หยอก หยอก วันที่ 24 ธันวาคม 2567 *** คำว่า “มิตรภาพ” มันไม่ได้สำคัญที่ว่าใครมาก่อน แต่มันสำคัญที่ว่าใครเข้ามาแล้ว ไม่เคยเดินจากไปในตอนที่เราลำบาก***ส่งท้ายก่อนสิ้นปีมะโรง งูใหญ่ 2567 ช่วงหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ อย่าเพิ่งลืมกันเด้อ *** พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ กับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยระยะเวลา 1 ปีเศษใน 2 รัฐบาล โดยมีนโยบายหลักซึ่งประกาศเดินหน้าตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง นั่นก็คือ “เรียนดี มีความสุข” ที่เน้นลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะ , ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่นด้วยความโปร่งใส , แก้ไขปัญหาหนี้สิน และ จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการสำหรับครู ขณะเดียวกันก็เร่งลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง เริ่มตั้งแต่ส่งเสริมการเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime , 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ, ระบบแนะแนวการเรียนและเป้าหมายชีวิต, การจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ, การจัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา, มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ และล่าสุด ก็เปิดตัวระบบย้ายครูคืนถิ่น (Teacher Matching System หรือ TMS) และระบบย้ายข้าราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (Teacher Rotation System หรือ TRS) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและตอบสนองความต้องการของบุคลากรทางการศึกษา ลดภาระครู นักเรียน และผู้ปกครอง…แต่การจะเดินไปถึงเป้าหมายได้ “บิ๊กอุ้ม” ได้ย้ำแนวทางการทำงานแบบมีส่วนร่วมด้วยคีย์เวิร์ด “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” ย้ำแล้วย้ำอีกย้ำทุกครั้งทุกอีเว้นต์ แต่ผลที่ออกมาดูแล้วก็น่าจะได้แค่ย้ำ …*** ปีนี้ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ตั้งฉายารัฐบาล รัฐมนตรี และวาทะแห่งปี ประจำปี 2567 กันไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งที่น่าสนใจสำหรับแวดวงการศึกษา คือ มีชื่อของ เสมา 1 “พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ” ติดโผ เป็น 1 ใน 3 กลุ่ม “รัฐมนตรีโลกลืม” กับเค้าด้วย ด้วยเหตุผลว่า คุมกระทรวงเกรดเอ แต่ผลงาน 3 เดือนในรัฐบาลกลับไม่เปรี้ยงแถมเงียบกริบ จนประชาชนเรียกหาให้สตาร์ทเครื่อง ตีปี๊บผลงาน รับศักราชใหม่ สลัดครหารัฐมนตรีโลกลืม … อยากจะขำดัง ๆ สื่อทำเนียบนี่ช่างสังเกตเอาเรื่องจริงมาพูดได้… จริง ๆ การจะตีปี๊บดังไม่ดังทีมงานก็ส่วนหนึ่ง แต่ตัวแหล่งข่าวก็มีส่วนสำคัญ ถึงแม้จะทำงานหนักขนาดไหน มีงานเยอะแยะมากมาย แต่ถ้าคิดว่าสื่อไม่ต้องเดี๋ยวทำส่งให้เอง ทำยังไงก็ไม่โดน ตียังไงก็ไม่ดัง นะจะบอกไห่ ***หรือว่าเป็นนิสัยที่ไม่ชอบคุยกับสื่อ เห็นแล้วเชิ้ดใส่หรือเปล่า ถึงได้ฉายา “รัฐมนตรีโลกลืม..อิอิอิ”…กลับมาปรับโหมดใหม่กันดีกว่า ***เป็นเรื่องอีกแล้วกับโครงการพิมพ์หนังสือแบบเรียนองค์การค้าของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.)ที่วันก่อนสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)ได้มอบรางวัล”ANTI-CORRUPTION AWARDS 2024″ ให้กับ น.ส.โชฏิมา จันทร์คง ผู้ดำเนินรายการสืบสวนความจริง เนชั่นทีวี 22 ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับสื่อต้านโกง รวมพลหยุดทุจริตคอร์รัปชั่น-สร้างธรรมาภิบาล ประจำปี 2567 ในชื่อตอน “เปิดโปง พิมพ์ตำราเรียนพันล้านส่อฮั้วประมูล” ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อพิรุธในการประกาศโครงการการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เปิดช่องส่อฮั้วประมูล รวมถึงชำแหละการใช้งบประมาณรัฐ ขององค์การค้าของ สกสค. กระทรวงศึกษาธิการ จนนำไปสู่การได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลสื่อต้านโกงจากคณะกรรมการหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และสื่อมวลชน ที่ใช้เกณฑ์การตัดสินพิจารณาการให้คะแนนในหัวข้อการนำเสนออย่างรอบด้านและเป็นธรรมส่งเสริมการต้านคอร์รัปชั่น โดยมี นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานรัฐสภา เป็นผู้มอบรางวัล***ขณะที่ข่าว 3 มิติก็ลงไปติดตามข่าวนี้อย่างต่อเนื่อง…เราก็คงต้องติดตามกันต่อไป *** ดูแล้วเรื่องนี้น่าจะเป็นซีรี่ย์เดิมพันกันยาว จะเดินหน้าพวกก็จ้องอุทธรณ์ จะถอยหลังเด็กก็ไม่มีหนังสือเรียน…เฮ้ออ…และยังแว่วมา ว่า สำนักงาน สกสค.ได้มีการประกาศ ประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2568 จำนวน 145 รายการ ด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์(e-bidding)เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2567 แล้ว แต่ก็ต้องยกเลิกประกาศฯไป เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 โดยให้เหตุผลว่า ราคากลางต่อรายการไม่ถูกต้อง และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการประกาศประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน…อีกเลย***เอ้าเกิดอะไรขึ้นน้อ….สุดท้ายก็ยังมีความรู้สึกเหมือนเดิมว่า กระทรวงศึกษาธิการ ตอนนี้เขาซุ่มทำอะไรกันอยู่…ใครไม่รู้..แต่ หยอก หยอก รู้…รอปีงูพิษ..โอ๊ะปีงูเล็ก ค่อยมาเล่าให้ฟังนะจ๊ะ นะจ๊ะ ***
พร้อมแล้ว“คุรุสภา” เปิดธีมงานวันครู ครั้งที่ 69 ปี 68 ยึดนโยบายเรียนดี มีความสุข
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567 ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า วันที่ 16 มกราคมของทุกปี เป็น “วันครู” สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ได้กำหนดจัดงานวันครู ครั้งที่ 69 พ.ศ.2568 ภายใต้หัวข้อ“เรียนดี มีความสุข : ครูไทยร่วมใจปฏิวัติการศึกษา สร้างเด็กฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” โดยจัดพร้อมกันทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ มีกิจกรรมที่หลากหลาย ในรูปแบบผสมผสานทั้ง Onsite และ Online เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งประชาชนทั่วไป ได้ร่วมกันระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์, ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครู และความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน ตลอดจนส่งเสริมยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ประกอบคุณงามความดี หรือทำคุณประโยชน์ต่อวงการศึกษาให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน และเป็นแบบอย่างให้เยาวชนรุ่นหลังได้ยึดถือปฏิบัติตาม
เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อไปว่า การจัดงานวันครูวันที่ 16 มกราคม 2568 ในส่วนกลาง ณ หอประชุมคุรุสภากระทรวงศึกษาธิการ ได้เรียนเชิญ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีงานวันครู มีการคารวะครูอาวุโสของนายกรัฐมนตรี โดยถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) และ Online ทางยูทูปและฟซบุ๊กแฟนเพจคุรุสภา กิจกรรมวันครูนั้น จะเริ่มตั้งแต่ภาคเช้า ในพิธีทำบุญตักบาตรวันครู พิธีบูชาบูรพาจารย์ และระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ มี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี จากนั้นมีพิธีมอบรางวัลของคุรุสภาและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้มีการปาฐกถาพิเศษ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ครั้งที่ 8 การเสวนาทางวิชาการ การอภิปรายเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พัฒนาคุณภาพการศึกษา และพัฒนาวิชาชีพครู ขณะที่การจัดงานในส่วนภูมิภาค มีการจัดกิจกรรมที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือ สถานที่ที่เหมาะสม และมีการจัดกิจกรรมสัปดาห์วันครู ระหว่างวันที่ 11-17 มกราคม 2568 ด้วย
“ สำหรับธีมงานวันครู พ.ศ. 2568 “เรียนดี มีความสุข : ครูไทยร่วมใจ ปฏิวัติการศึกษา สร้างเด็กฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” มีแนวคิดมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างเด็กที่ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ ผ่านการผสมผสานเทคโนโลยี ความร่วมมือของครู และบรรยากาศการเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยความสุข ความคิดสร้างสรรค์ และความก้าวหน้า เพื่ออนาคตที่ดียิ่งขึ้นของประเทศ ขอเชิญชวนทุกคนเข้าร่วมกิจกรรมวันครู ระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ส่งบัตรคารวะครูออนไลน์ และตักบาตรออนไลน์ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านการเสวนาทางวิชาการ ชมนิทรรศการวิชาการออนไลน์ของผู้ได้รับรางวัลของคุรุสภา และรางวัลอื่นๆ การอบรมผ่านหลักสูตรออนไลน์เพิ่มพูนสมรรถนะเพื่อการปฏิบัติงานของผู้ประกอบวิชาชีพ จำนวน 2หลักสูตร และบทเรียนจรรยาบรรณของวิชาชีพทางการศึกษา โดยติดตามรายละเอียดและเข้าร่วมได้ทาง http://wankru.ksp.or.thระหว่างวันที่ 15 มกราคม – 30 เมษายน 2568 หรือ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.ksp.or.th ” ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าว.
“วิทวัต” เปิดงานประชุมวิชาการ อวท.ภาคตะวันออกและกทม. สร้างผู้นำ เก่งทักษะ บ่มเพาะคนคุณภาพสู่โลกอนาคต
นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) มอบหมายให้ นายวิทวัต ปัญจมะวัต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธาน พิธีเปิดแบบสากลของงานประชุมวิชาการองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย (อวท.) ระดับภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 36 ประจำปีการศึกษา 2567 ณ วิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ทั้งนี้ นายวิทวัต กล่าวว่า งานประชุมวิชาการองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย (อวท.) ระดับภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 36 ประจำปีการศึกษา 2567 ครั้งนี้ ภายใต้คำขวัญ “เรียนเพื่อรู้สู่ปฏิบัติ มีสมรรถนะ อาชีวะบริการสร้างมาตรฐานชีวิต เศรษฐกิจสร้างสรรค์ยึดมั่นหลักพอเพียง เคียงสังคมสมดุลสู่ทุกรุ่นที่ยั่งยืน” โดย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ไม่เพียงพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนเก่ง แต่ยังส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีทักษะจำเป็น คือ ทักษะที่ดี ทักษะชีวิตที่ดี และมีสังคมที่ดี สามารถอยู่ในสังคมได้ การจัดงานในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงผลผลิตอาชีวศึกษา ที่สร้างผู้เรียนให้มีภาวะผู้นำ มีความสามารถ และสามารถนำทักษะความรู้ หรือประสบการณ์ที่ได้สามารถปรับใช้ และเมื่อจบการศึกษาออกไปแล้วมีความพร้อมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
“ผมขอฝากข้อคิด สำหรับน้อง ๆ อาชีวะที่เข้าสู่โลกอาชีพให้ระลึกถึงวันนี้ ในวัยเรียนที่เราได้มาพัฒนาการเรียนรู้ และทุกคนต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา และอีก 3 สิ่งที่ฝากไว้คือ ขอให้ทุกคน 1 รู้ลึกรู้จริงในสิ่งที่ทำ 2.มีมานะ พากเพียร อุตสาหะ และ 3 มีเพื่อน มีเครือข่าย connection ซึ่งงาน อวท. เป็นกิจกรรมที่พวกเรามารวมตัวกัน เป็นการสร้างสมประสบการณ์ และสร้างมิตรภาพความเป็นเพื่อนกัน โดยในครั้งนี้ เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของทุกส่วน คณะกรรมการจัดงาน นักเรียน นักศึกษา และภาคีเครือข่ายสถานประกอบที่ให้การสนับสนุน ใส่ใจ และให้ความสำคัญในการเรียนอาชีวศึกษามาโดยตลอด ความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการนั้นจึงมีความสำคัญและเป็นส่วนในการขับเคลื่อนและพัฒนาอาชีวศึกษาให้ก้าวต่อไป นับเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาอาชีวศึกษาไทย พร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน”รองเลขาธฺการ กอศ.กล่าว
สำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย สมาชิกองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย ระดับภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร ประจำปีการศึกษา 2567 และตัวแทนนักเรียน นักศึกษา เข้าแข่งขันทักษะวิชาชีพ ทักษะพื้นฐาน โดยมีกิจกรรมได้แก่ 1. การบรรยายความรู้ด้านวิชาการ แก่สมาชิกครูที่ปรึกษา และตัวแทนรองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากิจการนักเรียน นักศึกษา อวท. 2. การแข่งขันทักษะวิชาชีพ ทักษะพื้นฐาน จำนวน 102 ทักษะ 3. การประเมินอวท. ระดับภาคตะวันออกแลกรุงเทพมหานคร ประจำปีการศึกษา 2567 เพื่อจัดลำดับรับรองมาตรฐานสถานศึกษา ในการดำเนินงาน อวท. 4. การคัดเลือกสมาชิกดีเด่นภายใต้โครงการนิเทศ ระดับภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร ประจำปีการศึกษา 2567 เพื่อเชิดชูเกียรติของการดำเนินงาน อวท. และ 5. การเลือกตั้งคณะดำเนินงาน อวท. ระดับภาคตะวันออกและกทม.
ทั้งนี้ นายคมสัน ญาณวัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารจังหวัดปทุมธานี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี นายดำรงค์ สุดวิลัย ผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดปทุมธานี ว่าที่ร้อยเอก ดร.เชาวลิต ยุทธนาวา ประธานกรรมการบริหาร อวท. ภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการบริหาร อวท. ผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด คณะผู้บริหารสถานศึกษาคณะกรรมการดำเนินงาน คณะครู สมาชิก อวท. กว่า 1,000 คน เข้าร่วม
ฮอนด้าจัดแข่งทักษะขับขี่ปลอดภัยฮอนด้า อาชีวะ ระดับชาติ ครั้งที่ 5 สร้างทักษะขับขี่มอเตอร์ไซค์ถูกต้องปลอดภัย
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เป็นประธานเปิดการแข่งขันทักษะขับขี่ปลอดภัยฮอนด้า นักเรียนอาชีวศึกษา ระดับชาติ ครั้งที่ 5 ประจำปีการศึกษา 2567 พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณการรณรงค์ขับขี่ปลอดภัยในสถานศึกษาดีเด่นให้กับสถานศึกษา จำนวน 11 แห่ง โดยมี ดร.อารักษ์ พรประภา ประธาน บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด นายสุพจน์ พนธ์พงษ์ขจร ผู้จัดการทั่วไปส่วนงานส่งเสริมการขับขี่ปลอดภัย กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ผู้บริหาร ครู นักเรียน นักศึกษา เข้าร่วม ณ ศูนย์ฝึกขับขี่ปลอดภัยฮอนด้ากรุงเทพฯ (รามคำแหง) กรุงเทพมหานคร
นายยศพล กล่าวว่า การแข่งขันทักษะขับขี่ปลอดภัยฮอนด้า ระดับชาติ ครั้งที่ 5 ประจำปีการศึกษา 2567 ในวันนี้ถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่ช่วยส่งเสริมทักษะการขับขี่ปลอดภัยและสร้างวัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนนอย่างมีความรับผิดชอบ ปัจจุบันการใช้รถใช้ถนนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนไทย ในปัจจุบันสถิติอุบัติเหตุทางถนนยังคงสูงอยู่ในระดับที่น่ากังวลโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ขับขี่ที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากยังขาดประสบการณ์ ความรู้ด้านขับขี่ที่ปลอดภัย และการตระหนักถึงผลกระทบของพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่เหมาะสม การจัดกิจกรรมการแข่งขันทักษะขับขี่ปลอดภัยในครั้งนี้จึงมีบทบาทสำคัญ ไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาทักษะการขับขี่แต่ยังปลูกฝังจิตสำนึกและวินัยในตนเองกิจกรรมการแข่งขันทักษะขับขี่ปลอดภัยฮอนด้า คือ หนึ่งในกิจกรรมที่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับ บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด จัดขึ้นภายใต้โครงการ หนึ่งร้านสร้างสรรค์ หนึ่งสถาบันสร้างสังคม (One Dealer One College) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมทักษะขับขี่รถจักรยานยนต์ อย่างถูกต้องและปลอดภัย พร้อมสร้างความตระหนักรู้ในการป้องกันอุบัติเหตุและลดการบาดเจ็บทางถนน ให้กับนักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากรในสังกัด สอศ.
เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อไปว่า การแข่งขันทักษะขับขี่ปลอดภัยฮอนด้า ระดับภาค จำนวน 5 ภาค ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ได้แข่งขันเสร็จสิ้นลงแล้วซึ่งสามารถดำเนินการสำเร็จลุล่วง ตรงตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรมเป็นอย่างดี จึงทำให้เกิดการแข่งขันทักษะขับขี่ปลอดภัยฮอนด้า ระดับชาติ ขึ้นในวันนี้ เชื่อมั่นว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างทักษะการขับขี่ปลอดภัย ให้กับนักเรียน นักศึกษา สร้างความตระหนักรู้ และปลูกฝั่งจิตสำนึกการขับขี่ที่ปลอดภัย และสร้างพฤติกรรมการขับขี่ที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสุดกับนักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากรทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะส่งต่อความรู้และทักษะที่ได้รับให้กับคนรอบข้าง ตลอดจนชุมชนคนในสังคม ดังนั้น กิจกรรมนี้คือโอกาสในการสร้างรากฐานวัฒนธรรมความปลอดภัยที่ยั่งยืนในสังคม เพื่อร่วมสร้างวัฒนธรรมการขับขี่ที่ถูกต้อง ร่วมกันสร้างสังคมที่ปลอดภัยให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป
ด้าน นายสุพจน์ พนธ์พงษ์ขจร ผู้จัดการทั่วไปส่วนงานส่งเสริมการขับขี่ปลอดภัย บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด กล่าวว่า การส่งเสริมการขับขี่ปลอดภัย คือส่วนหนึ่งในการรับผิดชอบต่อสังคมไทย ของทางไทยฮอนด้า บริษัท จึงได้ริเริ่ม ดำเนินกิจกรรมเผยแพร่ ความรู้ขับขี่ปลอดภัย สู่สังคมไทย มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็น เวลากว่า 35 ปี ซึ่งเป้าหมาย ที่สำคัญที่สุด ของบริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด นัน คือ พยายามที่จะลด สถิติอุบัติเหตุ บนท้องถนน พร้อมควบคู่ไปกับ การสร้างวัฒนธรรม การขับขี่ ปลอดภัยไปพร้อมๆกัน และพร้อมจะมุ่งหน้า สู่เส้นทางความปลอดภัย อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อคนไทย ทุกคน สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมแข่งขัน ที่ผ่านการ
คัดเลือกระดับภาคทั้ง 5 ภาค มาแล้วนั้น ซึ่งจะมีรุ่นครู 48 คน นักเรียนชาย 43 คน และนักเรียนหญิง 43 คน จากสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะการขับขี่ปลอดภัย รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะได้ เผยแพร่ความรู้ การขับขี่สังคม อย่างมี ประสิทธิภาพสูงสุด
คุรุสภา จับมือ 3 องค์กร ส่งเสริมความฉลาดรู้ทางการเงิน นิสิตนักศึกษาครู และบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการโครงการส่งเสริมการศึกษาวิจัยและพัฒนาการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับความฉลาดรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ระหว่าง สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ กับ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และมูลนิธิจูเนียร์อะชีฟเมนท์แห่งประเทศไทย โดย พลตํารวจเอก เพิ่มพูน กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีความมุ่งหมายให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ จึงให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาศักยภาพคน เพราะการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพจะทำให้มนุษย์เข้าสู่การพัฒนาและเติมเต็มศักยภาพสูงสุดในทุกด้าน ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมพัฒนาให้นิสิตนักศึกษาครู ครู และบุคลากรทางการศึกษา มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความฉลาดรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) สามารถนำความรู้ความเข้าใจไปจัดกระบวนการเรียนการสอนในชั้นเรียนให้เกิดเป็นทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริงของผู้เรียน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การสร้างความฉลาดรู้ทางการเงิน เป็นทักษะหนึ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ซึ่งเป็นหลักการภายใต้นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ ถือเป็นแนวคิดทางการศึกษาที่มีความสำคัญในการปลูกฝังและให้ความรู้ด้านการเงินกับผู้เรียน ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ชั้นเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา เพราะทักษะด้านการเงินนี้จะติดตัวผู้เรียนตลอดไป และไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใด หรือพบเจอกับสถานการณ์ใดก็สามารถนำทักษะและความรู้เท่าทันทางการเงินนี้มาใช้ได้ตลอดชีวิต นับเป็นสมรรถนะที่สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลก และสังคม ในปัจจุบันและอนาคต
“ต้องขอบคุณ 3 องค์กรหลักที่เห็นถึงความสำคัญและเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ในการพัฒนาขีดความสามารถของครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความฉลาดรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มุ่งผลลัพธ์ต่อผู้เรียน โดยการถ่ายทอดความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ทำให้สามารถตัดสินใจด้านทรัพยากรการเงินได้อย่างถูกต้องและมีความรอบรู้ นับเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้นักเรียนทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง” พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อว่า สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา โดยสถาบันคุรุพัฒนา ได้ดำเนินงานโครงการส่งเสริมการศึกษาวิจัยและพัฒนาการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับความรู้ทางการเงิน เพื่อส่งเสริมการศึกษา วิจัยและค้นคว้าแนวทางในการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับความฉลาดรู้ทางการเงิน หรือ Financial Literacy การพัฒนานิสิตนักศึกษาครู ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์ และบุคลากรทางการศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจกิจกรรมการเรียนการสอนเกี่ยวกับความฉลาดรู้ทางการเงิน และสามารถนำไปถ่ายทอดต่อยังผู้เรียนจนเกิดเป็นแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ในชุมชนทางการศึกษานั้น ๆ โดยมีกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมทั้ง ครูและบุคลากรทางการศึกษา นิสิตนักศึกษาครู และคณาจารย์ในสถาบันผลิตครู ซึ่งเป็นการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ
“การดำเนินงานในระยะเริ่มแรกจะมุ่งเน้นไปการพัฒนาสมรรถนะในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยเฉพาะการพัฒนานักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานผ่านกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาจรรยาบรรณวิชาชีพผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Ethics in Professional Learning Community : E-PLC) ให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจและมีสมรรถนะในเรื่องการเงิน คณิตศาสตร์ การวางแผน และความสามารถในด้านการวิเคราะห์ ให้เกิดกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ และสามารถจัดการเรื่องการเงินทั้งในชีวิตประจำวันและอนาคตได้ นอกจากนี้ คุรุสภายังให้ความสำคัญกับผู้เตรียมเข้าสู่วิชาชีพครู ซึ่งจะส่งเสริมให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความฉลาดรู้ทางการเงิน เพื่อให้มีเจตคติและพฤติกรรมทางการเงิน ภายใต้บริบททางการเงินในระดับบุคคลที่เหมาะสมและสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปจัดกระบวนการเรียนการสอนในชั้นเรียนได้ โดยมุ่งหวังว่าจะสร้างครูยุคใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถที่ก้าวทันการพัฒนาของเศรษฐกิจและสังคม” เลขาธิการคุรุสภากล่าว
“เสมา 1” ห่วงใยผู้ประสบภัยจากสภาพอากาศแปรปรวนเหนือจรดใต้ ทั้งลมหนาวและน้ำท่วมหลายพื้นที่ สั่งหน่วยงานในสังกัดดูแลความปลอดภัยเด็กและบุคลากรการศึกษาเต็มที่
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีความห่วงใยหน่วยงานและสถานศึกษาทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวนฉับพลันที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะช่วงตอนบนในประเทศไทยที่ประสบอากาศหนาวเย็น และภาคใต้ที่เกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่ กระทรวงศึกษาธิการจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในยามที่เกิดภัยธรรมชาติทุกรูปแบบ การช่วยเหลือและการให้กำลังใจแก่ผู้ประสบภัยเป็นสิ่งสำคัญ และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่และทุกภาคส่วนที่ร่วมแรงร่วมใจทำงานหนักในการฟื้นฟูเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย ทุกความช่วยเหลือเป็นเรื่องดีเกิดขึ้น ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองมาเป็นอันดับแรก เพราะภัยจากธรรมชาติเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าเราวางมาตรการป้องกันล่วงหน้าเราจะรับมือได้มากขึ้น
สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ที่เกิดขึ้นล่าสุด รมว.ศึกษาธิการได้เน้นย้ำให้สถานศึกษาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานท้องถิ่น โดยเฉพาะการดูแลความปลอดภัยของนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษา โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( สพฐ.)ได้แจ้งไปยังผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้ช่วยเหลือดูแลโรงเรียนในพื้นที่น้ำท่วมหนัก ซึ่งมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลืออุทกภัยภาคใต้ มีการจัดส่งถุงยังชีพ การจัดสรรเงินช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้น รวมถึงให้สถานศึกษาที่มีความพร้อมเปิดเป็นแหล่งพักพิงให้ผู้เดือดร้อนในพื้นที่ ประสานงานกับทุกภาคส่วนในจังหวัดให้ความร่วมมือดูแลผู้ประสบภัย และหลังจากน้ำลดแล้วก็จะมีทีมฟื้นฟูลงไปช่วยเหลือเยียวยา เพื่อให้โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ
”ไม่ใช่เพียงภาคใต้ที่เจอกับภัยพิบัติที่หนักหน่วง แต่พื้นที่อื่นที่กำลังพบกับอากาศหนาวก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน โดยเฉพาะโซนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ที่มีมวลอากาศเย็นกว่าพื้นที่อื่นเป็นพิเศษ ฝากดูแลในเรื่องของสุขภาพ โรคติดต่อหน้าหนาวที่กลับมาได้ตลอดเวลา เช่น โรคไข้หวัดและโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ อาจรุนแรงจนถึงชั้นเสียชีวิตได้ ยิ่งผู้เรียนที่เป็นเด็กเล็กต้องระวังเป็นพิเศษ ควรหมั่นดูแลสุขภาพเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง หากผู้เรียนมีอาการ ไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก เป็นกลุ่มใหญ่ให้โรงเรียนดูมาตรการความปลอดภัยด้านโรคระบาดด้วย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายในวงกว้าง”โฆษกศธ.กล่าวและว่ากระทรวงศึกษาธิการจะคอยติดตามทุกสถานการณ์เพื่อความปลอดภัยของผู้เรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา และขอส่งกำลังใจให้ทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันในการช่วยเหลือและดูแลหน่วยงานและสถานศึกษาในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้อย่างปลอดภัยและเกิดผลกระทบให้น้อยที่สุด
ศธ.ดีลเซ็นทรัล เปิดเวทีสร้างสรรค์ให้เด็กไทยโชว์ “เรียนดี มีความสุข สู่อนาคตที่สดใส” ในศูนย์การค้าเซ็นทรัล-โรบินสันทั่วประเทศ
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงนามความร่วมมือกับกลุ่มบริษัทเซ็นทรัล และเซ็นทรัลพัฒนา เปิดพื้นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล และโรบินสันทั่วประเทศ ให้เป็นเวทีแสดงศักยภาพและการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา ในการจัดกิจกรรมทุกมิติอย่างสร้างสรรค์ภายใต้แนวคิด “เปิดโลก เปิดเวที เปิดประสบการณ์ และเปิดเส้นทางอาชีพ” เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เริ่มต้นก้าวสำคัญสร้างเครือข่ายภาคเอกชน เสริมระบบนิเวศการศึกษาที่แข็งแกร่งตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข”
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานและร่วมเป็นสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “เรียนดี มีความสุข สู่อนาคตที่สดใส” พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทเซ็นทรัล และนางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แทนลงนาม ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวว่า นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เป็นสิ่งที่ยกระดับคุณภาพการศึกษา ให้เกิดการเรียนรู้จนมีทักษะที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริง มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เข้าถึงโอกาส อย่างทั่วถึงเท่าเทียม ภายใต้หลักการ “การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต” ตามแนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ที่สร้างความเป็นหนึ่งเดียวภายใต้อุดมการณ์ “MOE One Team”ที่ผ่านมา ศธ.ได้รับความร่วมมือจากบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ในการให้ความสำคัญด้านการศึกษาอย่างดีเสมอมา และในช่วงเวลาเทศกาลแห่งความสุขปีนี้ยังได้รับการสนับสนุน โดยเปิดพื้นที่ในศูนย์การค้าเซ็นทรัล และโรบินสัน ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นเวทีให้นักเรียน นักศึกษา ได้แสดงศักยภาพและทักษะ ทั้งด้านวิชาการ วิชาชีพ และการแสดงออกในทุกมิติอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิด “เปิดโลก เปิดเวที เปิดประสบการณ์ และเปิดเส้นทางอาชีพ” ขอขอบคุณกลุ่มบริษัทเซ็นทรัล และบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ที่ได้ร่วมกันส่งเสริมผลักดันศักยภาพผู้เรียน อย่างสร้างสรรค์ผ่านการลงมือทำจริง สร้างโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติ ถือเป็นการเริ่มต้นก้าวสำคัญในการสร้างเครือข่ายการศึกษาที่แข็งแกร่งเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน ศธ.และพันธมิตรจะก้าวไปด้วยกัน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล สร้างความแข็งแกร่งให้กับนักเรียนนักศึกษาทุกระดับ สร้างชาติที่มั่นคง สร้างโอกาสที่มั่งคั่ง สร้างความเท่าเทียมอย่างยั่งยืน เพื่อให้ผู้เรียน เรียนดี มีความสุข
ดร.สุเทพ กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ ถือเป็นมิติของความร่วมมือที่สำคัญในการสร้างระบบนิเวศทางการศึกษา ผ่านความร่วมมือระหว่าง ศธ.และภาคเอกชน เพื่อสร้างโอกาส เปิดโลกทัศน์ให้กับนักเรียน นักศึกษา โดยสนับสนุนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ฝึกทักษะ ประสบการณ์ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ และเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืน และสนับสนุนกิจกรรมเพื่อประชาชนทุกคน โดยจะมีเวทีสร้างโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ได้เรียนรู้อย่างมีความสุขและสร้างสรรค์ สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านการลงมือทำจริง โดยความร่วมมือในการดำเนินโครงการ ทั้งด้านวิชาการ ด้านวิชาชีพ และด้านทักษะ การแสดงออกในทุกมิติ ของนักเรียน นักศึกษา การส่งเสริมและสนับสนุนการเผยแพร่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมไปถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมทางการศึกษา สร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน เพื่อให้ได้เรียนรู้และแสดงออกผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อย่างหลากหลาย
“ความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาการศึกษา สร้างสังคมให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน เป็นการสะท้อนผลการเรียนรู้นวัตกรรมทางการศึกษา สร้างแรงบันดาลใจและทัศนคติที่ดี รวมถึงประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับนักเรียนนักศึกษา เพิ่มการมีส่วนร่วม สร้างภาคีเครือข่าย และการยกระดับความร่วมมือในทุกมิติ ขอให้พวกเราทุกคนร่วมมือกันสร้างกิจกรรมดี ๆ ให้สามารถเรียนรู้ในบรรยากาศที่สนุกสนานและเป็นมิตร เอื้อต่อการเรียนรู้นอกห้องเรียน ทำให้น้อง ๆ มีความสุขกับการเรียน เกิดแรงบันดาลใจ เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ เสริมสร้างความพร้อมในการเติบโตเป็นอนาคตที่ดีและเก่งของชาติต่อไป”ปลัดศธ.กล่าว
นางสาววัลยา กล่าวว่า เซ็นทรัลพัฒนา มุ่งมั่นในการพัฒนา “ศูนย์กลางการใช้ชีวิต” และเป็น “พื้นที่” ที่จะอำนวยประโยชน์ให้กับทุกภาคส่วน โดยที่ผ่านมาเราพร้อมสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง สำหรับการสนับสนุนพื้นที่ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลทั่วประเทศ เพื่อจัดกิจกรรมด้านการศึกษา ในโครงการ “เรียนดี มีความสุข สู่อนาคตที่สดใส” มีจุดประสงค์สำคัญเพื่อเปิดโอกาสและเปิดโลกทัศน์ ด้วยกิจกรรม 4 รูปแบบ ได้แก่ 1) เปิดเวที ให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพ เช่น การแสดงดนตรีในช่วงเทศกาลที่สำคัญอย่างเช่น เทศกาลคริสต์มาส รวมถึงเวทีการประกวดต่างๆ และสนับสนุนการจัดงานวันอาชีวะ 2) เปิดโลก ฉายภาพยนตร์รอบพิเศษให้แก่นักเรียนกลุ่มพิเศษ เพื่อเปิดมุมมองและสร้างแรงบันดาลใจ 3) เปิดประสบการณ์ เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้ทดลองลงสนามจริง เพิ่มพูนประสบการณ์ชีวิต ทั้งการทดลองงานทั้งขายสินค้าและบริการต่างๆ รวมถึงการแข่งขัน โชว์ผลงาน และการแสดงความสามารถพิเศษ และ 4) เปิดเส้นทางอาชีพ ให้โอกาสได้ทดลองทำงานจริง มีรายได้ เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน
“การร่วมมือในโครงการทั้งหมดนี้ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “Imagining better futures for all” ด้วยความมุ่งมั่นของเซ็นทรัลพัฒนาที่จะเป็นพื้นที่แห่งโอกาส ร่วมสร้างสรรค์อนาคตที่ดีและยั่งยืนให้แก่ผู้คนและเยาวชนในรุ่นต่อๆ ไป ซึ่งจะเติบโตเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของประเทศ ขอขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการและพันธมิตรทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมมือกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะได้มีโอกาสต่อยอดกิจกรรมดีๆ ร่วมกันต่อไป”นางสาววัลยา กล่าว
ด้าน นายพิชัย กล่าวว่า ในนามเซ็นทรัลพัฒนา และบริษัทในเครือกลุ่มเซ็นทรัล ได้ร่วมสนับสนุนโครงการ “เรียนดี มีความสุข ก้าวสู่อนาคตที่สดใส” ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและพันธมิตรทุกภาคส่วน ผ่าน “เซ็นทรัล ทำ” (Central Tham) โครงการพัฒนาด้านความยั่งยืนของกลุ่มเซ็นทรัล ภายใต้ความร่วมมือกับชุมชน คู่ค้า ลูกค้า พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยใช้ศักยภาพและความเชี่ยวชาญของกลุ่มบริษัทในเครือกลุ่มเซ็นทรัล ในการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Values) หรือ CSV เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสสร้างอาชีพให้คนพิการ นำความเจริญและส่งเสริมความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดีขึ้น มุ่งเน้นการเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ การส่งเสริมด้านทางการศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานในการพัฒนาคน พัฒนาประเทศ เป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของเรา มีเป้าหมายสำคัญในการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา พัฒนาความรู้ ส่งเสริมการสร้างรายได้ผ่านโครงการเศรษฐกิจพอเพียง และอาชีพที่มั่นคงให้แก่เด็กและเยาวชน ซึ่งที่ผ่านมาเราได้เริ่มยกระดับเป็นโรงเรียนให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้” ซึ่งแบ่งเป็นหลักสูตรต่างๆ ที่จะช่วยให้เยาวชนไทยนำความรู้ ความสามารถไปต่อยอด เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าได้ ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้ กลุ่มเซ็นทรัลมุ่งมั่นนำความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ของเรามาร่วมพัฒนาการจัดกิจกรรม การเปิดพื้นที่ รวมถึงการสร้างสรรค์ประสบการณ์ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทย ได้มีโอกาสค้นพบทักษะและความสามารถของตนเอง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความมุ่งมั่นของเราในการ “ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ” จะเป็นกุญแจที่เปิดประตูสู่อนาคตที่สดใสและยั่งยืนสำหรับเด็กและเยาวชนไทย
ในความร่วมมือในครั้งนี้ มีผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารในเครือเซ็นทรัลฯร่วมพิธีและเป็นสักขีพยานจำนวนมาก
ศธ.ตื่นตัวค้นหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา “ชูบุรีรัมย์โมเดล”ต้นแบบพื้นที่อื่น ๆ
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนโครงการ Thailand Zero Dropout แก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาและเด็กตกหล่น นั้น ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ตนได้มอบหมายให้ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานคณะทำงานดำเนินการ และให้สภาการศึกษาเป็นฝ่ายเลขานุการ ขับเคลื่อนทุกมิติ ขณะเดียวกันก็ได้มอบหมายให้นายเอกราช ชวีวัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.)ลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อสั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดและสถานศึกษาในสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.)ดำเนินการสำรวจเด็กและเยาวชนอายุ 6- 15 ปีที่หลุดจากระบบการศึกษา ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและวางแนวทางในการแก้ปัญหา โดยมีคณะทำงานจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาร่วมดำเนินการ มีการทำโฟกัสกรุ๊ปร่วมกับภาคีเครือข่ายที่จัดการศึกษาในจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเขตพื้นที่การศึกษา ศูนย์การศึกษาพิเศษ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เป็นต้น และวันนี้ สกร.ก็ได้สรุปเป็น Buriram Zero Dropout Model (BZDM)ครบถ้วนรายงานมาที่ตน เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานของพื้นที่อื่น ๆ ต่อไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์อีกครั้ง ตนขอให้สกร.ลงพื้นที่ต่อเนื่องอีก 15 วัน เพื่อเชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่นในการช่วยเหลือเพื่อให้เกิดzero dropout อย่างแท้จริง
ด้าน รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า มติบอร์ด สกศ. ได้เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา แล้ว ซึ่งเป้าหมายของร่างยุทธศาสตร์ฯดังกล่าว คือการลดจำนวนเด็กหลุดออกนอกระบบให้เป็นศูนย์” ภายในปี 2570 ภายใต้ยุทธศาสตร์ค้นหาและติดตาม มีมาตรการแก้ไข และพัฒนากลไกสนับสนุน ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ และขั้นตอนต่อไปก็จะทำเป็นคู่มือการแก้ปัญหาที่จะกระจายออกไปทุกพื้นที่ให้ทำงานเป็นระบบเดียวกัน ทั้งนี้จากการรายงานของ สกร.ที่ทำเป็น Buriram Zero Dropout Model เป็นข้อมูลที่ดีมาก และข้อมูลลดลงจากตัวเลขกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ระบุไว้ อย่างไรก็ตาม ทราบว่าทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น สกร.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา การศึกษาเอกชน มีการติดตามเด็กแบบเรียวไทม์ ตัดยอดทุกวัน มีการตามตัวกลับเข้ามาเรียน และส่งต่อ และรายงานมาที่ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จากนั้น สภาการศึกษาก็จะมาทำเป็นคู่มือเพื่อให้แต่ละจังหวัดไปดำเนินการตามคู่มือ เพราะเราได้ถอดบทเรียนจากบุรีรัมย์โมเดลที่ตามเด็กได้ครบ 100% แล้ว
“บุรีรัมย์2”ค้นหาเด็ก Dropout ครบ100%แล้ว “ธนุ”รับรายงานสถานศึกษา10จังหวัดภาคใต้น้ำท่วม1,733 แห่ง สั่งเยียวยาเบื้องต้นมอบถุงยังชีพ
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ว่า ในการประชุมผู้บริหาร สพฐ. ตนได้กำชับไปยังเขตพื้นที่การศึกษาให้ดูแลช่วยเหลือโรงเรียนในภาคใต้ที่ประสบปัญหาอุทกภัยน้ำท่วม ซึ่งจากการรายงานพบว่าโรงเรียนที่ประสบปัญหาที่เกิดจากอุทกภัยน้ำท่วม จำนวน 1733 โรงเรียน ใน 10 จังหวัด 29 เขตพื้นที่การศึกษา รวมถึงโรงเรียนในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษด้วย ซึ่งตนได้สั่งการไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เยียวยาในเบื้องต้น โดยการจัดถุงยังชีพให้กับนักเรียนและครูที่ประสบปัญหาอุทกภัย ซึ่งบางพื้นที่น้ำท่วมมิดหลังคาเรือนและถือว่าเป็นรอบที่สามของภาคใต้ที่ท่วมหนักมากในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังเน้นย้ำให้สถานศึกษาเปิดเป็นแหล่งพักพิงให้กับชาวบ้าน ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ที่เดือดร้อนเข้ามาพักอาศัยได้ พร้อมกันนี้ก็ขอให้ประสานงานกับทุกภาคส่วนในจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้นำท้องถิ่นให้ความร่วมมือและดูแลช่วยเหลือ ทั้งนี้หลังจากน้ำลดแล้วก็จะมีทีมงานลงไปดูแลเยียวยาช่วยเหลือแก้ไข เพื่อให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับ โครงการ Thailand Zero Dropout แก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาและเด็กตกหล่น ของสพฐ.ตนได้รับรายงานจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)บุรีรัมย์ เขต2 ยืนยันว่าได้ติดตามเด็กครบถ้วน 100% แล้ว ซึ่งถือเป็นตัวอย่างเป็นต้นแบบให้กับเขตพื้นที่ฯอื่น ๆ ได้เร่งรัดดำเนินการ ซึ่งทุกเขตพื้นที่กำลังดำเนินการกันอย่างเข้มข้นเพื่อให้เด็กทุกคนได้กลับเข้ามาสู่ระบบ ของ สพฐ.ที่กำหนดให้เป็น Obec Zero Dropout พาน้องกลับมาเรียน ถ้าน้องไม่กลับมาเรียน ก็ให้นำการเรียนไปให้น้อง ซึ่งทุกเขตพื้นที่กำลังสำรวจข้อมูลและดำเนินการลงพื้นที่กันอย่างเข้มข้น
ศธ. เปิดตัวระบบTRS ย้ายครูออนไลน์ทุกกรณี แก้ปัญหาทุจริตโยกย้ายไม่เป็นธรรม “เพิ่มพูน”การันตี ความโปร่งใส ยุติธรรม ขณะที่ เลขาธิการ กพฐ.กำชับทุกเขตพื้นที่ฯแจ้งครูให้ทำความเข้าใจระบบTRS
ตามที่ กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายในการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา สามารถโยกย้ายกลับภูมิลำเนาด้วยความเป็นธรรม โปร่งใส ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน ประกอบกับยุทธศาสตร์ชาติกำหนดให้มีการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี ระบบการทำงานที่เป็นดิจิทัลเข้ามาใช้ในการปฏิบัติงาน เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นไปด้วยความเป็นธรรม โปร่งใส และมีประสิทธิภาพเป็นมาตรฐานเดียวกัน นั้น
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)แถลงข่าวเปิดตัวระบบการย้ายข้าราชการครู Teacher Rotation System (TRS)ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ทั้งนี้ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวว่า เป็นที่ทราบและเข้าใจกันว่าความสุขของครูจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าการขอย้ายไม่สามารถกลับสู่ภูมิลำเนาอยู่กับครอบครัวได้ และวันนี้ ระบบ TRS ก็ได้ดำเนินการประสบความสำเร็จกว่า 90% แล้ว โดยครูสามารถย้ายผ่านระบบTRSได้ ในเดือนมกราคมนี้ และเชื่อว่าระบบการย้ายนี้จะมีความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ เพื่อมอบให้เป็นของขวัญปีใหม่ และเป็นของขวัญวันครู แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ
“ เป็นเวลา 1 ปีแล้ว ที่ผมได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)ไปจับคู่ทำระบบครูคืนถิ่นโดยมีเป้าหมายสำคัญในการอำนวยความสะดวกให้กับครูที่ต้องการขอย้ายกลับไปสอนยังภูมิลำเนาของตนเอง และสามารถดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ได้โดยไม่ต้องเดินทางมายื่นคำร้อง ขอย้ายที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือหน่วยงานราชการ ซึ่งจะสร้างความสุขให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่อยากกลับบ้าน”รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า การจัดทำระบบ TRS หรือ ระบบย้ายข้าราชการครูสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเต็มรูปแบบ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลจากระบบทะเบียนประวัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผ่านระบบประเมินวิทยฐานะดิจิทัลและระบบบริหารจัดการข้าราชการครูฯโดยจากนี้การย้ายทุกกรณีจะผ่านระบบ TRS เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีการย้ายปกติ การย้ายสับเปลี่ยน การย้ายกรณีพิเศษและกรณีเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ซึ่งสถานศึกษาที่รับย้ายต้องมีอัตรากำลังสายงานการสอนในภาพรวมตามเกณฑ์ ก.ค.ศ.กำหนดและเป็นตำแหน่งที่ไม่ติดเงื่อนไขใด ๆ
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวต่อไปว่า ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่สำนักงาน ก.ค.ศ. กระทรวงศึกษาธิการ มุ่งมั่นและตั้งใจที่จะพลิกโฉมการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ดำเนินการย้าย ซึ่งจะลดภาระการจัดทำเอกสารคำร้องขอย้าย ลดภาระงานธุรการเจ้าหน้าที่ ลดภาระงบประมาณและค่าใช้จ่ายในการจัดทำเอกสารประกอบการพิจารณา สามารถยื่นขอย้ายได้ทุกที่ทุกเวลาไม่เว้นวันหยุดราชการ และที่สำคัญครู ยังสามารถตรวจสอบมติการย้ายผ่านระบบ TRS เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ ปิดช่องทางการรับผลประโยชน์ ท้ายสุดก็จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายและสร้างขวัญกำลังใจให้กับครูสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างต่อเนื่องและส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียนและคุณภาพของการจัดการการศึกษา ตามนโยบายเรียนดี มีความสุข
รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวเพิ่มเติมว่าระบบการย้ายข้าราชการครู Teacher Rotation System (TRS) เป็นระบบที่พัฒนาต่อยอดมาจากระบบจับคู่ครูคืนถิ่น Teacher Matching System (TMS) ซึ่งเป็นระบบที่รองรับเฉพาะการย้ายสับเปลี่ยน โดยสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้นำร่องเปิดใช้งานไปแล้ว 2 รอบ ในช่วงการย้ายประจำปี 2567 และได้รับผลตอบรับในทิศทางที่ดีโดยเฉพาะในเรื่องการช่วยลดขั้นตอนการดำเนินการย้าย ลดภาระงานด้านเอกสาร เพิ่มความสะดวกให้ครูในการดำเนินการย้าย อีกทั้งยังช่วยลดช่องว่างในการทุจริตระหว่างกระบวนการขอย้าย สำหรับระบบ TRS จะเชื่อมโยงข้อมูลของคุณครูจากระบบทะเบียนประวัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (HRMS) ระบบประเมินวิทยฐานะดิจิทัล (DPA) และระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) เพื่อให้เกิดการบูรณาการฐานข้อมูล และเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน โดยต่อไปคุณครูที่ต้องการขอย้าย ทั้งกรณีปกติ กรณีพิเศษ และกรณีเพื่อประโยชน์ของทางราชการ จะต้องดำเนินการผ่านระบบ TRS เท่านั้น ซึ่งขณะนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานระบบ TRS เรียบร้อยแล้ว และกระบวนการต่อจากนี้ทางสำนักงาน จะเร่งดำเนินการชี้แจง เพื่อให้ทางสำนักงานเขต/ส่วนราชการ ได้เข้าใจในทิศทางเดียวกันก่อนที่จะเปิดให้คุณครูได้ยื่นคำร้องขอย้ายในวันที่ 16 มกราคม 2568 ที่จะถึงนี้ ผ่านเว็บไซต์ https://trs.otepc.go.th ถือเป็นของขวัญวันครูที่กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้มอบให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในปี 2568 และมั่นใจว่าจะช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงสร้างความโปร่งใส เป็นธรรมในกระบวนการย้ายได้อย่างเป็นรูปธรรม
ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการรการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า ในการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ตนได้เน้นย้ำและกำชับเขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียน ถึงการนำระบบการย้าย TRSมาใช้ โดยให้ทุกเขตพื้นที่นำไปปฏิบัติ ให้เตรียมบุคลากรเตรียมเจ้าหน้าที่ที่จะรองรับในเรื่องของระบบนี้ เพื่อให้การย้ายเป็นไปตามนโยบายลดภาระครูของกระทรวงศึกษาธิการ ให้ครูย้ายคืนถิ่นด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม โดยให้เขตพื้นที่ฯ สถานศึกษาแจ้งให้ครูทุกคนทราบว่าเรามีระบบ TRS เพื่อขอย้าย และขอให้ครูที่ประสงค์จะย้ายให้เรียนรู้ในการใช้ระบบส่งต่อ การนำผลไปใช้ อยู่ที่ไหนก็สามารถยื่นคำร้องได้ไม่ต้องเดินทางไปที่เขตพื้นที่ฯ โดยเฉพาะโรงเรียนที่ห่างไกลจากเขตพื้นที่ฯ เป็น 100 ๆ กิโล ซึ่งเป็นการลดภาระในการเดินทางค่าใช้จ่าย ระบบมีความโปร่งใสเป็นธรรมครูได้คืนถิ่นตามนโยบายเรียนดี มีความสุข