เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดภาพเครื่องหมายราชการของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้
“เสมา1” ห่วงความปลอดภัยช่วงเปิดเทอม ให้สถานศึกษาตั้งการ์ดแนวทางป้องกัน “สพฐ.”กำชับโรงเรียนทั่วประเทศดูแลความสะอาดอาหาร-น้ำดื่ม รวมทั้งแม่ค้าที่มาขายล้อมบริเวณโรงเรียน
จากกรณีนักเรียนกว่า 1,000 คน ในจังหวัดระยอง ป่วยด้วยอาการท้องเสียอย่างรุนแรงจนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล นั้น
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีข้อห่วงใยเรื่องสุขอนามัยและสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาในช่วงเปิดเทอม รวมถึงเหตุการณ์ที่มีสัตว์เข้าไปในโรงเรียนอาจเกิดอันตรายต่อผู้เรียนและสร้างความกังวลในหมู่ผู้ปกครอง ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการมีความห่วงใยและกำชับให้โรงเรียนดูแลป้องกันความปลอดภัย เนื่องจากเวลานี้เป็นช่วงเวลานี้หลายโรงเรียนเริ่มกลับมาเปิดภาคเรียนที่ 2 แล้ว และมีกิจกรรมที่ทำร่วมกันเป็นหมู่คณะอย่างเช่นงานกีฬาสี ขอให้ระมัดระวังความปลอดภัยจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงความสะอาดจากการรับประทานอาหารของโรงเรียน ที่อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสจากการประกอบอาหารหรือปัจจัยอื่น จึงควรตรวจสอบและดูแลคุณภาพอาหารในโรงเรียนอย่างเข้มงวด รวมถึงการให้ความรู้แก่แม่ครัวเกี่ยวกับมาตรการสุขอนามัยในการเตรียมอาหาร การรักษามาตรฐานสุขอนามัยอาหารในสถานศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีของนักเรียนทุกคน ขอให้ทุกโรงเรียนต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันที่วางแผนไว้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เน้นย้ำเรื่องความสะอาดของวัตถุดิบในการประกอบอาหารเป็นลำดับแรก เพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำอีกในอนาคต
นอกจากนี้ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ยังเป็นห่วงเรื่องสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของนักเรียนก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเรื่องของสัตว์อันตรายจากพื้นที่ใกล้เคียงที่อาจเข้ามาภายในโรงเรียน ซึ่งเด็กที่อยู่ในวัยอยากรู้อาจสนใจและไปสัมผัสด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จนเกิดอันตรายได้ หรือแม้แต่ สุนัข แมว นก วัว ควาย ม้า แพะ ที่ดูเหมือนเป็นสัตว์เลี้ยงปลอดภัยไม่มีพิษแต่ก็อาจเป็นพาหะนำโรคและเป็นอัตรายได้เช่นกัน เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าสัตว์คิดอะไรอยู่หรือจะมาทำร้ายเราตอนไหน ดังนั้นการหลีกเลี่ยงให้ปลอดภัยคือทางที่ดีที่สุด ดังนั้น ควรตรวจสอบสภาพแวดล้อมและทำความสะอาดพื้นที่โรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ ปิดช่องทางที่สัตว์สามารถเข้าได้โดยเฉพาะบริเวณที่อาจเป็นแหล่งซ่อนของสัตว์ เช่น พุ่มไม้ ท่อระบายน้ำหรือพื้นที่ชื้นแฉะ สถานศึกษาที่ไม่มีรั้วรอบขอบชิดอาจหาลวดหนามมาขึงรอบบริเวณเพื่อป้องกันสัตว์ใหญ่ของเกษตรกรเข้ามาในโรงเรียน พร้อมให้ความรู้และวิธีการรับมือกับนักเรียนเมื่อพบเหตุการณ์เหล่านั้น รวมถึงวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากเกิดการถูกสัตว์พิษกัดต่อย และหากพบเห็นสัตว์อันตรายควรแจ้งเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยเพื่อนำสัตว์ออกจากพื้นที่ความปลอดภัยของนักเรียนถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และการร่วมมือกันระหว่างผู้ปกครอง ครู และบุคลากรในโรงเรียนเพื่อดูแลป้องกันและลดความเสี่ยงอันตรายในสถานศึกษา จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการกำชับไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียนให้จัดทำหนังสือแจ้งไปยังทุกโรงเรียนเพื่อดูแลความสะอาดสำหรับอาหารกลางวันและอาหารที่ขายภายในโรงเรียน รวมไปถึงต้องตรวจสอบคุณภาพของอาหารและเครื่องทำน้ำดื่มทุกครั้งก่อนจะให้เด็กนักเรียนรับประทาน เพื่อให้เกิดสุขอนามัยและความปลอดภัยต่อสุขภาพของนักเรียนทุกคน และประสานกับกระทรวงสาธารณสุขมาตรวจสอบสาเหตุที่เด็กเกิดอาการท้องเสีย เกิดจากอะไร ทั้งนี้ตนได้รับรายงานว่าผลตรวจของสาธารณสุขจะออกในวันที่ 16 พ.ย.นี้
สพฐ.เล็งขอตั้งงบฯพื้นฐานค่าน้ำ-ค่าไฟ อุ้มโรงเรียนขนาดเล็ก พร้อมแนะสร้างศรัทธาให้ชุมชนเชื่อมั่นโรงเรียน
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ว่า วันนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำนโยบายรัฐบาล “Thailand Zero Dropout” ซึ่ง สพฐ.ได้ทำโครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง โดยให้สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพผ.) สพฐ.นำข้อมูลนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาที่ สพฐ.ค้นพบแล้ว และนักเรียนที่จะต้องติดตามต่อไป แจ้งไปยังเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต เนื่องจากขณะนี้มีข้อมูลทุกเขตพื้นที่ฯแล้วว่า เขตพื้นที่ใดมีนักเรียนหลุดจากระบบ/ตกหล่นเท่าไหร่ เพื่อให้เขตพื้นที่ฯทุกเขตวางแผนออกติดตามและนำเด็กกลับมาเรียน แต่ถ้าเด็กไม่กลับมาเรียนในระบบก็ให้นำการเรียนไปให้เด็กได้เรียนในพื้นที่ก็ได้
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้กำชับเป็นพิเศษในเรื่องนโยบายเรียนดี มีความสุข คือ จะต้องลงไปให้ถึงห้องเรียนให้ได้มากที่สุด เพราะที่ผ่านมาพบว่า ส่วนกลางจะรับทราบและเข้าใจนโยบายเป็นอย่างดี เขตพื้นที่ฯก็รับทราบและเข้าใจดีเช่นกัน แต่ในทางปฏิบัติกลับยังลงไม่ถึงโรงเรียนและห้องเรียนเต็มที่ ที่ประชุมจึงได้เน้นย้ำและหาแนวทางที่จะทำให้นโยบายเรียนดี มีความสุข ลงไปถึงนักเรียนและครูที่อยู่ในห้องเรียน โดยได้มีการกำหนดรูปแบบให้ ผอ.เขตพื้นที่ฯลงไปติดตาม กำกับการนำนโยบายลงไปสู่โรงเรียนให้เป็นมรรคเป็นผลที่ชัดเจน ขณะที่ศึกษานิเทศก์ก็ต้องออกไปช่วยนิเทศนำนโยบายเรียนดี มีความสุข ลงปฏิบัติในโรงเรียนอย่างเข้มข้นด้วย
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีหารือถึงการเตรียมการจัดทำงบประมาณ ปี 2569 ซึ่งจะต้องจัดทำข้อมูลส่งไปสำนักงบประมาณในช่วงต้นเดือนมกราคม 2568 วันนี้จึงได้มอบให้สำนักต่าง ๆ ของ สพฐ.ไปวิเคราะห์ ว่าในปีงบฯ 2569 จะมีโครงการอะไรบ้างที่ต้องดำเนินการโดยเน้นว่า จะต้องสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยโครงการที่จะทำในปี 2569 จะต้องตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยเฉพาะต้องเป็นไปตามนโยบายเรียนดี มีความสุข หากโครงการใดที่ไม่จำเป็น หรือไม่ตอบโจทย์ก็ให้ชะลอหรือยกเลิกไปก่อน
“สำหรับการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีแต่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น เนื่องจากจำนวนประชากรเกิดใหม่ลดลงเรื่อย ๆ โดยปัจจุบันโรงเรียนขนาดเล็กของ สพฐ.มีมากกว่า 15,000 โรง สพฐ.จึงได้ทำแผนการบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก ด้วยการจัดกลุ่มขนาดโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียน 120 คนลงมา และจะเสนอแผนการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ โดยจะเร่งทำเรื่องของบฯสนับสนุนให้โรงเรียนขนาดเล็กที่จำเป็นจะต้องมีงบฯพื้นฐานเพื่อการบริหารจัดการ เพราะปัจจุบันการจัดสรรงบประมาณเป็นรายหัว ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีเด็กมากตัวคูณมากก็ได้งบฯเยอะ แต่โรงเรียนขนาดเล็กมีนักเรียนน้อยทำให้ได้งบฯน้อย ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพลำบาก แต่ถ้าหากมีงบฯ พื้นฐานที่จำเป็น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าปรับปรุงซ่อมแซม ลงไปให้ เมื่อได้รับจัดสรรงบฯพื้นฐานที่จำเป็นแล้ว ค่อยท็อปอัพเงินอุดหนุนรายหัวลงไป ก็จะสามารถช่วยเหลือการบริหารจัดการโรงเรียนได้ ทั้งนี้ สพฐ.จะทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อขอตั้งงบฯพื้นฐานต่อไป” เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่นับวันจะเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปีนั้น นอกจากนี้จะแก้ปัญหาพื้นฐานเพื่อสร้างความเสมอภาค เพิ่มคุณภาพแล้ว ยังต้องเปิดโรงเรียนให้เป็นของชุมชนให้มากขึ้นด้วย โดยการทำให้ชาวบ้าน ชุมชน เกิดความศรัทธาและมีความเชื่อมั่นในโรงเรียนให้ได้ ว่าถ้าลูกหลานเรียนจบที่นี่ซึ่งเป็นโรงเรียนของชุมชนแล้วจะเป็นเด็กที่มีคุณภาพในอนาคต
ส่อง “วังจันทร์เกษม”
หยอก หยอก วันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 *** จงใช้ชีวิตเหมือนดอกไม้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนดอกไม้ก็ยังเติบโตและสวยงามอยู่เสมอ *** มาตามคำเรียกร้อง…หยอก หยอก ไม่ได้หนีไปไหน เพราะจริง ๆ แล้วมีเรื่องมากมายในวังจันทร์เกษมที่จะมาคุยให้ฟัง แต่ด้วยบางเรื่องไม่อาจชี้เป้าต่อสาธารณะได้ เพราะจะเกี่ยวโยงทางข้อกฎหมาย *** อยู่ ๆกรอบ“หลักสูตรฐานสมรรถนะ” ที่ดูเหมือนจะถูกพับไปแล้วเพราะไม่เป็นไปตามหลักการของการจัดการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560) ก็ถูกปลุกขึ้นมา ยกเครื่อง จับแต่งตัวใหม่ โดย ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)ให้เหตุผลว่ากพฐ.ได้หารือร่วมกันว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ให้เด็กและเยาวชนมีสมรรถนะทัดเทียมนานาชาติ เป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลกในศตวรรษที่ 21 โดยสิ่งที่พิจารณาเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการพัฒนาผู้เรียน คือ เรื่องหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งคณะกรรมการมีข้อสรุปว่า ให้มีการพัฒนาหลักสูตรใหม่โดยในเบื้องต้นจะใช้ชื่อว่า “หลักสูตรพัฒนาสมรรถนะตามช่วงวัย” เป็นการพัฒนาต่อยอดจาก (ร่าง) กรอบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเดิม ซึ่งเป็นกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่ได้ยกร่างไว้ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่ได้ประกาศใช้ ในครั้งนี้ กพฐ. ได้มอบหมายให้คณะทำงานนำร่างกรอบหลักสูตรดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดและให้นำสื่อ เทคโนโลยีดิจิทัลหรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI มาใช้ในการพัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ไม่สร้างภาระให้แก่ครู … จะไม่สร้างภาระให้ครูจริงหรือไม่ยังไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ ๆ เท่าที่ทราบมีการพยายามปรับหลักสูตรมาตั้งแต่สมัย ตรีนุช เทียนทอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปเยอะ จนต้องยกเลิกไป..และตอนนี้ความกังวลเริ่มมาอีกแล้ว อันดับแรก ๆ แค่เมื่อมีการเปลี่ยนหลักสูตร การเปลี่ยนตำราเรียนก็ต้องมาแล้วล่ะ … รอดูกันว่าจะมีอะไรให้ตื่นเต้นกันอีก…จะสนองนโยบายเรียนดี มีความสุข เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime ด้วยเทคโนโลยีแค่ไหน …ฮ่าฮ่าฮ่า *** พูดถึง ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ กฎหมายแม่บทด้านการศึกษา กฎหมายอาถรรพ์ที่ไปไม่ถึงฝั่ง ตกม้าตายมาหลายรัฐบาล … กระทั่งล่าสุด วันที่ 30 ตุลาคม 2567 นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยส.ส.พรรคภูมิใจไทยได้ยื่นร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … เพื่อปฎิวัติการศึกษา ตามนโยบายพรรคภูมิใจไทยต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาแล้ว โดยร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติพ.ศ…. ฉบับนี้ จะถูกบรรจุในระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจะได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ต่อไป โดย ทั่นประธานกรรมาธิการ โสภณ หวังว่า ในปี 2569 น่าจะประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ทันในสภาฯชุดนี้ขณะที่ ทั่นประธาน วันนอร์ ก็มองว่า เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญยิ่งของชาติบ้านเมืองพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติก็เป็นการปฎิวัติการศึกษา เพราะฉะนั้นในฐานะประธานรัฐสภาเปิดสมัยประชุมจะบรรจุร่างพ.ร.บ.นี้ทันที … ก็ได้แต่ลุ้นกันละว่าจะได้เห็นร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติในการประชุมสภาฯหรือไม่ เพราะมีกระแสข่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ที่ส่งมานี้เนื้อหาแน่นเกินไป คงต้องกลับไปปรับกันอีก… เอ้า…แล้วจะยังไงล่ะทีนี้…จะฝันเป็นจริงหรือฝันสลาย…ลุ้น ลุ้น ลุ้น เท่านั่นเด้อจ้า *** ปรับโหมดมาพูดถึงเรื่องการอวย…คอลัมน์ หยอก หยอก ถ้าทำงาน ไม่ดี ไม่ปัง มีผลประโยชน์แอบแฝง จะไม่อวยกันบนพื้นฐานที่ขัดกับความเป็นจริง เพราะรู้สึกระอายใจ มือแข็งจิ้มคอมพิวเตอร์ไม่ได้ พูดไปก็กระดากปาก..ไปดีกว่า*** วันนี้ขอสะท้อนการทำงานของผู้มีอำนาจกุมบังเหียนในกระทรวงศึกษาธิการ ( กันหน่อยนะ)เพราะบรรยากาศการทำงานในช่วง 2 ปี มานี้รู้สึกเงียบเหงา วังเวงยังไงชอบกล หันไปถามเรื่องข้อราชการบ้านเมืองในวังจันทร์เกษมกับผู้บริหาร …ท่านใดก็ไม่มีคำตอบ หรือว่าการทำงานยุคนี้เน้นทำ แต่ไม่เน้นพูด แต่ดูแล้วการทำงานก็ไปไม่ถึงไหน มีแต่เรื่องลับ ลับ โบราณท่านว่าช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวปิด…เพราะมีข่าวมาเข้าหูหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุด..มีข่าวว่าในเดือนธันวาคมนี้ จะครบวาระการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.)จังหวัด ทั้ง 77 จังหวัด มีการวางตัวกันเรียบร้อยกว่า 70% ว่าใครจะได้ไปเป็น ผอ.สกสค.จังหวัด ที่จังหวัดไหนบ้าง ใครไม่เชื่อ แต่หยอก หยอก เชื่อ…เพราะทุกครั้งหน่วยงานต้นสังกัดก็จะออกมาพูดถึงความโปร่งใสยุติธรรม…แต่ก็รู้ ๆ กันอยู่เนาะ…สุดท้ายก็ต้องอุ้มไก่ของใครของมันมาตีกันอยู่ดี พูดมากไปทัวร์ก็จะมาลง หยอกหยอก การแต่งตั้งโยกย้ายของกระทรวงศึกษาธิการ มียุคไหนบ้างที่โปร่งใส สะอาดบริสุทธิ์ ตรงไป ตรงมา (การันตี ไม่มี้…ล้าน%) พูดถึงเรื่องการคัดเลือกผู้บริหารระดับต้นที่เป็นอำนาจของผู้บริหารหน่วยงานต้นสังกัด ยังต้องรอใบสั่งจากเบื้องบนเลยย..ฮะฮะฮ่า แบบนี้การศึกษาไทย จะไปถึงไหน..ปวดหัวแทน…*** ทุกวันนี้ก็มีงานเข้า สพฐ. 1 วัน 1,000 เรื่อง หยอก หยอก ก็ปวดหัวแทน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ต้องรับฟังปัญหาการบริหารงานทั้งโรงเรียน และ เขตพื้นที่การศึกษา ไหนจะรับแรงกดดันจากหลาย ๆ ฝ่าย และปัญหาของตัวเอง ก็ได้แต่ให้กำลังใจ สู้กันต่อไป*** ท้ายสุด ขอส่งกำลังใจให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)กรุงเทพ ที่ถูกอดีตนักศึกษาหลักสูตรการซ่อมบำรุงอากาศยาน หลักสูตร Non-degree การซ่อมบำรุงอากาศยาน มาตรฐาน EASA PART 147 สถาบันการบินแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ยื่นร้องเรียนกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม(อว.)โดยอ้างว่า มทร.กรุงเทพ จัดการเรียนการสอนไม่ตรงปก ไม่เป็นไปตามโฆษณา ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนของนักศึกษา เพราะดูแล้วการเรียนการสอนหลักสูตรนี้มีไทม์ไลน์ที่ชัดเจน ตรวจสอบได้ ***
ยอดกฐินพระราชทาน ถวายจตุปัจจัยบำรุงพระอาราม สพฐ.ปีนี้กว่า 4.5 ล้าน ส่วนหนึ่งมอบเป็นทุนการศึกษาให้นักเรียน จำนวน 5 แห่ง
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ณ วัดธรรมบูชา ตําบลตลาด อําเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. พร้อมทั้งคณะผู้บริหาร ข้าราชการและบุคลากรของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตลอดจนประชาชนผู้มีจิตศรัทธา ร่วมบริจาคจตุปัจจัยทำบุญ และร่วมเป็นเจ้าภาพพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน
ในการที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามที่ขอพระราชทานเพื่อน้อมนำไปถวายพระสงฆ์จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ณ วัดธรรมบูชา ตําบลตลาด อําเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยมียอดกฐินเพื่อถวายพระภิกษุ สามเณร และถวายจตุปัจจัยบำรุงพระอาราม รวมถึงมอบทุนการศึกษาให้แก่โรงเรียน จำนวน 5 โรง ได้แก่ โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา โรงเรียนสุราษฎร์ธานี โรงเรียนวัดสมหวัง โรงเรียนวัดเขาศรีวิชัย และโรงเรียนท่าเฟืองวิทยา เพื่อนำไปพัฒนาโรงเรียนและเพิ่มคุณภาพการศึกษา รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 4,541,331 บาท
ทั้งนี้ การทอดกฐินเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชน ได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน เพื่อเป็นการอุปถัมภ์พระสงฆ์ที่จำพรรษากาลครบถ้วนไตรมาสให้ได้รับอานิสงส์ตามพระวินัย และเป็นทุนในการบูรณปฏิสังขรณ์พระอาราม โดยเป็นการรวมพลังแห่งความสามัคคี ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ ในการสร้างบุญกุศล สร้างความสุขของการอยู่ร่วมกันในสังคม รวมทั้งเป็นการจรรโลงและส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้มั่นคงดำรงอยู่เจริญวัฒนาสถาพรสืบไป
“ธนุ ”ตรวจเยี่ยมรร.จังหวัดสุราษฎร์ฯได้รับรายงานเด็กDropout แค่ 30-40คนตามพ่อแม่ไปทำงาน เป็นปลื้มเด็กชอบห้องน้ำที่โรงเรียนสะอาดถูกสุขลักษณะ
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมโรงเรียน วัดสมหวัง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)สุราษฎร์ธานี เขต 1 และ โรงเรียนสุราษฎร์ธานีพิทยา2 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)สุราษฎร์ธานี-ชุมพร โดยโรงเรียนวัดสมหวังเป็นโรงเรียนคุณภาพประจำอำเภอ ที่มีการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพตามหลักพระพุทธศาสนา คือ กิน ดู อยู่ ฟัง ตามหลักพระพุทธศาสนา ทั้งนี้จากการตรวจเยี่ยมโรงเรียนและได้ดูห้องสุขาของโรงเรียนตามโครงการสุขาดีมีความสุขแล้ว ตนได้เน้นย้ำกับผอ.สพป.สุราษฎร์ธานี เขต 1 และ ผอ.โรงเรียนว่าให้ปรับปรุงและพัฒนาห้องสุขาให้สะอาด แห้ง หอม ถูกสุขลักษณะ ให้อากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อให้นักเรียนได้ใช้ห้องน้ำที่สะอาดถูกสุขลักษณะและเพื่อฝึกนิสัยความรับผิดชอบให้นักเรียนโดยให้จัดแบ่งนักเรียนดูแลห้องน้ำ ไปผนวกกับระบบคุณธรรมของโรงเรียนด้วย
เลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า ส่วนโรงเรียนที่สองโรงเรียนสุราษฎร์ธานีพิทยา2 เป็น โรงเรียน 1อำเภอ 1โรงเรียนคุณภาพ และสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรม โดยในการตรวจเยี่ยมเด็ก ๆ ได้นำเสนอเรื่องของสุขาดีมีความสุข ซึ่งฟังแล้วรู้สึกชื่นใจ เพราะนักเรียนบอกว่านักเรียนได้ใช้ห้องน้ำที่สะอาดถูกสุขลักษณะทำให้มีความสุขและอยากมาโรงเรียนที่สำคัญยังได้ฝึกเรื่องความรับผิดชอบ จะได้เป็นนิสัยติดตัวเวลาไปใช้ห้องน้ำที่อื่น ก็มีความรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม นอกจากนี้โรงเรียนสุราษฎร์ธานีพิทยา2 ยังมีจุดเด่นเรื่องของการเรียนแบบสะเต็มศึกษา โดยเด็กนำปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนมาศึกษาเรียนรู้ และออกแบบการแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยี แล้วนำไปใช้ในสถานที่จริง ซึ่งการใช้เทคโนโลยีมาจัดการเรียนการสอนถือเป็นจุดเด่นของโรงเรียนทำให้โรงเรียนมีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ตนอยากให้เรื่องนี้เป็นจุดเน้นที่ทำให้นักเรียนอยากมาโรงเรียนและทำให้โรงเรียนมีคุณภาพและประสิทธิภาพต่อไป โดยเฉพาะเรื่องการตอบโจทย์เรียนดี มีความสุข ซึ่งได้ขอให้ผอ.เขตพื้นที่ฯ ผอ. สพป.สุราษฎร์ธานี เขต 1 ผอ. สพม.สุราษฎร์ธานี-ชุมพร และ ผอ.โรงเรียนทั้ง 2โรง ดำเนินการเพื่อให้เด็กรู้สึกว่ามาโรงเรียนแล้วน่าอยู่ โรงเรียนเป็นที่แห่งความปลอดภัยเป็นที่แห่งความสุข ซึ่งจะนำไปสู่ เป้าหมายตามนโยบายเรียนดีมีความสุข
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องเด็กDropout ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น เท่าที่รับรายงานจาก ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา พบว่า มีเด็กDropout กระจายอยู่ในพื้นที่ประมาณ 30 -40 คน จากเด็กทั้งหมด 60,000 กว่าคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนไม่มาก โดยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่มีปัญหาเรื่องของการอพยพย้ายถิ่น ซึ่งเท่าที่ดูคาดว่าน่าจะมีมากที่เกาะสมุย เพราะเป็นพื้นที่ธุรกิจ เป็นแหล่งท่องเที่ยว ผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่พาลูกมาด้วยเมื่อถึงฤดูทำนาก็กลับไป ซึ่งเด็กก็ต้องติดตามผู้ปกครองจนทำให้เด็กต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ดังนั้นจึงมอบหมายให้ผอ.เขตพื้นที่ฯไปคิดระบบดูแลนักเรียนโดยอาจจะต้องมีระบบส่งต่อเพราะการห้ามไม่ให้เด็กย้ายตามผู้ปกครองเป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อย้ายแล้วเด็กจะต้องไม่ตกหล่นระหว่างทาง
“ธนุ ”ให้การบ้านเขตพื้นที่ฯค้นหาเด็กหลุดจากระบบกว่า 6.9 แสนคน กลับมาเรียน พร้อมติวเข้มเตรียมสอบPISA หวังคะแนนกระเตื้อง หลังต่ำสุดในรอบ 20 ปี
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ที่ โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เป็นประธานเปิดตัวโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” OBEC Zero Dropout ที่เน้นมาตรการ “การศึกษาที่ยืดหยุ่น” ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)และเปิดการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ครั้งที่ 1/2567 ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 6 – 7 พฤศจิกายน 2567 โดย ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวว่า การประชุม ผอ.เขตพื้นที่ฯต้องการเน้นย้ำนโยบายรัฐบาลและนโยบายของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้ความสำคัญอย่างมาก กับเรื่อง “Thailand Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” โดยวันนี้ได้มีการเปิดตัวโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” เพื่อให้ทุกเขตพื้นที่ฯนำไปสู่การปฎิบัติ ภายใต้นโยบาย OBEC Zero Dropout หรือ สพฐ.ไม่มีเด็กตกหล่น เด็กออกกลางคัน โดยโครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง จะเป็นการทำงานสองทาง คือ การติดตามหาเด็กทั้งหมดที่ควรได้รับการศึกษาหรือต้องได้รับการศึกษาแต่ไม่ได้รับการศึกษาให้กลับมาเรียน ซึ่งถ้าเจอตัวแล้วแต่เด็กไม่อยากกลับมาเรียน ก็ต้องนำการเรียนไปให้ โดยมีเป้าหมายคือเด็กทุกคนต้องได้เรียน หรือทุกคนต้องมีโอกาสได้รับการศึกษา เพื่อตอบโจทย์นโยบายรัฐบาล Thailand Zero Dropout
“ผมเน้นย้ำนโยบาย OBEC Zero Dropout กับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และฝากไปถึงผู้อำนวยการสถานศึกษาและครูทั่วประเทศ โดยให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่า จะต้องค้นหาเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาทั้ง 690,000 กว่าคน ซึ่งมีทุกช่วงอายุกระจายอยู่ทุกสังกัดทั่วประเทศ โดยให้มีการส่งข้อมูลไปยังเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อให้เร่งค้นหาติดตามและนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้เร็วที่สุด”เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า ส่วนวิธีการนำเด็กกลับมาสู่ระบบการศึกษาก็มีหลากหลายวิธี หลายรูปแบบซึ่งได้ให้นโยบายกับผอ.เขตพื้นที่ฯไปว่า ให้แต่ละเขตพื้นที่ฯไปออกแบบตามความเหมาะสม เพราะแต่ละพื้นที่จะมีบริบทและวิธีการปฏิบัติแตกต่างกัน ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่ในเบื้องต้น สพฐ.ได้มีนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแล้วเช่น หนึ่งโรงเรียนสามรูปแบบ ที่ป้องกันเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบ, ศูนย์การเรียนต้นแบบ คือการจัดการศึกษาในกระบวนการยุติธรรมและเด็กขาดโอกาสทางการศึกษา และ โรงเรียนมือถือ (Mobile School) แอพพลิเคชั่นการเรียนรู้ได้ทุกสถานที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime)
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวต่อไปว่า อีกเรื่องที่ตนเน้นย้ำ คือ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่การจัดการศึกษาจะต้องตอบโจทย์นโยบายเรียนดี มีความสุข ที่มีเป้าหมายหรือจุดเน้น 2 เรื่องคือ การจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต โดยมีภารกิจสำคัญ คือ การลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ให้เขตพื้นที่ฯไปดูว่าอะไรที่เป็นภาระของครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ต้องหาวิธีการลดภาระเหล่านั้นลงให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อให้ครูมีเวลาในการจัดการเรียนการสอน และอีกส่วนคือการลดภาระของนักเรียนและผู้ปกครองที่จะต้องลดลงให้เหลือน้อยที่สุดเช่นกัน รวมถึงได้ฝากเน้นย้ำเรื่องของการเตรียมการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ(PISA) ปี 2025 โดยมอบให้ทุกเขตพื้นที่ฯไปดูและเตรียมความพร้อมโรงเรียนที่คาดว่าจะถูกสุ่มเข้าทดสอบจำนวน 9,214 โรง ทั้งนี้ สพฐ.มั่นใจว่าผลการสอบปีหน้าจะต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้ทุกเขตพื้นที่ฯนำนโยบายรัฐบาลและนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ มาขับเคลื่อนโดยทำแผนปฏิบัติที่มีเป้าหมายและตัวชี้วัดชัดเจน และ ผอ. เขตพื้นที่ฯทุกคนต้องรู้สภาพปัจจุบันของโรงเรียน รวมถึงปัญหาอุปสรรค และมีแผนการปฏิบัติ แผนการติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผอ.เขตพื้นที่ฯสามารถลงพื้นที่แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วทันสถานการณ์และตอบโจทย์ของการแก้ปัญหาร่วมกัน
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ตนยังได้เน้นย้ำนโยบาย สพฐ .2568 ปีแห่งความท้าทายการศึกษาไทย เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นแต่เราต้องขับเคลื่อนนโยบายเรียนดี มีความสุข ต่อไป ทำให้เกิดความท้าทายที่ผอ.เขตพื้นที่ฯ จะต้องเผชิญในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยในสถานศึกษาซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าเนื่องจากมีโรงเรียนในสังกัดจำนวนมาก มีนักเรียน 6,000,000 กว่าคน ครูอีกกว่า 500,000 คน ซึ่งแต่ละวันจะมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยเกิดขึ้นบ่อยมาก จึงเป็นความท้าทายที่ผอ.เขตพื้นที่ฯจะต้องไปออกแบบมาตรการเฝ้าระวังและย้ำเตือน เมื่อเกิดปัญหาจะต้องแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วเพื่อให้โรงเรียน เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในโรงเรียน และ ประเด็น Thailand Zero Dropout ก็ยังคงเป็นความท้าทายต่อไป เนื่องจากวันนี้จำนวนเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษายังมีมากอยู่ และอีกความท้าทายที่สำคัญ คือเรื่องของการประเมิน PISA ที่ปี 2022 เรามีผลการประเมินต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี จึงเป็นความท้าทายที่ได้ตั้งเป้าหมายว่า การประเมินในปี 2025 เราจะต้องทำให้สูงขึ้นให้ได้ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ทำให้ทุกคนต้องจับมือกันร่วมมือกันเพื่อยกระดับการสอบPISA รวมถึงการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน(O -NET)และทุกการทดสอบ เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษาเพื่อตอบโจทย์นโยบายเรียนดี มีความสุขให้ได้
“กะทิชาวเกาะ”บริจาคเงิน 10.2ล้าน” ช่วยเหลือโรงเรียนประสบภัย น้ำท่วม-ไฟไหม้ 51 โรงเรียน
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีมอบเงินช่วยเหลือโรงเรียนประสบภัยน้ำท่วมและประสบเหตุไฟไหม้ จากบริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด โดยนายอภิศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ เป็นผู้ส่งมอบ โดยมีนายสุรศักดิ์พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุวงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. และ สพฐ. ผู้บริหารของบริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมในพิธี ณ ห้องราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
อภิศักดิ์ กล่าวว่า .บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด ได้ยึดคำประณิธานของคุณแม่สอนไว้เสมอว่าถ้าเรามีแล้วต้องมีการแบ่งปันจึงได้ดูแลโรงเรียนมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นอุปกรณืการเรียนการสอนหรือโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ซึ่งโรงเรียนก็ขอมาทุกปี ทั้งนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน บริษัทฯมีความห่วงใยต่อสถานการณ์อุทกภัยและเหตุภัยพิบัติในโรงเรียนดังกล่าว และมีความประสงค์ที่จะมอบเงินช่วยเหลือโรงเรียนต่างๆ ที่ได้รับความเดือดร้อน โดยระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมาได้ช่วยเหลือโรงเรียนในโครงการต่างๆ มากมาย ในโอกาสนี้ทางบริษัทจึงได้มอบเงินช่วยเหลือโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา จำนวน 49 โรงเรียน และมอบเงินช่วยเหลือโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายเป็นกรณีพิเศษจากเพลิงไหม้อีก 2 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 51 โรงเรียน โรงเรียนละ 200,000 บาท จำนวนเงินทั้งสิ้น 10,200,000 บาท และในวันนี้ได้มอบเงินบริจาคให้โรงเรียน ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากอุทกภัย จำนวน 2 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านห้วยหินลาดใน และโรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขน มิตรภาพที่ 169 จังหวัดเชียงราย รวมไปถึงโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดอุทัยธานี ที่ประสบเหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษานักเรียน และโรงเรียนกนกศิลป์พิทยาคม จังหวัดบุรีรัมย์ ประสบเหตุไฟไหม้ห้องสมุดโรงเรียน ได้เดินทางมารับมอบ โรงเรียนละ 200,000บาท
ในการนี้ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้ส่งมอบเงินบริจาคให้แก่ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. เพื่อนำไปบริหารจัดการในการช่วยเหลือโรงเรียนที่ประสบภัยน้ำท่วมและประสบเหตุไฟไหม้ตามวัตถุประสงค์ต่อไป โดยในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 จะมีพิธีมอบเงินช่วยเหลือให้กับโรงเรียนอีก 47 โรงเรียนต่อไป
ปูนบำเหน็จ 7 ขั้น ครูเสียชีวิตไฟไหม้รถบัส พร้อมขอพระราชทานเครื่องราชดิเรกคุณากรณ์นักศึกษาฝึกสอน
เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 38/2567 ห้องประชุมราชวัลลภ และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom meeting ว่า ในการประชุมประสานภารกิจ ศธ.ได้มีการายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งขณะนี้ได้มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ระดับ ม.ต้น ระบบออนไลน์ มีผู้เข้าร่วมกว่า 15,445 คน จากทุกสังกัด โดยส่วนใหญ่จะอบรมผ่านช่องทาง YouTube Live และ Facebook Live ซึ่งผู้เข้าอบรม เห็นด้วยกับการจัดอบรมในช่วงปิดภาคเรียน ต้องการให้มีการอบรมต่อเนื่อง ให้จัดการเรียนรู้ที่เน้นความฉลาดรู้ในโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยด้วย เปิดประสบการณ์การออกข้อสอบ เกณฑ์การให้คะแนน มีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้นแนวทางการทำข้อสอบที่ถูกต้อง และสอดคล้องกับแนวข้อสอบ PISA เป็นต้น ทั้งนี้ สพฐ.เตรียมแผนการอบรมขยายผล ในระหว่างวันที่ 1-8 พฤศจิกายน 2567 เตรียมการอบรมผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน และครู ผ่าน Google Classroom ใน 4 ห้องๆ ละ 500 คน พร้อมคัดกรองและจัดกลุ่มผู้ผ่านการอบรม เพื่อพัฒนาสร้างข้อสอบต่อเนื่องในทุกรายวิชาและทุกระดับ โดยมีเป้าหมายสร้างการคิดวิเคราะห์ทั้งชั้นเรียน ทั้งในกลุ่มผู้บริหาร ครู และกลุ่มที่ผ่านการอบรมเพื่อขยายผลต่อไป
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ สพฐ. ได้รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาบำเหน็จความชอบ แก่ครู ที่เสียชีวิตจากเหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา อนุมัติให้ นางสาวพิมพ์ทอง สมบัติ ได้รับการลื่อนเงินเดือนกรณีพิเศษ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการให้บำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษ พ.ศ. 2521 จำนวน 7 ขั้น (เจ็ดขั้น) ในอัตรา 1 ขั้น เท่ากับร้อยละ 5 รวมเป็นร้อยละ 35 ของอัตราเงินเดือน เป็นอัตราเงินเดือน 27,202.50 บาท (สองหมื่นเจ็ดพันสองร้อยสองบาทห้าสิบสตางค์) ตั้งแต่วันที่เสียชีวิต (1 ตุลาคม 2567) และขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกำหนด อนุมัติให้นางสาวกนกวรรณ ศรีผง ได้รับการเลื่อนเงินเดือนกรณีพิเศษ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้บำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษ พ.ศ. 2521 จำนวน 7 ขั้น ในอัตรา 1 ขั้น เท่ากับร้อยละ 5 รวมเป็นร้อยละ 35 ของอัตราเงินเดือน เป็นอัตราเงินเดือน 24,894 บาท ตั้งแต่วันที่เสียชีวิต (1 ตุลาคม 2567) และขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกำหน ส่วนนางสาวสริญญา หอมเกสร นักศึกษาฝึกสอน 1 คน ที่เสียชีวิตก็จะขอพระราชทานเครื่องราชดิเรกคุณากรณ์
สพฐ.แก้ปัญหาเด็กDropout ผุดโรงเรียนสามรูปแบบ/โรงเรียนมือถือ
เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2567 พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกับ 11 หน่วยงาน เพื่อแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ภายใต้โครงการ “Thailand Zero Dropout” เพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ ตามนโยบายรัฐบาล นั้น ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) ดำเนินการสำรวจข้อมูลต่าง ๆ และมีการกระทบยอดจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อวางแนวทางดำเนินการ โดยมีศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ศทก.)สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเจ้าภาพหลักในการดึงข้อมูล และประสานกับหน่วยงานต่างๆ มาบูรณาการ เพื่อติดตามและนำเด็กกลับมาสู่ระบบการศึกษาต่อไป ทั้งนี้เบื้องต้นตัวเลขเด็กหลุดจากระบบการศึกษาของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 1,020,000 กว่าคน นั้น กระทรวงศึกษาธิการได้มีการติดตามและดำเนินนำกลับมาสู่ระบบการศึกษาได้บ้างแล้ว โดยมีโครงการนำน้องกลับมาเรียนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในและนอกระบบ โดยเป็นความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.) ทั้งนี้เพื่อให้เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษากลายเป็นศูนย์
ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สนผ.) สพฐ. สำรวจและรวบรวมข้อมูล รวมถึงวางแนวทางแก้ไขปัญหาเด็กนอกระบบและเด็กตกหล่นของ สพฐ.ต่อไป โดย สพฐ.ได้ทำโครงการ พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง (Obec Zero Dropout) ซึ่งจะดำเนินการ 4 มาตรการ คือ 1.ค้นหาจากฐานข้อมูลที่มีอยู่ 2.ร่วมกับทีมสหวิชาชีพคัดกรองเด็กกลุ่มเสี่ยงออกกลางคัน 3.จัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น Anywhere Anytime เช่นจัดการศึกษาด้วยโรงเรียนสามรูปแบบ โรงเรียนมือถือ หรือศูนย์การเรียนต้นแบบ 4.เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด Learn to Earn คือ สร้างหุ้นส่วนการศึกษากับภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการ เกิดเป็นห้องเรียนภูมิปัญญา/ห้องเรียนอาชีพ เรียนไปมีรายได้
ด้าน ดร.นิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. กล่าวว่า สพผ.ได้นำข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ระบุว่า ปีการศึกษา 2566 มีเด็กอยู่นอกระบบและเด็กตกหล่น 1,020,000 คน และข้อมูลของ ศทก.สป.ศธ. มาสังเคราะห์ แล้วพบ ว่า ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2567 ในจำนวน 1,020,000 คน เป็นเด็กที่กลับเข้าสู่ระบบหรือพบว่ามีชื่ออยู่ในระบบแล้ว 326,402 คน โดยมีเด็กอยู่กับ สพฐ. 85,259 คน เด็กอยู่กับ สช.80,511 คน เด็กอยู่กับ อปท. 79,354 คน อยู่กับ สกร. 44,758 คน อยู่กับ กทม. 19,969 คน และอื่น ๆ 16,551 คน เป็นเด็กไม่พบในระบบหรือที่หลุดจากระบบจริง ๆ 699,112 คน โดยเด็กที่ไม่พบในระบบนี้ เป็นสัญชาติไทย 452,326 คน ไม่ได้สัญชาติไทย 149,217 คน ไม่มีสถานะทางทะเบียน 93,999 คน และสัญชาติอื่น ๆ 20,170 คน