“คุรุสภา”สั่งสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง นิติกรของคุรุสภา กรณีมีคลิปเสียงข่มขู่

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อออนไลน์ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา กรณีมีการเผยแพร่คลิปเสียงนิติกรของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา พูดคุยในเรื่องการยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยการประพฤติผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ กับ รองผู้อำนวยการโรงเรียน โดยมีลักษณะข่มขู่ไม่ให้ยื่นอุทธรณ์ นั้น

เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2567 ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา ให้สัมภาษณ์ว่า สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ทราบเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว ขณะนี้ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมทั้งมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง และสั่งพักงานนิติกรรายดังกล่าว เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา

“กรณีดังกล่าวมีข้อเท็จจริงเกี่ยวข้องกับการประพฤติผิดจรรยาบรรณวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ถูกกล่าวโทษตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชน เมื่อปี พ.ศ. 2564
กรณีมีการทุจริตโครงการคนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์ โดยกรณีที่เกิดขึ้น คุรุสภาไม่นิ่งนอนใจและจะดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายและให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่ายโดยเร็วที่สุด”เลขาธิการคุรุสภา กล่าว

 

ศธ.รับลูก“นายกฯอิ๊งค์”เร่งวางแผนเบิกจ่ายงบฯลงทุนไตรมาสแรกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

วันที่ 5 พ.ย.2567 ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  กล่าวถึงผลการเข้าร่วมประชุมหัวหน้าส่วนราชการกระทรวง หรือเทียบเท่า ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมฯ เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2567 ที่ผ่านมา ว่า น.ส.แพทองธาร นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำประเด็นเกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยให้มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะในเรื่องของงบลงทุน โดยขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการเบิกจ่ายโดยเร็ว ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ เพิ่งเริ่มไตรมาสแรก ส่วนใหญ่ก็เริ่มเบิกจ่ายแล้วแต่เป็นงบปกติ เช่น งบของเงินเดือน งบค่าใช้สอยปกติ ตัวเลขใช้จ่ายตอนนี้ก็อยู่ที่ประมาณกว่า 2% ของงบประมาณทั้งหมดหรือภาพรวมของกระทรวง

“นายกฯได้เน้นเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก  โดยได้มีข้อสั่งการให้แต่ละกระทรวงไปเร่งรัดเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะในไตรมาสแรกนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และให้หน่วยงานภาครัฐไปวางแผนดูว่าอะไรที่มีความจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพราะเรื่องงบลงทุน ก็ให้เร่งดำเนินการให้เร็ว ให้ได้ผู้รับจ้าง ซึ่งในส่วนของศธ.ก็เร่งรัดดำเนินการ โดยในการประชุมประสานภารกิจของศธ. พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้มอบหมายให้ผู้ช่วยรัฐมนตรี และประธานคณะทำงาน เข้าไปช่วยดูเรื่องการวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โดยในไตรมาสแรกนี้ก็จะเน้นย้ำเรื่องงบลงทุนเป็นหลัก ไม่ให้ไปช้าในช่วงปลายปีงบประมาณ ให้มีผู้รับจ้างและทำสัญญาจ้างไว้เพื่อทำให้การเบิกจ่ายได้เร็วขึ้น ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหางบพับ หรือแก้ปัญหาผู้รับจ้างทิ้งงาน“ ดร.สุเทพ กล่าว

พฤษภาคม นี้ “รอผลศึกษา”ตั้ง-ไม่ตั้ง ศึกษาธิการภาค

เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)เปิดเผย ถึงการแต่งตั้งศึกษาธิการภาค(ศธภ.) ว่า ตนได้มอบหมายให้ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ไปศึกษาว่าการไม่มีศึกษาธิการภาค กับการมีศึกษาธิการภาค มีผลกระทบกับงานมากน้อยเพียงไร

ด้าน ดร.สุเทพ กล่าวว่า ที่มาที่ไปที่ยังไม่ได้แต่งตั้งศึกษาธิการภาคตอนนี้ก็คือ สืบเนื่องจาก ก่อนหน้านี้มีการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร และนักวิชาการการศึกษาอิสระต่าง ๆ ได้วิพากษ์วิจารณ์ว่า ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการและศึกษาธิการภาค มีลักษณะการทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน ทำให้รัฐบาลสิ้นเปลืองงบประมาณ และกระทบต่อการกำหนดตำแหน่งต่าง ๆ  ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการ โดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้มอบนโยบายให้ ตนไปศึกษาบริบทของศึกษาธิการภาค และผู้ตรวจราชการ ว่าสามารถที่จะดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการอย่างไร ซึ่งโดยบทบาทของผู้ตรวจราชการก็จะมีบทบาทในเรื่องการตรวจติดตาม กำกับ ให้คำแนะนำ ขณะที่ ศึกษาธิการภาค ก็จะมีบทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนนโยบายในพื้นที่ในบริบทของภาค ดังนั้นเพื่อการศึกษาแนวทางในเรื่องของการปฏิวัติการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ก็จะมีการบูรณาการในการทำงานร่วมกัน โดยมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการมาปฎิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาคอีกหน้าที่หนึ่ง

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นผู้ตรวจราชการจะทำหน้าที่ในสองบทบาท คือ บทบาทของผู้ตรวจราชการและบทบาทศึกษาธิการภาค เนื่องจากพื้นที่ทั้งสองตำแหน่งเป็นพื้นที่เดียวกันทั้งหมด จึงได้รับการมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ทั้งสองบทบาทหน้าที่ในพื้นที่เดียวกัน อย่างไรก็ตาม สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำการศึกษาทั้งสองแนวทาง คือ เรื่องการแยกปฏิบัติหน้าที่ กับการบูรณาการทั้งสองหน้าที่รวมกัน ว่าจะสามารถขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการได้ดี หรือ มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน โดยขณะนี้การศึกษายังไม่เสร็จสิ้น เพราะอย่างน้อยต้องศึกษาไม่น้อยกว่า 1 ปีการศึกษา ถึงจะเห็นภาพ  ซึ่งเราเพิ่งเริ่มศึกษาและดำเนินการเมื่อเทอมที่แล้ว จะสิ้นสุดปีการศึกษาก็ราว ๆ เดือนพฤษภาคม ก็น่าจะเห็นภาพชัดเจนว่าการศึกษาในแนวทางร่วมกันจะมีผลออกมาอย่างไร

“คุณลักษณะของงานในตำแหน่งทั้งสองหน่วยงานแตกต่างกันอยู่แล้ว ศึกษาธิการภาคจะเป็นหน่วยของการขับเคลื่อนนโยบายส่วนผู้ตรวจราชการจะเป็นการตรวจติดตาม กำกับ และให้คำแนะนำ แต่ถ้าเราเอาสองงานมารวมกันแล้วให้คนเดียวทำ ตามเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จะแตกต่างกันอย่างไรเมื่อมาบูรณาการกันแล้ว ก็ต้องมาดูผลการศึกษาว่ามันจะเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดีแล้วค่อยเอาผลมาสรุปอีกครั้งว่าจะยังคงมีศึกษาธิการภาคอยู่หรือไม่ จะแต่งตั้งศึกษาธิการภาคครบทั้ง 12 ตำแหน่ง หรือจะให้ผู้ตรวจราชการ 12 คน ทำหน้าที่ศึกษาธิการภาค ทั้ง 18 ภาค  ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูล ซึ่งคาดว่าในเดือนพฤษภาคมนี้ จะเห็นภาพที่ชัดเจน ถึงข้อสรุปว่าควรจะเดินไปในทิศทางไหนอย่างไร อย่างไรก็ตาม สำนักงานศึกษาธิการภาค และตำแหน่งของศึกษาธิการภาคยังไงก็ต้องคงไว้ เพราะมีรองศึกษาธิการภาคอยู่แล้ว เพียงแต่ตัวคนที่จะมาเป็นศึกษาธิการภาคจะเป็นผู้ตรวจราชการหรือว่าจะแยกเป็นศึกษาธิการภาคเหมือนเดิม ก็ขึ้นอยู่กับผลของการศึกษา ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป

องค์การค้าของ สกสค.จัดแข่งขันบอร์ดเกมส์เชิงวิชาการชิงถ้วยพระราชทานกรมสมเด็จพระเทพฯ

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 นายภกร รงค์นพรัตน์ รองผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) กล่าวว่า  องค์การค้าของ สกสค.ได้จัดการแข่งขันบอร์ดเกมส์เชิงวิชาการชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี โดยจะมีการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในงานแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการศึกษา Edtex 2024 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งงานดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2567

สำหรับการแข่งขันบอร์ดเกมส์เชิงวิชาการในครั้งนี้ มีถ้วยรางวัลจำนวน 7 รางวัล ดังนี้
1. รางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

2. ถ้วยรางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ )

3. ถ้วยรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 โดย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

4. ถ้วยรางวัลชมเชย โดย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

5. ถ้วยรางวัลชมเชย โดย นายพีระพันธ์ เหมะรัต เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา

6. ถ้วยรางวัลชมเชย โดย นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.

7. ถ้วยรางวัลชมเชย โดย รศ.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

ทั้งนี้ การแข่งขันบอร์ดเกมส์ในรอบชิงชนะเลิศ ในวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน 2567 มีผู้เข้าแข่งขันจาก 4 ภูมิภาค ภาคละ 16 คน รวมผู้เข้าแข่งขันทั้งสิ้น  64 คน มีถ้วยรางวัลจำนวน 7 รางวัล  องค์การค้าของ สกสค.ขอเชิญชวนคณะครู นักเรียน เข้าร่วมงานในครั้งนี้ โดยผู้เข้าร่วมงานคนจะได้ร่วมเล่นบอร์ดเกมส์และได้รับของสมนาคุณจากบูธองค์การค้าของ สกสค.จำนวนมากมาย

สอศ.ปักธงยกระดับอาชีวะไทย ด้วย 8 ยุทธศาสตร์ “ทำดี ทำได้ ทำทันที” สร้างคนคุณภาพสู่โลกอนาคต

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.)เป็นประธานเปิดการประชุมผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 พร้อมบรรยายพิเศษการพัฒนาอาชีวศึกษา 8 Agenda พัฒนาอาชีวศึกษา “ทำดี ทำได้ ทำทันที” OVEC ONE TEAM โดยมี นายสมชาย ลีหล้าน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวต้อนรับ ร่วมด้วย นายวิทวัต ปัญจมะวัต นายสง่า แต่เชื้อสาย นายณรงค์ชัย เจริญรุจิทรัพย์ รองเลขาธิการ กอศ.ผู้บริหารส่วนกลาง ผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สอศ. ภาครัฐและเอกชน และผู้เกี่ยวข้อง กว่า 700 คน เข้าร่วมประชุม ณ วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช

นายยศพล กล่าวว่า การประชุมผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ทุกท่านจะได้ทราบแนวนโยบาย และร่วมกันทบทวนถึงผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รวมถึงเป็นการวางรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนอาชีวศึกษาสู่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งที่ผ่านมา ครู อาจารย์ ผู้บริหาร และภาคส่วนต่างๆ คือ กลไกให้เกิดความสำเร็จ ได้ร่วมมือกันอย่างดีในการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะที่จําเป็น 3 ด้าน คือ ทักษะวิชาการ ทักษะวิชาชีพ และทักษะชีวิต ขับเคลื่อนผู้เรียนอาชีวะมีรายได้ระหว่างเรียน พัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ ขับเคลื่อนการจัดการศึกษาภายใต้ศูนย์ CVM และ Excellent Center สร้างผู้เรียนให้มีสมรรถนะสูง เช่น พาณิชย์นาวี ยานยนต์สมัยใหม่ EV และนำ AI Digital มาใช้ในการเรียนการสอน ร่วมกับสถานประกอบการปรับหลักสูตรสอดคล้องให้ผู้เรียนมีสมรรถนะ จบแล้วมีงานทำตรงตามความต้องการที่หลากหลายทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจและบริการ ภาคการโรงแรม ซึ่งจะเห็นถึงการพัฒนายกระดับอาชีวศึกษาที่เกิดขึ้น และการปรับหลักสูตรอาชีวศึกษาด้านเกษตร ยกระดับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ เน้นย้ำ การจัดการเรียนการสอนเป็นสมัยใหม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน และในปี 2568 นี้ ทุกท่านคือส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการเรียนการสอนด้วยแนวทาง “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” สร้างความสามัคคี ปูพื้นฐานต่างๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อความสำเร็จของอาชีวศึกษา ร่วมกันขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาประเทศชาติต่อไป

ทั้งนี้ สอศ. ขับเคลื่อนอาชีวศึกษา ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ “เรียนดี มีความสุข” ด้วยนโยบายการพัฒนาอาชีวศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 “8 Agenda พัฒนาอาชีวศึกษา ทำดี ทำได้ ทำทันที OVEC ONE TEAM” ดังนี้
1.ส่งเสริมการเรียนรู้อาชีวศึกษาทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime)
2.ปฏิรูประบบอาชีวศึกษาและพัฒนาคุณภาพการศึกษา
3.เสริมสร้างอาชีวศึกษาแห่งความสุข ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
4.พัฒนาทักษะและสมรรถนะวิชาชีพกำลังคน
(Skill Certificate)
5.พัฒนาภาคีเครือข่ายและเสริมพลังความร่วมมือ
6.ยกระดับการบริหารและพัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษา
7.เสริมสร้างภาพลักษณ์อาชีวศึกษายุคใหม่
8.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการอาชีวศึกษา

 

“ธนากร” เผยไทม์ไลน์แบ่งส่วนราชการ สกร.หลัง ครม. ผ่านร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 เรื่อง ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. …. ว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ

กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งขึ้นเมื่อ 18 พฤษภาคม 2566 โดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ มีสถานะเป็นนิติบุคคล และเป็นกรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหาราชการแผ่นดิน อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีภารกิจเกี่ยวกับการจัด ส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง การเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ และการเรียนรู้ในรูปแบบอื่นที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน เพื่อให้บุคคลมีทักษะการเรียนรู้ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิตที่สอดคล้องและ เท่าทันพัฒนาการของโลก และมีโอกาสพัฒนาหรือเพิ่มพูนทักษะของตนให้สูงขึ้นหรือปรับเปลี่ยนทักษะของตนตามความถนัดหรือความจำเป็น จึงกำหนดโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในกรม ออกเป็น 2 กลุ่ม 7 กอง ดังนี้
1) กลุ่มตรวจสอบภายใน
2) กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร
3) สำนักงานเลขานุการกรม
4) กองบริหารทรัพยากรบุคคล
5) กองมาตรฐานและส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิ
6) กองยุทธศาสตร์และแผนงาน
7) กองส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้
8) ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้
9) ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์

นายธนากร กล่าวต่อว่า หลังจากนี้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะแจ้งมติคณะรัฐมนตรีและส่งร่างกฎกระทรวงให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลงนาม และประกาศในราชกิจจานุบกษา เพื่อให้มีผลใช้บังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหาราชการแผ่นดิน  เมื่อกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมการเรียนรู้ฯ มีผลใช้บังคับ กรมส่งเสริมการเรียนรู้จะเร่งดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่งของข้าราชการในส่วนราชการที่ปรากฏตามกฎกระทรวง โดยเสนอ อ.ก.พ. กระทรวง และสำนักงาน ก.พ. พิจารณาตามลำดับ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2568 หลังจากนั้นจะสามารถดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือนสามัญทั้งระบบได้

5 ภาคีผนึกกำลังเปิดหลักสูตร “โอกาสธุรกิจสุขภาพและการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง” รุ่น 5

ผศ.ดร.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง ผู้อำนวยการหลักสูตร “ WELLNESS & HEALTHCARE BUSINESS OPPORTUNITY PROGRAM FOR EXECUTIV (WHB)” กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์, บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย)จำกัด, ภาควิชานโยบายด้านสุขภาพของโลก บัณฑิตวิทยาลัยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และ บริษัท ไทยพัฒนาสุขภาพ จำกัด โดย International Wellness & Healthcare Academy ได้ร่วมมือกันจัดการเรียนหลักสูตร WHB รุ่นที่ 5 เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมทางการแพทย์ครบวงจรของประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านบริการสุขภาพและการแพทย์ของโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพูนเครือข่ายพันธมิตรระหว่างผู้ประกอบการ นักธุรกิจด้านสุขภาพและอุตสาหกรรมการแพทย์ และผู้บริหารระดับสูงจากคณะวิชาด้านการแพทย์หรือด้านสุขภาพหรือธุรกิจบริการ หรือผู้ที่สนใจธุรกิจด้านสุขภาพ และอุตสาหกรรมการแพทย์ในอนาคต อีกทั้งมุ่งเสริมความรู้เกี่ยวกับเทรนด์ ความก้าวหน้า โอกาสและการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับเวลเนสและเฮลแคร์ ขณะเดียวกันมุ่งเสริมสร้างให้เกิดการขยายเครือข่ายพันธมิตร เพื่อผสานความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปใช้ต่อยอดธุรกิจเดิมหรือพัฒนาธุรกิจใหม่ด้านเวลเนสและเฮลแคร์

นพ.กุลธนิต วนรัตน์ ผู้อำนวยการกองการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยฯมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพของโลกผ่านการดำเนินการตามนโยบายของนพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ที่มีกลยุทธ์ 3 สร้าง ดังนี้ 1. สร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายบริการทั้งในและต่างประเทศ 2. สร้างความเชื่อมั่น ด้วยนวัตกรรม งานวิจัย ประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาสมุนไพรในกลุ่มอาการที่พบบ่อย และ3. สร้างมาตรฐานและยกระดับบริการทางการแพทย์ และสถานประกอบการด้านสุขภาพให้เป็นที่ยอมรับ โดยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การเข้าร่วมเป็นองค์กรภาคีจัดการเรียนหลักสูตรในครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจและผู้ประกอบการด้านสุขภาพและด้านการแพทย์ ส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชน ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นจุดหมายด้านเวลเนสและเฮลท์แคร์ที่มุ่งสู่ระดับโลกต่อไป

นายสันติพงษ์ วงค์ทะเนตร ผู้อำนวยการกองธุรกิจบริการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างพลังขับเคลื่อนธุรกิจไทยให้ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการส่งเสริมพัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจสุขภาพและความงามของไทยให้เข้มแข็งและแข่งขันได้ ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การเข้าสู่สังคมสูงวัย และเทรนด์การดูแลสุขภาพควบคู่กับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นการเข้าร่วมเป็นองค์กรภาคีจัดการเรียนหลักสูตร WHB จะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจและผู้ประกอบการด้านสุขภาพและการแพทย์ของไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ดร. ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเหว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หัวเว้ยพร้อมช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสำหรับการดูแลสุขภาพแบบครบวงจรของ โดยร่วมดำเนินการมาตั้งแต่รุ่นที่ 1 จนถึงปัจจุบันด้วยการสนับสนุนเรื่องการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลและระบบอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เพื่อสร้างนวัตกรรมการบริการสำหรับผลักดันการบริการด้านสุขภาพและการแพทย์ของประเทศไทยให้เข้าสู่การเปลี่ยนผ่านเชิงไอซีที โดยเทคโนโลยีดิจิทัลและเครือข่าย 5G จะเข้ามาช่วยให้เกิดการบริการทางการแพทย์และบริการสุขภาพในรูปแบบดิจิทัล และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสถานพยาบาลต่างๆ ทำให้งานด้านการส่งข้อมูลการดูแลผู้ป่วย การเก็บข้อมูลวิเคราะห์ และการสั่งงานจากระยะไกลสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ศ.นพ.มาซาฮิริ ฮาชิซึเมะ ประธานภาควิชานโยบายด้านสุขภาพของโลก มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ภาควิชาฯได้ร่วมมือกับองค์กรภาคีในประเทศไทย จัดหลักสูตร WHB ตั้งแต่รุ่นที่ 1 เป็นต้นมา โดยตนและคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยโตเกียวจะเดินทางมาที่ประเทศไทย เพื่อบรรยายเรื่องเวลเนส และมาตรการในการลดผลกระทบของมลภาวะและสิ่งแวดล้อม ที่ได้ดำเนินการในประเทศญี่ปุ่นและประเทศต่างๆ ซึ่งประเทศไทยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ นอกจากนั้น เมื่อเสร็จสิ้นการเรียนในประเทศไทยแล้ว เรายังได้จัดให้มีการศึกษาดูงานเกี่ยวกับนวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ และการบริหารจัดการสถานดูแลและที่พักอาศัยของผู้สูงอายุที่เป็นต้นแบบของการดูแลผู้สูงวัยของโลก ในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สมอาจ วงษ์ขมทอง ประธานหลักสูตรฯ และประธานบริษัท ไทยพัฒนาสุขภาพ จำกัด กล่าวว่า หลักสูตร WHB รุ่นที่ 5 มุ่งผลลัพธ์ เพื่อให้เกิดการรังสรรค์ธุรกิจใหม่ด้านเวลเนสที่ทันสมัยหรือด้านเฮลแคร์ที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยเกิดขึ้นจริงระหว่างการเรียนและหลังจบหลักสูตร โดยมี 5 ชุดความรู้ที่สำคัญ ประกอบด้วย ชุดที่1 เรื่องMedical Hub เน้นเนื้อหาเกี่ยวกับการสร้างความเป็นเลิศในการให้บริการด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาลของไทยในระดับนานาชาติ ชุดที่ 2 เรื่อง Wellness ที่ประเทศไทยมีมูลค่าตลาดของธุรกิจเวลเนสในปี 2567 ไม่น่าจะต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท และจะมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงขึ้น ชุดที่ 3 เรื่องธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ ปัจจุบันประชากรไทย 1 ใน 5 คนเป็นผู้สูงอายุ ดังนั้นธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุจะขยายตัวอย่างมาก ชุดที่ 4 เรื่อง Healthtech และ Wellnesstech การประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีและ AI ในบริการสุขภาพและการรักษาพยาบาลจะมีความก้าวหน้าและแพร่หลายขึ้นมาก และชุดที่ 5 เรื่องธุรกิจในอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่งเป็น New S Curve Business ของอุตสาหกรรมการแพทย์ในวิถีใหม่ นอกจากการบรรยายโดยวิทยากรแนวหน้าจากภาครัฐและเอกชน แล้วยังมีการศึกษาดูงานธุรกิจชั้นนำของโลกทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นผู้บริหารระดับสูง (ระดับ 9 ขึ้นไปหรือเทียบเท่า) ผู้ประกอบการ และผู้สนใจสมัครเรียนได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 5 ธ.ค.2567 โดยกรอกใบสมัครออนไลน์ได้ที่ https://whb.info/whb/application/ ค่าธรรมเนียมการเรียน 229,000 บาท โดยเริ่มเรียนในวันที่ 24 ม.ค.- 30 พ.ค.2568 ที่โรงแรมอนันตา สยาม กรุงเทพฯ ถนนราชดำริ สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์ประสานงานหลักสูตร WHB โทร. 06-5949-4741, 08-7332-5640, 09-87991499

“ธนุ” หารือ ก.พ.เปลี่ยนวิธีจ้างลูกจ้าง สพฐ.ก่อนเสนอ ครม. หวังให้ได้ประกันสังคมต่อเนื่อง เห็นใจทำงานมานานเป็นสิบปี

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่สมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทยและกลุ่มลูกจ้างสังกัด สพฐ. ต้องออกมาเคลื่อนไหวกรณีสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แจ้งเรื่องการจัดสรรอัตราการปฏิบัติงานให้ราชการ ปีงบประมาณ 2568 โดยปรับเปลี่ยนวิธีการจ้างเป็นจ้างเหมาบริการและตัดเงินสมทบประกันสังคม ส่งผลให้ลูกจ้าง สพฐ. กว่า 7 หมื่นคนทั่วประเทศ  ได้รับผลกระทบ ถึงสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ ว่า เรื่องนี้กระทรวงศึกษาธิการต้องดำเนินการอยู่แล้ว แต่ปัญหานี้เป็นทั้งประเทศไม่ใช่เฉพาะกระทรวงศึกษาธิการที่เดียวก็คงต้องทำความเข้าใจกัน ส่วนกระทรวงศึกษาธิการก็ทำตามหน้าที่ ซึ่งมีกรอบหลายอย่างกำหนดไว้อยู่แล้ว การจ้างเหมาก็มีกรอบอัตราแบบหนึ่ง ลูกจ้างชั่วคราวก็เป็นกรอบอัตราอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้เป็นนโยบายที่รัฐบาลที่พยายามลดอัตรากำลังของส่วนราชการลง

ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า  เรื่องการเปลี่ยนจากการจ้างเหมาบริการ ไปเป็นวิธีการจ้างลูกจ้างชั่วคราวตามเดิมนั้น ต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ก่อน ถ้า ก.พ. เห็นชอบ สพฐ.จะมาตั้งเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อขออนุมัติเงินประกันสังคมให้ตามที่เรียกร้อง ส่วนเรื่องการปรับเงินเดือนก็เป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้วที่จะปรับเงินเดือนให้เท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งก็จะเสนอ ครม.เช่นกัน อย่างไรก็ตามรอให้ ก.พ.ตอบกลับมาก่อน แล้วทำเรื่องเสนอ ครม.พร้อมกัน  โดยตนจะทำหนังสือไปถึง ก.พ.ภายในวันนี้

“สำหรับเรื่องเงินสมทบประกันสังคมที่อาจจะขาดส่งในช่วงเปลี่ยนวิธีจ้างนี้ก็ต้องหารือไปยังประกันสังคมก่อน  แต่ตอนนี้เนื่องจากสำนักงบประมาณไม่ได้จ่ายงบฯให้จ่ายเงินสมทบประกันสังคม เพราะเป็นการจ้างเหมาบริการ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องแก้ปัญหาและ สพฐ.กำลังทำเรื่องเสนอ ครม.อยู่  ซึ่งถ้าเราทำตรงนี้ได้สำเร็จ ลูกจ้างก็จะได้อานิสงค์ทุกกระทรวง ก็เห็นใจคนที่ทำงานกันมาเป็นสิบปี”เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

“เสมา1”ไม่เต้นตามกระแสเรียกร้องย้าย ผอ.สพป.ขอนแก่นเขต3 ออกนอกพื้นที่ ขอคนร้องให้ลงชื่อ-นามสกุลชัดเจน

เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยกรณี มีคำแถลงการณ์ และบัตรสนเท่ห์ว่อนในโซเชียล เรียกร้องให้ย้ายผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)ขอนแก่น เขต 3 ออกนอกพื้นที่ โดยได้กล่าวหาว่ามีการทุจริตในหลายประเด็น ว่า เรื่องนี้ทราบว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้ตั้งกรรมการลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่แล้ว ซึ่งก็ต้องให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายในการดำเนินการต่างๆ อย่างไรก็ตาม ตนอยากบอกว่าหากใครจะร้องเรียน หรือเรียกร้องอะไรก็ขอให้ลงชื่อ นามสกุลให้ชัดเจน ไม่ใช่เป็นบัตรสนเท่ห์ ไม่ใช่ใครออกมาร้องแล้วก็จะย้ายคนนั้น ซึ่งเราก็ต้องให้โอกาสเขาได้ชี้แจงด้วย

ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า เมื่อวานนี้กลุ่มดังกล่าวได้มายื่นหนังสือที่ สพฐ.แล้ว แต่เป็นคำแถลงการณ์ เป็นบัตรสนเท่ห์ ไม่มีชื่อคนร้องเรียนที่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม ตนได้ให้คณะกรรมการลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่แล้ว เพื่อให้ความเป็นธรรมกันทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ว่ามีเรื่องร้องเรียนมาเราจะต้องย้าย ผอ.เขตพื้นที่ทันที เราต้องให้ความเป็นธรรมเขาด้วย แต่ถ้าตรวจสอบแล้วผิดจริงก็ต้องย้ายแน่นอน ถ้าไม่ผิดก็ต้องให้โอกาสเขาได้ทำงาน อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่า เรื่องนี้น่าจะเป็นปัญหาในเชิงการบริหารงานในพื้นที่ มีปัญหาเรื่องผอ.กลุ่มงานต่าง ๆ หรืออาจมีบุคคลคนภายนอก หรือการเมือง เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

“นายกอิ๊ง”รับปากช่วยลูกจ้างสพฐ.ตั้งวอร์รูมประชุมร่วม พร้อมเร่งประสาน “เสมา1”ช่วยแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 นายวรวิทย์ อัคราภิชาต แกนนำกลุ่มภาคกลาง ผู้แทนลูกจ้างในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่พวกตนได้รอพบ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่กระทรวงศึกษาธิการ แต่ไม่ได้พบ จึงได้เดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อมายื่นหนังสือข้อเรียกร้อง ต่อ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมี นายสมพาศ นิลพันธ์ ตัวแทนนายกรัฐมนตรี มารับหนังสือ และรับปากว่าจะนำเรียนความเดือดร้อนให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยด่วนและจะเร่งประสานมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบปัญหาเบื้องต้นแล้ว และจะตั้งวอร์รูมประชุมร่วมกันกับทางสมาพันธ์ฯ เพื่อให้เกิดความมั่นคงในอาชีพ เนื่องจากหน่วยงานอื่นทำงานเกิน 5ปีก็ได้สิทธิประโยชน์ แต่ลูกจ้าง สพฐ.ทำงานมา 15 ปี ยังไม่ได้สิทธิประโยชน์อะไรเลย

นายวรวิทย์ กล่าวต่อไปว่า เหตุผลที่สมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทยและกลุ่มลูกจ้างสังกัด สพฐ. ต้องออกมาเคลื่อนไหว เพราะพวกเราเดือดร้อนจริง ๆ โดยเฉพาะเรื่องประกันสังคม  พวกเราทุกคนทำงานมามีอายุงาน 15  ปีแล้ว ได้รับการสมทบประกันสังคมตั้งแต่ ปี 2552 เพราะพวกเราเข้าโครงการตั้งแต่โครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ไทยเข้มแข็ง(SP 2) คืนครูให้นักเรียน  อย่างไรก็ตาม จริง ๆ แล้ว สพฐ.ได้เชิญผู้แทนและประธานสมาพันธ์ทุกภาคเข้าหารือแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันแล้ว โดยมีดร.อุดม พรมพันธ์ใจ ผู้แทน รมว.ศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายศุภสิน ภูศรีโสม ผอ.สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ และนายนิยม ไผ่โสภา ผอ.สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้าร่วมหารือ

นายวรวิทย์ กล่าวว่า จากการเจรจา ทาง สพฐ. และ ผู้แทน รมว.ศึกษาธิการ ได้ขอให้บอกถึงผลกระทบจากการเป็นลูกจ้างชั่วคราวมาเป็นจ้างเหมาบริการ ซึ่งตนได้ชี้แจงไปหมดแล้ว และสุดท้ายก็มีข้อตกลง 3 ข้อ คือ 1 ให้เอาประกันสังคมกลับคืนมา แล้วเปลี่ยนกลับไปจ้างเป็นลูกจ้างชั่วคราวเหมือนเดิมและส่งเงินสมทบประกันสังคมต่อ   2 ขอปรับเงินเดือนตามนโยบายรัฐบาลจาก 15,000 บาท เป็น 16,500 บาท และ 3 ขอให้ สพฐ.จัดสรรอัตรากำลังในการสอบกรณีพิเศษสำหรับลูกจ้าง สพฐ.  เพราะอายุงาน 10 ปี 15 ปี ควรจะมีกรณีพิเศษของการประเมินเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานราชการ ขอให้มีการสอบแข่งขันกันเองในอัตราละ 5% ต่อปีต่อสำนักงานเขตพื้นที่ ซึ่ง นายอุดม ซึ่งเป็นผู้แทน รมว.ศึกษาธิการ ก็พูดว่า ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อยังไม่เห็นว่า รมว.ศึกษาธิการจะทำข้อไหนให้ไม่ได้เลย แต่ขอเวลาให้ สพฐ.กลั่นกรองข้อมูลให้ครบถ้วนและเสนอ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อนำเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อของบฯกลาง มาดูแลเรื่องประกันสังคม เรื่องการเลื่อนเงินเดือน เพราะ สพฐ.ทำรายละเอียด ค่าใช้จ่ายไปแล้วว่า ต้องใช้เงินสมทบประกันสังคมประมาณ 400 ล้านบาท  สำหรับขึ้นเงินเดือนประมาณ 8,000 ล้านบาท

“ทราบมาว่า ตัวเลขเสนอให้รมว.ศึกษาธิการ ตั้งแต่หลังวันที่ 2 ตุลาคม แล้ว ดังนั้นถ้าอ้างว่าข้อมูลยังไม่เรียบร้อย ก็อยากถามว่า เป็นไปได้หรือ เพราะผ่านมา 3 สัปดาห์ 3 ประชุม ครม.แล้ว และตอนนี้ก็มาอ้างว่า กระทรวงอื่นก็มีลูกจ้างอีก ผมก็มองว่า พวกผมเป็นฝ่ายสนับสนุนการศึกษา สร้างบุคลากรให้เป็นคนเก่ง คนดี แต่ตอนนี้พวกผม 7 หมื่นกว่าคนกำลังเดือดร้อน ไม่ใช่เดือดร้อนเฉพาะตัวแต่ลามไปถึงครอบครัว สิทธิประโยชน์ก็ไม่ได้ ทำไมไม่พิจารณาให้ ส่วนกลุ่มอื่น ๆ ถ้าเขาเดือดร้อนก็ต้องมาแจ้งความเดือดร้อน และยิ่งผู้แทนรัฐมนตรีพูดว่า ผมเป็นพ่อ ลูกเดือดร้อนจะไม่ดูแลได้อย่างไร และยังพูดด้วยว่า จะนำเรียนรัฐมนตรีโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านเลขาหรือใครทั้งสิ้น ซึ่งถือเป็นคำมั่นที่พวกผมขอขอบคุณที่ดูแล  และได้บอกไปว่า จะทวงถามความคืบหน้า แต่ปรากฏว่าหลังจากวันประชุมร่วมกันก็ไม่เคยติดต่อได้เลย แต่พวกผมก็เฝ้าติดตามการประชุม ครม. 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาไม่มีเรื่องนี้เข้าเลย  เพราะฉะนั้นถ้าวันนี้ไม่ได้คำตอบ ก็จะยกระดับการชุมชน เพราะตอนนี้พี่น้อง 77 จังหวัดรอสัญญาณจากผู้แทนที่มาวันนี้  ถ้ารัฐมนตรีไม่ให้ความสำคัญเราจะแจ้งให้มีการยกระดับการชุมชน  และสุดท้าย ขอบอกว่าวันนี้พวกเราเดือดร้อน ถ้าไม่เดือดร้อนเราไม่มา เพราะตอนนี้เตรียมเปิดเทอมแล้ว”นายวรวิทย์กล่าว