สพฐ-สวนสุนันทา จับมือนำ GPAS 5 Steps สู่ห้องเรียนส่งเสริมให้เด็กมีกระบวนการคิด ออกแบบเป็น ด้านสถาบันผลิตครูเผย Active Learning ทำให้คุณครูมีทิศทางที่ชัดเจนในการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็ก

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2567 ที่ ห้องประชุมพระนารายณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จังหวัดลพบุรี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสสวนสุนันทา จัดการสัมมนาทางวิชาการ “การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ระดับห้องเรียน การประเมินผล และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะการคิดสู่การพัฒนานวัตกรรม” เผยแพร่สู่สาธารณชน ระดับมัธยมศึกษา สร้างต้นแบบในพื้นที่จังหวัดลพบุรี อุทัยธานี อ่างทอง และพระนครศรีศรีธยา โดย

ดร.ณัฐชยา เม็นไธสง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) สพฐ. กล่าวว่า สพฐ. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นำรูปแบบการจัดการเรียนรู้Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps มาเป็นตัวหลักในการส่งเสริมพัฒนาครู พัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับ Soft Power ซึ่งมีความสำคัญกับท้องถิ่น โดยตอนนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการนำ Active Learning ผ่าน GPAS 5 Steps มาสู่ห้องเรียนอย่างจริงจังตามบริบทของห้องเรียน ซึ่งจะส่งเสริมให้เด็กมีกระบวนการคิด ออกแบบให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่สามารถกำหนดอนาคตหรืออาชีพของตนเอง ดังนั้นสิ่งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการทำให้ประเทศของเรามีนวัตกรรมที่เกิดจากตัวเด็กหรือเกิดจากรากฐานของท้องถิ่น และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนในอนาคต

“จากที่ได้เห็นบูธของเด็ก ๆ สิ่งที่มองเห็น คือ เด็ก ๆ ได้ใช้กระบวนการคิด ขั้นตอนในการค้นหานวัตกรรมของตัวเองหรือสิ่งที่ตัวเองถนัด แล้วครูจะทำหน้าที่เป็นโค้ชและสนับสนุน เช่น กรณีของจังหวัดลพบุรีเด็กได้นำสัญลักษณ์ของจังหวัดมาออกแบบเป็นเสื้อยืด ซึ่งสิ่งที่ชอบมากที่สุดคือการที่เด็กได้สร้างผลิตภัณฑ์จากความคิดของตัวเองและเพื่อน ๆ มาทำให้เกิดมูลค่าได้จริง ส่วนกรณีความเท่าทันเทคโนโลยีเด็ก ๆ ได้นำมาใช้โดยครูแนะนำให้เด็กสำรวจ บูรณาการใน 8 กลุ่มสาระโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นวิชาหลักในการสื่อสาร ทำให้เด็กได้ใช้ตลาดออนไลน์มาเป็นจุดเริ่มต้นของวิชาเศรษฐศาสตร์ และเด็กยังได้เรียนรู้ว่าการจะสร้างมูลค่าอะไรสักอย่างต้องมีตลาดรองรับ ต้องมีผลกำไร ไม่ได้มีไว้เพื่อโชว์เท่านั้น ซึ่งเป็นการสร้างนวัตกรที่จะไปสร้างนวัตกรรมเพื่อไปแข่งขันในเวทีโลกต่อไป”ดร.ณัฐชยากล่าว

รศ.ดร.นันทิยา น้อยจันทร์ ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต และ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการพัฒนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการ GPAS 5 Steps  สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรม คือ ทำให้คุณครูมีทิศทางที่ชัดเจนในการจัดกิจกรรมแบบ Active Learning ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เด็กจะต้องได้รับการเรียนรู้จากการเรียนการสอนในปัจจุบัน เพราะจะเน้นเรื่องของกระบวนการมากกว่าเรื่องของเนื้อหาด้วยสิ่งต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลง อีกทั้งความรู้ต่าง ๆ ก็มีมากมาย เพราะฉะนั้นกระบวนการในการแสวงหาความรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในการจัดการเรียนการสอนโดย Active Learning นักเรียนจะได้ฝึกการค้นคว้าด้วยตนเอง รู้จักคิด รู้จักวางแผนทำงานร่วมกับผู้อื่น ตลอดจนเรื่องของการทำสื่อ การนำเสนอต่อสาธารณชนและประเมินด้วยตัวเอง

“ที่ดำเนินการมากระบวนการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้ มีครูอาจารย์ที่มีศักยภาพ มีทีมวิทยากรที่เป็นมืออาชีพ แต่ความร่วมมือระดับประเทศจะเกิดผลไม่ได้เลยถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากสพฐ.ในการเผยแพร่องค์ความรู้ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนด้วย Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps  จนทำให้เด็กมีการพัฒนา ครูเป็นนวัตกร และนักเรียนก็เป็นนวัตกร ซึ่งเห็นได้จากผลงานของเด็กมากมายที่นำมาจัดแสดง  และที่น่าภูมิใจอย่างมากโดยเฉพาะในระดับมัธยมศึกษา คือ เราได้เห็นกระบวนการส่งต่อจนถึงขั้นสามารถหารายได้ได้แล้ว ถ้ายิ่งมีการต่อยอดนักเรียนก็จะสามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพเสริมหรืออาจจะใช้ทำมาหากินเป็นอาชีพหลักได้เลย”รศ.ดร.นันทิยากล่าว

ด้าน ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า วันนี้ต้องชื่นชมกระทรวงศึกษาธิการโดยเฉพาะ สพฐ. และ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ที่สามารถพลิกโฉมการศึกษาได้ โดยสามารถตอบโจทย์หลักสูตรมและตอบโจทย์เป้าหมายการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรม เพราะหลักสูตร คือ แผนการจัดประสบการณ์ให้กับผู้เรียน มาตรฐานการเรียนรู้ คือ ความสามารถในการแสดงออกของผู้เรียนในทุกมิติ ทั้งทางการคิด การตัดสินใจ และการกระทำ ซึ่งวันนี้เราได้เห็นครอบคลุมทุกมิติ เป็นการตอบโจทย์หลักสูตรที่ใช้มาหลาย 10 ปีแต่เพิ่งประสบความสำเร็จในยุคนี้ โดยเห็นได้จาก ผลผลิตของนักเรียนในแต่ละบูธที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นความเป็นพหุปัญญาว่า บริบทที่แตกต่างกันแต่สามารถใช้กระบวนการเดียวกันในการสร้างความรู้ สร้างผลผลิตได้อย่างสอดคล้องกับหลักสูตรและการเป็นมาตรฐานสากล ทำให้เด็กทุกคนเข้าถึงนวัตกรรม ไม่ใช่ทำนวัตกรรมมาโชว์ แต่นักเรียนทุกคนเข้าถึงนวัตกรรมแบบมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง

กมธ.การศึกษา วุฒิสภา ดูงานการจัดการศึกษาเด็กด้อยโอกาสและกลุ่มชาติพันธุ์ของ สกร.จังหวัดน่าน

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567 คณะกรรมาธิการการศึกษา การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและพัฒนา วุฒิสภา นำโดย ดร.กมล รอดคล้าย ประธานคณะกรรมาธิการ และคณะ เดินทางเข้าศึกษาดูงานด้านการจัดการศึกษาเพื่อเด็กด้อยโอกาสและกลุ่มชาติพันธุ์ของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดน่านจำนวน 2 แห่ง คือ การจัดกิจกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการกิจกรรม Learn to Earn การสร้างป่าสร้างรายได้ บาริสต้าน้อยบนดอยสูง ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงบ้านเด่น ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ และการจัดกิจกรรม 1 อำเภอ 1 อาชีพ ผลิตภัณฑ์จากหญ้าสามเหลี่ยม การสาธิตอาชีพการทำสบู่เกลือ การทำยาหม่องสมุนไพรจากหญ้าเอ็นยืด และผลิตภัณฑ์แปรรูปมะเขาควาย การแสดงผลงาน Best Practice การปลูกผักปลอดสารพิษ และห้องสมุดน้อยบนดอยสูง รวมถึงชมนิทรรศการวิถีชนเผ่าลัวะปรัย ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงบ้านน้ำแพะใน ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ

โดยมีนางสาวดรุณี กาบบัว รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดน่าน ผู้บริหารสถานศึกษา 15 แห่ง และบุคลากรในสังกัด สกร.ระดับอำเภอบ่อเกลือ ร่วมต้อนรับคณะศึกษาดูงาน ซึ่งการลงพื้นที่ศึกษาดูงานของคณะกรรมาธิการการศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กำลังใจ ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ รวมถึงรับฟังข้อมูลในมิติต่าง ของสถานศึกษา เพื่อเรียนรู้การจัดการศึกษาเพื่อเด็กด้อยโอกาสและกลุ่มชาติพันธุ์ของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดน่าน ซึ่งจะนําข้อมูลที่ได้รับนําไปจัดทำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่ต่อไป

ดร.กมล กล่าวว่า การจัดการศึกษาของ สกร.หรือ กศน.เดิมนั้น เป็นรูปแบบพิเศษสกร.สามารถพัฒนาคนในมิติต่าง ได้อย่างครอบคลุม ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาในรูปแบบต่าง ของ สกร. ได้ทุกที่ ทุกเวลาโดยกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) มีหน้าที่ในการจัดการเรียนรู้ 3 รูปแบบ คือ 1) การเรียนรู้ตลอดชีวิต 2) การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง 3) การเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ ทำให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยเข้าถึงการเรียนรู้ได้ตามความพร้อมและศักยภาพของบุคคล เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมกันของทุกคนในการได้รับการศึกษา นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมถึงให้ได้รับการศึกษาเพื่อดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ

“ครูเอ” มอบโล่รางวัลโครงการ PEF Award for ALL ประจําปี 2567 หนุน ดึงภาคีเครือข่าย ทั้ง “ภาครัฐ-เอกชน-สถานประกอบการ-ภาคธุรกิจ”ร่วม ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลโครงการ PEF Award for ALL ประจําปี 2567 ณ มหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยมี ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารสถานประกอบการ ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน  ร่วมให้การต้อนรับ ทั้งนี้ นายสุรศักดิ์ กล่าวภายหลังมอบโล่รางวัลว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลโครงการ PEF Award for ALL ประจําปี 2567 ในวันนี้ ทั้งยังขอแสดงความยินดี กับผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารสถานประกอบการ ลูกๆ นักเรียน นักศึกษาทุกคน ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ อันนํามาซึ่งความภาคภูมิใจ​ ชื่อเสียงและเกียรติคุณ​ ที่ได้ทุ่มเทกําลังกาย กําลังใจ กําลังความคิด เป็นพลังสำคัญของการขับเคลื่อนภารกิจ ของการศึกษา ให้บรรลุเป้าหมาย ที่เน้นประโยชน์สุขของประชาชน ตลอดจน สถานประกอบการ ที่เป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการร่วมพัฒนาการศึกษาของไทย ทั้งนี้ขอชื่นชมลูกๆนักเรียน นักศึกษา  ที่ได้รับรางวัลการประกวดผลงาน โครงการผลิตสื่อสร้างสรรค์ ที่ทันสมัย เป็นต้นแบบนักสื่อสารสร้างสรรค์ ปลูกจิตสำนึกด้านการผลิตสื่อที่ปลอดภัย รู้เท่าทันสื่อ และเลือกบริโภคสื่ออย่างถูกต้อง จนได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดผลงาน สร้างความภูมิใจ ให้แก่สถาบันการศึกษา และสถาบันครอบครัว

“ผมดีใจที่มูลนิธิเพื่อพัฒนาการศึกษาเอกชน ได้สรรหาผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารสถานประกอบการ ที่ทำงานด้วยความทุ่มเท เสียสละมีผลงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจน กอปรด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ อดทน และอุทิศตนในการทำงาน เพื่อประโยชน์ ส่วนรวมต่อการศึกษา ทำให้การปฏิบัติงานเกิดผลสำเร็จ จนได้รับโล่รางวัลประกาศเกียรติคุณ รวมถึง การประกวดผลงานของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนเกิดการสร้างสรรค์รูปแบบสื่อที่ดี เกิดเนื้อหาของสื่อ ที่จะนําไปใช้ในการสื่อสาร ที่มีประสิทธิภาพ และมีคุณค่าต่อสังคม จนได้รับรางวัลเกียรติบัตรและเหรียญรางวัล ในวันนี้เช่นกัน ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้ระบบการศึกษาไทย ก้าวไปข้างหน้าด้วยความเข้มแข็ง มั่นคง เป็นที่ยอมรับของสังคมและ ประเทศชาติต่อไป”รมช.ศึกษาธิการ กล่าว

นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ภายใต้แนวทางจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน โดยสิ่งที่ รมว.ศธ.มุ่งหวังมาโดยตลอด คือการทำงานโดยอาศัยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา ทั้ง กระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนของรัฐ โรงเรียนเอกชน การจับมือร่วมกันภายในองค์กร จำเป็นต้องจับมือร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิด​ เพื่อช่วยกันพัฒนาระบบการศึกษา และสิ่งที่สำคัญคือการจับมือกับภาคีเครือข่าย นอกกระทรวงศึกษาธิการ ทั้ง​ สถานประกอบการ ภาคธุรกิจ หรือกระทรวงอื่นๆที่เป็นภาครัฐด้วยกันก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่เราต้องจับมือและร่วมกันทำงาน ซึ่งงานในวันนี้ทำให้เห็นว่ามีการจับมือกันของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถานประกอบการ และหน่วยงานต่างๆที่จะร่วมกันพัฒนาการศึกษา เพื่อให้การศึกษาของเราได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว​ เพราะฉะนั้นจากนี้ไปเราต้องมีการปฏิวัติการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาประเทศ โดยการใช้คำว่าปฏิวัตินั้น เพื่อเน้นย้ำว่าเราต้องทำอย่างรวดเร็วเพื่อก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก  โดยการทำงานต้องใช้ภาคีเครือข่ายทำงานร่วมกัน​ ร่วมกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งในปี 2568 จะเห็นอย่างเป็นรูปธรรมขึ้น ทั้งนี้ขอฝากให้ทุกท่าน ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต นําความรู้ ความสามารถ มาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ รวมถึงนักเรียน ขอให้ตั้งใจ ศึกษาเล่าเรียน เป็นคนดี เป็นคนเก่งของสังคมและประเทศชาติ และที่สำคัญ ขอให้ตระหนัก ไว้เสมอว่า คุณธรรมและจริยธรรม เป็นเรื่องที่สำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ให้เจริญก้าวหน้า หากทุกท่านร่วมใจกัน ที่จะสร้างและรักษาไว้ ก็จะพัฒนาและก้าวหน้าได้ อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ครูทุกสังกัดตื่นตัวอบรมการเรียนรู้รูปแบบ Active Learning ก้าวเข้าสู่มาตรฐานสากลสอดคล้องกับการพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะเพื่อเป็นพลเมืองในยุคประเทศไทย 4.0

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2567 ที่ หอประชุมรักตะกนิษฐ์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เขตดุสิต กทม.สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.)ได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับโรงเรียนในทุกสังกัด หัวข้อเรื่อง “การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน (Competency) ผ่านนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ร่วมกับแนวคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps โดยเน้นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ สร้างความรู้ ใช้ความรู้ผลิตผลงาน และสร้างนวัตกรรมที่นำ ไปสู่การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและสมรรถนะของผู้เรียนให้สูงขึ้น บรรลุเป้าหมายของหลักสูตรอิงมาตรฐาน และการพัฒนาสถานศึกษาให้ก้าวเข้าสู่มาตรฐานสากลสอดคล้องกับการพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะเพื่อเป็นพลเมืองในยุคประเทศไทย 4.0 ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการการจัดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ตรงตามจุดเน้นของการศึกษาในปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นให้ครูนำความรู้ความสามารถไปพัฒนาสร้างเสริมคุณภาพการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีครูทุกสังกัดเข้าร่วมอบรม กว่า 400 คน บรรยายพิเศษ โดย ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ประธานกรรมการบริหาร พว.

ดร.ศักดิ์สิน กล่าวว่า หลักสูตรคือแผนการจัดประสบการณ์เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ได้เอง ซึ่งการเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้นั้นจะมีทั้งเรื่องของมาตรฐาน สมรรถนะ กระบวนการ รวมถึงคุณภาพในมิติต่าง ๆ ด้วย ฉะนั้นถ้าเราไม่สามารถก้าวข้ามความเข้าใจในการปรับหลักสูตร คือ การปรับเนื้อหา ประเทศไทยก็จะติดกับดักและเดินต่อไปไม่ได้ ดังนั้นเราต้องมาทำความเข้าใจร่วมกันว่า การปฏิรูปการศึกษาแท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่ เพราะหัวใจสำคัญที่สุดของกระบวนการปฏิรูปการเรียนรู้ คือ การเพิ่มคุณภาพผู้เรียน ด้วยวิธีการ เป็นการเรียนวิธีเรียนรู้ สอนวิธีเรียนรู้ ไม่ได้สอนเฉพาะเนื้อหาแบบแยกส่วน แต่สอนกระบวนการที่ไม่ยึดติดกับเนื้อหา เป็นรูปแบบการเรียนรู้แนวใหม่ ที่เรียกว่า Active Learning ซึ่งเป็นการพัฒนาความสามารถในการแสดงออกของนักเรียนทุกคน แต่ปรากฏว่าการนำหลักสูตรมาใช้ในสภาพจริงเป็นการถ่ายทอดเนื้อหาเท่านั้น เพื่อให้เด็กจำแล้วไปสอบ แต่ความเป็นจริงหลักสูตรต้องการพัฒนาความสามารถในการแสดงออกของนักเรียนในมิติของการคิด การตัดสินใจ การกระทำ และการลงมือปฏิบัติ ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ให้นักเรียนจัดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิด การตัดสินใจจนไปถึงการนำไปสู่การปฏิบัติจนเป็นนวัตกรรม

“แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้กำหนดไว้เลยว่า เด็กที่จบระดับประถมศึกษาตอนต้น และประถมศึกษาตอนปลาย จะต้องมีความสามารถนำกระบวนการคิดขั้นสูงไปต่อยอดยกระดับอาชีพของพ่อแม่ได้ และเด็กมัธยมศึกษาตอนปลาย ก็จะเป็นการปฏิบัติการเชิงวิจัย เพราะฉะนั้นเนื้อหาทุกเนื้อหาของประเทศไทยที่เรากำหนดไว้ต้องนำไปออกแบบเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ให้เด็ก ได้เรียนรู้ผ่านการคิด การตัดสินใจ และการลงมือทำ ให้เด็กเข้าใจรู้ความหมายเห็นคุณค่าของเนื้อหานั้น ๆ ด้วยตัวของนักเรียนเอง หรือที่เรียกว่าการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในตัวเอง” ดร.ศักดิ์สิน กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม หากเด็กนั่งฟัง นั่งอ่าน นั่งท่องจำ เราไม่เรียกว่าความรู้ แต่จะเรียกว่าความจำระยะสั้นของมนุษย์แล้วเด็กก็ลืม เพราะไม่ได้เรียนรู้ผ่านการคิด การตัดสินใจ และการลงมือกระทำ เพราะฉะนั้นความเป็นสากลในขณะนี้ คือประเทศไทยมีเป้าหมาย มีหลักสูตรที่เป็นสากลอยู่แล้ว แต่ปรากฏว่าบางโรงเรียนไม่เคยบรรลุแม้แต่มาตรฐานเดียว ซึ่งเราดูได้จากการแสดงออกของเด็ก แต่ถ้าเด็กได้เรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning เด็กจะคิดก่อนปฏิบัติ จะเขียน จะอ่าน ในสิ่งที่ตนเองคิด ก็จะเข้าใจและรู้ความหมายของผลการคิด ผลการปฎิบัติได้อย่างลึกซึ้ง และจะสามารถสร้างนวัตกรรมได้อีกมากมาย ดังนั้นเราจึงสามารถพูดได้ว่า Active Learning คือการพัฒนามนุษย์ทุกมิติและทุกด้าน และวันนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ครูได้ตื่นตัวในเรื่องเหล่านี้ เพราะเป็นประโยชน์กับนักเรียนได้ถึงปีละ 10 ล้านคน ถ้าเราพัฒนาให้เขาเกิดปัญญาเมื่อไหร่ เราก็จะได้เด็กไทยที่เก่งและสามารถพัฒนาตัวเองได้เร็ว จะเห็นได้จากการอบรมพัฒนาครูระดับภาคกลางภายใน5เดือน เด็กสามารถสร้างนวัตกรรมได้กว่า 1,200 นวัตกรรม และเชื่อว่าการอบรมครูวันนี้ คุณครูจะเข้าใจวิธีการที่จะทำให้เด็กได้ประโยชน์และมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี

ศธ. -สภาอุตฯ ทำ MOU “โรงเรียนร่วมพัฒนา” ยกระดับคุณภาพการศึกษา สร้างคนที่มีทักษะจำเป็นตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ สะเต็มคือสิ่งหัวใจสำคัญ

วันที่ 13 ธันวาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือโครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” (Partnership School Project) ระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ กับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)  และ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมลงนาม และมี นายสุรพงษ์ เป้ากลาง ผู้แทนจากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้บริหารของ ศธ. ผู้แทนจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคม และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมในพิธี ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวว่า การศึกษา คือ รากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ การพัฒนาระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ จึงไม่ใช่เพียงหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม อย่างที่ตนได้กล่าวไว้เสมอว่า เครือข่ายทางการศึกษา “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” จะร่วมกันขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสทางการศึกษา พัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้าน รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่อสร้างต้นแบบของการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ ขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” อาทิ คุณมีชัย วีระไวทยะ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มตั้งแต่ต้น รวมถึงท่านประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง ความตั้งใจของท่าน นับเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการนี้ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งไม่เพียงช่วยให้โรงเรียนในโครงการมีศักยภาพที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับเยาวชนไทยซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

“ผมเชื่อมั่นว่าโครงการ โรงเรียนร่วมพัฒนา Partnership School Project จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติ เยาวชนไทยจะได้รับโอกาสที่เท่าเทียมในการพัฒนาตนเอง และมีความพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้จะเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ สามารถปรับตัวและตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตได้ นอกจากนี้ โครงการยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็งและความยั่งยืนในระยะยาวอีกด้วย ผมหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม “จับมือ” “ร่วมพัฒนา” “ขยายผล” ยกระดับการศึกษาในระดับประเทศ และเป็นต้นแบบที่สำคัญในการพัฒนาระบบการศึกษาที่ครอบคลุม ยั่งยืน และเป็นพลังนำพาการศึกษาไทยให้ก้าวไปทัดเทียมนานาประเทศต่อไป” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ  กล่าวว่า ประเทศไทยของเรามีการปฏิรูปการศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จนมาถึงการปฏิรูปรอบที่สองเมื่อปี พ.ศ. 2552 แต่คุณภาพการศึกษาของประเทศโดยรวม ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย Thailand 4.0 ได้มีมติในการประชุม เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 กำหนดให้จัดการศึกษาในรูปแบบ “สถานศึกษาร่วมพัฒนา” (Partnership School) โดยมอบหมายให้นายมีชัย วีระไวทยะ และศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ ขับเคลื่อนโครงการนี้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยขอให้ดำเนินการตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 ในสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ตามความเหมาะสม โดยมีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจในอนาคต

“ในส่วนของ สพฐ. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 โดยเน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ครอบคลุมทุกพื้นที่ และสอดคล้องกับความต้องการเฉพาะด้านของบริบทแต่ละชุมชน ภายใต้หลักการ “การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต” โดยใช้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” รวมถึงพัฒนานวัตกรรมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การสร้างความร่วมมือ การบริหารวิชาการ การระดมทรัพยากรและงบประมาณ การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และการพัฒนาผู้เรียน ภายใต้การสนับสนุนทรัพยากรจากผู้สนับสนุนและทุกภาคส่วน พร้อมทั้งพัฒนาโรงเรียนในโครงการให้มีศักยภาพในการพัฒนาผู้เรียนให้ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” มีศักยภาพและความพร้อมสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ จบแล้วมีงานทำและมีรายได้ที่เหมาะสมในการดำรงชีวิต สุดท้ายนี้ ตนเชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษาในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการลดช่องว่างด้านความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล และสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการศึกษาของประเทศไทยต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

นายเกรียงไกร กล่าวว่า  การลงนามในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐเอกชนในการร่วมกันสร้างบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ เนื่องจากเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความสามารถของประเทศ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดนอกเหนือจากการลงทุนเครื่องจักรอุปกรณ์ก็คือเรื่องของทุนมนุษย์ ซึ่งจะต้องสร้างคนรุ่นใหม่ตั้งแต่เด็ก เพื่อปลูกฝังความเข้าใจที่ถูกต้องและที่สำคัญการทำงานร่วมกันครั้งนี้เป็นการทำงานเชิงรุก ภาคอุตสาหกรรมจะได้มีส่วนร่วมในการเข้าไปให้ความรู้ความเข้าใจสถานการณ์ว่าโลกกำลังเปลี่ยนไปแค่ไหน เราต้องการบุคลากรประเภทใด เพื่อจะได้ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องและที่สำคัญวันนี้เด็กจะต้องเรียนและปฏิบัติไปพร้อมกัน ทั้งเรียนและทำงานจริง ฝึกงานจริงจะได้มีความเข้าใจ เมื่อจบแล้วจะสามารถทำงานได้ทันที ซึ่งคิดว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

“การพัฒนาโครงการในครั้งนี้ทำให้เอกชนมีส่วนร่วมมากขึ้น และได้เข้ามาร่วมมือตั้งแต่ต้น ไม่ใช่แค่บริจาคเงินเหมือนในอดีต ต้องขอขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการที่เปิดกว้าง โดยเฉพาะรมว.ศึกษาธิการ และทีมผู้บริหารที่เปิดกว้างทำให้เอกชนได้มีส่วนเข้ามาสร้างบุคลากรให้ตรงกับความต้องการ โดยเฉพาะตอนนี้มีอุตสาหกรรมสมัยใหม่มีการนำเอไอเข้ามามากขึ้น ที่ทำให้ต้องการคนที่มีความรู้มีทักษะอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเราจะต้องทำให้บุคลากนรมีความรู้ความเข้าใจตั้งแต่เด็กไม่ใช่มาฝึกตอนแก่ ซึ่งจะช้าเกินไป ดังนั้นคิดว่าการเริ่มต้นครั้งนี้เป็นการร่วมงานที่ถูกต้องและเป็นการร่วมมือกันที่จะนำไปสู่ผลสำเร็จอย่างแท้จริง”ประธานสภาอุตฯกล่าวและว่า สำหรับเรื่องหลัก ๆ หรือทักษะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ คือ เรื่องของสะเต็ม นั่นคือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และ คณิตศาสตร์ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่พัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ได้ โดยจะต้องร่วมกันปลูกฝังและพัฒนาด้วยความรวดเร็ว ให้ทัน และ มีจำนวนที่เพียงพอ

 

ชู Buriram Zero Dropout Model สำรวจเด็กหลุดจากระบบการศึกษา

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567 นายเอกราช ชวีวัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา Buriram Zero Dropout Model (BZDM) ว่า ตามที่พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ขับเคลื่อนโครงการ Thailand Zero Dropout แก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาและเด็กตกหล่น โดยมีข้อสั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดและสถานศึกษาในสังกัดดำเนินการสำรวจเด็กและเยาวชนอายุ 6- 15 ปีที่หลุดจากระบบการศึกษา และเนื่องจาก สกร.ประจำจังหวัดบุรีรัมย์มีการดำเนินการที่ค่อนข้างก้าวหน้า จึงมอบให้ทำเป็น Buriram Zero Dropout Model (BZDM) เป็นแนวทางการดำเนินงานของพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป  ซึ่ง นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดี สกร.ก็ได้มอบหมายให้ตนซึ่งเคยเป็น ผอ.สกร.ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและวางแนวทางในการแก้ปัญหา โดยมีคณะทำงานจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาร่วมดำเนินการ มีการทำโฟกัสกรุ๊ปร่วมกับภาคีเครือข่ายที่จัดการศึกษาในจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเขตพื้นที่การศึกษา ศูนย์การศึกษาพิเศษ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เป็นต้น

รองอธิบดี สกร. กล่าวต่อไปว่า  ในการดำเนินการเราใช้ข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ระบุว่า เด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาของไทย อายุระหว่าง 3-18 ปี มีมากถึง 1.02 ล้านคน (ณ วันที่ 30 พ.ย. 2566) มาโฟกัสที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งพบว่ามีมากกว่า 10,000 คน แต่ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายให้ยึดตาม พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ จึงมุ่งไปที่เด็กอายุ 6 – 15 ปี ส่วนที่อายุมากกว่านี้ให้เป็นการศึกษาภาคความสมัครใจ ทำให้โจทย์ของจังหวัดบุรีรัมย์ลดลงมาเหลืออยู่ที่ 4,390 คน และจากการลงพื้นที่สำรวจได้พบตัวตน 1,401 คน หรือประมาณ 31% ส่วนจำนวน 2,989 คนไม่พบตัวตน โดยที่พบตัวตน 1,401 คน นั้นกำลังศึกษาอยู่ 811 คน โดยเรียนอยู่กับทุกหน่วยงานทั้ง สพฐ. สช. อาชีวะ องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น และในจำนวนที่พบตัวตนนี้เมื่อแยกละเอียดลงไปก็พบว่ามีคนที่เคยเรียนแล้ว 76 คน ซึ่งเราก็มีข้อมูลเชิงลึกว่าจบระดับชั้นไหนมาบ้าง ดังนั้น สกร.ก็ได้สำรวจเพื่อมาวางแนวทางแก้ปัญหาเป็นรายบุคคล ซึ่งอาจจะมาเทียบหน่วยกิตให้ก็จะสามารถช่วยลดระยะเวลาในการเรียนได้ หรือต้องการให้ส่งต่อก็จะดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ยังมีอีกกลุ่มคือไม่เคยเรียนเลย 500 กว่าคน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นคนพิการ ซึ่งในการเก็บข้อมูลก็ได้มีการจำแนกว่าเป็นคนพิการประเภทไหน เพื่อจะมาจัดว่ากลุ่มไหนเรียนได้ กลุ่มไหนเรียนไม่ได้ แต่ในการเก็บข้อมูลก็จะมีการสอบถามด้วยว่าต้องการรับความช่วยเหลือเรื่องอะไรเพื่อเป็นประเด็นในการส่งต่อตามที่รัฐมนตรีมอบหมายภารกิจเป็นโมเดล ว่า จะต้องป้อง-ค้นหา-ช่วยเหลือ-ดูแล-ส่งต่อ เป็นวงจรที่สมบูรณ์ต่อไป

“สำหรับกลุ่มที่ยังไม่พบตัวตน 2,989 คน ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ก็พบว่า ไปต่างประเทศถึง 1,800 กว่าคน  มีบางคนไปบวชและ บางส่วนก็อยู่ในเรือนจำ แต่เป็นเพียงส่วนน้อย ซึ่งทั้งหมดนี้ทางสกร.ก็จะต้องติดตามค้นหาต่อไป โดยจะไปตรวจสอบซ้ำกับผู้นำชุมชน ส่วนที่เหลืออีก 900 กว่าคนข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ สกร.ก็จะนำเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ไปประสานกับทางกระทรวงมหาดไทยให้ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งว่า ตั้งแต่ได้ข้อมูลมาจาก กสศ.จนถึงขณะนี้เป็นเวลา 10 เดือนแล้ว มีการย้ายถิ่นฐานทะเบียนบ้านไปที่ไหนบ้างเพื่อเข้าสู่วงจรการค้นหาอีกครั้ง นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า ในจำนวน 4,000 กว่าคน มีคนที่เสียชีวิตแล้ว 16 คน ซึ่งเราก็ไปตรวจสอบกับกระทรวงมหาดไทยอีกครั้งเช่นกัน” นายเอกราชกล่าวและว่า สกร.จังหวัดบุรีรัมย์พยายามติดตามให้ครบตามตัวเลขที่ได้รับและดึงกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด โดยทั้งหมดนี้ จะสรุปภายในวันที่ 15 ธันวาคม นี้ เพื่อนำเข้ารายงานในที่ประชุมประสานภารกิจในสัปดาห์หน้า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลซ้ำอีกครั้งซึ่งใกล้จะถึง 100% แล้ว”รองอธิบดี สกร.กล่าว

สกสค.ปลื้ม ปี 67 องค์ค้าการฯมีกำไร จ่ายหนี้เงินยืมได้ 55 ล้าน ตั้งเป้าปี 68 ปรับโฉมร้านค้าใหม่และสื่อการสอน พร้อมเปิดตัวคาเฟ่บอร์ดเกมส์แหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ดร.พีระพันธ์ เหมะรัต เลขาธิการคณะกรรมการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2567 องค์การค้าของ สกสค. มีรายได้ 1,952 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ารายจ่ายถึง 242 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2566 ที่มีรายได้สูงกว่ารายจ่ายเพียง 105 ล้านบาท ดังนั้น ในปี 2567 จึงมีรายได้สูงกว่าปี 2566 ถึง 137 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 130 จากผลประกอบการที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมานั้น ทำให้สามารถคืนเงินยืมให้กับ สกสค. จำนวน 55 ล้านบาท ซึ่งสร้างความมั่นใจในด้านการบริหารจัดการทางการเงินอย่างโปร่งใส โดยเงินที่ได้รับคืนนี้ สกสค. จะนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดสวัสดิการเพื่อครู บุคลากรทางการศึกษา และสมาชิกต่อไป

เลขาธิการ สกสค. กล่าวต่อไปว่า สำหรับปี 2568 องค์การค้าของ สกสค.จะมีการปรับโฉมใหม่ ทั้งร้านค้าและสื่อการเรียนการสอน โดยมุ่งเน้นสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับโรงเรียนทั่วประเทศ จำนวนกว่า 29,000 แห่ง ในการลดภาระให้กับครูและนักเรียน ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เรียนดี มีความสุข ให้มีการปรับโฉมใหม่ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ทุกสาขา เพิ่มความสะดวกต่อผู้มารับบริการ และจัดสรรสื่อการเรียนการสอน หนังสือ เครื่องเขียน และอุปกรณ์การเรียนที่เพิ่มมากขึ้น มีคุณภาพ และฟังก์ชันการใช้งานที่ทันสมัย สะดวกต่อการใช้งาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้และการสอนในทุกระดับการศึกษา

“นอกจากการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนแล้ว ยังวางแผนเปิดตัวคาเฟ่บอร์ดเกมที่ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ลาดพร้าว ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กนักเรียนรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจ โดยเป็นการผสมผสานระหว่างบรรยากาศของคาเฟ่และกิจกรรมเสริมทักษะผ่านบอร์ดเกมหลากหลายรูปแบบ มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีพื้นที่ในการเรียนรู้ที่สนุกสนาน และฝึกฝนทักษะผ่านการเล่นเกมที่สร้างสรรค์”ดร.พีระพันธ์กล่าวและว่า องค์การค้าของ สกสค. ขอเชิญครูและบุคลากรทางการศึกษา ซื้อสินค้าสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ได้ในราคาพิเศษ แจกฟรีสื่อการเรียนรู้เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Suksapan หรือ SSP Mall มีสินค้าให้เลือกกว่า 1,000 รายการ พร้อมมอบส่วนลดสูงสุดถึง 60% ส่งสินค้าถึงหน้าบ้าน ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.otep.go.th หรือ www.suksapanmall.com

 

สอศ. – พพ. ปั้นช่างอาชีวะยุคใหม่ เชี่ยวชาญพลังงานทดแทน รับมืออุตสาหกรรมพลังงานในอนาคต

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) มอบหมายให้ นายวิทวัต ปัญจมะวัต รองเลขาธิการ กอศ. ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือการพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน เพื่อการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านการอาชีวศึกษา ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน โดยนายอดิศักดิ์ ชูสุข รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และ มี นายวิศทิกร นิ่มนวล รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านพลังงาน นายปรีดา บุญศิลป์ ประธาน อ.กรอ.อศ.กลุ่มอาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน ผู้บริหารสถานประกอบการ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 5 ชั้น 1 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)

นายวิทวัต  กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เดินหน้าพัฒนาคุณภาพกำลังคนอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่อง ได้ร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน  ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านการอาชีวศึกษา โดยความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สอง สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน  การผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้จึงมีความสำคัญ และการทำงานร่วมกับภาคเอกชนจะช่วยให้หลักสูตรมีความทันสมัย สร้างบุคลากรที่มีทักษะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งจะครอบคลุมทั้ง ครู อาจารย์  นักเรียน นักศึกษา มุ่งเน้นการเรียนรู้ในภาคทฤษฎีและปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์จริง ให้ผู้เรียนมีความเชี่ยวชาญและพร้อมทำงานได้ทันทีหลังสำเร็จการศึกษา สร้างโอกาสการจ้างงานที่ดีให้กับผู้เรียน และเมื่อผู้เรียน ผ่านหลักสูตรและการทดสอบตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด จะได้รับ “วุฒิบัตรผู้รับผิดชอบด้านพลังงาน” จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเป็นใบเบิกทางสู่การประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมพลังงานในอนาคตอย่างมั่นคง

“ความสำเร็จของความร่วมมือในครั้งนี้ ยังได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากภาคเอกชน โดยคุณปรีดา บุญศิลป์ ประธานอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) และคณะผู้บริหารสถานประกอบการชั้นนำด้านพลังงาน ที่ร่วมเป็นคณะอ.กรอ.อศ. อาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนี้ให้บรรลุเป้าหมาย สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือที่แข็งแกร่งภายใต้แนวคิด “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ยกระดับคุณภาพการศึกษาอาชีวศึกษาไทย และต่อยอดเป็นกำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวต่อไป” รองเลขาธิการ กอศ.กล่าว

ด้านนายอดิศักดิ์  กล่าวว่า บันทึกความเข้าใจระหว่าง กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในครั้งนี้ เพื่อนำหลักสูตรผู้รับผิดชอบด้านพลังงานสามัญไปใช้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาวิชาเทคนิคพลังงาน และในระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเทคโนโลยีพลังงาน ซึ่งนักศึกษาที่ผ่านการเรียนการสอนทั้ง 2 หลักสูตรนี้จะมีสิทธิเข้าสอบเพื่อรับวุฒิบัตรผู้รับผิดชอบด้านพลังงานจาก พพ.ได้เลย ทั้งนี้ พพ.มั่นใจว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะสร้างประโยชน์ต่อการศึกษาและการพัฒนาวิชาชีพด้านพลังงาน และคาดหวังว่าในอนาคตจะมีการขยายความร่วมมือไปสู่หลักสูตรอื่นๆ ของ สอศ. ต่อไป

 

สอศ.ชวนเที่ยวงาน “R Carnival gift for you เรียนดี มีความสุข ช้อปสนุก สุขใจ ผลิตภัณฑ์โดนใจจากอาชีวะ”  พร้อมชวนซื้อเค้กปีใหม่ที่ซุ้มในเซ็นทรัลสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) กำหนดจัดงาน “ R Carnival gift for you เรียนดี มีความสุข ช้อปสนุก สุขใจ ผลิตภัณฑ์โดนใจจากอาชีวะ” ระหว่างวันที่ 17 – 18 ธันวาคม 2567 เวลา 10.30 – 20.00 น. ณ ห้างโรบินสันศรีสมาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากการประกวดแข่งขันผลงานธุรกิจที่ผ่านเข้ารอบ 20 ทีมสุดท้าย ในโครงการ อาชีวะสร้างสรรค์ แปรฝันสู่ธุรกิจ ประจำปี 2567 (RRR Award) และผลิตภัณฑ์จากสุดยอดศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาระดับชาติ 5 ดาว รวมกว่า 30 บูธธุรกิจ การจำหน่ายเค้กปีใหม่จากสถานศึกษา และการบริการนวดแผนไทย ตลอดจนการฝึกอาชีพระยะสั้น ได้แก่ งานฝีมือต่าง ๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ตนได้มอบหมายให้สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด ประสานสถานศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมจำหน่ายเค้กปีใหม่ในซุ้มที่ทางห้างเซ็นทรัลสาขาต่างๆ ทั่วประเทศจัดให้ ในระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2567 – 2 มกราคม 2568 รวมไปถึงการเข้าร่วมกิจกรรมเปิดเส้นทางอาชีพที่ห้างเซ็นทรัลสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ เปิดโอกาสให้นักศึกษาอาชีวะได้ฝึกการขายจริงในรูปแบบ Food Kiosk / take home อีกด้วย โดยกิจกรรมดังกล่าว เป็นการมอบของขวัญหรือการส่งความสุขให้แก่ประชาชนด้วยกิจกรรมต่างๆที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ได้จัดขึ้น ภายใต้ความร่วมมือระหว่างศธ.กับเครือเซ็นทรัลพัฒนาที่สนับสนุนพื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรม เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียนทั้งด้านความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะชีวิตในทุกมิติ ตามนโยบาย “เรียนดีมีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

สพฐ.จับมือ Starfish Education เปิดตัวการเรียนรู้แห่งอนาคต สร้างทักษะอนาคตเยาวชน เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. เข้าร่วมการเปิดตัวแคมเปญ สร้างทักษะอนาคต ทุกที่ทุกเวลา Future Youth Thailand มอบโอกาสให้เด็กไทยทุกคน เรียนรู้ทักษะสำคัญได้ทุกที่ทุกเวลา ด้วยคอร์สออนไลน์ และกิจกรรม Pitching ฟรี! กับ Starfish Labz “ร่วมสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้อย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการ STEAM Design Process สู่การนำไปใช้ในชีวิตจริง สอดคล้องกับ SDG 11 และ SDG 13” ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่มีผลต่อการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างให้เด็กมีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และเด็กสามารถนำความรู้และทักษะมาประยุกต์ใช้ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง ตามหลักการพัฒนาการศึกษา ที่เน้นให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ มากกว่าการท่องจำเพียงอย่างเดียว

สำหรับโครงการดังกล่าว นับเป็นความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ระดับประเทศ ที่มุ่งมั่นส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนในประเทศไทย พร้อมริเริ่มการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในด้านการเรียนรู้ และมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรมและการศึกษาที่ก้าวหน้า โดยการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต เสริมสร้างทักษะที่จําเป็นในศตวรรษที่ 21 ให้กับนักเรียน รวมถึงการคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกัน และการสื่อสารผ่านการเรียนรู้เชิงรุกโดยใช้กระบวนการออกแบบ STEAM เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ผ่านการนําเสนอประสบการณ์การเรียนรู้แบบเรียนด้วยตนเองที่เน้นการใช้งานบนมือถือ ซึ่งสามารถเข้าถึงนักเรียนได้ทั้งในเขตเมืองและชนบท พร้อมทั้งส่งเสริมนวัตกรรมที่ยั่งยืนให้นักเรียนพัฒนาทางออกสำหรับโลกแห่งความเป็นจริงที่สอดคล้องกับ SDG 11 (เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน) และ SDG 13 (การรับมือการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ) ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความยั่งยืนทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับโลก รวมถึงการสนับสนุนครูและโค้ช โดยการจัดทำคู่มือสำหรับครูและโค้ชเพื่อช่วยในการดำเนินการบทเรียน ส่งเสริมการทำงานร่วมกันและการพัฒนาทักษะปฏิบัติในห้องเรียนและชุมชน โดยสื่อสารประชาสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายชุมชนการเรียนรู้ให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศอีกด้วย

รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ Starfish Education ภายใต้โครงการสร้างทักษะอนาคตเยาวชนในครั้งนี้ จะส่งผลทำให้เกิดการพัฒนา นักเรียนในประเทศไทยทุกคนจะเข้าถึงการศึกษาที่พร้อมสำหรับอนาคต และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยโครงการสร้างทักษะอนาคตเยาวชน Future Youth Thailand : เป็นหลักสูตรการเรียนรู้ขนาดย่อมแบบเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-Paced Micro Learning) ออกแบบโดย Starfish Education เพื่อเสริมสร้างพลังให้นักเรียนไทยอายุ 13-18 ปี พัฒนาทักษะที่จําเป็นสําหรับอนาคต ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหลักสูตรนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และบูรณาการกระบวนการออกแบบ STEAM มอบประสบการณ์การเรียนรู้ที่เป็นเอกลักษณ์ในด้านการศึกษาแบบ Maker Education การเรียนรู้เชิงรุกและการแก้ปัญหาในโลกแห่งความเป็นจริง หลักสูตรนี้จะเสริมพลังให้นักเรียน พัฒนาทางออกสำหรับความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศในโลกแห่งความเป็นจริงพร้อมกับได้รับทักษะที่สำคัญพร้อมสำหรับอนาคต โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะนําโอกาสในการเรียนรู้ไปสู่นักเรียนทั่วประเทศไทยและช่วยสร้างคนรุ่นใหม่ที่พร้อมสำหรับอนาคต

“สพฐ. และ Starfish Education เป็นการรวมพลังและมอบโอกาสให้เด็กไทยทุกคน โดยการเข้าถึงผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลที่รองรับการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา มุ่งสร้างเยาวชนไทยที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ด้วยการพัฒนาทักษะที่จำเป็น เช่น การคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม และการสื่อสาร ผ่านการเรียนรู้เชิงรุกและสามารถพัฒนาและสร้างนวัตกรรมได้อย่างยั่งยืน โดยมีกิจกรรมที่มุ่งเน้นการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงขอเชิญชวนนักเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ร่วมส่งผลงานแข่งขัน Pitching รับโล่รางวัลระดับประเทศ สร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืน ให้นักเรียนพัฒนาทางออกสำหรับโลกแห่งความเป็นจริงที่สอดคล้องกับ SDG 11 (เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน) และ SDG 13 (การรับมือการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ) เพื่อนักเรียนได้สร้างทักษะอนาคต ทุกที่ทุกเวลา ด้วยความสามารถของตนเองอย่างยั่งยืน” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ด้าน ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิสตาร์ฟิชเอ็ดดูเคชั่น กล่าวว่า Starfish Education มีความพร้อมและความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการเรียนรู้บนแพลตฟอร์ม Starfish labz พร้อมกับส่งเสริมนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ผ่านการพัฒนาหลักสูตรทักษะแห่งอนาคต (คอร์สออนไลน์) โครงการนี้มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกและยั่งยืน โดยออกแบบหลักสูตรที่ส่งเสริมการแก้ไขปัญหาจริงในสังคม พร้อมเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เช่น เมืองที่ยั่งยืน (SDG 11) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SDG 13) ผู้เรียนจะได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่เป็นเอกลักษณ์ในด้านการศึกษาแบบ Maker Education การเรียนรู้เชิงรุกและการแก้ปัญหาในโลกแห่งความเป็นจริงไปพร้อมกัน