“พิพัฒน์”สร้างโอกาสทำงานวัยเกษียณ จับมือ 16 ธุรกิจเอกชนเปิดตำแหน่งงานกว่า 4 พันอัตราทั่วประเทศ

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ ระหว่าง กรมการจัดหางาน และสถานประกอบการชั้นนำจำนวน 16 แห่ง โดยมีนายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูง กระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นเกียรติในงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน และผู้บริหารสถานประกอบการ 16 แห่ง ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุม ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” ทำให้ต้องมีการขับเคลื่อนการส่งเสริมการมีงานทำสำหรับผู้สูงอายุให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้มีงานทำในอาชีพที่เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ สามารถสร้างหลักประกันที่มั่นคงด้านรายได้ สร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจให้แก่ผู้สูงอายุ ตลอดจนเป็นการเพิ่มบทบาทและคุณค่าของผู้สูงอายุด้วยการมีส่วนร่วมในเชิงเศรษฐกิจ ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐในด้านสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ กระทรวงแรงงานโดยกรมการจัดหางาน จึงได้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ ระหว่าง กรมการจัดหางาน และสถานประกอบการชั้นนำจำนวน 16 แห่ง พร้อมเตรียมตำแหน่งงานทั่วประเทศ รองรับการทำงานของผู้สูงอายุ กว่า 4 พันอัตรา ซึ่งเป็นงานที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ เป็นงานที่ไม่หนัก และไม่เป็นอันตราย อาทิ ตำแหน่งพนักงานประจำร้าน ตำแหน่งบาริสต้า ตำแหน่งพนักงานบริการ เป็นต้น เพื่อช่วยลดการขาดแคลนแรงงานในบางภาคส่วน ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตลาดแรงงานไทยในอนาคต และยังช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งส่งเสริมให้ทุกคนสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืนในวัยเกษียณ


“ผมขอขอบคุณสถานประกอบการภาคเอกชนทั้ง 16 แห่ง ที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการจ้างงาน สร้างโอกาส สร้างอาชีพ ให้กับผู้สูงอายุ การมีงานทำไม่เพียงช่วยให้ผู้สูงอายุมีรายได้ หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้สูงอายุเกิดความภูมิใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง จากนี้กระทรวงแรงงานจะเดินหน้าผลักดันให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงศักยภาพและความสำคัญในการจ้างงานผู้สูงอายุต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ เป็นความตั้งใจและความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วน ที่จะสร้างกรอบความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีงานทำ เพราะผู้สูงอายุมีความเพียบพร้อมไปด้วย วัยวุฒิ คุณวุฒิ และประสบการณ์จากการทำงานและการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้ใช้แรงงานได้เป็นอย่างดี โดยกรมการจัดหางาน ทำหน้าที่ส่งเสริมการมีงานทำในตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ขณะที่ สถานประกอบการจะจ้างงานผู้สูงอายุตามกรอบนโยบายที่สถานประกอบการกำหนด และเตรียมความพร้อมรองรับการจ้างงานผู้สูงอายุ พร้อมกับจัดส่งตำแหน่งงานว่างสำหรับผู้สูงอายุให้กรมการจัดหางาน รวมทั้งเข้าร่วมงานนัดพบแรงงานเพื่อรับสมัครงาน

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุ ที่ต้องการหางานทำสามารถใช้บริการที่เว็บไซต์ “ไทยมีงานทำ.doe.go.th” หรือแอปพลิเคชัน “ไทยมีงานทำ” โดยผู้สูงอายุสามารถค้นหาข้อมูลตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด ด้วยการจับคู่ตำแหน่งงานตามความรู้ ความสามารถ และทักษะที่มีอยู่ หรือหากไม่สะดวกใช้งานผ่านระบบออนไลน์ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job center) และหากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694

สถานประกอบการชั้นนำอีก 16 แห่ง ประกอบด้วย พีทีจี เอ็นเนอยี (กาแฟพันธุ์ไทย) โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ เซ็นทรัล เรสตอรองส์ ซีพี ออลล์ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สห ลอว์สัน ฟู้ดแพชชั่น ทรู ทัช (เครือ บ. TRUE) แบล็คแคนยอน อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ แมคไทย ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป แฮปปี้ เนสท์ สเปซ (คาเฟ่อเมซอน) บิซิเนส เซอร์วิสเซส อัลไลแอนซ์ ซันโทรี่เบเวอเรจ แอนด์ ฟู๊ด (“แบรนด์) เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น

“สุรศักดิ์”ลงพื้นที่เมืองกาฬสินธุ์​ พร้อมมอบนโยบาย​”เรียนดี​ มีความสุข” ชู​ ต่อยอดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับ ให้ทันสมัย ได้มาตรฐานสากล

 

เมื่อวันที่​ 22 พฤศจิกายน​ 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่เปิดงานมหกรรมวิชาการ “ปฏิวัติการศึกษา พัฒนา สพม.กาฬสินธุ์ สู่การเรียนรู้วิถีใหม่” “Innovating Education for Kalasin’s Future and a New Era of Learning” สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากาฬสินธุ์ ​ณ หอประชุมโรงเรียนคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
โดยมี​ นายสนั่น​ พงษ์อักษร​ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์​
นายนิยม​ ไผ่โสภา​ สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน​ ครู​ บุคลากร​ทางการศึกษา​ และนักเรียน​ ร่วมให้การต้อนรับ

นาย​สุรศักดิ์​ กล่าวว่า​ จากการรับฟังคำกล่าวรายงานของผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากาฬสินธุ์ ทำให้ทราบว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นนี้เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานและเผยแพร่นวัตกรรม ผลงานที่มีวิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ในด้านต่าง ๆ และสอดคล้องกับนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข”ซึ่งมุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา​(Anywhere Anytime) การขับเคลื่อนโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ตลอดจน การส่งเสริมการเรียนรู้และมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) อันนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืน พล.ต.อ.เพิ่มพูน​ ชิดชอบ​ รมว.ศึกษาธิการ มีความมุ่งมั่นสานต่อนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อผู้เรียนเป็นที่ประจักษ์ ภายใต้หลักการ “การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต” ใช้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” มุ่งสร้าง “การศึกษาเท่าเทียม” ผ่านเครือข่ายการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และต่อยอดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับ ให้ทันสมัย
ได้มาตรฐานสากล ภายใต้แนวคิด “ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ” เพื่อพัฒนาคนไทยทุกคนในทุกช่วงวัย ให้ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” มีศักยภาพและความพร้อมสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ให้ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ต่อไป ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าการจัดงานมหกรรมวิชาการในครั้งนี้จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างรอบด้าน ทั้งด้านการเรียนรู้การปลูกฝังให้นักเรียนเป็นคนดีคนเก่ง และมีความสุข บนพื้นฐานการเรียนรู้ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนก้าวทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ในยุคดิจิทัลและนวัตกรรมแห่งอนาคต

“ขอให้ทุกท่านเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากกิจกรรมในครั้งนี้ และนำไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาของท่าน และร่วมกันพัฒนาผู้เรียนในทุกมิติโดยส่งเสริมให้มีการต่อยอดแนวคิดการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เพื่อพัฒนาสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อเป็นต้นทุนในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติในโอกาสต่อไป” รมช.ศึกษาธิการ​ กล่าว​ และว่า​ขอให้เน้นเรื่องความปลอดภัยของครูบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนเป็นหลัก”รมช.ศึกษาธิการกล่าว

 

ศธ.ห่วงสุขภาพจิตนักเรียน เสริมกำแพงพักใจ “Wall of Sharing” จัดระบบนิเวศในสถานศึกษา ตอบโจทย์”เรียนดี มีความสุข”

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567  นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีความห่วงใยต่อปัญหาสุขภาวะทางจิตของผู้เรียนจากปัญหาความเครียดและภาวะซึมเศร้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เล็งโครงการ”กำแพงพักใจ ที่พักใจให้เยาวชน” ในสถานศึกษาสอดรับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” มุ่งหวังให้ผู้เรียนถูกโอบกอดด้วยสภาพแวดล้อมที่มีความสุขทั้งด้านการเรียนและสุขภาพใจ

โฆษก ศธ. กล่าวว่า จากสถานการณ์สุขภาพจิตของผู้เรียนในปัจจุบัน พบว่าปัญหาสุขภาวะทางจิตไม่เพียงแต่เกิดจากสภาพแวดล้อมในบ้านหรือสังคม แต่ยังเกี่ยวข้องกับความเครียดจากการเรียน การแข่งขันในระบบการศึกษา และความคาดหวังจากครอบครัวและคนรอบข้าง ส่งผลให้เด็กและเยาวชนหลายคนไม่สามารถจัดการกับอารมณ์และความเครียดได้ ซึ่งปัญหานี้ต้องได้รับการดูแลและแก้ไขอย่างจริงจัง โดยการสร้างระบบการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตในสถานศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงการช่วยเหลือได้อย่างง่ายและรวดเร็วโดยไม่ต้องรอถึงขั้นวิกฤต

นายสิริพงศ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศธ.ได้ร่วมมือกับกรมสุขภาพจิต สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 และแอปพลิเคชัน ooca จัดทำโครงการ “ที่พักใจให้เยาวชน Wall of Sharing”นำร่องในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยพร้อมดูแลสุขภาพจิตให้กับนักเรียน ส่งเสริมความรู้แบบมีส่วนร่วมในการการรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตในสถานศึกษา และยังมีการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยาในโรงเรียน ฝึกอบรมครูและบุคลากรในสถานศึกษาให้สามารถสังเกตและดูแลนักเรียนที่อาจจะมีปัญหาสุขภาวะทางจิต รวมถึงพัฒนาระบบเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพใช้เป็นเครื่องมือนวัตกรรมสุขภาพจิต นอกจากนี้ยังมีแผนการดำเนินงานที่เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านร่างกายและจิตใจของนักเรียนผ่านกิจกรรมเรียนรู้ที่ช่วยลดความเครียดและเสริมสร้างสุขภาวะทางจิต สำหรับแนวทางในอนาคตที่วางไว้จะมีการส่งเสริมให้ทุกโรงเรียนในประเทศไทยจัดตั้งกลุ่มสนับสนุนสุขภาวะทางจิตและจิตวิทยา ซึ่งจะช่วยให้เด็กและเยาวชนมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นและปรึกษาปัญหาได้อย่างเปิดเผย โดยสร้างระบบที่สามารถช่วยเหลือนักเรียนได้ตั้งแต่แรกเริ่ม เพื่อลดปัญหาความเครียดในทุกระดับการศึกษาของประเทศไทย ดูแลสุขภาวะทางจิตภาพรวมของผู้เรียนเพื่อจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน

“อยากเน้นย้ำไปถึงครูและเพื่อนสนิทที่ใกล้ชิดให้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าว่าไม่ใช่เรื่องที่คิดไปเองแต่เป็นเรื่องที่เซนซิทีฟ พยายามอย่าตีตัวออกห่างเพียงเพราะกลัวว่าบางคำพูดหรือการกระทำจะไปทำร้ายความรู้สึกเพื่อนแบบไม่ได้ตั้งใจแล้วทำให้รู้สึกไม่ดี แต่ให้คอยสังเกตถามไถ่ด้วยความรู้สึกเห็นอกเห็นใจเพื่อลดกำแพงความกังวล หากครูพบเด็กที่น่าเป็นห่วงจริง ๆ ควรส่งต่อให้นักจิตวิทยาเด็กเข้ามาพูดคุยดูแลผู้เรียนให้ใกล้ชิดมากขึ้น”โฆษก ศธ.
กล่าวและว่า กระทรวงศึกษาธิการไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับด้านการเรียนเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับสุขภาวะทางจิตที่ดีของผู้เรียน ซึ่งโครงการ “Wall of Sharing” จะช่วยเสริมสร้างระบบนิเวศความสุขในสถานศึกษา รวมถึงความมั่นคงในชีวิตของเด็กและเยาวชนผ่านการบูรณาการตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ที่มุ่งหวังให้การศึกษาไทยเกิดความสมดุลทั้งในด้านวิชาการและการดูแลสุขภาพจิตควบคู่กัน

 

 

“มุ่งมั่น ศรัทธา” หลักการทำงานเสมา 1  มั่นใจ ผลประเมินพิซาปีหน้าเกินเป้าแน่นอน

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิซาแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2567 การประชุมวันนี้แต่ละหน่วยงานได้มารายงานความคืบหน้าการดำเนินการซึ่งมีความก้าวหน้าอย่างมาก  ขณะเดียวกันก็ได้มีการหารือในมิติของการออกข้อสอบ ซึ่งได้วางเป็นโมเดลไปและขยายผลไปแล้ว โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)สามารถดำเนินการได้ดี ส่วนเรื่องการพัฒนาแบบทดสอบในการสร้างความฉลาดรู้ ก็มีการติดตามอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ก็ดำเนินการได้เป็นอย่างดี  นอกจากนี้ในส่วนของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.)ก็กำลังดำเนินการจัดทำคลังข้อสอบ และเตรียมความพร้อมที่จะโอนภารกิจไปให้สภาการศึกษาช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม 2568 เนื่องจาก สสวท.จะต้องทำหน้าที่ผู้จัดการการสอบและประเมินผล ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจึงจำเป็นต้องถอยออกมา

“จริง ๆ แล้วที่เราพัฒนาเด็กและครู ไม่ใช่ทำเพื่อตอบโจทย์ในการสอบพิซาในปี 2025 เท่านั้น แต่เป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาตั้งแต่ปัจจุบัน และเชื่อว่าคุณภาพการศึกษาของเราจะมีการพัฒนาที่ดีขึ้นกว่าปีก่อน ๆ เพราะหลักการทำงานของรัฐมนตรี คือ “มุ่งมั่น และ ศรัทธา” เชื่อว่าทุกคนจะช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ ซึ่งผลจะออกมาดีแน่นอน และน่าจะเกินเป้าหมายที่วางไว้ด้วย”รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

 

 

 

“โฆษก ศธ.”แนะครูอย่าลงโทษนักเรียนเกินเหตุ ไม่ “บูลลี่”เด็กให้อับอาย

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567  นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ฝากข้อแนะนำถึงครูและสถานศึกษาในสังกัด ในประเด็นการลงโทษนักเรียนเรื่องทรงผมเกินกว่าเหตุ เน้นย้ำการปฏิบัติด้วยเหตุผลอย่างสร้างสรรค์ ไม่ก่อให้เกิดความอับอายจนเกิดเป็นปมในใจกระทบต่อความเชื่อมั่นในตัวเองจนส่งผลให้ไม่มีความสุขในการมาเรียน อย่างไรก็ตาม ระเบียบทรงผมของนักเรียนไทยเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะสะท้อนถึงค่านิยมและวัฒนธรรมการศึกษาและมีผลกระทบภาพลักษณ์ของสถาบันการศึกษา ซึ่งเกิดเป็นหลายมุมมองถกเถียงในสังคมจนถอดบทเรียนพิจารณานำไปสู่การยกเลิกระเบียบ “ทรงผมนักเรียน” ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา แต่ทุกวันนี้ก็ยังเห็นข่าวการลงโทษเรื่องทรงผมนักเรียนอย่างไม่เหมาะสมอยู่

นายสิริพงศ์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงศึกษาธิการเคารพความแตกต่าง เรียกได้ว่าเป็นโอกาสปฏิรูปการศึกษาให้เกิดการปฏิบัติที่ยืดหยุ่นในยุคใหม่ ลดความเข้มงวดตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป อย่างเรื่องการปรับปรุงระเบียบให้สิทธินักเรียนในการแสดงออกเรื่องแต่งกายหรือไว้ทรงผมที่ไม่ละเมิดคุณค่าหรือกฎระเบียบของสถาบัน และการปฏิบัติต่อผู้เรียนต้องเป็นไปตามหลักมนุษยธรรม ไม่ให้การลงโทษใดเกินกว่าความเหมาะสม จนอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจหรือความเชื่อมั่นในตัวเอง  ดังนั้นจึงขอฝากไปถึงครูและสถานศึกษาในสังกัดช่วย​กันปรับทัศนคติให้สอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป เน้นการพัฒนาทักษะชีวิตและความคิดสร้างสรรค์มากกว่าระเบียบทรงผมหรือการแต่งกาย เราเข้าใจถึงภาวะกดดันแต่ต้องมองตามความเหมาะสมให้ครบทุกมิติ​ ระมัดระวังการลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ซึ่ง ศธ.สนับสนุนให้ใช้แนวทางเชิงบวกแก้ไขปัญหาโดยไม่สร้างความอับอายต่อเด็ก และขอเป็นกำลังใจให้ครูผู้ทุ่มเททุกคนที่ตั้งใจสอนสิ่งดีกับลูกศิษย์ ขอให้เชื่อว่าความมุ่งมั่นที่ทำอยู่จะเป็นพลังส่งผู้เรียนถึงฝั่งด้วยความภาคภูมิใจ

“ขอย้ำว่าการดำเนินการกับนักเรียนที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบทรงผม ควรมีความห่วงใยและเข้าใจเหตุผลนักเรียน รวมถึงเป็นไปตามแนวทางการลงโทษ​ของกระทรวงศึกษาธิการ​ ที่มี​ 4​ สถานเท่านั้น​ คือ​ ว่ากล่าวตักเตือน ทําทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ และทํากิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม​ เพราะผลของการส่งเสริมสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่น่าจดจำในสถานศึกษาจะทำให้เด็กของเรา “เรียนดี มีความสุข” สนองนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ที่วางเป็นกรอบแนวทางเพื่อให้การศึกษามุ่งไปสู่การพัฒนาทักษะและความคิดสร้างสรรค์ และให้ผู้เรียนของเราเติบโตในรูปแบบที่เหมาะสมและมีคุณค่าต่อสังคม”นายสิริพงศ์ กล่าว

“ครูเอ”ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดอุดรธานี มอบนโยบาย​”เรียนดี​ มีความสุข”พร้อมฝากผู้บริหารแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษานำกลับเข้ามาเรียน

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567​ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาตามนโยบาย​ “เรียนดี​ มีความสุข” ณ โรงเรียนศรีธาตุพิทยาคม จังหวัดอุดรธานี​ โดยมี​ นายณัฐ​พงศ์​ คำวงศ์ปิน  รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี​ นายนิยม​ ไผ่โสภา​  ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน​  ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี​ ​ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอุดรธานี​ ผู้อำนวยการสถานศึกษา​ ครู​ บุคลากร​ทางการศึกษาและนักเรียน​ ร่วมให้การต้อนรับ

ทั้งนี้ นายสุ​รศักดิ์ กล่าวว่า​ รู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสมาพบปะ ท่านผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ข้าราชการครูบุคลากรทางการศึกษา​ลูกๆนักเรียน และพี่น้องชาวอุดรธานีในวันนี้​ จากการรับฟังคำกล่าวรายงาน ของท่านผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานีเขต 2 ทำให้ทราบถึง การดำเนินการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาตามนโยบาย “การจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต”นักเรียนอ่านออก เขียนได้ โรงเรียนสะอาด สวยงาม ปลอดภัย โรงเรียนคุณภาพ ปลอดโรค ปลอดภัย เรียนดี มีความสุข ตนขอชื่นชมทุกท่านที่ได้ให้ความสำคัญกับผู้เรียน เพราะหัวใจสำคัญของการศึกษา นักเรียนต้องมีพื้นฐานของการอ่านออก เขียนได้ และมีความสุข ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้อย่างมีคุณภาพ การศึกษาเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า

“พล.ต.อ.เพิ่มพูน​ ชิดชอบ​ รมว.ศึกษาธิการ ได้มีความมุ่งมั่น สานต่อนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อผู้เรียนเป็นที่ประจักษ์ โดยสานต่อนโยบายเดิม และเพิ่มการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการเพิ่มเติมนโยบายตามแนวทางของรัฐบาลชุดใหม่ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องทุนมนุษย์เป็นรากฐานที่สำคัญ ของการพัฒนาประเทศ ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อเป้าหมายในการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ภายใต้นโยบายหลัก คือ

“ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา” และ “ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง” มุ่งเน้น “การเพิ่มเครือข่ายทางการศึกษา” เพิ่มการมีส่วนร่วม สร้างภาคีเครือข่าย โดยนำงานวิจัยเป็นฐาน มีการทำงานเป็นทีม สร้างบรรยากาศการทำงานอย่างมีความสุข และสร้างองค์กรแห่งวัฒนธรรม ทั้งภาควิชาการ หน่วยงานทางการศึกษา สถานศึกษา/สถาบันทางการศึกษา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน เพื่อ “การศึกษาที่เท่าเทียม” พัฒนาคนไทยทุกคนในทุกช่วงวัย ให้ผู้เรียน “ฉลาดรู้​ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” พัฒนา ส่งเสริม  และสร้างความเสมอภาค เพื่อ “ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มคุณภาพการศึกษา” ร่วมกัน “ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ” เพื่อให้ประเทศมีความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ทั้งนี้การขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาให้ประสบความสำเร็จ ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงผู้ปกครองนักเรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และชุมชนเข้ามาร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน เพื่อคุณภาพการศึกษาของลูกหลานของเรา” รมช.ศึกษาธิการ​ กล่าว​และว่า​ ทั้งนี้ขอฝากครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน​ ร่วมกันแก้ปัญหา​เด็กหลุดออกจากระบบให้กลับมาสู่ระบบการศึกษาและร่วมกันเตรียมความพร้อมในการประเมิน PISA 2025  โดยเน้นการสอนให้เด็กนักเรียนได้รู้จักวิธีการคิด​ วิเคราะห์และแยกแยะให้เป็น

จากนั้นรมช.ศึกษาธิการ​ พร้อมคณะได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนอนุบาลวังสามหมอพร้อมเยี่ยมชมบูธกิจกรรมของนักเรียน

ศาลปกครองรับฟ้อง

หยอก หยอก วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 *** รองเท้าที่พาเราไปได้ไกล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสวยหรือราคาแพง แต่คือรองเท้าที่เราใส่แล้วพอดี เพื่อนร่วมงานก็เช่นกัน *** ตอนนี้ก็ถึงห้วงเวลาการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ซึ่ง “เสมา1” พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำถึงการจัดทำคำของบประมาณ ในเรื่องนโยบายรัฐบาลและนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ  โดยเฉพาะการศึกษาเท่าเทียมที่ทำให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาทุกคน และทำให้เด็กนักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษากลับเข้าสู่ระบบ โดยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อรองรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ระยะที่ 2 ทั้งแพลตฟอร์ม ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ รวมถึงการใช้ AI มาใช้ในการสอนภาษาต่างประเทศ โดยโครงการที่ไม่จำเป็นให้ตัดทิ้งไป *** ขณะที่ปีงบประมาณ 2568 ก็ให้เร่งดำเนินการใช้ แต่ความชัดเจนบางโครงการยังไม่ไปถึงไหน โดยเฉพาะการเช่าอุปกรณ์การจัดการเรียนการสอน โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการสร้างสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยหวังลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผ่านการจัดทำหลักสูตรที่ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ (1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต)ที่ตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเช่า เป็นโน๊ตบุ๊ก แท็บแล็ต หรือโฮมบุ๊ก จะแบ่งเป็นกี่โซน จะจัดซื้อจัดจ้างกันแบบไหน ที่ไม่ให้เดือดร้อนข้าราชการในข้อสั่งการของผู้มีอำนาจ เพราะบทเรียนในอดีตยังตามหลอกหลอนข้าราชการอยู่จนถึงตอนนี้บางหน่วยงานเรื่องก็ยังตรวจสอบกันอยู่…เอ้าคอยติดตามอย่ากระพริบตา *** ได้ฤกษ์แล้วกับการเสนอแผนการจัดพิมพ์แบบเรียนองค์การค้าของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.)ประจำปีการศึกษา 2568 จำนวน 26.9 ล้านเล่ม งบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมได้อนุมัติตามที่องค์การค้า สกสค.เสนอ และอนุมัติให้ ดร.พีระพันธ์ เหมะรัต เลขาธิการ สกสค.ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแทน นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รักษาการผู้อำนวยการองค์การค้า สกสค.โดยให้ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยได้เน้นย้ำเรื่องความถูกต้องโปร่งใส มีความเป็นธรรมในการดำเนินการเป็นสำคัญ   นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้องค์การค้า สกสค.ไปดูแผนการดำเนินการต่าง ๆ…ก็ถือว่า ข้อสั่งการของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ เจ้ากระทรวงเสมา ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นเพราะมีคู่พิพาท อย่าง บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์(1977)ที่ฟ้องไว้หลายศาล โดยข่าวล่าสุดศาลปกครองได้แจ้งว่า ได้รับคำฟ้อง สำนักงาน สกสค.กรณี บอกเลิกสัญญาจ้างโครงการจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 เรียบร้อยแล้ว เรื่องนี้ก็ให้ไปว่ากันในชั้นศาล…หยอกหยอก ไม่ขอยุ่ง…เด้อจ้า *** เป็นเรื่องที่ไม่แปลกสำหรับกระทรวงเสมา…ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งตั้ง โยกย้าย วิ่งเต้น เพราะการโยกย้ายศึกษาธิการจังหวัดที่ผ่านมาก็ไม่รู้ว่าเอามาตรฐานอะไรมาจับ คนที่ถูกลงโทษทางวินัยก็สามารถย้ายกลับมาอยู่ในจังหวัดใหญ่ ๆ ได้…ฮะฮะฮ่า..อีกเรื่อง..ปิดกันให้แซ่ดว่าที่ปรึกษา..หญ่าย อักษร..อ…แรก ๆ ไม่ค่อยพบเจอหน้า แต่ตอนนี้เห็นหน้าเกือบทุกวัน เค้าเม้าส์กันว่าใครอยากขึ้นตำแหน่งไปหาคนนี้ไม่ผิดหวัง..นะจ๊ะนะจ๊ะ…*** ว่ากันว่ามาตรฐานหลักสูตรแกนกลางมาจากประเทศชั้นนำทั่วโลก แต่นำมาปฏิบัติไม่เป็น เข้าไม่ถึง เพราะไม่เข้าใจกระบวนการ คนที่จะเปลี่ยนก็ไม่เข้าใจ เพราะไม่เคยสอนการศึกษาขั้นพื้นฐานมาก่อน เกรงว่าจะแย่กันไปใหญ่ถ้าจะมาปรับหลักสูตรกันใหม่ แทนที่จะต่อยอดให้ถึงเป้าหมายกลับย้อนไปเริ่มต้นในสิ่งที่ไม่เข้าใจ หรือเป้าหมายที่แท้จริงของเรื่องนี้ คือ การซื้อ หรือเช่า เทคโนโลยี หลายพันล้าน…อิอิอิ *** ล่าสุด มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ซี 10 ศธ. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ไม่รู้ว่าตำแหน่งบริหารระดับต้น ที่ว่างอยู่ 2-3 เดือนแล้วจะได้สรรหากันหรือยัง ไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( กพฐ.) ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา( กอศ.) ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)***

 

 

 

สพม.บุรีรัมย์ระดมสมองปรับแผนพัฒนาการศึกษาพื้นฐาน ระยะ 5 ปี  หวังสร้างเอกภาพจัดการศึกษาในจังหวัด

จากการประชุมเชิงปฏิบัติการทบทวนและปรับปรุงแผนพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2566 – 2570 (รอบปีงบประมาณ พ.ศ. 2568) วันที่ 19 – 20 พฤศจิกายน 2567 ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)บุรีรัมย์โดยสิบตำรวจตรี นปดล นพเคราะห์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาบุรีรัมย์ กล่าวว่า แผนพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระยะ 5 ปี เป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานภารพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเป็นกรอบการทำงาน สำหรับผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ บุคลากร และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตพื้นที่ เพื่อให้การทำงานมีเอกภาพเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกับนโยบาย มาตรฐานการศึกษา แผนการศึกษา แผนพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน และความต้องการของท้องถิ่น ซึ่งความรู้ความเข้าใจเชิงนโยบายและความร่วมมือของบุคลากรทุกคนในการนำนโยบายไปปฏิบัติทั้งในสำนักงานเขตพื้นที่ฯและสถานศึกษาจะทำให้แผนงาน นโยบายประสบความสำเร็จได้

ผอ.สพม.บุรีรัมย์ กล่าวต่อไปว่า การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อทบทวนสถานการณ์การจัดการศึกษา เพื่อจัดทำเป้าหมายการยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วย วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย   กลยุทธ์ และจุดเน้นในการขับเคลื่อนแผนงาน โครงการ และกิจกรรม ต่างๆ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ขณะเดียวกันเพื่อออกแบบการดำเนินงานโครงการ กิจกรรมและแนวทางทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล นโยบายกระทรวงศึกษาธิการ และตัวชี้วัดแผนปฏิบัติราชการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาชั้นพื้นฐาน(สพฐ.) รวมถึงเพื่อสร้างกลไกในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาทั้งในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และการมีส่วนร่วมจากเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพการศึกษาภายนอก ให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการส่งเสริมการยกระดับคุณภาพการศึกษาสถานศึกษาในสังกัด สพม.บุรีรัมย์ และนำไปสู่การกำหนดตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษา การออกแบบบโครงการ กิจกรรม และการจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับเป้าหมายและผลลัพธ์ที่พึงปรารถนาต่อไป

 

ศธ.เตรียมทำคำของบฯ 69 เน้นการศึกษาเท่าเทียม ใช้เทคโนโลยีลดเหลื่อมล้ำ ทำเด็กหลุดระบบให้เป็นศูนย์

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 ว่า กระทรวงศึกษาธิการจะมีการประชุมเรื่องการจัดทำคำของบประมาณ ปี 2569 ในเร็ว ๆ นี้ ตนได้ให้นโยบายว่าให้เน้นเรื่องนโยบายรัฐบาลและนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ  โดยเฉพาะการศึกษาเท่าเทียมที่ทำให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาทุกคน และทำให้เด็กนักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษากลับเข้าสู่ระบบ โดยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อรองรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ระยะที่ 2 ทั้งแพลตฟอร์ม ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ รวมถึงการใช้ AI มาใช้ในการสอนภาษาต่างประเทศตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีด้วย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า  สำหรับการประชุมประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ วันนี้ที่ประชุมได้หารือถึงการขับเคลื่อน “โครงการ Thailand Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” ของนายกรัฐมนตรี โดยได้มอบหมายให้สภาการศึกษาเป็นเจ้าภาพหลักในการรวบรวมข้อมูลเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาทั้งหมด  โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ศทก.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(สป.ศธ.) รับผิดชอบฐานข้อมูลในการดำเนินงาน ทั้งนี้ตนได้กำชับว่าในการดำเนินการให้ใช้ฐานข้อมูลของ ศทก.สป.ศธ. เป็นหลักแล้วนำข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ มารวม ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การทำงานเรื่อง Thailand Zero Dropout มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

“กระทรวงศึกษาธิการ จะพยามลดจำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบให้ได้มากที่สุด โดยมิติในการทำงานของผม คือ ป้องกัน แก้ไข และ ส่งต่อ โดยป้องกัน คือ การมีมาตรการป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งต้องเพิ่มความเอาใจใส่ในการดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงให้มากขึ้น แต่ถ้าเด็กหลุดออกจากระบบไปแล้วก็ต้องแก้ไขเอาเด็กกับเข้ามาสู่ระบบการศึกษา โดยขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ได้เริ่มแก้ไขไปแล้วด้วยการทำโครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการศึกษาไปให้น้อง แต่ถ้าเด็กไม่กลับเข้าสู่ระบบจริง ๆ ก็จะมีกรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.)ที่เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการส่งเสริม ดูแลเด็กกลุ่มนี้ให้ได้รับการศึกษาหรือได้รับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง  ส่วนการส่งต่อ เช่น กรณีบิดา มารดา ย้ายถิ่นฐานก็จะมีวิธีดำเนินการที่จะส่งต่อเพื่อให้เด็กได้เรียนต่อเนื่อง โดยมอบให้ สพฐ.ไปจัดทำแพลตฟอร์มในการส่งต่อเด็กแล้ว” พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าว

นอกจากนี้ที่ปะชุมยังได้ติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ผ่านการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ซึ่ง สพฐ.ได้นำเสนอแผนการขยายผลพัฒนาและสร้างข้อสอบความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ผ่านระบบออนไลน์ Google Classroom 78 ห้องเรียน โดยมีแกนนำ 465 คน นำเข้าระบบเรียนรู้ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา 245 คน ทำหน้าที่กำกับ และผู้อำนวยการโรงเรียน 29,152 คน ร่วมติดตามและสะท้อนผล  รายงานการเข้าใช้ระบบ Computer Based Test ภาพรวม 245 เขตพื้นที่การศึกษา มีนักเรียนเข้าใช้กว่า 7 แสนคน (756,814 คน) คิดเป็นร้อยละ 91.66 ของจำนวนนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย ส่วนสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( สสวท.) ได้รายงานการจัดทำวีดิทัศน์การอบรม เรื่องการสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ ให้สามารถอบรมย้อนหลังผ่าน YouTube ด้านการอ่าน 9 ตอน ด้านวิทยาศาสตร์ 8 ตอน และด้านคณิตศาสตร์ 6 ตอน (เช่น การบรรยายพิเศษในการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครูแกนนำสร้างข้อสอบฯ การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนตามกรอบการประเมิน PISA กรอบการประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่าน แนวทางการวัดความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์ เป็นต้น)

ทั้งนี้ ก่อนการประชุม สมาพันธ์การเขียนโปรแกรมโอลิมปิกวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 8 พันธมิตร 45 ประเทศ ประจำประเทศไทย และประธานมูลนิธิพัฒนามนุษย์นานาชาติโฟกัส ได้นำคณะทีมชาติไทยที่ได้รับรางวัลจากการเข้าร่วมประกวดโอลิมปิกวิชาการนานาชาติ ด้านนวัตกรรมการสร้างสรรค์โปรแกรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์สากล ครั้งที่ 8 (The 8th International Scratch Creative Programming Olympiad 2024) เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ณ ประเทศฟินแลนด์ เข้าพบ โดยได้มีการคัดเลือกตัวแทนทีมชาติไทย จำนวน 43 คน เข้าร่วมการประกวดระดับนานาชาติกับตัวแทนประเทศต่าง ๆ อีก 65 ประเทศทั่วโลก และมีตัวแทนทีมชาติไทย เข้ารับรางวัลครั้งนี้ 6 ราย ตามรางวัลดังนี้

– อาจารย์กำจร ยั่งยืน รองผู้อำนวยการโรงเรียนรพีเลิศวิทยา ลำพูน (สช.) ได้รับรางวัลเหรียญทอง ROBBO Master 18+ จากการแข่งขัน 8th International Scratch Creative Programming Olympiad 2024

– นายอรรณพ แตงอ่อน ครูโรงเรียนไตรประชาสามัคคี นครสวรรค์ (สพฐ.) ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ROBBO Master 18+ จากการแข่งขัน 8th International Scratch Creative Programming Olympiad 2024 และ รางวัลเหรียญทองแดง Scratch Master จากการแข่งขัน 7th International Scratch Creative Programming Olympiad 2023

– เด็กชายภาวิน พัฒนาเวคิน โรงเรียน HeadStart International School Phuket ภูเก็ต (สช.) ได้รับรางวัลเหรียญเงิน Scratch Kid อายุ 7-8 ปี จากการแข่งขัน 8th International Scratch Creative Programming Olympiad 2024

– นางสาวภาวิณี ไชยภาค บุคคลทั่วไป ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง ROBBO Master 18+ จากการแข่งขัน 7th International Scratch Creative Programming Olympiad 2023

– เด็กชายวัชรวิชญ์ กลิ่นสุคนธ์ โรงเรียน Newton Sixth Form กรุงเทพมหานคร (สช.) ได้รับรางวัลเหรียญเงิน Scratch Teen จากการแข่งขัน 6th International Scratch Creative Programming Olympiad 2022

– นายภูมิมนัส แสงแก้ว โรงเรียนรัษฎา ตรัง (สพฐ.) ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง Scratch Youth จากการแข่งขัน 6th International Scratch Creative Programming Olympiad 2022

“ขอแสดงความชื่นชมกับทีมชาติไทย และทางสมาพันธ์ฯ ที่จัดโครงการดีๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ครู นักเรียน เป็นตัวแทนทีมชาติไทยไปร่วมการประกวดฯ จนได้นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย  โดยปีนี้เป็นปีที่พิเศษที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง จากการประกวดฯ โอลิมปิกวิชาการนานาชาติด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์โปรแกรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ เป็นปีแรกด้วย” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

 

ก.ค.ศ. เดินหน้าพัฒนาระบบการคัดเลือกและพัฒนาศึกษานิเทศก์ก่อนแต่งตั้ง

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567  ดร.พิเชฐร์ วันทอง รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. ว่าที่ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในการเป็นประธานการประชุมสัมมนาจัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ณ โรงแรมเบลล่า บี บางกรวย จังหวัดนนทบุรี ว่า การประชุมครั้งนี้สืบเนื่องจากที่ ก.ค.ศ. ได้ประกาศมาตรฐานตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาฉบับใหม่ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.4/ว 19 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งสายงานนิเทศการศึกษาต้องมีใบรับรองการผ่านการพัฒนาสมรรถนะศึกษานิเทศก์และต้องได้รับการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ประกอบกับมติ ก.ค.ศ. ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 ได้พิจารณาแนวทางการบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูฯ ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ได้ศึกษานิเทศก์ที่มีความรู้ความสามารถและศักยภาพในการแนะนำ ชี้แนะแนวทางให้กับครูและผู้บริหารสถานศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ โดยที่ประชุมร่วมกันพิจารณาใน 3 ประเด็นหลัก

ดร.พิเชฐร์ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่ 1 คือ การกำหนดสมรรถนะและประสบการณ์ของตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ประเด็นที่ 2 คือ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ และประเด็นที่ 3 คือ  (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้มีความเชื่อมโยงกันในการพัฒนาการบริหารงานบุคคลฯ สำหรับตำแหน่งศึกษานิเทศก์  อย่างไรก็ตาม การพัฒนาศึกษานิเทศก์ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะการพัฒนาระบบคัดกรองศึกษานิเทศก์แบบใหม่ที่กำหนดให้ผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งต้องผ่านการพัฒนาสมรรถนะผ่านระบบ e-Learning ก่อนเข้ารับการคัดเลือก และเมื่อผ่านการคัดเลือกแล้วจะต้องเข้ารับการพัฒนาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 วัน เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่อย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำถึงการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ โดยกำหนดให้ผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งต้องมีใบรับรองการผ่านการพัฒนาสมรรถนะศึกษานิเทศก์ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของศึกษานิเทศก์และเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาครูและผู้บริหารสถานศึกษา นอกจากนี้ ยังมีกรอบแนวคิดในการพัฒนาเส้นทางความก้าวหน้าในวิชาชีพ โดยผู้ที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ตามมาตรา 50 สามารถยื่นขอมีวิทยฐานะชำนาญการผ่านระบบ DPA โดยใช้ PA ร่วมกับ Project-based Development ในการประเมิน เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจและเส้นทางความก้าวหน้าที่ชัดเจน

“เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาศึกษานิเทศก์คือการยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยมุ่งให้ศึกษานิเทศก์มีความรู้ความสามารถในการแนะนำและชี้แนะแนวทางให้กับครูและผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศในภาพรวม” ดร.พิเชฐร์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ ผลจากการประชุมจะนำไปสู่การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการพัฒนาศึกษานิเทศก์ที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสภาวการณ์การจัดการเรียนรู้ในปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาของประเทศให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป