สพฐ.เดินหน้าLearn to Earn ให้เด็กมีรายได้ระหว่างเรียน ตั้งแพลตฟอร์มขายของทางออนไลน์

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 46/2567 ว่า ตนได้นำข้อสั่งการของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาของ สพฐ.ดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามข้อสั่งการ โดยวันนี้ ที่ประชุมได้ติดตามประเด็น Thailand zero dropout การแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา และเด็กออกกลางคัน ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล นับจากการประกาศ Kick off นโยบาย สพฐ. “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” ในการประชุมผ็อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทั้งนี้จากการดำเนินการสำรวจและติดตามในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ค้นพบเด็กที่หลุดออกจากระบบ และนำกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ได้มากกว่า 4,000 ราย นอกจากนี้ ยังมีเด็กอีกกลุ่ม คือ เด็กที่มีปัญหาอุปสรรค ไม่สามารถมาเรียนที่โรงเรียน ก็ได้มีการนำการศึกษาไปให้ถึงบ้าน เช่น เด็กที่เป็นคนไข้ติดเตียงต้องรักษาตัวระยะยาวที่โรงพยาบาล หรือเด็กที่มีภาระทางบ้าน มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่ง สพฐ.จะต้องพยายามให้ทุกคนเข้าสู่ระบบการศึกษา ไม่ให้มีใครตกหล่นและออกนอกระบบ

เลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้ทุกเขตพื้นที่ประสานกับกรมสุขภาพจิตและนักจิตวิทยา จัดทำระบบดูแลนักเรียนให้เข้มแข็ง มีข้อมูลนักเรียนเป็นรายบุคคล โดยเฉพาะนักเรียนกลุ่มที่มีแนวโน้มเกิดอาการเครียด ต้องมีแนวทางการดูแล ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายแรงขึ้น รวมถึง ประเด็นข่าวที่ผู้ปกครองเครียดเนื่องจากโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เตรียมที่จะปิดตัวเพื่อเปลี่ยนเป็นโรงเรียนนานาชาติ ทาง สพฐ. ก็ได้เตรียมพร้อมโรงเรียนใกล้เคียงไว้รองรับ หากผู้ปกครองมีความประสงค์จะย้ายบุตรหลานไปโรงเรียนอื่นหลังจากที่โรงเรียนนี้ปิดตัวไป ให้มาเรียนกับโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ได้ ผู้ปกครองไม่ต้องกังวล

ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องข่าวว่า ผอ.โรงเรียนแห่งหนึ่งทุจริตค่าอาหารกลางวันนักเรียนและพกอาวุธเข้ามาในโรงเรียน ล่าสุด สพฐ. ได้พิจารณาให้ผอ.คนดังกล่าวเข้ามารายงานตัวที่ สพฐ. เพื่อให้เขตพื้นที่ฯดำเนินการสอบสวนทางวินัยแล้ว หากพบว่ามีการกระทำความผิดก็จะมีการดำเนินการอย่างถึงที่สุด เพราะเป็นกรณีตัวอย่างในเรื่องของโครงการอาหารกลางวันและการสร้างสถานศึกษาปลอดภัย ปราศจากอาวุธและการทำร้าย เป็นนโยบายสำคัญและข้อสั่งการของ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับนักเรียนทุกคนและสุดท้ายคือเรื่องของขวัญวันปีใหม่ ของขวัญวันเด็ก และของขวัญวันครู เราตั้งใจว่าสิ่งใดที่เป็นการลดภาระครู ก็จะให้เป็นของขวัญวันครู สิ่งใดที่เป็นการลดภาระนักเรียนก็จะให้เป็นของขวัญวันเด็ก ซึ่งทาง สพฐ. ยังมีอีกหลายโครงการที่ทำเพื่อเป็นการลดภาระนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ ยกตัวอย่างสิ่งที่เป็นของขวัญให้เด็กอย่างชัดเจนตอนนี้ก็คือ Learn to Earn การมีรายได้ระหว่างเรียน ซึ่งตอนนี้ได้เริ่มดำเนินการไปบางส่วนแล้ว โดยให้นักเรียนขายของในระบบออนไลน์ และประเด็นสำคัญที่รมว.ศึกษาธิการสั่งการคือ  คือการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ไปสู่ห้องเรียน ซึ่งตอนนี้กำลังออกแบบว่าจะทำอย่างไรให้นโยบายนี้ลงไปถึงตัวครูและนักเรียน รวมถึงพี่น้องประชาชนด้วย เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

ยก“โรงเรียนดรุณาราชบุรี”โมเดลต้นแบบ การเรียนรู้แบบ Active Learning บรรลุเป้าหมาย “เรียนดีมีความสุข” สอดรับนโยบาย “บิ๊กอุ้ม”

เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ หอประชุม St.Francis โรงเรียนดรุณาราชบุรี มีพิธีเปิดงานมหกรรมวิชาการโรงเรียนดรุณาราชบุรี ปีการศึกษา 2567 การแข่งขันทักษะวิชาการ โรงเรียนในสังกัดสังฆมณฑลราชบุรี “Love to Learn, Learn to Live, and Live to Love” โดยมี บิชอป ซิลวีโอ สิริพงษ์  จรัสศรี ประมุขสังฆมณฑลราชบุรี  เป็นประธานในพิธี กล่าวว่า มหกรรมวิชาการโรงเรียนดรุณาราชบุรี ประจำปีการศึกษา 2567 นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ และเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงทักษะความรู้และศักยภาพของตนเองผ่านการจัดกิจกรรม ซึ่งโรงเรียนในเครือคาทอลิกสังฆมณฑลราชบุรีจะจัดการศึกษาโดยเน้นคุณธรรมควบคู่กับความรู้ โดยใช้คติคำขวัญเดียวกันว่า คุณธรรมนำวิชาพัฒนาสุข เพื่อให้เด็กนักเรียนได้พัฒนาในส่วนทั้งความรู้ ความดีเพื่อประโยชน์ส่วนรวม หมายความว่าเราจะเน้นความเป็นเลิศในเรื่องของคุณงามความดีรับใช้สังคม

บิชอปซิลวีโอ สิริพงษ์ จรัสศรี กล่าวต่อไปว่า การเรียนรู้แบบ Active Learning คือ กระบวนการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนได้ร่วมกับครูวางแผนจัดการเรียนด้วยกัน ให้นักเรียนมีบทบาทร่วมกับคุณครูทำโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ ทำให้คนรุ่นใหม่มีบทบาทในการทำงานมากขึ้น ต่างจากสมัยก่อนที่นักเรียนจะเป็นผู้รับแล้วครูเป็นผู้ถ่ายทอด แต่ปัจจุบันครูกับนักเรียนวางแผนร่วมกัน บางครั้งครูก็ต้องเรียนจากนักเรียน เด็กก็เรียนเป็นโครงงาน ซึ่งจะทำให้เด็กมีความสุขในการเรียน อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนมากขึ้นมีห้อง AI ที่จะให้นักเรียนได้เรียนรู้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเรายังเน้นเรื่องของคุณธรรม จริยธรรมอยู่

บาทหลวง ผศ.ดร.อภิสิทธิ์ กฤษเจริญ ประธานฝ่ายอบรมศึกษาสังฆมณฑลราชบุรี ผู้อำนวยการโรงเรียนดรุณาราชบุรี กล่าวว่า สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ(พว.)ได้มาช่วยโรงเรียนอบรมเรื่องของการเรียนรู้แบบ Active Learning ทางโรงเรียนจึงให้เป็นนโยบายว่า ครูจะต้อง Active แล้วไปเรียนรู้พร้อมกับเด็ก โดยมีเด็กเป็นเจ้าของโครงการ ครูและนักเรียนเรียนไปพร้อมกัน เพราะฉะนั้นความรู้ของเด็กและครูจะต้องมาคู่กัน เริ่มต้น คือ ให้นักเรียนช่วยกันคิดว่าจะเรียนเรื่องอะไรแล้วมาวางแผนร่วมกันระหว่างครูกับเด็ก ทำให้การเรียนการสอนไม่เป็น Passive แต่เป็น Active  เพราะครูกับเด็กจะต้องลงมือทำร่วมกัน ทำให้เด็กมีความสุขในการเรียน

“ผมเคยสัมภาษณ์เด็กว่าทำไมถึงเลือกมาเรียนที่นี่เด็กบอกว่าเพราะได้ลงมือทำจริง พอเรียนก็จะมีความสุข ทำให้โรงเรียนตั้งเป็นนโยบายว่าเรากำลังจะสร้างนวัตกรรมในการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กเป็นนวัตกรที่จะสร้างองค์ความรู้ได้เอง พัฒนาได้เอง  เพราะเด็กบอกว่ามีความสุข เวลาเรียนในห้องเรียนไม่ได้นั่งเรียนอย่างเดียว แต่ได้ทำกิจกรรม เป็นการเรียนที่มีความสุข ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้และเกิดการพัฒนา และเด็กก็มีคุณธรรม รู้จักการแบ่งปัน มีจิตอาสา ซึ่งเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องบังคับ  และการที่เด็กได้เรียนรู้กระบวนการก็จะทำให้สามารถไปต่อยอดได้ เมื่อเขาสามารถต่อยอดสำเร็จเค้าก็จะเป็นนวัตกรที่จะสามารถไปสร้างอาชีพได้ เพราะการเรียนแบบ Active Learning เด็กจะต้องมีโปรเจค ที่สำคัญโปรเจคที่คิดจะไม่ใช่คิดเพื่อตัวเอง แต่คิดเพื่อต่อยอดไปยังคนอื่นและสังคม โดยอาจจะเริ่มจากคนที่รัก คนที่ชอบ หรือคนที่ใกล้ตัวก่อน แล้วต่อยอดไปถึงสังคม เช่น Theme งานมหกรรมวิชาการวันนี้ คือ รักษ์โลก ซึ่งก็ไม่ใช่เฉพาะตัวเรา แต่หมายถึงโลกทั้งโลกที่เด็กจะต้องดูแล เด็กก็จะไปคิดโปรเจค เช่น คนที่เลี้ยงสัตว์เค้าก็ทำเครื่องป้อนอาหารอัตโนมัติ ซึ่งนอกจากเป็นประโยชน์กับตัวเองก็เผื่อไปยังคนอื่นด้วย เป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นการต่อยอดความคิดจากองค์ความรู้ที่มี Active Learning ก็คือกระบวนการเรียนรู้ที่จะสามารถต่อยอดองค์ความรู้ได้ และทำให้เด็กได้มีความสุขในการเรียน สอดคล้องกับหลักการของคริสตจักรที่ว่าเรียนเพื่อช่วยคนอื่น” บาทหลวง ผศ.ดร.อภิสิทธิ์กล่าว

ด้าน ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า การพัฒนาคนยุคใหม่เป็นการพัฒนาผ่านกระบวนการเรียนรู้ โดยการให้ผู้เรียนเกิดความสามารถเป็นผู้สร้างความรู้เองได้ทุกมิติ ทั้งมิติของการคิด มิติของคุณธรรม ค่านิยม และมิติของทักษะกระบวนการ ซึ่งโรงเรียนในเครือสังฆมณฑลราชบุรี สามารถจัดการศึกษาโดยหลอมรวมทั้งสามมิติให้เป็นเนื้อเดียวกันได้ ไม่คิดแบบแยกส่วน มีเหตุมีผล และมีคุณธรรม ค่านิยม จริยธรรม ทำให้เด็กคิดไปถึงมุมกว้าง ไปถึงสังคม ไปถึงธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศชั้นนำทั่วโลกต้องการให้คนคิดแบบนี้ ถ้าเป็นนักคิดนักประดิษฐ์ที่ทำเพื่อประโยชน์แก่คนทั้งโลกได้ สามารถควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ งานของเค้าจะมีคุณค่าต่อคนทั้งโลกทันทีและมีมูลค่าสูง

“เท่าที่คุยกับผู้บริหารโรงเรียนดรุณาราชบุรี โรงเรียนได้จัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กเข้าถึงนวัตกรรม ไม่ใช่เอาผลงานนวัตกรรมมาโชว์ แต่นักเรียนทุกคนต้องสามารถเข้าถึงนวัตกรรมโดยการมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะแบบกลุ่ม แบบเดี่ยว กลุ่มเล็ก หรือกลุ่มใหญ่ แต่ทุกคนต้องเข้าถึงผ่านสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่ม เป็นจุดเริ่มต้นที่สัมพันธ์กับความฉลาดของเด็กแต่ละด้าน เช่น เด็กฉลาดคณิตศาสตร์เริ่มที่คณิตศาสตร์ ถ้าฉลาดภาษาก็เริ่มที่ภาษา แต่ทั้งหมดนี้จะพัฒนาไปสู่กระบวนการเรียนรู้เดียวกันผ่าน การเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps” ดร.ศักดิ์สิน กล่าวและว่า โรงเรียนดรุณาราชบุรีสามารถบรรลุเป้าหมายมาตรฐานตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาและเป็นโรงเรียนต้นแบบของประเทศได้ เพราะหัวใจของประเทศขณะนี้คือการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ตามมาตรฐานสากลซึ่งหลายประเทศนำมาใช้และบรรลุเป้าหมายจนตอนนี้เค้าเริ่มต่อยอดแล้ว แต่โรงเรียนในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถบรรลุได้แม้แต่มาตรฐานเดียว เพราะยังไม่สอนแบบ Active Learning

สมศ.ขานรับนโยบาย“บิ๊กอุ้ม“ ภายใน5ปี ประเมินสถานศึกษาครบกว่า5.8หมื่นแห่ง


เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) เปิเผยว่า จากกรณี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายให้ สมศ.เพิ่มจำนวน ประเมินภายนอกสถานศึกษา ในปีถัด ๆ ไป โดยต้องการให้สถานศึกษาได้รับการประเมินทุกแห่งนั้น จำนวนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีทั้งสิ้นมีจำนวน 58,000 กว่าแห่ง ซึ่งในการประเมิน สมศ.ได้ทำตามกรอบกฎหมายอยู่แล้ว เพราะกฎหมายกำหนดให้สถานศึกษาหนึ่งแห่งต้องรับการประเมินอย่างน้อย 1 ครั้งในทุก 5 ปี สมศ.ก็ได้มีการวางแผนไว้แล้วว่าแต่ละปีจะสามารถประเมินได้จำนวนเท่าไหร่ เมื่อครบรอบ 5ปี ก็จะประเมินสถานศึกษาได้ครบทั้งหมด

รักษาการ ผอ.สมศ.กล่าวต่อไปว่า ส่วนรูปแบบวิธีการตรวจเยี่ยมสถานศึกษานั้น โดยหลักจะมีทั้งแบบออนไลน์ virtual visit ซึ่งเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 เป็นการปรับรูปแบบการตรวจประเมินให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้น และการตรวจเยี่ยมแบบเดิมคือ onsite visit ที่ผู้ประเมินจะต้องเข้าไปตรวจเยี่ยมในพื้นที่ที่โรงเรียนจริง ๆ โดยในการตรวจเยี่ยมรอบนี้ สมศ.ได้ใช้การตรวจเยี่ยมทั้ง 2 รูปแบบและมีแบบผสมผสาน หรือ hybrid ด้วย โดยใช้ผลการประเมินที่ผ่านมาทั้งหมดบวกกับผลประเมินปัจจุบันแล้วมาวิเคราะห์ว่าควรจะประเมินสถานศึกษาแห่งไหนแบบ onsite visit หรือ virtual visit หรือ hybrid ซึ่งจะมีเกณฑ์อยู่แล้ว และจะมีการพูดคุยกับสถานศึกษาก่อนว่าจะใช้รูปแบบใด

“สำหรับกรณีที่ผลการประเมินสถานศึกษาแล้วถูกจัดอยู่ในกลุ่มสีเขียว สีเหลือง หรือ สีแดง คือ สีแดงเท่ากับระดับ 1-2 สีเหลืองระดับ 3-4 และ สีเขียวระดับ 5 นั้น โดยความคาดหวังถ้าสถานศึกษาสามารถทำได้ระดับสีเขียวทั้งหมดจะเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่ตอนนี้ที่ประเมินไปแล้ว 5,000 กว่า แห่งรวมทุกสังกัด ที่ทำได้ระดับ 5 หรือ สีเขียว มีประมาณ 10%เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก”ดร.นันทา กล่าว

“อรรถพล”ห่วงการศึกษาไทยปรับตัวช้า พัฒนาคนไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

ดร.อรรถพล  สังขวาสี อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการและอดีตเลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า แม้ตนจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ยังคงติดตามการพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาคนซึ่งเป็นภารกิจหลักของกระทรวงศึกษาธิการโดยตลอด โดยประเด็นที่ห่วงใยอย่างยิ่ง คือ การปรับตัวของกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาและเตรียมความพร้อมของคนให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งเป็นประเด็นที่ห่วงใยมาตั้งแต่ยังรับราชการจนถึงปัจจุบัน เพราะการปรับตัวขององค์กรใหญ่ที่ค่อนข้างล่าช้า และไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งช่องว่าง (Gap) ห่างออกไปมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะส่งผลให้เกิดวิกฤตแรงงานในอนาคตอันใกล้นี้ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนเช่น

ปัจจุบันการเติบโตของ Gig Economy และ Gig Workers เติบโตขึ้นมาก โดย Gig Economy คือเศรษฐกิจที่ดำเนินการอย่างยืดหยุ่น มีการแลกเปลี่ยนแรงงานและทรัพยากรผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลที่อำนวยความสะดวกในการจับคู่ผู้ซื้อและผู้ขายอย่างแข็งขัน โดยองค์กรต่าง ๆ จะจ้างผู้รับเหมาอิสระและฟรีแลนซ์แทนที่จะเป็นพนักงานประจำ ไม่จำเป็นต้องมีตารางเวลาที่เป็นระบบ การจัดระบบที่คล้ายคลึงกันนี้พบเห็นได้ในบริษัทต่าง ๆ เช่น Uber  DoorDash และ Airbnb โดยลักษณะนี้ Gig Economy จึงส่งผลให้บริการต่าง ๆ ถูกกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งสามารถเสนอทางเลือกที่ไม่เหมือนใครและรวดเร็วกว่าให้กับผู้บริโภคได้ และทำให้เป็นตัวเลือกยอดนิยมสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเศรษฐกิจรูปแบบนี้ต้องการคนทำงานที่มีลักษณะแตกต่างจากเดิมที่เรียกว่า Gig Workers คือคนทำงานที่ไม่ใช่งานประจำแต่ใช้วิชาชีพของตนเองในการทำงานให้กับหลาย ๆ องค์กรที่ต้องการความชำนาญในการทำงานของพนักงานคนนั้น ดังนั้น พนักงานหนึ่งคนสามารถทำงานให้กับองค์กรต่าง ๆ ได้มากกว่าหนึ่งองค์กร และรับรายได้จากการทำงานนั้น ๆ โดยตรง ซึ่งเป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับความเชื่อและวิถีของคนรุ่น Gen Z

“เมื่อหันกลับมามองการศึกษาและการพัฒนาคนของบ้านเรา จึงรู้สึกเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะขณะนี้การขับเคลื่อนเรื่องธนาคารหน่วยกิต ซึ่งจะเป็นช่องทางรองรับการเตรียมคนสำหรับเศรษฐกิจรูปแบบนี้ยังมีข้อจำกัดมาก โดยเรื่องนี้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ริเริ่มและมีการออกนโยบายตั้งแต่ผมยังรับราชการอยู่ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ค่อยก้าวหน้ามากนักจนช่องว่างการเตรียมคนขยับตัวไม่ทัน”ดร.อรรถพลกล่าว

“ครูเอ”ปลื้ม “ปลัดปุ๊กโมเดล” นำผลประเมินของ สมศ.ไปใช้พัฒนาโรงเรียนได้ผลแบบก้าวกระโดด

ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำสื่อมวลชนสัญจร ลงพื้นที่ โรงเรียนวัดบ้านปลัดปุ๊ก อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ สถานศึกษาท้องถิ่นที่สร้างมาตรฐานแบบก้าวกระโดดด้วยการนำผลประเมินไปใช้พัฒนาก้าวข้ามจากระดับ “ปรับปรุง” สู่ระดับ ”ดีมาก“ พร้อมอินไซด์แนวคิด 5 ร่วมและ “PALADPUK MODEL“ที่ขจัดจุดบกพร่องทางการเรียนการสอนได้อย่างหมดจดยกระดับผลการสอบระดับชาติที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย โดย นางทองมี บุญศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ้านปลัดปุ๊ก กล่าวว่า ที่ผ่านมานักเรียนของโรงเรียนมีผล สัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับต่ำ และอาคารสถานที่ก็เสื่อมโทรม ผอ.จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการนำผลการประเมินไปใช้ปรับปรุงคุณภาพสถานศึกษากับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. โดยโรงเรียนได้นำผลการประเมินภายนอกไปปรับใช้อย่างจริงจังร่วมกับการพัฒนาการบริหารจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วม เป็นรูปแบบ “PALADPUK MODEL“ ภายใต้ 5 แนวคิด คือ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมประเมินผล และร่วมชื่นชม ทำให้ทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของและร่วมรับผิดชอบในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือโรงเรียนได้นำนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เรียนดี มีความสุข และนโยบายของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)บุรีรัมย์ เขต 1 มาใช้ ทำให้โรงเรียนประสบผลสำเร็จในเชิงประจักษ์เช่น นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้ง การทดสอบเพื่อประเมินความสามารถในการอ่าน (Reading Test : RT) การทดสอบความสามาถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ (National Test : NT) หรือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน(Ordinary National Educational Test : O-NET) สูงกว่าระดับประเทศ และ ยังมีผลงานดีเด่นด้านกีฬา รวมถึงได้รับการประกันคุณภาพภายนอกจากสมศ.ปี พ.ศ. 2567-2571 ด้วย ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของโรงเรียนอย่างมาก

นายสุรศักดิ์ พันธ์ เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากนโยบายของ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจอย่างมากในการสร้างผลลัพธ์ทางการศึกษาด้วยแนวคิด เรียนดี มีความสุข ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา – สร้างโอกาสที่ดีให้กับผู้เรียนทุกคน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและชนบท มักประสบปัญหาขาดแคลนทั้งงบประมาณ บุคลากร และทรัพยากรต่างๆ ดังนั้นจึงได้มอบนโยบายให้ สมศ.เร่งดำเนินการประเมินคุณภาพภายนอกกลุ่มโรงเรียนดังกล่าว เพื่อช่วยสะท้อนสภาพที่เป็นจริงของโรงเรียนให้ทราบถึงจุดเด่น จุดที่ควรปรับปรุง ตลอดจนแนวทางในการพัฒนา พร้อมส่งเสริมและผลักดันให้มีการนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกไปปรับใช้และติดตามผลอย่างใกล้ชิด ภายใต้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” ที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับเด็กไทยให้บรรลุเป้าหมาย “เรียนดี มีความสุข”

“ความสำเร็จของโรงเรียนวัดบ้านปลัดปุ๊ก เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่าข้อเสนอแนะจากการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. นั้นมีประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา แม้จะเป็นโรงเรียนขยายโอกาส หรือโรงเรียนที่เคยมีผลการประเมินอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องปรับปรุง แต่หากสถานศึกษา นำข้อเสนอแนะไปปรับใช้อย่างจริงจังก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นและได้รับผลการประเมินที่ยอดเยี่ยมได้ เพราะข้อเสนอแนะของ สมศ. สอดคล้องตามบริบทของสถานศึกษา และปฏิบัติได้จริง” นายสุรศักดิ์กล่าวและว่า รมว.ศึกษาธิการจะย้ำเสมอว่า ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนขยายโอกาสก็ต้องให้ความสำคัญเพราะกลุ่มโรงเรียนดังกล่าวแม้ส่วนใหญ่จะอยู่ในท้องถิ่นที่ห่างไกลและทุรกันดาร แต่ก็มีจุดเด่นอยู่ที่ความใกล้ชิดกับชุมชน ทำให้สามารถเข้าใจบริบทและความต้องการของผู้เรียนได้อย่างลึกซึ้ง สามารถปรับการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ ที่สำคัญคือ ใกล้บ้าน ซึ่งเชื่อว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็คงไม่ต้องการให้ลูกหลานไปเรียนไกลหูไกลตา ดังนั้น หากทุกฝ่ายช่วยกันดูแลพัฒนาโรงเรียน ทำงานร่วมกันตามแนวทาง “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” ไม่ว่าจะเรียนที่ไหน เด็กก็จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย

ด้าน ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวว่า การประเมินภายนอกของ สมศ.รอบนี้ มีโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3,013 แห่ง มีเพียง 7 แห่งที่ผลประเมินก้าวกระโดด โดยในจำนวน 7 แห่งนี้ มี 5 แห่งที่อยู่ในโครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้ของ สมศ. ที่ทำร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งโครงการได้เข้าไปช่วยเหลือโรงเรียนอย่างครอบคลุมรอบด้าน โดยมีทั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่และผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่เข้าไปช่วยวิเคราะห์ เสนอแนะ และนำไปสู่การวางแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาไปสู่แผนปฏิบัติการประจำปี และนำไปสู่การปฏิบัติ เป็นการดำเนินการแบบครบวงจรครอบคลุมทุกด้านทั้งด้านเด็ก ครูและผู้บริหาร

สมศ.โชว์ “สตึกโมเดล” ปั้นเด็กไทยต้นแบบการศึกษายุคใหม่ เรียนรู้รอบด้าน มีทักษะคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์และใช้เทคโนโลยีประดิษฐ์หุ่นยนต์


เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ดร.วรวิชช ภาสาวสุวัศ รองผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า การประเมินคุณภาพภายนอกปีงบประมาณ พ.ศ.2567 มีสถานศึกษาเข้ารับการประเมินกว่า 5,000 แห่ง โดยเป็นสถานศึกษาการศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) 2,055 แห่ง สถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3,020 แห่ง ซึ่ง สมศ.ได้มีการสำรวจและติดตามการนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกไปใช้ พบว่าสถานศึกษาการศึกษาปฐมวัย มากกว่าร้อยละ 95 และสถานศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน มากกว่าร้อยละ 99 ต่างนำผลประเมินคุณภาพภายนอกไปปรับใช้ โดยส่วนใหญ่ให้ความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ผลการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. ทำให้สถานศึกษารู้จัก เข้าใจ มองเห็นจุดแข็ง จุดที่ควรพัฒนาของสถานศึกษาอย่างเด่นชัดมากขึ้น เกิดแรงจูงใจที่จะปรับปรุงและพัฒนา และได้นำข้อเสนอแนะไปใช้กำหนดแนวทางการดำเนินงานของสถานศึกษาในหลายด้าน ทั้งเรื่องการบริหาร การกำกับติดตาม การกำหนดแผนงานและการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน พัฒนาผู้เรียน ผู้สอน ส่งผลให้สถานศึกษาได้รับการพัฒนาและเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังพบว่าสถานศึกษากว่าร้อยละ 94 ที่เข้ารับการประเมิน รู้สึกพึงพอใจภาพรวมการประเมินคุณภาพภายนอกในครั้งนี้ เพิ่มขึ้นจากรอบที่ผ่านมาที่ได้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 80


ดร.วรวิชช ได้กล่าวถึงสถานศึกษาที่สามารถนำข้อเสนอแนะจากการประเมินคุณภาพภายนอกไปปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยยกตัวอย่าง โรงเรียนสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาจนทำให้เกิด SATUEK Model ซึ่งเป็นแนวทางในการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการพัฒนาสถานศึกษา การเสริมสร้างความรู้ด้านวิชาการ การพัฒนาบุคลากร และการพัฒนาผู้เรียน โดยสร้างแนวทางการเรียนรู้ที่เตรียมความพร้อมผู้เรียนสู่อนาคต ซึ่งส่งผลให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีเยี่ยมและมีทักษะการเรียนรู้รอบด้าน เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะการประดิษฐ์หุ่นยนต์ซึ่งมีชื่อเสียงโดดเด่นและได้รับรางวัลจากการแข่งขันระดับชาติและนานาชาติหลายรายการ ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดี (Best Practice) ที่โรงเรียนอื่นๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้และปฏิบัติตามได้


รอง ผอ.สมศ. กล่าวด้วยว่า สำหรับ ทิศทางการประเมินคุณภาพภายนอกประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่กำลังจะเริ่มขึ้นนี้ สมศ.ยังคงยึดหลักการประเมินคุณภาพภายนอกตามนโยบาย “ลดภาระ เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ โดยมุ่งเน้น 3 ประเด็นหลัก คือ 1) การประกันคุณภาพภายนอกเพื่อการพัฒนา และยกระดับคุณภาพ (Quality Improvement) 2) มุ่งลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และ 3) นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้สนับสนุน การประเมินตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ แต่จะเน้นการประเมินที่เจาะลึกและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละสถานศึกษามากขึ้น เพื่อให้สถานศึกษาสามารถนำข้อเสนอแนะจากการประเมินไปใช้ได้อย่างตรงจุดและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง และจะให้ความสำคัญกับการประเมินที่เน้นการพัฒนาผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งพัฒนาเกณฑ์การประเมินให้เข้มข้นขึ้นในด้านการสร้างสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนที่ปลอดภัย เอื้อต่อการเรียนรู้ และการส่งเสริมสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้เรียน


ด้าน นายธัชเวชช์ ศานติบูรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสตึก กล่าวว่า จากผลการประเมินคุณภาพภายนอกในรอบที่ผ่านๆ มา ทำให้โรงเรียนมองเห็นจุดแข็งและจุดที่ควรพัฒนาหลายด้าน และได้นำข้อเสนอแนะจากการประเมินมาปรับใช้ตั้งแต่การปรับแผนพัฒนาสถานศึกษาไปจนถึงการสร้างโครงการและกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ รวมถึงบูรณาการกิจกรรมเหล่านี้ในรายวิชาต่าง ๆ เพื่อสร้างระบบการเรียนรู้ที่ครบวงจร ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนทั้ง ด้านผลการเรียนของนักเรียนที่ดีขึ้น อย่างต่อเนื่องโดยในปีการศึกษา 2565 นักเรียนทุกระดับชั้นมีเกรดเฉลี่ยอยู่ที่ 3.14 และผลทดสอบ O-NET ของนักเรียนชั้น ม.3 และ ม.6 ก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ด้านการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการสถานศึกษา โรงเรียนได้รับรางวัล IQA Award ระดับยอดเยี่ยม สะท้อนถึงการพัฒนาด้านการบริหารจัดการและการแนะแนว ที่มีประสิทธิภาพ ด้านการจัดการเรียนรู้ ครูได้ปรับปรุงแผนการเรียนรู้ โดยเน้นทักษะการคิดวิเคราะห์และวิจัยในชั้นเรียน จัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง พร้อมปรับปรุงหลักสูตรเพื่อลดภาระผู้เรียนตามแนวคิด “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ (PLC) ระหว่างครู พร้อมจัดระบบตรวจสอบและประเมินผลผู้เรียนอย่างเป็นระบบเพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุงการสอนให้มีประสิทธิภาพ

จากความสำเร็จดังกล่าวทำให้โรงเรียนสตึกได้รับการยกย่องเป็นแบบอย่างที่ดีของสถานศึกษาในหลายด้าน โดยเฉพาะการนำ SATUEK Model ซึ่งเป็นระบบการเรียนรู้และนิเทศภายใน โดยใช้หลักการ PDCA (Plan-Do-Check-Act) มาใช้เป็นกรอบหลักในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดย S คือ Strategic Management การบริหารเชิงกลยุทธ์ A คือ Academic with Moral การส่งเสริม สนับสนุน T คือ Team Work การทำงานเป็นทีม U คือ Unity and Understanding ความเป็นเอกภาพและการสร้างความเข้าใจร่วมกัน E คือ Evaluation การประเมินผล และ K คือ Knowledge Management การจัดการความรู้ ที่เน้นการทำงานเป็นทีมและการบริหารจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ 5G ได้แก่ Good Student: เรียนดี มีความสุข ตามเป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการ Good Teacher: ครูมืออาชีพ Good Management: บริหารตามหลักธรรมาภิบาลGood School: โรงเรียนคุณภาพ มีความปลอดภัย เป็นมาตรฐานสากล และ Good Community: ชุมชน มีความเชื่อมั่น และได้นำผลสำเร็จของโมเดลนี้มาจัดทำเป็น Best Practice เพื่อเผยแพร่และแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ไปยังโรงเรียนอื่นๆ

‘สุเทพ’ แนะศึกษาธิการจังหวัดสร้างศรัทธาในการทำงานพร้อมร่วมมือพันธมิตรในพื้นที่ขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษา

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายขับเคลื่อนการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ 2568 ณ โรงแรมเทพนคร (อัลวาเรซ) อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยกล่าวว่า ระเบียบคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค “ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการมอบอำนาจให้ศึกษาธิการจังหวัดปฏิบัติราชการแทน” ข้อ 12 เพื่อประโยชน์ในการบริหารงาน กำกับดูแล และบูรณาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร ให้เลขาธิการหรืออธิบดีมอบอำนาจการบริหารงานบุคคล การบริหารทั่วไป วิชาการงบประมาณ และทรัพย์สินให้ศึกษาธิการจังหวัดปฏิบัติราชการแทน โดยส่วนกลางก็มีกลไกในการสนับสนุนให้ศึกษาธิการจังหวัดสามารถทำงานได้คล่องตัวยิ่งขึ้น โดยตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการในคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด สามารถเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนโยบายการศึกษาของจังหวัดต่อคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดให้สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ กำกับ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของจังหวัด, การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการทดสอบ PISA ระดับจังหวัด, รายงานผลการดำเนินงานเสนอต่อคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดและคณะกรรมการ ขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติเป็นอย่างมาก โดยมีข้อสั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการและรองศึกษาธิการภาคเป็นผู้ให้คำปรึกษา แนะนำ และให้ข้อเสนอแนะแก่ศึกษาธิการจังหวัด เพื่อให้ศึกษาธิการจังหวัดสามารถคิดหาแนวทางในการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เกิดการบูรณาการด้านการศึกษาในพื้นที่อย่างแท้จริง ขณะที่ศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำด้านการศึกษาและเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาในพื้นที่ ผ่านกลไก กศจ. เพื่อให้การทำงานด้านการศึกษาในพื้นที่เกิดการบูรณาการ และในขณะนี้เรากำลังเร่งจัดการเรื่องของเด็กหลุดจากระบบการศึกษา จึงให้ ศธจ.เป็นหลักในการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัดในพื้นที่ โดยต้องนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้หมดให้ได้ รวมถึงจังหวัดพื้นที่นวัตกรรม ต้องออกแบบงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของประเทศให้เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม ตามที่ได้รับการเลือกมาเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่สามารถพัฒนาการศึกษาได้อิสระและยืดหยุ่นมากกว่าพื้นที่อื่น

“อยากขอให้ศึกษาธิการจังหวัดคิดว่า ทุกภารกิจที่ได้รับมอบหมายคือโอกาส ‘อย่าเกี่ยงงาน’เพราะการเกี่ยงงานคือการละทิ้งโอกาสอันเจริญก้าวหน้าของตัวเอง เพราะค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน ตราบใดที่เราทำงานประสบผลสำเร็จจะส่งผลให้มีคุณค่าในสายตาของผู้บังคับบัญชาเสมอ” ปลัด ศธ. กล่าวและว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนงานด้านศึกษาในพื้นที่มีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จได้ดีขึ้น คือการสร้างความศรัทธาให้แก่หน่วยงานภายนอก คนในพื้นที่ หรือ 4 บุคคลมีอิทธิพล (influence) ในจังหวัด ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด นักการเมืองท้องถิ่น ศึกษาธิการจังหวัด และเจ้าอาวาสวัดในชุมชน ซึ่งพลังเหล่านี้สามารถช่วยเราได้มากกว่าที่เราคาดคิดได้

 

ศธ.รุกนโยบายการศึกษาระดับประเทศ “สุรศักดิ์”เชื่อมือส่วนราชการในพื้นที่ให้ความร่วมมือขับเคลื่อนภารกิจสนองนโยบายกระทรวง

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ที่ โรงแรมเทพนคร (อัลวาเรซ) อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ 2568 เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมนโยบายด้านการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการศึกษาของคนไทยทุกช่วงวัย โดยมี ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายธนู ขวัญเดช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ ผู้บริหารระดับสูงร่วมการประชุม

นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า กลไกในการทำงานในภูมิภาค ของกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (คปภ.) ที่มี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่กำหนดทิศทางการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ ในระดับภูมิภาคหรือจังหวัดแล้วยังมีสำนักงานศึกษาธิการภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ที่เปรียบเสมือนตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่ ทำหน้าที่เสนาธิการในการวางแผนและขับเคลื่อนการศึกษาในกลุ่มจังหวัดและจังหวัด โดยอาศัยกลไกของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด หรือ กศจ. ในการอำนวยการ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการศึกษาแบบร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งกลไกนี้ถือเป็นจุดแข็งของกระทรวงศึกษาธิการ ในการประสานการบริหารงานระหว่างส่วนราชการ และยังสอดคล้องกับการทำงานในภูมิภาค

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ​ ขอให้ส่วนราชการในสังกัด และองค์กรในกำกับกระทรวงศึกษาธิการ​ นำนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการไปเป็นกรอบแนวทางในการจัดการศึกษา และดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยจัดทำ Action Plan ให้สอดคล้องกับนโยบาย ซึ่งในการขับเคลื่อนนโยบาย ไม่จำเป็นว่าทุกหน่วยงานจะต้องดำเนินการทุกนโยบาย ให้ดำเนินการเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้อง​ และให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

“ผมเชื่อมั่นว่า สำนักงานศึกษาธิการภาคทั้ง 18 ภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด จะเป็นกำลังสำคัญ และเป็นตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการขับเคลื่อนภารกิจที่ตอบสนองต่อนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และตอบสนองต่อเป้าหมายตามยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด และจังหวัดได้อย่างแน่นอน” รมช.ศึกษาธิการกล่าวและว่า นอกจากนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้มีข้อสั่งการและแนวปฏิบัติ​ โดย​ให้นำนโยบายด้านการศึกษาของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาและนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไปดำเนินการปฏิปฏิปติอย่างเป็นรูปธรรม (Action) ยึดหลักคุณธรรมจริยธรรม หลักธรรมาภิบาลในการปฏิบัติงาน และดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเคร่งครัด ตลอดจนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ​ ร่วมกันปลูกฝังการรักษาสิ่งแวดล้อมและมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด​ ส่งเสริมการอ่านและการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นกระบวนการ โดยผู้บริหารและครูต้องเป็นต้นแบบ

นายสุรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการลงพื้นที่ตรวจราชการหรือตรวจเยี่ยมให้ดำเนินการอย่างเรียบง่าย โดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องมาร่วมรับการตรวจราชการหรือตรวจเยี่ยม โดยให้ดำเนินการอย่างเรียบง่าย และประหยัด ยึดบทบาทเป็นผู้ให้คำปรึกษา แนะนำ และให้ข้อเสนอแนะแก่ศึกษาธิการจังหวัด เพื่อให้สามารถหาแนวทางในการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งเรื่องเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา รมว.ศึกษาธิการ ได้สั่งการให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เป็นหน่วยงานหลักในการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน ที่มีสถานศึกษาในสังกัดในพื้นที่ โดยต้องพยายามนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้หมด ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่ทุกท่านจะได้ช่วยกันระดมความคิดเห็น เพื่อหาแนวทางในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพต่อไป


ด้าน ดร.สุเทพ กล่าว​ว่า​ โครงการ “ขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่” ประจำปีงบประมาณ 2568 ถือเป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของกระทรวงศึกษาธิการในการขยายโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยทุกคน ด้วยการสร้างการรับรู้และความเข้าใจเชิงลึกแก่ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษา ให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกัน ทำให้สามารถกำหนดโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ นำไปสู่กี่สร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้และเตรียมพร้อมสู่อนาคตที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศไทย

ศธ.แจ้งเตือนเฝ้าระวังโรคไอกรนในสถานศึกษา พร้อมประสานหน่วยงานสาธารณสุขดูแลสุขภาพนักเรียนอย่างใกล้ชิด สถานศึกษาใดมีความจำเป็นต้องหยุดก็ให้เรียน online onsite on demand ตามความเหมาะสม

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 กระทรวงศึกษาธิการ  นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศด่วนแจ้งเตือนสถานศึกษาให้เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคไอกรน ซึ่งขณะนี้พบผู้ป่วยจำนวนมากกว่า 2 รายขึ้นไปในพื้นที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน โดยทางโรงเรียนได้ประกาศปิดสถานศึกษาและย้ายการเรียนการสอนเป็นรูปแบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและดูแลสุขภาพของนักเรียน ครู บุคลากร และผู้เกี่ยวข้องทุกคนให้ปลอดภัย

นายสิริพงศ์ กล่าวว่า การป้องกันโรคระบาดในสถานศึกษา เป็นไปตามนโยบายเรียนดีมีความสุขของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งนอกจากจะมุ่งเน้นให้เยาวชนได้รับการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพแล้ว ยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับสุขภาพกายและใจของนักเรียนทุกคน โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ฝากกำชับว่าสุขภาพของนักเรียนเป็นเรื่องที่เรายึดมั่นมาเสมอว่าสำคัญที่สุด นักเรียนทุกคนคืออนาคตของประเทศและคือความหวังของพ่อแม่ ครู และผู้ปกครอง จึงขอทุกสถานศึกษาเน้นย้ำมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในสถานศึกษาเพื่อความปลอดภัยสูงสุด นักเรียนทุกคนต้องได้รับการดูแลสุขภาพให้ดีที่สุด ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ

นายสิริพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงศึกษาธิการ จะประสานงานกับหน่วยงานสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมให้การสนับสนุนโรงเรียนในการรับมือและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เพื่อให้ผู้ปกครองมั่นใจว่านักเรียนจะได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย และมีสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เหมาะสม นอกจากนี้ผู้ปกครองก็ควรหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลาน หากมีแนวโน้มจะป่วยเป็นโรคไอกรนควรพาไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด ตลอดจนพาบุตรหลานไปรับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนตามช่วงอายุให้ครบทุกเข็มด้วย

“โรคไอกรน เป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง โดยเชื้อจะสามารถแพร่กระจายผ่านละอองฝอยขนาดเล็กจากการไอหรือจาม ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเล็ก แต่สามารถแพร่ระบาดในกลุ่มนักเรียนและวัยรุ่นได้ หากไม่มีการป้องกันที่เข้มงวด อาการของโรคคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้ต่ำ น้ำมูกไหล และไอเบา ๆ ซึ่งจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาการไอมักจะรุนแรงเป็นชุดจนผู้ป่วยรู้สึกเหนื่อยหรือหายใจไม่ทัน ดังนั้นหากเด็กติดเชื้อในโรงเรียน ก็มีโอกาสสูงมากที่เชื้อจะแพร่กระจาย จึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันดูแล เฝ้าระวังโรคอย่างเข้มงวดที่สุด” นายสิริพงศ์ กล่าว

นอกจากมาตรการป้องกันโรคระบาดแล้ว อยากให้มองให้ครอบคลุมไปถึงเรื่องมลพิษจากสิ่งแวดล้อมด้วย pm 2.5 ที่ต้องพบเจอกันทุกปี นักเรียนสูดหายใจเข้าไปอาจเจอกับค่าฝุ่นพิษที่สูงเกินมาตรฐานกระทบต่อสุขภาพได้​ หากสถานศึกษาพื้นที่ใดมีความจำเป็นต้องหยุดการเรียนการสอนเพื่อความปลอดภัยของสุขภาพนักเรียน ขอให้พิจารณาดำเนินการประกาศจัด​การเรียน​การ​สอน​ online onsite on demand ได้ตามความเหมาะสม

“เพิ่มพูน”ให้การบ้านหน่วยงานจัดการศึกษา “ศธ”นำเด็กหลุดจากการศึกษาขั้นพื้นฐานไทยกว่า1.9 แสนกลับเข้ามาเรียน

เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 39/2567 ว่า กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้ติดตามความคืบหน้าแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ภายใต้โครงการ “Thailand Zero Dropout”ร่วมกับ  11 หน่วยงาน เพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ ตามนโยบายรัฐบาล โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) ดำเนินการสำรวจข้อมูลต่าง ๆ และมีการกระทบยอดจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อวางแนวทางดำเนินการ โดยมีศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ศทก.)สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเจ้าภาพหลักในการดึงข้อมูล และประสานกับหน่วยงานต่างๆ มาบูรณาการ เพื่อติดตามและนำเด็กกลับมาสู่ระบบการศึกษาต่อไป ทั้งนี้เบื้องต้นตัวเลขเด็กหลุดจากระบบการศึกษาของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 1,020,000 กว่าคน นั้น กระทรวงศึกษาธิการได้มีการติดตามและดำเนินนำกลับมาสู่ระบบการศึกษาได้บ้างแล้ว โดยมีโครงการนำน้องกลับมาเรียนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในและนอกระบบ โดยเป็นความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)กรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.) ทั้งนี้เพื่อให้เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษากลายเป็นศูนย์

พลตำรวจเอกเพิ่มพูน กล่าวต่อไปว่า ศธ.ได้ประสานข้อมูลกับ กสศ. เพื่อจัดทำให้ข้อมูลเป็นชุดเดียวกัน ทั้งนี้ จากการรายงานของ สกร. ได้รับข้อมูลเด็กและเยาวชน อายุ 6-18 ปี ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา (ข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567) ของ กสศ. จำนวน 394,039 คน กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาของไทย จำนวน 190,934 คน ต่างชาติ 203,105 คน อย่างไรก็ตาม ทาง สกร. ได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบเพิ่มเติม ตั้งแต่ระดับตำบลผ่านแพลตฟอร์ม LD รายงานต่อ สกร.ระดับอำเภอ เพื่อวางแผนติดตามในพื้นที่อำเภอและจังหวัด ผลสำรวจพบว่า จำนวน 273,981 คน มีตัวตน 81,813 คน และยังไม่พบตัวตน 192,163 คน ซึ่ง สพฐ.ได้คิกออฟ โครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง (Zero Dropout) เรียนดี มีความสุข แล้วในการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ที่ จังหวัดสุราษฏร์ธานี ที่ผ่านมา

“ผมได้ให้นโยบาย Zero Dropout ลำดับแรกต้องนำเด็กไทยที่หลุดออกนอกระบบ กลับเข้ามาให้ได้มากที่สุด ส่วนเด็กต่างชาติ ถ้าพบตัวแล้วต้องการเรียน ต้องส่งเสริมให้ได้เข้าเรียน โดยให้ดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ 1. ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบได้อย่างไร และหาสาเหตุเพื่อการป้องกัน  2. เมื่อมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ให้หาวิธีการพาเด็กกลับมาเรียน และ 3. หากเด็กกลับมาเรียนไม่ได้ ต้องมีระบบส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่น เช่น  สช. สกร. เพื่อให้เด็กได้เรียน เป็นต้น” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับ สรุปผลการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดย สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.)ได้รายงานผลคุณภาพสถานศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 3,025 โรงเรียน ซึ่งปรากฏชัดแล้วว่ามีสถานศึกษาใดที่ประเมินแล้วอยู่ในระดับสีเขียว เหลือง หรือ แดง ซึ่งตนแนะนำให้มีการกระตุ้นเพื่อให้เป็นสีเขียวทั้งหมด เพื่อให้การศึกษามีคุณภาพ ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีของการประเมิน ทั้งนี้ตนขอให้โรงเรียนมีการประเมินภายในตนเองก่อนทุกภาคเรียน ส่วนการประเมินภายนอกก็ให้สมศ.เข้าไปประเมิน ส่วนโรงเรียนคุณภาพก็สามารถประเมินผ่านระบบออนไลน์ได้ ทั้งนี้เพื่อให้เพิ่มจำนวนการประเมินได้มากขึ้น