อว.เตรียมผลิตครูพัฒนาท้องถิ่น เฟส 2 หลังเฟสแรกได้ครูรุ่นใหม่ ไฟแรง มีจิตวิญญาณ เก่ง ฉลาด แต่กว่าครึ่งมีจุดอ่อนด้านภาษา 

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร อนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบริหารการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว)ที่ปรึกษาของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ด้านพัฒนาวิชาชีพ  เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว)  กำลังจะทำโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เฟส 2 เพื่อคัดเลือกคนดี คนเก่ง มาเป็นครู ถือเป็นการเตรียมครูใหม่ หรือครูในอนาคต  ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตครูระบบจำกัดจำนวนรับ (ระบบปิด) ในสาขาวิชาและพื้นที่ที่เป็นความต้องการของหน่วยงานผู้ใช้ครู เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยการจัดการเรียนการสอนจะเป็นการเตรียมทักษะใหม่ ๆ ที่จะตอบโจทย์ของโลกอนาคตด้วย เพราะโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เป็นเรื่องของแนวคิดการผลิตครู แบบ Teacher Training Schools ไม่ใช่กระบวนการ Lecture แต่สถาบันผลิตครูจะใช้โรงเรียนเป็นที่พัฒนาครูให้มากขึ้น คือ เป็นการพัฒนากระบวนการผลิตครูที่ยึดผู้ใช้ครูเป็นตัวตั้ง ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะยาวไปถึงปี 2583 ซึ่งจะเริ่มรุ่นแรก ปี 2569 และบรรจุได้ในปี 2573 โดยตอนนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ให้กรอบอัตรากำลัง 25 % ของอัตราเกษียณใน 10 ปีข้างหน้ามาแล้ว

“ต้องถือว่าโครงการนี้เป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการวิชาชีพครูได้มาก สามารถแก้ปัญหาขาดแคลนครูได้  คือ พื้นที่ไหนขาดแคลนวิชาเอกอะไรก็จะผลิตครูเข้าไปเสริม โดยเฟส 2 นี้จะมีการแก้จุดอ่อนของเฟสแรก ซึ่ง คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบริหารการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของกระทรวง อว ที่มี ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เป็นประธาน ได้มีการลงกำกับติดตามและนำข้อมูลครูรุ่นแรกบรรจุเข้าไปอยู่แล้วพบว่า ปัญหา อุปสรรคที่สำคัญ คือ เรื่องของภาษาอังกฤษ ที่บัณฑิตไม่สามารถสอบผ่านภาษาอังกฤษตามเกณฑ์ของโครงการได้ เมื่อภาษาอังกฤษไม่ผ่านก็ไม่สามารถบรรจุได้ ทำให้ปลายทางซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กในเขตพื้นที่รอไม่ได้ จนทำให้เกิดการบรรจุช้า ขณะที่โรงเรียนใหญ่รอได้ครูส่วนใหญ่ก็ได้บรรจุไปโรงเรียนขนาดใหญ่ ทำให้ผลของโครงการไม่ค่อยตรงตามวัตถุประสงค์ ไม่ถือว่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับสถานศึกษาที่ชัดเจนซึ่งตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไร ถึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ แต่ในแง่ของความเก่ง ความมุ่งมั่น ส่วนบุคคลของเด็กดีมาก มีจิตวิญญาณความเป็นครู เรื่องเทคโนโลยีมีความฉลาดในการใช้สื่อ ส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กเก่งแต่จุดอ่อนคือเรื่องของภาษาทำให้บรรจุได้เพียง 52% เท่านั้น  ทำให้โครงการเฟส 2 ต้องมาสร้างจุดแข็งในเรื่องของภาษาให้มากขึ้น เพราะเรายืนยันว่าเรื่องของภาษาเป็นสิ่งจำเป็น”รศ.ดร.มนตรี กล่าว

มทร.กรุงเทพ ทูลเกล้าฯถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในหลวง – พระราชินี

มทร.กรุงเทพ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สาขาวิชาการจัดการธุรกิจสมัยใหม่ แด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี พร้อมครุยวิทยฐานะ

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ รศ.ชาญ ถนัดงาน นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ พร้อมด้วย รศ.ดร.พิชัย จันทร์มณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ นำคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวาย ถวายปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล พร้อมครุยวิทยฐานะ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการธุรกิจสมัยใหม่ พร้อมครุยวิทยฐานะ แด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยในวิทยาการเครื่องกลมาตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ ทรงเข้ารับการฝึกอบรมด้านการบินหลายหลักสูตรจากเครือรัฐออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา ทรงพระราชวิริยอุตสาหะเพิ่มพูนความรู้ในวิทยาการแขนงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาการด้านการบิน ทรงนำหลักวิชาการด้านกลศาสตร์ไปทรงใช้ในการบินอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งทรงพระปรีชาสามารถด้านวิทยาการเครื่องกลเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ประชาชนชาวไทย และนานาอารยประเทศ ซึ่งทรงนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมา

สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเคียงข้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และตั้งพระราชหฤทัยมั่น ในการทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้านงานศิลปาชีพ เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ผลิตงานด้านศิลปหัตถกรรมเป็นอาชีพเสริม นอกเหนือจากงานการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลัก ทรงพระปรีชาสามารถในการบริหารจัดการ และวางแผน การอำนวยการ การประสานงาน การปกครองบังคับบัญชา การควบคุม และการกำกับดูแลการปฎิบัติหน้าที่ของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ทรงนำความรู้และหลักการจัดการสมัยใหม่ไปประยุกต์ใช้ในโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในโอกาสนี้ ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และดอกรวงผึ้ง ทำด้วยสบู่ชนิดพิเศษกลิ่นเครื่องหอมไทย กับผ้าไหมลายขัด 4 ตะกอ และผ้าไหมตะกอเลโนแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี

อนึ่ง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ประจำปีการศึกษา 2566 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ โดยมีผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ทั้งสิ้นจำนวน 1,989 คน แบ่งเป็น ระดับดุษฎีบัณฑิต 3 คน มหาบัณฑิต 57 คน และ บัณฑิต 1,929 คน

สภาการศึกษาค้นพบปัจจัยที่ส่งผลคะแนนPISAต่ำ ขณะที่ “ครูอุ้ม”มอบสพฐ.รณรงค์ให้เด็กม.3 มาสอบโอเน็ตให้มากที่สุด พร้อมชื่นชมหน่วยงานค้นเด็กหลุดระบบการศึกษากลับมาเรียนได้มากขึ้น

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 1/2568 ว่า ที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( สพฐ.)และ สภาการศึกษา(สกศ.)  โดย ในส่วนของ สพฐ.มีความก้าวหน้าการขยายผลการอบรมการสร้างและพัฒนาข้อสอบฯ ในระดับเขตพื้นที่ ทุกรุ่น ใน 245 เขตพื้นที่ ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 176,465 คน อบรมเสร็จแล้ว 44,584 คน โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ สกศ.นำเสนอข้อค้นพบจาก โครงการ PISA-Based Test for School (PBTS 2023) ประเทศไทย ซึ่งพบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการศึกษาของผู้เรียน ได้แก่ 1. ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว ส่งผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนอย่างทวีคูณ “การยกระดับ PISA จึงต้องให้ความสำคัญครอบคลุมไปถึงครอบครัวด้วย” 2. ผลคะแนน PBTS 2023 เชื่อมโยงกับคะแนนโอเน็ต ป.6 “หากสามารถพัฒนาผลการทดสอบโอเน็ตได้ ก็จะทำให้ผลทดสอบ PISA ดีขึ้นด้วยเช่นกัน” 3. ปัจจัยที่ส่งผลต่อ PISA ได้แก่ เศรษฐานะ สภาพแวดล้อมในห้องเรียน ทักษะสมอง EF กับเด็กปฐมวัย Personality และ Growth Mindset เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลการทดสอบ PISA “การพัฒนานักเรียนตั้งแต่ประถมศึกษาหรือปฐมวัย ช่วยยกระดับผลการทดสอบ PISA และช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ด้วย

“ที่ผ่านมา เด็กสมัครสอบโอเน็ตเยอะ แต่ไปเข้าสอบน้อย จึงมอบให้ สพฐ. ไปหาแนวทางและวิธีการสร้างความสนใจและดึงดูดใจให้เด็กสมัครใจเข้าสอบทุกคน (100%) เพื่อนำผลโอเน็ตมาพัฒนาการเรียนการสอน โดยใช้แนวทาง Anywhere Anytime จัดสอนเสริมหรือติวให้กับเด็กที่ยังอ่อนในวิชาต่าง ๆ และนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรในแต่ละช่วงชั้นให้ทันสมัย รวมถึงนำไปสู่การพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนของครูให้มีคุณภาพมาตรฐานด้วย และที่สำคัญในส่วนของนักเรียน ม.3 เมื่อเข้าสอบโอเน็ตแล้วทำให้รู้ถึงจุดอ่อนก็จะมาเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสอบPISA  ต่อไป เพราะPISA เป็นระบบการสุ่มสอบซึ่งไม่มีใครทราบว่าจะเป็นเด็กคนไหน ดังนั้นเราก็ควรเตรียมความพร้อมให้เด็กทุกคน จึงต้องรณรงค์และขอร้องให้เด็ก ม.3 เข้าสอบให้มากที่สุด”พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าว

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ในส่วนของการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษาเชิงระบบ (THAILAND Zero Dropout) ทาง สกศ.รายงานข้อมูลเด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ณ วันที่ 6 ม.ค.2568 พบจำนวนเด็กนอกระบบการศึกษา 1,025,514 คน ติดตามแล้ว 557,277 คน คิดเป็นร้อยละ 54.34 ยังไม่ได้ติดตาม 468,237 คน คิดเป็นร้อยละ 45.66 โดยในจำนวนนี้ มีเด็กที่อยู่ในการศึกษาภาคบังคับ ช่วงอายุ 6 – 15 ปี ตกหล่นจำนวน 442,962 คน ติดตามแล้ว 176,450 คน คิดเป็นร้อยละ 39.83 ยังไม่ได้ติดตาม 266,512 คน คิดเป็นร้อยละ 60.17  ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่เราสามารถติดตามน้องกลับมาในระบบได้มากกว่าปีที่ผ่านมาค่อนข้างมาก เนื่องจากปีนี้มีการเอาจริงเอาจังทุกส่วน โดยเฉพาะสพฐ.มีโครงการพาน้องกลับมาเรียน โดยมีกรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.) มีบทบาทในการเข้ามาเติมเต็ม ทำให้ได้ข้อมูลมากขึ้น ได้รู้ว่าเด็กที่ไม่กลับมาสู่ระบบไปไหนบ้าง ซึ่งจาก บุรีรัมย์ Zero Drop out model พบว่ามีข้อมูลเด็กหลุดออกนอกระบบ จำนวน 4,390 คน พบตัว 1,373 คน ไม่พบตัว 3,017 คน มีผลสำรวจครบทั้ง 100% มีการวิเคราะห์ข้อมูลเด็กที่ค้นพบ ประกอบด้วย ส่วนที่พบตัว จะอยู่ในกลุ่มที่เคยศึกษา กลุ่มที่กำลังศึกษา และกลุ่มที่ไม่เคยศึกษา, ส่วนกลุ่มไม่พบตัว มีสาเหตุจากการย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศ อยู่ต่างจังหวัด อยู่ต่างอำเภอ และอยู่ในเรือนจำ สถานพินิจ เป็นพระ/เณร หรือเสียชีวิต เป็นต้น ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะหาวิธีการแก้ไขหาทางให้เด็กได้กลับมาเรียน  โดยอาจต้องให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเข้ามาร่วมจัดหาที่เรียนให้เด็กต่อไป

สภานักเรียน ปี 68 พบนายกฯอิ๊ง เสนอ 3 ประเด็นขอรับการสนับสนุน “ส่งเสริมค่านิยมรักสถาบันหลักชาติ-สร้างโรงเรียนแห่งความสุข รักโรงเรียน รักเพื่อน รักน้อง – ต่อยอด ZERO DROPOUT ชวนเพื่อนกลับมาเรียน”

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ พันธุ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นำคณะกรรมการสภานักเรียนระดับประเทศ ประจำปี 2568 ซึ่งเป็นตัวแทนนักเรียนจากทุกจังหวัดทั่วประเทศและกรุงเทพมหานคร รวม 82 คน เข้าพบนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอข้อคิดเห็นและแนวทางพัฒนานักเรียนไทย ของคณะกรรมการสภานักเรียนระดับประเทศ ประจำปี 2568 พร้อมรับฟังโอวาทจากนายกรัฐมนตรี โดยมี นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี รวมถึงผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน คณะครูที่ปรึกษาสภานักเรียน คณะกรรมการดำเนินโครงการ และรุ่นพี่สภานักเรียนระดับประเทศ ร่วมรับฟัง ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

โครงการสภานักเรียน เป็นโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ขับเคลื่อนและให้การสนับสนุนทุกระดับมาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังให้นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีทักษะชีวิต เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี ตามวิถีประชาธิปไตย คือ คารวธรรม สามัคคีธรรม และปัญญาธรรม การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น รวมถึงการเป็นผู้มีจิตสาธารณะ จิตอาสา ปลูกฝังทัศนคติ ค่านิยม ความเป็นประชาธิปไตยอย่างสร้างสรรค์ สามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับสังคมได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ภายใต้ระเบียบ กฎ กติกา ของสังคม และสามารถนำกระบวนการต่าง ๆ ไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันของนักเรียนได้ โดยมีการจัดอบรมสัมมนาสภานักเรียนระดับประเทศ เป็นหนึ่งในกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยของนักเรียน ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 ด้วยการคัดเลือกตัวแทนนักเรียนซึ่งเป็นประธานสภานักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ และกรุงเทพมหานคร รวม 82 คน มาร่วมระดมความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างสร้างสรรค์บนวิถีประชาธิปไตย และใช้ชีวิตร่วมกันเป็นเวลา 4 วัน พร้อมทั้งนำเสนอข้อคิดเห็นการพัฒนาที่เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนและสังคม

สำหรับในปี 2568 นี้ สภานักเรียนระดับประเทศ ได้นำเสนอประเด็นที่ขอรับการสนับสนุนจาก นายกรัฐมนตรี จำนวน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การส่งเสริมค่านิยมหลัก “รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ในกลุ่มเยาวชนไทย ซึ่งคณะกรรมการสภานักเรียนจะนำแนวทาง “สืบสานความดี ต่อยอดสิ่งดีๆ เพื่อแผ่นดินไทย” โดยร่วมกับเพื่อนสภานักเรียนทั่วประเทศศึกษาพระราชกรณียกิจ หลักการทรงงาน หรือพระปรีชาสามารถ ของพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ต่าง ๆ อาทิ การแพทย์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ วรรณกรรม กีฬา การละเล่นหรือการแสดง แล้วนำมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมสภานักเรียนในโรงเรียน จัดทำโครงการ “TSC น้อมนำพระราชกรณียกิจสู่การต่อยอดพัฒนาสภานักเรียน” มาปรับใช้ในกิจกรรมสภานักเรียนและชีวิตประจำวัน แล้วแบ่งปันประสบการณ์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ พร้อมทั้งเชิญชวนสภานักเรียนทั่วประเทศ ทำกิจกรรมจิตอาสาหรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่ส่งเสริมความรักและเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ

2) ความรักโรงเรียน รักเพื่อน และน้อง สร้างโรงเรียนแห่งความสุข ให้นักเรียนรักโรงเรียน รักเพื่อน เคารพพี่ ดูแลน้อง และร่วมป้องกันให้ทุกคนห่างไกลจากบุหรี่ไฟฟ้าและรู้เท่าทันภัยออนไลน์ โดยขอรับการสนับสนุนการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ผลิต และผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการติดตามและทำหน้าที่กลั่นกรองตรวจสอบข้อมูลออนไลน์พร้อมทั้งเร่งปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับออนไลน์อย่างจริงจัง พร้อมทั้งขอรับการสนับสนุนโครงการภายใต้ “กิจกรรม TSC โรงเรียนดีที่หนูรัก”

3) ZERO DROPOUT ติดตามและค้นหาเด็กที่ตกหล่น ไม่ได้เข้าเรียน หรือออกกลางคัน ให้กลับเข้ามาเรียนในระบบ กำหนดแนวทางการป้องกัน เฝ้าระวัง ติดตาม ไม่ให้มีเด็กตกหล่นและออกกลางคัน โดยสภานักเรียนทั่วประเทศจะร่วมขับเคลื่อน “กิจกรรมสภานักเรียนชวนเพื่อนกลับมาเรียน (TSC ZERO DROPOUT) ตามบริบทและความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียน

จากนั้น พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ไปเป็นประธานเปิดการอบรมสัมมนาสภานักเรียน ระดับประเทศ ประจำปี 2568 ของ สพฐ. โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ  กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์  รองเลขาธิการ กพฐ. และตัวแทนสภานักเรียนจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 82 คน ประกอบด้วยนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 78 คน และนักเรียนจากสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จำนวน 4 คน รวมถึงผู้บริหาร สพฐ. ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน คณะครูที่ปรึกษาสภานักเรียน คณะกรรมการดำเนินโครงการ และรุ่นพี่สภานักเรียนระดับประเทศ รวมกว่า 200 คน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมแกรนด์ โรงแรมเดอะพาลาสโซ กรุงเทพมหานคร

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน  กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการสภานักเรียนเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนไทย รู้รักสามัคคี เทิดทูนสถาบัน ปลูกฝังพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติ สามารถพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า เทียบเท่านานาอารยประเทศ เด็กและเยาวชนจึงเป็นความหวังในการธำรงชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ไว้เหนือสิ่งอื่นใด ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ มีความห่วงใยเด็กและเยาวชนของชาติที่จะเป็นกำลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนกิจกรรมสภานักเรียนให้ดำเนินไปอย่างมั่นคง จึงขอฝากให้นักเรียนได้เรียนรู้บทบาทหน้าที่ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ ตามหลักวิถีประชาธิปไตย ได้แก่ คารวธรรม สามัคคีธรรม และปัญญาธรรม ซึ่งเป็นหัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งการมีจิตอาสาและพัฒนาตนเองอย่างเต็มตามศักยภาพ บนพื้นฐานหลักธรรมาภิบาล ผมหวังว่าสภานักเรียน สพฐ. จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย “ฉลาดรู้  ฉลาดคิด ฉลาดทำ” และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย ที่จะทำให้นักเรียนซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติ มีความสามารถใช้ชีวิตที่สร้างสรรค์ ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมไทยได้อย่างมีความสุข ขอให้นักเรียน ครู และบุคลากรทุกคนในที่นี้ นำประสบการณ์ที่มีคุณค่าไปถ่ายทอดให้เพื่อนนักเรียนในโรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสังคมรอบข้าง เพื่อขยายผลให้บังเกิดอย่างต่อเนื่อง

“วันนี้ได้มีโอกาสนำคณะสภานักเรียนระดับประเทศ ประจำปี 2568 เข้าพบนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านนายกฯได้ให้โอวาทและรับฟังความคิดเห็นจากน้อง ๆ เป็นอย่างดี ซึ่งหลังจากนี้น้อง ๆ ก็จะประชุมหาแนวทางการทำงานเพื่อที่จะนำข้อเสนอดังกล่าวไปขับเคลื่อนในโรงเรียนต่อไป ซึ่งผมก็ได้มอบแนวทางในการดำเนินการ โดยให้น้อง ๆ ใช้หลัก “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” คือรู้ในสิ่งที่ควรรู้ ไม่ว่าจะเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันต่าง ๆ เรื่องใดที่ยังไม่รู้ก็ให้แสวงหา เพิ่มเติม ทั้งจากเพื่อน คุณครู หนังสือ หรือสื่อต่าง ๆ เมื่อรู้แล้วก็อยากให้มีความฉลาดคิด คิดอย่างมีเหตุมีผล หรือคิดพิจารณาว่าสิ่งที่รู้มาถูกต้องไหม จากนั้นก็คือฉลาดทำ เมื่อรู้ว่าอะไรที่มีประโยชน์ ก็ให้เลือกทำแต่สิ่งที่มีประโยชน์กับตนเอง โรงเรียน และประเทศชาติ ตามแนวทาง “ทำดี ทำได้ ทำทันที” เพื่อพัฒนานักเรียนไทยและยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว

ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ   กล่าวว่า สพฐ. ได้จัดทำโครงการสภานักเรียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานักเรียนให้เรียนรู้บทบาทหน้าที่ตามวิถีประชาธิปไตย ซึ่งกิจกรรมสภานักเรียนจะช่วยให้นักเรียนเกิดทักษะทางสังคม เรียนรู้กระบวนการดำเนินงานของสภานักเรียน รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในโรงเรียนอย่างสร้างสรรค์ ให้นักเรียนทุกคนได้รับการปลูกฝังทัศนคติที่ดี เปิดใจยอมรับความต่างและความหลากหลายในสังคม เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี  อยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข ภายใต้ระเบียบ กฎ กติกาของสังคม

“วันนี้ได้มีโอกาสมาร่วมในพิธีเปิดสภานักเรียนระดับประเทศ ประจำปี 2568 ซึ่งได้เห็นเด็กรุ่นใหม่กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ พร้อมทั้งได้นำปัญหาที่พบเจอในโรงเรียนและสังคมถ่ายทอดให้กับนายกรัฐมนตรี และยังได้เป็นแบบอย่างให้กับน้อง ๆ ที่ไม่ได้มีโอกาสมาร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ อยากให้ตัวแทนสภานักเรียนที่ได้มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ นำข้อคิดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ฝากไว้ คือ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” “เรียนดี มีความสุข” และข้อคิดจากนายกรัฐมนตรี “ทุกโอกาสคือการเรียนรู้” นำไปถ่ายทอดให้กับเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ในโรงเรียนของเราที่ไม่ได้มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อจะได้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

สำหรับการอบรมสัมมนาสภานักเรียนระดับประเทศ ประจำปี 2568 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 10 มกราคม 2568 มีกิจกรรมประกอบด้วย สภานักเรียนกับความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย การเรียนทำให้มีงานทำ กิจกรรมให้ทำงานเป็น ทักษะที่จำเป็นสำหรับนักเรียนในยุคดิจิทัล สภานักเรียนกับประวัติศาสตร์ชาติไทย การเลือกตั้งคณะกรรมการสภานักเรียน ระดับประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2568 โดยได้รับความร่วมมือจากบุคลากร และหน่วยงานต่าง ๆ อย่างดียิ่ง

“ธนุ”เล็งให้ ผอ.โรงเรียน ทำหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างแทนครู

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ในปี 2568 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ยังคงขับเคลื่อนนโยบายเดิม คือ  เรียนดี มีความสุข ลดภาระครู ลดภาระผู้ปกครอง แต่จะเน้นที่เป้าหมายซึ่งพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เน้นย้ำให้มากขึ้น คือ ให้เด็กฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ โดยตนได้ประชุมร่วมกับผู้อำนวยการสำนักต่าง ๆ ของ สพฐ. และได้ตีโจทย์ออกมาเป็นกิจกรรมต่าง ๆ และได้ทำแผนปฏิบัติโดยเน้นลดภาระครูที่ตนให้ความสำคัญมาก

“ปีนี้ สพฐ.ได้ออกแบบการลดภาระครู โดยเชิญครูจากพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะ ครูที่อยู่บนดอย ครูที่อยู่พื้นที่ห่างไกล มาหารือ ว่า มีภาระอะไรบ้างที่นอกเหนือจากการสอน อยากให้กระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ.ช่วยลดภาระอะไร เพาะเราอยากลดภาระครูให้มากที่สุด เพื่อให้ครูได้สอนจริง ๆ ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาครูมีภาระเยอะมาก ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ ก็พยายามช่วยลดไปแล้ว ทั้งเรื่องการอยู่เวร การจัดหาภารโรงไปช่วย แต่ครูก็ยังมีภาระมากอยู่ เราก็พยายามจะลดภาระให้อีก”เลขาธิการ กพฐ. กล่าวและว่า เท่าที่สอบถามสิ่งที่ครูกังวลมาก คือ เรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะครูไม่มีความรู้ ทั้งเรื่องบัญชี เรื่องงานพัสดุ เขาไม่เคยเรียน ไม่เคยทำ เราก็กำลังหาวิธีการว่าจะให้เขตพื้นที่การศึกษาช่วยได้อย่างไร ซึ่งตนก็มีแนวคิดว่าจะพัฒนาผู้อำนวยการโรงเรียนมาทำหน้าที่นี้แทนเลย  ผู้อำนวยการโรงเรียนจะต้องช่วยครู ไม่ใช่ปล่อยให้ครูมีความทุกข์ เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเรื่องความเสี่ยง ระเบียบ กฎหมาย ซึ่งตอนนี้ สพฐ.ก็กำลังศึกษาหาแนวทางอยู่

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีนักเรียนหญิงโรงเรียนเชิงทะเลวิทยาคม จ.ภูเก็ต เข้าช่วยเหลือทีมกู้ชีพ ช่วยปั๊มหัวใจลุงขับซาเล้งที่เป็นลมหัวใจหยุดเต้นกลางถนน จนฟื้นคืนชีพ ซึ่งทราบว่าเด็กเคยเข้าอบรมการทำ CPR จากโครงการที่ อบจ.ภูเก็ตจัดขี้นเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา กระทั่งมีเสียงเรียกร้องว่าควรมีการจัดอบรมการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุฉุกเฉินเบื้องต้น และ การอบรม CPR ให้กับนักเรียนทั่วประเทศ นั้น  จริง ๆ แล้ววิชาสุขศึกษามีหลักสูตรอยู่แล้ว  และเราก็เคยทำกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โครงการอบรมจิตอาสาช่วยชีวิตคน มาแล้วเช่นกัน เพียงแต่โรงเรียนอาจจะไม่ได้อบรมหรือมีการฝึกอย่างเข้มข้น ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ทำให้เห็นว่า ความรู้และการฝึกอบรมนี้เป็นสิ่งที่จะติดตัวเด็กและสามารถนำมาใช้ได้จริงเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้นเมื่อมีเสียงเรียกร้องมาก็จะสั่งการให้เขตพื้นที่และสถานศึกษาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น  โดยเฉพาะเด็กโตซึ่งจะมีโอกาสไปช่วยเหลือคนได้มาก ถือเป็นเรื่องที่ดี ประชาชน พ่อแม่ พี่น้อง เห็นความสำคัญที่เรียกร้องให้ สพฐ.ให้ความสำคัญ ขอให้เพิ่มความเข้มข้นการอบรมนักเรียน เพื่อให้เด็กจะได้มีโอกาสไปช่วยเหลือสังคมได้มากขึ้น ซึ่งตนก็พร้อมจะไปดำเนินการ

“ศธ.ย้ำ!”ระบบTRSยื่นขอย้ายเน้นเหตุผลไม่เน้นผลงานเริ่ม16ม.ค.นี้เป็นต้นไป

ตามที่ กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายในการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา สามารถโยกย้ายกลับภูมิลำเนาด้วยความเป็นธรรม โปร่งใส ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน ประกอบกับยุทธศาสตร์ชาติกำหนดให้มีการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี ระบบการทำงานที่เป็นดิจิทัลเข้ามาใช้ในการปฏิบัติงาน เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นไปด้วยความเป็นธรรม โปร่งใส และมีประสิทธิภาพเป็นมาตรฐานเดียวกัน นั้น

เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2568 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)เปิดเผยว่า หลังจากที่ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เปิดตัวระบบการย้ายข้าราชการครู Teacher Rotation System (TRS)ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) อย่างเป็นทางการ และขณะนี้ทาง ก.ค.ศ.ได้เปิดระบบให้เขตพื้นที่การศึกษา หัวหน้าส่วนราชการ ลงทะเบียนเข้ามาใช้จนถึงวันที่ 8 มกราคม 2568 เพื่อที่จะเป็นยูเซอร์ในการอนุมัติ หลังจากนั้นจะให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯเป็นคนอนุมัติสิทธิ์ให้โรงเรียน เพื่อให้ครูยื่นขอย้ายได้ในวันที่ 16 มกราคม 2568 นี้

“ผมการันตีว่ามีระบบ TRS ความยุติธรรม โปร่งใส แก้ไขปัญหาการทุจริตได้ 100% เพราะการย้ายจะไม่ได้ใช้ดุลย์พินิจในการพิจารณาของผู้บริหาร หรือคณะกรรมการ ตำแหน่งว่างทั้งหมดจะอยู่ในระบบครูสามารถเข้าไปดูได้เลยว่ามีตำแหน่งไหนว่างบ้าง ส่วนกรณีมีครูขอย้ายในที่เดียวกัน ตำแหน่งเดียวกันหลาย ๆ คน ระบบก็จะจัดอันดับให้ โดยจะมีตัวชี้วัดที่เป็นคะแนนวิทยาศาสตร์ 100% ไม่มีผู้มีอำนาจ หรือผู้ที่มีส่วนได้ ส่วนเสีย เข้าไปเกี่ยวข้อง”รศ.ดร.ประวิต กล่าวและว่า ครูที่ขอย้ายทุกคนต้องกรอกประวัติผลงาน เหตุผลการย้าย โดยระบบจะคำนวณคะแนนให้เลย ทั้งนี้ การยื่นขอย้ายดังกล่าวจะไม่เน้นเรื่องผลงาน แต่จะเน้นเหตุผลการขอย้ายเป็นหลัก เพราะนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ต้องการลดภาระครู อยากให้ย้ายกลับภูมิลำเนาของตัวเอง ให้กลับบ้านดูแลครอบครัว

ศธ.ร่วมมือเครือข่ายภาครัฐ เอกชน จัดยิ่งใหญ่งานวันเด็กแห่งชาติ 2568 ภายใต้แนวคิด “เรียนดี มีความสุข Smart Kids,Happy Future”  เตรียมแจกของขวัญชุดใหญ่กว่า 100,000 ชิ้น

 

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 กระทรวงศึกษาธิการ จัดแถลงข่าวกิจกรรมฉลองวันเด็กแห่งชาติ ปี 2568 โดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ คณะผู้บริหารหน่วยงานหลัก คณะกรรมการจัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ และผู้แทนหน่วยงานที่ร่วมจัดกิจกรรม อาทิ สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรุงเทพมหานคร สถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย (Embassy of Indonesia) สถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย (Embassy of Finland) สำนักงานเลขาธิการซีมีโอ (SEAMEO Secretariat/SEAMEO STEM-ED) รวมทั้งเด็กและเยาวชนเข้าร่วมงานแถลงข่าว ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ โดย พล.ต.อ. เพิ่มพูน กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้จัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่ปี 2498 ซึ่งวันเด็กปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2568 โดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำขวัญวันเด็กปีนี้ว่า “ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง” และให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 ณ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เรียนดี มีความสุข Smart Kids,Happy Future” เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กและเยาวชนทั้งทางร่างกายและจิตใจ สร้างความตระหนักในสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบและระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม รวมทั้งยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พร้อมบูรณาการเชื่อมโยงกับนโยบายการศึกษา

สำหรับหนังสือที่ระลึกวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 ใช้ชื่อว่า “สยาม รวมมิตร” ภายใต้กรอบแนวคิด “รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ / ความสุข ความทุกข์ ความหวัง / Soft Power / สิ่งแวดล้อม / ปัญญาประดิษฐ์ (AI) / อื่น ๆ ที่สนใจและสร้างสรรค์” ตามชื่อของหนังสือวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 โดย เป็นชื่อผลงาน ของ ด.ญ.เอมารินทร์ งามเลิศ นักเรียนชั้น ป. 2 โรงเรียนวัดหัวนา พร้อมด้วย ผลงานภาพ “การผสมผสานเอกลักษณ์ สไตล์เด็กไทย” โดย ด.ญ.เติมเต็ม คงจังหวัด นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 71 (ก่อสร้างคลองด่าน) เพื่อให้เด็ก ๆ มาร่วมค้นพบความมหัศจรรย์ในหนังสือวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 ที่จะพาน้อง ๆ โบยบินเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการและความรู้แบบไทย ๆ กับ “สยาม รวมมิตร” ไฮไลท์พิเศษภายในเล่ม รวมผลงานสร้างสรรค์จากเด็กและเยาวชนไทย  เรื่องราวสนุก ๆ จากนักเขียนรับเชิญ เกม และกิจกรรมชวนคิดมากมาย

 

ด้าน นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ ประธานคณะกรรมการจัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568    กล่าวว่า การจัดกิจกรรมวันเด็กโดยกระทรวงศึกษาธิการปีนี้ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่

  1. กิจกรรมการนำเด็กและเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศ โดยเป็นเด็กและเยาวชนดีเด่น เด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติที่มีผลงานที่โดดเด่น เข้าเยี่ยมคารวะและรับโอวาทจากนายกรัฐมนตรี พร้อมรับโล่เกียรติคุณจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล จำนวน 1,292 คน และ เด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก เข้ารับเกียรติบัตร จากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 838 คน รวมเป็นเด็กและเยาวชนจากทั่วประเทศ ที่ผ่านการคัดเลือก 2,130 คน แบ่งเป็น 1) เด็กและเยาวชนดีเด่น  686 คน  2) เด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติที่มีผลงานโดดเด่น 606 คน และ  3) เด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก  838 คน
  2. กิจกรรมฉลองวันเด็กแห่งชาติ ในวันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2568 ณ กระทรวงศึกษาธิการและบริเวณโดยรอบ ทั้งบริเวณถนนราชดำเนินนอก ด้านหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ถนนเลียบคลองผดุงกรุงเกษม และภายในกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่เวลา 07.00 – 16.00 น. โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ ภายใต้แนวคิด “เรียนดี มีความสุข Smart Kids,Happy Future” เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการเรียนรู้ และลงมือปฏิบัติผ่านกิจกรรมที่สร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชนเป็นพลเมืองที่ดี เสริมสร้างการเรียนรู้ และสร้างความสุขให้กับเด็กในการใช้ชีวิตในสังคม ซึ่งเปรียบเสมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ในชีวิตจริง ทั้ง soft skill, AI และคุณธรรมอันดีงาม ผ่านกิจกรรมเกมโชว์ และ Workshop ต่าง ๆ เพื่อจุดประกายเป็นแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ ในการเป็น Smart kids Happy future ซึ่งปีนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานในเวลา 08.30 น. เพื่อเปิดห้องเรียนแห่งอนาคต ให้ทุกคนได้ร่วมมือร่วมใจ รับโอกาส ในการเรียนรู้ โดยแบ่งกิจกรรมเป็น 4 โซน ได้แก่

โซนที่ 1 : Kids Innovation Park เวทีเด็กโชว์ไอเดีย (ภายในกระทรวงศึกษาธิการ) กิจกรรมประกอบด้วย

  • พิธีเปิดงานวันเด็กแห่งชาติ 2568
  • การแสดงพิธีเปิด เรียนดี มีความสุข Festival
  • TALK SHOW พูดคุยกับดาราต้นแบบ My Idol Talk
  • การแสดงดนตรีของเด็กและเยาวชน
  • การแสดงด้าน Innovation
  • การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมพลังเด็ก

โซนที่ 2 : ห้องเรียนในฝัน โซนตกแต่งด้วยอุปกรณ์ล้ำสมัย ถูกใจเด็ก ๆ (บริเวณถนนราชดำเนินนอก) ประกอบด้วย

  • บูธหน่วยงานเอกชน
  • จำลองห้องเรียน VR เพื่อการศึกษา และการเรียน แบบอินเตอร์แอคทีฟ
  • บูธฐานผจญภัยสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ

โซนที่ 3 : โซน AI Wonderland: บูธจำลองการใช้ AI ในการเรียนรู้ เช่น การออกแบบ หุ่นยนต์ AI ที่ช่วยทำการบ้าน (บริเวณถนนลูกหลวง) ประกอบด้วย

  • บูธหน่วยงานเอกชน
  • บูธของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • รถโมบายเคลื่อนที่
  • บูธของกรมส่งเสริมการเรียนรู้

โซนที่ 4 : โซนสวนสนุกดิจิทัล : เครื่องเล่นที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยี (ภายในกระทรวงศึกษาธิการ) ประกอบด้วย

  • สวนสนุกบ้านลม / เครื่องเล่น
  • หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน

และที่ขาดไม่ได้ ไฮไลท์ที่เด็กทุกคนจะต้องมาสัมผัสด้วยตัวเอง คือ กิจกรรมตามรอย …วังจันทรเกษม ปี 3 ซึ่งจะพาน้อง ๆ ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมา จากวังจันทรเกษมสู่กระทรวงศึกษาธิการที่ห้องพิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย และน้อง ๆ จะมีโอกาสได้นั่งเก้าอี้ทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และเก้าอี้ทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมรับเซอร์ไพรส์ของขวัญจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คนละ 1 ชิ้นอีกด้วย

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ปีนี้ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน ในการจัดงานกว่า 100 บูธ อาทิ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานเอกชนมากมาย ที่มาร่วมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กและเยาวชน มอบความสุข ความสนุก และแจกของขวัญของรางวัลกว่าแสนชิ้นแก่เด็ก ๆ ทั้ง ตุ๊กตา ของเล่น สมุดหนังสือ ขนม และหนังสือที่ระลึก ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการจะร่วมแจกของขวัญด้วย  รวมถึงจะมีการแจก e-book “Smart Books for Smart Kids” และ Digital Board Game เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้, เปิดให้ดาวน์โหลดวารสาร MWIT ฟรี ซึ่งเป็น e-Magazine ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กิจกรรมพี่ช่วยน้องส่งความสุขสนุกในวัยเด็ก fix it center พี่ช่วยน้องซ่อมบำรุงโรงเรียน, และเปิดโลกการเรียนรู้กับ DOLE สำหรับเด็กและเยาวชนที่สนใจ นอกจากนี้ยังมีการแสดงบนเวทีกลางโดย ศิลปิน ดารา นักร้องขวัญใจเด็ก ๆ อาทิ หนุ่มน้อยวัยรุ่นแร็ปเปอร์ชื่อดัง น้องสไปรท์ และ คนงามระดับเวทีนางงามจักรวาล โอปอล สุชาตา ตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 3  จะมาพูดคุยถึงแรงบันดาลใจสู่เป้าหมายความสำเร็จขั้นแรกในชีวิตด้วย

ทั้งนี้ นอกจาก 2 กิจกรรมหลักในการเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 ดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการ และทุกหน่วยงานที่จัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติทั่วประเทศ ได้มีการปักหมุดกิจกรรมสำหรับใช้ค้นหาสถานที่จัดกิจกรรม กิจกรรมไฮไลท์หรือสถานที่ยอดฮิตของงานวันเด็กแห่งชาติ ให้เด็กและผู้ปกครองสามารถเลือกเข้าร่วมกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 ได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยสามารถ Scan QR-Code เพื่อค้นหาข้อมูลได้ที่ Facebook ศธ 360 องศา

“อดีตปลัดศธ.” ชี้! Gen Alpha หากใช้เทคโนโลยีมากเกินไปอาจทำให้เด็กขาดทักษะ-คิดวิเคราะห์-แก้ปัญหาไม่เป็น

เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2568  ดร. อรรถพล สังขวาสี อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการศึกษาไทยในช่วงนี้ ว่า การศึกษาของไทย อาจเกิดช่องว่างในการศึกษาของ Gen Alpha ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่เกิดในช่วงปี 2010 เป็นต้นมา เยาวชน genนี้ จะเชื่อมโยงกับปัจจัยทางสังคม เทคโนโลยี และเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เกิดช่องว่างในด้านต่าง ๆ ของการศึกษา เช่น: การเข้าถึงทรัพยากรการศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ: เด็กบางกลุ่มอาจไม่ได้รับอุปกรณ์เทคโนโลยี เช่น แท็บเล็ต หรืออินเทอร์เน็ตที่เพียงพอสำหรับการเรียนออนไลน์ พื้นที่ห่างไกล: เด็กในชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลอาจประสบปัญหาในการเข้าถึงคุณภาพการศึกษาที่เท่าเทียมกับเด็กในเมือง การพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไป ทั้งนี้ Gen Alpha เป็นกลุ่มที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่หากใช้เทคโนโลยีมากเกินไปอาจทำให้เด็กกลุ่มนี้ขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา หรือการสื่อสารแบบเผชิญหน้า เด็กบางคนอาจถูกกระตุ้นให้เรียนรู้จากสื่อดิจิทัลมากกว่าปฏิสัมพันธ์กับครูหรือเพื่อน รวมถึง ช่องว่างระหว่างทักษะที่สอนในโรงเรียนกับทักษะที่จำเป็นในโลกอนาคต อีกทั้ง ระบบการศึกษาไทยยังคง เน้นความรู้แบบดั้งเดิมที่อาจไม่ตอบโจทย์โลกยุคดิจิทัล เช่น การเขียนโปรแกรม การคิดเชิงนวัตกรรม หรือทักษะความเข้าใจวัฒนธรรมหลากหลาย (Cultural Intelligence)และการขาดสมาธิและการจัดการเวลา การเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากผ่านโลกออนไลน์ อาจส่งผลต่อช่วงความสนใจ (Attention span) ที่สั้นลง ทำให้เด็กอาจขาดทักษะการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งและต่อเนื่อง

“การแก้ไขช่องว่างดังกล่าว สามารถทำได้โดยให้หน่วยงานที่จัดการศึกษา เร่งสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างทั่วถึง  เช่น การส่งเสริมให้มีอินเตอร์เน็ตใช้ในสถานศึกษาให้ครอบคุลมพื้นที่ชนบท พื้นที่ห่างไกล การพัฒนาทักษะดิจิทัลให้เหมาะสมตามช่วงวัย การส่งเสริมให้เด็กใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมและปลอดภัย ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาโดยเพิ่มวิชาและกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ตลอดจนการส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมผ่านกิจกรรมกลุ่มและการเรียนรู้ การลดช่องว่างการศึกษาใน Gen Alpha ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน จำเป็นต้องใช้ความร่วมมือจากทั้งผู้ปกครอง ครู และผู้กำหนดนโยบายในการพัฒนาการศึกษาที่ตอบโจทย์อนาคตจึงจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้”อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว

ม.สยาม แจงละเอียดผลสอบสวน คอร์สอบรมอาสาตำรวจคนจีน มหาวิทยาลัยไม่เกี่ยว ยอมรับมีบุคลากรร่วมมือกับบุคคลภายนอกทำโดยพลการ ทำมหาวิทยาลัยเสียชื่อ เตรียมลงโทษทางวินัยและเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 6 มกราคม 2568 ที่มหาวิทยาลัยสยาม นายพรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัย  แถลงข่าว กรณีการอบรมหลักสูตร “อาสาตำรวจคนจีน” ที่มีการอ้างถึงมหาวิทยาลัยสยาม ว่าเป็นความร่วมมือกับสำนักงานสืบสวนกลาง กองบังคับการนครบาลภาค 3 โดยมีค่าใช้จ่ายหัวละ 38,000 บาท ว่า วันนี้เป็นโอกาสของมหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่าเป็นผู้เสียหายในการแถลงเรื่องดังกล่าว เมื่อทราบเรื่องดังกล่าว มหาวิทยาลัยได้มีการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามหาวิทยาลัย เคยร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้การช่วยเหลือประชาชนหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจจราจร  ตำรวจกับอินเทอร์เน็ต ซึ่งเรื่องต่าง ๆ ที่ดำเนินการมาไม่เคยมีปัญหา เนื่องจากทำไปตามขั้นตอน แต่ครั้งนี้มีปัญหา เพราะมีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน โดยคณะกรรมการฯได้เริ่มสอบสวนตั้งแต่วันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา

อธิการบดี ม.สยาม กล่าวว่า ผลการสอบสวน พบว่า

1. การอบรมหลักสูตรอาสาสมัครตำรวจบ้านที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าวเป็นโครงการที่จัดขึ้นโดยบุคคลภายนอก ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจของกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 โดยมี Dr.Li ZHANG อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสยาม เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดอบรม เพื่อให้ความรู้ด้านการป้องกันอาชญากรรมและการดูแลตนเองแก่นักศึกษาจีนและบุคลากรของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวไม่ได้เสนอขออนุมัติจากอธิการบดี ม.สยาม แต่อย่างใด

2. จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง การจัดอบรมที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 ธันวาคม 2567 โดยในวันที่ 25 ธันวาคม 2567 มีการเปิดอบรมที่ห้องเรียน 1006 อาคาร 12 ม.สยาม ซึ่งการเปิดอบรมดังกล่าวไม่ได้เสนอขออนุมัติใช้สถานที่จากมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด สำหรับในวันที่26-27 ธันวาคม 2567 เป็นการอบรมนอกสถานที่ มิได้มีการอบรมในมหาวิทยาลัย และการไปอบรมนอกสถานที่ดังกล่าว นักศึกษาจีนและบุคลากรของมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เสนอขออนุมัติเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวจากมหาวิทยาลัยด้วย

3.หนังสือขอความร่วมมือในการจัดทำโครงการดังกล่าวไปยังผู้กำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 เป็นหนังสือที่ร่างและจัดทำขึ้นมาจากบุคคลภายนอก แต่มีการลงนามโดย DrLi ZHANG นั้น เป็นการใช้ตำแหน่งที่มิได้แต่งตั้งเป็นทางการตามคำสั่งของมหาวิทยาลัย และผู้ลงนามได้ลงนามไปโดยพลการไม่ได้เสนอขออนุมัติจากมหาวิทยาลัยก่อน อีกทั้งหนังสือดังกล่าวก็ไม่ได้ดำเนินการผ่านระบบสารบรรณของมหาวิทยาลัย ต่อมา กองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 ได้มีหนังสือตอบรับไปยัง Dr.Li ZHANG เพื่อจัดส่งวิทยากรไปร่วมโครงการด้วย ซึ่งถ้าดูจากจดหมายเชิญเหล่านั้นจะเห็นได้ว่ามีลักษณะที่ไม่ปกติ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่มหาวิทยาลัย หรือ ชื่อมหาวิทยาลัยที่ใช้คำว่ามหาลัย และผู้ที่ลงนามไม่ได้เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากอธิการบดีหรือผู้บริหารแต่อย่างใด

4.การเก็บเงินค่าลงทะเบียนเข้าร่วมอบรม จำนวน 38,000 บาท ตามที่เป็นข่าว นั้น Dr.Li ZHANG ยืนยันว่านักศึกษาจีนและบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมการอบรม ทั้งหมด ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียน ประกอบคำยืนยันจากการสัมภาษณ์นักศึกษาจีน และ บุคลากรประจำของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมการอบรมดังกล่าว ส่วนการเก็บเงินค่าลงทะเบียนจากบุคคลภายนอกที่เข้าร่วมการอบรมนั้น Dr.Li ZHANG แจ้งว่าไม่ได้รับทราบมาก่อน เป็นการดำเนินการของบุคคลภายนอกไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย และเงินดังกล่าวก็มิได้เข้ามาในระบบการเงินของมหาวิทยาลัย อีกทั้งมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้จ่ายเงินให้แก่วิทยากรและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของกิจกรรมที่จัดขึ้น

5. เรื่องการติดต่อประสานงานเกี่ยวกับกิจกรรมตามโครงการ ตลอดจนการมอบประกาศนียบัตร การเตรียมอุปกรณ์เพื่อแจกให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ เช่น หมวก เสื้อกั๊ก ป้ายคล้องคอ Dr.Li ZHANG แจ้งว่า บุคคลภายนอกเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด

“กรณีนี้ ต้องถือว่าม.สยามเป็นผู้เสียหาย ด้วย เพราะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการ เพราะเป็นการดำเนินการโดยพลการของบุคลากรมหาวิทยาลัยร่วมกับบุคคลภายนอก ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยค่อนข้างมาก จากนี้มหาวิทยาลัยจะดำเนินการทางวินัย และลงโทษบุคลากรตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2563 และจะดำเนินการทางกฎหมายกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในการแอบอ้างชื่อ มหาวิทยาลัยสยามโดยมิชอบ ตามพ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 และจะวางมาตรการในการป้องกันต่อไป ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเสียใจที่เรื่องนี้เกิดขึ้น และกระทบกับความรู้สึกของประชาชน  มหาวิทยาลัยสยามมีนักศึกษาต่างชาติ มากกว่า 1 พันคน นักศึกษาจีนเป็นเพียงแต่ส่วนหนึ่งจากนักศึกษาทั้งหมดกว่า 50 ประเทศ มหาวิทยาลัยยินดี ที่จะร่วมมือกับทุกคนในการสร้างสิ่งดี ๆ ให้กับสังคมในอนาคต”นายพรชัยกล่าว

ทั้งนี้ก่อนหน้าที่ ม.สยามจะจัดแถลงข่าว น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และให้ ม.สยามแถลงผลสอบสวนคอร์สอบรมดังกล่าว เพื่อให้เกิดความชัดเจนและโปร่งใสต่อสังคมโดยด่วน และหลังจากนี้ หากยังมีข้อสงสัยหรือไม่ชัดเจนในประเด็นใด ทาง อว.จะเข้าไปดำเนินหาข้อเท็จจริงตามระเบียบและขั้นตอนต่อไป