“ก.ค.ศ.”เล็งเปิดระบบTRS ย้ายครูทุกกรณี ขานรับนโยบาย “ครูอุ้ม”ปิดช่องทางรับเงินโยกย้าย

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 รศ.ดร. ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เร่งพัฒนาระบบการย้ายข้าราชการครูรูปแบบใหม่ หรือ Teacher Rotation System (TRS)  ภายใต้นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยมุ่งเน้นการสร้างระบบที่เอื้อให้ครูได้มีโอกาสย้ายด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม นั้น ขณะนี้สำนักงาน ก.ค.ศ. อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาระบบ โดยต่อยอดมาจากระบบจับคู่ครูคืนถิ่น (Teacher Matching System: TMS) ที่ได้เปิดให้ครูยื่นคำร้องขอย้ายไปแล้ว 2 รอบ ซึ่งครูที่ได้เข้ามาใช้งานระบบและยื่นคำร้องขอย้ายเห็นว่าระบบนี้ช่วยลดภาระด้านเอกสารการย้าย และอำนวยความสะดวกในการดำเนินการย้ายได้เป็นอย่างดี

รศ.ดร. ประวิต กล่าวต่อไปว่า “ระบบ TRS เป็นการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาอำนวยความสะดวกในการดำเนินการย้ายให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู โดยบังคับใช้กับทุกส่วนราชการ และเป็นการย้ายไปดำรงตำแหน่งเดิม ในสถานศึกษาสังกัดส่วนราชการเดิม ซึ่งระบบนี้จะครอบคลุมการย้ายทั้ง 3 กรณี คือ การย้ายกรณีปกติ การย้ายกรณีพิเศษ และการย้ายเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ซึ่งที่ผ่านมาทราบดีว่าในช่วงการย้ายจะมีปัญหาเรื่องการเรียกรับผลประโยชน์ การทุจริตในการดำเนินการ ระบบ TRS จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้น ถือเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจที่ รมว.ศึกษาธิการ ต้องการสร้างความโปร่งใสให้กับระบบการย้ายข้าราชการครูฯ อย่างจริงจัง และจะขยายระบบให้ครอบคลุมการย้ายทุกตำแหน่ง เพราะนอกจากจะเพิ่มความสะดวกให้กับครูแล้ว ระบบการย้ายครูรูปแบบใหม่นี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของครูให้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าที่พัก ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของครูมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ การได้ทำงานใกล้บ้านยังจะช่วยให้ครูมีเวลาในการดูแลครอบครัวมากขึ้น ส่งผลดีต่อสภาพจิตใจและขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน และสามารถพัฒนาการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง

“ขณะนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้จัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายฯ (ว 6/2567) ที่จะนำมาใช้กับระบบ TRS เรียบร้อยแล้ว เมื่อจัดทำระบบระบบเสร็จสิ้นแล้ว ครูสามารถเข้ามายื่นคำร้องขอย้ายได้ โดยเราตั้งเป้าเปิดใช้งานระบบในวันที่ 1 มกราคม 2568 นี้ เพื่อเป็นของขวัญวันปีใหม่ให้กับครูทั้งประเทศ ถือเป็นการพลิกโฉมการบริหารงานบุคคลฯ ครั้งสำคัญที่พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ขับเคลื่อนนโยบายครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่นได้อย่างแท้จริง

“เสมา1”เปิดตัวระบบ NSOT Service บริหารกิจการลูกเสือ “สลช.ยุคใหม่”ทำดี ทำได้ ทำทันที พร้อมออกกฏกระทรวงว่าด้วยเครื่องแบบลูกเสือตามบริบทพื้นที่ แต่คงใส่ชุดลูกเสือในโอกาสสำคัญ ๆ

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ(สลช.)เปิดแถลงข่าว โดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ในฐานะ ประธานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ “เปิดตัวระบบบริหารกิจการลูกเสือและโปรแกรมการฝึกอบรมลูกเสือในสถานศึกษา(NSOT Service)” ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” มุ่งเน้นการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศและการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยลดภาระครู นักเรียน และผู้ปกครอง โดย พลตำรวจเอกเพิ่มพูน กล่าวว่า การเปิดตัวระบบบริหารกิจการลูกเสือครั้งนี้ ได้มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในทุกระดับ ตั้งแต่ส่วนกลางไปจนถึงสถานศึกษา นอกจากนี้ ยังมาพร้อมกับแนวคิด “ลูกเสือทันสมัย Transform” ภายใต้สโลแกน “ทำดี ทำได้ ทำทันที” โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเรียนรู้และลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน เพื่อการให้บริการและปฏิบัติงาน ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด ทั้งในส่วนกลาง สำนักงานลูกเสือจังหวัด สำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา รวมทั้งผู้บังคับบัญชาลูกเสือ บุคลากรทางการลูกเสือ ที่จะได้รับบริการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้จัดทำโปรแกรมฝึกอบรมลูกเสือในสถานศึกษา เพื่อเพิ่มพูนทักษะให้ลูกเสือสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยนำไปบูรณาการในวิชาหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในสถานศึกษาได้  โดยเบื้องต้นได้ดำเนินการเปิดให้บริการ 4 ระบบ ได้แก่ 1. ระบบขอจัดตั้งกลุ่มหรือกองลูกเสือ สำหรับสถานศึกษาที่ต้องการจัดตั้งกลุ่มลูกเสือ 2. ระบบขอตำแหน่งทางลูกเสือ สำหรับผู้บังคับบัญชาลูกเสือที่ต้องการตำแหน่งใหม่ 3. ระบบขอมีคุณวุฒิทางลูกเสือ สำหรับการรับรองคุณวุฒิตามระดับต่าง ๆ และ 4. ระบบขอเปิดการฝึกอบรม สำหรับการเปิดอบรมบุคลากรทางลูกเสือในหลักสูตรต่าง ๆ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า โปรแกรมการฝึกอบรมลูกเสือในสถานศึกษาที่ได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัลและทักษะที่จำเป็นในปัจจุบัน โดยแบ่งตามประเภทของลูกเสือ ดังนี้ ลูกเสือสำรอง : การเป็นผู้นำ, การออม, Codding, มารยาทไทย และการป้องกันภัยต่าง ๆ ลูกเสือสามัญ : E-sport, Codding, ภัยไซเบอร์, และความรักชาติ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ : SMART SCOUT, การกู้ชีพฉุกเฉิน, Save Bullying และภัยคุกคามทางเพศ ลูกเสือวิสามัญ : การเงินดิจิทัล, ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการช่วยเหลือชุมชน และในอนาคตจะมีการพัฒนาหลักสูตรใหม่เพิ่มเติม เพื่อให้ลูกเสือได้รับทักษะที่ทันสมัยและนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการออกกฎกระทรวง เรื่องการแต่งกายเครื่องแบบลูกเสือใหม่ โดยจะอนุโลมให้แต่งกายตามบริบทของพื้นที่ด้วย

ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (สลช.) กล่าวว่า ระบบบริหารกิจการลูกเสือ(NSOT Service) เป็นโปรแกรมออนไลน์ระบบบริหารกิจการลูกเสือ ซึ่งในเบื้องต้นได้ดำเนินการเปิดให้บริการ 4 ระบบ ได้แก่ 1. ระบบขอจัดตั้งกลุ่มหรือกองลูกเสือ ให้บริการแก่สถานศึกษาที่ประสงค์ขอตั้งกลุ่มหรือกองลูกเสือ 2. ระบบขอมีตำแหน่งทางลูกเสือ ให้บริการแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ และบุคลากรทางการลูกเสือที่ประสงค์ ขอมีตำแหน่งทางลูกเสือ ทั้งประเภทผู้บังคับบัญชาลูกเสือ และประเภทผู้ตรวจการลูกเสือ 3. ระบบขอมีคุณวุฒิทางลูกเสือ ให้บริการแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ และบุคลากรทางการลูกเสือที่ประสงค์ ขอมีคุณวุฒิทางการลูกเสือ ตั้งแต่ 2 ท่อน (W.B.) ถึง 4 ท่อน (L.T.) 4. ระบบขอเปิดการฝึกอบรม ให้บริการแก่สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ สำนักงานลูกเสือจังหวัด สำนักงาน ลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา ที่ประสงค์ขอเปิดการฝึกอบรมบุคลากรทางการลูกเสือในหลักสูตรต่าง เช่น B.T.C. / A.T.C. / A.L.T.C. / L.T.C. / การบันเทิงในกองลูกเสือ ระเบียบแถวลูกเสือ เป็นต้น โดยทั้ง 4 ระบบนี้ จะทำให้ลดระยะเวลา รวมถึงลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและลดขั้นตอนใน การดำเนินงานของครูและบุคลากรทางการศึกษา ตอบสนองนโยบายอย่างแท้จริง โดยจะมีการเปิดระบบอย่างเป็นทางการแล้วและจะมีการทดลองใช้เพื่อติดตามระบบประมาณ3เดือน

เลขาธิการ สลช. กล่าวต่อไปว่า ส่วนโปรแกรมการฝึกอบรมของลูกเสือในสถานศึกษา ได้มีการพัฒนาขึ้นเพื่อเสริมทักษะให้แก่ลูกเสือ ซึ่งตอบสนองการพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยกระบวนการลูกเสือที่ สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน ที่เหมาะสมกับลูกเสือแต่ละประเภท เช่น 1. ลูกเสือสำรอง คือ นักเรียนช่วงชั้น ป.1-3  ฝึกอบรมเรื่อง การเป็นผู้นำ ผู้ตาม, การออม, Codding, การป้องกันภัยจากไฟฟ้า, ภัยจากการจมน้ำ, ภัยจากการติดอยู่ในรถ และมารยาทไทย เป็นต้น 2. ลูกเสือสามัญ คือ นักเรียนชั้น ป.4-6 ฝึกอบรมเรื่อง E-sport, Codding, ภัยจากคนแปลกหน้า, ภัยไซเบอร์ และความรักชาติ เป็นต้น 3. ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ นักเรียนชั้น ม.1-3  ฝึกอบรมเรื่อง SMART scout, การกู้ชีพฉุกเฉิน, Save Bullying, ภัยจากบุหรี่ ไฟฟ้า, ภัยคุกคามทางเพศ, สถาบันหลักของชาติ เป็นต้น  และ 4. ลูกเสือวิสามัญ นักเรียน ชั้น ม.4-6 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.)  ฝึกอบรมเรื่องการเงินดิจิทัล, การลงทุนดิจิทัล, ภัยจากการยุยง ปลุกปั่น, ภูมิปัญญา ท้องถิ่น, การช่วยเหลือชุมชน เป็นต้น

“จริง ๆ แล้วกฎกระทรวงว่าด้วยเครื่องแบบลูกเสือ พ.ศ.2510 ได้พูดถึงชุดลูกเสืออยู่แล้ว  และ พ.ร.บ.ลูกเสือ พ.ศ.2551 ก็ได้กำหนดให้มีการออกกฎหมายกระทรวงว่าด้วยเครื่องแบบลูกเสืออีก ประกอบกับมีเสียงเรียกร้องให้ปรับปรุงชุดลูกเสือ เนตรนารี จึงได้มีการทบทวนเรื่องของเครื่องแบบลูกเสือและเนตรนารี โดยมีการตั้งคณะทำงานเมื่อปี 2566 และมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ปกครอง ลูกเสือ และครู แล้วมาสรุปเป็นกฎกระทรวงว่าด้วยเครื่องแบบลูกเสือฉบับใหม่ โดยหลัก ๆ จะมี 3 เครื่องแบบ คือ เครื่องแบบปกติ  เครื่องแบบปฎิบัติการ และ ชุดลำลอง เฉพาะอย่างยิ่งชุดลำลอง ที่เปิดโอกาสให้ ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ในโรงเรียนสามารถเลือกได้ ตามความเหมาะสม สามารถทำกิจกรรมได้ง่าย คล่องตัว จะมีสัญลักษณ์ลูกเสือหรือไม่ก็ได้ เป็นการปลดล็อคเปิดกว้างให้ ผู้บังคับบัญชาลูกเสือและสถานศึกษา เป็นผู้กำหนดเอง เนตรนารีก็ปรับให้ใส่กางเกงได้ เป็นต้น ทั้งนี้จะมีการนำเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในโอกาสต่อไป”รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว

 

 

 

 

สพฐ.สั่งเขตพื้นที่เร่งค้นหาเด็กหลุดระบบ6แสนกว่าคน พากลับมาเรียนไม่ได้ก็ต้องพาการศึกษาไปหาให้ได้

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ครั้งที่ 42/2567 ว่า ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงการเตรียมการฟื้นฟูช่วยเหลือโรงเรียนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือที่ผ่านมา โดยโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่น โรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขนมิตรภาพที่ 169 อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งจากที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน รมว.ศึกษาธิการ และตน พร้อมคณะเดินทางไปตรวจเยี่ยม พบว่าโรงเรียนดังกล่าวมีโคลนไหลเข้าท่วมสูงถึงเข่า สพฐ.ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทหาร องค์กรเอกชน มูลนิธิ ต่าง ๆ ที่เข้าไปช่วยเหลือ ที่สำคัญ สพฐ.ได้ให้นักการภารโรง ใน สพป.เชียงราย เขต 3 ทุกโรงเรียน รวมพลังกันเข้าไปช่วยเคลียร์โคลนออกจากโรงเรียนและช่วยทำความสะอาดด้วย ทั้งนี้ สพฐ.มีเป้าหมายว่า จะทำให้ทุกโรงเรียนที่ประสบอุทกภัยสามารถเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติภายในวันที่ 1 พ.ย.นี้ โดยได้เร่งจัดสรรงบประมาณไปให้กับโรงเรียนใช้ในการปรับปรุงซ่อมแซมโรงเรียน โดยใช้หลัก “10 วัน สร้าง 10 วัน ซ่อม”

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับนโยบายรัฐบาลในการเร่งขับเคลื่อนเป้าหมายและมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Drop out นั้น วันนี้ตนจึงได้เน้นย้ำในที่ประชุมให้ในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศตรวจสอบ ว่าในแต่ละพื้นที่มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอยู่จำนวนเท่าไหร่ ซึ่งตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา จำนวน 1,020,000 คน นั้น ในส่วนของ สพฐ.ตรวจสอบแล้วพบว่ามีนักเรียนในสังกัดหลุดออกจากระบบการศึกษา 699,112 คน ซึ่ง สพฐ.ได้กำชับไปยังเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตแล้ว ว่าให้ตรวจสอบค้นหาเด็กให้เจอ และให้ดำเนินการดึงเด็กกลับมาเรียน หากเด็กไม่สะดวกกลับมาเรียน ก็ให้พาการศึกษาไปหาเด็กในพื้นที่ที่เด็กอยู่

“เดิมเราทำโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ตอนนี้จะพาการศึกษากลับไปหาน้อง หรือถ้าเด็กไม่สะดวกมาเรียน เราก็จะพาการศึกษา พาสื่อ พาอุปกรณ์ไปให้เด็กเหล่านี้ได้เรียน เพื่อไม่ให้เกิดภาวะ เด็ก Drop out ตามนโยบายรัฐบาล และตามนโยบาย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ ที่กำหนดว่า นโยบาย Thailand Zero Drop out ต้องทำกันอย่างจริงจัง และให้มีการอัพเดทข้อมูลเป็นรายสัปดาห์“ เลขาธิการ กพฐ. กล่าวและว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้มีการทบทวนเกณฑ์การย้ายครูผู้สอนที่ปัจจุบันพบว่า ไม่ได้กำหนดสัดส่วนระหว่างครูที่ย้ายกับครูที่สอบขึ้นบัญชี ทำให้หลายเขตพื้นที่ฯรับย้ายเกือบ 100% ทำให้ครูที่สอบขึ้นบัญชีไว้ขาดโอกาสที่จะได้รับการบรรจุ จึงหารือถึงการทำให้เกิดความสมดุลย์ระหว่างการย้ายครูที่เป็นครูอยู่แล้ว กับการดูแลผู้ที่สอบติดใหม่ให้ได้รับการบรรจุใหม่ด้วย

สพฐ. ย้ำชัด ยังไม่มีคำสั่งใหม่เรื่องการแต่งกาย ยืนยันยึดตามคำสั่งเดิมไม่ต้องการเพิ่มภาระครู พร้อมยอมรับความผิดพลาดจะไม่ให้เกิดซ้ำอีก

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)  นายภูธร จันทะหงษ์ ปุญยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. และ นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) รองโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ  ร่วมแถลงข่าวชี้แจงกรณีที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีรูปภาพประกอบข้อความว่า “กระทรวงศึกษาธิการ ขอความร่วมมือเกี่ยวกับการแต่งกายในการปฏิบัติราชการ สำหรับวันวันจันทร์ วันอังคารและวันพุธ” เผยแพร่ออกไปสู่สาธารณชน จนก่อให้เกิดความสับสนแก่ข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. รวมถึงประชาชนโดยทั่วไป และเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โดย

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า สพฐ. ขอยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีหนังสือคำสั่งจากกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับแนวทางในการแต่งกายของข้าราชการในสังกัด ตามที่ปรากฏในกระแสข่าวแต่อย่างใด ขอให้ข้าราชการในสังกัดยังคงปฏิบัติตามแนวทางเดิม ตามที่นายสิริพงศ์ ได้ออกมาชี้แจงอย่างเป็นทางการก่อนหน้านี้ว่า “ทางกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้มีคำสั่งใหม่ใด ๆ เกี่ยวกับการแต่งกายของข้าราชการครูหรือบุคลากรในสังกัด ทุกคนยังคงสามารถแต่งกายตามแนวทางที่เคยขอความร่วมมือไว้ก่อนหน้านี้ คือ แต่งกายด้วยเสื้อสีเหลืองที่มีตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ หรือเสื้อผ้าไทยสีเหลืองประดับเข็มที่ระลึกพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 แทนการแต่งกายปกติในทุกวันจันทร์ที่เป็นวันทำการ รวมทั้งในวันหรือในโอกาสอื่นที่เหมาะสม และแต่งกายเครื่องแบบสีกากี หรือเครื่องแบบปฏิบัติงานของหน่วยในทุกวันอังคารที่เป็นวันทำการ”

“ที่มาของกระแสข่าวนี้ คือ เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยมีประกาศที่ลงนามโดยปลัดกระทรวงมหาดไทย ขอความร่วมมือข้าราชการในสังกัด แต่งเสื้อสีเหลืองวันจันทร์ วันอังคารแต่งผ้าไทย วันพุธแต่งเครื่องแบบ   สพฐ.จึงได้มาเตรียมการไว้ยังไม่ได้ประกาศ ซึ่งผมได้สั่งชะลอไว้ก่อนเพื่อไปขออนุญาต รมว.ศึกษาธิการ รมช.ศึกษาธิการ และ ผู้ช่วย รมต.ศึกษาธิการ ก่อน แต่ก็ยังไม่ทันได้ขออนุญาตภาพก็หลุดออกไปก่อน อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนระเบียบการแต่งกายใหม่ใด ๆ ยังคงยึดตามคำสั่งเดิม เพราะไม่ต้องการให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นกับข้าราชการ ครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีบริบทการทำงานและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ดังนั้นการแต่งกายแต่ละวันในภูมิภาคขอให้เป็นไปตามความเหมาะสม แล้วแต่การพิจารณาว่าจะใส่ตามจังหวัด หรือกระทรวงศึกษาธิการก็ได้เช่นกัน ซึ่งเป็นไปตามการขอความร่วมมือโดยไม่ได้มีการบังคับแต่อย่างใด”เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า  นอกจากนี้ขอความร่วมมือให้ทุกฝ่ายตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการก่อนเผยแพร่ต่อ เพื่อป้องกันความสับสนและสร้างความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น เลือกแชร์จากสื่อหลักของหน่วยงานที่เป็นทางการ เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นข้อมูลจริงที่เชื่อถือได้ และไม่สร้างความสับสนแก่สังคม ซึ่งทาง สพฐ.จะแจ้งให้ ผอ.เขตพื้นที่ทุกแห่งได้รับทราบเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันต่อไปด้วย

นายภูธร กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการเตรียมการด้วยเจตนาดีของทีมงานประชาสัมพันธ์ สพฐ. โดยทำอินโฟกราฟฟิกรอไว้ ยังไม่มีการสั่งการใด ๆ  เพราะต้องมีการขออนุญาตผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้นตอนก่อน แต่ยังไม่ทันขออนุญาต ทางทีมงานได้มีการแชร์กันในกลุ่ม และทำให้มีภาพหลุดออกมาจนเป็นประเด็นที่ให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนก็ต้องขออภัยในความผิดพลาดที่สร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นและจะกำกับติดตามไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีก

ด้านนายสิริพงศ์ กล่าวว่า  จริง ๆ เรื่องนี้เกิดจากความปรารถนาดีของ สพฐ. เพราะในช่วงเช้า ผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัดได้มีหนังสือไปยังหน่วยราชการในส่วนภูมิภาคต่าง ๆ ขอให้แต่งกายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ส่วนของ สพฐ.ก็มีความคิดว่าถ้าออกคำสั่งไปก็น่าจะเป็นประโยชน์กับครู โดยเรื่องนี้เป็นเพียงความเห็นยังไม่มีมติสั่งการอะไรออกมา แต่เมื่อมีภาพหลุดออกมา รมว.ศึกษาธิการ ก็มีความไม่สบายใจ เพราะท่านจะมีความกังวลว่าจะเป็นภาระของครูหรือไม่ เพราะกระทรวงศึกษาธิการยังคงยืนยันนโยบายเรียนดี มีความสุข ของรมว.ศึกษาธิการ ความสุขที่เกิดจะต้องเกิดทั้ง ผู้เรียน และบุคลากรทางการศึกษาทุกคน อะไรที่เป็นภาระก็พยายามลด แต่เรื่องของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็ยังจำเป็นต้องมีอยู่ อย่างไรก็ตามต้องขออภัยในการสื่อสารความเคลื่อน และจะระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก

 

“ศธ.” มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา ย้ำดูแลต่อเนื่องไม่ทอดทิ้ง เร่งฟื้นฟูสภาพจิตใจ

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุไฟไหม้รถโดยสารขณะเดินทางไปทัศนศึกษาของโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)อุทัยธานี เขต 2 โดยมี นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นายเสริมฤทธิ์ หวายฤทธิ์ธนกุล ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) พร้อมด้วยผู้แทนของผู้ได้รับผลกระทบ ผอ. สพป.อุทัยธานี เขต 2 ผู้บริหาร คณะครูโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม เข้าร่วม  ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวว่า จากเหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาของโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม มีผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด 46 ราย ประกอบด้วย นักเรียน 39 ราย (เสียชีวิต 20 ราย บาดเจ็บหนัก 2 ราย บาดเจ็บ 1 ราย ปลอดภัย 16 ราย) และครู 7 ราย (เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 1 ราย ปลอดภัย 3 ราย) กระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้ สพฐ.เปิดรับและรวบรวมเงินบริจาคจากภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งสามารถรวบรวมได้กว่า 3,900,000 บาท โดยเงินจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ มอบให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตทั้งนักเรียนและครู ส่วนที่ 2 มอบให้แก่ครูนักเรียนที่ได้รับบาดเจ็บ และส่วนที่ 3 มอบให้แก่นักเรียนที่ได้รับบาดเจ็บ โดยการมอบเงินวันนี้เป็นการเยียวยาเพิ่มเติมหลังจากที่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานหรือภาคเอกชนต่าง ๆ แล้ว

“เด็ก ๆ ที่ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย ก็ยังอยู่ที่โรงพยาบาลในห้องปลอดเชื้อ รักษาแผลที่โดนไฟอยู่ แต่ทุกคนมีการรับรู้ที่ดีขึ้นแล้ว และทุกวันก็มีผู้แทน สพฐ. และพรรคพวกของรัฐมนตรี ไปเยี่ยมให้กำลังใจญาติ ให้กำลังทีมแพทย์และพยาบาล ส่วนเรื่องการเยียวยาทางกระทรวงศึกษาธิการจะเยียวยาไปถึงเด็กและครูที่ไม่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตด้วย โดยจะดูแลสภาพจิตใจ จัดหาอุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนการสอนเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจให้เร็ว ให้รับรู้ว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้ง รวมถึงจะมีการปรับปรุงสนามกีฬา เพื่อคืนความสุขให้กับครูและนักเรียน เพื่อให้เขามีกิจกรรมและรับรู้ว่าได้รับการดูแลจากสังคม เป็นการเติมเต็มความสุขและเพื่อเพิ่มคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น”รมว.ศึกษาธิการกล่าว

ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวว่า เงินช่วยเหลือเยียวยาจาก “กองทุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน” มอบให้ ผู้แทนครอบครัวของนักเรียนที่เสียชีวิต ครอบครัวละ 20,000 บาท จำนวน 20 ครอบครัว รวม 400,000 บาท ผู้แทนครอบครัวของครูที่เสียชีวิต ครอบครัวละ 20,000 บาท จำนวน 3 ครอบครัว รวม 60,000 บาท ผู้แทนนักเรียนที่ได้รับบาดเจ็บรายละ 10,000 บาท จำนวน 3 ราย รวม 30,0000 บาท และครูที่ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย จำนวน 10,000 บาท รวมทั้งสิ้น 500,000 บาท  ส่วนเงินช่วยเหลือเยียวยาจากบัญชี “รวมน้ำใจ ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุไฟไหม้รถบัสโดยสาร ขณะเดินทางไปทัศนศึกษา โรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดอุทัยธานี” มอบให้ ผู้แทนครอบครัวของนักเรียนที่เสียชีวิต ครอบครัวละ 87,000 บาท จำนวน 20 ครอบครัว รวม 1,740,000 บาท ผู้แทนครอบครัวของครูที่เสียชีวิต ครอบครัวละ 87,000 บาท จำนวน 3 ครอบครัว รวม 261,000 บาท ผู้แทนนักเรียนที่ได้รับบาดเจ็บ รับมอบทุนการศึกษาตลอดการศึกษา รายละ 600,000 บาท จำนวน 3 ราย รวม 1,800,000 บาท และครูที่ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย จำนวน 100,000 บาท รวมทั้งสิ้น 3,901,000 บาท

ทั้งนี้ นอกจากการมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาแล้ว ศธ. และ สพฐ. ยังคงติดตามดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างใกล้ชิด และดูแลเยียวยาสภาพจิตใจของผู้ประสบเหตุทุกคนอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเข้มแข็ง ในส่วนของการขอพระราชทานเครื่องราชฯ และการเสนอขอรับบำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษ 7 ขั้น แก่ครูและนักศึกษาฝึกสอนที่เสียชีวิต ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการขอพระราชทานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการเยียวยาผู้เสียชีวิตตามสมควรต่อไป

น.ส.พรประภา อั๋นดอนกลอย ครูโรงเรียนวัดวัดเขาพระยาสังฆาราม ครูที่ประจำอยู่ในรถบัสคันที่ 3 ซึ่งได้เข้าไปชวยเหลือนักเรียนในรถบัสคันเกิดเหตุซึ่งเป็นคันที่ 2 จนตนเองได้รับบาดเจ็บ เป็นตัวแทนของคณะครูและนักเรียน รวมถึงครอบครัวผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต กล่าวว่า ขอขอบคุณรัฐมนตรีและกระทรวงศึกษาธิการที่ได้มอบเงินเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ ขอบคุณในการดูแลช่วยเหลือตลาดมา ทางโรงเรียนหวังว่าโรงเรียนจะกลับมาเป็นโรงเรียนแห่งความสุขอีกครั้ง ตามนโยบายเรียนดี มีความสุข จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน

 

“สุรศักดิ์​” เปิดงาน​ 7 ปี​ แห่งการบูรณาการสานพลังปฏิวัติการศึกษาพัฒนาคนขอนแก่น​ พร้อมมอบบ้านนักเรียนยากไร้

เมื่อวัน​ที่​ 20​ ตุลาคม​ 2567​ นาย​สุรศักดิ์​ พันธ์​เจริญ​ว​ร​กุล​ รัฐมนตรี​ช่วยว่าการ​กระทรวง​ศึกษาธิการเป็นประธานเปิดงาน 7 ปี แห่งการบูรณาการ สานพลังปฏิวัติการศึกษาพัฒนาคนขอนแก่น ณ โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น โดยนาย​สุรศักดิ์​ กล่าวว่า​ จากการรับฟังคำกล่าวรายงาน ทำให้ทราบว่าการบูรณาการด้านการศึกษาในจังหวัดขอนแก่น เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ภายใต้ความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปการศึกษา ให้เด็กและเยาวชนจังหวัดขอนแก่นทุกคน “เรียนดี มีความสุข” และเติบโตเป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์” ซึ่งภาพการจัดงานในวันนี้ ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่น และความทุ่มเทของชาวขอนแก่น ในการร่วมกันพัฒนาการศึกษา และยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็ก และเยาวชนจังหวัดขอนแก่นให้ดีขึ้น  ​ ทั้งนี้ การพัฒนาการศึกษา ไม่ได้พึ่งเริ่มดำเนินการมา
เพียงแค่ 7 ปี แต่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยการมีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด​ เป็นผู้แทนของกระทรวงศึกษาธิการ ในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2560 จะเห็นภาพของการบูรณาการด้านการศึกษาเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา การบูรณาการการทำงานของหน่วยงานทางการศึกษา ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อน การพัฒนาการศึกษา อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งเป้าหมายหลักคือการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ และพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บท ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้มีคุณภาพสูงสุด

“โครงการสานพลังชาวการศึกษา เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนจังหวัดขอนแก่น ภายใต้แนวคิด “เรียนดี มีความสุข” และ “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน ” We Are The One KHON KAEN Education Team” ได้ดำเนินงานภายใต้ความเชื่อที่ว่าการศึกษาคือรากฐานสำคัญของการพัฒนา และเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตที่สดใสให้กับลูกหลาน​ของเรา​ โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น จากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ซึ่งความสำเร็จต่างๆจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานทางการศึกษา ผู้บริหาร ครู​ บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งนี้ขอขอบคุณทุกท่าน ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการขับเคลื่อนการบูรณาการ
ด้านการศึกษา ให้บรรลุเป้าหมายและเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถสานต่อพลังแห่งความร่วมมือนี้ เพื่อสร้างสรรค์อนาคต ที่ดียิ่งขึ้น ให้กับการศึกษาในจังหวัดขอนแก่นและทั่วประเทศต่อไป”รมช.ศึกษาธิการ​ กล่าว

จากนั้นรมช.ศึกษาธิการ​ พร้อมคณะได้เดินทางไปมอบบ้านให้นักเรียนที่ขาดแคลน​ ตามโครงการมอบบ้านนักเรียนยากไร้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่​ ต่อด้วยเดินทางไปตรวจเยี่ยมวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่นพร้อมมอบนโยบาย​ ก่อนเดินทางไปยังโรงเรียนบ้านไผ่​เพื่อเปิดโครงการสุขาดี มีความสุข สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาขอนแก่น

“สว.กมล รอดคล้าย” รับโล่เกียรติยศผู้ทำคุณประโยชน์จาก มสธ.

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ดร. กมล รอดคล้าย สมาชิกวุฒิสภา รับโล่เกียรติยศผู้ทำคุณประโยชน์เเก่สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พร้อมเปิดประชุมเสวนาทางวิชาการ “ นิเทศศาสตร์ทางไกล: โอกาสเเละความท้าทายของคนยุคใหม่“ ณ อาคารสำนักบริหาร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมืองทองธานี

อาชีวะสร้างช่างฝีมือ เปิดเวทีแข่งขันระดับชาติครั้งที่ 4 สืบสานพระราชปณิธาน พัฒนาทักษะวิชาชีพ

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) มอบหมายให้นายวิทวัต ปัญจมะวัต รองเลขาธิการ กอศ.เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันทักษะวิชาชีพ อาชีวะสร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส ระดับชาติ ครั้งที่ 4 ปีการศึกษา 2567 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 18 ตุลาคม 2567 ณ วิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี

นายวิทวัต กล่าวว่า อาชีวะสร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส เป็นการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะวิชาชีพตามแนวทางของโรงเรียนพระดาบส ซึ่งเป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาให้ได้รับการฝึกอบรมวิชาชีพ โดยหลักสูตรนี้เน้นการฝึกปฏิบัติจริงควบคู่กับการเรียนทฤษฎี ใช้ระยะเวลาเรียนสั้นเพียง 1 ปี แต่สามารถสร้างช่างฝีมือที่มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถ และมีคุณธรรมจริยธรรม พร้อมที่จะออกไปประกอบอาชีพได้ทันที การจัดการแข่งขันทักษะวิชาชีพในครั้งนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาได้แสดงศักยภาพ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมถึงเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะฝีมือให้สูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในการยกระดับคุณภาพการอาชีวศึกษาและการผลิตกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งในปัจจุบันได้เปิดมาแล้วทั้งหมด 7 รุ่น

รองเลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อไปว่า การแข่งขันในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 มีสถานศึกษาอาชีวศึกษาเข้าร่วม 30 วิทยาลัย ครูและนักเรียน นักศึกษาเข้าแข่งขันจำนวน 800 กว่าคน โดยมีการแข่งขันทักษะวิชาชีพทั้งหมด 10 ทักษะ ได้แก่ ทักษะงานช่างยนต์ งานเขียนแบบ งานเชื่อม งานตีเหล็ก งานตะไบ งานปูน งานไฟฟ้า งานไม้ งานประกอบอาหาร และทักษะการสอน 14 ขั้นตอน นอกจากการแข่งขันทักษะวิชาชีพแล้ว ยังมีกิจกรรมเสริมสร้างความสามัคคีและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้เข้าร่วมการแข่งขัน เช่น กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ การแสดงทางวัฒนธรรม และการจัดนิทรรศการแสดงผลงานของนักเรียนนักศึกษา

ทั้งนี้ในวันที่ 18 ตุลาคม 2567  ซึ่งมีพิธีปิดการแข่งขันและมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการแข่งขัน  นายยศพล  ได้มอบหมายให้นายบัณฑิต ออกแมน ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการอาชีวศึกษา เป็นประธานในพิธี พร้อมทั้งจะมีการส่งมอบธงการแข่งขันให้แก่เจ้าภาพจัดการแข่งขันในปีถัดไป การจัดการแข่งขันครั้งนี้นับเป็นการส่งเสริมและพัฒนาทักษะวิชาชีพของนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษา ตามแนวทางของโรงเรียนพระดาบส อันเป็นการสืบสานพระราชปณิธานในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ และเตรียมความพร้อมกำลังคนด้านอาชีวศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต

ศธ ตีปี๊บ สร้างภูมิคุ้มกันเด็กไม่เป็นเหยื่อมิจฉาชีพด้วยการเรียนรู้แบบ Active learning มีกระบวนการคิด วิเคราะห์

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการจัดการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ ว่า จากนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล สานงานต่อ ก่องานใหม่ “เรียนดี มีความสุข” ทุกมิติ เดินหน้า “ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ” ตามแนวทาง “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ย้ำมาโดยตลอดว่า จะต้องปฏิวัติการศึกษาเพื่อยกระดับการศึกษาของประเทศไทย ให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมในทุกพื้นที่ มีคุณภาพทัดเทียมสากล และสามารถแข่งขันได้บนเวทีโลก ซึ่งจะแก้ปัญหาประเทศได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามแนวทางการจัดการเรียนการสอนมีรูปแบบวิธีการที่แตกต่างหลากหลาย โดยรูปแบบ Active Learning ก็เป็นหนึ่งในแนวทางตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เชื่อว่าจะทำให้เกิดการพัฒนาผู้เรียนได้ตรงจุด

นายสิริพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ยอมรับว่าวิธีการเรียนแบบ Active Learning มีการพูดถึงมานานแล้ว และทำมาก่อนรัฐบาลชุดนี้เป็น 10 ปี แต่ในทางปฏิบัติยังทำได้ล่าช้าอยู่ โรงเรียนก็ยังสอนให้เด็กท่องจำอยู่ เป็นการท่องจำเพื่อทำข้อสอบ ไม่ได้เรียนเพื่อตั้งคำถามและหาคำตอบที่จะนำมาซึ่งความเข้าใจในเนื้อหาสาระ และความเข้าใจหรือองค์ความรู้เหล่านั้นก็จะอยู่ติดตัวเด็กได้มากกว่าการท่องจำ ยกตัวอย่างเด็ก ๆ เวลาท่องจำเพื่อไปสอบ พอสอบเสร็จแล้วอีกสองสัปดาห์มีคนมาถามก็จะตอบว่าจำไม่ได้คืนครูไปหมดแล้ว เพราะนั่นคือการเรียนจากการท่องจำไม่ใช่เรียนจากความเข้าใจ ซึ่งในการประชุมผู้บริหาร ศธ.แทบทุกครั้ง พล.ต.อ.เพิ่มพูน มักจะเน้นย้ำเสมอ ว่า การเรียนสมัยก่อนให้เด็กเรียนแบบท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทอง คือ ท่องไปแบบไม่รู้ความหมาย แต่กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning จะเป็นกระบวนการที่ทำให้เด็กเข้าใจเนื้อหาในการเรียนได้มากกว่า

“รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายสนับสนุนให้มี หนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนคุณภาพ เพื่อให้มีโรงเรียนคุณภาพอย่างน้อยหนึ่งโรงในแต่ละอำเภอ เพื่อให้ชุมชนสามารถฝากอนาคตของเด็ก ๆ กับโรงเรียนนั้น ๆ ได้ เป็นการลดภาระผู้เรียนและผู้ปกครองไม่ต้องแห่เข้ามาเรียนในโรงเรียนแข่งขันสูงหรือโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมือง ดังนั้นจากนโยบายนี้จะต้องมีการพัฒนาโรงเรียนควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยี หรือ เทคนิคการสอน หรือ โรงเรียนร่วมพัฒนา รวมถึงการพัฒนาครูแม่ข่ายที่จะไปให้ความรู้กับโรงเรียนที่จะร่วมพัฒนาในอำเภอนั้น ๆ โดยแนวทางของ Active Learning ก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่จะต้องนำไปใช้ในโรงเรียนคุณภาพด้วย” นายสิริพงศ์ กล่าวและว่า ตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมาเราได้ทราบแนวทางของ Active Learning จากสื่อเป็นระยะโดยเฉพาะในการอบรมพัฒนาครูต้นแบบภาคกลาง ที่ได้รับการตอบรับและเสียงชื่นชมอย่างดี ทำให้ต้องมีการขยายผลไปให้ทั่วทุกภาคทั้งประเทศ เพราะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีสูงมาก โดยประเด็นที่มุ่งหวังในปีต่อไป คือ ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้การเรียนการสอนแบบ Active Learning ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีได้ เพราะเชื่อว่าเป็นแนวทางที่สามารถทำได้และน่าจะต้องทำ

ผู้ช่วย รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า สำหรับปัญหาการรู้เท่าทันก็เป็นหนึ่งในนโยบายที่จะสร้างให้เด็กไทยทันโลก เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันต่าง ๆ รวมถึงบรรดามิจฉาชีพที่แฝงมาในรูปแบบต่าง ๆ โดยเราจะต้องร่วมกันสร้างเด็กบนฐานความคิดที่มีหลักเหตุและผล คิดว่ามิจฉาชีพส่วนมากเริ่มจากความโลภของคน ในอดีตที่ผ่านมาเราเห็นคนกินหรูอยู่สบาย ทำให้เกิดความคิดอยากจะได้อยากจะมีเหมือนเขา ก็ต้องสอนให้เด็กเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ให้ได้ รวมถึงประสบการณ์และบทเรียนที่ถูกต้องก็มีส่วน เราต้องทำให้เด็กได้รับชุดความรู้ที่ถูกต้องให้ได้ก่อน ซึ่งกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่ครูจะสามารถนำไปใช้ได้ ส่วนประเด็นการสร้างเด็กเป็นนวัตกร เราไม่ได้หวังว่าเด็กจะต้องผลิตของเหมือนกันหมดทุกคน เพราะเด็กไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรม แต่การเป็นนวัตกรของเด็กต้องเกิดจากกระบวนการได้เรียนรู้ ได้ลองผิด ลองถูก ซึ่งจะต้องได้ลงมือทำจริง ที่สำคัญจะลองถูกอย่างเดียวก็ไม่ได้ แต่การศึกษาของเราที่ผ่านมาให้เด็กได้ลองแต่ถูก ไม่ได้ลองผิด คือ เอาอะไรที่ได้มีการลองแล้วว่าดีมาให้เด็กทำ เช่น การทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่มีการใส่สารA กับสาร B แล้วได้สารC มาให้เด็กทำเลย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเวลาเรียนมีน้อยก็ได้ แต่จริง ๆ แล้วควรให้เด็กได้มีโอกาสลองทั้งผิดลองทั้งถูก มันถึงจะเกิดกระบวนการเรียนรู้ ดังนั้นในมุมของการเป็นนวัตกรสิ่งที่สำคัญมากกว่าการที่เด็กจะผลิตของได้ เด็กควรผ่านกระบวนการคิดกระบวนการออกแบบ ได้ทดสอบผิดถูก เพื่อจะได้รู้ว่าผลลัพธ์คืออะไร ซึ่งผลลัพธ์อาจจะไม่ถูกก็ได้ ผิดก็ได้ แต่เด็กจะได้รู้ว่ากระบวนการนี้ผิด ซึ่งนั่นคือกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning

กรมสมเด็จพระเทพ ฯ ทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ทรงให้กำลังใจครู “ไม่ควรหยุดเรียนรู้ ต้องปรับตัว เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน”   

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ปี 2567 และการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ 3  พร้อมกันนี้ทรงทอดพระเนตรและทรงรับฟังการนำเสนอผลงานของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รุ่นที่ 5 และทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีผสมผสานระหว่างดนตรีสายใยจามจุรีและคณะครูเครือข่ายมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ณ อาคารอิมแพค ฟอรั่ม 2 เมืองทองธานี โดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ จาก 11 ประเทศ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ได้มีถ่ายทอดสดไปยังสถานเอกอัครราชทูตไปในประเทศอาเซียน ติมอร์-เลสเต บังกลาเทศ มองโกเลีย และภูฏาน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสในการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ว่า  เป็นเวลา 10 ปีแล้วนับตั้งแต่มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2558  ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นครูที่มีความโดดเด่นของอาเซียนและติมอร์-เลสเต ซึ่งเป็นผู้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ระหว่างปี พ.ศ. 2558 – 2566 มาร่วมงานเฉลิมฉลอง และในปีหน้าจะมีครูดีเด่นจากอีกสามประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฏาน และมองโกเลีย มาร่วมฉลองกับเรา

ช่วงศตวรรษที่ 21 จะได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยีเกิดใหม่มากมาย เช่น AI  เรา ในฐานะที่เป็นครู ต้องปรับตัวและพยายามเรียนรู้ว่าเทคโนโลยีใหม่จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนอย่างไร แม้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ทักษะการเรียนรู้หลักก็ควรจะยังคงอยู่  ทักษะหลักเหล่านี้ ได้แก่ การรู้หนังสือ ความสามารถในการทำงาน ความสมดุลในตนเอง จริยธรรม และการปรับตัวเชิงสังคม ครูจึงไม่ควรหยุดเรียนรู้ เราต้องมีกลยุทธ์สำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตัวข้าพเจ้าเองพบว่าการเดินทางและการเขียนเป็นการเรียนรู้ที่ดี ข้าพเจ้าเขียนหนังสือกว่า 60 เล่ม และนำความรู้ไปช่วยผู้ที่เสียเปรียบและผู้ที่อยู่ในชนบทห่างไกล ข้าพเจ้าอยากจะสนับสนุนให้ทุกๆ ท่านท้าทายตัวเองในการหาแนวทางการปฏิบัติที่ดีขึ้น

ขอให้เราใช้โอกาสนี้ในการแบ่งปันสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการสอนของเรา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับเส้นทางการสอนและการเรียนรู้ของเรา เพื่อสร้างความแตกต่างเชิงบวกในชีวิตของนักเรียนทุกคน ขอให้ครู PMCA เป็นดั่งแสงสว่างแห่งแรงบันดาลใจ จุดประกายความอยากรู้อยากเห็นในจิตใจของเด็ก ๆ  นำทางพวกเขาผ่านความท้าทาย และเฉลิมฉลองชัยชนะของพวกเขา

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมวิชาการนานาชาติ จะจัดสลับกับการพระราชทานรางวัลมูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีเพื่อเชิดชูครูดีเด่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนแนวทางการทำงาน มุมมองทางการศึกษา และความรู้อันเป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพครู ในปีนี้มีครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลทั้งสิ้น 44 คนจาก 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมการประชุม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ที่จะช่วยยกระดับศักดิ์ศรีและศักยภาพในการประกอบวิชาชีพให้แก่เพื่อนครูต่อไป

ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นรางวัลเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ และมีคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศอาเซียนและติมอร์-เลสเต ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดมอบรางวัลในทุก 2 ปี และเพื่อถวายเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้านักการศึกษา ซึ่งในปีนี้จะเพิ่มเติมประเทศบังกลาเทศ ภูฏาน และมองโกเลีย รวม 14 ประเทศ เพื่อเข้ารับพิธีพระราชทานรางวัล ในวันที่ 17 ตุลาคม 2568

ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังดำเนินกิจกรรม “After award activity”  เพื่อต่อยอดการทํางานให้แก่ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี อาทิ การจัดประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (PMCA Forum) เพื่อให้ครูได้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของครูผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้ามหาจักรีในแต่ละรุ่น รวมถึงการต่อยอดและสนับสนุนการทำงานของครูบนโจทย์ความต้องการของครูในแต่ละประเทศ ผลการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อครู  ลูกศิษย์ และวงการศึกษา โดยครูผู้เป็นพลังแห่งการสร้างเด็กเยาวชนและเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาเพื่ออนาคต

สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี มีครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่น่าสนใจ ดังนี้

  1. นาย โมฮาหมัด อาเมียร์ เออร์วัน ฮาจี ม๊อกซิน (Mr. Mohamad Amir Irwan Haji Moksin) ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนประถมศึกษา Pengiran Kesuma Negara Bukit Beruang แลกเปลี่ยนว่าการเล่นเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ในกลุ่มเด็กปฐมวัย รวมถึงการจัดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ เช่น การเลือกหนังสือให้น่าสนใจในห้องสมุด การจัดพื้นที่สำหรับเด็กพิเศษเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ รวมถึงการสอนแบบผสมผสานโดยใช้เทคโนโลยี
  2. นางจักรียา เฮ (Mrs. Chakriya Hay) ประเทศกัมพูชา ครูสอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนระดับมัธยมปลาย Sok An Samrong High School จังหวัดตาแก้ว ผู้ผสมผสานวิชา STEM ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ มีการพัฒนากิจกรรมทดลองทางวิทยาศาสตร์และเกม โดยมีเป้าหมายต้องการพัฒนานักเรียนให้มีประสบการณ์เรียนรู้ที่ดี มีจริยธรรม เพราะการศึกษาที่ดีจะช่วยพัฒนาชีวิตที่ดีขึ้น

3.นางฮาริสดายานี (Mrs. Harisdayani) ประเทศอินโดนีเซีย ครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนประถมศึกษา SMP Negeri 2 Binjai ผู้ใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย แลกเปลี่ยนว่า หลังจากที่ได้รับพระราชทานรางวัล ฯ ได้นำเงินส่วนหนึ่งมาปรับปรุงอาคารเรียนและพัฒนาสื่อการสอน ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษเพิ่มเติม จากเดิมที่เรียนเพียง 2 คาบ/สัปดาห์ และทำงานร่วมกับนักจิตวิทยาเพื่อทำแบบทดสอบการวัดทักษะความสนใจของผู้เรียน

  1. นางกิมเฟือง เฮืองมะนี (Mrs. Kimfueang Heuangmany) สปป.ลาว ครูใหญ่และครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาในโรงเรียนประถมศึกษา The Pheermai เมืองละมาม แขวงเชกอง แลกเปลี่ยนแรงบันดาลใจของการเป็นครูเพราะในสมัยเรียนมีครูไม่เพียงพอ หลังจากได้รับพระราชทานรางวัลได้นำเงินมาพัฒนาโรงเรียน อาทิ เครื่องกรองน้ำ สื่อการสอน ส่งเสริมกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ผ่านการปรุงน้ำหมักจุลินทรีย์ ทำให้วิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องใกล้ตัว
  2. นายไซฟูนิซาน เช อิสมาเอลท (Mr. Saifulnizan Che Ismail) ประเทศมาเลเซีย ครูคณิตศาสตร์ที่มีพื้นฐานด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และไอที โรงเรียนประถมศึกษา Sekolah Kebangsaan Raja Bahar ในโกตาบารู แลกเปลี่ยนการเรียนรู้คณิตศาสตร์สู่ชีวิตประจำวัน เช่น การจัดทำสวนสมุนไพรและเลี้ยงผึ้งในโรงเรียน โดยใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์และทักษะชีวิต ในการคำนวณปริมาณน้ำผึ้ง การใช้แอปพลิเคชันผ่าน Story telling และหุ่นยนต์ เพื่อพัฒนานักเรียนก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัล
  3. ดอ อาย ซู หวิ่น (Daw Aye Su Win) ประเทศเมียนมา ครูสอนภาษาอังกฤษ โรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานในเมือง Hlaingtharyar Township แลกเปลี่ยนว่า หลังจากได้รับพระราชทานรางวัล ฯ ได้นำไปพัฒนาโรงเรียน เช่น ไฟฟ้า ระบบกรองน้ำ พื้นที่ล้างมือในโรงเรียน รวมถึงพัฒนาภาษาอังกฤษ ทั้งการอ่าน เล่านิทาน เพื่อช่วยให้นักเรียนมีความพร้อมในการสื่อสารภาษาอังกฤษ และการพัฒนากิจกรรมนอกห้องเรียน เช่น การปลูกผัก การป้องกันยุงลายในโรงเรียน
  4. นายเจอร์วิน วาเลนเซีย (Mr. Jerwin Valencia) ประเทศฟิลิปปินส์ ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งชาติไดกราส โรงเรียนชั้นนำของจังหวัดอีโลโคสนอร์เต แลกเปลี่ยนการสอนจากมุมมองคณิตศาสตร์เป็นเพียงวิชาสู่ การผสาน M.A.T.H. เข้ากับชีวิตประจำวัน เน้นการลงมือทำ โดยผู้เรียนมีความเป็นเลิศทางวิชาการ และการช่วยเหลือคนในชุมชนโดยทำงานร่วมกับท้องถิ่น เช่น การซ่อมแซมบ้านผู้ประสบภัยและขาดโอกาส
  5. นางชิว หลวน เพนนี ชง (Mrs. Chew Luan Penny Chong) ประเทศสิงคโปร์ ครูการศึกษาพิเศษ ที่มีความบกพร่องทางสายตา โรงเรียน Ahmad Ibrahim Secondary School แลกเปลี่ยนวิธีการเรียนที่มีประสิทธิภาพสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น พัฒนานักเรียนให้เป็นผู้ประกอบการ การจัดทัศนศึกษาเพื่อให้นักเรียนที่บกพร่องทางการมองเห็นเรียนรู้ร่วมกับนักเรียนทั่วไป รวมถึงการพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนนักเรียนที่บกพร่องการมองเห็น
  6. นางสาว ฟิโลมินา ดา คอสต้า (Ms. Filomena da Costa) ประเทศติมอร์-เลสเต ครูสอนภาษาอินโดนีเซียในโรงเรียนมัธยมปลาย Saint Miguel Arcanjo Secondary School แลกเปลี่ยนว่า หลังจากได้รับพระราชทานรางวัล ฯ รวมถึงได้รับรางวัลนักสิทธิมนุษยชนของประเทศได้นำเงินมาพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งใจจะพัฒนาชุมชน โรงเรียน เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์เพื่อให้คนในชุมชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับติมอร์-เลสเต
  7. นายมา หุ่ง เหงียน (Mr. Manh Hung Nguyen) ประเทศเวียดนาม รองผู้อำนวยการโรงเรียน Hoang Van Thu High School for the Gifted แลกเปลี่ยนการบริหารงานโรงเรียนและการสอนภูมิศาสตร์ นอกจากพัฒนาผู้เรียนให้เป็นเลิศทางวิชาการ ยังมีการสอนทักษะชีวิต เช่น ทักษะการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม กิจกรรมวิจารณ์หนังสือเพื่อส่งเสริมการอ่านและคิดวิเคราะห์ ทักษะเอาชีวิตรอดจากอัคคีภัย ภัยธรรมชาติ การปฐมพยาบาล และการพัฒนานักเรียนให้มีหัวใจเมตตา โดยพานักเรียนเยี่ยมบ้านผู้ประสบภัย เพื่อให้นักเรียนพร้อมเผชิญความท้าทายในยุคปัจจุบัน
  8. นายนิวัฒน์ เงินงามมีสุข ประเทศไทย ครูการศึกษานอกโรงเรียนที่บ้านโมโคคี บ้านมอโก้คี ผู้บุกเบิกศูนย์การเรียนรู้ชุมชนพื้นที่เขาแม่ฟ้าหลวง จังหวัดตาก แลกเปลี่ยนว่า กิจกรรมศูนย์การเรียนรู้กาแฟมอโกคี มีทั้งเกษตรกร และประชาชนที่สนใจมาร่วมเรียนรู้ อาทิ การจัดการชุมชนเพื่อพัฒนาอาชีพที่เชื่อมต่อกับการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ การประกาศแนวเขตป่าทำให้เกิดการอนุรักษณ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน และการขยายผลการเรียนรู้ไปยังเครือข่ายชุมชนอื่นๆ ร่วมกับ กสศ.