประกอบด้วย ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาของซีมีโอ   สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)   มหาวิทยาลัยสวนดุสิต   มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่   สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย   สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย   ศูนย์ความปลอดภัย กรมตำรวจ บริษัท Google (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ให้สัมภาษณ์ภายหลัง เรื่องการลดภาระครู ว่า กระทรวงศึกษาธิการยังดำเนินการอยู่ ยอมรับว่าขณะนี้ยังไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ แต่ก็ทำได้มากแล้ว 70-80% แล้วโดยเฉพาะเรื่องการลดภาระงาน เชื่อว่าเราดำเนินการได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประเมิน ว PA  การแก้ไขหนี้สินครู การย้ายครูคืนถิ่น ที่วันนี้มีการเปิดระบบย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านระบบ TRS (Teacher Rotation System)  เป็นการลดภาระครูไม่ต้องเดินทางในการดำเนินการ และมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะใช้ระบบเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มความสะดวกในการดำเนินการ ซึ่งต้องขอบคุณและชื่นชมทุกหน่วยงานที่ร่วมดำเนินการ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) และกรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.) ที่มาร่วมลงข้อมูลในระบบ อย่างไรก็ตามหากการดำเนินการระบบ TRS ประสบผลสำเร็จก็จะมีการต่อยอดไปใช้กับระดับผู้บริหารสถานศึกษาต่อไป

“ถือเป็นความพยายามในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการลดภาระของครู ที่พอนำมาลงระบบแล้วจะสามารถเชื่อมกันได้หมด จากที่เปิดระบบตอน 8.00 น. พบว่า มีครูเข้ามาลงทะเบียนถึงกว่า 5,000 คน นับว่าครูมีความตื่นตัวดีมาก ดังนั้นสิ่งที่คาดหวังต่อไป คือจะมีการขยายผลออกไปในหน่วยงานอื่นๆ  ด้วย ไม่เฉพาะหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น วันนี้ถือว่าเป็นผลที่ดีเยี่ยมที่ต้องขอชื่นชม และเป็นของขวัญสำหรับครูเนื่องในวันครูด้วย” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

ทั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้กล่าวให้กำลังใจครูที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงด้วยว่า ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองครูผู้ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติมีความปลอดภัย สุขภาพกายสุขภาพใจแข็งแรง และขอวิงวอนไปยังผู้ที่ไม่ประสงค์ดี การที่ทำร้ายคุณครูซึ่งเป็นผู้ส่งเสริมให้เด็กมีปัญญา ถือเป็นการทำร้ายเด็ก ๆ ด้วย เพราะฉะนั้นขอความกรุณาอย่าทำร้ายครูหรือบุคลากรทางการศึกษา เพราะครูทุกคนทำในสิ่งที่ดีให้ประเทศชาติและเด็ก ๆ

อดีตปลัดศธ.ห่วงการพัฒนากำลังคนของประเทศ แนะให้นำรายงาน “WEF”มาวางแผนการผลิต

 เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2568 ดร. อรรถพล สังขวาสี อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ตอนนี้ ตนมีข้อห่วงใยต่อการวางแผนและผลิตพัฒนากำลังคนในอนาคตของประเทศ เป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ประกอบการหลายแห่งในประเทศได้มีการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานจากปัญหาทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี มีการให้พนักงานออกจากงาน ปัญหาสังคมสูงวัย รวมถึงจากรายงาน Future of Jobs 2025 ของ World Economic Forum (WEF) จากรายงานฉบับดังกล่าว พบว่า ลักษณะของอาชีพมีความเป็นพลวัตสูงมาก โดยในปี 2025 มีการเติบโตของความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น 78 ล้านอัตรา หรือคิดเป็นร้อยละ 7 มีอาชีพเกิดใหม่กว่า 170 ล้านอัตรา หรือคิดเป็นร้อยละ 14 แต่ก็มีอาชีพที่ถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรหรือ อื่น ๆ อีก 92 ล้านอัตรา หรือคิดเป็นร้อยละ 8 ดังนั้น จึงจำเป็นที่ภาคการศึกษา ต้องตื่นตัว โดยนำรายงานดังกล่าวมาวางแผนและแนวทางการผลิตพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจอนาคต ทั้งในระดับยุทธศาสตร์ มีการกำหนดเป้าหมาย ระยะสั้นและระยะยาว ที่ชัดเจน เช่น การผลิตแรงงานที่มีทักษะขั้นสูงในสาขาที่ขาดแคลน หรือในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย การสร้างแผนแม่บท (Master Plan) จัดทำแผนพัฒนากำลังคนโดยพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจและแนวโน้มของอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรม 4.0, โลจิสติกส์, และพลังงานสะอาด การส่งเสริมการศึกษาที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมสมัยใหม่  และอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) New S -Curve: ยานยนต์ไฟฟ้า (EV), หุ่นยนต์, การบิน, ดิจิทัล First S-Curve: อิเล็กทรอนิกส์, อาหาร, ท่องเที่ยว โดยเร่งปรับหลักสูตรการศึกษาออกแบบหลักสูตรที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะดิจิทัล เช่น การเขียนโปรแกรม การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการวิเคราะห์ข้อมูล เพิ่มรายวิชาเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ในทุกระดับการศึกษา รวมทั้ง ทักษะที่สำคัญที่องค์กรในไทยต้องการ 5 อันดับแรก ตามรายงานของ WEF คือ ทักษะด้าน AI และ Big Data ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์ ทักษะด้านเครือข่ายและความปลอดภัยทางข้อมูลและทักษะความเป็นผู้นำและสร้างอิทธิพลต่อสังคม

ดร.อรรถพล กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญควรสนับสนุนการเรียนการสอนสายอาชีวศึกษาให้มากขึ้น และต้องสร้างความเข้าใจว่าการจัดการอาชีวศึกษานั้น เป็นการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นการสร้างอาชีพ ไม่ใช่การจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาโดยควรเพิ่มความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมใช้โมเดล Work-Based Learning (WBL) ซึ่งเน้นการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง และการพัฒนาทักษะที่ตอบโจทย์ความต้องการในอนาคต รวมถึงการพัฒนาทักษะใหม่ (Reskilling) ผ่านPlatform การศึกษาวิชาชีพคือวิทยาลัยสารพัดช่าง ที่มีอยู่ทุกจังหวัด โดยฝึกอบรมแรงงานภาคประชาชน ที่ต้องการเปลี่ยนสายงานหรือเพิ่มทักษะ เช่น การบริหารจัดการ Supply Chain หรือการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ การเพิ่มทักษะ (Upskilling) พัฒนาทักษะเชิงเทคนิคที่สูงขึ้น เช่น การออกแบบระบบ IoT (Internet of Things) หรือการควบคุมหุ่นยนต์ อีกทั้งการใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการพัฒนาแรงงาน “แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ (E-Learning) และต้องสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่เข้าถึงง่าย เช่น หลักสูตรออนไลน์ด้าน Data Analytics หรือ Cybersecurity การฝึกอบรมด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง (VR/AR) ใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงในสถานการณ์การทำงาน เช่น การฝึกควบคุมเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม การสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมการจับคู่ความต้องการแรงงาน (Job Matching) สร้างฐานข้อมูลกลางที่แสดงตำแหน่งงานและทักษะที่จำเป็น การฝึกงานในสถานประกอบการ (Internship)ส่งเสริมการฝึกงานระหว่างนักศึกษาและโรงงานอุตสาหกรรมอย่างมีคุณภาพ และการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา (R&D)สนับสนุนการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมเชื่อมโยงงานวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน สิ่งสำคัญต้องวางระบบประเมินและติดตามผลโดนจัดทำระบบประเมินผลความสำเร็จของโครงการ เช่น อัตราการจ้างงานและความพึงพอใจของนายจ้าง การพัฒนากำลังคนเหล่านี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจในระยะยาวได้”อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว