สพม.บุรีรัมย์ จัดงานใหญ่ “ศิลปหถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 72”ระดับเขตพื้นที่การศึกษา กิจกรรม Soft Powerเพียบ

เมื่อวันที่ 11ธันวาคม 2567 ณ หอประชุมทิวสน โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาบุรีรัมย์ ศุภชัย ภาสกานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาบุรีรัมย์ เป็นประธานเปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 72 ปีการศึกษา 2567 ระดับเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาบุรีรัมย์ ประจำปีการศึกษา 2567 โดย น.ส.จัตุพร แปวไธสง ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา กล่าวรายงาน

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาบุรีรัมย์ มีภารกิจในการสืบทอดพระราชปณิธาน ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเห็นความสำคัญ ของศิลปหัตถกรรม จากพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงมีพระบรมราชานุญาต ให้กระทรวงธรรมการจัดแสดงผลงานที่เป็นความคิดและฝีมือ ของเด็กผู้นั้นจริง เข้าร่วมประกวด ความว่า “…ความประสงค์ที่จะมีการแสดงศิลปหัตถกรรมนักเรียน เพื่อจะ ได้ทราบว่าบรรดาเด็กนักเรียนชายหญิงทั้งปวง ใครมีความคิดอุปนิสัยเฉลียวฉลาดในศิลปะวิชาอันใด ได้ทำ สิ่งไรขึ้น ด้วยความคิดเห็นของตนหรือฝีมือตนเอง มีสิ่งใดที่เป็นพยานให้นำมาตั้งสำแดงให้ปรากฏ จะเป็น ของเล่นหรือของใช้ก็ดี คิดขึ้นเองหรือทำตามแบบอย่างของใคร หรือทำตามการสั่งการในโรงเรียนก็ดี…” จึงได้ดำเนินการตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตามพระราชปณิธาน ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ที่ทรงมุ่งหวังให้เยาวชนได้เห็นความสำคัญ ของงานศิลปหัตถกรรม และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จึงประกาศแนวทางให้สำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษาทุกแห่ง ดำเนินการจัดการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 72 ปีการศึกษา 2567 โดยให้การแข่งขันสิ้นสุดที่ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และให้ถือเป็นผลการแข่งขันระดับเขตพื้นที่การศึกษา

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาบุรีรัมย์ จึงกำหนดจัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 72 ประจำปีการศึกษา 2567 ระดับเขตพื้นที่การศึกษาขึ้น ในวันที่ 11-13 ธันวาคม 2567 โดย มีกิจกรรมการแข่งขัน 9 กิจกรรม 90รายการแข่งขัน ใช้โรงเรียนที่เป็นสถานที่จัดการแข่งขัน 4 สนาม จัดการแข่งขัน ประกอบด้วย 1.โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม มีกิจกรรมการแข่งขัน คือ ภาพยนตร์สั้น Soft Power สาขาภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์, คอมพิวเตอร์ Soft Power สาขาเกม, นาฏศิลป์ Soft Power สาขาเฟสติวัล, ดนตรี Soft Power สาขาดนตรี, และโรงเรียนเรียนรวม 2.โรงเรียนบัวหลวงวิทยาคม มีกิจกรรมการแข่งขัน คือ หนังสือเล่มเล็ก Soft Power สาขาหนังสือ 3.โรงเรียนภัทรบพิตร มีกิจกรรมการแข่งขัน คือ การงานอาชีพ Soft Power สาขาอาหาร/สาขาออกแบบ/ สาขาศิลปะ, ทัศนศิลป์ Soft Power สาขาศิลปะ และ 4.โรงเรียนห้วยราชพิทยาคม มีกิจกรรมการแข่งขัน คือ สุขศึกษาและพลศึกษา Soft Power สาขากีฬา (มวย) โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 72 ประกอบด้วย โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาบุรีรัมย์ โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงเรียนเอกชน ในจังหวัดบุรีรัมย์

 

สพฐ.-สวนสุนันทา จัดงานสัมมนาวิชาการ “สุดปลื้ม” นวัตกรรมนักเรียนภาคกลางจากการเรียนรู้ด้วย Active Learning กว่า 1,200 ชิ้น ได้ผลเกินคาดนักเรียนชอบ ตอบโจทย์ เรียนดี มีความสุข ได้จริง

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดสัมมนาทางวิชาการ “การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ระดับห้องเรียน การประเมินผล และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะการคิดสู่การพัฒนานวัตกรรม” เผยแพร่สู่สาธารณชน ระดับประถมศึกษา สร้างต้นแบบ ภายใต้โครงการ 1 อำเภอ 1โรงเรียนคุณภาพ ในพื้นที่ จังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี ลพบุรี อ่างทอง สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา ณ หอประชุมพระพิรุณระลึกโปรดเกล้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์หันตรา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)เป็นประธานเปิดงานสัมมนาฯ ทั้งนี้ ดร.ภูธร กล่าวว่า ตามที่พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบนโยบาย 1 อำเภอ 1โรงเรียนคุณภาพ ที่เน้นการพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามบริบทของตนเอง ให้เกิดความเท่าเทียม เพื่อสร้างโอกาสให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน สร้างความเสมอภาค ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศในด้านการจัดการศึกษาของประเทศ ซึ่ง สพฐ.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ดำเนินการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ด้วยรูปแบบ Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เพื่อให้เด็กมีกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ มีวิธีการที่มีรูปแบบ แบบแผน มีความคิดอย่างสร้างสรรค์ ได้คิดเอง และลงมือทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจนเกิดผลงานนวัตกรรม

ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า วันนี้ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ได้มอบให้ตนมาเปิดกิจกรรมสัมมนาทางวิชาการ “การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ระดับห้องเรียน การประเมินผล และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะการคิดสู่การพัฒนานวัตกรรม” เผยแพร่สู่สาธารณชน ระดับประถมศึกษา สร้างต้นแบบภายใต้โครงการ 1 อำเภอ 1โรงเรียนคุณภาพ ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี ลพบุรี อ่างทอง สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจากการสอบถามเด็ก ๆ ที่นำผลงานมาจัดแสดง สามารถรับรู้ได้ว่า เด็กมีความสุขตามนโยบายเรียนดี มีความสุข ของ รมว.ศึกษาธิการ โดยเด็ก ๆ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากเรียนรู้แบบนี้เพราะเป็นการเรียนที่มีความสุขจริง ๆ

“วันนี้เป็นการแสดงผลงานที่มีคุณภาพเชิงประจักษ์ของเด็กใน 7 จังหวัด มีผลงานนวัตกรรมกว่า 1,200 ชิ้น ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งสิ่งที่เห็นวันนี้คือเด็กได้แสดงออกถึงศักยภาพ กล้าทำ กล้าคิด มีวิธีการคิดที่เป็นระบบมีการทำงานอย่างมีแบบแผนที่เป็นขั้นเป็นตอน ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ(พว.)ที่ช่วยดำเนินการผลักดันการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้เกิดผลเชิงประจักษ์และในอนาคตก็อยากจะให้มีการรวบรวมนวัตกรรมของเด็ก ๆ ทั้งประเทศมาจัดแสดงศักยภาพให้ยิ่งใหญ่กว่านี้ ขอให้ประชาชนติดตามดูว่าผลงานของนักเรียนไทย จะยิ่งใหญ่ขนาดไหน ซึ่งแน่นอนว่าจะไม่น้อยหน้าใคร และจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าเด็กไทยฉลาดรู้ ฉลาดคิด และฉลาดทำ ซึ่งเป็นการตอบโจทย์นโยบายของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้อย่างแท้จริง”ดร.ภูธรกล่าวและว่า เมื่อเด็กมีกระบวนการคิดขั้นสูงจะทำให้สามารถพัฒนาประเทศและเป็นที่ยอมรับของสากลได้ อย่างไรก็ตามขอฝากครูผู้บริหารโรงเรียนและผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาให้มีการขยายผลนวัตกรรมของนักเรียนออกไปให้มากๆ ให้ครอบคลุมจากหนึ่งโรงเรียนหนึ่งนวัตกรรมเป็น หนึ่งห้องเรียนหนึ่งนวัตกรรม หรือให้มีเป็นนวัตกรรมเป็นรายบุคคล และขยายไปทั้งประเทศต่อไป แต่สิ่งสำคัญนวัตกรรมที่ได้จะต้องนำไปสู่การปฏิบัติเพราะหากไม่นำไปสู่การปฏิบัติก็จะไม่เกิดประโยชน์

รศ.ดร.นันทิยา น้อยจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนเราเน้นที่กระบวนการ ดังนั้นการนำ Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เข้ามา ทำให้นักเรียนมีโอกาสคิดเชิงระบบอย่างเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น โดยโครงการความร่วมมือระหว่าง สพฐ.กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จะเน้นเรื่องของการสร้างครูให้เป็นนวัตกรก่อนแล้วถ่ายทอดสู่นักเรียน ซึ่งสิ่งที่ได้จากการดำเนินการ คือ การได้รับความร่วมมืออย่างดีจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทำให้เห็นภาพความสำเร็จในอนาคตว่าการจัดการเรียนรู้ด้วย Active Learning  จะเริ่มขึ้นเป็นจุดแล้วแตกกระจายไปทั่วประเทศ และเด็กจะได้ระบบการเรียนรู้ ฝึกเรื่องของการคิด และกระบวนการทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดซอฟพาวเวอร์ขึ้นระหว่างการทำงานของนักเรียนที่ถ่ายทอดออกมา

“เมื่อระบบการจัดการเรียนการสอนเป็น Active Learning ทั้งหมด คาดว่าคุณภาพของเด็กนักเรียนไทยจะมีมากขึ้น ความคาดหวังของมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทาในความร่วมมือครั้งนี้ คือ คิดว่ารูปแบบการจัดการเรียนการสอนทั่วประเทศในปี 2568 และ 2569 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน เป็นการพลิกโฉมการศึกษาของประเทศ และสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่ใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning”รศ.ดร.นันทิยากล่าว

ด้าน ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า ต้องขอชื่นชมกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะ สพฐ.และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่ร่วมกันพลิกโฉมการศึกษา จัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยรูปแบบ Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ซึ่งเป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาที่กำหนดไว้ เนื่องจากขณะนี้ทั้งโลกต้องการจะเปลี่ยนนักเรียนให้เป็นนวัตกร ซึ่งประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนได้เป็นรูปธรรมได้อย่างน่าภาคภูมิใจ โดยวันนี้มีนวัตกรรมของนักเรียนมาจัดแสดงถึงกว่า 1,200 นวัตกรรม ซึ่งเป็นที่น่ายินดีอย่างมากที่ทำให้เด็กสามารถเข้าถึงนวัตกรรมได้ นั่นคือทำให้ประเทศไทยสามารถพลิกโฉมการจัดการศึกษาที่สามารถเป็นผู้นำในเอเชียหรือเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่สามารถพลิกโฉมการศึกษาได้

“ขณะนี้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกทั้งในยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อเมริกา ต่างก็ให้เด็กหันกลับมาเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิดทั้งนั้น แม้แต่มือถือก็ไม่ให้นำเข้าห้องเรียน เพื่อเน้นกระบวนการคิดสร้างแบบแผน แล้วให้ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือของกระบวนการคิด ไม่ได้ให้เทคโนโลยีคิดแต่ใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาต่อยอดความคิดที่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ  เพราะการเรียนรู้ที่แท้จริงอยู่ที่ตัวนักเรียน เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 7-8 ขวบเป็นช่วงวัยที่เส้นใหญ่ประสาทพัฒนาได้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นเราจึงต้องจัดกระบวนการคิดเข้าไปตั้งแต่ในวัยนี้ หมายความว่าต้องเริ่มต้นตั้งแต่อนุบาลในการพัฒนาเส้นใยประสาทของมนุษย์ จากนั้นจึงจะมีการต่อยอดขึ้นไปโดยใช้แบบแผนที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเยาว์ให้เข้าถึงกระบวนคิดขั้นสูง เพราะปัจจุบันกระบวนการคิดของเด็กอยู่ในขั้นตอนกระบวนการคิดขั้นพื้นฐานเท่านั้น ถ้าหากการคิดถึงกระบวนการคิดขั้นสูงเทคโนโลยีก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะมาช่วยเสริมในการต่อยอดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเท่านั้น”ดร.ศักดิ์สินกล่าว

สพฐ.ย้ำนโยบายเรียนดี มีความสุข เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime ปลื้ม “กล่องความรู้ สู่ความสุข”เด็ก ม.6 ร่วมติวฟรีกว่า 5 แสนคน เล็งนำเทคโนโลยีดิจิทัล – AI สร้างการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ครั้งที่ 49/2567 โดยนำข้อสั่งการของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช, นายพัฒนะ พัฒนทวีดล, นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ zoom meeting

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า วันนี้ในที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินงานกิจกรรม “กล่องความรู้ สู่ความสุข” โดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ มีความห่วงใยน้องๆ นักเรียนที่กำลังเตรียมตัวสอบ และได้เน้นย้ำให้ สพฐ. จัดการศึกษาตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เพื่อสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำ ให้นักเรียนทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ช่วยลดภาระของผู้ปกครอง และเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime สพฐ. จึงได้จัดกิจกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนชั้น ม.6 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบวัดความถนัด (TGAT และ TPAT) จำนวน 8 วิชา ระหว่างวันที่ 2-6 ธันวาคม 2567 ผ่านระบบออนไลน์ ช่องทาง OBEC Channel ของ สพฐ. ทั้งแพลตฟอร์ม Youtube, Facebook และ TV ซึ่งในระยะเวลา 5 วัน มีนักเรียนทั่วประเทศสนใจเข้าร่วมกิจกรรมโดยรับชมผ่าน Youtube จำนวนมากถึง 5 แสนครั้ง ร่วมแสดงความเห็นกว่า 1.1 แสนข้อความ และรับชมผ่าน Facebook มากกว่า 2 แสนครั้ง ร่วมแสดงความเห็นกว่า 1.1 หมื่นข้อความ โดยจากการสำรวจความคิดเห็น นักเรียนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจมาก และต้องการให้จัดกิจกรรมนี้ต่อไปถึงร้อยละ 98.75

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า เรื่องต่อมา คือ ความคืบหน้าการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะดิจิทัล และการพัฒนาทักษะภาษา โดยการพัฒนาการจัดการเรียบการสอนที่ส่งเสริมทักษะในอนาคต (Future Skill) โดยใช้เกมเทคโนโลยีจำลองสถานการน์ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ของครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สพฐ. รวมถึงการขับเคลื่อนอีสปอร์ต (ESPORTS) ต่อยอดนวัตกรรมทางการศึกษา 2025 การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง และการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีฝาแฝดเสมือนจริงบนโลกดิจิทัล (Digital Twin 3.O) สำหรับ สพฐ. ซึ่งในส่วนของ Future skill ได้ทำ MOU ร่วมกับ มทร.สุวรรณภูมิ ในช่วงเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา ส่วนอีสปอร์ต ได้ทำ MOU ร่วมกับ มรภ.สวนสุนันทา มีนักเรียนสมัครแข่งขันอีสปอร์ตของ สพฐ. จำนวน 1,200 ทีม (นักเรียน 8,400 คน ครู 1,200 คน) และยังอยู่ระหว่างการรับสมัครจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2567 ขณะที่การพัฒนาครูด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง และ Digital Twin อยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติหลักการโครงการ และจัดทำแผนการดำเนินโครงการต่อไป

“นอกจากนี้ ยังได้หารือในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับพัฒนาคุณภาพการศึกษา เช่น การแก้ปัญหาเด็กออกนอกระบบ Thailand Zero Dropout การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อปฏิบัติหน้าที่เครือข่ายนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน การพัฒนาทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริงของผู้เรียน ทำให้มีรายได้ระหว่างเรียน-จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ การดำเนินงานโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ การประเมินผลการศึกษาผ่านระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) การสร้างความปลอดภัยให้กับผู้เรียน เป็นต้น เพื่อให้นักเรียนและครูทุกคน “เรียนดี มีความสุข” ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมในทุกพื้นที่” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

สภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย ประกาศจุดยืน ไม่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฏหมาย


เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2567 ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดร.นิวัตร นาคะเวช นายกสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายพิศณุ ศรีพล อุปนายกสภาฯ ,นางสาวอิงฟ้า ประยูรสุข รองเลขาธิการสภาฯ และนางเอมอร วัฒนา ครูอาวุโส ร่วมประกาศจุดยืนเสียงประชาชน ถึงรัฐบาลและรัฐสภา : คนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า โดย มี แถลงการณ์สภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย ว่า

“สภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย มีสมาชิก 21,790 คน มีหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวและสนับสนุนส่งเสริมการคุ้มครองดูแลปกป้องเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ
สภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย จึงขอประกาศจุดยืนให้รัฐสภาและรัฐบาลคงกฏหมายห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อปกป้องลูกหลานไทยจากภัยบุหรี่ไฟฟ้า”

 

อาชีวะอาสา จับมือ ขนส่งทางบก ตั้ง 150 จุดบริการประชาชนทั่วประเทศ ช่วงปีใหม่ 2568 เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีลงนามในบันทึกความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการดำเนินโครงการบูรณาการตั้งจุดบริการอำนวยความสะดวกเพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง ช่วงเทศกาลปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับ กรมการขนส่งทางบก โดยนายจิรุตน์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวว่า ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ ขอขอบคุณและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมสนับสนุนความร่วมมือระหว่าง สอศ. กับ กรมการขนส่งทางบก ในการดำเนินงานโครงการบูรณาการตั้งจุดบริการอำนวยความสะดวกเพื่อความปลอดภัยร่วมกับ สอศ. ช่วงเทศกาลปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ซึ่งมีเป้าหมายส่งเสริมความปลอดภัยในการเดินทางและสร้างจิตสำนึกในการขับขี่ที่ปลอดภัยในช่วงเทศกาลสำคัญของประเทศ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งมั่นให้การศึกษาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาชุมชนและสังคม สร้างทักษะวิชาชีพและส่งเสริมการมีจิตอาสา ให้เยาวชนมีส่วนในการพัฒนาประเทศ ตลอดจนเสริมสร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงให้แก่ผู้เรียนอาชีวศึกษา และมีทักษะที่สามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพในอนาคต

 

“นับเป็นร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนโครงการฯ ขอให้ทุกท่านร่วมสร้างความตระหนักและความปลอดภัยในการเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่และเทศกลาสงกรานต์ปี พ.ศ. 2568 และโครงการนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความปลอดภัยและความสุขในช่วงเทศกาลสำคัญของประเทศไทย และส่งเสริมการร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนอย่างต่อเนื่องในอนาคตต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว

นายยศพล กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กรมการขนส่งทางบก จำนวน 16,430,400 บาท (สิบหกล้านสี่แสนสามหมื่นสี่ร้อยบาทถ้วน) เพื่อให้ประชาชน นักเรียน และนักศึกษา ตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมของรถและการขับขี่อย่างปลอดภัย รวมถึงการป้องกันอุบัติเหตุจากความบกพร่องของรถยนต์และอุปกรณ์ต่าง ๆ นอกจากจะสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนแล้ว ยังเป็นการพัฒนาทักษะ และปลูกฝังจิตอาสาให้กับนักเรียนอาชีวศึกษา ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายเพื่อร่วมกันสร้างสังคมไทยที่ปลอดภัยและมีความสุขยิ่งขึ้น
ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าว ได้กำหนดการตั้งจุดบริการ “อาชีวะ-ขนส่ง อาสาช่วยประชาชน” จำนวน 150 จุดใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 ถึง 2 มกราคม 2568 เวลา 06.00-19.00 น. เพื่อให้บริการประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ บนถนนสายหลัก และเส้นทางที่มีการคมนาคมจำนวนมาก ใกล้เคียงชุมชน ให้บริการตรวจสภาพรถยนต์ รถจักรยนต์ และรถไฟฟ้าในเบื้องต้น รวมถึงการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ซ่อมแซมยานพานะ ในกรณีฉุกเฉิน จุดบริการพักคน พักผ่อนระหว่างเดินทาง จุดบริการเคลื่อนที่ และให้คำแนะนำเส้นทางสำหรับผู้เดินทาง ทั้งนี้เรื่องความปลอดภัยของครูและนักเรียน นักศึกษา ที่เข้าปฏิบัติหน้าที่และการตั้งจุดบริการต้องอยู่ในความปลอดภัย ซึ่ง สอศ. ขอยืนยันว่าจะดำเนินงานอย่างเต็มศักยภาพ และเกิดผลสัมฤทธิ์ ตามเป้าหมายของโครงการที่ตั้งไว้

ด้าน นายจิรุตน์ กล่าวว่า การดำเนินความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการจัดกิจกรรมภายใต้ชื่อ “อาชีวะ-ขนส่ง อาสาช่วยประชาชน” โดยกรมการขนส่งทางบกได้รับจัดสรรงบประมาณจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เพื่อสนับสนุนโครงการฯ และเป็นการแสดงเจตจำนงในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจัง อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมและพัฒนาทักษะนักศึกษา และให้นำความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคม มีจิตอาสาช่วยเหลือผู้อื่น ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำกิจกรรมที่นำไปสู่การลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้งร่วมกันกำหนดแนวทางและเป้าหมายในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้มีความสอดคล้องกันทั่วประเทศ

“ขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในความมุ่งมั่นตั้งใจ ความเสียสละ และน้อง ๆ นักศึกษาอาชีวศึกษา ที่ร่วมมือร่วมใจจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่าต่อประเทศชาติ และประชาชนเป็นอย่างยิ่ง” นายจิรุตน์ กล่าว

สพฐ. จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โครงการโรงเรียนสุจริต” ระดับประเทศ

วันที่ 7 ธันวาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มอบหมายให้ นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การนำเสนอผลงาน การประกวดแข่งขันกิจกรรมการเรียนรู้ ภายใต้โครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในสถานศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (โครงการโรงเรียนสุจริต) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ระดับประเทศและกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (9 ธันวาคม) ณ โรงแรมเอวาน่า กรุงเทพมหานคร โดยมี นายจักรพงษ์ วงค์อ้าย รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา กล่าวรายงาน และโอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก นายทวิชาติ นิลกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) นายอุทิศ บัวศรี อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นางสมพร สมผดุง ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นางสวรรยา รัตนราช ผู้อำนวยการสำนักต้านทุจริตศึกษา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รวมถึงข้าราชการและบุคลากรของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วมกิจกรรมในพิธี

นายภูธร กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การแก้ไขปัญหาการทุจริต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการในทุกภาคส่วนของสังคมไทย โดยเฉพาะภาคการศึกษาที่มีบทบาทหน้าที่ในการให้ความรู้และปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติในอนาคต สพฐ. ในฐานะที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ของประเทศได้บูรณาการความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมการด้านการป้องกันการทุจริตของหน่วยงานในสังกัด จึงได้จัดทำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาสำหรับใช้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำหลักสูตรการทุจริตศึกษาไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาโดยมุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของการกระทำทุจริตในลักษณะต่าง ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตความสำคัญของการต่อต้านการทุจริต โดยหลักสูตรต่าง ๆ ที่ได้พัฒนาขึ้น จะมีความสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่กำหนดเป้าหมายหลัก ให้ภาครัฐมีความโปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบผ่านการพัฒนาคนและการพัฒนาระบบ โดยให้ความสำคัญกับการปรับและหล่อหลอมพฤติกรรม “คน” ทุกกลุ่มในสังคม ให้มีจิตสำนึกและพฤติกรรมยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต มุ่งเน้นการปรับพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน ผ่านหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติรวมถึงขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (โครงการโรงเรียนสุจริต)

“สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกท่านใช้ประโยชน์จากเวทีแห่งนี้ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียนไปสู่การขับเคลื่อนโครงการที่มีเป้าหมายใหญ่ร่วมกันในอนาคต คือ การสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ภายใต้สถานการณ์ความท้าทายของสังคมไทยในปัจจุบัน กับการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้น” ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

สำหรับกิจกรรมฯ ดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมเอวาน่า กรุงเทพฯ โดยภายในงานแบ่งเป็นกิจกรรมในรูปแบบออนไซต์ (On Site) และ กิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ (Online) รวมถึงมีการจัดแสดงนิทรรศการ อาทิ นิทรรศการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุจริต แสดงผลการดำเนินงาน และภาพความสำเร็จของการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาออนไลน์ (ITA Online) นิทรรศการให้คำปรึกษาเพื่อเตรียมรับการประเมิน ITA Online ระดับสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาออนไลน์ (ITA Online Clinic) เป็นต้น

ศธ. ขอบคุณนายกฯ และ ครม. หลังจัดสรรงบอาหารกลางวัน ม.1-3 โรงเรียนขยายโอกาส “พี่อิ่มท้อง น้องอิ่มใจ”

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2567 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน​ ได้มีหนังสือแจ้งแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณอาหารกลางวันของนักเรียน ม. 1-3 ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดแล้ว เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน​สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ได้ออกหนังสือเน้นย้ำให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแจ้งแนวทางการปฏิบัติให้โรงเรียนในสังกัดทราบเช่นกัน และให้ดำเนินการตามอย่างเคร่งครัดในการบริหารจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 และให้โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาเริ่มจัดอาหารกลางวันโดยเพิ่มกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมนักเรียนระดับชั้น ม. 1-3 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อให้ได้เด็ก​ ๆ​ รับประทานอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน และเป็นไปตามมติ​ ครม.​ เมื่อวัน 26 มีนาคม 2567

ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร และคณะรัฐมนตรีเป็นอย่างสูง ที่เล็งเห็นถึงปัญหาปากท้องของเด็กในโรงเรียน จนเคาะมติเห็นชอบ​ให้สถานศึกษาจัดอาหารกลางวันแก่นักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาส เงินอุดหนุนสำหรับอาหารของเด็กกลุ่มนี้จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก ด้วยโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ดังนั้นโรงเรียนขยายโอกาสจึงเป็นความหวังของเด็กที่ไปเรียนในเมืองไม่ได้เพราะค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ ทำให้มีความเสี่ยงหลุดจากระบบ​การศึกษา​

จากการที่ ศธ.ได้สำรวจพบว่านักเรียนในช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นยังคงขาดแคลนโภชนาการที่จำเป็น ส่งผลให้เด็กเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อปัญหาทางสุขภาพ​ และการเรียนรู้ที่ไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงได้เสนอแนวคิดนี้ให้โรงเรียนขยายโอกาส ที่ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่ยังขาดแคลน​ และมักเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งเปิดโอกาสให้เด็กมัธยมต้นต่างจังหวัดได้เรียนจนจบ แต่ปัญหาที่พบคือเด็กโตไม่มีอาหารกลางวันกิน ศธ.จึงต้องการ​ขยายการจัดสรรอาหารกลางวันให้ครอบคลุมถึง ม.1-ม.3

ที่ผ่านมาเราทราบดีว่าคุณครูและโรงเรียนแก้ไขปัญหากันเองมาโดยตลอด บางโรงเรียนใช้หลักการพึ่งพาตนเอง ครูต้องเอาเงินส่วนตัวเพิ่มเพื่อให้เด็กอิ่มท้อง อย่างกรณีครูที่นำค่าอาหารกลางวันเด็กประถมไปเกลี่ยให้นักเรียนชั้นมัธยมได้กินด้วย จนถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดว่าทุจริตอาหารกลางวันเด็ก เป็นเหตุถูกให้ออกจากราชการ เข้าใจว่าด้วยจิตวิญญาณความเป็นครูที่มีจิตใจรักลูกศิษย์ เมื่อเห็นพี่หิวแล้วต้องมองน้องกินข้าวก็ต้องพยายามช่วยเหลือเด็กทุกคนให้ได้กินอิ่มกันถ้วนหน้า แต่อาจเกิดผลกระทบทั้งโรงเรียน เพราะเด็กได้กินแต่ไม่อิ่ม​ หรือเด็กอิ่มแต่ไม่ถึงโภชนาการ ส่งผลให้รับประทานอาหารกลางวันแบบไม่เต็มคุณภาพทั้งพี่และน้อง แม้จะหวังดีต่อลูกศิษย์แต่ตามหลักการของระเบียบที่กำหนดไว้จึงทำให้ความผิดตกมาอยู่ที่ครู

กรณีดังกล่าว​เข้า​ใจถึงเจตนาที่ดีของครู​ แต่วิธีการ​ขัดต่อข้อกฎหมาย ศธ.จึงผลักดันโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนขยายโอกาสสำหรับชั้น ม.1-ม.3 อย่างจริงจังตั้งแต่​เมื่อปีที่แล้ว เพื่อช่วยแก้ปัญหาในภาพรวม จนมีมติ ครม.ออกมาให้จัดสรรงบประมาณอาหารกลางวันให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนขยายโอกาสเพื่อให้น้องมีกินพี่อิ่มท้อง

ส่วนเรื่องของจำนวนเงินอุดหนุนที่ไม่เท่ากัน อยากให้มองว่าโรงเรียนในไทยมีขนาดไม่เท่ากัน ซึ่งปัจจุบันงบประมาณจัดการอาหารกลางวันใช้อัตราจำนวนนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นเด็กเล็กถึง ม.3 ในการกำหนดขนาดของโรงเรียน
นักเรียน 1 – 40 คน อัตรา 36 บาท/คน/วัน
นักเรียน 41 – 100 คน อัตรา 27 บาท/คน/วัน
นักเรียน 101 – 120 คน อัตรา 24 บาท/คน/วัน
นักเรียน 121 คนขึ้นไป อัตรา 22 บาท/คน/วัน

ปัจจุบันงบประมาณจัดการอาหารกลางวันอยู่ที่ 22 บาท ต่อคน ต่อมื้อ นี่คือราคาของโรงเรียนขนาดใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าทุกอย่างมีต้นทุน อย่างเช่นโรงเรียนที่มีเด็ก 80 คน​ ได้วันละ 22 บาท พอเอายอดมาคำนวณดูแล้วเป็นไปไม่ได้เลยที่เงินจำนวนนี้จะทำอาหารที่ดีถูกหลักโภชนาการ ผลเลยไปตกอยู่กับเด็กที่ต้องถูกลดทอนคุณภาพและปริมาณของอาหารลงมา ซึ่ง​อีกปัจจัยกระทบโดยตรงคือเรื่องของต้นทุนและราคาสินค้าในปัจจุบันที่พุ่งสูงขึ้นในขณะที่งบประมาณยังเท่าเดิม

แม้โรงเรียนจะมีการเรียนการสอนที่ดี แต่หากภาวะโภชนาการของเด็กยังขาดตกบกพร่องจากการได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วนย่อมส่งผลต่อสมาธิในการเรียน เมื่อเกิดความหิวอาจทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าเรามอบความอิ่มท้องให้กับเค้าเด็กก็จะมีความสุขอยากมาโรงเรียนทุกวัน เพราะอยู่ที่บ้านไม่ได้ทานอาหารอิ่มท้องแบบนี้ ทำให้เด็กมาเรียนอย่างสม่ำเสมอลด​ อัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษา​ได้ด้วย

ศธ.มีคู่มือ “Thai School Lunch” ที่เป็นระบบต้นแบบการคำนวนโภชนาการและปริมาณอาหารแต่ละมื้อให้เพียงพอกับความต้องการของนักเรียน ส่งนด้านงบประมาณและคุณภาพของวัตถุดิบก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะโรงเรียนขนาดใหญ่สามารถซื้อวัตถุดิบได้ในปริมาณที่มากต้นทุนย่อมถูกกว่าโรงเรียนขนาดเล็กที่ซื้อปริมาณน้อยกว่า ดังนั้นเมื่อต้นทุนต่างกันค่าใช้จ่ายต่างกันเงินอุดหนุนจึงต่างกันตามปริมาณและความเหมาะสม

ที่ผ่านมาขอชื่นชมในความพยายามของครูที่ต้องการจะยกระดับการจัดการด้านอาหารกลางวันที่ดีให้กับผู้เรียนแต่อยากให้มองเห็นถึงกฎระเบียบที่ตั้งไว้ด้วยทำอย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามหลัง “อย่าผิดพลาดจากความเคยชิน” จนเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นเรื่องปกติ เพราะเด็กทุกคนควรได้รับอาหารที่มีคุณภาพเท่าเทียมไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ไหนก็ตาม ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันดำเนินการอยากถูกต้องเพื่อส่งมอบอาหารที่ดีมีคุณภาพโภชนาการครบถ้วนให้ผู้เรียนของเรา อย่ามองเพียงแค่ว่าอาหารกลางวันเป็นสิ่งเล็กน้อย เพราะสำหรับเด็กบางคนแค่อาหารธรรมดาเพียงมื้อเดียวก็สามารถทำให้เขารู้สึกพิเศษได้ในชีวิต

ศธ.แถลงจบดราม่า “ครูเบญ”ชื่อหาย กระบวนการสรรหาถูกต้อง ผิดพลาดที่กระบวนการประกาศรายชื่อ สพฐ.สั่งสอบวินัยร้ายแรงผู้เกี่ยวข้องแล้ว

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2567 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) แถลงข่าวผลการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณี ครูเบญ หรือ  นางสาวเบญญาภา เย็นอุดม สอบติดพนักงานราชการทั่วไป ตำแหน่งครูผู้สอน ลำดับที่ 1 เอกวิทยาศาสตร์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสระแก้ว (สพม.สระแก้ว) แต่เมื่อผ่านไป 3 วัน สพม.สระแก้ว ได้มีการประกาศรายชื่อผู้ผ่านการสรรหาและเลือกสรรเป็นพนักงานราชการทั่วไป ครั้งที่ 2 ปรากฏชื่อบุคคลอื่นเป็นผู้สอบได้ในลำดับที่ 1 แทนโดยชื่อของนางสาวเบญญาภาหายไปจากบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการสรรหาและเลือกสรรเป็นพนักงานราชการทั่วไปดังกล่าว โดย นายสิริพงศ์ กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุดังกล่าวสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงโดยมี นายธีร์ เป็นประธาน ขณะเดียวกันเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความโปร่งใส บริสุทธิ์ และยุติธรรม พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยเชิญผู้ที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นกลาง ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ข้าราชการสังกัด สพฐ. ให้เข้ามาร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง ประกอบด้วย นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รองอัยการสูงสุด เป็นประธานกรรมการ พลตำรวจตรี จรูญเกียรติ ปานแก้ว  รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และพลตำรวจตรี ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นกรรมการ นายโกวิท คูพะเนียด ผู้อำนวยการสำนักนิติการ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเลขานุการ และนายสุภกฤต ทิพย์กุล นิติกรชำนาญการพิเศษเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

นายสิริพงศ์ กล่าวว่า ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ปรากฏว่า การดำเนินการสรรหาและเลือกสรรพนักงานราชการทั่วไป ตำแหน่งครูผู้สอน สังกัด สพม.สระแก้ว ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการสรรหาและเลือกสรรพนักงานราชการทั่วไป ตามประกาศคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการสรรหาและเลือกสรรพนักงานราชการ และแบบสัญญาจ้างของพนักงานราชการ พ.ศ. 2552 แล้ว และในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่พบข้อพิรุธใด ในขั้นตอนการดำเนินการตั้งแต่การออกประกาศรับสมัครจนถึงขั้นตอนการประกาศผลการสอบคัดเลือกในวันที่ 9 กันยายน 2567 จนกระทั่ง หลังจากที่มีการลงประกาศรายชื่อผู้ผ่านการสรรหาและเลือกสรรฯ ในเว็บไซต์ของ สพม.สระแก้ว ปรากฏว่า มีบุคคลภายนอกนำข้อสอบบางข้อไปโพสต์ใน Social ว่าข้อสอบผิด และมีผู้โทรมาสอบถามเจ้าหน้าที่ของ สพม.สระแก้ว เกี่ยวกับข้อสอบที่ผิด และถามถึงการดำเนินการว่า มีการดำเนินการในเรืองที่ข้อสอบผิดอย่างไร

เมื่อนายประยงค์ สารภูมิ ผู้อำนวยการ สพม.สระแก้ว ได้รับทราบปัญหาดังกล่าวจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการทบทวนการออกแบบทดสอบฯ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของแบบทดสอบและเฉลยอีกครั้ง เมื่อพบถึงความผิดพลาดในการออกข้อสอบและเฉลยข้อสอบ จึงได้มีการดำเนินการตรวจกระดาษคำตอบของผู้เข้าสอบใหม่ และมีการประมวลผลคะแนนใหม่ทั้งหมดทุกสาขาวิชาโดยคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ทำให้พบว่าประกาศรายชื่อผู้ผ่านการสรรหาและเลือกสรรพนักงานราชการฯ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567 ในสาขาวิชาเอก วิทยาศาสตร์ทั่วไป ปรากฏชื่อบุคคลที่ได้รับการสรรหาและเลือกสรรในลำดับที่ 1 ได้แก่ นางสาวเบญญาภา เย็นอุดม รหัสประจำตัวสอบ 100400021 ทั้งที่การประมวลผลคะแนน นางสาวเบญญาภา เย็นอุดม ได้คะแนนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ คือ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ในบางภาค จึงไม่ผ่านการสรรหาและเลือกสรรฯ แต่ผู้ที่ผ่านการสรรหาและเลือกสรรฯ คือ นางสาวปิยะโสภิชา นาคพงษ์ รหัสประจำตัวสอบ 1004000020 ซึ่งมีรายชื่ออยู่ในลำดับติดกัน  นอกจากนี้ เมื่อมีการประมวลผลคะแนนครั้งที่สอง มีผู้สอบได้เพิ่มขึ้นในบางสาขาวิชา และลำดับการสอบได้เปลี่ยนแปลงไป สพม.สระแก้ว จึงได้ประกาศแก้ไข บัญชีรายชื่อเพื่อให้ตรงกับข้อมูลจากการประมวลผลคะแนนการสอบในครั้งที่ 2

สำหรับกรณีที่มีการประกาศรายชื่อผู้ผ่านการสรรหาผิดพลาดนั้น เกิดจากเจ้าหน้าที่ของ สพม.สระแก้ว ที่มีหน้าที่จัดทำประกาศรายชื่อผู้ผ่านการสรรหาและเลือกสรรฯ ที่ได้รับการเร่งรัดจากผู้บังคับบัญชาให้ดำเนินการเสนอประกาศรายชื่อผู้ผ่านการสรรหาและเลือกสรรฯ เจ้าหน้าที่ผู้นั้นจึงได้จัดทำหน้าประกาศรายชื่อผู้ผ่านการสรรหาและเลือกสรรฯ โดยเสนอให้ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานบุคคล และรองผู้อำนวยการ สพม.สระแก้ว ซึ่งกำกับดูแลกลุ่มบริหารงานบุคคล ตรวจสอบตามลำดับชั้น โดยยังไม่ได้แนบบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการสรรหาและเลือกสรรฯ เนื่องจากยังไม่ได้รับซองสรุปผลคะแนนประมวลผล

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ได้นำหน้าประกาศรายชื่อผู้ผ่านการสรรหาและเลือกสรรฯ เสนอ ผู้อำนวยการ สพม.สระแก้ว ลงนาม ต่อมาเมื่อมีการเปิดซองประมวลผลคะแนนการสอบ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจึงได้จัดทำเอกสารบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการสรรหา และเลือกสรรฯ แนบท้ายประกาศ โดยพิมพ์รายชื่อแนบท้ายประกาศรายชื่อผู้ผ่านการสรรหาและเลือกสรรฯ จากเอกสารประมวลผลคะแนน เมื่อพิมพ์เสร็จ ได้ส่งรายชื่อแนบท้ายประกาศให้เจ้าหน้าที่ธุรการ นำไปเสนอผู้อำนวยการ สพม.สระแก้ว แต่ไม่ได้แนบเอกสารประมวลผลคะแนนไปด้วย จึงไม่มีผู้ใดตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการสรรหาเลือกสรรฯ ที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นจัดทำขึ้น ทำให้ไม่พบข้อผิดพลาดดังกล่าว  จนกระทั่งมีการตรวจกระดาษคำตอบและประมวลผลคะแนนใหม่ เนื่องจากมีข้อสอบผิด จึงทำให้พบว่าบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการสรรหาและเลือกสรรฯ วิชาเอกวิทยาศาสตร์ทั่วไป ผิดพลาด สพม.สระแก้ว ดำเนินการประกาศแก้ไขบัญชีรายชื่อๆ ใหม่ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง โดยในการตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่พบพฤติกรรมใดที่ส่อไปในทางไม่สุจริต

นอกจากนี้ สพฐ.ได้ส่งกระดาษคำตอบของนางสาวเบญญาภา เย็นอุดม และนางสาวปิยะโสภิชา นาคพงษ์ ให้สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ตรวจสอบลายมือชื่อและร่องรอยการแก้ไขกระดาษคำตอบแล้ว ไม่พบความผิดปกติใด อีกทั้ง นางสาวเบญญาภา เย็นอุดม ก็ได้ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงของ สพฐ. ว่าได้ตรวจสอบชุดข้อสอบและกระดาษคำตอบ ที่คณะกรรมการนำมาให้ดูแล้ว ยืนยันว่าเป็นของตน และได้ตอบคำถามตรงตามข้อสอบจริง

คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ให้นางสาวเบญญาภา เย็นอุดม ตรวจสอบคำตอบกับเฉลยข้อสอบ พบว่าได้คะแนนตรงตามคะแนนที่คณะกรรมการประมวลผลคะแนนจัดทำไว้จริง และทราบว่าตนได้คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60 พร้อมยืนยันว่าไม่ติดใจในผลคะแนนการสอบ และจากการสอบถาม นายธีร์ ภวังคนันท์ ประธานกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงของ สพฐ. ยืนยันว่า นางสาวเบญญาภา เย็นอุดม ได้ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงด้วยความเต็มใจ ไม่ได้เกิดจากการขู่เข็ญหรือคุกคามแต่อย่างใด ส่วนเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการสรรหาและเลือกสรรฯ คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงก็ได้ยึดหรืออายัดมาเก็บรักษาไว้ที่ สพฐ. กรณีดังกล่าว จึงเชื่อได้ว่าไม่ได้มีการดำเนินการแก้ไขผลการสอบใด ๆ

ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้ประสานเพื่อขอให้นางสาวเบญญาภา เย็นอุดม มาให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว แต่นางสาวเบญญาภา เย็นอุดม ปฏิเสธการเข้าพบคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ดังนั้น จากการรวบรวมพยานหลักฐาน ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการสรรหาและเลือกสรรฯ รายใด มีพฤติการณ์เรียกรับเงินหรือผลประโยชน์อื่นใด เพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขผลการสรรหาและเลือกสรรฯ อันเป็นการช่วยเหลือหรือเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เข้ารับการสรรหาหรือเลือกสรรฯ รายหนึ่งรายใด ที่ส่อไปในทางทุจริต

การดำเนินการจัดทำประกาศรายชื่อผู้ผ่านการสรรหาและเลือกสรรฯ ผิดพลาด เกิดจากการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ไม่แนบเอกสารประมวลผลคะแนนการสอบ พร้อมกับการเสนอร่างประกาศรายชื่อผู้ผ่านการสรรหาและเลือกสรรฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีรายชื่อแนบท้ายประกาศรายชื่อผู้ผ่านการสรรหาและเลือกสรรฯ ซึ่งปัจจุบัน สพฐ.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว

สำหรับเหตุผลที่ต้องมีการแถลงข่าววันนี้ ก็เพื่อแสดงข้อเท็จจริงจากการสอบสวนว่ากระบวนการสรรหาไม่ได้มีส่วนที่ขัดต่อระเบียบหรือผิดกฎหมาย แต่กระบวนการในการประกาศมีความประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสังคม และผู้ที่กระทำความผิดก็ต้องได้รับการลงโทษ แต่เมื่อกระบวนการบรรจุแต่งตั้งมีผู้ได้รับผลกระทบคือผู้ที่ได้รับการบรรจุยังไม่สามารถเข้าสู่ตำแหน่งได้ วันนี้จึงต้องมีการแถลงข่าวเพื่อให้กระบวนการเดินหน้าต่อไปได้ สำหรับ นายประยงค์ สารภูมิ ผู้อำนวยการ สพม.สระแก้ว นั้น สพฐ.ได้มีคำสั่งให้ไปเป็น ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)กาญจนบุรี เขต 4 แต่เจ้าตัวยังไม่ได้ไปรับตำแหน่งเนื่องจากอยู่ระหว่างถูกสั่งพักราชการ

เริ่มแล้ว ประชุมวิชาการ อวท. ภาคใต้ ครั้งที่ 35 และแข่งขันทักษะวิชาชีพ ทักษะพื้นฐาน “สร้างผู้เรียนฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” เน้นพัฒนาทักษะอาชีพ สร้างความเป็นผู้นำ สู่ความยั่งยืน

วันที่ 3 ธันวาคม 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ( กอศ.) มอบหมายให้ นายณรงค์ชัย เจริญรุจิทรัพย์ รองเลขาธิการ กอศ. เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย (อวท.) ระดับภาคใต้ ครั้งที่ 35 ปีการศึกษา 2567 และการแข่งขันทักษะวิชาชีพและทักษะพื้นฐาน โดยมีว่าที่ร้อยตรี กิตติภพ รอดดอน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวต้อนรับ นายกษิดิฏฐ์ คำศรี ประธานกรรมการบริหาร อวท. ระดับภาคใต้ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ นายดนุพล ไชยศรีโณ นายก อวท. ระดับภาคใต้ ปีการศึกษา 2567 กล่าวการจัดกิจกรรม ร่วมด้วยนายวัชระ เกิดสิน ประธานกรรมการบริหาร อวท. ระดับชาติ ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ คณะกรรมการดำเนินงาน อวท. และ สมาชิก อวท. จากสถานศึกษาภาครัฐและเอกชน 14 จังหวัด กลุ่มจังหวัดภาคใต้ และสมาชิก อวท. ภาคใต้ จำนวน 436 คน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมเขาทอย วิทยาลัยเทคนิคพังงา (วิทยาเขต 2) จังหวัดพังงา

นายณรงค์ชัย กล่าวว่า งานประชุมวิชาการ อวท. ภาคใต้ ครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 ธันวาคม 2567 มีคำขวัญว่า “อวท. ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ น้อมนำศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ปลูกฝังให้มีความรู้ความเข้าใจในระบอบการปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้กับนักเรียนนักศึกษา และองค์การที่นักศึกษาดําเนินการกิจกรรม และนำแนวคิด ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ มาใช้ กิจกรรม อวท. นอกจากจะนำพาให้นักเรียน นักศึกษาเก่งทางสมรรถนะอาชีพแล้ว ยังสร้างให้มีภาวะผู้นำ และผู้ตามที่ดี รวมถึงการทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ นี่คือสิ่งสำคัญ ซึ่งการดำเนินกิจกรรมสอดคล้องกับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ

“นักศึกษาที่มาในวันนี้ พวกเราถือว่าเป็นตัวแทนของสถานศึกษา เราไม่ได้มาแข่งขัน แต่เรามาเพื่อที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องของงานอาชีพร่วมกัน และเพื่อถ่ายทอดสิ่งที่เราเป็นมิตร ให้พวกเราใช้โอกาสนี้การสร้างเครือข่ายความร่วมมือของพวกเราทุกคน เพราะว่าในอนาคตพวกเราทุกคนต้องออกไปเป็นพลเมือง เติบโตไปเป็นกำลังสำคัญเพื่อพัฒนาประเทศชาติต่อไป“รองเลขาธิการ กอศ.กล่าวและว่า สำหรับกิจกรรม อวท. ในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. การบรรยายความรู้ด้านวิชาการแก่สมาชิกองค์การนักวิชาชีพฯ และครูที่ปรึกษา 2. การนำเสนอผลงานขององค์การมาตรฐานดีเด่นและสมาชิกดีเด่นโครงการภายใต้การนิเทศ 3. การแข่งขันทักษะวิชาชีพและทักษะพื้นฐาน จำนวน 105 ทักษะ มีนักเรียน นักศึกษา กว่า 2,000 คน เข้าร่วมการแข่งขัน และ 4. กิจกรรมการทัศนศึกษาดูงานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดพังงา

 

 สพฐ.ประเมินความเสียหายโรงเรียนภาคใต้โดนน้ำท่วมเบื้องต้นกว่า 200 ล้าน

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ  เปิดเผยว่า ในการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ วันนี้ ได้มีการรายงานความก้าวหน้า มาตรการช่วยเหลือ เยียวยาโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่มทางภาคใต้  ซึ่งได้สั่งการให้มีการเปิดสถานศึกษาในพื้นที่เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถเข้าไปพักอาศัยได้ และให้มีการจัดอาหารประกอบเลี้ยงประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถให้การสนับสนุนงบประมาณหรือวัสดุในการประกอบอาหารเลี้ยงประชาชนได้โดยติดต่อไปยังโรงเรียนที่เปิดพื้นที่ได้เลย อย่างไรก็ตามได้มีการมอบหมายให้ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) รวบรวมข้อมูลในภาพรวม รายงานทุกวัน และมอบหมายทุกหน่วยสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อของบประมาณในการฟื้นฟูต่อไปด้วย

ด้าน ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า ตัวเลขล่าสุดโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ที่ได้รับความเสียหายมีประมาณ  1,500 โรง ใน 9  จังหวัด 22 เขตพื้นที่การศึกษา คือ ประเมินค่าความเสียหายเบื้องต้นที่ต้องขอรับการสนับสนุนงบฯประมาณ  200 กว่าล้านบาท โดยพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด คือ จังหวัดยะลา สงขลา และนราธิวาส(ตอนล่าง) ซึ่งน้ำขึ้นสูงมากเกินกว่าที่เตรียมการรับมือไว้มาก โดยขณะนี้ สพฐ.ได้เตรียมงบฯและสิ่งของที่จะส่งลงไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในพื้นที่ประสบภัยแล้ว