“ธนุ” ลงพื้นที่สุราษฏร์ตรวจเยี่ยมและติดตามผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้

 

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พร้อมด้วย นางสาวพัชรกันย์ เมธาอัครเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักการคลังและสินทรัพย์ รักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน และนายนิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้ประชุมเพื่อติดตามผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ทั้งในรูปแบบ on-site และ online ผ่านระบบ Video Conference ณ ห้องประชุมชลธี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)สุราษฎร์ธานี ชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี นายนรินธรณ์ เซ่งล้ำ ผอ.สพม.สุราษฎร์ธานี ชุมพร และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในเขตตรวจราชการที่ 5 (ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา สตูล และระนอง) รวม 19 เขตพื้นที่การศึกษา รายงานภาพรวมความเสียหายและผลกระทบของสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ

สำหรับสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในครั้งนี้ จากข้อมูลระหว่างวันที่ 14 – 19 ธันวาคม 2567 พบว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสถานศึกษาในสังกัด 44 โรงเรียน ได้รับผลกระทบจำนวน 15 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 34 มีนักเรียนได้รับผลกระทบ จำนวน 2,728 คน และครู จำนวน 210 คน ขณะที่จังหวัดชุมพร มีสถานศึกษาในสังกัด 22 โรงเรียน ได้รับผลกระทบจำนวน 13 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 59 มีนักเรียนได้รับผลกระทบ จำนวน 191 คน และครู จำนวน 35 คน โดยเขตพื้นที่ต้นสังกัดได้เข้าไปดูแลช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว พร้อมทั้งสำรวจความเสียหาย และจะดำเนินการเยียวยาฟื้นฟูให้เป็นปกติต่อไป

ทั้งนี้ เลขาธิการ กพฐ. ได้นำข้อห่วงใยของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการให้ความช่วยเหลือดูแลโรงเรียน ครูและนักเรียน ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง รวมถึงได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดทำเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาของบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอาคารสถานที่ หนังสือ อุปกรณ์การเรียน ฯลฯ จากสถานการณ์อุทกภัยดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการฟื้นฟูสถานศึกษาให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้ปกติโดยเร็ว เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเรียนของนักเรียน พร้อมกับวางแผนมาตรการป้องกันและรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยในอนาคตอย่างเป็นระบบต่อไป

ย้ำอีกครั้ง “ทรงผมนักเรียน” ยกเลิกแล้ว 100% โฆษก ศธ.วอนเปิดกว้างรับความเห็นต่าง ไม่มองข้ามสิทธิเด็ก

­เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2568 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการที่มีข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ขอชี้แจงว่าระเบียบดังกล่าวได้ถูกยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษารวมถึงออกเป็นหนังสือสั่งการแจ้งเวียน ซึ่งได้ระบุให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งครู นักเรียนและผู้ปกครอง และเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา หรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนก่อนการประกาศใช้เพื่อความชัดเจนในการกำหนดแนวปฏิบัติ ซึ่งสถานศึกษาอาจกำหนดลักษณะทรงผมได้ตามความเหมาะสม กระทรวงศึกษาธิการ ขอย้ำชัดว่ามีหนังสือยกเลิกระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2566 ฉะนั้น “ทรงติ่งหู” หรือ “ทรงขาว 3 ด้าน” จะไม่ถูกเรียกว่า “ทรงผมนักเรียน” อีกต่อไป เพราะไม่มีการระบุความสั้น/ยาวของทรงผมนักเรียนชายและนักเรียนหญิงแล้ว ส่วนการจะกำหนดให้ผู้เรียนไว้ทรงผมรวมถึงแต่งกายแบบไหนให้เป็นไปตามวิจารณญาณของสถานศึกษา โดยให้โรงเรียนเปิดช่องทางให้โอกาสผู้เรียนพูดคุยเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกันอย่างสร้างสรรค์

โฆษก ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบัน พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญในเรื่องของสิทธิผู้เรียนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการดูแลช่วยเหลือและให้คำปรึกษาให้กับผู้เรียนทุกด้าน ซึ่งมีศูนย์เสมาพิทักษ์ที่ขับเคลื่อนกลไกผ่านพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา (พสน.) ในทุกพื้นที่ ถึงแม้จะมีมาตรการที่ดูแลผู้เรียนให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม แต่ก็ไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพ ทุกอย่างเป็นไปเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เรียนแสดงออกเชิงพฤติกรรมอย่างเหมาะสม มีอิสระภายใต้กรอบระเบียบที่ป้องกันไม่ให้นำไปสู่ความเสียหายทั้งต่อตัวเด็กเองและเกิดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมในวงกว้าง เชื่อว่าทุกโรงเรียนมีระเบียบที่สร้างขึ้นมาเพื่ออยู่ร่วมกันในสถานศึกษาอย่างมีความสุขทุกฝ่าย ความเห็นต่างอาจหลากหลาย หลักการคิดอาจไม่ตรงกัน แต่สิ่งที่วางแนวทางไว้ต้องพัฒนาได้โดยไม่ปิดกั้นโอกาสของเด็ก อยากให้เคารพซึ่งกันและกัน ลดการใช้ความรุนแรงทางคำพูดหรือการบุลลี่กระทบกระเทือนจิตใจ จนผู้เรียนรู้สึกว่าถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ การมีระเบียบวินัยเป็นสิ่งดีแต่ต้องควบคู่กับสิทธิมนุษยชนของผู้เรียนด้วย ฝากเป็นกำลังใจให้คุณครูปฏิบัติหน้าที่อยู่บนพื้นฐานของระเบียบวินัยอย่างมีคุณธรรม เพราะครูเป็นแรงบันดาลใจและเป็นแบบอย่างที่ดีในการพัฒนาความคิดของผู้เรียน หากหาทางออกร่วมกันจะมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

“ณ วันนี้ การยกเลิกระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นการตีกรอบขีดจำกัดด้านการศึกษา นับเป็นจุดเริ่มต้นของการยอมรับความหลากหลาย ขอยืนยันว่าเราจะร่วมกับทุกภาคส่วนเดินหน้า “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” สร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ มุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา และเติบโตสู่ก้าวที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงในอนาคต “ โฆษก ศธ. กล่าว

 

ชื่นชมอาชีวะอาสาปฏิบัติภารกิจให้บริการประชาชนช่วงปีใหม่

เมื่อวันที่  2 มกราคม 2568 นายทวีศักดิ์ คิ้วทอง ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการอาชีวศึกษา (สตอ.) ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.ศูนย์ความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ  เปิดเผยว่า ตามที่ สอศ.ได้เปิดจุดบริการ “อาชีวะ ขนส่ง อาสาช่วยประชาชน : เทศกาลปีใหม่ 2568” จำนวน 150 จุดบริการ ในพื้นที่ 77 จังหวัด ระหว่างวันที่ 27 – 5 มกราคม 2568  เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของปี 2567 นายอังกูร ศีลาเทวากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ กิตติธรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ได้ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ พร้อมชื่นชมการดำเนินงานศูนย์อาชีวะ-ขนส่งอาสาช่วยประชาชน วิทยาลัยเทคนิคกระบี่ ในการปฏิบัติงานให้บริการตรวจเช็กรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จุดพักรถ บริการอื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาล และพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณ ศูนย์บริการตำรวจทางหลวง (แยกวัดถ้ำเสือ) อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่  และวันนี้ ตนได้มาตรวจศูนย์อาชีวะ-ขนส่งอาสาช่วยประชาชน 2568 ที่วิทยาลัยเทคนิคถลาง และวิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต ด้วย

“จากการตรวจเยี่ยม ต้องขอชื่นชม และขอบคุณทุกวิทยาลัยและนักเรียนนักศึกษาที่ปฏิบัติภารกิจให้บริการประชาชนด้วยความตั้งใจอย่างเต็มความสามารถ เป็นที่พึงพอใจของประชาชนที่เข้ารับบริการ ขอขอบคุณจากใจจริงและให้อาชีวะอาสาทุกคนปฏิบัติภารกิจต่อไปจนจบโครงการ”นายทวีศักดิ์กล่าว

12 ทีมอาชีวะไทยกวาดรางวัลรอบชิงชนะเลิศ Botok Cup ครั้งที่ 4 รับปีใหม่ ที่ เมืองหนานหนิง ประเทศจีน โดยอาชีวศึกษาธนบุรีคว้าที่ 1 มาครอง

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) มอบหมายให้นางธิติมา โรจน์วัชราภิบาล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา เป็นประธานร่วมในพิธีการประกวดนวัตกรรมและการทำสื่อออนไลน์สู่ตลาดจีนสำหรับนักศึกษาระดับอาชีวศึกษา (Botok Cup) ครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2567 ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวศึกษาเศรษฐศาสตร์และการค้ากวางสี (Guangxi Economic and Trade Vocational Institute ) เมืองหนานหนิง มณฑลกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งการประกวดฯ เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)กับคณะกรรมการขับเคลื่อนการสอนอาชีวศึกษาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ประเทศจีน ศูนย์สภาพัฒนาโครงการ E-commerce Valley “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” สถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัท ปักกิ่งป๋อเต่า เทคโนโลยีสารสนเทศ อนาคต จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับทักษะในด้านการสื่อสารและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในธุรกิจ

นางธิติมา กล่าวว่า โครงการ “Botok Cup” นับเป็นหนึ่งในความสําเร็จที่สําคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนา ทักษะที่จําเป็นสําหรับยุคดิจิทัล การที่นักศึกษาได้มีโอกาสนําความรู้ความสามารถมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนา สื่อการตลาดออนไลน์และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ นอกจากช่วยเสริมทักษะทางวิชาชีพแล้ว ยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับนักศึกษาในการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างความร่วมมือกับเพื่อนจากประเทศต่างๆ อย่างแท้จริง การประกวดครั้งนี้ยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถสร้างรายได้จากทักษะที่เรียนรู้ระหว่างการแข่งขันผ่านการไลฟ์สดขายสินค้า ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับความรู้และทักษะในยุคดิจิทัลได้จริง โดยส่งเสริมการพัฒนาทักษะใหม่ๆ และสร้างโอกาสทางอาชีพให้กับเยาวชนในอนาคต

นางธิติมา กล่าวต่อไปว่า สอศ.ให้ความสําคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะที่จําเป็นต่อการประกอบอาชีพในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะทักษะด้านภาษาจีนและอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นทักษะที่สําคัญสําหรับการเข้าสู่ตลาดจีน และเป็นตลาด ที่มีศักยภาพสูง และในโอกาสนี้ สอศ.ขอแสดงความยินดีกับทีมจากวิทยาลัยอาชีวศึกษา ทั้ง 12 สถานศึกษา จากรัฐและเอกชน ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศในการแข่งขัน “Botok Cup” ซึ่งเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้แสดงความสามารถด้านธุรกิจดิจิทัลและการตลาดออนไลน์ที่ได้รับความสนใจจากทั้งในและต่างประเทศด้วย

โดยการประกวดนวัตกรรมและการทำสื่อออนไลน์สู่ตลาดจีนสำหรับนักศึกษาระดับอาชีวศึกษา (Botok Cup) ครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2567 ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวศึกษาเศรษฐศาสตร์และการค้ากวางสี (Guangxi Economic and Trade Vocational Institute ) ณ เมืองหนานหนิง มณฑลกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2567 มีดังนี้

รางวัลที่ 1 ทีม MKT Thonburi – วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี โดยคว้ารางวัลร่วมกับ 3 ทีมจากประเทศจีน

รางวัลที่ 2 ได้แก่ ทีม Bcbat’s Poetry – วิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพ ,ทีม PYT No.3 – วิทยาลัยเทคโนโลยีพายัพและบริหารธุรกิจ

รางวัลที่ 3 ได้เเก่ ทีม ImSook – วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี , ทีม Digital Biztech – GP – วิทยาลัยฐานเทคโนโลยี , ทีม GP Accounting – วิทยาลัยฐานเทคโนโลยี ,ทีม BC-BAT STAR – วิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพ ,ทีม Square – วิทยาลัยเทคนิคเดชอุดม , ทีม LiveStar – วิทยาลัยเทคโนโลยีจรัลสนิทวงศ์

กยศ.ตรวจสอบข้อมูลคนไทยผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินเจจูแอร์ หากเป็นผู้กู้ยืม กยศ. จะระงับหนี้ให้ทั้งหมด

ดร.นันทวัน วงศ์ขจรกิตติ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้เปิดเผยว่า “จากกรณีเหตุการณ์เครื่องบินสายการบินเจจูแอร์ประสบอุบัติเหตุระหว่างลงจอดที่ท่าอากาศยานมูอัน สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2567 และพบว่ามีผู้โดยสารเป็นคนไทย 2 ราย นั้น กยศ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น และขอเป็นกำลังใจให้ครอบครัวของผู้ประสบเหตุการณ์ดังกล่าว โดย กยศ. อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลของผู้เสียชีวิต หากพบว่าเป็นผู้กู้ยืม กยศ. จะระงับหนี้ให้กับผู้กู้ยืมทั้งหมด” ผู้จัดการ กยศ. กล่าวในที่สุด

“คุรุสภา”เปิดรายชื่อผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ ปี 68

ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า การส่งเสริม สนับสนุน ยกย่องและผดุงเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เป็นหนึ่งในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ซึ่งในทุกปีคุรุสภาได้ดำเนินการเฟ้นหา คัดเลือก เปิดเวทีทางวิชาการจัดประกวดผลงาน และยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหวังว่าผู้ได้รับรางวัลต่าง ๆ จะเป็นแบบอย่างให้บุคลากรทางการศึกษานำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้ประสบผลสำเร็จเช่นเดียวกัน และเมื่อมีการขยายผลไปอย่างกว้างขวางก็จะส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศได้

​เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อไปว่า เนื่องในโอกาสงานวันครู ครั้งที่ 69 พ.ศ. 2568 ที่จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “เรียนดี มีความสุข : ครูไทยร่วมใจปฏิวัติการศึกษา สร้างเด็กฉลาดรู้  ฉลาดคิด ฉลาดทำ” คุรุสภาได้ประกาศรายชื่อบุคคล และนิติบุคคลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ ประจำปี 2568 จำนวน 7 รายประกอบด้วย ประเภทบุคคล จำนวน 6 ราย ได้แก่ 1.พระพรหมบัณฑิต ธมฺมจิตฺโต 2. พระเทพปริยัติโสภณ (ปัญญา วิสุทธิปญฺโญ)3.ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล 4. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิง ไขศรี ศรีอรุณ 5.นายกมล รอดคล้าย 6.นายประสาน ไตรรัตน์วรกุล และ ประเภทนิติบุคคล จำนวน 1 ราย ได้แก่ มูลนิธิสมาน – คุณหญิงเบญจา แสงมลิ และประกาศเกียรติคุณยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ได้รับรางวัลของคุรุสภา รวมทั้งสิ้น 1,159 คน ประกอบด้วย1.รางวัลครูภาษาไทยดีเด่น รับเข็มเชิดชูเกียรติจารึกพระนามาภิไธยย่อ สธ จำนวน 3 คน ซึ่งได้คัดเลือกครูภาษาไทยในสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชนที่มีผลงานดีเด่น ที่ส่งเสริมผู้เรียนให้มีพัฒนาการการเรียนรู้ภาษาไทยที่เหมาะสมกับสถานภาพ และความพร้อมของผู้เรียนแต่ละคน 2. รางวัลครูภาษาฝรั่งเศสดีเด่น รับเข็มเชิดชูเกียรติจารึก พระนามาภิไธยย่อ กว จำนวน 5 คน ซึ่งเป็นครูที่มีศักยภาพและพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียน3.รางวัลคุรุสภา จำนวน 27 คน แบ่งเป็น ระดับดีเด่น 9 คน ระดับดี 18 คน ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีผลงานดีเด่นและมีคุณภาพในการจัดการเรียนรู้ 4.รางวัลครูผู้สอนดีเด่น จำนวน 25 คน แบ่งเป็น ระดับดีเด่น 11 คน ระดับดี 14 คน ซึ่งได้คัดเลือกครูในสถานศึกษาที่จัดการศึกษาระดับปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีนวัตกรรมในการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ 5.รางวัลคุรุสดุดี จำนวน 1,065 คน ซึ่งเป็นผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ จนสามารถเป็นแบบอย่างและเป็นที่เคารพยกย่องอย่างสูงของศิษย์ และบุคคลทั่วไป

ผศ.ดร.อมลวรรณ  กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีรางวัลที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ได้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ตื่นตัวในการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบท เป้าหมายการพัฒนา และตามความต้องการของสถานศึกษาอย่างแท้จริง โดยเปิดให้สถานศึกษาทุกสังกัดที่มีการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จนถึง ระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ทั้งของรัฐและเอกชน ส่งผลงานเข้ารับการคัดสรรรางวัล “ หนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม” ซึ่งในปี 2567 มีสถานศึกษาที่ได้รับรางวัล “หนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม” ระดับประเทศ รวมจำนวน 21 ผลงาน ประกอบด้วย รางวัลระดับเหรียญทอง 7 ผลงาน ระดับเหรียญเงิน 8 ผลงาน และดับเหรียญทองแดง 6 ผลงาน  และมีรางวัล “ผลงานวิจัยของคุรุสภา”ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และนิสิต นักศึกษาที่ปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาในสาขาวิชาเฉพาะ ได้ส่งผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและคุณค่าทางวิชาการเป็นแบบอย่างของการประยุกต์หรือต่อยอดเพื่อการพัฒนาวิชาชีพเข้าประกวด ซึ่งมีผลงานที่ได้รับรางวัล จำนวน 13 เรื่อง

​“ งานยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพพางการศึกษาเป็นงานที่สำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างขวัญกำลังใจ และความภาคภูมิใจ คุณค่า และความศรัทธาแก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ซึ่งคุรุสภามีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและยกย่องผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ตั้งใจปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ จนสามารถเป็นแบบอย่างและเป็นที่เคารพยกย่องอย่างสูงของศิษย์และบุคคลทั่วไปสมกับเป็นปูชนียบุคคล ให้มีเกียรติและศักดิ์ศรีเป็นที่ยอมรับของสังคม พร้อมที่จะปฏิบัติงานในหน้าที่ให้เกิดประโยชน์แก่ศิษย์และประเทศชาติยิ่งๆ ขึ้นไป” ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าว.

เริ่มแล้ววันนี้ อาชีวะอาสา ช่วยประชาชน เทศกาลปีใหม่ 2568 ให้บริการตรวจสภาพรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ฟรี! 150 จุดบริการ ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศถึงวันที่ 5 ม.ค. 68

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2567  กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดกิจกรรมอาชีวะ – ขนส่ง อาสาช่วยประชาชน เทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ให้บริการตรวจสภาพรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รถยนต์ไฟฟ้า ก่อนการเดินทางฟรี จำนวน 150 จุดบริการ ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานปล่อยขบวนคาราวานอาชีวะ-ขนส่งอาสา ช่วยประชาชน และ มีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ , นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมด้วยนายวิทวัต ปัญจมะวัต นายสง่า แต่เชื้อสาย และนายณรงค์ชัย เจริญรุจิทรัพย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้บริหาร สอศ. ตลอดจนผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. , นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ สกศ. นายฐิติพัฒน์ ไทยจงรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก, นายวัชระ กระแสร์ฉัตร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กองบังคับการตำรวจทางหลวง และภาคีเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน เข้าร่วมงาน ณ บริเวณเค้กบ้านสวน สาขา 2 ถนนพหลโยธิน ฝั่งขาออก กม.ที่ 76 ตำบล ลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวว่า เพื่อเป็นการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางจราจรอันนำไปสู่การบาดเจ็บและเสียชีวิตตามนโยบายรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ระดมนักเรียนนักศึกษาอาชีวะจิตอาสา และครูอาจารย์ สาขาวิชาช่างยนต์ และสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง จากสถานศึกษาในสังกัดทั่วประเทศ จัดจุดบริการอาชีวะ- ขนส่ง อาสาช่วยประชาชน ครอบคลุม 77 จังหวัด จำนวน 150 ศูนย์บริการ ตามเส้นทางถนนสายหลักและสายรองทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2567 – 5 มกราคม 2568 ระหว่างเวลา 06.00 – 18.00 น. และถึงเวลา 24.00 น. ณ จุดบริการในพื้นที่สำคัญ โดยจุดสังเกต คือ เต็นท์สีส้ม ซึ่งจะมีป้ายบอกทางเป็นระยะก่อนถึงจุดบริการ ซึ่งภายในจุดบริการจะให้บริการตรวจเช็คสภาพความพร้อมของรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมกับการแนะนำการใช้รถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงการซ่อมบำรุง เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง การให้บริการพักผ่อนเพื่อคลายความเหนื่อยล้า ฟรีก่อนเดินทาง รวมไปถึงการให้บริการนอกพื้นที่ในกรณีฉุกเฉินระยะทาง 5 กม. จากจุดให้บริการด้วยรถโมบาย และรถจักรยานยนต์ Fix it จิตอาสา ตลอดจนแนะนำข้อมูลเส้นทางและบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน เพื่อให้การเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2568 เป็นไปอย่างปลอดภัย โดยได้รับการสนับสนุนพื้นที่ตั้งจุดบริการ น้ำมันเครื่อง วัสดุอุปกรณ์ จากภาคีเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท ปิโตรเลียมไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด และบริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท Bangkok ATV Adventures บริษัท เค้กบ้านสวน จำกัด และร้านตี๋ม่อ ท่าพระ

“การดำเนินกิจกรรมนี้ ถือได้ว่าสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนชาวไทยในโอกาสเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างยิ่ง รวมทั้งเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับภาครัฐและภาคเอกชน สร้างให้เด็กนักเรียนอาชีวศึกษามีจิตอาสา บริการสังคม ทำงานเป็นทีม และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ พร้อมกับได้ฝึกงานจากประสบการณ์จริง ทั้งนี้ ประชาชนผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูล สอบถาม และการขอความช่วยเหลือเบื้องต้น ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ Application : อาชีวะอาสา ผ่านระบบ Android / Line Official :ID: @vecrsa /Facebook : อาชีวะอาสา สอศ.และ Website : อาชีวะอาสา” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

อดีตรองนายกฯ “เปรย”อย่ายึดติดสมญานาม โลกจำเพราะออกข่าวบ่อย ส่วนโลกลืมเพราะไม่ค่อยออกข่าวโลกเลยลืม ด้าน“บิ๊กอุ้ม“ ฝากข้อคิดคำพูดสู้การกระทำไม่ได้

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ตั้งฉายาให้ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็น 1 ใน 3 “รัฐมนตรีโลกลืม” ว่า ผู้สื่อข่าวตั้งฉายาให้รัฐบาลและรัฐมนตรีกันมาทุกสมัย ซึ่งก็จะมีรัฐมนตรีประเภทโลกลืมทุกสมัย แต่ความจริงโลกลืมเขาเอง เพราะจริง ๆแล้ว รัฐมนตรีเขาก็ทำงานกันทุกคน เพียงแต่ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์หรือไม่มีการสื่อสาร ซึ่งก็เหมือนกับ Active Learning ที่มีการทดลองใช้กันไปทั่วประเทศแล้ว แต่ไม่มีการสื่อสาร เพราะฉะนั้นตนไม่ได้สนใจเรื่องสมญานามว่า เป็นรัฐมนตรีโลกลืมหรือโลกจำ เพราะบางทีโลกจำก็อาจจะไม่มีอะไรทำก็ได้ แต่บังเอิญได้ลงข่าวบ่อยออกทีวีบ่อยโลกก็เลยจำหน้าได้

“ผมเคยถามชาวบ้านเหมือนกันว่า คนนี้ใคร ชาวบ้านบอกไม่รู้จัก เพราะไม่ได้ออกข่าวบ่อย ทั้งที่จริง ๆ ผมรู้ว่าเขาก็ทำงาน ขณะที่อีกคนชาวบ้านรู้จัก เพราะออกทีวีบ่อย เป็นข่าวบ่อย แต่ไม่ใช่ข่าวที่เป็นสาระอะไรเท่าไหร่” ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุกล่าว

ด้าน พลตำรวจเอกเพิ่มพูน กล่าวว่า ตนไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะถ้าหากลืมจริงจะตั้งฉายาให้ได้อย่างไรและต้องไม่ถูกพูดถึง แต่อย่างไรก็ตาม ก็ถือเป็นธรรมเนียมปฎิบัติทุกรัฐบาลจะต้องถูกตั้งฉายา โดยนโยบายต่างๆที่ผ่านมาอาจจะมีการชี้แจงกับผู้สื่อข่าวประจำศธ. มากกว่า ทำให้ภาคส่วนอื่นๆไม่ได้เห็นการทำงานด้านการศึกษา ดังนั้นจึงถือเป็นความผิดของตนเองที่ไม่ได้ชี้แจงประเด็นต่างๆกับผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้ขอฝาก ข้อคิด ว่า คำพูดสู้การกระทำไม่ได้

“ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ”เผย ศธ.นำดิจิทัลจัดการเรียนการสอนได้ แต่อย่าทิ้งหัวใจของ Active Learning GPAS 5 Steps ที่เน้นให้เด็กคิดเอง ทำเอง คิดเป็น ทำเป็น

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะนำสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์มาใช้จัดการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมการเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime ว่า ตนไม่มีความรู้ในเรื่องการนำระบบดิจิทัลมาใช้ กับการเรียนการสอนแบบ Active Learning จะทำได้หรือไม่ ขนาดไหน ซึ่งก็อาจจะทำได้ก็ได้ เพราะการเรียนการสอนแบบ Active Learning GPAS 5 Steps จะต้องมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งทั้งครูและนักเรียนต้องใช้เทคโนโลยีเป็นเพื่อจะได้ก้าวทันโลก แต่หลักใหญ่คืออย่าทิ้งหัวใจของ Active Learning GPAS 5 Steps ที่เน้นให้เด็กคิดเอง ทำเอง คิดเป็น ทำเป็น มากกว่าครูสอน ซึ่งเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็อาจจะใช้ประโยชน์ได้ แต่ก็เกรงว่าการให้เด็กคิดเอง ทำเอง คิดเป็น ทำเป็น แล้วเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้จะทำให้ทิ้ง Active Learning เพราะเด็กจะไปเพลิดเพลินกับเทคโนโลยี ดังนั้นถ้าสามารถผสมผสานได้ก็ถือว่าดี แต่โดยส่วนตัวก็ยังไม่เชื่อมั่นว่าจะทำได้ เพราะไม่มีความรู้เรื่องนี้
ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ กล่าวว่า หัวใจของ Active Learning คือ ครูต้องมีความเข้าใจ ต้องมีการประสานระหว่างภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานต่าง ๆ ในการส่งเด็กไปฝึกงาน ทดลองทำงาน และ จะต้องมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนโดยเป็นเพียงส่วนประกอบส่วนหนึ่ง เพราะเกรงว่าเมื่อนำเทคโนโลยีมาใช้แล้วจะทิ้ง Active Learning หากเป็นจริงก็น่าเสียดาย Active Learning สามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้ดิจิทัล แต่ก็ต้องยอมรับว่าโลกทุกวันนี้อยู่ในยุคคอมพิวเตอร์ยุคดิจิทัล รู้ไว้ก็ไม่เสียหายแต่จะเอามาใช้ถึงขนาดแจกแท็บเล็ตหรือซื้อแจกกันทุกโรงเรียน ให้เด็กทุกคนอาจจะสิ้นเปลือง ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าคุ้มหรือไม่ เพราะ Active Learning ไม่ได้เริ่มที่การซื้อเครื่องมือแต่เริ่มที่การเรียนการสอนเพื่อให้เข้าใจ GPAS 5 Steps ซึ่งไม่มีขั้นตอนที่เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี แต่ก็สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นส่วนประกอบได้

“การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ถ้าจะให้ประสบความสำเร็จ และยั่งยืน จะต้องไม่ใช่นโยบายกระทรวงศึกษาธิการอย่างเดียวแต่ต้องเป็นนโยบายของรัฐบาล แล้วมีการวางแผนตั้งแต่ระดับรัฐบาล มาถึงกระทรวงศึกษาธิการ และต่อไปถึงโรงเรียน สถานศึกษาต่าง ๆ แต่ผมไม่แน่ใจในนโยบายของรัฐบาลนี้ แต่ในอดีตรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับ Active Learning มาโดยตลอดตั้งแต่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นแกนหลักเรื่องนี้อยู่ และในสมัย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ก็มีการสานต่อ แต่มาถึงรัฐบาลนี้ไม่ทราบว่าได้มีการเดินหน้าต่อขนาดไหนเพียงใด” ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามความสำคัญหรือวิธีการในการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ให้ได้ผล คือ หลักสูตรจะต้องเอื้อต่อการใช้ Active Learning เป็นวิธีการเรียนการสอนได้ ซึ่งที่ผ่านมาใช้หลักสูตรอิงมาตรฐาน แต่ตอนหลังก็มีความพยายามที่จะเปลี่ยนเป็นฐานสมรรถนะ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน อย่างไรก็ตามเรื่องหลักสูตรมีการทะเลาะกันมาหลายรัฐบาลแล้ว ซึ่งเท่าที่สังเกต คือ ใครมาเป็นเจ้ากระทรวงศึกษาธิการก็จะมีคนสนับสนุนให้เปลี่ยนหลักสูตรอยู่เรื่อย เพราะเปลี่ยนหลักสูตรทีก็เปลี่ยนตำราที พ่อแม่ต้องเสียเงินเสียทองซื้อตำราใหม่ หนังสือพี่น้องใช้ต่อกันไม่ได้ แล้วรัฐก็มาทุ่มเงินซื้อแท็บเล็ตแจก ซึ่งมองว่าไม่ค่อยตรงเป้าหมายของ Active Learning เท่าไหร่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนนี้มีข่าวว่าจะมีการนำหลักสูตรฐานสมรรถนะมาเปลี่ยนชื่อ เพื่อไม่ให้เป็นคำว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะแต่เนื้อในคงเดิม ดร.วิษณุ กล่าวว่า ถ้าแค่เปลี่ยนชื่อก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่ถ้าเปลี่ยนชื่อแล้วเปลี่ยนเนื้อหาไส้ในด้วย ก็ควรจะกลับไปสู่หลักสูตรอิงมาตรฐานจึงจะถือว่าทำสำเร็จ เท่าที่ได้ยินตอนนี้มีการทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะที่จังหวัดเชียงใหม่ในโรงเรียนหลายแห่ง แต่หลักสูตรก็ยังไม่เสร็จ ตำราก็ยังไม่เสร็จ ซึ่งคิดว่าคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตามเชื่อว่ารัฐบาลมีคนที่แนะนำได้ดีอยู่แล้ว แต่ก็อยากให้นักวิชาการด้านการศึกษา ซึ่งรวมถึงทั้งคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ต่าง ๆ ให้คำแนะนำกระทรวงศึกษาธิการในเรื่อง Active Learning ด้วย และที่สำคัญที่สุดคือต้องอย่าดื้อถ้าได้รับคำแนะนำมาแล้ว ต้องเอาไปพิจารณาประกอบด้วย แต่ก็ต้องยอมรับว่า มากหมอก็มากความที่ปรึกษามีเยอะก็เลยออกมาคนละอย่าง ที่ยุ่ง ๆ อยู่ตอนนี้ก็ที่ปรึกษาทั้งนั้น

“ถ้า Active Learning เป็นนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลว่าจะเดินหน้าแน่ ก็เชื่อว่าจะต้องเดินหน้าได้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐมนตรีกี่คนก็จะยืนยงคงกระพัน ที่ผ่านมาเราเคยมีคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา มี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และมีงานวิจัยที่วิเคราะห์กันมาแล้ว เราก็น่าจะมีคณะกรรมการมาดูเรื่อง Active Learning หากได้นำมากลั่นกรองก็น่าจะทำประโยชน์ได้ แต่การที่กระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยก็เลยทำให้มีความไม่แน่นอน และยังมีการเอา Active Learning ไปผูกไว้กับคน พอคนเปลี่ยนนโยบายก็เปลี่ยน ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ควรเป็นอย่างนั้น ควรจะเอามาผูกไว้กับกระทรวง ผูกไว้กับหลักสูตรและครูอาจารย์มากกว่า” ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ กล่าว