สพฐ.เปิดพื้นที่โรงเรียน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคใต้

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 จากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ในขณะนี้ ซึ่งส่งผลให้เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ) มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน ข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนนักเรียนและผู้ปกครอง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยดังกล่าว รมว.ศึกษาธิการ จึงได้สั่งการให้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ อย่างเร่งด่วน โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้แจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อแจ้งไปยังโรงเรียนในเขตพื้นที่ภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบและใกล้เคียง ให้เปิดพื้นที่ในโรงเรียนที่สามารถใช้อาคารและสถานที่ภายในบริเวณโรงเรียนเพื่อเป็นศูนย์พักพิงและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ และประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นในพื้นที่เพื่อดูแลประชาชน พร้อมจัดข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีจิตอาสา ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมกันนี้ ได้มีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุอุทกภัยในครั้งนี้ด้วย
.
ทั้งนี้ หากต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อโดยตรงได้ที่
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. โทร.089-569-2959
นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. โทร. 081-780-2897
นายสราวุธ เดชมณีรัตน์ ผอ.สำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาเฉพาะกิจชายแดนภาคใต้ โทร.094-919-0111

ศธ.ลงพื้นที่ติดตามการฟื้นฟูโรงเรียนถูกน้ำท่วมและโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ย้ำเครือข่ายความร่วมมือสำคัญจริง

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้บริหารการศึกษา ลงพื้นที่โรงเรียนกาวิละวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามการฟื้นฟูโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย และได้รับความเสียหายอย่างหนักเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวว่า โรงเรียนกาวิละวิทยาลัย เป็นโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยอย่างมาก สื่อการเรียนการสอนได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด วันนี้จึงได้มาตรวจเยี่ยมความคืบหน้าในการฟื้นฟูโรงเรียน ซึ่งต้องขอบคุณอาชีวศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ที่ได้เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องการซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ โดยสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นคือเครือข่ายความร่วมมือและการช่วยเหลือกัน ระหว่างโรงเรียนพี่ช่วยโรงเรียนน้อง โรงเรียนเพื่อนช่วยโรงเรียนเพื่อน ในส่วนของผู้บริหารโรงเรียนก็ได้มีการขอความร่วมมือไปยังศิษย์เก่าและผู้มีจิตศรัทธาต่างๆ เข้ามาให้ความช่วยเหลือ  วันนี้ได้นำเรียนให้นายกรัฐมนตรีทราบถึงเรื่องผลการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนที่ประสบภัยน้ำท่วม และโรงเรียนรัฐที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว อีก 3 โรงเรียน ซึ่งมีโรงเรียนเอกชนเข้ามาเป็นเครือข่ายให้ความช่วยเหลือ โดยนายกฯรับทราบและให้แจ้งงบประมาณที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อจัดทำเรื่องการของบกลาง เพราะเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว ในส่วนของงบประมาณฟื้นฟูน้ำท่วมก็ต้องมาตรวจสอบว่ามีอะไรซ้ำซ้อนหรือไม่ หากไม่มีก็จะดำเนินการเสนอเข้าที่ประชุม ครม. ส่วนงบฯที่จะนำมาช่วยเหลือโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวก็จะนำมาสร้างอาคารที่ชำรุดต่อไป

“ส่วนการจัดการเรียนการสอนในเชียงใหม่นั้น ถือว่าเข้าสู่สภาพปกติและมีการขับเคลื่อนในมิติของเครือข่ายทางการศึกษา มีการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนรัฐกับโรงเรียนเอกชน ทั้งด้านนวัตกรรมการศึกษา ด้านวิชาการ และทรัพยากรต่างๆ ถือว่าเชียงใหม่มีความพร้อมในการจัดการศึกษาเป็นอย่างดี และผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ นอกจากนั้นในเรื่องของ Thailand Zero Dropout ก็ได้มีการเน้นย้ำอย่างเข้มข้นในเรื่องการติดตามค้นหาเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยเฉพาะที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ยังไม่พบอีกประมาณ 30% ตอนนี้กำลังตรวจสอบว่าเด็กอยู่ที่ไหน และจะติดตามต่อไป เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างถ้วนหน้าทุกคน” รมว.ศธ. กล่าว

“กระสังพิทยาคม” จุดประกายรักษ์สิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมเรียนรู้นอกห้องเรียน สืบสานประเพณี ลงแขกเกี่ยวข้าว

โรงเรียนกระสังพิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)บุรีรัมย์ จัดโครงการอนุรักษ์สืบสานประเพณี ลงแขกเกี่ยวข้าวพี่น้องเราชาวกระสังพิทย์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ โดย นายไพบูลย์ มั่นยืน ผู้อำนวยการโรงเรียนกระสังพิทยาคม พร้อมด้วยผู้บริหาร คณะครู บุคลากร ศึกษานิเทศก์ สพม.บุรีรัมย์ และนักเรียนร่วมสืบสานประเพณี รู้คุณบรรพบุรุษ วัฒนธรรมอันดีงามของไทย ลงมือปฏิบัติในสถานการณ์จริง และสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้

นายไพบูลย์  กล่าวว่า โรงเรียนมีแนวนโยบายวิสัยทัศน์ในการพัฒนาผู้เรียนไปทุกด้านนอกเหนือจากด้านวิชาการแล้ว สิ่งที่จำเป็น มุ่งเน้นที่จะปลูกฝังผู้เรียนในเรื่องคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เรื่องทักษะชีวิต กิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบันที่ทั่วโลกต้องปลูกฝังให้นักเรียนรู้จักรักษาสิ่งแวดล้อมให้อยู่คู่กับโลกต่อไป โดยโรงเรียนกระสังพิทยาคม ได้เข้าร่วมโครงการ ECHO SCHOOL โดยผ่านการเป็น ECHO  SCHOOL ระดับต้น มีกิจกรรมที่ส่งเสริมตามแนวทางหลักของ ECHO SCHOOL อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน กิจกรรมต่าง ๆ การต่อยอดในความยั่งยืนเกี่ยวกับโรงเรียนในเรื่องสิ่งแวดล้อมศึกษา

ปี 2567 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาบุรีรัมย์ ได้กำหนดวิสัยทัศน์  “สพม.บุรีรัมย์ พื้นที่คุณภาพ สิ่งแวดล้อมดี สร้างคนดี มีความสุข” ซึ่งโรงเรียนก็ได้นำวิสัยทัศน์ มาดำเนินการ โดยเฉพาะเรื่องของสิ่งแวดล้อมดี ซึ่งก็เข้ากับโครงการ ECHO SCHOOL ที่ประกอบไปด้วย อาคารสถานที่ดี บุคลากรดี หลักสูตรที่ดี ด้านอาคารสถานที่ดี โดยโรงเรียนได้ปรับปรุง ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ดูแลรักษาสิ่ง่แวดล้อม พร้อมกับการอนุรักษ์พลังงาน

สำหรับกิจกรรมที่สำคัญและปลูกฝังให้นักเรียนได้เรียนรู้อาชีพของท้องถิ่น ควบคู่ไปกับดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม คือ กิจกรรมเกี่ยวกับการเกษตร การเลี้ยงไก่ 3 สายเลือด โดยเฉพาะการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ ทางโรงเรียนได้เริ่มต้นกิจกรรมการลงแขกดำนา สืบสานประเพณีท้องถิ่น โดยวันนี้เป็นการลงแขกเกี่ยวข้าว โครงการอนุรักษ์สืบสานประเพณี ลงแขกเกี่ยวข้าว พี่ น้อง เราชาวกระสังพิทย์ เป็นกิจกรรมที่ทำต่อเนื่องการมา เป็นลักษณะแปลงสาธิตให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ เรื่องของการทำอาชีพการเกษตร ที่เป็นของท้องถิ่นอำเภอกระสัง การทำนาแปลงสาธิต ที่ใช้ “พันธ์ข้าวเหนียวเปลือกมังคุด” ที่ไม่ได้ใช้สารเคมี  นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติได้เรียนรู้ ได้ข้อมูล ได้วิเคราะห์ นำไปใช้ในท้องถิ่นของตัวเอง ที่มุงให้เรียนรู้ ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม

 

มรภ.ธนบุรี จับมือ พว.จัดประกวดBest Practiceด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบGPAS 5 Steps เพื่อรองรับการประกันคุณภาพนอกของสถานศึกษา

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี กับ สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) เพื่อยกระดับคุณภาพทางการศึกษาของประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดย ผศ.ดร.ยุวลักษณ์ เวชวิทยาขลัง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี กล่าวว่า เป็นความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน เทคโนโลยี  นวัตกรรมการเรียนการสอน  รวมถึงองค์ความรู้ งานวิจัยที่จะนำมาใช้ในการพัฒนานักเรียนให้มีองค์ความรู้ที่จะนำไปต่อยอดได้  โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ระดับมัธยมศึกษา ถึงระดับ อุดมศึกษา มีการผลิตครูเพื่อเป็นครูระดับต่าง ๆ รวมถึงทำงานด้านวิชาการ งานวิจัย การพัฒนาบุคลากรในการสร้างองค์ความรู้ต่าง ๆ ดังนั้นการร่วมมือ กับ พว.จึงเป็นการส่งเสริมและแสดงศักยภาพของทั้ง 2 ฝ่ายในการร่วมกันพัฒนาสื่อ เทคโนโลยีต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาครูให้มีความเข้มแข็ง มีองค์ความรู้ เทคนิคในการเรียนการสอนแบบ Active Learning ด้วย

“ดิฉันมั่นใจว่าความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้ผู้สอนสามารถจัดกระบวนการเรียนการสอนผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ  GPAS 5 Steps ได้และทำให้ผู้สอนมีแผนการสอนที่ดี มีวิธีการที่ดี และคำนึงถึงผลลัพธ์ที่ได้จะเกิดประสิทธิภาพในการจัดการสอน ซึ่งผู้สอนจะสามารถนำไปเขียนผลงานที่มีคุณค่าเพื่อนำเสนอเป็นผลงานวิชาการได้เพื่อเลื่อนวิทยฐานะได้ และในทางกลับกันหากไม่มีแผนการสอนที่ดีไม่มีกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ การเขียนผลงานก็ยากที่จะผ่านได้ เพราะฉะนั้นเชื่อว่าด้วยกระบวนการและวิธีการจัดการเรียนการสอนนี้จะนำไปสู่การพัฒนาผลงานเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการได้อย่างแน่นอน”อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรีกล่าว

ผศ.ดร.วาสนา สังข์พุ่ม คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาการศึกษาไทย โดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพครูผู้สอน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนระบบการศึกษา ความร่วมมือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ชัดเจนในการพัฒนาการศึกษาระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา โดยเน้นย้ำการพัฒนาเชิงคุณภาพและนวัตกรรม ซึ่งได้กำหนดแนวทางในการผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ทั้งสื่ออิเลคทรอนิกส์ หนังสือเสริมทักษะและสื่ออื่น ๆ ที่สอดคล้องกับยุคดิจิทัล เพื่อเสริมศักยภาพในการจัดการเรียนการสอน นอกจากนี้ยังเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของการฝึกอบรมและสัมมนาเพื่อพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนทุกระดับชั้นโดยมุ่งหวังให้ครูก้าวขึ้นมาเป็นนวัตกรทางการศึกษา สามารถทำหน้าที่เป็นครูโค้ชและที่ปรึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการสร้างครูที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพ แต่ยังมุ่งหวังให้ครูมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้สอดคล้องกับโลกในอนาคตด้วย

ด้าน ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฎิรูปประเทศด้านการศึกษา ประธานกรรมการบริหาร สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นการเริ่มต้นที่ตรงกับปัญหาด้านการศึกษาของประเทศ โดยมีโครงการ ยุทธศาสตร์ แนวคิด และหลักการตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น และยังคาดหวังว่าจะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะยาวของประเทศได้เป็นอย่างดีแลตรงเป้าหมาย ซึ่งนับว่าเป็นความโชคดีของประเทศที่มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรีตระหนักและเห็นความสำคัญทางด้านการศึกษาของประเทศซึ่งตนขอชื่นชมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ที่มีวิสัยทัศน์และมาร่วมมือกับทาง พว.ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การปรับเปลี่ยนประเทศให้เป็นสังคมฐานความรู้ที่แท้จริงในรูปแบบของการดำเนินงานเชิงรุก

ทั้งนี้ ภายหลังการลงนามความร่วมมือ ได้มีการมีการแถลงข่าวความร่วมมือจัดการประกวดแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เพื่อรองรับการประกันคุณภาพภายนอกของสถานศึกษา โดยแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติหรือขั้นตอนการปฏิบัติที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ หรือนำไปสู่ความเป็นเลิศตามเป้าหมาย เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการหรือวิชาชีพนั้น ๆ และมีหลักฐานของความสำเร็จปรากฏชัดเจน มีการสรุปวิธีปฏิบัติหรือขั้นตอนการปฏิบัติ ตลอดจนความรู้และประสบการณ์ที่ได้บันทึกเป็นเอกสาร และเผยแพร่ให้หน่วยงานภายในหรือภายนอกสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งอาจเกิดจากตัวบุคคลและกลุ่มบุคคลที่มีการวางแผนการจัดการเรียนรู้ตามแนว Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps สำหรับใช้กับนักเรียนระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา เนื่องมาจากในการทำงาน ทุกคนจะเกิดการเรียนรู้วิธีไปสู่เป้าหมายของหน่วยงาน ซึ่งผู้ปฏิบัติจะเรียนรู้ การแก้ปัญหาที่ดีได้จากการเสนอแนะของผู้บริหาร เพื่อนร่วมงาน ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดการสร้างสรรค์วิธีการใหม่ ๆ หรือวิธีการที่ดีกว่าเดิม นอกจากกิจกรรมดังกล่าวจะเกิดประโยชน์โดยตรงต่อนักเรียน แล้ว ยังส่งผลต่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาและตอบโจทย์การประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา ของ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) ซึ่งในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ โรงเรียนและครูที่สนใจส่งผลงานเข้าประกวดสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี และ สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการต่อไป

นักเรียน ม.6 เฮ! 2-6 ธ.ค.นี้ สพฐ.ไฟเขียวเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้หยุดอ่านหนังสือเตรียมสอบ TGAT/TPAT

เมื่อวันที่ 2ึ7 พฤศจิกายน 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ตนได้เน้นย้ำให้มีการติดตามความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ผ่านการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ซึ่ง สพฐ.ได้นำเสนอแผนการขยายผลพัฒนาและสร้างข้อสอบความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ผ่านระบบออนไลน์ Google Classroom โดยมีแกนนำเข้าระบบเรียนรู้ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 245 คน ทำหน้าที่กำกับ และผู้อำนวยการโรงเรียน 29,152 คน ร่วมติดตามและสะท้อนผล  รายงานการเข้าใช้ระบบ Computer Based Test ภาพรวม 245 เขตพื้นที่การศึกษา โดยตนได้มอบหมายให้สพฐ.จัดให้ครบทุกรุ่น

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำถึงการขับเคลื่อน “โครงการ Thailand Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” ของนายกรัฐมนตรี โดยมอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ศทก.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(สป.ศธ.) รับผิดชอบฐานข้อมูลในการดำเนินงาน ทั้งนี้ตนได้กำชับว่าในการดำเนินการให้ใช้ฐานข้อมูลของ ศทก.สป.ศธ. เป็นหลักเพื่อให้การทำงานเรื่อง Thailand Zero Dropout มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ จะพยายามลดจำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด โดยมิติในการทำงานของตน คือ ป้องกัน แก้ไข และ ส่งต่อ โดยป้องกัน คือ การมีมาตรการป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งต้องเพิ่มความเอาใจใส่ในการดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงให้มากขึ้น แต่ถ้าเด็กหลุดออกจากระบบไปแล้วก็ต้องแก้ไขเอาเด็กกับเข้ามาสู่ระบบการศึกษา โดยขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ได้เริ่มแก้ไขไปแล้วด้วยการทำโครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการศึกษาไปให้น้อง แต่ถ้าเด็กไม่กลับเข้าสู่ระบบจริง ๆ ก็จะมีกรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.)ที่เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการส่งเสริม ดูแลเด็กกลุ่มนี้ให้ได้รับการศึกษาหรือได้รับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เช่น เด็กที่อยู่ในเรือนจำ เด็กที่กรณีบิดา มารดา ย้ายถิ่นฐานก็จะมีวิธีดำเนินการที่จะส่งต่อเพื่อให้เด็กได้เรียนต่อเนื่อง โดยให้สกร.ไปดูรูปแบบว่าจะดำเนินการกับเด็กกลุ่มนี้อย่างไร และให้นำข้อสรุปมารายงานในวันที่ 15 ธันวาคม นี้

“สำหรับเรื่องของขวัญปีใหม่ เบื้องต้น ผมได้รับรายงานจาก สพฐ.ว่า ปีนี้ จะจัดของขวัญปีใหม่ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  ให้สามารถหยุดเรียนได้ในระหว่างวันที่ 2-6 ธันวาคม 2567 โดยให้นับเป็นเวลาเรียนปกติเพื่อให้เด็กเตรียมตัวสอบ ได้อ่านหนังสือที่บ้านได้ หรือถ้าบางแห่งมีความพร้อมก็ให้จัดติว หรือ จัดกล่องความรู้ สู่ความสุข จัดสอนเสริม เพิ่มเทคนิค สร้างความมั่นในใจการสอบ TGAT/TPAT ตามนโยบาย เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) โดยครูผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ ตามแนวทางประกาศ สพฐ.  เรื่อง การส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน โดยมีแนวทาง ดังนี้ 1. ให้สถานศึกษาอนุญาต ให้นักเรียนเรียนเสริมความรู้ทั้งในหรือนอกห้องเรียน (ที่บ้านหรือโรงเรียน) 2. ให้สถานศึกษาที่มีความพร้อม จัดสถานที่ในโรงเรียนเพื่อใช้ในการเรียนเสริมความรู้ให้แก่นักเรียนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย 3. ให้สถานศึกษาทุกแห่ง มีมาตรการ กำกับ ติดตาม ตรวจสอบการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างมีคุณภาพ และมีมาตรการป้องกัน ดูแลด้านความปลอดภัย ให้แก่นักเรียน เป็นต้น”พลตำรวจเอกเพิ่มพูน กล่าว

สพฐ.จัดการเด็ดขาดครูล่วงละเมิดนักเรียน ย้ำโรงเรียนต้องเป็นสถานที่ปลอดภัย 

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ในการติดตามข้อเท็จจริง กรณีครูโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี ล่วงละเมิดเด็กนักเรียนชายในโรงเรียนจำนวนกว่า 10 คน โดยได้สั่งการให้ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต้นสังกัด เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยทันที ซึ่งพบว่า เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ขณะนี้ครูคนดังกล่าวได้ถูกดำเนินการทางวินัยโดยให้ออกจากราชการไว้ก่อน และได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเพื่อดำเนินคดีทางกฎหมายแล้ว โดยโรงเรียนจะติดตามความคืบหน้าของคดีอย่างใกล้ชิดต่อไป พร้อมทั้งได้นำนักจิตวิทยาเข้าไปดูแลฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็กและผู้ปกครองทุกคน ทั้งนี้ สพฐ. มีความห่วงใยและกำชับให้เขตพื้นที่ติดตาม กำกับ ดูแลให้โรงเรียนในสังกัดปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยในสถานศึกษาอย่างเคร่งครัด ไม่ให้เกิดการละเมิดทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัย เพื่อประโยชน์ของนักเรียนและครูทุกคน

กมว.เห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาครูในศตวรรษที่ 21 พร้อมออกใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาใหม่กว่า 7 พันราย

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ ประธานกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ครั้งที่ 10/2567 โดยมี ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา เป็นกรรมการและเลขานุการการประชุม โดยรศ.ดร.ศิริเดช  กล่าวว่า ที่ประชุม กมว. พิจารณาให้ความเห็นข้อเสนอเชิงนโยบาย สาระการพัฒนาครูในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย 1) ความเป็นมา 2) กรอบแนวคิดทางวิชาการ 3) นิยามปฏิบัติการ 4) ขั้นตอนการดำเนินงาน 5) เป้าหมายการพัฒนาครูเพื่อสมรรถนะผู้เรียน 6) ผลการสังเคราะห์ข้อมูล 7) เป้าหมายการพัฒนาครู และ 8) ข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางการดำเนินงาน โดยสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาได้จัดรับฟังความเห็นแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา และบุคคลทั่วไปเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ กมว.ยังรับทราบการอนุมัติออกและต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา โดยเลขาธิการคุรุสภาให้แก่ผู้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตและขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาตรวจสอบแล้ว มีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้ ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา จำนวน 7,313 ราย ได้แก่  ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู 6,592  ราย  ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา   607 ราย  ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา 50 ราย ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์  64  ราย และ ต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา จำนวน 14,296 ราย ได้แก่ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู 12,763  รายใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา 1,375  ราย ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา 53  ราย และ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ 105  ราย

สพฐ.สั่งเขตพื้นที่จ่ายเงินเดือนลูกจ้างเหมาไปก่อน เดินหน้าตามน้องกลับมาเรียน พร้อมใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากขึ้น วางแนวทางทำพอร์ตโฟลิโอออนไลน์ –บัตรสุขภาพเด็กออนไลน์

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า  ที่ประชุมได้รับทราบถึงความเดือดร้อนของกลุ่มลูกจ้างสังกัดสำนัก สพฐ.จำนวน 7 หมื่นกว่าคนที่มาชุมนุมเรียกร้องให้เปลี่ยนวิธีการจ้างจากการจ้างเหมาบริการไปเป็นวิธีการจ้างลูกจ้างชั่วคราวตามเดิม โดย สพฐ.ได้เสนอเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) และกรมบัญชีกลางแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่มีคำตอบใดกลับมา  อย่างไรก็ตามเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของลูกจ้าง สพฐ.ได้ออกหนังสือกำชับไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตให้ทำสัญญาและจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยได้เน้นย้ำกับเขตพื้นที่ฯ ให้แจ้งไปยังโรงเรียนที่ได้รับอัตราจ้าง ว่า ให้จ้างตามงบประมาณที่ได้ คือ จ้างเหมาบริการไปก่อน หาก ก.พ.หรือหน่วยงานที่หารือไปยินยอมให้เปลี่ยนการจ้างได้ก็ค่อยมาของบประมาณเพื่อมาจ่ายเป็นเงินสมทบประกันสังคมได้ แต่ตอนนี้ต้องจ่ายตามหลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง คือ จ่ายในลักษณะของการจ้างเหมาบริการตามระเบียบพัสดุไปก่อน

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการแก้ปัญหาเด็กออกนอกระบบตามโครงการ Thailand Zero Dropout เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาต้องเป็นศูนย์นั้น วันนี้ในระบบของ สพฐ.พบว่า มีเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้วรวมทั้งสิ้น 400,000 กว่าคนแล้ว โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กในสังกัด สพฐ. 100,000 กว่าคน ซึ่ง สพฐ.ได้ทำโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นําการเรียนไปให้น้อง” หรือ OBEC Zero Dropout ในการติดตามค้นหาพาน้องกลับมาเรียนและนำการเรียนไปให้น้อง โดยส่งรายชื่อเด็กที่หลุดออกจากระบบทั้งหมดไปให้เขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตแล้ว เพื่อติดตามค้นหาและพาเด็กกลับมา แต่สำหรับคนที่ไม่กลับมาเราก็จะนำการศึกษาไปให้ โดยมีเด็กกลุ่มที่ต้องทำเป็นพิเศษ คือ เด็กที่ป่วยอยู่โรงพยาบาลหรืออยู่ที่บ้าน โดยมีสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ หรือ  สศศ. ที่จะนำสื่อการเรียนต่าง ๆ เข้าไปให้ที่บ้านหรือที่โรงพยาบาล เพื่อให้น้องทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน

ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวว่า ในส่วนของการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 นั้น ตนได้เน้นย้ำกับผู้อำนวยการสำนักต่าง ๆ ของ สพฐ.ว่า ให้ไปเตรียมจัดทำคำของบฯ ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล นโยบายกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงนโยบายและจุดเน้นของ สพฐ. และได้ย้ำเป็นพิเศษโดยให้ทุกสำนักจัดทำคำของบฯแนวใหม่ คือ ให้มีโครงการใหม่ ๆ นโยบายใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน การพัฒนาครู การพัฒนาสื่อ ตามนโยบายเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime การลดภาระครู และการทำพอร์ตโฟลิโอออนไลน์เพื่อความสะดวกและคล่องตัวสำหรับเด็ก ในอนาคตเมื่อเด็กจะไปเรียนต่อก็ไม่จำเป็นต้องถือแฟ้มใหญ่ ๆ ไปอาจจะถือเป็นแฟลชไดร์ฟ หรือแผ่นดิสก์ก็ใช้เปิดได้แล้ว หรือบางคนอาจจะแขวนไว้ในคลาวด์แล้วดึงออกมาใช้ได้เลย เป็นการเน้นนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนตามนโยบายรัฐบาลและนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ

“นอกจากนี้ผมยังสั่งการให้มีการทำบัตรสุขภาพเด็กออนไลน์ในปี 2569 ด้วย โดยจะมีข้อมูลประวัติสุขภาพของเด็กทุกคน ไม่ว่าจะเป็นประวัติการเจ็บป่วยหรือปัญหาสุขภาพ เพื่อให้เด็กสามารถเข้าถึงระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนและดูแลความปลอดภัยได้ ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนนโยบายเรียนดี มีความสุข ให้ลงถึงห้องเรียน  เพราะตัวชี้วัดที่จะชี้ว่าเด็กมีความสุขหรือไม่ ตามนโยบาย เรียนดี มีความสุข จะต้องดูที่ตัวนักเรียน และ ครู ถ้าถามนักเรียนแล้วมีความสุขอยากมาโรงเรียน ถามครูก็อยากสอน อยากมาโรงเรียน ทุกคนมีความสุข ก็ถือว่าเราไปถึงเป้าหมายแล้ว  โดยผมได้เน้นย้ำไปกับผอ.เขตพื้นที่ฯ และ ผอ.โรงเรียนว่า จะต้องทำความเข้าใจกับครูผู้สอน นักเรียน และ ประชาชนว่า นโยบายเรียนดี มีความสุขตัวชี้วัดที่สำคัญ คือ ผู้เรียน และ ครู ที่จะต้องมีความสุข”เลขาธิการกพฐ.กล่าว

“เพิ่มพูน”เร่งดันกฎกระทรวงใหม่ ชุดลูกเสือ 3 รูปแบบโรงเรียนเลือกใช้ตามบริบท หวังให้ทันช่วงที่นั่งเสมา 1 

 

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ (จิตอาสา) “ลูกเสือช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ” ทำดี ทำได้ ทำทันที เนื่องในวัน “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” ณ สวนรมณีนาถ เขตพระนคร ซึ่งจัดโดย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ในฐานะศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รุ่นที่ 96 ได้ร่วมมอบอุปกรณ์กีฬาให้แก่โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)กรุงเทพมหานคร และโรงเรียนประถมศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร ที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย อาทิ รร.วัดชนะสงคราม รร.ชัยชนะสงคราม รร.อนุบาลวัดปรินายก รร.วัดพลับพลาชัย รร.อนุบาลวัดนางนอง รร.วัดราชบูรณะ และโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) กรุงเทพมหานคร เขต 1 อาทิ รร.มักกะสันพิทยา ร.ร.วัดสังเวช ร.ร.วัดสระเกศ ร.ร.สุวรรณารามวิทยาคม รร.วัดน้อยนพคุณ รร.ศีลาจารพิพัฒน์ และ รร.อุบลรัตนราชกัญญาราชวิทยาลัย กรุงเทพฯ โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. พร้อมผู้บริหาร สพฐ.เข้าร่วมกิจกรรม

 

จากนั้น พล.ต.อ.เพิ่มพูน พร้อมคณะผู้บริหาร สพฐ. ได้เดินทางไปร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ (จิตอาสา) “ลูกเสือช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ” ทำดี ทำได้ ทำทันที ที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม เขตสาทร กรุงเทพฯ โดยมี ลูกเสือ จาก รร.วัดสุทธิวราราม และเนตรนารี รร.สตรีศรีสุริโยทัย ร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ภายในวัดสุทธิวราราม ซึ่งพล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า เนื่องในวัน “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” เป็นวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในช่วงเช้าตนพร้อมผู้บริหาร ศธ.และผู้บังคับบัญชาลูกเสือ และลูกเสือ ได้วางพวงมาลาถวายสักการะ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ หน้าสวนลุมพินี และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ วางพวงมาลาถวายสักการะ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงพระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย นอกจากนี้ลูกเสือ และเนตรนารีทั่วประเทศได้ร่วมกันทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม ตามคำสัตย์ปฏิญาณของลูกเสือก็คือ “ลูกเสือช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ” และแนวทางของตนที่ฝากไว้คือ “ทำดี ทำได้ ทำทันที” ซึ่งสิ่งต่างๆที่ทำก็เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า”ของเรา และเป็นการปลูกจิตสำนึกให้กับลูกเสือ เนตรนารี ให้มีจิตใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ รวมถึงความมีระเบียบวินัย การตรงต่อเวลา ความรักชาติ บ้านเมือง

รมว.ศึกษาธิการ ยังได้กล่าวถึงกรณีกระทรวงศึกษาธิการจะออกกฏกระทรวงใหม่เกี่ยวกับการแต่งกายของลูกเสือ ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอตามขั้นตอน โดยสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ(สลช.) นำไปหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงความเหมาะสมถูกต้อง หากกฤษฎีกาส่งคืนกลับมาแล้ว สลช.ก็จะส่งให้ รมว.ศึกษาธิการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาเห็นชอบออกเป็นกฏกระทรวง เพื่อปลดล็อคเครื่องแต่งกายสำหรับลูกเสือ ซึ่งจะมี 3 รูปแบบ ได้แก่ ชุดปกติ(ชุดลูกเสือเดิม) ชุดปฏิบัติการ และชุดลำลอง โดยให้สถานศึกษาพิจารณาเลือกได้ตามบริบทของสถานศึกษานั้น ๆ ทั้งนี้จะพยายามทำกฏกระทรวงใหม่นี้ให้เสร็จทันปีการศึกษาหน้านี้ และให้เสร็จทันในสมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

 

อาชีวะทำความดี ด้วยหัวใจ เปิดศูนย์ Fix it Center ให้บริการซ่อมรถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตัดผม และ ฝึกอาชีพระยะสั้น ในกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน “วันพ่อแห่งชาติ 2567”

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ร่วมกับ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการ กองทัพไทย และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม จัดกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภาพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2567 โดยจะให้บริการซ่อมบำรุงรถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตัดผม และฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น ในวันพุธที่ 4 ธันวาคม 2567 ระหว่างเวลา 09.00 – 16.00 น. ณ พื้นที่ชุมชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 6 จุดบริการ และพื้นที่ชุมชนเขตพระราชฐานตามภูมิภาค จำนวน 5 จุดบริการ ดังนี้

พื้นที่ชุมชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ 1. ลานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 เขตพระนคร โดยมีวิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินูทิศ และ วิทยาลัยสารพัดช่างสี่พระยา อาสาให้บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า และตัดผม 2.วัดบัวขวัญ พระอารามหลวง อ.เมืองนนทบุรี โดยมีวิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี และวิทยาลัยสารพัดช่างนครหลวง อาสาให้บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า และตัดผม 3.วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เขตห้วยขวาง โดยมีวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี และวิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร อาสาให้บริการ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า และตัดผม 4. วัดนาคกลางวรวิหาร เขตบางกอกใหญ่ โดยมีวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ และวิทยาลัยสารพัดช่างธนบุรี ให้บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า และการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น ได้แก่ การทำสลัดโรลและการประดิษฐ์ดอกไม้จากลวดกำมะหยี่ 5. วัดนาวง อ.เมืองปทุมธานี โดยมีวิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง และวิทยาลัยสารพัดช่างนครปฐม อาสาให้บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า และตัดผม 6.บ้านมนังคศิลา เขตดุสิต โดยมีวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกมหานคร อาสาให้บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง และซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า

สำหรับพื้นที่ชุมชนเขตพระราชฐานตามภูมิภาค จะอาสาให้บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า และตัดผม ได้แก่ 1.พระตำหนักสิริยาลัย จ.พระนครศรีอยุธยา ดำเนินการโดยสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 2.โรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ฝั่งประถม) จ.ประจวบคีรีขันธ์ ดำเนินการโดยสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 3. โรงเรียนนายอวัฒนา อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร ดำเนินการโดยสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดสกลนคร 4.ลานประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ ดำเนินการโดยสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ 5. อาคารเฉลิมพระเกียรติสิริกาญจน์ทักษิณพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส ดำเนินการโดยสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดนราธิวาส

“กิจกรรมดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการแสดงออกถึงความเป็นจิตอาสาของนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาโดยนำความรู้ความสามารถที่เกิดจากการเรียนทางทฤษฎีและการฝึกประสบการณ์ทักษะอาชีพไปสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้เป็นอย่างดี” นายยศพลกล่าว