“เสมา 1” ย้ำจัดการปัญหาเด็กหลุดระบบ แค่ ป้องกัน แก้ไข ส่งต่อ ไม่พอแล้ว หวั่นหลุดระบบซ้ำ สั่งเพิ่มการติดตามดูแลส่งให้ถึงฝั่ง

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 42/2567 ว่า  ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA  โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการขยายผลการอบรมการสร้างและพัฒนาข้อสอบฯ ในระดับเขตพื้นที่ รุ่นที่ 1 วันที่ 22 – 30 พฤศจิกายน 2567 จำนวน 15,515 คน ซึ่งมีตัวอย่างความสำเร็จของการดำเนินงานและขยายผลการอบรมการสร้างและพัฒนาข้อสอบฯ ได้แก่  1) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ อบรมฯ รุ่นที่ 1 ครบ  100%  2) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)สุพรรณบุรี เขต 3 ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ อบรมฯ รุ่นที่ 1 ครบ 100% 3) โรงเรียนเวียงแหงวิทยาคม สพม.เชียงใหม่ ผู้บริหาร ครู เข้าอบรมฯ รุ่นที่ 1 ได้ 83% นอกจากนี้มีการขยายเครือข่ายเพื่อนำองค์ความรู้ PISA ไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ ได้แก่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนกีฬา และจะมีการขยายผลสู่โรงเรียนเอกชนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.)  ขณะที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)ได้เผยแพร่วิดีทัศน์แนะนำ PISA วิดีทัศน์การอบรม เรื่อง การสร้างและพัฒนาข้อสอบความฉลาดรู้ รับชมได้ผ่าน YouTube ช่องทาง สสวท.  และมีการเปิด  LINE Openchat “การขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา” เป็นช่องทางรับข้อมูลข่าวสารและตอบข้อสงสัยต่าง ๆ ด้วย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า  สำหรับโครงการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหา “เด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา และ เด็กตกหล่น” นั้น ทางสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) ได้มีการปรับนิยามเด็กนอกระบบการศึกษา (Out Of School: OOSC)ในระบบข้อมูลของแต่ละหน่วยงานให้ตรงกัน  โดย เด็กออกนอกระบบการศึกษา หมายถึง เด็กสัญชาติไทยที่ไม่ได้เข้าถึงการจัดการศึกษาตามเกณฑ์ที่กำหนด แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ เด็กตกหล่น และเด็กออกกลางคัน  ส่วนการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษาที่อยู่ในวัยเรียน ช่วงอายุ 3-18 ปี จำนวนทั้งสิ้น 1,025,514 ล้านคน แบ่งเป็น การติดตามเด็กนอกระบบการศึกษา เด็กไทย 767,304 คน ติดตามได้ 365,231 คิดเป็น ร้อยละ 47.60 ยังติดตามไม่ได้ 402,073 คน คิดเป็นร้อยละ 52.40 นอกจากนี้มีการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษา เด็กต่างชาติ 258,210 คน ติดตามได้ 31,816 คน คิดเป็น ร้อยละ 12.32  ยังติดตามไม่ได้ 226,394 คน คิดเป็นร้อยละ 87.68

“สำหรับกระบวนการต่อไปในการขับเคลื่อนโครงการ Zero Dropout คือ ให้มีการปรับระบบร่วมกันของทุกหน่วยงาน ได้แก่ การใช้นิยามเด็กนอกระบบการศึกษาให้ตรงกันทุกหน่วยงาน โดยใช้ฐานข้อมูลของ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศนท.สป.ศธ.) เป็นหลัก และใช้ระบบ OBEC Zero Dropout ของ สพฐ.ในการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษา รวมถึงตรวจสอบข้อมูลเด็กในสถานพินิจและเด็กในวัยเรียน ที่เรียนในต่างประเทศ ร่วมด้วย โดยยึดหลักการศึกษาเท่าเทียมไม่ว่าเด็กจะอยู่ที่ไหนต้องได้รับการศึกษา” พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวและว่า ทั้งนี้ได้ให้แนวทางในการขับเคลื่อนโครงการ Zero Dropout  คือ ป้องกัน แก้ไข ส่งต่อ และ ติดตามดูแล เข้ามาแล้ว ต้องไม่ให้หลุดอีก จากเดิมที่มีเพียง ป้องกัน แก้ไข และส่งต่อ แต่วันนี้ได้เพิ่มติดตามดูแลด้วย เพราะเด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่เคยหลุดระบบมาแล้วก็มีโอกาสที่อาจจะหลุดระบบอีกครั้งก็ได้ ดังนั้นจึงต้องมีการติดตามดูแลเป็นพิเศษ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังมีการติดตามรายงานผลการเบิกจ่ายและผลการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการจำนวน 3.4 แสนล้านบาท โดยเป็นงบดำเนินงาน 210,280 ล้านบาท งบลงทุน 11,938 งบเงินอุดหนุน 92,387 ล้านบาท ซึ่งพบว่า ผลการเบิกจ่ายและผลการใช้จ่ายในภาพรวมต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด โดยเฉพาะงบลงทุน อย่างไรก็ตามได้กำชับให้ดูงบที่มีผู้ทิ้งงาน โดยเฉพาะงานที่เหลืองวดงานไม่มาก หากทิ้งไว้จะเกิดความเสียหาย ถ้าสามารถจัดสรรงบฯได้ก็ให้จัดไปหรือถ้าจัดไม่ได้ต้องของบฯกลางก็ให้ดำเนินการ เพราะจากที่ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพบว่ามีอาคารเรียนที่ถูกทิ้งงานค่อนข้างมาก ก็รู้สึกเสียดายถ้าขาดโอกาสในการดำเนินการต่อ ก็ฝาก สพฐ.ให้ดำเนินการติดตามแก้ไขให้ดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จ  นอกจากนี้ในเรื่องการเตรียมการของขวัญปีใหม่ 2568 ของกระทรวงศึกษาธิการนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยปลัดกระทรวงศึกษาธิการจะรวบรวมต่อไป แต่ที่ชัดเจนแล้ว คือ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) จะเปิดศูนย์ “อาชีวะอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน (Fix it Center) เทศกาลปีใหม่ 2568” ส่งสุข ปลอดภัย ตลอดการเดินทาง ให้บริการตรวจสภาพรถก่อนการเดินทางฟรี ทั่วประเทศ ระว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 – 3 มกราคม 2568

 

 

ศธ.จัด “แฮกกาธอน” เปิดพื้นที่ให้ “เยาวชน” ร่วมเรียนดี มีความสุข ชุมชนยั่งยืน

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดจัดกิจกรรม “OEC Hackathon : เรียนดี มีความสุข ชุมชนยั่งยืน” เป็นกิจกรรมต่อยอดจากมติที่ประชุมสภาการศึกษาเห็นชอบชุดทักษะที่จำเป็น (Essential Skills Set) สำหรับเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งถือเป็นเครื่องมือและอาวุธสำหรับการก้าวเดินต่อไปในอนาคตอย่างมั่นคงและมีศักยภาพ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาต้องการจะผลักดันและนำร่องชุดทักษะดังกล่าวให้แก่เด็กและเยาวชนไทยผ่านการจัดกิจกรรมแฮกกาธอน (Hackathon)  เพื่อจำลองรูปแบบการจัดการเรียนรู้สู่ “การเรียนดี มีความสุข” ภายใต้โจทย์นวัตกรรม “ชุมชนยั่งยืน” กิจกรรมที่เป็นการแฮก (Hack) สื่อถึงการแก้ไข ปัญหา การค้นหาทางลัด และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และมาราธอน (Marathon) สื่อถึงการทำงานและ ใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขอเชิญชวนนักเรียนนักศึกษาระดับ ม.ปลาย และ ปวช. จัดกลุ่มกันร่วมส่งไอเดียนวัตกรรมเพื่อสร้างสรรค์ความคิดและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนา “ชุมชนของตนให้ยั่งยืน” ตั้งแต่วันนี้ถึง
25 ธันวาคม 2567 นี้ โดย 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบจะได้เข้าร่วม “OEC Hackathon Camp” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ 2568 มีกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อสร้างเสริมและพัฒนาทักษะ ช่วยติดอาวุธลับคมไอเดียของแต่ละทีมให้เปล่งประกายและสามารถต่อยอดไปสู่การปฏิบัติจริงได้ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์จากวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญแนะนำกระบวนการคิดและสาธิตเครื่องมือช่วยในการแก้ปัญหาและการนำเสนอความคิดและวิธีแก้ปัญหาของทีมพร้อมคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและภาคเอกชน และทีมผู้ชนะจะได้รับโล่และรางวัล และผู้เข้าร่วมทุกคนจะได้รับ ประกาศนียบัตรจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ น้อง ๆ ที่สนใจติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook Page “สภาการศึกษา” และ “Hackathon Thailand”

 

สุรศักดิ์ ควง เลขาธิการกพฐ.เยือนเมืองกิมจิ ร่วมประชุมAPCEIU Unesco หารือความร่วมมือยกระดับคุณภาพการศึกษา

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศึกษาธิการ) พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) หารือความร่วมมือด้านการศึกษา โดยมี นาย Lim Hyun Mook ผู้อำนวยการศูนย์ APCEIU และคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์การศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Centre of Education for International Understanding: APCEIU Unesco) สาธารณรัฐเกาหลี

นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณศูนย์ APCEIU ที่ให้การสนับสนุนและมีความร่วมมืออันดีกับกระทรวงศึกษาธิการของไทยมาโดยตลอด ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องการจัดสภาพแวดล้อมของสถานศึกษา ตามนโยบายเรียนดี มีความสุข ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสนับสนุนให้นำเทคโนโลยี รวมถึง AI มาใช้ในการบริหารและจัดการศึกษา ให้เกิดการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime ดำเนินกิจกรรมโครงการตามแนวทางลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ  กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ได้ดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนครูเกาหลีและครูไทยร่วมกัน ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อยกระดับความสามารถของครูและสร้างความเข้าใจอันดีด้านวัฒนธรรม โดยศูนย์ APCEIU เป็นหน่วยประสานงาน ซึ่งในปี 2567 มีครูเกาหลีเข้ามาร่วมโครงการในโรงเรียน สพฐ. จำนวน 6 โรงเรียน และครูไทยไปปฏิบัติงานที่โรงเรียนในสาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 6 โรงเรียน และถึงปัจจุบัน มีครูผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวนรวมกว่า 280 คน

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันนักเรียนไทยสนใจเรียนภาษาเกาหลีเพิ่มสูงขึ้น โดยหลายโรงเรียนได้เปิดสอนวิชาภาษาเกาหลี ดังนั้นจึงอยากให้ขยายความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนนักเรียนและส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมทักษะด้านภาษาและยังเป็นการปลูกฝังความเข้าใจด้านวัฒนธรรม ทั้งนี้ เพื่อสร้างพลเมืองไทยให้พร้อมเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ ศูนย์ APCEIU เป็นหน่วยงานหนึ่งของยูเนสโกที่ดำเนินการโดยใช้งบประมาณของรัฐ และภาคีเครือข่ายเพื่อแสดงถึงการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมงานขององค์การยูเนสโก ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2543 ตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลีและยูเนสโก เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาด้านพลเมืองโลก (Global Citizenship Education)

เลื่อนสอบ TGAT/TPAT นักเรียน ม.6 พื้นที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วม 4 สนาม ศธ.ให้กำลังใจ เชื่อมั่นมาตรฐานข้อสอบยากง่ายเท่าเทียม

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567  นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงสถานการณ์ก่อนลงสนามสอบ TGAT/TPAT ของนักเรียนชั้น ม.6 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 7-9 ธันวาคม นี้ ซึ่งบางพื้นที่ในจังหวัดยะลาและนราธิวาสต้องเลื่อนวันสอบเนื่องจากเกิดเหตุอุทกภัยรุนแรง จึงจำเป็นต้องใช้ข้อสอบชุดใหม่อีกชุด เกิดเป็นความกังวลใจที่เกิดขึ้นกับ เด็ก ม.6 ทั่วประเทศ ว่าจะได้รับความไม่เท่าเทียมในการเตรียมตัวและการออกข้อสอบ นั้น

นายสิริพงศ์ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) จากเหตุอุทกภัยที่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างกำลังเผชิญอยู่ ยอมรับว่าเกิดผลกระทบกับนักเรียน ม.6 ที่กำลังเตรียมตัวเพื่อเข้าสอบ TGAT/TPAT ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 7- 9 ธันวาคมนี้ ศธ.ได้ประสานกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ทราบข้อมูลว่ามีประกาศชี้แจงปรับเลื่อนวันสอบ 4 สนาม ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส เป็นวันที่ 21 – 23 ธันวาคม 2567 จึงทำให้เกิดความกังวลกับตัวผู้สอบบางส่วนความมีกังวลว่าจะไม่เสมอภาคในการจัดสอบ เพราะมีข้อสอบชุดที่ 2 เพิ่มขึ้นมา

“ ขอแจ้งให้นักเรียน ม.6 .ให้เข้าใจว่า กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญและเข้าใจทุกคน เมื่อเห็นเสียงสะท้อนจากความกังวลก่อนสอบและความเห็นโลกออนไลน์ว่าอาจเกิดความเหลื่อมล้ำ ทั้งเรื่องการเตรียมตัวสอบที่ไม่เท่ากัน หรือข้อสอบ 2 ชุด ความยากง่ายต่างกัน จนต้องการให้เลื่อนสอบพร้อมกันทั้งประเทศ แต่อยากให้เข้าใจว่าการเลื่อนสอบเฉพาะพื้นที่ประสบอุทกภัยจะกระทบกับทุกฝ่ายน้อยที่สุด เพราะผู้สอบที่ไม่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เตรียมตัวมาอย่างดีแล้ว เพื่อให้ผู้สมัครสอบทุกคนมีโอกาสเข้าสอบได้อย่างเสมอภาค ทปอ.จึงพิจารณาดำเนินการอย่างรอบคอบที่สุด เพราะการสอบในครั้งนี้คือช่วงสำคัญของชีวิตในการก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยอย่างเต็มตัว”นายสิริพงศ์กล่าวและว่า ขอส่งกำลังใจให้นักเรียน ม.6 ทุกคน เตรียมตัวและตั้งใจกับสนามนี้ให้ดีที่สุด อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ ส่วนเรื่องกระบวนการจัดการ แม้จะมีการเลื่อนสอบบางสนามจากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ตอนล่าง แต่ข้อสอบที่ใช้จะเป็นข้อสอบชุดใหม่ที่คงมาตรฐานเดิม ผู้ออกข้อสอบเป็นชุดเดียวกันและออกข้อสอบในคราวเดียวกัน ครอบคลุมเนื้อหาตาม Blue print ยืนอยู่บนพื้นฐานความเสมอภาคและโอกาสในการเข้าถึงการสอบเท่าเทียมกัน ซึ่งในส่วนนี้ ทปอ.ได้เตรียมการเพื่อบริหารความเสี่ยงไว้ล่วงหน้าให้เกิดเป็นธรรมและเท่าเทียมกับทุกฝ่ายขอให้สบายใจได้

มทร.ธัญบุรี คว้า 8 รางวัลนวัตกรรม เวที SIIF 2024 ที่ เกาหลี 

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด รักษาการในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทำให้เศรษฐกิจเติบโต สังคมก้าวหน้าและประเทศแข่งขันได้ในระดับโลก ล่าสุดที่มทร.ธัญบุรี ไปร่วมแข่งขันที่ SIIF 2024 เป็นอีกความสำเร็จที่สะท้อนศักยภาพของคณาจารย์และนักศึกษา ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรม นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน

สำหรับรางวัล Gold Prize และ NRCT Special Award ตกเป็นของผลงาน “นวัตกรรมเซลล์เคมีไฟฟ้าขั้นสูงร่วมเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับควบคุมโรคและการแตกตัวของปุ๋ยในระบบไฮโดรโปนิกส์” โดย น.ส.กัญญารัตน์ หมัด น.ส.นวลลออ ยามาโอะ และน.ส.ทิตสุชา อุทยานิล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้การดูแลของ รศ.ดร.ฉัตรชัย พลเชี่ยว ร่วมกับบริษัท วอเทอร์ป๊อก จำกัด อีกหนึ่งรางวัล Gold Prize คือผลงาน OilSorbPack: วัสดุดูดซับน้ำมันประสิทธิภาพสูง” โดยน.ส.ศิริชล บัวบุญ และนายพฤติพงศ์ พันธมนัสโสภา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ รศ.ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ ร่วมกับ ศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ไทยยูคิล่อน จำกัด

นอกจากนี้ ผลงาน “นวัตกรรมครีมกันแดดชะลอวัยจากสารสกัดสาหร่ายองุ่นที่มีสารฟลาโวนอยด์สูงที่กักเก็บในอนุภาคทรานส์เฟอร์โซมสำหรับผิวแพ้ง่าย” โดย รศ.ดร.กรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์ คณะการแพทย์บูรณาการ และมีผู้ร่วมวิจัยคือ น.ส.วิรินดา ชมภู น.ส.กิตติ์รวี สมอไทย รวมถึงบริษัท เอ็มที เนเชอรอล เฮิร์บ จำกัด ได้รับรางวัล Gold Prize และรางวัลพิเศษจากประเทศไต้หวัน

ขณะที่ผลงาน “เจลครีมบำรุงรอบดวงตาจากสารสกัดดอกดาวเรืองกักเก็บในไลโปโซมเพื่อต่อต้านริ้วรอยและบำรุงผิว” โดย น.ส.จุฑามาต พงศ์นาคินทร์ และน.ส.ธนวันต์ สุวรรณพันธ์ คณะการแพทย์บูรณาการ คว้า Bronze Prize ซึ่งมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ รศ.ดร.กรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์ รวมถึงผลงาน “ผลิตภัณฑ์งานสร้างสรรค์จากใบตองย้อมสีธรรมชาติ” โดยผศ.โสภิดา วิศาลศักดิ์กุล และรศ.ดร.อรวัลภ์ อุปถัมภานนท์ จากคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ได้รับ Bronze Prize และ Special Prize จากประเทศอิหร่าน

รศ.ดร.เกียรติศักดิ์ แสงประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ธัญบุรี กล่าวเสริมว่า ความสำเร็จครั้งนี้ตอกย้ำความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยในการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ปัญหาระดับโลก พร้อมผลักดันการวิจัยสู่ระดับสากล และการได้รับรางวัลครั้งนี้ไม่เพียงสร้างชื่อเสียงให้แก่มทร.ธัญบุรี และประเทศไทย แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักศึกษารุ่นใหม่และผู้สนใจศึกษาต่อ การผนึกกำลังระหว่างนักวิจัย คณาจารย์ และพันธมิตรภาคอุตสาหกรรม ยิ่งแสดงถึงความเข้มแข็งของการวิจัยและพัฒนาที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งต่อสังคมและเศรษฐกิจ และยังแสดงถึงความก้าวหน้าของการพัฒนาประเทศด้วยวิจัยและนวัตกรรม ผู้สนใจติดตามต่อที่ https://www.facebook.com/irdofrmutt และ https://ird.rmutt.ac.th

“เพิ่มพูน” ห่วงน้ำท่วมใต้ สั่งตั้งศูนย์ Fix it Center คืนรอยยิ้มและความสุขประชาชน พร้อมกำชับเร่งตรวจความเสียหายของบกลาง

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567  นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ตอนล่างของไทย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีความห่วงใยถึงผู้เรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ จึงได้มีข้อสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดตั้งศูนย์ “Fix it Center อาชีวะ ร่วมด้วยช่วยประชาชน” พื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอสงขลา พร้อมจัดศูนย์ช่วยเหลือพักพิงผู้ประสบภัย เพื่อฟื้นฟูและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ โดยได้วางมาตรการช่วยเหลือแบบเดียวกับที่ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดเชียงราย ช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย ดูแลทำความสะอาดบ้านเรือนและสถานศึกษา พร้อมซ่อมแซมข้าวของเครื่องใช้ เพื่อคืนรอยยิ้มและความสุขที่ยิ่งใหญ่จากใจชาวกระทรวงศึกษาธิการ

ส่วนเรื่องที่ต้องกำชับมากที่สุดในตอนนี้คือให้ทุกหน่วยงานและสถานศึกษา เร่งตรวจสอบความเสียหาย เช่น อาคารเรียน หอพัก บ้านพักครู ครุภัณฑ์ อุปกรณ์สื่อการเรียนการสอน พร้อมรายงานกลับมายังต้นสังกัด เพื่อรวบรวมประมาณการเสนอขอรับอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ในการฟื้นฟู เยียวยาและบรรเทาทุกข์จากอุทกภัยใหญ่ในครั้งนี้ โดยใช้แนวทางเดียวกับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่ผ่านมา ดูให้ครอบคลุมรอบด้าน ทั้งเรื่องเงินอุดหนุน อาคาร สถานที่ วัสดุครุภัณฑ์ให้ครบถ้วน

สุดท้ายนี้ ฝากไปถึงหน่วยงานและโรงเรียนคงเป็นเรื่องความปลอดภัยการเอื้อเฝื้อแก่ชาวบ้าน แน่นอนว่าชุมชนหรือคนในพื้นที่ต้องมีการถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมายาวนานด้วยน้ำใจที่เต็มเปี่ยมและความสัมพันธ์ที่ดี สถานศึกษาใดที่มีพร้อมในการเปิดเป็นศูนย์พักพิงขอให้ดำเนินการได้ตามความเหมาะสม หรือจำเป็นจะต้องปิดการเรียนการสอนให้เป็นอำนาจของผู้อำนวยการพิจารณาได้ตามเหตุจำเป็นเร่งด่วน โดยให้ประเมินสถานการณ์เพื่อป้องกันอันตรายและให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในช่วงวิกฤตนี้ สิ่งสำคัญที่สุดต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้เน้นย้ำมาโดยตลอด และขอย้ำอีกครั้งว่า ศธ.จะไม่ทอดทิ้งพี่น้องชาวใต้ที่กำลังประสบอุทกภัยอย่างแน่นอน

 

ศธ.เป็นปลื้ม “กล่องความรู้ สู่ความสุข” สุดปัง ยอดติว TGAT/TPAT วันแรกแตะ 2 แสน คาดยอดชมพุ่งขึ้นอีกจนถึงก่อนสอบ

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เผยผลติวออนไลน์ “กล่องความรู้ สู่ความสุข” ที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) จัดสอนเสริมความรู้ออนไลน์ฟรี ระหว่างวันที่ 2 – 6 ธันวาคม 2567 ผ่าน OBEC Channel ยอดวันแรกพุ่งกว่า 2 แสนวิว คาดหวังให้นักเรียนชั้น ม.6 เตรียมพร้อมก่อนลงสนามสอบ TGAT/TPAT ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 7 – 9 ธันวาคม 2567 นี้ ว่า กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญและใส่ใจทุกย่างก้าวของผู้เรียน จึงตั้งใจจัดกิจกรรมติวฟรีออนไลน์ ให้ผู้เรียนเสริมความรู้ที่บ้านหรือที่สถานศึกษาที่มีความพร้อมก็สามารถจัดติวที่โรงเรียนได้เช่นกัน เพื่อให้ทั้งโรงเรียนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก สัมผัสได้ถึงความเท่าเทียมที่มอบให้ สามารถเพิ่มพูนความรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ตามนโยบาย “Anywhere Anytime” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

จากผลการจัดติวออนไลน์วันแรกที่ สพฐ.ได้เผยแพร่ผ่านช่องทาง YouTube รายการ OBEC Channel, Facebook ของ สพฐ. และ OBEC TV เพื่อให้นักเรียนชั้น ม.6 เตรียมความพร้อมในการสอบวัดความถนัด TGAT/TPAT ระหว่างวันที่ 2 – 6 ธันวาคม 2567 พบว่าวันแรกที่เปิดติวมียอดการเข้าชมรวมกันสูงถึง 212,914 คน เป็นที่น่าชื่นชมอย่างมากสำหรับการให้ความสนใจกิจกรรม ที่ ศธ.จัดสอนเสริม “กล่องความรู้ สู่ความสุข”

ขณะนี้ยังเหลือเวลาจัดติวอีก 4 วัน ก่อนสอบ ขอให้ พี่ ม.6 ตักตวงความรู้ที่เราได้มอบให้ไปใช้ในสนามสอบอย่างเต็มที่ และหวังว่ายอดการเข้าชมจะเข้มข้นเพิ่มขึ้นในทุกวัน สมความปรารถนาที่กระทรวงศึกษาธิการต้องการส่งผู้เรียนในระดับมัธยม ก้าวสู่ความเป็นคนมีคุณภาพในระดับอุดมศึกษาต่อไป

 

“เสมา 1” ห่วงใยประชาชนท้นที่ จชต.ถูกน้ำท่วม สั่งจัดอาชีวะจิตอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน เปิดศูนย์พักพิง-ครัวจิตอาสา ช่วยเหลือด่วน พร้อมเตือนรับมือพายุลูกใหม่กลางธ.ค.

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน นักเรียน นักศึกษา ที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน ทำให้น้ำเอ่อล้นพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอสงขลา จนเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และสถานศึกษาที่อยู่อาศัยของประชาชน จึงมอบให้หน่วยงานในกำกับเปิดศูนย์พักพิงและโรงครัว ณ สถานศึกษา เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่ประสบภัยน้ำท่วม

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)ได้สั่งการไปยังสถานศึกษาเร่งดำเนินการจัดอาชีวะจิตอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน แบ่งเป็น 1.จัดศูนย์ช่วยเหลือพักพิงผู้ประสบภัย ซึ่ง สอศ.เปิดศูนย์พักอาศัยให้ประชาชนอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยในสถานศึกษา จำนวน 12 แห่ง รองรับประชาชนผู้ประสบภัยแล้วกว่า 2,000 คน ในส่วนของนักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากร ได้พักอาศัยในสถานศึกษาเป็นการชั่วคราว จัดยานพาหนะรับ-ส่ง ในพื้นที่ที่เข้าถึง ให้ความช่วยเหลือการขนย้ายสิ่งของและด้านต่างๆ ตามความจำเป็น 2. จัดตั้งครัวอาชีวะบริการอาหารปรุงสุก อาหารกล่อง และน้ำดื่ม แล้ว 3,000 ชุด 3.จัดศูนย์ FIX IT CENTER ฟื้นฟู ซ่อมบำรุง หลังน้ำลด ให้สถานศึกษาที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือมีความพร้อมทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ ตรวจเช็คจุดบริการให้ความช่วยเหลือ ซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือทางการเกษตร ฟื้นฟูบ้านเรือน ชุมชน และสถานศึกษาที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงตรวจสอบเช็คเบื้องต้นด้านระบบไฟ้ฟ้าในบ้านเรือนชุมชน 4. ตั้งศูนย์ประสานงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดและผู้อำนวยการสถานศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรายงานความคืบหน้ากลับมายัง สอศ. และประสานความช่วยเหลือจากหน่วยงานในพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และมูลนิธิในพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือตามเหตุจำเป็นเร่งด่วน ทั้งนี้ให้ดำเนินงานด้วยความปลอดภัยเป็นสำคัญ ซึ่งขณะนี้มีรายงานสถานศึกษาสังกัด สอศ. พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่ได้รับผลกระทบและได้รับความเสียหายอย่างน้อย 15 แห่ง ศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพประจำอำเภอห่างไกล 20 แห่ง โดยให้สถานศึกษาตรวจสอบความเสีย อาทิ อาคารเรียน หอพักนักเรียน นักศึกษา วัสดุ ครุภัณฑ์ อุปกรณ์สื่อการเรียนการสอน พร้อมรายงานกลับมายัง สอศ. ตามข้อสั่งการ รมว.ศธ. เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในเยียวยาและซ่อมแซมต่อไป ในส่วนสถานศึกษาที่จำเป็นจะต้องปิดการเรียนการสอน มอบให้เป็นอำนาจของผู้บริหารสถานศึกษาพิจารณาได้ตามความเหมาะสม

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ยังต้องเตรียมรับมือพายุระลอกในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ เนื่องจากจะมีพายุเข้าอีก 1 ลูกซึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ลานีญา (จากการได้รับรายงานข่าว) ขอให้สถานศึกษา เตรียมความพร้อมและรับมือในเรื่องของความปลอดภัย ศูนย์พักอาศัย อาหารและน้ำดื่ม รวมถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ

 

ไปได้สวย!กมธ.วิสามัญวุฒิสภาผ่านร่าง พรบ.อุดมศึกษา4ฉบับรวด

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567 ดร. กมล รอดคล้าย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษาฉบับที่…พ.ศ….วุฒิสภา เปิดเผยว่า ในการประชุมประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญครั้งที่ 6 / 2567 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา  เป็นการประชุมที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมใหญ่วุฒิสภา โดยการประชุมครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย หลังจากได้มีการประชุมมาแล้ว 5 ครั้ง โดยการประชุมได้พิจารณาร่างพรบ.อย่างละเอียดเป็นรายมาตรา และเปิดโอกาสให้สมาชิกวุฒิสภา ได้มีส่วนร่วมเเปรญัตติ สำหรับครั้งนี้ได้มีการพิจารณา ทบทวนร่างพรบ.การอุดมศึกษาฉบับที่…พศ…และร่าง พรบ.ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 4 ฉบับ และได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการวิสามัญเรียบร้อยแล้ว พร้อมกันนี้ได้มีการตรวจสอบรายงานของกรรมาธิการเพื่อนำเสนอวุฒิสภาบรรจุเป็นวาระเข้าที่ประชุมใหญ่พิจารณาต่อไป ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นการประชุมครั้งเเรกๆในสมัยประชุมสภาเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้

ดร.กมล กล่าวต่อไปว่า สำหรับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ถือเป็นร่างที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะได้ปรับปรุงและจัดทำขึ้นเพื่อให้สอดรับกับการจัดตั้ง“กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา ” ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่จัดสรรเงินกองทุน และกำกับติดตามให้เกิดการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษา และการส่งเสริมการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางได้บรรลุวัตถุประสงค์ตามความต้องการของประเทศ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันซึ่งถือเป็นการพลิกโฉมการทำงานของการอุดมศึกษาให้มีบทบาทในการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง โดยพรบ.ทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวได้กำหนดประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องของ การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุน การจัดทำคำรับรองการปฎิบัติงาน การตรวจสอบและกำกับติดตาม รวมทั้งความเชื่อมโยงกับสภานโยบายการอุดมศึกษาฯ ซึ่งจะส่งผลให้การทำงานสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ มีความเป็นอิสระและคล่องตัว สามารถปรับภารกิจให้สอดรับกับภาคเอกชนได้เป็นอย่างดี

“คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ทำงานด้วยความเเข็งขันและรวดเร็ว รอบคอบ สำเร็จได้ด้วยดี เพราะมีองค์ประกอบที่สำคัญครบถ้วนคือวุฒิสมาชิกเเละผู้ทรงคุณวุฒิ รวม 21 ท่าน และ ผู้ที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้เข้าร่วมชี้เเจง ได้แก่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของวุฒิสภา ก็ถือได้ว่าเป็นของขวัญปีใหม่ที่สภา และรัฐบาลจะมอบให้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนต่อไป”ดร.กมล กล่าว

“คุรุสภา” เร่งออกข้อบังคับมาตรฐานวิชาชีพครูปฐมวัย

ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กำลังดำเนินการจัดทำร่างข้อบังคับคุรุสภาว่า ด้วยมาตรฐานวิชาชีพครูปฐมวัย พ.ศ. ….. และอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ (ร่าง) ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพครูปฐมวัย พ.ศ. …. โดยมีหลักการเพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพครูในระดับปฐมวัย มีสมรรถนะทางวิชาชีพที่ทันสมัย และสอดคล้องกับบริบทความเปลี่ยนแปลงของการจัดการศึกษาในยุคปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพครูในระดับปฐมวัย ส่วนสาระสำคัญของร่างมาตรฐานวิชาชีพครูปฐมวัย ประกอบด้วย 1) มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ 2) มาตรฐานการปฏิบัติงาน และ 3) มาตรฐานการปฏิบัติตน การกำหนดมาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพนั้นกำหนด ผู้ประกอบวิชาชีพครูปฐมวัย ต้องมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือเทียบเท่า หรือมีคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง ขณะเดียวกันมาตรฐานความรู้ครูปฐมวัย กำหนดต้องมีความรอบรู้และเข้าใจในเรื่องต่างๆ เช่น ธรรมชาติการเรียนรู้ของสมองเด็ก การเจริญเติบโต พัฒนาการด้านตัวตนและพัฒนาการแบบองค์รวมของเด็กตามช่วงวัย การสร้างสัมพันธภาพต่อเด็กและการเลี้ยงดู พัฒนาและการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม ความรู้ด้านศาสตร์การสอนสำหรับเด็กปฐมวัย การออกแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการที่เหมาะสมกับพัฒนาการ การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม การพัฒนาหลักสูตรสอดคล้องกับบริบทของครอบครัว ชุมชน และสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ตอบสนองต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การประเมินเพื่อวางแผน ส่งเสริม พัฒนาการและการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัย และความแตกต่างของเด็กรายบุคคล สุขภาพกายและใจ โภชนาการที่ดี การดูแลความปลอดภัยจากสภาพแวดล้อม สังคม รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย และ ความสัมพันธ์ของระบบนิเวศรอบตัวที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ครอบคลุมทั้งครอบครัว โรงเรียนหน่วยงานสาธารณสุข ชุมชน สื่อ เทคโนโลยี ศิลปวัฒนธรรม และกฎหมาย ที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และการพัฒนาเด็กปฐมวัย

ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวต่อไปว่า ส่วนมาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพนั้นกำหนดว่าผู้ประกอบวิชาชีพครูปฐมวัย ต้องผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด ดังนี้ การฝึกประสบการณ์วิชาชีพระหว่างเรียน การปฏิบัติการสอนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพ ทั้งนี้สาระความรู้ และสมรรถนะของผู้ประกอบวิชาชีพครูปฐมวัยตามมาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด นอกจากนี้มาตรฐานการปฏิบัติงานนั้นยังกำหนดว่าผู้ประกอบวิชาชีพครูปฐมวัยต้องปฏิบัติหน้าที่ครูด้วยการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ด้านความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย จิตวิญญาณและคุณลักษณะที่ดีของความเป็นครูปฐมวัย สร้างสัมพันธภาพที่ดี รัก เมตตา และเอื้ออาทรต่อเด็ก ปฏิบัติต่อเด็กอย่างให้เกียรติ ไม่เลือกปฏิบัติ ทำงานเป็นทีม ร่วมมือกับครู เครือข่าย และบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกสถานศึกษา รวมถึงคุ้มครองสิทธิของเด็กทุกคนให้อยู่รอดปลอดภัย ได้รับการดูแล พัฒนา ปกป้องคุ้มครอง และให้เด็กมีส่วนร่วมในการแสดงออก ใส่ใจต่อเด็กที่ตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่างๆ ตลอดจนส่งเสริมสุขนิสัยที่ดี และดูแลความปลอดภัยทางสภาพแวดล้อม สังคม และเทคโนโลยีที่มีผลต่อพัฒนาการของเด็ก โดยทำงานร่วมกับผู้ปกครอง และ หรือสหวิชาชีพ และรู้เท่าทันและสามารถใช้สื่อดิจิทัล เทคโนโลยีทางการศึกษา ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดผลดีต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก มีการจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์โดยบูรณาการการเรียนรู้ผ่านการเล่นและทำกิจกรรมที่หลากหลายสอดคล้องกับพัฒนาการตามวัยของเด็กและความต้องการพิเศษ เพื่อให้เด็กมีสมรรถนะพื้นฐานในการเรียนรู้และการดำรงชีวิตต่อไปในอนาคตมีความสัมพันธ์กับผู้ปกครองและชุมชน และสุดท้ายมาตรฐานการปฏิบัติตนที่ผู้ประกอบวิชาชีพครูปฐมวัยต้องมีมาตรฐานการปฏิบัติตนตามข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพ

“ขณะนี้คุรุสภาได้เปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตครู หน่วยงานผู้ใช้ครูผู้ประกอบวิชาชีพครู รวมถึงผู้ปกครองนักเรียน นิสิต/นักศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบและร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพครูปฐมวัย พ.ศ… ผ่านระบบออนไลน์ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ ขอเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างดังกล่าว เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องผ่านทาง Google Form ที่ https://forms.gle/KbCntnJ9ffgtFYSF8 ถึงวันที่30 พฤศจิกายน 2567” ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวว่าและว่าหลังจากที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาจัดทำร่างข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพครูปฐมวัย พ.ศ. …เสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องทำรายละเอียดของมาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพครูตามข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 ให้แล้วเสร็จก่อนที่จะนำเสนอคณะกรรมการคุรุสภาเพื่อพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตามนอกจากคุรุสภาได้ปรับปรุงมาตรฐานวิชาชีพครูปฐมวัย แล้วยังได้มีการพัฒนาเรื่องมาตรฐานวิชาชีพสาขาอื่นๆ ด้วย เช่น ร่างข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพครูการศึกษาพิเศษ พ.ศ. …. เป็นต้น เพื่อให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันด้วย